พระญาณสังวร สมเด็จญาณสังวร สังฆราช ทรงสิ้นพระชนม์!

พระญาณสังวร สมเด็จญาณสังวร สังฆราช ทรงสิ้นพระชนม์!

พระอาการโดยสงบ19.30 น .ติดเชื้อในกระแสพระโลหิต

สิ้นสุดพระสังฆราชองค์ที่19 ไว้ทุกข์-ลดธงครึ่งเสา15วัน

แถลงการณ์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยฉบับที่ 8 เรื่องพระอาการประชวรของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขณะประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา เผยพระอาการสมเด็จพระสังฆราชล่าสุดโดยรวมทรุดลงและความดันโลหิตต่ำ แพทย์ถวายยาต่อเนื่อง โดยคณะแพทย์ฯ และพยาบาลได้เฝ้าถวายการตรวจและติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนพุทธศาสนิกชนยังคงทยอยกันเดินทางมาลงนามถวายพระพร สมเด็จพระสังฆราชอย่างต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 24 ต.ค. ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาได้ออกแถลงการณ์เรื่อง“พระอาการประชวรของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขณะประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ฉบับที่ 8” มีใจความดังนี้ วันนี้ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการโดยรวมทรุดลง ระดับความดันพระโลหิตอยู่ในเกณฑ์ต่ำลง คณะแพทย์ฯ และพยาบาล ยังคงถวายพระโอสถ และเฝ้าถวายการตรวจและติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่บริเวณโถงชั้นล่าง ตึกอานันทมหิดล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตั้งแต่เวลา 08.00 เป็นต้นมาได้มีประชาชน ตลอดจนคณะบุคคล รวมถึงเจ้าหน้าที่ ทยอยเดินทางมาร่วมลงนามถวายพระพรสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับที่บริเวณชั้น 6 ตึกวชิรญาณ-สามัคคีพยาบาร ซึ่งเป็นสถานที่ประทับรักษาพระอาการประชวรของสมเด็จพระสังฆราช เมื่อเวลา 07.00 น. ได้มีประชาชนมาถวายภัตตาหารพระสงฆ์ผู้ดูแลสมเด็จพระสังฆราช พร้อมร่วมสักการะพระพุทธรูป และลงนามถวายพระพรให้พระองค์ทรงหายจากพระอาการประชวร โดยผู้ที่มาลงนามถวายพระพรจะได้รับแจกพระรูปสมเด็จพระสังฆราช พร้อมกับหนังสือพระนิพนธ์ชีวิตนี้น้อยนัก แต่ชีวิตนี้สำคัญนัก เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 100 พรรษา และล็อกเกตด้วย โดยทุกคนที่มีโอกาสมาต่างพร้อมใจกันอธิษฐานจิตขอพรให้พระองค์มีพระพลานามัยแข็งแรง อย่างไรก็ตามประชาชนยังสามารถเดินทางมาร่วมลงนามถวายพระพรได้จนถึงเวลา 17.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศช่วงเที่ยงที่บริเวณโถงชั้นล่าง ตึกอานันทมหิดล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตลอดช่วงเช้าที่ผ่านมาได้มีประชาชน ตลอดจนคณะบุคคล อาทิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ .ทบ.) นำแจกันดอกไม้มาถวาย และ น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายกิตตินันท์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. นายสรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทการบินไทย และคณะเจ้าหน้าที่ศูนย์การแพทย์และอนามัยในพระองค์ 904 โครงการรักสายใยครอบครัว มาลงนามถวายพระพรสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกอย่างต่อเนื่อง

ส่วนบรรยากาศที่บริเวณตึกวชิรญาณ-สามัคคีพยาบาร ซึ่งเป็นสถานที่ประทับรักษาพระอาการประชวรของสมเด็จพระสังฆราชก็ยังมีประชาชนมาลงนามอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

นางวิภาศิริ มะกรสาร รองประธานสภาสตรีแห่งชาติ กล่าวว่า ตั้งใจเดินทางมาสวดมนต์และอธิษฐานจิตขอพรให้พระองค์หายจากพระอาการประชวร ส่วนตัวได้น้อมนำหลักพรหมวิหาร 4 และคำสอนของพระองค์มาใช้เป็นแบบแผนในการทำงานและดำเนินชีวิตเสมอมา

ต่อมาเมื่อเวลา 21.00 วันเดียวกันนี้ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 9 ระบุว่า วันนี้ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการโดยรวมทรุดลง ระดับความดันพระโลหิตอยู่ในเกณฑ์ต่ำลง และสิ้นพระชนม์ลงเมื่อเวลา 19.30 น.ด้วยพระอาการติดเชื้อในพระกระแสโลหิต

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) (3 ตุลาคม พ.ศ. 2456—ปัจจุบัน) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2532 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ปัจจุบันทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชันษามากกว่าสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ในอดีตและทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกของไทยที่มีพระชันษา 100 ปี

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามเดิมว่า เจริญ คชวัตร ประสูติเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 เป็นบุตรคนโตของนายน้อย คชวัตร และนางกิมน้อย คชวัตร ชาวกาญจนบุรี พระองค์มีน้องชาย 2 คน ได้แก่ นายจำเนียร คชวัตร และนายสมุทร คชวัตร บิดาของพระองค์ป่วยเป็นโรคเนื้องอกและเสียชีวิตไปตั้งแต่พระองค์ยังเล็ก หลังจากนั้น พระองค์ได้มาอยู่ในความดูแลของป้าเฮงซึ่งเป็นพี่สาวของนางกิมน้อยที่ได้ขอพระองค์มาเลี้ยงดู

เมื่อพระชันษาได้ 8 ปี ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาล วัดเทวสังฆาราม จนจบชั้นประถม 5 (เทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 2 ในปัจจุบัน) เมื่อ พ.ศ. 2468 ในขณะที่มีพระชันษา 12 ปี หลังจากนั้น ทรงไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรต่อและไม่รู้ว่าจะเรียนที่ไหน ทรงเล่าว่า “เมื่อเยาว์วัยมีพระอัธยาศัยค่อนข้างขลาด กลัวต่อคนแปลกหน้า และค่อนข้างจะเป็นคนติดป้าที่อยู่ ใกล้ชิดกันมาแต่ทรงพระเยาว์โดยไม่เคยแยกจากกันเลย” จึงทำให้พระองค์ไม่กล้าตัดสินพระทัยไปเรียนต่อที่อื่น

เมื่อพระองค์ยังทรงพระเยาว์นั้นทรงเจ็บป่วยออดแอดอยู่เสมอ โดยมีอยู่คราวหนึ่งที่ทรงป่วยหนักจนญาติ ๆ ต่างพากันคิดว่าคงไม่รอดแล้วและได้บนไว้ว่า ถ้าหายป่วยจะให้บวชเพื่อแก้บน แต่เมื่อหายป่วยแล้ว พระองค์ก็ยังไม่ได้บวช จนกระทั่งเรียนจบชั้นประถม 5 แล้ว พระองค์จึงได้ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเพื่อแก้บนในปี พ.ศ. 2469 ขณะมีพระชันษาได้ 14 ปี ที่วัดเทวสังฆาราม โดยมีพระเทพมงคลรังษี (ดี พุทธฺโชติ) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆารามเป็นพระอุปัชฌาย์และพระครูนิวิฐสมาจาร (เหรียญ สุวณฺณโชติ) เจ้าอาวาสสวัดศรีอุปลารามเป็นพระอาจารย์ให้สรณะและศีล ภายหลังบรรพชาแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดเทวสังฆาราม 1 พรรษาและได้มาศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดเสน่หา จังหวัดนครปฐม หลังจากนั้น พระเทพมงคลรังษี (ดี พุทธฺโชติ) พระอุปัชฌาย์ได้พาพระองค์ไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร และนำพระองค์ขึ้นเฝ้าถวายตัวต่อสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร (ต่อมา คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์) เพื่ออยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร พระงอค์ทรงได้รับประทานนามฉายาจากสมเด็จพระสังฆราชว่า “สุวฑฺฒโน” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เจริญดี”[2] จนกระทั่ง พระชันษาครบอุปสมบทจึงทรงเดินทางกลับไปอุปสมบทที่วัดเทวสังฆารามเมื่อ พ.ศ. 2476 ภายหลังจึงได้เดินทางเข้ามาจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร เพื่อทรงศึกษาพระธรรมวินัยและที่วัดบวรนิเวศวิหารนี่เอง พระองค์ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทซ้ำเป็นธรรมยุติกนิกาย โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์

ช่วงปี พ.ศ. 2547 หลังจากที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ประชวร และประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เข้าร่วมงานพระศาสนาไม่สะดวก มหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์ ได้แต่งตั้งให้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช[11] ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชได้มีพระบัญชาว่า “ทราบและเห็นชอบ” เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2547 ต่อมา การแต่งตั้งนั้นได้สิ้นสุดลงเพราะครบระยะเวลาที่กำหนด มหาเถรสมาคมจึงได้แต่งตั้ง คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช โดยประกอบด้วยพระราชาคณะ รวม 7 รูป จากพระอาราม 7 วัด โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ในฐานะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ทำหน้าที่ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2556 ที่ผ่านมาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ และประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้มรณภาพลงที่โรงพยาบาลสมิติเวช เมื่อเวลา 08.41 น. เนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด สิริรวมอายุ 85 ปี 64 พรรษา

ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ส.ค.เวลา 14.00 น. ที่อาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) จ.นครปฐม มีการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ซึ่งมีวาระการพิจารณาคัดเลือกประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อดำรงตำแหน่งแทนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งมรณภาพเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยใช้เวลาการประชุม ประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที

โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปฺญโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ เนื่องจากมีความอาวุโสทางสมณศักดิ์สูงที่สุดทุกด้าน และมีความพร้อมทางด้านร่างกายพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รับทราบเพื่อให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือกราบบังคมทูลฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ต่อไป.

มีรายงานว่า เบื้องต้นสำนักพระราชวัง มีคำสั่งให้ ข้าราชการทุกหน่วยราชการ กระทรวง ทบวง กรม ให้ลดธงครึ่งเสาเป็นเวลา 3 วัน ส่วนข้าราชการให้ไว้ทุกข์แต่งชุดดำ 15 วัน ส่วนพระราชพิธีเกี่ยวกับการปลงพระศพและบำเพ็ญพระราชกุศล ต้องรอคำสั่งจากสำนักพระราชวังอย่างเป็นทางการต่อไป.

http://www.banmuang.co.th/

. . . . . . .