ตอน เจ็ด อานาปานสติ ขั้นที่ สาม (การกำหนดลมหายใจทั้งปวง)

ตอน เจ็ด อานาปานสติ ขั้นที่ สาม (การกำหนดลมหายใจทั้งปวง)

อานาปานสติขั้นที่สามนี้ มีหัวข้อว่า “ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง จักหายใจเข้า ดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง จักหายใจออก ดังนี้”. (บาลีว่า สพฺพกายปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ; สพฺพกายปฏิสํเวที ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ)
อานาปานสติข้อนี้ มีข้อที่จะต้องวินิจฉัยก็คือ คำว่า “ย่อมทำในบทศึกษา”, คำว่า “รู้พร้อมเฉพาะ”, คำว่า “กายทั้งปวง”, และ การที่อานาปานสติได้ดำเนินถึงขั้นที่เรียกว่า ญาณ โดยสมบูรณ์ได้แล้วตั้งแต่ข้อนี้ไป :

คำว่า “ย่อมทำในบทศึกษา” หมายถึงการประพฤติปฏิบัติในบทที่ท่านวางไว้สำหรับการปฏิบัติที่เรียกว่าสิกขานั่นเอง และมีการจำแนกไว้เป็น ๓ สิกขา คือ สีลสิกขา, สมาธิสิกขา,หรือ จิตตสิกขา, และ ปัญญาสิกขา. เกี่ยวกับการที่จะทำในบทสิกขาให้ครบทั้ง ๓ อย่างได้อย่างไรนั้น ท่านแนะให้พิจารณาว่า เมื่อผู้นั้นมีการกำหนดลมหายใจเป็นต้นอยู่ ชื่อว่าย่อมมีการสำรวม. เมื่อมีการสำรวม ชื่อว่าย่อมมีศีล. นี้จัดเป็นสีลสิกขาของภิกษุนั้นในขณะนั้นโดยสมบูรณ์ เพราะว่าเธอไม่สามารถล่วงสิกขาบทใดๆ ได้ในขณะนั้น. นี้ชื่อว่าเธอย่อมทำอยู่ในบทสิกขาคือศีล ๑. และเมื่อสติของเธอนั้น ไม่ละจากอารมณ์ ไม่ปราศจากอารมณ์ ไม่ทิ้งอารมณ์ กล่าวคือลมหายใจเป็นต้นนั้น ย่อมชื่อว่าเธอมีสมาธิ คือความที่จิตมีอารมณ์อยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เพียงอารมณ์เดียวและตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์นั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าย่อมทำในบทศึกษาคือสมาธิ อยู่ในขณะนั้น. นี้จัดว่าเป็นสมาธิสิกขาของภิกษุนั้น ๑. ถัดจากนั้นก็คือการเห็นซึ่งอารมณ์นั้นๆ หรือในอารมณ์นั้นๆ ว่ามีลักษณะแห่งธรรมเป็นอาทิอยู่อย่างไร และเห็นความที่สติเป็นต้นปรากฏชัดเกี่ยวกับอารมณ์นั้นๆ (คำว่า “อารมณ์นั้นๆ” คือหมายถึงอารมณ์ของอานาปานสติในขั้นที่ตนกำลังปฏิบัติ ในเวลานั้น ขั้นใดขั้นหนึ่ง ใน ๑๖ ขั้นนั่นเอง.) ก็ดี นี้ชื่อว่าญาณหรือปัญญาของภิกษุนั้น ในขณะนั้น. เป็นอันว่าในขณะนั้น เธอนั้นย่อมทำในบทศึกษา คือปัญญาหรือปัญญาสิกขา ๑. ดังนั้น ภิกษุนั้น จึงเป็นผู้ปฏิบัติอยู่ในบทแห่งสิกขาทั้งสามโดยครบถ้วน, และเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งในข้อที่ว่า ด้วยข้อปฏิบัติเพียงอย่างเดียวได้ทำให้เกิดมีสิกขา ขึ้นพร้อมกันทั้ง ๓ สิกขา อันเป็นเครื่องรับประกันว่า แม้ด้วยการทำอยู่เพียงเท่านี้ ก็ย่อมทำให้เป็นที่สมบูรณ์ได้ด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา เป็นการชี้ให้เห็นความน่าอัศจรรย์ของสิ่งที่เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา. และเป็นคำตอบของปัญหาที่ว่าคนที่ไม่ได้เล่าเรียนปริยัติมาอย่างสมบูรณ์นั้นจะสามารถปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้สมบูรณ์ได้โดยวิธีไร พร้อมกันไปในตัว.

สิ่งที่พึงสังเกตอีกอย่างหนึ่ง คือข้อที่ว่า ในบรรดาอานาปานสติทั้ง ๑๖ ขั้นนั้น พระองค์ได้ทรงเริ่มใช้คำว่า “ย่อมทำในบทศึกษา” ตั้งแต่ขั้นที่สามนี้เป็นต้นไป ตลอดจนถึงขั้นสุดท้าย ซึ่งมีความหมายว่า ตั้งแต่ขั้นที่ ๓ ถึงขั้นที่ ๑๖ นั้น เป็นตัวการปฏิบัติที่เรียกได้ว่า เป็นตัวสิกขาแท้ และยังแถมมีครบทั้ง ๓ สิกขาอีกด้วย. ส่วนขั้นที่ ๑ และขั้นที่ ๒ เป็นเพียงขั้นริเริ่ม คือเริ่มฝึกหัดกำหนดอารมณ์ จะมีบ้างก็เพียงการสำรวม ซึ่งเป็นศีล ; ส่วนที่เป็นสมาธิและปัญญายังไม่ปรากฏเต็มตามความหมาย จึงยังไม่ถือว่ามีการทำในบทศึกษาที่สมบูรณ์ ในขั้นที่ ๑ และขั้นที่ ๒ นั้น ซึ่งเป็นเพียงการกำหนดลมเป็นส่วนใหญ่ ; เพิ่งมาสมบูรณ์ในขั้นที่ ๓ นี้เอง จึงกล่าวได้ว่าเป็นขั้นที่เริ่มมีญาณแล้วโดยสมบูรณ์ตามความหมาย.

คำว่า “รู้พร้อมเฉพาะ” ในที่นี้ หมายถึงความรู้ที่สมบูรณ์ สูงขึ้นไปกว่าความรู้ที่เป็นเพียงสัมปชัญญะอย่างในขั้นที่หนึ่งและขั้นที่สอง. คำว่า รู้พร้อม คือ รู้หมดทุกอย่าง. คำว่า รู้เฉพาะ คือ รู้อย่างละเอียดชัดเจนไปทุกอย่าง. รวมความว่ารู้อย่างสมบูรณ์ในกรณีนั้นๆ และในอันดับนั้นๆ อย่างชัดเจน ซึ่งในที่นี้ได้แก่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า กาย กล่าวคือลมหายใจนั้นเอง ว่ามีลักษณะอย่างไร มีพฤติอย่างไร มีเหตุและมีผลอย่างไร เป็นต้น. เมื่อคำว่า กาย ในที่นี้ ได้แก่ลมหายใจ การรู้ก็คือรู้ลักษณะสั้นยาวของลมหายใจ, อาการแห่งการเคลื่อนไหวของลมหายใจ, สมุฏฐานแห่งลมหายใจ คือความที่มีชีวิตยังเป็นไปอยู่, และผลจากลมหายใจคือความที่ลมหายใจนี้กำลังทำหน้าที่เป็นกายสังขาร หรือเป็นปัจจัยแก่ชีวิตส่วนที่เป็นรูปธรรมโดยตรงนี้อยู่ ดังนี้เป็นต้น. เมื่อกล่าวโดยสรุปก็คือรู้เรื่องทั้งปวงของลมหายใจโดยตรงนั้นเอง. และใจความสำคัญที่ต้องรู้นั้น ต้องไปสิ้นสุดลงที่รู้ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของสิ่งหรือภาวะเหล่านี้ทั้งหมด ซึ่งจะได้กล่าวถึงในขั้นที่สูงขึ้นไปตามลำดับ.

คำว่า “กายทั้งปวง” ควรจะได้รับการวินิจฉัยเฉพาะคำว่า “กาย” โดยตรงเสียก่อน จะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น. คำว่า “กาย” แปลว่า หมู่, และแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือนามกายและรูปกาย. นามกาย คือหมู่นามหรือกลุ่มนามธรรม ได้แก่ความรู้สึกคิดนึกของจิตรวมทั้งจิตเอง ที่เรียกโดยทั่วไปว่า เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณเป็นวงกว้าง. แต่โดยเฉพาะในที่นี่นั้นได้แก่ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะที่มีการกำหนดลมหายใจ เช่นฉันทะเกิดขึ้น ปราโมทย์เกิดขึ้น สติเกิดขึ้นความรู้สึกตัวทั่วพร้อมเกิดขึ้น เหล่านี้ล้วนแต่เป็นกลุ่มนามกาย ซึ่งจัดเป็นกายประเภทหนึ่ง. ส่วน รูปกาย นั้น โดยทั่วไปหมายถึงมหาภูตรูป คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่เป็นส่วนประกอบส่วนใหญ่ของร่างกาย. แต่ในที่นี้ คำว่า รูปกาย หมายถึงลมหายใจที่เนื่องกันอยู่กับมหาภูตรูปทั้งสี่ นั้นโดยเฉพาะ ในฐานะเป็นสิ่งที่ทำให้มหาภูตรูปนั้นดำรงอยู่ได้ มีค่าหรือมีความหมายอยู่ได้ และทั้งเป็นที่ตั้งแห่งนามกาย มีเวทนาเป็นต้น สืบไปได้. กล่าวโดยสรุปก็คือ กาย กล่าวคือลมหายใจทำหน้าที่เป็นกายสังขาร คือปรุงแต่งรูปกายให้เป็นที่ตั้งแห่งนามกายได้สืบไปนั่นเอง, เมื่อผู้พิจารณาได้พิจารณาเห็นความที่กายทั้งปวง (คือทั้งรูปกายและนามกาย) มีอยู่อย่างไร และสัมพันธ์กันอย่างไรแล้ว ก็ย่อมพิจารณาเห็นความสำคัญของกาย คือลมหายใจโดยเฉพาะได้ ในฐานะที่ควรเพ่งเล็งเพียงสิ่งเดียวในที่นี้. เมื่อเป็นดังนี้ ย่อมเป็นการเพียงพอแล้ว ที่จะกล่าวว่า “ภิกษุนั้นเป็นผู้มีปรกติตามเห็นซึ่งกายในกายทั้งหลาย” (กาเยกายานุปัสสี) คือเธอได้มองเห็นกายอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดากายทั้งหลายโดยประจักษ์ ซึ่งในที่นี้หมายถึงการเห็นด้วยปัญญา ซึ่งกายคือลมหายใจ ในระหว่างกายทั้งหลายอย่างอื่นๆ ทั้งที่เป็นรูปกายและนามกาย. อาศัยเหตุข้อนี้เองเป็นใจความสำคัญ จึงทำให้อานาปานสติจตุกกะที่หนึ่ง พลอยได้ชื่อว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งมีหลักสำคัญว่า ภิกษุเป็นผู้มีปรกติตามเห็นซึ่ง กายในกาย ทั้งหลาย อยู่เป็นประจำ ซึ่งในที่นี้ได้แก่ รู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ดังนี้.

คำว่า “ทั้งปวง” แม้จะกินความไปถึงว่ากายทุกชนิด ก็จริงอยู่ แต่ในที่นี้ หมายความแต่เพียงว่า กายคือลมหายใจทั้งหมด หรือเรื่องทั้งหมดที่เกี่ยวกับกายนั้น. เมื่อคำว่า กาย ในที่นี้ได้แก่ลมหายใจ เรื่องที่จะต้องรู้ ก็คือเรื่องทุกเรื่องเกี่ยวกับลมหายใจนั้นโดยตรง คือว่าลมหายใจนั้น มีลักษณะอาการเป็นต้นอย่างไร ? และมีอะไรเกิดขึ้นเนื่องจากลมหายใจนั้น ? อนึ่งสำหรับอานาปานสติขั้นที่สามนี้ ยังอยู่ในกลุ่มของเรื่องที่เป็นสมาธิโดยส่วนใหญ่ คำว่ากายทั้งปวง จึงมีความหมายส่วนใหญ่ เท่าที่เกี่ยวกับความเป็นสมาธิ ที่ทำให้เกิดขึ้นได้เนื่องจากลมหายใจนั้น เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้โดยเจาะจงว่ากายทั้งปวงก็คือลมหายใจทั้งปวงนั่นเอง. การกำหนดรู้กายทั้งปวง ก็คือการกำหนดรู้ลมหายใจโดยประการทั้งปวง นั้นเอง.

วิธีการกำหนดรู้ลมหายใจทั้งปวง ท่านแนะวิธีกำหนดอย่างง่ายไว้ด้วยการแบ่งแยกเป็นเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ของลมหายใจเสียก่อน ข้อนี้ถือเอาความรู้สึกของบุคคลนั้นเองเป็นประมาณ ว่าตนรู้สึกว่าลมหายใจเริ่มตั้งต้นที่ตรงไหน แล้วเคลื่อนไปอย่างไร แล้วไปสุดที่ตรงไหน จึงกลับออกหรือกลับเข้าแล้วแต่กรณี. ในการหายใจเข้าย่อมกล่าวโดยสมมติได้ว่า ลมหายใจมีการตั้งต้นจากข้างนอก ซึ่งจะต้องเป็นที่ช่องจมูกหรือจุดใดจุดหนึ่งในบริเวณนั้น อันเป็นจุดที่เรารู้สึกว่า ลมได้กระทบในเมื่อได้มีการผ่านเข้าไปจากภายนอกสู่ภายใน. ในกรณีของคนปรกติ ก็อยู่ที่ปลายจะงอยจมูกเป็นธรรมดา แต่ในกรณีของบุคคลที่มีริมฝีปากสูงเชิดเกินไป ก็จะมีความรู้สึกที่ริมฝีปากบน ดังนี้เป็นต้น แล้วก็ถือเอาโดยสมมติ หรือโดยบัญญัติก็ตาม ว่านี้เป็น จุดเบื้องต้น ของลมหายใจเข้า. ส่วนคำว่า ท่ามกลาง นั้น หมายถึงระยะตั้งแต่จุดเบื้องต้นเป็นต้นไป จนถึงที่สุดหรือเบื้องปลาย เพราะฉะนั้น เราจะต้องพิจารณาถึงจุดที่สุด หรือจุดเบื้องปลายกันเสียก่อน. ลมหายใจเข้า ได้เข้าไปจนถึงที่สุดที่ไหน แล้วจึงกลับออกมานั้นไม่จำเป็นจะต้องยึดถือในข้อเท็จจริงอะไรให้มากมายเกินไป เอาแต่ความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ปรากฏชัดกว่าอย่างอื่น และสะดวกแก่การกำหนด ยิ่งกว่าอย่างอื่นก็พอแล้ว. เมื่อเราลองหายใจเข้า เข้าไปให้มากที่สุด แล้วถือเอาความรู้สึกของเราเอง ว่าความกระเพื่อมหรือความเคลื่อนดันของลมหายใจนั้น ได้แสดงอาการระยะสุดท้ายของมันที่ตรงไหน เราก็เอาตรงนั้นเป็นที่สุด. ข้อนี้ ท่านถือกันเป็นหลักทั่วไปว่า ไปสุดอยู่ที่บริเวณสะดือ และจัดเอาจุดสะดือนั้นเป็นที่สุดหรือเป็นเบื้องปลายของการหายใจเข้า.

ผู้ศึกษาจะต้องทำความสำเหนียกไว้ด้วยว่าในที่นี้มิได้เป็นการเรียนกายวิภาควิทยา หรือสรีรวิทยา แต่เป็นเรื่องของการฝึกหัดสมาธิ ; ข้อเท็จจริงของลมหายใจ จะเป็นอย่างไร ไม่ใช่ของสำคัญ ข้อสำคัญอยู่ตรงที่เราจะกำหนดมันให้ได้อย่างไรต่างหาก ; จึงเป็นอันให้ยุติได้ว่าที่สุดของลมหายใจที่เป็นภายในนั้น อยู่ตรงที่สะดือก็พอแล้ว. เมื่อเป็นดังนี้ ก็เป็นอันกล่าวได้ว่า สำหรับการหายใจเข้านั้น ลมหายใจมีเบื้องต้นอยู่ที่ปลายจะงอยจมูกและมีเบื้องปลายอยู่ตรงที่สะดือ และมีท่ามกลางอยู่ตรงบริเวณกึ่งกลางระหว่างนั้น. แต่สำหรับการกำหนดนั้น จะต้องถือเอาทั้งหมดคือตั้งแต่ปลายจมูกจนถึงสะดือว่าเป็นส่วนท่ามกลาง. ส่วนการหายใจออกนั้น มีการบัญญัติในทางกลับตรงกันข้าม คือเอาที่สะดือเป็นเบื้องต้น และที่ปลายจะงอยจมูก เป็นเบื้องปลาย โดยความที่กลับกัน.การเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกาย (คือลมหายใจ) ทั้งปวง มีขึ้นมาได้ในเมื่อมีการกำหนดลมนั้น ตลอดตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด โดยไม่มีระยะว่างเว้น ทั้งขณะหายใจเข้าและหายใจออก. โดยที่แท้ตามธรรมชาตินั้นจิตเป็นของกลับกลอกได้เร็ว ในชั่วระยะการหายใจเข้าหรือออกครั้งหนึ่งนั้นถ้าไม่กำหนดกันให้ทั่วถึงจริงๆ จิตอาจจะผละจากการกำหนดลมหนีไปคิดเรื่องอื่นได้ตั้งหลายแวบ ในชั่วระยะการหายใจเข้าและออกเพียงครั้งเดียว. ตัวอย่างเช่นในขณะตั้งต้นหายใจเข้า จิตกำหนดอยู่ที่ลม เมื่อหายใจเข้าถึงที่สุด จิตก็กำหนดอยู่ที่ลมได้ แต่ในระยะที่เป็นระหว่างตรงกลางนั้น จิตอาจจะหนีไปคิดถึงสิ่งอื่นใดเสียแวบหนึ่ง หรือสองสามแวบก็ยังได้ ถ้าหากว่ามิได้มีการกำหนดในระยะที่เรียกว่าท่ามกลางนั้นไว้อย่างมั่นคงจริงๆ.

ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้แหละ ท่านจึงตักเตือนว่า ระยะที่เรียกว่าท่ามกลางนั่นเอง เป็นระยะที่ต้องระมัดระวังอยู่อย่างเข้มงวดกวดขัน ด้วยอุบายต่างๆ กัน เช่น อุบายอย่างหยาบๆ มีการสอนให้นับช้าๆ ๑ – ๒ – ๓ – ๔ – ๕ หรือกระทั่งถึง ๑๐ ตลอดเวลาที่ทำการหายใจเข้าหรือออกครั้งหนึ่ง แล้วแต่ความเหมาะสมของบุคคลหนึ่งๆ เป็นคนๆ ไป. เมื่อต้องกำหนดในการนับอยู่ตลอดเวลา จนกว่าจะสิ้นสุดการหายใจครั้งหนึ่งๆ จิตก็ไม่มีโอกาสจะผละหนีไปไหนได้. และทั้งเป็นการทำให้สามารถควบคุมความสั้นยาวของการหายใจได้เป็นอย่างดี ด้วยการนับจำนวนให้มากขึ้น หรือน้อยลง แล้วแต่ตนจะต้องการลมหายใจสั้นยาวเพียงไร.

รายละเอียดเรื่องนี้ จะกล่าวถึงในขั้นที่สี่ข้างหน้า ในตอนอันว่าด้วยคณนา ส่วนที่เป็น อุบายอย่างละเอียด นั้น อยากจะแนะว่าให้ทำอุบายในการกำหนดเสมือนหนึ่งว่า จิตนั้นถูกผูกติดอยู่กับลม ถูกลมลากพาไปมา ตลอดระยะการหายใจทั้งเข้าและออก. และด้วยเหตุนี้เอง เขาจะต้องมีการหายใจชนิดที่เพียงพอที่จะทำให้รู้สึกได้ว่า เดี๋ยวนี้ลมกำลังเคลื่อนหรือเดินไปถึงไหนแล้ว ทั้งเข้าและออก. เขาจะต้องทำความรู้สึกคล้ายกับว่าทางลมเดินนั้น อ่อนหรือไวต่อความรู้สึกอย่างยิ่ง, ลมเหมือนกับสิ่งสิ่งหนึ่งหรือก้อนอะไรก้อนหนึ่ง ซึ่งวิ่งถูไปถูมา อยู่บนทางนั้น อย่างที่จะกำหนดได้โดยง่าย. ด้วยอุบายนี้เอง ทำให้เราสามารถกำหนดลมหายใจได้ติดต่อกันทุกระยะ ว่ามันเริ่มต้นที่ตรงไหน เคลื่อนไปอย่างไร ไปสิ้นสุดที่ตรงไหน หยุดอยู่ที่ตรงไหน นานเท่าไร แล้วมันจึงกลับออกมา หรือกลับเข้าไป แล้วแต่กรณี. เขาทำดุจประหนึ่งว่าลมหายใจนั้น เป็นดวงมณีวิเศษดวงหนึ่ง ซึ่งวิ่งไปวิ่งมา อยู่บนเส้นทางทางหนึ่ง ซึ่งจะไม่ยอมให้ละไปจากสายตาได้แม้ชั่วขณะจิตเดียว หรือกระพริบตาเดียว. ถ้าเปรียบด้วยอุปมาอีกอันหนึ่งที่แล้วมา ก็คือว่า เมื่อเขาเป็นคนใช้ที่เลี้ยงลูกของนาย และจะต้องระมัดระวังเด็กไม่ให้ตกจากเปลแล้ว ตลอดเวลาที่เด็กยังไม่หลับ หรือถึงกับพยายามลงจากเปล เขาจะต้องจับตาของเขาอยู่ที่เด็กไม่ให้ว่างเว้นได้ ไม่ว่าเปลนั้นกำลังไกวไปถึงที่สุดข้างโน้น หรือกลับมาถึงที่สุดข้างนี้หรือยังอยู่ตรงกลางในขณะใดขณะหนึ่งก็ตาม ล้วนแต่เป็นขณะที่เด็กจะลุกออกมาจากเปลได้ทั้งนั้น สายตาของเขาจึงต้องจับอยู่ที่เด็กนั้นตลอดเวลามิได้มีระยะว่างเว้น ซึ่งกล่าวได้ว่า เขาได้เห็นเด็กอยู่โดยประการทั้งปวง และตลอดเวลาทั้งปวงเหล่านั้นไม่ว่าสิ่งใดๆ จะเกิดขึ้นแก่เด็ก เขาย่อมรู้เห็นโดยสิ้นเชิง ; ข้อนี้มีอุปมาฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ใช้สติเป็นเครื่องกำหนดลมหายใจ ให้จิตกำหนดอยู่ตรงที่ลมหายใจโดยประการทั้งปวง และตลอดเวลาทั้งปวง โดยไม่มีระยะเวลาว่างเว้น ฉันนั้น, ในที่สุด ผู้ปฏิบัติเช่นนั้น ก็สามารถเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายคือลมหายใจทั้งปวง ด้วยการกำหนดเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย อย่างติดต่อกันไม่ขาดสายด้วยอาการอย่างนี้.

เมื่อมีการกระทำอยู่ดังนี้ อย่างถูกต้องตามระเบียบวิธีแล้ว กาย คือลมหายใจก็ปรากฏชัด สติก็ปรากฏชัด ญาณหรือความรู้สึกต่างๆ ตามควรแก่กรณีก็ปรากฏชัด, สติปรากฏโดยความเป็นสติ, ญาณก็ปรากฏโดยความเป็นญาณ, กายก็ปรากฏโดยความเป็นกาย,ไม่ปรากฏในฐานะอันจะเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นสัตว์หรือบุคคล ว่าเป็นตัวตนหรือเป็นเราเป็นเขา. เมื่อเป็นดังนี้ก็กล่าวได้ว่า เขาเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวงจริงๆ เห็นกายคือลมหายใจในบรรดาในกายทั้งหลายทั้งปวงอยู่เป็นปรกติ, จนไม่มีโอกาสสำหรับการเกิดขึ้นแห่งอภิชฌาและโทมนัส หรือกิเลสอื่นใด. อุเบกขาชื่อว่าตั้งมั่นด้วยดีอยู่ตลอดเวลาเป็นทางนำไปสู่ความเกิดขึ้นแห่งสมาธิที่แน่วแน่ในลำดับต่อไป ดังนี้.

(จบอานาปานสติขึ้นที่สาม อันว่าด้วยการกำหนดลมหายใจทั้งปวง)

https://sites.google.com/site/smartdhamma/part7_anapanasati_buddhadhas

. . . . . . .