ความรู้ของท่านพุทธทาส

image005

การที่ท่านพุทธทาสมีความรู้แตกฉานในศาสตร์ต่าง ๆ มากมายนั้น ก็สืบเนื่องจากความสนใจในการศึกษาซึ่งท่านเคยกล่าวไว้ในจดหมายถึงสามเณร กรุณา กุศลาสัย ดังนี้ “…ผมเองก็เป็นนักศึกษาโดยตนเอง ทุกประเภทวิชชา…” และ “…ต้องเรียนเอาเองเรื่อย ๆ จากหนังสือทั่ว ๆ ไป ตลอดถึงจากหนังสือพิมพ์ ภาษาอังกฤษนับว่าไม่รู้อะไรเลย เพิ่งมาเรียนเอาโดยตนเองอีกเมื่อบวชแล้ว จนบัดนี้ก็ยังไม่รู้พอที่จะนับว่าคล่องตัว หรือพอใช้แก่การงานของตัว ภาษาไทยนับว่าพอคล่องตัว แต่ก็ยังต้องเรียนไปอีกเรื่อย ๆ ทั้งสองอย่าง ธรรมเคยเรียนในโรงเรียนเพียงสองปี ต่อนั้นเรียนลำพังเอง ไปขอสมัครสอบได้นักธรรมทั้งสามชั้นแล้ว ก็ยังไม่รู้สึกว่ามีความรู้ธรรมเลย ยังเรียนเองเรื่อย ๆ กระทั่งบัดนี้และทั้งเชื่อว่ายังต้องเรียนไปเองอีกนาน… สำหรับภาษาบาลียิ่งร้ายกาจใหญ่ ควรจะเรียนกันตั้ง ๑๐–๑๒ ปี ผมเรียนในโรงเรียนเพียง ๖–๗ เดือน เรียนกับท่านอาจารย์ของตัวเองในกุฏิราว ๑ ปี แล้วก็ไปขอสมัครสอบ ก็สอบได้เป็นเปรียญตรี (๓ ประโยค) เบื่อเต็มทน ปีต่อมาไปขอสมัครสอบเฉย ๆ ตก ๔ ประโยค หยุดเสียชั่วคราว เพิ่งจับเรียนด้วยตนเองอีกเมื่อปี ๒๔๗๕ เรื่อย ๆ มาจนกระทั่งบัดนี้วันละเล็กละน้อยเสมอ และยังคงรักที่จะเรียนไปเรื่อย ๆ บัดนี้กลายเป็นทำงานพลางเรียนพลาง… ส่วนวิชชาอื่น ๆ เช่น ประวัติศาสตร์ จิตวิทยา วรรณคดีต่าง ๆ ฯลฯ สะสมตำราเรียนเองอย่างเดียว คู่เคียงกันมาจนกระทั่งบัดนี้เหมือนกันเจตนามุ่งมั่นของท่านพุทธทาส ซึ่งถือเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญ ก็คือ “การลงมือปฏิบัติธรรม” ในชั้นต้น ท่านก็ยังคิดว่า ความรู้ของท่านยังไม่เพียงพอ ดังนั้น ท่านจึงคิดค้นหาหลักเอง ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า “…เราเลยจำเป็นต้องค้นหาหลักเอาเอง อันนี้มันจึงทำให้ต้องไปสนใจกับสิ่งที่เรียกว่า ปริยัติ แต่ไม่ใช่เพื่อเป็นนักปริยัติ หากเพื่อจะเก็บเอาหลักธรรมมาสำหรับใช้ปฏิบัติ…” ท่านจึงได้ลงมือค้นคว้าศึกษาพระไตรปิฎกอย่างจริงจัง ซึ่งต่อมาได้รวบรวมหลักการและเขียนเป็นหนังสือ “ตามรอยพระอรหันต์” อีกทั้งยังได้คัดเลือกเอาพระไตรปิฎกส่วนหรือสูตรที่ควรจะเผยแพร่มาแปลลงในหนังสือพิมพ์พุทธสาสนาอีกด้วย

จากนี้ ท่านพุทธทาสยังได้ศึกษาปรัชญาต่าง ๆ เช่น ปรัชญาอินเดีย ปรัชญาตะวันตก เป็นต้น ท่านเล่าว่า ปรัชญาอินเดียบางส่วนเป็นรากฐานของพุทธศาสนาเช่นกัน แต่ปรัชญาทางตะวันตกจะไม่ลึกซึ้งสูงสุดไปในทางดับทุกข์ หรือเพื่อ มรรค ผล นิพพาน แต่ประการใด ท่านพุทธทาสยังได้ศึกษาค้นคว้าในศาสนาและลัทธิอื่นๆอีกด้วยได้แก่ ศาสนาคริสต์ ลัทธิเซน มหายาน วัชรยาน โหราศาสตร์ เป็นต้น ท่านยังได้ศึกษาในเรื่องวิทยาศาสตร์ และค้นพบว่า

“หลักพุทธศาสนา หัวข้อธรรม ต้องการพิสูจน์ทดลอง ไม่ต้องการคาดคะเนคำนวณ มันผิดหลักกาลามสูตร ตรรกเหตุ นยเหตุ มันต้องพิสูจน์ทดลองจนทนต่อการพิสูจน์ ว่ามันดับทุกข์ได้ เพียงแต่พอใจแล้วว่า พุทธศาสนานี่มันมีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์…”พุทธศาสนาจะเผชิญหน้ากับโลกในสมัยวิทยาศาสตร์ได้ถึงที่สุด คือโลกในอนาคตเมื่อวิทยาศาสตร์ไม่สามารถจะช่วยโลกได้ เราก็เสนอหลักธรรมะหรือธรรมะเข้าไปให้วิทยาศาสตร์สามารถใช้วิทยาศาสตร์ช่วยโลกได้…”

“…กฎของวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยเหตุผล เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี กฎอิทิปปัจจยตามีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์อยู่อย่างเต็มที่ แล้วมนุษย์ก็จะเริ่มสนใจเรื่องต้นเหตุของความทุกข์ ต้นเหตุของวิกฤติการณ์กันอย่างเต็มที่ พบแล้วก็จำกัดหรือควบคุมตามแต่กรณี เรื่องร้าย ๆ ในจิตใจของมนุษย์ก็จะลดลง…”ท่านพุทธทาสเป็นผู้ใฝ่รู้และศึกษาค้นคว้าอย่างมากมายและมิได้หยุดอยู่นิ่งอาทิเช่น ทางด้านพฤกษาศาสตร์ ทางด้านโบราณคดี เป็นต้น แต่มาในภายหลัง ท่านได้มุ่งศึกษาในทางดับทุกข์มากกว่าศาสตร์อื่น ๆท่านได้กล่าวถึงหลักในการศึกษาเรียนรู้ว่า “…ถ้าคุณอยากจะเรียนรู้เรื่องอะไร คุณจงตั้งต้นการศึกษาเหมือนอย่างว่า เราจะไปเป็นครูเขาในเรื่องนั้น เรียนให้มากในเรื่องนั้น แล้วคุณจะรู้เรื่องนั้นดี ดีจนพอ ดีจนเกินพอ ไม่ว่าเรื่องอะไร…มันมีหลักอย่างนั้นคือ มันเรียนมาก คิดมาก มันทบทวนมาก มันก็เลยได้ผลดีกว่า ที่จะตั้งใจสอน…
ขอขอบคุณ http://www.dhammadana.or.th/

. . . . . . .