ธรรมบรรยาย สนุกกับการทำงาน
เป็นธรรมะที่บรรยายโดยพระเทพสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) ในโอกาสต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต
รวบรวมโดย พระราชสุทธิญาณมงคล วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี
มีบทเพลงธรรมะอยู่บทหนึ่งว่า “งานคือชีวิต ชีวิตคืองาน บันดาลสุข ทำงานให้สนุก เป็นสุขเมื่อทำงาน” นี่ก็หมายความว่า ควรหาความสุขหรือความเพลิดเพลินกับการทำงานได้แก่ ทำงานด้วยความพอใจ ทำงานด้วยความเต็มใจ เข้าใจทำ
บางคนบ่นว่า “เซ็งเหลือเกิน” บางคนก็ว่า “ไม่รู้จะทำอะไรดี” หรือบางคนบอกว่า “ไม่มีงานทำ” ดังนี้เป็นต้น ที่พูดอย่างนี้ก็อาจเป็นเพราะสาเหตุหลายประการ เช่น
1. เพราะบางคนไม่รู้จักการทำงาน ไม่รู้จักวางแผนการทำงาน ไม่รู้จักปรับตัวให้เข้ากับงาน และบุคคลผู้ร่วมงาน
2. เพราะบางคนไม่อยากทำงาน มีความเกียจคร้านเป็นพื้นฐาน หรืองานที่ทำมากเกินไป ไม่ทราบว่าจะทำอะไรก่อนหลัง
3. เป็นคนจับจด เลือกงานที่จะทำ ดูหมิ่นงานบางอย่างว่าไม่เหมาะกับตน ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ลงมือทำงาน เมื่อไม่ได้งานอย่างที่ตนหวังไว้ก็จะไม่ทำงาน ปล่อยกาลเวลาให้ล่วงไป ๆ โดยเปล่าประโยชน์
ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้เป็นปัญหาของสังคม เป็นปัญหาของชาติที่รัฐไม่สามารถจะจัดหางานหรือจัดสรรงานให้ทุกคนทำอย่างที่คิดได้ หากทุกคนรอหวังแต่จะทำงานตามที่ตนต้องการจะทำเท่านั้น ตลอดชาตินี้ทั้งชาติคงไม่มีใครต้องทำงานกันแล้ว เพราะตามหลักธรรมชาติของมนุษย์ที่เกิดมา ทุกคนย่อมปรารถนาความสุขสบายกันทั้งนั้น กล่าวคือ ต้องการทำงานสบาย แต่ขอให้ได้เงินมากหรือทำงานแต่น้อยได้ผลประโยชน์มาก ๆ นั่นเอง คนจะมีเงินหรือหาเงินได้จะต้องทำงานด้วยกันทั้งนั้น และจะต้องทำงานด้วยใจรัก มีคำบาลีว่า กตฺตุกมฺมยตาฉนฺท แปลว่า พอใจในการกระทำ งานเป็นแหล่งที่มาของเงิน ไม่ใช่โชคชะตาเป็นแหล่งที่มาของเงิน จึงมีคำพูดที่ว่า
อยากมีเงิน ต้องทำงาน จึงพานพบ
อยากเรียนจบ ต้องขยัน หมั่นศึกษา
อยากมีรัก ต้องฝักใฝ่ เวียนไปมา
อยากมีหน้า ต้องยื่นหน้า อาสาคน
รัฐบาลไทยยุคหนึ่งเคยมีคำขวัญว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” หมายความว่า จะมีเงินจำต้องทำงาน ไม่ใช่คอยโชคลาภหรือโชคชะตา สำหรับคนที่ชอบพูดว่า “เซ็ง” ก็ดี “ไม่รู้จะทำอะไร” ก็ดี “ไม่มีงานทำ” ก็ดี ขอให้ใช้หลักธรรมะมาเป็นเครื่องนำทางเพื่อปลูกฝังความรักในการทำงานโดยให้พิจารณาให้เห็นว่า “งานคือชีวิต ชีวิตคืองาน” ให้เห็นว่าชีวิตทุกชีวิตที่ดำรงอยู่ได้ก็เพราะมีงาน มีการทำงาน คนตายแล้วไม่สามารถจะทำงานหรือสร้างผลงานอะไรได้เลย เพราะฉะนั้น ขอให้ทุกคนทุกท่านที่เกิดมาเป็นคนไทยแล้ว ควรใช้ชีวิตให้เกิดประโยชน์ด้วยการทำงาน ไม่ควรเลือกงาน และคนที่ทำงานอยู่แล้วก็ขอให้ทำงานอย่างมีความสุขสนุกไปกับการทำงาน โดยอาศัยหลักธรรมเป็นแนวทางปฏิบัติ ๔ ประการ คือ
1. พอใจในงานที่จะกระทำ หรือที่กำลังกระทำ
2. พยายามทำงานนั้น ๆ ด้วยความพากเพียร
3. สร้างบทเรียนด้วยการเอาใจใส่ฝักใฝ่ดูแล
4. สอบสวนทวนกระแสในงานที่กระทำว่าเรียบร้อยหรือไม่เพียงไร
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิกา แปลว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงดำรงชีวิตอยู่ได้เพราะอาหาร ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสภาพความเป็นจริงของคนเราที่เกิดมาต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ หากใครไม่รู้จักทำมาหากิน ชีวิตของคนนั้นถือว่าล้มเหลว แม้มีชีวิตเป็นอยู่ตั้งร้อยปี ก็สู้บุคคลผู้มีความเพียรดีเป็นอยู่วันเดียวไม่ได้
ยิ่งในภาวะปัจจุบัน การทำมาหากินยิ่งฝืดเคือง หากใครมัวแต่งอมืองอเท้าไม่ขวนขวายที่จะทำงาน มัวแต่คอยเลือกงานว่างานไม่มีเกียรติ ไม่สมฐานะ เงินเดือนน้อย หรือทำงานสักแต่ว่าทำให้พ้นไปวันหนึ่ง ๆ แล้วเอาแต่เกียจคร้าน คอยรับทานแต่หยาดเหงื่อแรงงานของผู้อื่น ถือว่าใช้ชีวิตอย่างว่างเปล่าไร้ความหมาย ซึ่งช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เพราะชีวิตของคนเช่นนี้เป็นชีวิตไร้ค่า เป็นภาระของสังคม แต่สำหรับคนส่วนมากแล้ว มักจะไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองต้อง อดตาย คนพิการแขนด้วน ขาด้วน ยังทำงานเป็นช่างซ่อมจักรยาน ช่างแกะสลัก ช่างซ่อมวิทยุ โทรทัศน์ก็มี คนตาบอดก็ไม่ยอมแพ้ ส่วนใหญ่จะขายล็อตเตอรี่ และคนตาบอดบางคนยังพยายามฝืนความพิการ มีความสามารถเรียนจบได้รับปริญญา เป็นอาจารย์สอนภาษาก็มี เพราะฉะนั้น การจะทำงานให้บรรลุผลสำเร็จได้นั้น ไม่ว่าจะเป็นงานอะไร ต้องทำด้วยความตั้งใจจริง มีความอดทน คิดหาลู่ทางที่จะทำให้งานนั้นสำเร็จ อย่าท้อถอยหมดกำลังใจง่าย ๆ ถ้ายิ่งเป็นงานราชการด้วยแล้ว จะต้องมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญอยู่ ๓ ประการ คือ
1. บรรลุเป้าหมาย คือ ทำงานจนสำเร็จเรียบร้อย
2. ทันเวลา คือ เป็นไปตามกำหนดการที่ตั้งไว้ และ
3. ได้ผลตามเกณฑ์ที่คาดหมาย คือ มีประสิทธิภาพและถูกต้อง
ส่วนการทำงานในด้านอื่น ๆ ก็อยู่ที่ความรักงาน มีความพอใจกับงานที่ทำอยู่ คือ ไม่เบื่ออาชีพ มีความขยันขันแข็งในงานที่ทำ เอาใจใส่ไม่ปล่อยวาง และพิจารณาหาทางแก้ไขในสิ่งที่ไม่สมบูรณ์ เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เช่น การปรับปรุงพืชพันธุ์ธัญญาหารจากพันธุ์พืชที่มีรสไม่ดี ขายไม่ได้ราคา มาเป็นพันธุ์พิเศษ รสดี ผลใหญ่ ขายได้ราคา ฉะนั้นหากทำงานด้วยความรัก ความรับผิดชอบดังกล่าวมา งานที่ทำกรรมที่สร้างก็จะได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โอกาสที่จะตั้งตัวย่อมเป็นไปได้ง่าย
อนึ่ง การทำงานอย่างได้ผลอีกประการหนึ่งก็คือ อย่ามัวผัดวันประกันพรุ่ง ในขณะที่คนทั้งหลายกำลังขวนขวายทำงาน เพื่อให้ตัวเองพร้อมด้วยบุคคลที่อยู่ในความรับผิดชอบ มีอยู่มีกินหรือไม่อดตาย ออกจากบ้านตั้งแต่ตีห้า กลับเข้าบ้านหกโมงเย็น หรือบางรายไปทำงานอดิเรก เช่น เป็นครูสอนพิเศษต่อ กลับถึงบ้านก็ดึกดื่น ถึงเพียงนั้นก็ยังรู้สึกว่า เวลาไม่พอกับงานที่ต้องทำยังอยากทำงานให้มากกว่านี้ เพื่อรายได้ที่เพิ่มขึ้น คนที่ขยันขันแข็งย่อมได้เปรียบผู้อื่น เปรียบเหมือนม้าที่มีฝีเท้าเร็วมีกำลัง ย่อมวิ่งนำหน้าม้าไม่มีกำลังฝีเท้าไม่ดีไปฉะนั้น
แต่ก็ยังมีคนอีกจำพวกหนึ่งที่ทำตัวเป็นเหมือนกาฝากสังคม จะทำอะไรก็รั้ง ๆ รอ ๆ ชอบผัดวันประกันพรุ่ง ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ มีความเป็นอยู่ไปวัน ๆ โดยอาศัยแรงงานของคนอื่น พอถูกชวนไปทำงานก็อ้างว่า “พรุ่งนี้ถึงจะทำ” พอถึงวันพรุ่งนี้ก็อ้างวันถัด ๆ ไป ในที่สุดงานที่จะทำก็ไม่เสร็จตามเวลาที่ควรจะเสร็จ งานที่คนอื่นทำเพียงหนึ่งวันตนต้องใช้เวลาถึงหนึ่งสัปดาห์ งานที่คนอื่นทำหนึ่งสัปดาห์ตนต้องใช้เวลาถึงหนึ่งเดือน หรือบางทีทำไม่สำเร็จ ทิ้งงานไปเลยก็มีไม่น้อย นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่มักหมกมุ่นยึดถือในเรื่องฤกษ์ยามอยู่ คือ ก่อนที่จะทำหรือรับงานอะไรสักอย่างก็ต้องไปหาหมอดูให้ผูกดวงทำนายดวงชะตาให้ โดยยึดถือว่า หากฤกษ์ไม่ดี วันเดือนปีไม่ดี ก็ไม่ต้องทำงานนั้น พอถูกหมอดูท้วงติงว่า งานนี้รับไม่ได้ จะขาดทุนย่อยยับ ควรจะหางานใหม่ เพราะชีวิตช่วงนี้ถูกราหูเข้าพระเสาร์แทรก โดยคนประเภทนี้ได้เอาชีวิตไปฝากไว้กับโชคชะตาหมอดู เป็นคนที่ไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง หากเชื่อตามนี้เขาก็จะไม่ได้รับประโยชน์ที่ควรจะได้อันเป็นประโยชน์มหาศาล ส่วนคนอื่นที่ไม่ได้ไปหาฤกษ์หายาม ย่อมจะได้รับประโยชน์นั้น ข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระบรมครูของเราทั้งหลายตรัสไว้ชัดเจนว่า
นกฺขตฺตํ ปฏิมาเนนฺตํ อตฺโถ พาลํ อุปจฺจคา
อตฺโถ อตฺถสฺส นกฺขตฺตํ กึ กริสฺสนฺติ ตารกา
แปลว่า ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนโง่ผู้มัวถือฤกษ์อยู่ ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวทั้งหลายจักทำอะไรก็ได้
ที่กล่าวมานี้ ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธองค์ มิได้ปฏิเสธการทำนายของหมอดูว่าเหลวไหล แต่ที่แน่นอนก็คืออย่าได้หลงไหลจนถึงขนาดที่ว่า ถ้าไม่ได้ดูฤกษ์ยามก่อนก็ไม่ต้องทำงาน เพราะความคิดเช่นนั้นจะเหนี่ยวรั้งให้เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย คนที่ทำงานดี ขยัน ไม่เกียจคร้าน งานไม่บกพร่อง ได้ผลตามวัตถุประสงค์ย่อมจะได้รับประโยชน์คุ้มค่าที่สุด ไม่มีดวงดาวหรือฤกษ์ยามใด ๆ จะขัดขวางไม่ให้ได้รับประโยชน์นั้นได้ หรือคนที่คอยฤกษ์คอยยามแล้วไม่ทำงาน จะให้ได้สิ่งที่ปรารถนาดังคำพูดที่ว่ามีราชรถมาเกย ซึ่งเป็นความหวังที่เลื่อนลอยเหมือนปุยนุ่น ลอยอยู่ในอากาศแล้วแต่ลมจะพัดไปทางใด ฉะนั้น
เพราะฉะนั้น การที่จะทำงานอย่างมีความสุข หรือมีความสนุกกับการทำงานแล้ว จะต้องมีความตั้งใจจริง มีความเสียสละ ให้คิดไว้เสมอว่า เราทำประโยชน์อะไรให้กับสังคมบ้าง โปรดอย่าคิดว่า สังคมจะทำประโยชน์อะไรให้กับเรา โดยอาศัยหลักการในการทำงานทั้ง ๔ ประการ ดังกล่าวแล้ว คือ
1. พอใจในงานที่กระทำ (ฉันทะ)
2. พยายามกระทำงานนั้น ๆ ด้วยความพากเพียร (วิริยะ)
3. เอาใจใส่ฝักใฝ่ดูแล (จิตตะ) และ
4. ใช้ปัญญาความรู้สอบสวนแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาด (วิมังสา)
เมื่อยึดถือหลักการทำงานทั้ง ๔ ประการนี้แล้วก็จะไม่เซ็ง ไม่พูดว่าไม่รู้จะทำอะไร และไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีงานทำ จงหางานทำ อย่าให้งานมาหาแล้วจึงทำ บางคนชอบแต่สนุกแต่ไม่ชอบทำงาน จึงทำให้งานที่ต้องทำไม่เสร็จสักที ทั้งนี้ก็เพราะใช้เวลาไม่เป็น โดยอ้างว่าไม่มีเวลา บางคนมีเวลาไปเล่น แต่ไม่มีเวลาในการทำงาน เพราะฉะนั้น หากทุกคนทำงานด้วยใจรัก ไม่ปล่อยให้งานอากูล ก็จะทำให้ตนเองและงานที่ตนจะต้องทำเกิดเป็นมงคลขึ้นมา ดังมีบาลีรับรองว่า อนากุลา จ กมฺมนฺตา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ การงานที่ไม่อากูล คือไม่คั่งค้าง จัดเป็นมงคลอย่างสูงสุดประการหนึ่ง
ขอบคุณข้อมูล : http://palipage.com/watam/piyapan4/K00077.htm