อะไร ๆ ในชีวิตสักแต่ว่า เป็นเรื่องของจิตสิ่งเดียว(พุทธทาส)

อะไร ๆ ในชีวิตสักแต่ว่า เป็นเรื่องของจิตสิ่งเดียว(พุทธทาส)

อะไร ๆ ในชีวิต สักแต่ว่า เป็นเรื่องของจิตสิ่งเดียว.

๕ มีนาคม ๒๕๒๖

ท่านสาธุชน ผู้มีความสนใจในธรรม ทั้งหลาย,

การบรรยายประจำวันเสาร์ แห่งภาคมาฆบูชา เป็นครั้งที่ ๙ ในวันนี้ อาตมาก็ยังคงกล่าวในชุดที่เรียกว่า ธรรมะเล่มน้อยเล่มเดียวจบ ต่อไปตามเดิม. แต่ขอให้ท่านสังเกตสักหน่อยว่า เล่มเดียวจบนั้น คือมันจบในการบรรยายครั้งหนึ่ง ๆ ตั้งแต่ต้นจนปลาย, จบเรื่องโดยสรุปทั้งหมดของสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ.

ในวันนี้จะกล่าวโดยหัวข้อย่อยว่า อะไร ๆ ในชีวิตสักแต่ว่าเป็นเรื่องของจิตสิ่งเดียว. นี่ขอให้จับใจความให้ได้ ว่าทุกอย่างทุกสิ่ง ทั้งหมดของเรื่องชีวิตหรือเกี่ยวกับชีวิต ทั้งหมดทั้งสิ้น เป็นเรื่องของสิ่งที่เรียกว่า จิต เพียงสิ่งเดียว. ฟังแล้วมันก็ไม่น่าเชื่อ; แต่ขอให้ฟังให้ดีจะเข้าใจ และเห็นด้วย; แต่มันยากที่จะมองเห็น คือมันยากที่ท่านผู้ฟังจะสรุปได้เองว่า ทุกเรื่องตั้งแต่ต้นจนปลาย, ตั้งแต่ต้นจนนิพพานนั้น เป็นเรื่องของสิ่งที่เรียกว่าจิตเพียงเรื่องเดียวสิ่งเดียว, ไม่ต้องมีคำว่าตัวตน อะไรที่ไหน.

เป็นห่วงอยู่ว่า มันจะเกิดอาการที่เรียกว่า เป่าปี่ให้เต่าฟังขึ้นมา ถ้าฟังไม่ถูกในการบรรยายเรื่องนี้; อาตมาก็กลายเป็นคนเป่าปี่ให้เต่าฟัง, แล้วผู้ฟังทั้งหลายก็กลายเป็นเต่าไปทั้งหมด, แล้วมันจะเสียหายสักเท่าไร. ขอให้คิดดู ว่ามันจะเสียหายสักเท่าไรในการจัดการทำ. มันจะต้องร่วมมือกันให้ดี คือท่านทั้งหลายฟังถูกรู้เรื่องแล้วมันก็พ้นจากอาการที่เรียกว่า เป่าปี่ให้เต่าฟังหรือให้แรดฟัง แล้วแต่จะใช้ คำไหนมันก็เหมือน ๆ กัน.

จิตล้วน ๆ, จิตมีกิเลส, จิตหมดกิเลส.

คือเราจะพูดกันตั้งแต่ จิตแรกเริ่มเดิมที เป็นแต่สักว่าธาตุตามธรรมชาติชนิดหนึ่งเท่านั้น, แล้วจิตนั้น ได้รับการแวดล้อมปรุงแต่ง เรื่อยมา ตลอดเวลาอันยืดยาวนาน เป็นไปในความโง่ ความหลงจน กระทั่งมันค่อยเปลี่ยน ลืมหู ลืมตา แล้วมันเปลี่ยนเป็นจิตที่ไม่โง่ไม่หลง เป็นจิตที่ถึงที่สุดของสิ่งที่จิตจะบรรลุถึงได้ จบกัน คือ เรียกว่า นิพพาน.

นี่ช่วยฟังให้ดีว่า ตั้งแต่มันเป็นจิตล้วน ๆ; ไม่มีอะไรในจิตนั้น, แล้วก็เป็นจิตที่เต็มไปด้วยกิเลส อวิชชา เป็นต้น จนกระทั่งเป็นจิตที่หมดอวิชชา ไม่เป็นที่เกิดแห่งอวิชชาอีกต่อไป เรื่องมันมีเท่านี้.

นี่ทำความเข้าใจในขั้นต้นกันเสียก่อนว่า ตอนแรก มีแต่จิตล้วน ๆ เป็นธาตุตามธรรมชาติชนิดหนึ่งเท่านั้น; ไม่มีความผิดความถูก, ไม่มีความดีความชั่ว, ไม่มีกิเลสอะไรอยู่ในจิตนั้น, เป็นจิตล้วน ๆ เรียกว่าจิตล้วน ๆ คือจิตประภัสสรตามธรรมชาติล้วน ๆ. ตอนที่ ๒ ต่อมาจิตนั้นกลายเป็นจิตโง่เขลา เต็มไปด้วยกิเลสและอวิชชา เวียนว่ายไปในวัฏฏสงสารอันยาวนานแสนนาน ด้วยความเจ็บปวด อย่างยิ่งนี้ตอนหนึ่ง. ตอนที่ ๓ จิตนี้กลับตัว ลืมหูลืมตาขึ้นมา รู้จักทุกข์รู้จักโทษ ในการเวียนว่ายในวัฏฏะ, มันก็อบรมตัว เจริญธรรมะให้มีขึ้นในจิต จนจิตนั้นหลุดอกไปจากกิเลส, หลุดไปจากวัฏฏสงสาร ถึงสภาพที่เป็นนิพพาน ไม่มีอะไรปรุงแต่งได้อีกต่อไป, มีสามขั้นตอน.

สรุปอีกทีหนึ่งว่า เรื่องของคนเราทั้งหมด ที่เรียกว่าชีวิตนี่ มันตั้งต้นด้วยจิตล้วน ๆ ไม่มีอะไร ในขั้นที่ ๒ มันกลายเป็นจิตที่มีกิเลส มีอวิชชา. ในขั้นที่ ๓ กลายเป็นจิตที่หมดจากกิเลส หมดจากอวิชชา, จบ เรื่องจบ. มันจะพูดได้อย่างน่าหัวว่า หนังเรื่องนี้ไม่มีอะไรมาก : จิตล้วน ๆ, แล้วจิตมีกิเลส, แล้วจิตหมดกิเลส จบ. นี่ธรรมะอันยืดยาว ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ มันเหลืออยู่เพียง ๓ คำว่า มันตั้งต้นด้วยจิตล้วน ๆ แล้วจิตมีกิเลส แล้วจิตหมดกิเลส, เรื่องมันจบ.

เดี๋ยวนี้ก็มีแต่รายละเอียด ที่จะแสดงให้เห็นว่าจิตล้วน ๆ นั้นคืออย่างไร ตอนไหน, แล้วจิตเกิดกิเลสคืออย่างไร ตอนไหน, แล้วจิตถึงความหมดกิเลส และกิเลสไม่อาจจะเกิดแก่จิตได้อีกต่อไป มันตอนไหน; มันมี ๓ ตอน.

ที่ว่า อะไร ๆ สักว่าเป็นเรื่องของจิต, หรือสักว่าเป็นเรื่องจิตเรื่องเดียวเท่านั้นแหละ. ทุกเรื่องทั้งหมดในธรรมะทั้งหมด เป็นเรื่องของ จิตเรื่องเดียวเท่านั้นแหละ : คือจิตล้วน ๆ, จิตเกิดกิเลส, แล้วจิตหมดกิเลส, สามคำพูดหมดจบเรื่อง.

ทีนี้ถ้าจะพูดอีกแบบหนึ่งก็พูดว่า ขั้นที่ ๑ ตั้งต้นจากจิตไม่มีตัวตน จิตล้วน ๆ ไม่มีความคิดนึกว่าตัวตน. ขั้นที่ ๒ จิตมันโง่ มีความรู้สึกว่ามีตัวตน มีตัวกู–ของกู. แล้วพอมาขั้นที่ ๓ จิตหมดความรู้สึกว่ามีตัวตน ไม่มีตัวตนในความรู้สึกของจิต ก็สามตอน นี้จบ.

ขอให้กำหนดหลักเกณฑ์ ๓ ขั้นตอนนี้ไว้ให้ดี ๆ แล้วก็จะฟังเรื่องที่จะพูดไปโดยรายละเอียดนั้นได้ง่าย และเข้าใจได้ ไม่เกิดอาการที่เรียกว่า เป่าปี่ให้เต่าฟัง; แล้วคำบรรยายนี้ก็เป็นคำบรรยายที่เรียกว่า ธรรมะเล่มน้อยเล่มเดียวจบ ได้จริง ๆ.

จิตตั้งต้นจากความไม่มีตัวตน, เป็นจิตล้วน ๆ อยู่ตามธรรมชาติ นี้ขั้นตอนหนึ่ง. แล้วจิตมาสู่ความมีตัวตน ที่เกิดขึ้นเพราะอวิชชา ที่จิตได้มาสร้างขึ้นเองในการที่หมุนมาในโลกนี้. แล้วจิตก็กลับไปสู่ความไม่มีตัวตนอีกครั้งหนึ่ง คือมีวิชชาเกิดขึ้น, จิตหมดความรู้สึกว่าตัวตนอีกครั้งหนึ่ง. ฟังดูแล้วเรื่องมันนิดเดียว; จิตไม่เคยมีตัวตน แล้วจิตมาโง่มีตัวตน แล้วก็จิตกลับหมดความมีตัวตน ความรู้สึก ไม่มีตัวตนอีกครั้งหนึ่ง สามคำสั้น ๆ. นี่คือเรื่องทั้งหมดของธรรมะ ที่เราฟังและศึกษากันเป็นปี ๆ กี่ปี ๆ มาแล้ว แล้วมันจะน่าหัวที่ว่ามันมีอยู่เพียงสามคำเท่านั้น : จิตล้วน ๆ, จิตมีตัวตน, แล้วจิตหมดตัวตน. สามคำเท่านั้นจบ เรื่องจบ.

ขอร้องให้ช่วยจำสามคำนี้ เอาไปพูดจาถกเถียงซักไซ้ไล่เลียงปรึกษาหารือกันอยู่แต่เพียงสามคำ : จะว่า จิตล้วน ๆ ไม่มีกิเลสก็ได้, แล้วมันมีกิเลส, แล้วมันหมดกิเลสเป็นนิพพานก็ได้. หรือว่าจิตไม่มีตัวตนมาก่อน, แล้วมามีตัวตน แล้วหมดตัวตน, เหมือนกัน โดยใจความแล้วเหมือนกัน. แต่มันสำคัญอยู่หน่อยที่ว่า “ตัวตน” ตัวตนนั้นมีความหมายมาก ที่เป็นทุกข์กันเพราะมีตัวตน. ตัวตนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วก็เหนียวแน่น แล้วก็ละยาก ละไม่ได้ ตลอดเวลาที่ยังไม่บรรลุพระอรหันต์.

แล้วมันยังมีความยุ่งยากลำบาก ที่สอนไว้ทั้งอย่างมีตัวตน และอย่างไม่มีตัวตน แต่ว่าไม่มีตัวตนนี้เป็นหลักใหญ่ เป็นหลักที่ถูกต้อง. แต่ที่มีคำที่ทำให้ฉงนลังเล คือมีคำตรัสคำสอน ที่ว่า ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน, ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน, ให้ฝึกตนให้จัดการกับตน; มันเกิดขัดกันอยู่ว่า เดี๋ยวว่าไม่มีตัวตน เดี๋ยวว่ามีตัวตน. แต่ถ้าท่านเข้าใจเรื่องนี้แล้ว จะเข้าใจได้ว่า มันไม่ขัดกันดอก เพราะว่า สิ่งที่เรียกว่าตัวตนนั้นจิตมันคิดเอาเอง. จิตนั่นแหละเมื่อมันโง่ มันก็คิดว่าเป็นตัวตน : “ฉันเป็นตัวตน มีตัวตนของฉัน” จิตมันโง่. ตัวตนนั้นก็คือจิตโง่, มันโง่แล้วใครจะมาช่วยให้หายโง่ : มันเองอีกนั่นแหละ ที่มันเวียนว่ายไปในกองทุกข์, ในกองทุกข์, ในกองทุกข์มากขึ้น มันก็ค่อยลืมหูลืมตาฉลาดขึ้นมา จนละเสียซึ่งตัวตน เรื่องมันจบ.

แล้วทีนี้ก็ลองฟังให้ดี ๆ ว่า จะว่าไปตามลำดับทีละขั้นตอน อย่า-ลืมว่าสามขั้นตอนเท่านั้นแหละ : จิตล้วน ๆ ไม่มีกิเลสอะไร, แล้วจนเริ่มมีกิเลสมีตัวตน, และอันสุดท้าย จิตหมดกิเลส หมดตัวตน, สามขั้นตอน.

จิตล้วน ๆ เป็นวิญญาณธาตุ

ขั้นตอนที่ ๑ ก็คือ จิตล้วน ๆ ไม่มีอะไร, มีแต่จิตล้วน ๆ ที่ยังไม่มีความหมายแห่งตัวตน หรือไม่มีกิเลสนี่ ก็จะเริ่มมาตั้งแต่ว่า มีธาตุ ๖ ธาตุ อยู่ตามธรรมชาติ ดังพระบาลีที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า : บุรุษนี้ประกอบอยู่ด้วยธาตุ ๖ อย่าง, ๖ อย่างนั้น คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม, นี่ ๔ ธาตุ เป็นฝ่ายร่างกาย ฝ่ายวัตถุ; แล้วก็มี วิญญาณธาตุ นี้คือธาตุที่จะเป็นจิต, แล้วอันสุดท้าย อากาสธาตุที่ว่าง, ที่ว่างซึ่งเป็นที่ตั้งของสิ่งทั้งปวง.

อันนี้แยบคายมาก ท่านกล่าวว่าที่ว่างหรืออากาสธาตุ เป็นที่ตั้งของสิ่งทั้งปวง. ในทางวัตถุมันก็เป็นที่ตั้งของโลก ของสากลจักรวาล, โลกทั้งหมด สากลจักรวาล ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนอะไร? มันตั้งอยู่บนความว่าง ถ้าไม่มีความว่าง คือไม่มีที่ว่างให้ มันก็ตั้งขึ้นไม่ได้, เพราะมันมีที่ว่างให้; ฉะนั้นทุกสิ่งมันจึงตั้งอยู่บนความว่าง, โดยส่วนใหญ่โดยส่วนรวม ทั้งโลกก็ตั้งอยู่บนที่ว่าง หรืออากาสธาตุ. แม้ส่วนย่อยหนึ่ง ๆ มาเป็นปรมาณูหนึ่ง ๆ ในร่างกายคน ร่างกายอะไรก็ตาม, ปรมาณูหนึ่ง ๆ มันก็ต้องตั้งอยู่บนที่ว่าง; ที่ว่างเท่าที่มันจะตั้ง ที่มันต้องการจะตั้งอยู่ มันก็ตั้งอยู่บนที่ว่าง.

ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า อากาสธาตุหรือที่ว่างเป็นฐานที่รองรับธาตุอื่น : ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มันก็ตั้งอยู่บนที่ว่าง. อากาศธาตุมันก็ต้องตั้งอยู่บนที่ว่าง เพราะมันอาศัยร่างกาย อาศัยธาตุทั้ง ๔ นั่นแหละ; แม้จะเอากันแต่ เพียงวิญญาณธาตุ มันก็ตั้งอยู่ในที่ที่ว่าง, ที่ยังว่างอยู่จากวิญญาณธาตุ ที่ยังไม่มีวิญญาณธาตุ มันยังเป็นที่ว่าง. คำว่าความว่างนี่มันเป็นที่ตั้ง ที่ให้อยู่ ให้อาศัย ให้เกิดขึ้นของทุกสิ่ง, ของธรรมทั้งปวง ที่มีการเกิดขึ้น.

เรื่องนี้ มีคำพูดอุปมาอันหนึ่งซึ่งดีมาก ซึ่งควรจะจำไว้ ว่าถ้วยชามรามไห ภาชนะใด ๆ ก็ตาม มันมีค่าอยู่ตรงที่มันว่าง กลวง. คิดดูสิ, ถ้วยชาม แก้วน้ำ อะไรก็ตามมีค่าขึ้นมาได้ก็เพราะมันมีว่างและกลวง. ถ้าในถ้วยในขามในแก้วนั้นมันเต็มอยู่ด้วยอะไรหมดแล้ว มันจะใช้อะไรได้, มันจะใช้อะไรได้เล่า! หม้อก็เหมือนกัน ถ้ามีอะไรเต็มอยู่ในหม้อแล้ว หม้อนั้นก็ใช้อะไรไม่ได้. ฉะนั้นหม้อมันว่างมันกลวง, โอ่งไหมันว่างมันกลวง, ถ้วยชามมันว่างมันกลวง, แก้วน้ำขวดน้ำมันว่างมันกลวง, มันจึงใช้ประโยชน์ได้. ดูประโยชน์ของความว่างที่มันมีอยู่สำหรับให้สิ่งอื่นเข้ามาตั้งอาศัยอยู่ได้. ภาวะที่ว่างอย่างนี้ก็มีอยู่จริงเหมือนกัน แล้วท่านก็จัดเป็น ธาตุธาตุหนึ่งด้วย.

ข้อนี้อย่าลืมว่า พระบาลีนี้มันแปลกที่ว่า ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธาตุ, ทุกอย่างเป็นธาตุ เรียกว่า ธาตุได้ทั้งนั้นแหละ. ทุกอย่างเรียกว่าธาตุใดธาตุหนึ่ง; แม้แต่พระนิพพานก็เป็นนิพพานธาตุ; ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธาตุ, โดยแท้จริงตามธรรมชาติแล้ว มันเป็นธาตุทั้งนั้น. ฉะนั้น ความว่าง, ความว่างนี้ก็เป็นธาตุ.

เรื่องธาตุนี้ ถ้าจะพูดกันให้หมดกันก็ยืดยาวมาก, และได้เคยพูดมาครั้งหนึ่งแล้ว เดี๋ยวนี้ จะพูดกันแต่เพียง ๖ ธาตุ ที่จะประกอบ กันขึ้นเป็นสิ่งสมมติที่เรียกว่าคนคนหนึ่ง.

คน ๆ หนึ่งประกอบด้วยธาตุ ๖.

คนคนหนึ่งประกอบอยู่ด้วยธาตุ ๖ ธาตุ : ดิน น้ำ ไฟ ลม, นี่ ๔ ธาตุ ฝ่ายวัตถุฝ่ายกาย, แล้วก็วิญญาณธาตุ นี้ฝ่ายจิต, แล้วอากาสธาตุ นี้ฝ่ายว่าง ไม่จัดเป็นรูปไม่จัดเป็นนาม มันเป็นธาตุของมัน. แล้วบางทีจะมีความหมายไกลไปถึงเป็นที่ดับแห่งรูปและนามด้วย นั้นอย่าเพ่ออธิบายเลย มันยังไกลนัก.

ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ประกอบกันขึ้นได้เป็นร่างกายนี้อธิบายละเอียดในการบรรยายหลายครั้งแล้ว; แต่ต้องเอามาพูดเป็นการเตือนอีกครั้งหนึ่งว่า :–

ธาตุดิน นั้นคือเป็นส่วนที่กินเนื้อที่ มันจะเล็กใหญ่เท่าไรก็ตาม มันจะเป็นหนึ่งปรมาณูอะไรก็ตาม เขาหมายถึงสิ่งที่มันเกิดเนื้อที่ มันแข็งและกินเนื้อที่ ต้องการเนื้อที่ นี้เรียกว่าธาตุดิน คือส่วนประกอบหน่วยหนึ่ง ๆ.

ธาตุน้ำ คือคุณสมบัติที่ทำให้ธาตุดินเกาะกุมกันได้; ถ้าไม่มีธาตุน้ำ ธาตุดินมันเกาะกุมกันไม่ได้ มันก็ไม่เป็นรูปร่างอะไร.

ทีนี้ ธาตุไฟ คืออุณหภูมิ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งธาตุลม คือความระเหยได้ของแก๊สของธาตุลมนี้ คือสิ่งที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหว.

ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ๔ ธาตุนี้ คือคุณสมบัติ ๔ ประการนี้ มันไม่มีตัวตนอะไร มันมีคุณสมบัติแต่ละอย่าง ๆ.

คุณสมบัติ ๔ อย่างนี้ประกอบกันเข้าเป็นร่างกาย.

ที่เรามักจะพูดกันว่า ธาตุดิน คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง. ธาตุน้ำ คือ เลือด หนอง น้ำมูกน้ำตา, ไปชี้เอาของเหลว นี้มันเป็นคำอธิบายสำหรับชาวบ้านหยาบ ๆ. ควรจะพูดว่าธาตุดินเป็นของแข็ง หาดูได้ง่าย เห็นได้ง่ายที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง. ธาตุน้ำของเหลว ที่เกาะกุมกันให้อยู่เป็นรูปทรงนั้นเห็นได้ง่ายที่ เลือดหนอง น้ำมูก น้ำตา. ธาตุไฟ ดูได้ที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น. ธาตุลม คือ ลม แก๊ส ที่เคลื่อนไหวไปมาในลำไส้ ในท้อง เป็นต้น. นั้นชี้หยาบ ๆ ชี้ให้เห็นหยาบ ๆ.ถ้าให้เห็นละเอียดแล้ว ต้องเล็งที่ คุณสมบัติ ว่าคุณสมบัติใดที่มันแข็ง กินเนื้อที่ ต้องการเนื้อที่ เบียดเอาเนื้อที่ นี่คือธาตุดิน, ตั้งแต่ส่วนใหญ่ที่สุด จนถึงส่วนเล็กที่สุด ๑ ปรมาณู ก็เรียกว่ามันเป็นธาตุดิน.

เราจะเห็นได้ว่า ในแต่ละอย่าง ๆ ที่เราไปแยกมันนั้น ไม่ถูกดอก. ที่จริงมันก็ประกอบอยู่ด้วยธาตุทั้ง ๔ เสมอแหละ; เช่นว่า ในเนื้อคน เนื้อหนัง เอ็น กระดูก เนื้อคนนี้ ส่วนที่เป็นธาตุดิน ก็คือส่วนที่แข็ง, ส่วนที่เป็นธาตุน้ำ ก็คือสิ่งที่มันทำให้ยึดติดกันได้ ตามคุณสมบัติของน้ำ, ที่เป็นธาตุไฟ มันก็มีอุณหภูมิ, ในเนื้อหนังของคนเรามีอุณหภูมิคือความร้อนจำกัดอยู่, แล้วในเนื้อหนังของคนเราก็มี ธาตุลม คือ สิ่งที่มันเคลื่อนไหวไปมา คือแก๊สต่าง ๆ ที่เราเรียกว่า แก๊ส ต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั่วไป ในเนื้อหนังในระหว่างเซลล์อะไรก็ตาม. นั้นเราแยกไม่ได้, หรือจะเอาโลหิตมาดู เอาโลหิตมาดู แยกดู เอ้า, ในโลหิตก็มีธาตุดิน คือมีส่วนที่เป็นเซลล์เป็นของแข็งละเอียด เห็นไม่ได้, แล้วในโลหิตนั้นก็มีธาตุน้ำ, แล้วในโลหิตนั้นก็มีอุณหภูมิคือความร้อน, แล้วในโลหิตนั้นก็มีแก๊สซึ่งระเหยอยู่เรื่อย; แม้ในโลหิตที่เรียกกันว่าธาตุน้ำ มันก็มีทั้ง ๔ ธาตุ.

เป็นอันว่า ธาตุนี้เล็งถึงคุณสมบัติประเภทหนึ่ง ๆ : ธาตุดิน คุณสมบัติแข็งกินเนื้อที่, ธาตุน้ำ คือคุณสมบัติยุดหน่วง ยุดโยงให้มันเกาะกัน ให้มันติดกัน, ธาตุไฟก็ทำให้ร้อน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่นให้อาหารเปลี่ยนแปลง เป็นการย่อยอาหาร, ธาตุลม ก็คือให้มันเคลื่อนไหวได้ ถ้ามันไม่เคลื่อนไหว มันก็ไม่เจริญอะไรได้, นี่เรียกว่าธาตุ ๔.

ทีนี้วิญญาณธาตุ ธาตุจิต ธาตุใจ นี้อย่าอธิบายดีกว่า; รู้แต่ว่ามันเป็นธาตุชนิดหนึ่งตามธรรมชาติ คุณสมบัติของมัน ก็คือรู้สึกได้, เป็นธาตุที่รู้สึกได้ คือคิดนึกได้. ถ้ามันมีอุปกรณ์สำหรับที่จะรู้สึกคิดนึก มันก็รู้สึกคิดนึกได้; อุปกรณ์ก็คือร่างกายนั่นเอง.

ร่างกาย ประกอบด้วยธาตุ ๔ เป็นเนื้อหนังร่างกาย แล้วยังเป็นส่วนสำคัญคือระบบประสาทส่วน ที่ประกอบกันเป็นระบบประสาทนี้ ก็เป็นส่วนร่างกาย. แต่แล้วมันเป็นที่ตั้งอาศัยของธาตุวิญญาณ ธาตุจิต; มันได้อาศัยระบบนี้ทำหน้าที่ได้, มันเลยแยกกันไม่ได้. ถ้ามันแยกกัน จิตก็ทำอะไรไม่ได้ มันไม่มีที่จะทำงาน. ร่างกายล้วนๆ ก็เหมือนกัน ถ้ามันไม่มีธาตุวิญญาณ ไม่มีธาตุจิตมันก็ไม่มีค่าอะไร ไม่มีความหมายอะไร ทำอะไรไม่ได้; ฉะนั้นจึงต้องไปด้วยกัน, ธาตุฝ่ายกาย กับธาตุฝ่ายจิตนี้แยกกันไม่ได้ ถ้าแยกกันก็เท่ากับไม่มี.

ส่วนอีกธาตุหนึ่ง คือ อากาสธาตุ–ธาตุว่างนั้น มันเป็นเครื่องรองรับทั้ง ๒ ธาตุนี้ไว้, ทั้ง ๒ ธาตุนี้มันตั้งอยู่บนความว่าง อย่างที่พูดมาแล้ว. ฉะนั้นจึงต้องตั้งต้นด้วยธาตุทั้ง ๖ ว่าบุรุษนี้ที่สมมติกันว่าเป็นคนคนหนึ่งนี้ ประกอบอยู่ด้วยธาตุ ๖ อย่างนี้. นี่คือจุดตั้งต้นของเรื่อง.

ธาตุ ๖ นี้มีอยู่ตามธรรมชาติ ตามหลักของพุทธศาสนา ไม่ต้องมีพระเจ้า, ไม่ต้องมีอะไรสร้างมา, มันมีอยู่ตามธรรมชาติ, กฎของธรรมชาตินั่นแหละสร้างมันมาแล้วมันก็ทำหน้าที่ของแต่ละธาตุ. ธาตุทำหน้าที่ของแต่ละธาตุ โดยอำนาจของกฎธรรมชาติ โดยกฎธรรมชาติ ธาตุทั้ง ๖ มันก็มีคุณสมบัติประจำตัวของมัน, แล้วมันก็ทำหน้าที่ของมันได้, แล้วมันก็มีเหตุปัจจัยให้ได้ทำหน้าที่; ธาตุ ๖ จึงได้ทำหน้าที่ของมัน คือทำให้เกิดร่างกายคนขึ้นมา; และให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า จิตใจ อยู่ในร่างกายขึ้นมา แล้วก็ตั้งอยู่บนความว่าง ซึ่งเรามองไม่เห็นตัว; เพราะว่าเราจะไปเห็นแต่สิ่งที่มันตั้งอยู่เท่านั้น, เราไม่มองเห็นสิ่งที่รองรับสิ่งนั้นอยู่. เช่น ก้อนหิน อย่างนี้ มันตั้งอยู่บนความว่าง; ถ้าไม่มีที่ว่างมันก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันก็มีที่ว่างให้ก้อนหินมาตั้งอยู่. แต่เรามองทีไรเราเห็นก้อนหินทุกทีเราไม่เห็นความว่าง สำหรับทุก ๆ ปรมาณูของก้อนหิน ที่มันจะตั้งอยู่ได้ มันตั้งอยู่บนความว่าง.

นี่เรียกว่า ธาตุทั้ง ๖ มันประกอบกันตามธรรมชาติอย่างนี้แล้ว มันก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า คนคนหนึ่งโดยสมมติ แยกได้เป็นส่วนกาย และส่วนจิต และส่วนความว่าง. ส่วนกาย คือร่างกาย ส่วนจิต คือจิต และตั้งอยู่บนความว่าง ความว่างนี้ไม่ต้องนับก็ได้ เพราะว่ามันไม่มีบทบาทอะไร ที่มันจะมีบทบาททำให้เกิดปัญหายุ่งยากก็คือส่วนที่เป็น กายกับจิต. เราได้มีกาย ได้มีจิต บางทีก็เรียกว่า นามรูป, นามรูปก็คือรูปที่มีนาม. นามก็คือจิต, เรียกว่ากายก็ส่วนที่มันเป็นวัตถุ, จิต ก็เป็นส่วนที่เป็นนามธรรม; บางทีเรียกเสียใหม่ว่า นามรูป, นามรูป คือรูปที่มันมีนาม หมายถึงกายที่มันมีจิตนั่นเอง. แต่ละคน ๆ นี้คือกายที่มีจิต, เรียกว่า นามรูป.

จิตเป็นส่วนสำคัญ เป็นส่วนที่ว่ามีค่า มีความหมาย, กายนั้นก็เป็นเครื่องรองรับจิต จะเรียกว่ารับใช้จิตก็ได้; แต่ที่แท้มันก็เป็นเพียงอุปกรณ์ให้จิตทำงานได้. ถ้าเปรียบอย่างเดี๋ยวนี้ก็เหมือนกับว่า ส่วนประกอบที่ให้เกิดไฟฟ้านั้น มันเป็นตัวเครื่องไฟฟ้า; แต่ตัวไฟฟ้านั้นเรามองไม่เห็นตัว; เช่นหม้อแบตเตอรี่มัน ก็เหมือนกับร่างกาย ทำให้สิ่งที่เรียกว่าไฟฟ้านั้น มันแสดงตัวออกมาได้ หรือทำหน้าที่ได้ หรือเครื่องไดนาโม เยนเนอเรเตอร์ใหญ่ โตมโหฬารก็เหมือนกันแหละ มันเป็นเพียงเหมือนกับร่างกาย ให้เป็นที่แสดงออกแห่งกำลังไฟฟ้าหรือตัวไฟฟ้าอันมหาศาล. ฉะนั้นกายมันก็มีค่าเพียงเท่านั้นแหละ, มันมีค่าเพียงว่าให้จิตนี่มันทำอะไรได้.

นี่ฝ่ายที่เป็นกายมีอยู่ ๔ ธาตุ ฝ่ายที่เป็นจิตมีอยู่ ๑ ธาตุ ฝ่ายที่รองรับทั้ง ๒ พวกนี้ไว้มีอยู่ ๑ ธาตุ คือธาตุว่าง นี่ตั้งต้นที่ตรงนี้.

ตอนที่ ๑ จิตล้วน ๆ เป็นจิตประภัสสร.

เดี๋ยวนี้จิตล้วน ๆ, ยังเรียกว่า จิตล้วน ๆ ไม่มีกิเลส, จิตยังไม่มีกิเลส ยังไม่มีความคิดนึกรู้สึกว่าตัวกูว่าของกู นี่คือจิตล้วน. จิตล้วน ๆ มีอยู่ตามธรรมชาติเป็นธาตุที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งในบาลีเรียกว่า จิตนี้เป็นประภัสสร; แต่ว่าเศร้าหมองได้ เพราะกิเลสที่เกิดขึ้นมา. ธรรมชาติจิตนั้นประภัสสร แวววาวเหมือนกับน้ำเพชร, แต่มันเศร้าหมองได้เมื่อกิเลสเกิดขึ้นมา นั่นแหละจิตล้วน ๆ ยังไม่เกิดกิเลส, จิตล้วน ๆ ยังไม่เกิดกิเลส เรียกว่า จิตประภัสสร.

จิตประภัสสรคิดนึกอะไรไม่ได้, จึงไม่เกิดความคิดนึกว่าตัวตนอย่างไร มันจึงไม่มีความรู้สึกว่าตัวตนในจิตชนิดนี้; ฉะนั้นตัวตนจึงยังไม่มี เพราะจิตยังคิดไม่เป็น, มันเป็นจิตที่ล้วน ๆ ไม่มีกิเลส ซึ่งเป็นความคิดนึก.

ทีนี้ก็รู้ว่า มันเป็นประภัสสรอยู่ได้ ชั่วเวลาที่กิเลสยังไม่ได้เกิดขึ้น กิเลสอาจจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้; เดี๋ยวนี้กิเลสยังไม่เกิดขึ้น แล้วมันก็เป็นประภัสสรไปพลางเท่านั้นเอง. ถ้าจะเรียกว่าบริสุทธิ์ก็ไม่ได้ เพราะว่ามันพร้อมที่จะเศร้าหมอง จึงเรียกว่าประภัสสร มีความเรืองแสงแวววาวอยู่ น่าดูน่าชม; แต่ว่ามันจะเศร้าหมองเมื่อไรก็ได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่เรียกว่าบริสุทธิ์ดอก. ถ้าจะใช้คำว่า บริสุทธิ์ ต้องใช้ว่ายังบริสุทธิ์ชั่วคราว, บริสุทธิ์ชั่วคราว, ที่ยังไม่เกิดกิเลสขึ้น; เพราะว่าจิตนี้ยังเป็นธรรมชาติ ยังไม่ได้รับการอบรม ยังไม่มีภาวนา คือยังไม่มีจิตตภาวนา, ยังไม่มีใครพัฒนาจิตนี้ ให้กลายเป็นจิตที่ดีที่สุด คือเกิดกิเลสไม่ได้. จิตนี้ยังเป็นตามธรรมชาติคือยังเกิดกิเลสได้, แต่มันยังไม่เกิดกิเลส เรียกว่าจิตล้วน ๆ นี่ตอนหนึ่งแล้วนะ.

จิตล้วน ๆ ยังไม่เกิดกิเลส ก็คือยังไม่เกิดความรู้สึกว่าตัวฉัน หรือของฉันในจิตนั้น ตัวตนยังไม่เกิด, มีจิตล้วน ๆ กิเลสยังไม่เกิด มีจิตล้วน ๆ. นี่ตอนหนึ่งแล้ว ของสิ่งที่จะเรียกกันว่าชีวิต. ชีวิตตลอดทั้งสาย มันตั้งต้นด้วยจิตล้วน ๆ.

ทีนี้มันเกิดจิตล้วน ๆ อย่างนี้ ขึ้นมาในร่างกายนี้ แล้วปรุงแต่งกันต่อไป; เมื่อจิตได้อาศัยร่างกาย และได้อาศัยสิ่งต่าง ๆ เข้ามากระทบจิต โดยผ่านทางร่างกายนี้จะเกิดการปรุงแต่ง เป็นจิตที่มีกิเลส. จิตล้วน ๆ ไม่มีกิเลสมันจะกลายเป็นจิตที่มีกิเลสแล้ว ระวังให้ดี.

ดูกันง่าย ๆ ก็ดูตั้งแต่เมื่อยังอยู่ในท้องแม่; เมื่ออยู่ในท้องแม่มันก็มีร่างกาย, ร่างกายของสัตว์ในครรภ์, แล้วมันก็มีจิต ตามประสา จิตแรกมีของสัตว์ในครรภ์. สัตว์ที่นอนอยู่ในครรภ์ของแม่นั้น มันก็มีจิตที่มันจะรู้สึกอะไรได้เหมือนกัน; แม้ว่าจะคิดนึกไม่ได้ จะยินดียินร้ายไม่ได้ จะเกิดความคิดว่า ตัวกู–ของกู ไม่ได้, แต่มันก็รู้สึกได้. นี่เรียกว่า สัตว์ในครรภ์ที่ยังอยู่ในครรภ์นั้น มันไม่มีเวทนาถึงขนาดที่จะเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ. จิตยังไม่ได้รับ เวทนา : สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ที่เต็มขนาด ที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ; เราก็เรียกว่ายังไม่มีเวทนาก็ได้ เพราะว่า อายตนะทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของทารกในครรภ์ ยังไม่ได้ทำหน้าที่. ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของทารกในครรภ์นั้น ไม่ได้ทำหน้าที่เต็ม ตามความหมาย. ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ; แม้มันจะทำหน้าที่บ้าง เช่นว่ากายจะรู้สึกอะไรบ้าง มันก็ยังไม่เต็มที่ : ตาก็เห็นรูปไม่ได้ หูก็ฟังเสียงไม่ได้, หรือถ้าฟังเสียงอะไรได้บ้าง มันก็ไม่เต็มที่ที่จะให้เกิดความรู้สึกอะไร. จมูกก็ยังไม่ได้หายใจ ก็ไม่รู้กลิ่น, ลิ้นก็ยังไม่ได้ใช้เพราะกินอาหารที่ละลายเสร็จ สำเร็จแล้วไป ทางสายสะดือ มันไม่ได้ใช้ลิ้น, ผิวหนังก็ปล่อยไปตามบุญตามกรรมอยู่ในครรภ์นั้น ไม่ได้สำเร็จประโยชน์เหมือนผิวหนังของคนธรรมดา ข้างนอกนี้.

นี้เราเรียกว่า ทารกในครรภ์นั้นยังไม่ได้มียังไม่ได้ใช้ อายตนะทั้ง ๖ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ. นี่เมื่อมันอยู่ในครรภ์มันก็ยังเป็นจิตล้วน ๆ อยู่นั่นแหละ, เรียกว่าจิตล้วน ๆ. ทารกในครรภ์มีร่างกายแล้วก็มีจิตล้วน ๆ อยู่ ยังไม่อาจจะเกิดกิเลส, ยังไม่อาจจะเกิดความยึดถือว่าตัวตน ก็คือไม่มีตัวตน.

ตอนที่ ๒ จิตมีกิเลส เริ่มเมื่อทารกรู้จักเวทนา.

ทีนี้ ครั้นมาถึงระยะที่ ทารกนี้คลอดออกมาจากครรภ์แล้ว ก็ยังคล้าย ๆ กับอยู่ในครรภ์ ออกมาเดี๋ยวนี้ก็คล้าย ๆ กับอยู่ในครรภ์; แต่ว่ามันเปลี่ยนแปลงเรื่อยพัฒนาเรื่อย เจริญเรื่อย จนเด็กน้อยนี้รู้ จักใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามความหมายของอายตนะ ๖ เรียกว่าได้อายตนะ ๖ แล้ว นีเวทนาก็เกิดขึ้น เพราะการสัมผัส ทางอายตนะ ๖ : ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส ผิวกายได้รับสัมผัส จิตก็ได้รับอารมณ์, นี่มันต่างกันมาก.

เดี๋ยวนี้เด็กทารกน้อย ๆ นั้น สมมติว่าสักเดือนหนึ่งจะดีกว่า จะแน่นอนกว่ามันค่อย ๆ มีความรู้สึกทางอายตนะเต็มขึ้นมา ๆ; ก็กินอาหารอย่างธรรมดาแล้ว, ไม่ได้กินทางสายสะดือแล้ว มันก็รู้สึกอร่อย หรือไม่อร่อยแล้ว ตามันเห็นอะไรได้ มันก็มีสัญญาจำหมายได้ มันก็รู้สึกว่าสวยหรือไม่สวย, หูมันก็ทำหน้าที่ได้ ให้รู้สึกว่าเสียงขับกล่อม นี้ไพเราะหรือไม่ไพเราะ, จมูกมันก็ได้กลิ่นชนิดที่เรียกว่ามันถูกใจหรือไม่ถูกใจ. ผิวหนังก็ได้รับการทะนุถนอมให้อบอุ่นให้นิ่มนวล จนรู้สึกค่าของความสบายทางผิวหนัง. ทีนี้ส่วนจิตนั้น ถ้ามันคิดนึกคิดอะไรได้ มันก็มีอารมณ์สำหรับคิดนึก สำหรับจะถูกใจ หรือสำหรับจะไม่ถูกใจ เช่นเดียวกัน.

ในตอนนี้ขอให้เข้าใจว่า เด็กมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รับสัมผัสทางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ ที่มันจะอร่อยคือพอใจ หรือไม่อร่อย ไม่พอใจ นั้นมันเป็นไปตามธรรมชาติ. ตรงนี้ต้องเข้าใจกันด้วยว่า มันเป็นไปตามธรรมชาติ.

ถ้าว่า ตาได้รับคลื่นแสง ตามธรรมชาติชนิดที่พอดีสำหรับจะให้ประสาทตาสบาย ภาพนั้นก็เรียกว่าเป็นที่สบายแก่ตา หรือสวย, ถ้ามันหยาบคายกระทบกระเทือนตา มันก็ไม่สวย ต้องมีคลื่นแสงที่มากระทบนั้นพอดี สำหรับให้เกิดความรู้สึกอย่างนั้น, คลื่นแสงที่ ไม่ให้เกิดความรู้สึกอย่างนั้น ก็ไม่เป็นที่ปรารถนา เกลียดและหลบ ไปเสีย. คลื่นแสงที่พอดีแก่ตาทำให้สบายแก่ตา ก็รับเอา, แล้วก็ยินดี ก็รู้สึกยินดีทางตา, หรือยินร้ายทางตา.

ทีนี้ หู เมื่อได้รับคลื่นเสียง ที่เหมาะสมตามธรรมชาติ ที่ทำให้หูรู้สึกสบาย คือมีคลื่นของเสียงพอดี ๆ สำหรับให้หูรู้สึกสบาย; ทารกนั้นมันก็รู้สึกสบายทางหู ถ้าผิดจากนั้นมันก็ไม่สบายทางหู; เขาก็ค่อย ๆ รู้สึกความสบายทางหู, ไม่สบายทางหู, คือยินดียินร้าย ทางหู.

ทางจมูก นี้ก็เหมือนกัน ถ้ากลิ่นนั้นมันมีแก๊สมีอณูของแก๊สที่พอดี สำหรับที่ทำให้ประสาทจมูกรู้สึกสบาย มันก็หอม, เป็นกลิ่นหอม กลิ่นที่ต้องการ. ถ้ามันมีจำนวนอณูในกลิ่นนั้นมาก เกินไป, ก็เป็นกลิ่นฉุน เป็นกลิ่นเหม็น เป็นอะไรไปตามเรื่องคือไม่สบาย. ฉะนั้นการที่ตาจะรู้สึกสบาย หูจะรู้สึกสบาย จมูกจะรู้สึกสบาย เป็นไปได้ตามธรรมชาติ ไม่ต้องมีใครมาสอน.

ผิวหนังก็เหมือนกันแหละ ถ้ามันมีสิ่งที่ทำให้รู้สึกแก่ระบบประสาททางผิวหนังพร้อมกันมา ๆ มันก็นิ่มนวล; เช่นเมื่อเปียก เมื่อนิ่มอย่างนี้ มันก็รู้สึกพร้อมกันมาก ๆ ก็เป็นความนิ่มนวล สบายแก่ผิวหนัง; ถ้ามันแห้ง มันแข็งกระด้าง มันก็ไม่รู้สึกสบายแก่ผิวหนัง ฉะนั้นเด็ก ๆ จึงได้รับความสบายแก่ผิวหนัง จนรู้สึกถูกใจ, อาบน้ำบ้าง ทาแป้งบ้าง ให้มันนิ่มนวล; แล้วเด็กสัมผัสนิ่มนวล ก็รู้สึกพอใจ แล้วมันมีส่วนที่ตรงกันข้าม คือไม่พอใจ.

เป็นอันว่า เดี๋ยวนี้ทารกของเรารู้จักสัมผัส ทั้งในส่วนที่น่ารักน่ายินดี และส่วนที่ไม่น่ารักไม่น่ารักยินดี มันผิดไปจากเมื่ออยู่ในท้อง. เดี๋ยวนี้มีเวทนาแล้ว : เดี๋ยวเวทนาทางตา เดี๋ยวเวทนาทางหู เดี๋ยวเวทนาทางจมูก. เดี๋ยวนี้เด็กก็สามารถที่จะมีเวทนา เหมือนกับเรา ๆ ผู้ใหญ่อย่างนี้แล้ว.

เวทนาทำให้เกิดโลภะ โทสะ โมหะ.

ทีนี้ พอได้เวทนานั้น ทั้งเวทนาที่ถูกใจ และเวทนาที่ไม่น่าถูกใจ นี้ทำให้เด็กฉลาด หรือให้เด็กโง่. เด็กก็คือเราทุกคนที่เคยเห็นมาแล้ว ออกมาจากท้องแม่แล้วได้รับเวทนาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ชนิดที่สบายแก่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ, และบางเวลาก็ไม่สบายอย่างยิ่ง แก่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ, แต่ว่าเวทนาทั้งสองชนิดนี้ มันทำให้เด็กฉลาด หรือทำให้เด็กโง่. ตรงนี้จะระลึกถึงพระพุทธภาษิตที่ว่า ทารกนั้นมันไม่ความรู้เรื่องเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ มาแต่ในท้อง; มันก็โง่สิ เพราะมันไม่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติมาแต่ในท้อง, มันก็ยินดียินร้ายต่อเวทนานั้น : ยินดีต่อเวทนาที่น่ายินดี, ยินร้ายต่อเวทนาที่น่ายินร้าย. นี่คือโง่, นี่คือ โง่, มีเวทนาโง่ เพราะไม่มีความรู้เรื่อง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติมาแต่ในท้อง มันก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ, มันก็ยินดีที่มาทำให้ยินดีพอใจ, ยินร้ายที่มาทำให้ยินร้ายไม่พอใจ, ฉะนั้นจึงเกิดรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ประเภทหนึ่ง ที่ทำให้ยินดี พอใจ หลงใหล, รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ, ธัมมารมณ์ อีกพวกหนึ่ง ซึ่งทำให้ยินร้าย โกรธเคือง ขัดใจ.

เอาแล้ว ลูกทารกนี้มันสามารถที่จะยินดีพอใจ และสามารถที่จะยินร้ายโกรธเคืองขัดใจขึ้นมาแล้ว. เดี๋ยวนี้จะเห็นได้ ไม่ใช่จิตล้วน ๆ เสียแล้ว, เห็นไหมเล่า? จิตนี้ไม่ใช่จิตล้วน ๆ เสียแล้ว เป็นจิตที่อวิชชาครอบงำเสียแล้ว, เป็นจิตที่รู้สึกยินดียินร้ายเสียแล้ว. เมื่อชอบหรือยินดี ก็เป็นกิเลสชนิดหนึ่ง, เมื่อไม่ชอบหรือยินร้าย ก็เป็นกิเลสอีกชนิดหนึ่ง.

นี้มาถึงตอนที่ ๒ นี้ จิตไม่ใช่จิตล้วน ๆ เสียแล้ว เป็นจิตที่ยินดียินร้ายได้เสียแล้ว แล้วก็เกิดกิเลสได้เสียแล้ว, แล้วก็โง่ต่อสิ่งเหล่านั้น, เรียกว่าเป็นอวิชชา. เขาไม่รู้เรื่องเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ, ว่าทั้งหมดเช่นนั้นเอง, ทั้งหมดเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา, ทั้งหมดเป็นเช่นนั้นเอง ความรู้อย่างนี้มันไม่มี, เด็กนั้นไม่มีความรู้อย่างนี้ ที่ในพระบาลีกล่าวว่า ทารกนั้นไม่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุตติ ปัญญาวิ–มุตติ; เมื่อไม่มีความรู้เรื่องนี้ มันก็ยินดียินร้ายไปตามเรื่อง. นั่นแหละคืออวิชชา มันก็หลงรักบางอย่าง ก็เกิดโลภะหรือราคะขึ้นมา, มันก็หลงเกลียดหลงโกรธ บางอย่างก็เกิดโทสะหรือโกธะขึ้นมา; แล้วมันไม่เข้าใจสิ่งนั้น ๆ ได้ตามที่เป็นจริง มันโง่มันก็หลงใหล มันก็ข้องใจ มันก็สงสัย นี้ก็เกิดโมหะขึ้นมา.

เดี๋ยวนี้ลูกทารกของเราสามารถที่จะเกิดโลภะ โทสะ โมหะ ในอันดับต้นขึ้นมาแล้ว. นี่จิตนี้ไม่ใช่จิตล้วน ๆ เสียแล้ว, จิตนี้ไม่ใช่จิตล้วน ๆ เสียแล้ว, นี่บทบาทที่ ๒ ฉากที่ ๒ ของจิตนี้.

การเกิดขึ้นของขันธ์ทั้ง ๕.

ทีนี้ก็ดูให้ละเอียดในทางธรรมะ ก็คือว่า ทารกนี้ที่ประกอบอยู่ด้วยธาตุ ๖ นี่. ทารกน้อย ๆ นี้ก็ประกอบอยู่ด้วยธาตุ ๖ แล้วเหมือนกัน; แม้ตัวเล็ก ๆ นี่ ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นร่างกาย วิญญาณเป็นธาตุจิต อากาศเป็นที่ว่าง จิตอาศัยร่างกายทำงาน. เมื่อร่างกายทำงาน, ส่วนที่เป็นร่างกายทำหน้าที่ของมันเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ; เมื่อใดมันทำหน้าที่ของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่ารูปขันธ์, เรียกส่วนนั้นว่ารูปขันธ์ ของทารกนั้น.

ทีนี้ เมื่อได้สัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับสิ่งที่อยู่ข้างนอก คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ มันก็เกิดวิญญาณ วิญญาณขันธ์ : วิญญาณขันธ์ทางตา วิญญาณขันธ์ทางหู วิญญาณขันธ์ทางจมูก วิญญาณขันธ์ทางลิ้น วิญญาณขันธ์ทางกาย วิญญาณขันธ์ทางใจ ๖ ทางนี้, เรียกว่าทารกน้อย ๆ นี้มีวิญญาณขันธ์แล้ว.

ทีนี้เมื่อสัมผัสอย่างนี้แล้ว ก็เกิดเวทนาขันธ์, รู้สึกในเวทนาขันธ์ว่าเป็นสุขเป็นทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์; เด็ก ๆ น้อย ๆ นี้ก็มีเวทนาขันธ์แล้ว.

ทีนี้ เด็กนี้ก็รู้สึกสำคัญมั่นหมายว่าอะไรเป็นอะไร, อะไรเป็นอะไร, ที่ได้สัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ, อะไรเป็นอะไร, อะไรเป็นอะไร. มันสำคัญมั่นหมายได้ : สำคัญในทางสี สีดำ สีแดง สีเขียว สีเหลือง, สำคัญในทางรูป รูปสั้น รูปยาว รูปใหญ่ รูปเล็ก รูปหญิง รูปชาย รูปอะไร มันสำคัญได้; แล้วสำคัญในชั้นนามธรรมนี่ คือมันสำคัญว่าอย่างนี้เรียกว่าสุข, อย่างนี้สำคัญว่าสุข อย่างนี้สำคัญว่าทุกข์, อย่างนี้สำคัญว่าไม่สุขไม่ทุกข์, มันสำคัญไปถึงกับว่า นี้มีค่า นี้มีความหมาย นี้มีประโยชน์ นี้มีอะไรที่เป็นความยิ่งใหญ่; มันมีสัญญาแล้ว, มีสัญญาขันธ์แล้ว. ทารกตัวน้อย ๆ รู้จักมีสัญญาขันธ์แล้ว.

ทีนี้เมื่อสำคัญมั่นหมายนั่นนี่ได้พอตัวแล้ว ก็เกิดความคิด : คิดว่าจะทำอย่างไร? เช่นสำคัญว่าสวย มันคิดแต่จะเอา, สำคัญว่าไม่สวย มันก็คิดที่จะฆ่าเสียเสีย. ฉะนั้นเด็กเล็ก ๆ มันก็ทำไปตามเรื่องของเด็กเล็ก ๆ; บางทีมันก็บี้ตัวแมลงบ้าง, มันก็ทำอะไรไปตามความรู้สึกคิดนึก ที่มันมีสัญญาว่าเป็นอะไร. ถ้าเห็นว่าตัวแมลงนี้มีสัญญาว่าเป็นศัตรูของกู มันก็ตีตัวแมลง, บี้ตัวแมลงได้ ทั้งที่เป็นเด็กเล็ก ๆ. นี่เรียกว่าความคิดได้เกิดแล้ว, ความคิดที่จะเอา ความคิดที่จะได้ ความคิดที่จะมีไว้ ความคิดที่จะกิน ความคิดที่จะใช้ ความคิดที่จะฆ่าเสีย, หรือความคิดที่จะทะนุถนอมไว้มันมีแล้วนี่. นี่สังขารขันธ์เกิดแล้ว, สังขารขันธ์เกิดแล้วแก่ทารกน้อย ๆ นั้น.

ฉะนั้นเรียกว่า ขันธ์ทั้ง ๕ เบญจขันธ์นี้เกิดมีได้แล้วแก่ทารกน้อย ๆ นั้น; แต่ดูให้ดีเถอะ มันไม่ใช่เวลาเดียวกัน ขันธ์ทั้ง ๕ ไม่ได้เกิดพร้อมกันได้ : รูปขันธ์เกิดแรกที่สุด เพื่อจะทำงานทางจิต ได้, แล้วก็จิตเกิดเมื่อมีสัมผัสทางอายตนะนี้มันก็เป็นวิญญาณขันธ์; หลังจากกระทบแล้วเป็นวิญญาณขันธ์ : ตากระทบรูปเกิดวิญญาณ ขันธ์ทางตา, หูกระทบเสียง เกิดวิญญาณขันธ์ทางหู : นี่มันเกิดวิญญาณขันธ์ตอนนี้, ไม่ใช่เกิดพร้อมกันกับรูป.

เมื่อเกิดวิญญาณขันธ์แล้ว มันมีผัสสะ มันก็มีเวทนา, เวทนาขันธ์มาในขั้นตอนนี้. เวทนาขันธ์ แล้วสัญญาสำคัญมั่นหมายลงไป ในสิ่งที่เป็นเวทนาหรือเกี่ยวกับเวทนา, แล้วจึงเกิดความคิดนึกต่าง ๆ ซึ่งเป็นสังขารขันธ์ทีหลัง; มันไม่ได้เกิดพร้อมกัน, แล้วมันยังเป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันและกันด้วย โดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง ในฐานะเกิดก่อนบ้าง ในฐานะเกิดทีหลังบ้าง ในฐานะเกิดพร้อมกันบ้าง แล้วแต่เรื่องของธรรมชาติ. แต่ว่าเดี๋ยวนี้ทารกน้อย ๆ นี้ สามารถเกิดเป็นรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์แล้ว.

จิตโง่ยึดถือขันธ์ ๕ เป็นตัวตน–ของตน.

ทีนี้ มันจะเกิดตัวตน คือทารกนั้นคิดนึกได้ รู้สึกได้; เมื่อใดมีเหตุการณ์ให้จิตไปสนใจเพ่งเล็งที่ตัวรูปขันธ์ คือร่างกาย; ความคิดว่าตัวกูในร่างกายนี้ มันก็จะเกิดขึ้น, หรือว่าร่างกายเป็นของกูก็ได้ แล้วแต่กรณี. ถ้ามันไปมุ่งเอาที่ว่าร่างกายทำอะไรได้ ร่างกายนั้นก็เป็นตัวกู; แต่ถ้ามีความรู้สึกอย่างอื่นที่เหนือกว่า มันก็เห็นว่า ร่างกายนี้เป็นเพียงของกู.

นี้เวทนามันรู้สึกได้ จิตมันรู้สึกเป็นเวทนาได้ เมื่อจิตรู้สึกต่อเวทนา ก็เอาจิตที่รู้สึกต่อเวทนานั้นเป็นตัวกู, เอาเวทนาเป็นของกู. เอาตัวผู้รู้สึกต่อเวทนานั่นแหละเป็นตัวกู, จิตนั้นมันเอาจิต นั้นเองเป็นตัวกู; เพราะว่ารู้สึกต่อเวทนาได้. ส่วนความรู้สึกที่เป็น เวทนานั้นมันก็ยึดถือว่าเป็นเวทนาของกู, จิตจึงเกิดความรู้สึกว่าตัวตน ว่าของตน ในเวทนานั้น.

ทีนี้เมื่อมาถึง ระยะของสัญญา มันสำคัญมั่นหมายว่าเป็นอะไรได้ ก็เอาตัวจิตที่สำคัญมั่นหมายว่าเป็นอะไรได้นั่นแหละ ว่าเป็นตัวกูผู้สำคัญมั่นหมาย, แล้วสิ่งที่รู้สึกในความสำคัญมั่นหมายนั้นก็เป็นของกู คือเป็นสัญญาของกู. ฉะนั้นสัญญาขันธ์จึงถูกรู้สึกว่าเป็นตัวตนก็ได้ เป็นของตนก็ได้.

สังขารขันธ์ ก็เหมือนกันอีก ตัวจิตที่คิดนึกได้นั้นมันถูกยึดถือมั่นหมายว่าเป็นตัวกู, แล้วความคิดที่คิดนึกได้ มันว่าเป็นความคิดของกู; สังขารขันธ์จึงถูกยึดถือว่าตัวก็ก็ได้, ว่าของกูก็ได้.

เป็นอันว่า ขันธ์ทั้ง ๕ นั้น แต่ละขันธ์ ๆ นั้น มีทางที่จะถูกยึดถือว่าเป็นตัวตน หรือตัวกู คือเป็นอัตตาก็ได้, หรือจะถูกยึดถือว่าเป็น ของตน ของกู คือเป็นอัตตนียาก็ได้. ขันธ์ทั้ง ๕ มีทางที่จะถูกยึดถือด้วยอุปาทาน–ความโง่ ความไม่รู้ว่าเป็นตัวตนก็ได้ ว่าเป็นของตนก็ได้.

ไปอ่านดูในพระบาลีอนัตตลักขณสูตร จะพบว่าท่านแยกไว้ว่า ไม่ใช่ตนและไม่ใช่ของตน. เมื่อเป็นอย่างนี้จะเรียกว่าตนได้ไหม? ไม่ได้; เมื่อเป็นอย่างนี้จะเรียกว่าของตนได้ไหม ก็ไม่ได้; เพราะว่าความยึดถือนั้นจะถูกแบ่งแยกได้เป็นตัวตนและของตน.

เอาละ, เป็นอันว่า เดี๋ยวนี้จิตนี้ไม่ใช่จิตล้วน ๆ เสียแล้ว; จิตบรมโง่ยึดถือเป็นตัวตนก็ได้เป็นของตนก็ได้ : ในรูปก็ได้ เวทนาก็ได้ สัญญาก็ได้ สังขารก็ได้ วิญญาณก็ได้; ไม่ใช่จิตล้วน ๆ เสียแล้ว, เป็นจิตที่เต็มไปด้วยกิเลส ด้วยตัณหาด้วยอุปาทาน ด้วยอวิชชาเป็นส่วนใหญ่.

เวทนา สัญญา ปรุงตัวตนรุนแรงขึ้น.

ทีนี้มันก็เดินตามนี้ เป็นไปตามนี้รุนแรงขึ้น คือเหตุปัจจัยที่มาส่งเสริมจิตให้เป็นอย่างนี้ ก็มีมากขึ้น ๆ; เพราะว่าทารกนี้เจริญวัย เป็นเด็กโต เป็นเด็กวัยรุ่น เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นพ่อบ้านแม่เรือน, อะไร ๆ ที่มาสนับสนุนความรู้สึกคิดนึกของจิตมันก็แรงขึ้น ๆ. เขาก็มีรูป มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ ในระดับที่รุนแรงขึ้น ๆ เต็มที่, เต็มที่ที่มนุษย์จะพึงมี.

สิ่งที่ปรุงแต่งจิตโดยเฉพาะ ก็คือสัญญาและเวทนานั่นเอง. เวทนาขันธ์นั้นแหละปรุงแต่งจิตให้รุนแรงขึ้น, สัญญาขันธ์นั่นแหละปรุงแต่งจิตให้รุนแรงขึ้น; นี้เรียกว่าจิตตสังขาร.

นี่ขอให้สรุปใจความที่สำคัญที่สุดให้ได้กันทุกคนว่า เมื่อจิตไปจับฉวยเอาอะไร ว่าเป็นตัวเรื่อง เป็นตัวการ มันก็เอาอันนั้นแหละ เป็นตัวตน, หรือว่าเป็นของตน : จิตไปจับฉวยเอารูป มันก็เอารูปเป็นตน, เมื่อมีตน ก็มีรูปนั้นแหละ หรือที่เนื่องกันอยู่กับรูปนั้นแหละ ว่าเป็นของตน. จิตเอาตัวเองเป็นตน, แล้วเอาอะไรที่มันเนื่องกันอยู่กับตนในกรณีนั้นแหละ ว่าเป็นของตน.

ตัวอย่างว่าเด็กทารกเอาหัวไปโดนเก้าอี้ มันก็เจ็บก็รู้สึกว่า ตัวตนนี้ ถูกกระทำโดยตัวตน คือเก้าอี้. เด็กเขาจะโง่จนถึงขนาดที่รู้สึกว่า เก้าอี้ก็เป็นตัวตน คือเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง, ร่างกายของเราแท้ ๆ นี้ ก็เป็นตัวตนอีกฝ่ายหนึ่ง. เดี๋ยวนี้เกิดเป็นศัตรูกันแล้ว ว่าเก้าอี้นี่เป็นศัตรูของเรา มันก็อาจจะเตะเก้าอี้ ทุบเก้าอี้ก็ได้, หรือถ้ามันยังน้อยกว่านั้น ก็ให้แม่ช่วยตีเก้าอี้สักทีหนึ่ง ว่ามันมาทำฉัน; แล้วแม่โง่ ๆ บางคนก็ทำอย่างนั้นจริงเหมือนกัน, แม่โง่ ๆ มาสอนตัวตนให้ลูก ก็ไปตีเก้าอี้ ตีเก้าอี้ให้ลูกหายร้องไห้. ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว ทำไมเล่าที่จะไม่มีความเข้าใจผิดมากขึ้น ๆ; แม้ในเรื่องรูปขันธ์แท้ ๆ ว่าเป็นตัวตน ว่าเป็นของตน. เวทนาขันธ์ก็อย่างเดียวกันอีก มันมีเวทนาขันธ์ที่รุนแรงขึ้น ๆ มีค่ามีความหมายมากขึ้น มันก็ยิ่งยึดถือเป็นตัวตนได้.

ตัวตนมิได้มี มีแต่จิตคิดไป.

ฉะนั้นตัวตนจึงเป็นของลวง, ตัวตนเป็นสิ่งที่มิได้มีอยู่จริง, ตัวตนเป็นสิ่งที่จิตคิดนึกขึ้นมาเองด้วยอวิชชา. นี่รู้กันตรงนี้สิ จะรู้เรื่องอนัตตาได้ง่ายขึ้น. เดี๋ยวนี้พิจารณาอนัตตากันมากี่ปี ๆ ก็ไม่รู้ว่าอนัตตาอย่างไร.

อัตตาคือจิตคิด, ถ้าจิตคิดว่าเป็นตัวตน มันก็มีอัตตาเท่านั้น แหละ; เช่นมันรู้สึกอร่อยไม่ได้ มันก็รู้สึกว่ามีผู้อร่อยได้. นั่นแหละ คือตัวตน คือจิตเอง; ฉะนั้นจิตเองจึงเอาตัวเองเป็นตัวตน แล้วอะไร ๆ ที่มาเกี่ยวข้องในกรณีนี้ก็เป็นของตนไปหมด. ฉะนั้นมีตัวตน ในขันธ์ทั้ง ๕ ได้ทุกขันธ์แหละ, แล้วแต่ว่าในกรณีนั้นมีอะไรเป็นใหญ่ มีรูปเป็นใหญ่ หรือมีเวทนาเป็นใหญ่ มีสัญญาเป็นใหญ่ สังขารเป็นใหญ่ วิญญาณเป็นใหญ่; จิตมันก็เอาสิ่งนั้นโดย เฉพาะเป็นตัวตน, เอาสิ่งแวดล้อมอยู่ที่นั่นเป็นของของตน.

นี่คือความที่ว่า มันไม่มีตัวตนเลย มีแต่ความรู้สึกคิดนึกของจิต ถูกนำไปด้วยอวิชชา–คิดผิดสำคัญผิด จนเกิดความคิดชนิดว่าตัวตน. ฉะนั้นตัวตนจึงมิใช่มีอยู่จริง, ตัวตนเป็นเพียงมายา ที่จะเกิดขึ้นมา อย่างนี้ตามกฎของธรรมชาติ, ตามกฎของธรรมชาติจะทำให้จิตคิดนึกรู้สึกขึ้นมาอย่างนี้ คือมีตัวตน และมีของตน.

เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่จิตล้วน ๆ เสียแล้ว มันเป็นจิตที่เต็มไปด้วยความโง่ความหลง ด้วยกิเลสเสียแล้ว; เรียกว่าเกิดกิเลสแล้ว จิตเกิดกิเลสแล้ว มาสรุปรวมอยู่ที่เกิดตัวตน. ตัวตนนั่นแหละเป็นรัง ของกิเลส เป็นที่รวมของกิเลส : มันโลภ มันรัก มันยินดี ก็เพราะว่าเพื่อตัวตน, มันโกรธ มันไม่ชอบใจ ก็เพราะว่ามันเป็นข้าศึกแก่ตัวตน, มันหลงใหลวนเวียนอยู่ ก็เพราะว่ามันจะเพื่อตัวตน; เผื่อว่ามันจะมีประโยชน์แก่ตัวตนมันจึงหลงใหล.

ฉะนั้นจิตของเราเดี๋ยวนี้ มันเต็มไปด้วยความโง่เขลาว่าตัวตน ในนั่น ในนี่ ในโน่น เปลี่ยนไปเรื่อยแหละ แต่จะยืนโรงอยู่อย่างเดียว ก็ว่า ตัวจิตเอง นั่นแหละจะถูกยึดถือว่าเป็นตัวตน. ตัวตนมิได้มี มิได้เคยมี มิได้มีจริง; แต่มันก็ได้มีขึ้นแล้วในความรู้สึกจริง ๆ. คนคนนั้นเขาก็ต้องเอาความรู้สึกของเขาเป็นหลัก เมื่อเขารู้สึกว่าตัวตน หรือตัวกู อยู่อย่างนี้, เขาก็ต้องว่ามีสิ, เขารู้สึกว่านั่นแหละคือตัวตน.

ฉะนั้น ถ้าพูดโดยภาษาของมนุษย์ ก็พูดได้ว่า ตัวตนมันก็มีอยู่จริง เพราะคนนั้นรู้สึกว่ามีตัวตน. แต่ถ้าดูทางภาษาธรรมะชั้นลึก เอ้า, มันไม่ได้มีอยู่จริง, มันเป็นเพียงความเข้าใจผิด สำคัญผิด คิดนึกขึ้นมาผิด ๆ; ฉะนั้นตัวตนมันจึงมิได้มีอยู่จริง, ถ้ามองในแง่นี้. แต่ถ้ามองในแง่ที่ว่า ตัวตนมันรู้สึกอยู่ในจิตจริง ๆ นี่ มันก็มีสิ มันก็มีตัวตนที่มันรู้สึกอยู่ในจิตจริง ๆ, แล้วนั่นคือมายา. ทีนี้เราไม่เห็นมายาของตัวตน เราก็คิดว่ามีตัวตน; เพราะเราไม่ได้ฉลาดมาแต่ในท้องเหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านว่า มันก็มีตัวตน, ตัวตน ตัวกู–ของกู มาตั้งแต่เล็ก ๆ จนโตจนเป็นผู้ใหญ่ จนกระทั่งเข้าโลงไปแหละ มันก็มีตัวตน. นี่จิตนี้เต็มไปด้วยกิเลส เต็มไปด้วยตัวตน, ความเป็นประภัสสรเดิม ๆ ของเดิม สมบัติเดิมของจิตหายหมดแล้ว; เพราะว่าเดี๋ยวนี้เต็มไปด้วยกิเลส ด้วยอวิชชา.

ความเนื่องกันของกิเลส อนุสัย และอาสวะ.

ตอนนี้จะต้องศึกษากันอีกหน่อย ถึงอนุสัยและอาสวะ. พอจิตมีกิเลสเกิดกิเลสได้ เกิดโลภะ โทสะ โมหะ; นี้เรียกว่าเกิดกิเลสได้. ทีนี้พอเกิดกิเลสได้ครั้งหนึ่ง มันก็เกิดความเคยชินของกิเลสไว้ หน่วยหนึ่ง; เช่นว่าโลภทีหนึ่งจะเกิดความเคยชินสำหรับจะโลภนั้นหน่วยหนึ่ง, โกรธทีหนึ่ง ก็เกิดความเคยชินสำหรับจะโกรธอีกหน่วยหนึ่ง, โง่ทีหนึ่ง ก็เกิดความเคยชินสำหรับจะโง่หน่วยหนึ่ง เก็บไว้ในสันดาน. ฉะนั้นเรามีกิเลสเกิดเท่าไร, เราก็มีอนุสัยที่จะเกิดกิเลสนั้น เก็บไว้สะสมไว้ในสันดาน. ความเคยชินส่วนนี้เรียกว่า อนุสัย, กิเลสก็คือกิเลส, ความเคยชินที่จะเกิดกิเลสนี้เรียกว่า อนุสัย.

เมื่อมีอนุสัยเก็บไว้มาก เก็บไว้มาก ๆ ในสันดาน มันก็พร้อมที่จะดันออก ๆ เรียกว่าอาสวะ. ที่จะไหลออกมานี้เรียกว่า อาสวะ, ถ้าเราเก็บอนุสัยไว้มากความดันออกของอาสวะมันก็มาก. เหมือน กับเราตักน้ำใส่ตุ่ม ตุ่มนั้นมีรูรั่ว ถ้าเราตักน้ำใส่ตุ่มแต่น้อย ๆ น้ำที่จะรั่วออกมาทางรูนั้นก็ออกมาน้อย; แต่ถ้าเราตักน้ำใส่ตุ่มให้ มากให้เต็ม น้ำที่จะดันออกมาทางรูรั่วนั้นก็แรง จนถึงกับพุ่งออกมาได้. นี่เรียกว่ามีอนุสัยเก็บไว้มาก ก็มีอาสวะที่จะดันออกมามาก.

ฉะนั้นมันจึงพร้อมที่จะรักเร็ว โลภเร็ว โกรธเร็ว โง่เร็ว กว่าเดิม; ยิ่งโตวันโนคืน โตวันโตคืน มันก็โลภได้เร็วกว่า รักได้เร็วกว่า โกรธได้เร็วกว่า โง่ได้เร็วกว่า คือรุนแรงกว่ารุนแรงกว่า. นี่เรียกว่า กิเลสเกิดแล้ว สะสมอนุสัยไว้ในสันดาน อนุสัยในสันดานสะสมไว้ มากเท่าไร ก็ยิ่งจะมีอาสวะที่จะไหลออกแรง และรวดเร็วเท่านั้น.

นี่พวกกิเลส มันมีอยู่ ๓ หน้าตา : อันหนึ่งเป็นกิเลสเกิดอยู่ ตามธรรมดา เรียกว่ากิเลส. อันหนึ่งเป็นความเคยชินของกิเลส เรียกว่าอนุสัย. อันหนึ่งเป็นความไหลออกของกิเลส เรียกว่า อาสวะ. ถ้าไม่มีกิเลสก็ไม่มีอนุสัย; ฉะนั้นอนุสัยจะลดลงไปทุกทีที่ไม่เกิดกิเลส; มันควรจะเกิดกิเลส แต่เราบังคับไว้ได้ ไม่ให้เกิดกิเลส อนุสัยก็ลดลงไป, ทุนสำรองที่สะสมไว้มันก็ลด ฉะนั้นอย่าโลภครั้ง หนึ่งก็ลด อนุสัยของราคานุสัย,ไม่โกรธครั้งหนึ่ง ก็ลดอนุสัยที่เรียก ว่าปฏิฆานุสัย, ไม่โง่ครั้งหนึ่งก็ลดอนุสัยที่เรียกว่า อวิชชานุสัย หนึ่ง ๆ หนึ่ง เสมอไป.

อนุสัยมี อยู่ ๓ ชื่อ : ราคานุสัย ความเคยชินที่จะกำหนัดยินดีหรือโลภ. ปฏิฆานุสัย ความเคยชินที่จะโกรธ จะประทุษร้าย จะขัด แค้นขัดเคือง. อวิชชานุสัย คือความเคยชินที่จะโง่. อนุสัยมีอยู่ ๓ ชื่อ แล้วมันจะไหลออกมาเป็นอาวะ ไหลไปทางกาม เรียกกามาสวะ, ไหลไปทางภพ เรียกว่าภวาสวะ, ไหนไปทางอวิชชา เรียกว่าอวิชชาสวะ นี่เรียกว่า อาสวะ.

นี่คือจิต ที่เดี๋ยวนี้สูญเสียสภาพเดิมแท้หมด สภาพเดิมแท้ล้วน ๆ เป็นประภัสสร; เดี๋ยวนี้ไม่ล้วนแล้ว เต็มไปด้วยของสกปรก เกรอะกรังเต็มที่, สกปรกรกรุงรังไปด้วยกิเลส ไปด้วยอนุสัย ไปด้วยอาสวะแล้ว; ไม่ใช่ที่กำลังนั่งอยู่นี่หรือ? เดี๋ยวนี้มันมีสมบัติอย่างนี้เต็มที่แล้ว มีทั้งกิเลส มีทั้งอนุสัย มีทั้งอาสวะ.

จิตตกอยู่ในวัฏฏะ เพราะอำนาจกิเลส.

ทีนี้มันก็เป็นไปตามกิเลส, เป็นไปตามอำนาจแห่งกิเลส ที่เรียกว่า กรรม, กรรม. พอเกิดกิเลสก็เกิดกรรม คือทำไปตามอำนาจของ กิเลส; นี่เรียกว่ากรรม. ได้รับผลของกรรม เรียกว่าวิบาก. วิบากนั้น มันจะช่วยทำให้กิเลสแรงกว่าเดิม. กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม ครั้นทำกรรมได้รับผลของกรรมแล้ว; ถ้ากรรมเป็นที่พอใจ ก็ส่งเสริมกิเลสที่เป็นที่พอใจ ฝ่ายที่เป็นที่พอใจ, ถ้าผลกรรมไม่เป็นที่พอใจ มันก็ส่งเสริมกิเลสฝ่ายที่ทำให้โกรธแค้นขัดเคือง คือยินร้าย มันจึงทวีขึ้น ๆ, คือวิบากมันจะส่งเสริมกิเลส ให้แรงไปกว่าเดิมเสมอ. เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ลดลง; ถ้าปล่อยไปตามเรื่องตามธรรมชาติ ไม่ลดลง; เว้นแต่จะไปในทางของความรู้ ความตรัสรู้เท่านั้น ที่มันจะเดินกันอีกทางหนึ่ง.

เดี๋ยวนี้พูดตามธรรมชาติมนุษย์เรานี้ มีกิเลสแล้วก็ทำกรรม; เมื่อมีกิเลสต้องทำกรรม มันอยู่ไม่ได้. เมื่อมีความโลภ ก็ทำไปตามความโลภ, เมื่อมีความโกรธ ก็ทำไปตามความโกรธ, เมื่อมีความหลง ก็ทำไปตามความหลง, เรียกว่าทำกรรม.

ครั้นทำกรรม ต้องมีผลกรรม; ถ้าผลกรรมถูกใจ ก็อยากทำอีก, ผลกรรมไม่ถูกใจ ก็อยากให้ทำอย่างอื่นที่ตรงกันข้าม, ก็คือสร้างกิเลสอีกพวกหนึ่งซึ่งตรงกันข้าม. จะสร้างกิเลสเดิม หรือสร้างกิเลสที่ตรงกันข้าม มันก็มีมูลมาจากการรับผลกรรมนั่นเอง.

นี่เรารับผลกรรมกันอยู่ที่นี่; ไม่ต้องพูดถึงข้ามภพข้ามชาติ, ไม่ต้องพูดถึงต่อตายแล้วก็ได้; เพื่อให้เห็นชัดว่ามันน่ากลัว : วัฏฏสงสารเวียนอยู่ตรงนี้ : มีกิเลส–แล้วทำกรรม–รับผลกรรม, มีกิเลส–แล้วทำกรรม–รับผลกรรม, มีกิเลส–แล้วทำกรรม–รับผลกรรม; วงกลมวัฏฏะนี้มันรุนแรงอยู่ที่นี่, แต่ละวันแต่ละคืน มันไม่รู้กี่วง, ไม่รู้กี่สิบวงก็ได้. นี่วัฏฏะอยู่ที่ตรงนี้.

นี่เลวที่สุดแล้ว จิตนี้เลวที่สุดแล้ว มาเป็นจิตที่เวียนวนอยู่ในวัฏฏะแล้ว, จิตนี้ไม่ใช่จิตล้วนแล้ว, จิตโง่หลงเวียนวนอยู่ในวัฏฏสงสาร กิเลส–กรรม–วิบากแล้ว. แต่ถ้าพูดให้ง่าย ๆ ตามภาษาชาวบ้านพูด ภาษาคน เขาก็เวียนว่ายในชาตินี้ ชาติโน้น ชาติหน้า ต่อเข้าโลงแล้ว อะไรแล้ว ก็ได้เหมือนกัน. เขาเอานั่นเป็นหลักเวียนว่ายตายเกิด ภพ ๆ ชาติ ๆ เอาร่างกายเป็นหลัก, เขาเอาร่างกายเป็นหลัก : ร่างกายเข้าโลงทีหนึ่ง, ร่างกายเกิดมาใหม่ทีหนึ่ง, ร่างกายเข้าโลงทีหนึ่ง; เขาเอาร่างกายเป็นหลัก : เขาก็เวียนว่ายตายเกิดแบบเข้าโลงแล้วเข้าโลงอีก. หรือว่าจะพูดเอาอาการเป็นหลักก็ว่า มันเวียนอยู่ที่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย, เกิด แก่ เจ็บ ตาย, เกิด แก่ เจ็บ ตายนี้ เวียนอยู่ที่นี่. นี้ก็คือวัฏฏะเหมือนกัน.

เดี๋ยวนี้จิตที่บรมโง่ จิตที่มีกิเลสหนาแน่น จิตที่มืดไปด้วยอวิชชามีตัวตนอย่างแรงกล้านี้ มันก็เวียนว่ายไปในวัฏฏะ. วัฏฏะต่อตายแล้ว นั่นมันเห็นยาก ไม่เป็นสันทิฏฐิโก; ไม่อยากจะพูดถึง, จะพูดแต่วัฏฎะที่เห็นง่ายที่ตรงนี้แหละ เป็นสันทิฏฐิโก, เห็นได้ด้วยตนเอง ที่ตรงนี้ : คือมันมีกิเลส แล้วมันก็กระทำตามกิเลส มันได้รับผลของ การกระทำตามกิเลส, มันก็ส่งเสริมกิเลสอีก แรงขึ้นไปอีก ไม่ว่าด้านไหน นี่คือวัฏฏะ ขอให้กลัวกันให้มาก ๆ เถอะ. ที่ว่าเวียนว่ายในวัฏฏสงสารนี่น่ากลัวที่สุด ก็คือเราตกอยู่ในวงของกิเลส ของกรรม ของวิบาก, กิเลส–กรรม–วิบาก, กิเลส–กรรม–วิบาก.

ถ้าอุปมาก็เหมือนกับว่า ชาวนาอยากทำนา; ชาวนาเขาอยากทำนา, แล้วเขาก็ทำนา, แล้วเขาก็ได้ข้าวเปลือก, แล้วเขาก็อยากทำอีก, เพราะได้ข้าวเปลือก, เขาก็อยากทำอีก. ถ้าเผอิญไม่ได้ข้าวเปลือก เขาก็อยากแก้ตัว เขาก็ทำอีกเหมือนกัน. ฉะนั้นชาวนาจึงมี อยากทำนา แล้วก็ทำนา แล้วก็ได้ข้าวเปลือก, แล้วก็อยากทำนา แล้วก็ทำนา แล้วก็ได้ข้าวเปลือก. ไม่ว่าเรื่องอะไรมันจะวนเป็น ๓ ขั้นตอน เป็นวงกลมอย่างนี้, ก็เรียกว่า วัฏฏสงสาร. ถ้าพูดโดยภาษาธรรมะก็ อย่างนี้; ถ้าพูดโดยภาษาคน เอาร่างกายเป็นหลัก ก็ว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย, เกิด แก่ เจ็บ ตาย, ไปตามร่างกายเป็นหลัก.

ในวัฏฏะทุกสภาพเป็นทุกข์ทั้งนั้น.

ทีนี้ก็ดูต่อไปอีกว่า ในวนนั้น ในวนแห่งวัฏฏะนั้น มันมีอะไร? มันมีแต่ความทุกข์ทั้งนั้น. ในวัฏฏสงสารที่วนเป็นวงกลมนั้น มันมีแต่ความทุกข์ แม้ว่ามันจะเป็นไปในทางกามภพ มันก็เป็นความทุกข์, เป็นไปในทางรูปภพ ก็เป็นความทุกข์, เป็นไปในทางอรูปภพ ก็เป็นความทุกข์, คือมันมีจิต คิดไปในทางกามารมณ์ มันก็มีความทุกข์, จิตมันคิดไปในทางรูปธรรมล้วน ๆ มันก็มีความทุกข์ที่ละเอียดขึ้นไป, จิตคิดไปในทางอรูปธรรม มันก็มีความทุกข์ที่ละเอียดขึ้นไป.

กามาวจรที่พูดโดยบุคลาธิษฐานนั้น คือสัตว์ที่บูชากามารมณ์. สัตว์ที่บูชากามารมณ์ นับตั้งแต่สัตว์นรก อบายทั้ง ๔ ชั้น มนุษย์ธรรมดา และสวรรค์ ๖ ชั้นข้างต้น ล้วนแต่บูชากามารมณ์ : อบาย ๔, มนุษย์ ๑, สวรรค์กามาวจร ๖, นี่รวมกันเป็น ๑๑. นี้ก็มีความทุกข์ไปตามแบบกามาวจร.

ถ้าดีกว่านั้น ก็ไปในเรื่องรูปพรหม เป็นพรหม มีจิตไม่ลุ่มหลงกามารมณ์ ไปลุ่มหลงอยู่ด้วยความสุขประเภทรูป คือเป็นพวกรูป พรหม ๑๖ ชั้น. ทั้ง ๑๖ ชั้นนั่นแหละก็เวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์ ที่ละเอียด ที่ประณีต ที่เห็นยาก มันก็หลงกันเหมือนกัน. สัตว์ กามาวจรหลงกามารมณ์เท่าไร พวกพรหมในรูปาวจรก็หลงสุข ในรูปมากเท่านั้นแหละ.

ที่นี้ สูงขึ้นไปอีกเป็นพวก อรูปพรหม ก็หลงในอรูปธรรม, อรูปฌานความสุขอันเกิดจากอรูปฌาน, หลงเช่นเดียวกันอีก. เรียกได้ว่า ภพทั้งหลายเป็นทุกข์ทั้งนั้นเลย : กามภพ รูปภพ อรูปภพ แต่ละภพเป็นทุกข์ทั้งนั้นเลย มีพระบาลีพูดไว้, คือมีคำตรัสไว้ว่า อุจจาระแม้แต่นิดหนึ่งก็เหม็น. อุจจาระแม้แต่นิดหนึ่งก็เหม็น, อุจจาระนิดหนึ่งจนมองดูไม่เห็นนั่น มันก็เหม็น. คิดดูเถอะ, ภพก็เหมือนกันแหละ ภพทั้งหลายแม้แต่นิดหนึ่ง ขนาดมองไม่เห็น มันก็เป็นทุกข์; เพราะคนมันมองไม่เห็นมันก็ยังเป็นทุกข์. อุจจาระแม้นิดหนึ่งมันก็เหม็น; ภพทั้งหลายแม้นิดหนึ่งมันก็มีความทุกข์. เป็นความทุกข์.

ฉะนั้นเขาก็เวียนว่าย จิตชนิดนี้มันเวียน, มันเปลี่ยน, จิตมันเปลี่ยนไปอยู่ในรูปของกามาวจร ไปอยู่ในรูปาวจร อรูปาวจร โดยร่างกายนี้แหละ. แต่จิตมันเปลี่ยนไปในรูปต่าง ๆ ก็เรียกว่า ภพต่าง ๆ นี้เราพูดภาษาธรรม.

แต่ถ้าพูดตามภาษาคน ที่ชาวบ้านแต่ก่อนเขาพูดกันอยู่ หรือเขาพูดกันอยู่ก่อนพุทธกาล เขาว่ามันไปเกิดเลย; เช่นไปเกิดในนรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย หรือร่างกายอื่น ที่โลกอื่น, หรือไปเกิดในสวรรค์กามาวจร ไปเกิดเป็นเทวดา อยู่วิมาน มีนางฟ้าอะไรไป เลย, หรือถ้าไปเกิดเป็นพรหม ก็ไปอยู่ในพรหมโลก ชั้นที่มีรูป ชั้นที่ไม่มีรูปเลย, อย่างนั้นเขาอธิบายอย่างนั้น ก็ตามใจเขาเถอะ. เราไม่ขัดคอ ไม่ขัดแย้งอะไร; แต่มันไม่เป็นสันทิฏฐิโก. คือไม่เห็น ไม่รู้สึกด้วยตนเอง จึงไม่อยากจะพูด อยากจะพูดแต่ที่เป็นสันทิฏฐิโก เดี๋ยวนี้เรารู้สึกอยู่แท้ ๆ นี่ เราลำบากเดือดร้อนอย่างยิ่งอยู่ด้วยกามารมณ์, ด้วยการแสวงหากามารมณ์, หรือเนื่องด้วยกามารมณ์ หรือว่าได้กามารมณ์มาแล้ว เหมือนกับอยู่ในสวรรค์นั้นแหละ เพียบพร้อมไปด้วยกามารมณ์นี้ก็ยังเป็นทุกข์; เพราะยึดถือว่าเป็นของกู เป็นตัวกู เป็นของกู แล้วก็ร้องไห้ เมื่อมันจะพลัดพรากจากกัน แล้วมันก็หลงใหล เมื่อกำลังบริโภคอยู่ ก็เรียกว่าเป็นทุกข์.

ถึงในชั้นดี ชั้นดีมาก ชั้นรูปพรหม ชั้นอรูปพรหม ก็ยึดถือตัวตน, ยึดถือตัวตนมันก็เป็นทุกข์ มันช่วยไม่ได้; ยิ่งดีมากยิ่งไม่อยากตาย. ในบาลีกล่าวไว้ว่า สัตว์ที่ไม่อยากตายที่สุดก็คือพวกพรหม; เพราะพวกพรหมเขาดีมาก เขาสบายมาก เขาสะอาดมาก เขาไม่อยากตาย. ยิ่งไม่อยากตายเท่าไรก็ยิ่งกลัวตายเท่านั้นแหละ ยิ่งกลัวตายเท่าไร มันก็เป็นทุกข์เท่านั้นแหละ.

ฉะนั้นพวกที่ไม่อยากตาย ก็คือพวกที่จะต้องกลัวตาย; เขาไม่อยากตาย เพราะว่าภพหรือภาวะเป็นอยู่ของเขานั้นมันดีมาก; พวกรูปพรหม พวกอรูปพรหม. ฉะนั้นพอพูดถึงว่า “ตาย” แล้วพวกนี้สะดุ้งที่สุดเลย; มนุษย์ยังดีเสียกว่า. พอพูดว่า การดับแห่งสักกายะ คือตาย พวกพรหมจะสะดุ้งมากกว่าสัตว์พวกไหนหมด; เพราะเขาได้ภพที่ดีที่น่ายึดถือ พวกพรหมจึงยึดถือในภพอย่างยิ่ง จึงกล่าวได้ว่า สัตว์ที่อยู่ในกามาวจรภพก็ดี อยู่ในรูปาวจรภพก็ดี อยู่ในอรูปาวจรภพก็ดี เป็นทุกข์ทั้งนั้นแหละ; เพราะว่ายึดถือ.

เดี๋ยวนี้ไม่ใช่จิตล้วน ๆ เสียแล้วเห็นไหม? ไม่ใช่จิตล้วน ๆ เสียแล้ว, มันเป็นจิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์แล้ว, มันน่าหัว ก่อนนี้มันเป็นจิตล้วน ๆ ไม่มีสมบัติอะไร; เดี๋ยวนี้มันมาเป็นจิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์, สมบัติของมันก็คือความทุกข์.

เอาละ, ทีนี้ ขั้นตอนที่ ๒ จบ. จิตที่ล้วน ๆ ไม่มีอะไร เดี๋ยวนี้มากลายเป็นมีกิเลส และมีความทุกข์อย่างเต็มที่, เวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์ เหมือนลงไปลอยคออยู่ในน้ำแห่งความทุกข์ จิตตอนที่ ๒ เป็นอย่างนี้.

ตอนที่ ๓ จิตหมดกิเลส.

ทีนี้จิตตอนที่ ๓, จิตตอนที่ ๓ ที่จะออกมาจากกองทุกข์ ที่จะออกมาจากตัวตน. จิตตอนที่ ๓ ก็คือการเวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์นั่นเอง ได้ชิมความทุกข์อย่างนั้น, ชิมความทุกข์อย่างโน้น, ชิมความทุกข์ทุกชนิด, เวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์ทุกชนิด; แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นเล่า? คิดดูเถอะ มันจะเกิดอะไรขึ้น? มันก็ค่อย ๆ สังเกตเห็นความทุกข์, และรู้สึกต่อความทุกข์มากขึ้น, เรียกว่าความทุกข์นั่นเองมันกัดเอาแล้วมันสอนให้, มันกัดไปพลาง มันสอนไปพลาง. ความทุกข์นี่มันเหมือนกับว่ามันกัดคนให้เจ็บปวดแล้วมันสอนให้พลาง ให้หายโง่.

เมื่อทนทุกข์ไปนานพอสมควรในภพทั้งหลาย มากมายแล้ว ก็เริ่มได้รับการศึกษาจากความทุกข์, เจ็บปวดอยู่ในความทุกข์ ในวัฏฏสงสารตลอดเวลา ความคิดมันค่อย ๆ หันกลับว่า อย่างนี้ไม่ไหว; แล้วมันก็จะค่อย ๆ เห็นว่า ความทุกข์นี้มันมาจากความยึดถือเป็นของตน เป็นตัวตน. เพราะมันนานพอ มันจึงเกิดความคิดนึกขึ้นมารำไรหรือราง ๆ ว่าความทุกข์นี้มันเกิดมาจากความยึดถือว่าตัวตน. แล้วมันก็มาตรงกับที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสสอนไว้ว่า ความยึดมั่นในเบญจขันธ์เป็นทุกข์, เรียกว่ายึดมั่นถือมั่นแล้วก็เป็นทุกข์.

นี้สัตว์ที่เจ็บปวดอยู่ เมื่อนานเข้า ๆ คือมีความทุกข์เหมือนกับตกนรกสัก ๕๐๐ ครั้ง, มันมีความทุกข์เหมือนกับตกนรกสัก ๕๐๐ ครั้งนี้ มันจะไม่ฉลาดขึ้นบ้างหรือ; ฉะนั้นสัตว์ในกองทุกข์นี่เริ่มระอา ต่อความทุกข์ เริ่มมองไปในทางตรงกันข้าม, หรือมองไปในทางกลับกัน. นี่ค่อย ๆ เฉลียวใจขึ้นมาได้ ค่อย ๆ ระลึกนึกเฉลียวใจขึ้นมาได้ ในความโง่ของตนเอง ในกิเลสของตนเอง ในความยึดถือของตนเอง. นี่มันเริ่มมีนิสัยที่จะไปฝ่ายออกจากทุกข์.

ทีนี้ ถ้ามาถึงขนาดนี้ เอือมระอาต่อความทุกข์, เจ็บปวดต่อความทุกข์ขนาดนี้แล้ว ก็สนใจที่จะฟังเรื่องดับทุกข์. สัตว์ชนิดนี้จะเข้าไปหาสัตบุรุษ จะเข้าไปหาผู้รู้, เพื่อจะฟังธรรมจากผู้รู้, แล้วก็รู้ว่า ความทุกข์เป็นอย่างไร, เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร. เขาจึงเข้าไปหา พระพุทธเจ้าบ้าง, ไปหาสาวกของพระพุทธเจ้าบ้าง, หาสัตบุรุษอื่น ๆ บ้าง. แล้วเขาก็ได้ยินได้ฟังเรื่องจตุราริยสัจจ์, เขาก็เข้าใจได้ง่าย; เพราะเขามีความทุกข์มาเต็มเปี่ยมแล้ว ไม่เหมือนกับสัตว์ที่ไม่มีความทุกข์เลย ฟังเรื่องจตุราริยสัจจ์ไม่รู้เรื่อง.

คนฟังธรรมไม่เข้าใจ เพราะชอบของหลอก.

เดี๋ยวนี้ เอากันเดี๋ยวนี้ คนหนุ่มคนสาวที่ฟังเรื่องอริยสัจจ์ไม่รู้เรื่อง เพราะหลงอยู่ในกองทุกข์ ยังไม่ถูกกัดถูกทรมานมากพอ. แต่ถ้าใครถูกกัดถูกทรมานมากพอ แล้วจะฟังเข้าใจ, จะฟังเรื่องจตุราริยสัจจ์เข้าใจ, และอยากจะฟังด้วย และฟังรู้เรื่องด้วย.

ดังนั้น ถ้าเราถามขึ้นมาว่า ทำไมคนบางคนฟังธรรมไม่รู้เรื่อง ไม่ชอบ? แล้วบางคนทำไมฟังธรรมะรู้เรื่อง และชอบ? ก็เพราะมันต่างกันอย่างนี้. คนหนึ่งเข็ดฟันมาแล้วกับความทุกข์ ฟังรู้เรื่องง่าย, คนหนึ่งยังโง่เต็มที่ในเรื่องของความทุกข์จึงฟังไม่รู้เรื่อง. ครั้งพุทธกาลนั้น รู้เรื่องได้ง่าย เพราะว่าเขาไม่มีสิ่งหลอกลวงมากเหมือนเดี๋ยวนี้. ยุคปัจจุบันนี้มีสิ่งหลอกลวงให้หลงอยู่ในกองทุกข์มาก ก็ฟังเรื่องความทุกข์ไม่รู้เรื่อง. ครั้งพุทธกาลไม่มีสุขสนุกสนานเอร็ดอร่อยที่ล่อลวงมากเหมือนเดี๋ยวนี้; ฉะนั้น เขาจึงฟังได้ง่าย เขาจึงมีโอกาสฟังง่าย และรู้เรื่องง่าย.

เดี๋ยวนี้มันมีแต่สิ่งที่หลอกให้หลงใหลในกองทุกข์ แปลก ๆ แปลก ๆ ออกไปไม่มีที่สิ้นสุด; หมายความว่าเหยื่อของความทุกข์มันมีมาก แปลกออกไปไม่มีที่สิ้นสุด; คนสมัยนี้จึงยากที่จะฟังเรื่องความดับทุกข์เข้าใจ. ธรรมะจึงยังเป็นหมันอยู่ สำหรับคนสมัยนี้ ซึ่งมีของหลอกลวงมากเกินไป. ไปดูเถอะในเมืองกรุง ในที่ไหนก็ตาม ของที่มันหนาแน่นเต็มไปหมด มันล้วนแต่เป็นของหลอกลวงให้โง่ ให้หลงในกองทุกข์ทั้งนั้นแหละ, มันไม่มีอะไร. เดี๋ยวนี้แม้แต่ที่วัด มันก็จะเป็นที่หลอกลวงให้หลงอยู่ในกองทุกข์ไปเสียอีก มันไม่ใช่แต่ที่บ้าน หรือที่ตลาดเสียแล้ว. นี่ดูให้ดีว่า ทำไมคนสมัยนี้ จึงยากที่ จะมองเห็นความทุกข์และเบื่อ? เพราะมันมีของมาหลอกมายั่ว มาสับเปลี่ยนกันไว้เรื่อย เปลี่ยนหน้ากันไว้เรื่อย, ให้หลงในเหยื่อของ ความทุกข์ จนตายไปก็ไม่จบ.

ฉะนั้น ช่วยกันสักหน่อย อย่าให้เด็ก ๆ หลงนัก อย่าเอาของหลอกเด็ก ๆ มาหลอกเด็กนัก, ให้เด็ก ๆ เขารู้ว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นของหลอก. อาตมาก็เคยพูดทางวิทยุด้วยซ้ำไปว่า พ่อแม่นั่นแหละทำให้เด็กมันโง่, หลงในของที่ยั่วให้หลง. ถ้าว่าพ่อแม่พาเด็กลูกหลานไปที่ร้านขายเครื่องเล่นของสวยงาม แล้วบอกลูกหลานว่า ของเหล่านี้มันมีไว้สำหรับให้เราโง่, ไปที่ร้านที่ขายของกินเอร็ดอร่อยมากมายแพงด้วย แล้วก็บอกลูกหลานว่า ของเหล่านี้มันมีไว้สำหรับทำให้เราโง่, ถ้ามีพ่อแม่ทำอย่างนี้บ้างแล้ว เด็ก ๆ จะไม่โง่เกินไป ไม่หลงในของสวยงามเอร็ดอร่อยมากเกินไป. ให้เขาคิดดูสิมันก็อย่างนั้นเอง, อร่อยเท่าไร สวยเท่าไร มันก็อย่างนั้นเอง, แล้วก็เสียสตางค์ด้วยแล้วก็แค่นั้นเอง ไม่มีอะไรมากกว่านั้น. นี่เด็ก ๆ ก็จะหลงในสิ่งหลอกลวงนั้นน้อยเข้า, เด็ก ๆ เหล่านั้นก็จะเหมาะที่จะฟังธรรมะรู้เรื่องมากขึ้น.

เดี๋ยวนี้มีแต่ลึกลงไป ๆ ในความโง่ในความหลง จนโตเป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นพ่อบ้านแม่เรือนแล้ว ก็ยังหลงแต่งเนื้อแต่งตัว หลงเอร็ดอร่อย หลงชนิดที่เขาหลงกันนั่นแหละ. นี่ธรรมะจึงต้องเป็นหมันอยู่ ธรรมะจึงเข้ามาช่วยไม่ได้. นี่พวกเรารู้กันไว้ว่า ธรรมะกำลังเป็นหมันอยู่ เพราะว่าเราชอบกันแต่เรื่องของ : ของหลอก.

จิตเริ่มเข้าใจชีวิตก็จะเห็นค่าของธรรมแก้ทุกข์.

เดี๋ยวนี้ มาตอนที่ ๓ นี่ จิตเริ่มเข้าใจชีวิต เข้าใจความทุกข์ เข้าใจความหลอกลวง หรือสิ่งหลอกลวงในชีวิตในโลกนี้มากขึ้น ๆ แล้วก็ได้ยินได้ฟังมากขึ้น; เพราะว่าเขามีความทุกข์. เขาจะไปถาม ผู้รู้ว่า นี้ทำไมจึงทุกข์? นี่เขาก็ไปหาพระพุทธเจ้า ไปหาสาวกของ พระพุทธเจ้า ไปหาสัตบุรุษ ท่านเหล่านั้นก็สอนเขาว่า มันเป็นอย่างนั้น, ความทุกข์เป็นอย่างนั้น, เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างนั้น, จนเขาเข้าใจ จนเขาเข้าใจว่า โอ, นี่มันมีนี่ ผู้ที่ดับทุกข์ได้มีนี่, ผู้ที่ค้นพบเรื่องความดับทุกข์ได้ก็มีนี่, ผู้ปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ได้ก็มีนี่, ธรรมะที่ดับทุกข์ได้ก็มีนี่, โอ, จิตนี้มารู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กันเดี๋ยวนี้เอง.

นี่จิตตอนที่ ๓ นี้มารู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์, ได้รับคำสั่งสอนเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา เรื่องอัฏฐังคิกมรรค แล้วก็ปฏิบัติสิ ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา รู้ว่ามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่เป็นไปได้อย่างนี้. พิจารณาอยู่ปฏิบัติอยู่ ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา อยู่ ก็เกิดวิชชา. ก่อนนี้มีแต่อวิชชา, ก่อนหน้านี้มีแต่อวิชชา ไม่มีความรู้. เดี๋ยวนี้เมื่อมาปฏิบัติอย่างนี้ มันก็เกิดวิชชาตรงกันข้าม คือความรู้ เห็นว่า โอ้, เหล่านี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา.

กลุ่มนี้ทั้งกลุ่มมีหลายญาณ มีญาณอยู่หลายญาณ เรียกว่า ธัมมัฏฐิติญาณ ธัมมัฏฐิติญาณ. กลุ่มธัมมัฏฐิติญาณ : ญาณเห็นอนิจจัง ญาณเห็นทุกขัง ญาณเห็นอนัตตา ญาณเห็นสุญญตา ญาณเห็นตถาตา ญาณเห็นปฏิจจสมุปบาท; เห็นหลายอย่าง เรียกว่า ธัมมัฏฐิติญาณญาณเห็นการตั้งอยู่ตามธรรมดาของธรรมทั้งปวง คือเรียกว่าเห็นพระไตรลักษณ์ก็แล้วกัน เรียกง่าย ๆ ว่าเห็นพระไตรลักษณ์. จิตนี้เริ่มเห็นพระไตรลักษณ์ เริ่มลืมตา เริ่มหายโง่ เห็นพระไตรลักษณ์ เขาก็เริ่มเกลียดกิเลส, เริ่มเห็นโทษของกิเลส เริ่มเห็นโทษของตัวตน, เริ่มเห็นโทษของการเวียนว่ายในวัฏฏสงสาร อย่างที่กล่าวมาแล้ว.

ทีนี้มันก็จะเลื่อนไปอีกชั้นหนึ่งถึงนิพพานญาณ–ญาณที่เป็นไปเพื่อนิพพาน; เช่น นิพพิทาญาณ–ทำให้เบื่อหน่ายในโลก ในสังขาร, แล้วก็อยากจะพ้นเป็นมุญจิตุกัมมยตาญาณ, จนกระทั่งญาณ วิมุตติญาณ–ญาณที่ปล่อยวางสิ่งที่เคยยึดถือ; มีอยู่หลาย ๆ ญาณ ก็เรียกว่ากลุ่มนิพพานญาณ. จิตเข้ามาสู่กลุ่มของนิพพานญาณ; จิตมีนิพพานญาณ คือญาณที่เป็นไปเพื่อนิพพาน และให้ถึงนิพพาน มันก็เปลี่ยนแล้วนี้ตอนที่ ๓ นี่จิตมันเปลี่ยนมาขนาดนี้แล้ว.

จิตลุถึงวิสังขาร, กลับประภัสสรตลอดกาล.

มันก็บรรลุมรรค ผล นิพพาน, บรรลุมรรค ผล นิพพาน เป็นขั้นตอนไป เบื่อหน่ายคลายกำหนัดหลุดพ้นเป็นพระโสดาบันบ้าง, เบื่อหน่ายคลายกำหนัดหลุดพ้นเป็นพระสกิทาคามีบ้าง, เบื่อหน่ายคลายกำหนัดหลุดพ้นเป็นพระอนาคามีบ้าง, เบื่อหน่ายคลายกำหนัดหลุดพ้นเป็นพระอรหันต์บ้าง.

เดี๋ยวนี้จิตมาเป็นจิตที่ไม่มีกิเลส. ทีแรกมันก็ไม่มีกิเลส แต่มันอยู่ในสภาพที่กิเลสเกิดได้; เดี๋ยวนี้มาไม่มีกิเลส แล้วอยู่ในสภาพที่กิเลสเกิดไม่ได้อีกต่อไป. ฉะนั้นความบริสุทธิ์ของจิตในขั้นต้น ไม่เหมือนกับความบริสุทธิ์ของจิตในขั้นปลาย. เมื่อเป็นจิตประภัสสร นั้นมันบริสุทธิ์ชนิดที่กิเลสเกิดได้; มันบริสุทธิ์เพราะยังไม่มีกิเลสเกิด; ถ้ากิเลสเกิดมันก็ไม่บริสุทธิ์. ฉะนั้นจิตล้วน ๆ จิตทีแรกนั้นบริสุทธิ์ชนิดที่กิเลสยังเกิดได้. ครั้นมาถึงตอนที่ ๓ นี้ จิตบริสุทธิ์ชนิดที่ว่าจิตถูกอบรม ถูกทำภาวนา เป็นจิตตภาวนานี้ จนกระทั่งว่า จิตนี้กิเลสเกิดไม่ได้อีกต่อไป. ดังนั้นความบริสุทธิ์ของจิตในระดับนี้ มันจึงต่างกันกับบริสุทธิ์ตอนแรกโน้น ซึ่งตอนแรกแม้บริสุทธิ์อยู่ แต่กิเลสยังเกิดได้. เดี๋ยวนี้บริสุทธิ์แล้ว กิเลสเกิดไม่ได้อีกต่อไป มันเลยบริสุทธิ์ตลอดกาลไปข้างหน้า.

นี่เรียกว่าจิตลุถึงวิสังขาร, จิตลุถึงวิสังขาร คือลุถึงสภาพที่อะไรจะปรุงแต่งจิตไม่ได้อีกต่อไป; ดังนั้นจิตจึงเกิดกิเลสและเกิดทุกข์ไม่ได้อีกต่อไป. ถ้าจะเรียกว่า ประภัสสร ก็ได้อีกทีหนึ่ง; แต่ประภัสสรคนละชนิด, ประภัสสรชั้นแรกนั้นมันกลับไม่ประภัสสรได้ เพราะกิเลสเกิดได้. แต่เดี๋ยวนี้ประภัสสรตลอดกาล กิเลสเกิดไม่ได้. มีอาการประภัสสรเหมือนกัน แต่ต่างกันที่ว่าประภัสสรครั้งแรกนั้น มันกลับเศร้าหมองได้; เดี๋ยวนี้ประภัสสรชนิดที่กลับเศร้าหมองไม่ได้, ไม่มีกิเลสอีกต่อไปในจิตนั้น, ไม่มีความรู้สึกว่าตัวตนหรือของตนอีกต่อไปในจิตนั้น. มันเป็นจิตธาตุหรือวิญญาณธาตุ ที่ได้รับการพัฒนา เป็นจิตที่ได้รับการพัฒนาสูง ๆ สูง ๆ จนเป็นจิตที่กิเลสจะอาศัยเกิดไม่ได้อีกต่อไป. นี่เรื่องมันจบ.

จิตล้วน ๆ แล้วจิตมีกิเลส แล้วจิตหมดกิเลส; เรื่องมันจบแล้ว ตอนที่ ๓, จิตมันเปลื้องตนออกเสียได้จากกิเลส, ชนิดที่กิเลสจะ เกิดไม่ได้อีกต่อไป. นี้เรียกว่าอะไร ๆ ก็มีแต่เรื่องของจิตทั้งนั้น; แม้แต่นิพพานก็เป็นเรื่องของจิต ที่ฉลาดไม่โง่อีกต่อไป ก็เข้าถึงสภาพที่อะไรปรุงแต่งจิตไม่ได้, จิตไม่เกิดกิเลสอีกต่อไป มันก็ถึงนิพพาน. ฉะนั้นเรื่องตั้งแต่ต่ำที่สุด ขี้ฝุ่นสักเม็ดหนึ่ง กิเลสสักนิดหนึ่ง จนกระทั่งถึงพระนิพพาน มันไม่มีเรื่องอื่นนอกจากเรื่องของจิต. ตรงนี้คือข้อที่อยากจะให้ทุกคนมองเห็น ว่าเรื่องทั้งหลาย ทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่มีเรื่องอะไรนอกไปกว่าเรื่องของจิต หรือเกี่ยวกับจิตทั้งนั้น.

ปัญหาเกี่ยวกับตัวตนในพุทธภาษิต.

เอ้า, ทีนี้มันก็มีปัญหาพ่วงท้ายเข้ามา คือปัญหาทางภาษา เมื่อตะกี้บอกว่าจิตต้องปราศจากความรู้สึกว่ามีตัวตน ไม่มีความรู้สึกว่าของตน จึงจะหลุดพ้น; แต่แล้วทำไมมีพุทธภาษิตที่ว่า ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน? ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน คือมีธรรมะเป็นที่พึ่ง ก็เพราะว่าจิตนั่นแหละมันถูกยึดถือเอาเป็นตัวตน. เมื่อจิตยังโง่ก็มีตัวตนที่จิต, และตัวนั่นแหละ แม้จะเป็นของจิตโง่ มันก็ต้องช่วยตัวเอง แล้วใครจะมาช่วย ถ้าตัวผู้มีทุกข์เองไม่ช่วยตัวเอง ใครจะมาช่วย? ฉะนั้นจิตโง่นั่นแหละต้องช่วยจิตโง่. เมื่อจิตมันโง่หนักเข้า ๆ นานเข้าในวัฏฏสงสารนี้ มันก็ลืมหูลืมตาขึ้นมาสำหรับจะช่วยตน. เมื่อไม่มีตนมันก็มีเรื่องของจิต; ถ้าเอาจิตเป็นตน ตนนั่นแหละมันก็เป็นเรื่องของจิต, ที่จิตมันจะต้องทำต่อ ต่อไป จนจิตไม่มีตัวตน แล้วก็เลิกกัน.

ปัญหามันอยู่ที่ว่ามีตัวตน แล้วเกิดปัญหาของตน. ถ้าจิตมันหมดตัวตนมันก็ไม่มีปัญหาแก่ใคร; จะมีปัญหาแก่จิตไม่ได้ เพราะจิตมันไม่มีตัวตนสำหรับจะทนทุกข์. ถ้าไม่มีความรู้สึกว่า ตัวตนแล้ว คนเราเป็นทุกข์ไม่ได้; ความทุกข์เกิดได้มีอยู่ได้ ก็เพราะว่าจิตมันมีความรู้สึกว่ามีตัวตน : ตัวตนจะเกิด ตัวตนจะแก่ ตัวตนจะเจ็บ ตัวตนจะตาย ตัวตนจะได้ ตัวตนจะเสีย ตัวตนจะแพ้ ตัวตนจะชนะ ตัวตนจะกำไร ตัวตนจะขาดทุน. นี้มันเป็นเรื่องจิตที่มีตัวตนที่มีปัญหา. เดี๋ยวนี้เมื่อไม่มีตัวตนแล้ว ปัญหาเหล่านั้นมันก็ตกไปหมดสิ้น.

ฉะนั้น การที่ท่านพูดว่าตัวตนเป็นที่พึ่งแก่ตนนั้นก็ถูกแล้ว. จิต-นั่นแหละจะต้องเป็นที่พึ่งแก่จิต ถ้าเอาจิตเป็นตัวตน. ถ้าไม่เอาจิตเป็นตัวตน มันก็จิตนั่นแหละจะต้องเป็นที่พึ่งแก่จิต. ถ้าเอาจิตเป็นตัวตน ก็ต้องพูดว่าตนนั่นแหละต้องเป็นที่พึ่งแก่ตน.

ในพุทธศาสนานี้ ตัวตนเป็นของหลอกลวง เกิดขึ้นเพราะจิตสร้างขึ้นมา ด้วยความโง่ของมันทีนี้มันเนื่องไปถึงศาสนาอื่น ลัทธิอื่น เราไม่ออกชื่อดอกมันจะเป็นเรื่องไม่ดี ไม่ต้องออกชื่อศาสนาไหน. ศาสนาอีกพวกหนึ่งกลุ่มหนึ่ง เขาว่ามีตัวตนที่แท้จริง ยิ่งไปกว่าจิต มิใช่จิต นอกไปจากจิต, มีตัวตนอยู่ในอัตตภาพนี้แหละ ที่มาสอนให้เราหลงเรียกว่าอัตตภาพนี้ ภาวะแห่งตัวตน. อย่างนั้นเขาก็มีการปฏิบัติเพื่อให้ตัวตนชนิดนั้น ซึ่งไม่ใช่จิต หลุดพ้นไปอยู่กับตัวตนอันถาวร; นั้นเป็นตัวตนของฝ่ายลัทธิอื่นนอกจากพุทธศาสนา.

ในพุทธศาสนานี้ไม่มีตัวตน, ไม่ต้องมีตัวตน มีแต่จิต. ถ้าจิตคิดว่ามีตัวตนเป็นตัวตน, มันก็มีตัวตนไปตามจิตโง่ ตลอดเวลาที่มันโง่. พอจิตมันหายโง่มันก็ไม่มีตัวตน มีแต่จิตล้วน ๆ จิตบริสุทธิ์ จิตถึงวิสังขาร จิตถึงนิพพาน. นิพพานก็นิพพาน; นิพพานก็ไม่ใช่ตัวตน ก็เป็นเพียงนิพพาน; เมื่อจิตหมดเหตุหมดปัจจัยมันก็ดับไป. เรื่องมันก็จบแหละ มันไม่ต้องเป็นตัวตนอะไรขึ้นมาอีก.

ลัทธิอื่นเขาจะถือว่า จิตไปมีตัวตนถาวรอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ตามเรื่องของเขา. พุทธศาสนานี้เราไม่มีอย่างนั้น; พวกที่ว่ามีพระเจ้า ก็เอาจิตเป็นตัวตนไปอยู่กับพระเจ้าไปอยู่กับไกวัลย์ ไปอยู่กับปรมาตมัน ตามคำบัญญัติในลัทธิศาสนานั้น ๆ. แต่ในพุทธศาสนานี้ว่า จิตถึงซึ่งวิสังขาร, จิตถึงซึ่งความที่อะไรปรุงแต่ไม่ได้ ก็หมดไปเลิกไป ว่างไป. นั่นจุดจบอยู่ที่ไม่มีจิต ว่างจากตัวตนจนกระทั่งจิตเองก็ไม่มี, ตัวตนไม่มีแล้ว เพราะว่าจิตไม่โง่แล้ว. จิตที่ไม่โง่นี้ก็อยู่ไปจนกว่าจะดับ เป็นวาระสุดท้ายก็เลิกกัน, ก็เข้าสู่ความว่าง ความว่างนิรันดร เรียกว่านิพพานว่างอย่างยิ่ง.

นี่แหละเรียกว่า จิตเท่านั้น ไม่มีอะไร ไม่มีเรื่องอื่น ไม่มีเรื่องของใครอื่น นอกจากเรื่องของจิต. ทุกอย่างเป็นเรื่องของจิต อะไร ๆ ก็อยู่ที่จิต มาแต่จิต เกิดที่จิต สำเร็จที่จิต ธรรมะทั้งหลายทั้งปวงสักว่าเป็นเรื่องของจิต.

เมื่อจิตโง่ก็เป็นตัวตน, ไม่โง่ก็ไม่เป็นตัวตน.

นี่อธิบายพุทธศาสนาในวิธีนี้ วิธีที่ชี้ให้เห็นว่า ไม่มีอะไรนอกจากเรื่องของจิต, ไม่มีอะไรนอกจากจิต. เมื่อโง่ก็เป็นตัวตน, ไม่โง่ก็ไม่เป็นตัวตน. เมื่อโง่ก็มีความทุกข์ เมื่อไม่โง่ก็ไม่มีความทุกข์. จิตนี้ทีแรกเป็นจิตล้วน ๆ ไม่มีกิเลส ไม่มีความโง่, พอได้ร่างกาย เกิดปฏิสนธิขึ้นมาในท้องมารดา มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มาหัดโง่กันทีละนิด, โง่มากขึ้น โง่มากขึ้น โง่มากขึ้น เพราะความหลอกลวงของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ. และจิตมันโง่มันไม่มีปัญญา ก็เลยเป็นจิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ เต็มไปด้วยตัวตน.

ทีนี้เมื่อได้ผ่านไปในความทุกข์ ในวัฏฏสงสารยาวนานนั้น หนักเข้า ๆ มันเริ่มเฉลียวใจเริ่มหมุนกลับ เริ่มศึกษาเริ่มค้นคว้า เริ่มไปหาผู้รู้ ศึกษาจากผู้รู้จนรู้ว่า อ้าว, มันไม่มีตัวตน ก็รู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา, แล้วก็รู้เรื่องพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์, แล้วก็รู้เรื่องมรรค ผล นิพพาน, แล้วก็บรรลุมรรค ผล นิพพาน เรื่องมันก็จบ เพราะจิตหายโง่.

จิตที่ ๑ คือจิตล้วน ๆ, จิตที่ ๒ คือจิตโง่, จิตที่ ๓ คือจิตหมดโง่. เดี๋ยวนี้ก็ยิ่งกว่าจิตล้วน ๆ เสียอีก คือว่ามันกลับไปเกิดทุกข์ไม่ได้. จิตล้วน ๆ ทีแรกนั้นมันกลับไปมีทุกข์ได้. เรื่องของจิตมี ๓ ขั้นตอนอย่างนี้ นี่ใครเข้าใจอย่างถูกต้องติดต่อกันได้ ก็จะไม่เกิด อาการที่เรียกว่าเป่าปี่ให้เต่าฟัง. เดี๋ยวนี้ยังสงสัยอยู่ว่า ที่พูดไปตั้งชั่วโมงครึ่งนี้ มันจะมีเป่าปี่ให้เต่าฟังหรือไม่?

สรุปความอีกทีหนึ่งว่า จิตเดิมทีแรกเป็นจิตล้วน ๆ ไม่มีกิเลส, ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวตน; แต่ว่ามันยังไม่อยู่ในสภาพที่จะตาย ตัวอย่างนั้น ครั้นมาได้มีร่างกาย อาศัยร่างกาย มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันมีอวิชชาเกิดขึ้น เพราะสัมผัสทางอายตนะ มันเกิดเป็นตัวตนขึ้นมา มันโง่ มันมองด้วยสายตาที่โง่หรือไม่รู้.

ข้อนี้อยากจะเปรียบเทียบ, ขอพูดแต่ว่า มันเปรียบเทียบเท่านั้น ไม่ใช่เป็นตัวจริง, คือว่าชาวป่าคนป่า ชาวป่าชาวเยิง เห็นรถยนต์วิ่งได้ หยุดได้ ไปได้ ถอยหน้าถอยหลังได้ เขาก็คิดว่ารถยนต์มีชีวิต, คนป่าคิดว่ารถยนต์มีชีวิตได้ที่ไหนเล่า เพราะเขาเป็นผู้รู้นี่ นายช่างที่สร้างรถยนต์ขึ้นมา ก็รู้ว่ารถยนต์ไม่ได้มีชีวิตนี่ ที่รถเดินหน้าถอยหลังได้เขาเป็นผู้ทำขึ้นมาเองนี่. รถยนต์มิได้มีชีวิต รถยนต์มิได้มีตัวตน แต่ถ้าชาวป่าชาวเยิงเห็นแต่เพียงผิวเผิน ก็ว่า โอ, รถยนต์นี่มันมีชีวิต เดินหน้าก็ได้ ถอยหลังก็ได้ทำอะไรก็ได้ กลายเป็นรถยนต์มีตัวตน.

จิตนี้ก็เหมือนกันแหละ เมื่อยังโง่ มันก็เห็นสังขารนี้ว่าเป็นตัวตน, จนกว่าจะฉลาด ฉลาดเหมือนนายช่างที่รู้เรื่องรถยนต์ อ้อ, มันไม่ใช่ตัวตน. ถึงพวกเราก็เถอะ บางทีจะเห็นว่าเรือบินที่บินอยู่นี้ มันมีตัวตนมีชีวิตก็ได้. อาจจะเป็นคนป่าบ้างก็ได้; แต่ถ้ารู้ว่า เหตุปัจจัยทั้งหลาย เมื่อปรุงแต่งกันถูกต้องครบถ้วนดีแล้ว มันทำให้รู้สึกเหมือนกับว่ามีตัวตน ประณีต ละเอียด ประเสริฐเหมือนกับว่ามีตัวตน ที่จริงมันก็ไม่ใช่มีตัวตน.

เดี๋ยวนี้จิตคิดนึกได้ทุกอย่าง จิตคิดนึกได้ทุกอย่าง, คิดอะไรก็ได้; จิตคิดไปโลกพระจันทร์ก็ได้, จิตคิดไปนิพพานก็ได้, มันน่าจะยึดถือว่าเป็นตัวตน. แต่ที่จริงมันก็มิได้เป็นตัวตน, มันเป็นธรรมชาติของจิตที่คิดนึกได้, และได้เหตุได้ปัจจัยมาช่วยส่งเสริมการคิด มันก็คิดไปตามแนวนั้น. ปัจจัยถูกต้องมันก็คิดไปในทางที่ให้เห็นว่า ไม่มีทุกข์ ไม่เป็นทุกข์; ถ้าส่งเสริมผิด มันก็คิดไปในทางที่จะเป็นทุกข์.

เดี๋ยวนี้เราก็มีกันแต่สิ่งที่ส่งเสริมให้เกิดความทุกข์ แล้วหลงใหลอยู่ในกองทุกข์, เวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์. ทีนี้ความทุกข์นั่นแหละมันสอนอย่างเจ็บปวด, สอนอย่างเฆี่ยนตี อย่างเจ็บปวด. ความทุกข์ นั่นมันสอนจิตสอนสัตว์อย่างเจ็บปวด; นานเข้า ๆ จิตมันก็ค่อย ๆ ลืมหูลืมตา จนกระทั่งว่ารู้ความจริง, เกิดญาณทัสสนะ รู้ความจริง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อิทัปปัจจยตา อะไรก็ตาม, แล้วจิตนี้มันก็รู้จักหยุด : หยุดกิเลส หยุดตัวตน หยุดอะไรหมด, เป็นจิตที่หลุดพ้น ถึงวิสังขาร คือพระนิพพาน. นี่เรื่องมันจบ.

เรื่องจิต อะไร ๆ ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องจิต ไม่มีเรื่องอะไรที่นอกไปจากเรื่องของจิต. จิตที่ล้วน ๆ ไม่โง่ไม่ฉลาด มันกลายเป็นจิตโง่ มันเวียนไปในความโง่ ได้รับผลของความโง่พอแล้ว. ทีนี้มันเริ่มฉลาด ฉลาดชนิดที่จะกลับโง่ไม่ได้อีก; ดับตัวตนเสีย ดับการเวียนว่ายเสียเรียกว่าบรรลุพระอรหันต์ก็ได้ บรรลุนิพพานก็ได้ แล้วแต่จะเรียก, เรียกว่าเที่ยวไปด้วยความโง่ จนหายโง่ ก่อนนี้มันก็ไม่โง่, แต่มีอะไรมายั่วมาหลอกให้โง่ แล้วก็โง่ไปจนหายโง่.

เอาละ, การบรรยายในวันนี้โดยหัวข้อว่า อะไร ๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตนั้น สักว่าเป็นเรื่องของจิตเท่านั้น. อาตมาเห็นว่าเป็นธรรมะเล่มน้อย เล่มน้อยที่สุด เล็กที่สุด เอาไปขยายออกไปเต็มโลกก็ได้ เป็นธรรมะเล่มน้อย. คำพูดมีเพียง ๓ คำว่า จิตล้วน ๆ, แล้วก็จิตโง่มีกิเลส, แล้วก็จิตพ้นจากกิเลส ไม่มีกิเลส. คำพูด ๓ คำ ว่าจิตล้วน ๆ แล้วก็จิตโง่ แล้วก็จิตหายโง่; นั่นแหละคือเรื่องทั้งหมด ของสิ่งที่เรียกว่ามนุษย์หรือคนเรา ตั้งแต่ต้นจนกว่าจะบรรลุพระนิพพาน, คือจิตล้วน ๆ แล้วกลายเป็นจิตโง่ แล้วจิตโง่กลายเป็นจิตที่ตื่นขึ้นมาจากหลับ เป็นจิตรู้แจ้ง, ก็มีเท่านั้นเอง.

หวังว่าท่านทั้งหลาย จะได้จำเอาหัวข้อเหล่านี้ไปเป็นหลักเกณฑ์ สำหรับคิดนึกศึกษา ที่จะรู้พุทธศาสนาในรายละเอียดปลีกย่อยได้โดยง่าย นี่เรื่องของจิตที่มันมีความลึกลับน่าอัศจรรย์ มันเป็นอย่างนี้.

การบรรยายนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว อาตมาขอยุติการบรรยาย เป็นโอกาสให้พระคุณเจ้าทั้งหลาย ได้สวดบทพระธรรมคณสาธยาย ส่งเสริมกำลังจิต ในการที่จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมะ เพื่อความดับทุกข์สิ้นเชิงนี้ สืบต่อไป.

พุทธทาส.

http://www.akeanan.com/content3.html

. . . . . . .