วิธีการปฏิบัติพระกรรมฐาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)

วิธีการปฏิบัติพระกรรมฐาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)

วิธีการปฏิบัติพระกรรมฐาน

คำสอน พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)

จาก หนังสือ ทางสายเข้าสู่พระนิพพาน

สำหรับ การที่จะศึกษาต่อก็ขอทบทวนต้น เป็นการแนะนำตามวิธีการปฏิบัติที่แท้จริง เพราะการปฏิบัติพระกรรมฐานจริง ๆ เขาทำกันได้เมื่อเริ่มใหม่ ๆ เขาจะทวนจากของเก่าไปก่อน พยายามทรงอารมณ์ของเดิที่ได้แล้วตามลำดับไปถึงที่สุดที่เราพึงได้แล้วจึงจะ ทำต่อ

ขอเตือนให้ท่านทั้งหลายตามนึกถึง สติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นอันดับแรกที่เราพึงปฏิบัติในเบื้องต้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า “จงกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก หายใจออก” นี่หมายถึงว่า ทรงสั่งสอนให้เราเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ สติ แปลว่า การระลึกนึกได้ ว่าเวลานี้เรามีภาวะเป็นอะไร นึกว่าเราจะทำอะไร สัมปชัญญะ ทราบดีว่ากิจนั้นเราทำแล้วหรือยัง เมื่ออารมณ์จิตคิดว่าเราจะทำอะไร การนั้นที่เราทำมันควรไม่ควร เราจะรู้ได้ด้วยสติสัมปชัญญะจะบอกได้เลยว่า ไอ้นี่เป็นกรรมที่เป็น กุศล หรือเป็นกรรมที่เป็นอกุศล หรือเป็นความดีหรือความชั่ว ทำตนให้ไม่ลืมสติสัมปะชัญยะ นึกไว้ในด้านของความดี ระมัดระวังความชั่วไม่ให้เกิด พยายามรักษาอารมณ์ไม่ให้บกพร่องในด้านความดี พยายามริดรอนความชั่วไม่ให้เกิดขึ้นกับจิต หรือว่าจริยาทั้งหมด ทั้งอารมณ์ของจิต ทั้งวาจาและกาย เราจะต้องระมัดระวัง คือ ใช้สติสัมปชัญญะ ควบคุมอยู่ตลอดเวลา ถ้าจิตทรงอยู่อย่างนี้ขึ้นชื่อว่าอารมณ์เป็นสมาธิ อันนี้เรามีแล้วหรือยัง พวกเราระมัดระวังกันหรือเปล่า

ประการที่สอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแนะนำว่า “เราจงเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์” ไม่ทำลายศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงให้บุคคลอื่นทำลายศีล และไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว

ประการที่สาม ทรงแนะนำให้ ระงับนิวรณ์ทั้ง 5 ประการ

ประการที่สี่ ทำจิตให้ เข้าถึงพรหมวิหาร 4 เป็นปกติ

อารมณ์อย่างนี้ที่เราจะพึงเข้าถึง พระพุทธเจ้าถือว่าเป็นการเข้าถึง เปลือกของพระพุทธศาสนา อาการอย่างนี้จิตของเราพร้อมบริบูรณ์แล้วหรือยัง ถ้ายังไม่พร้อมก็ปรับปรุงใจเสียให้พร้อม แต่ความจริงศึกษากันมานาน ถ้าอาการอย่างนี้ยังไม่พร้อม ชาตินี้ก็เห็นจะไม่แคล้วอเวจีกันแน่

อันดับแรกที่มีความสำคัญคือ สติสัมปชัญญะ ถ้า อาการอย่างนี้ยังไม่พร้อม ก็แสดงว่าพวกเรายังไม่มีสติสัมปชัญญะ ถ้าศึกษากันมาขนาดนี้ไม่มีสติสัมปชัญญะ การรับฟังวันละหลายเวลา จะกลายเป็นเอาตาเป็นตากระทู้ เอาหูเป็นหูกะทะ ตากระทู้นี้มันมองอะไรไม่เห็น หูกะทะฟังอะไรไม่ได้ยิน ก็รู้สึกว่าจะไม่ทันแก่ความดีเสียแล้ว ผลที่มันจะติดตามเข้ามาคือ อารมณ์ที่เป็นอกุศลบกพร่องในสติสัมปชัญญะ นี่ควรจะต้องทบทวนไว้ตลอดเวลา

ประการต่อไป องค์สมเด็จพระจอมไตรกล่าวว่ามรรคต้นที่บุคคลเราจะเข้าถึงเป็นของง่าย นั่นก็คือ มรณานุสสติกรรมฐาน มี ประจำใจหรือเปล่า พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติกรรมฐาน สีลานุสติกรรมฐาน เทวตานุสติกรรมฐาน หิริและโอตตัปปะ และ อุปสมานุสติกรรมฐาน ก็คือ การนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ อันนี้เรามีแล้วหรือยัง ศึกษากันมานาน ถ้ายังไม่รู้สึกว่าแย่ แก้ตัวไม่ทัน นี่ต้องทบทวนจิตไว้เสมอ ว่าอะไรที่เราพึงจะปฏิบัติประการต่อไป องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ์แนะนำให้ใช้พรหมวิหาร 4 ให้เข้มข้นจนถึงอภัยทาน

ที่ ท่านกล่าวมาเมื่อกี้นี้ เป็นอาการของพระโสดาปัตติผล เมื่อทำจิตของตนให้เป็นอภัยทาน ความโกรธ ความพยาบาทเกิดขึ้น มีความรู้สึกตัว ไม่ถือโทษโกรธต่อไป ให้อภัยแก่คนผิด ให้อภัยแก่บุคคลผู้คิดประทุษร้าย ไม่ถือโทษโกรธเขา แล้วพยายามกำจัดความโลภด้วย จาคานุสติกรรมฐาน พยายามกำจัดความโกรธด้วยอาศัย พรหมวิหาร 4 มี ความเข้มข้น พยายามกำจัดความหลงให้ยิ่งกว่าพระโสดาบัน คือ นอกจากจะนึกถึงความตายแล้วก็คิดว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา สภาวะของร่างกายมีการสลายตัวไปในที่สุด ชีวิตไม่สามารถจะคงทนตลอดกาลตลอดสมัยไปได้ ถ้าเราจะตายก็ตายอย่างคนดี เมื่อยู่ก็เป็นคนดี เมื่อตายแล้วก็เป็นผีเป็นผีดี อย่างนี้เป็นอาการพระสกิทาคามีผล

อย่างนี้บรรดาท่านทั้งหลายทุกท่านทำ ได้แล้วหรือยัง หรือได้ระดับไหน วัดกำลังใจของเราดูไว้ คือ ต้องทบทวนกันไว้เป็นปกติ ไม่ใช่ก้าวไปข้างหน้าแล้วลืมข้างหลัง อาการของพวกเรามันมีอยู่ ที่ศึกษาไปไกลแต่ว่าจริยาที่ทำไม่ได้อะไรเลย อันนี้มีอยู่ พึงรู้ตัวไว้

มีหลายท่านด้วยกัน ยังไม่ได้อะไรเลย แม้แต่สติสัมปชัญญะขั้นต้นก็ยังไม่ได้ บางทีเรานึกครึ้ม ๆ ศึกษากันมานานคงจะไปสรรค์ไปพรหม ไปนิพพาน แต่ถ้ายังไร้อาการสติสัมปชัญญะละก็อย่าหวังเลย การเกิดเป็นมนุษย์มันก็ไม่มีทางจะเกิดเมื่อมีความรู้สึกอย่างนี้ ตามที่กล่าวมาเป็นด้านของสกิทาคามี

สำหรับพระโสดาบันก็ดี หรือว่า สกิทาคามีก็ดี พระพุทธเจ้ากล่าวว่าเป็นด้าน อธิศีลสิกขา เป็นผู้มีศีลยิ่ง บรรเทาความโกรธความพยาบาทบ้างตามสมควร แล้ว มาถึงอนาคามีผล อารมณ์ทรงตัวในด้านสมาธิ คำว่าทรงตัวนี่ไม่ใช่นั่งหลับตาเป๋ง ลืมตาอยู่อารมณ์ความดีทรงตัวเป็นปกติ และก็มีความเข้มข้น คือ ทรงอารมณ์เป็นฌาน มีการหนักหน่วงในการทรงจิต นั่นก็คือมีความคิดเห็นตามความเป็นจริงในด้านสักกายทิฏฐิ และอสุภกรรมฐาน เห็นว่าสภาวะร่างกายของคนและสัตว์ทั้งหมด และวัตถุทั้งหมด เต็มไปด้วยความสกปรก ร่วมกับ วิปัสสนาญาณ เห็นว่าสกปรกแล้วก็รู้สึกว่าอัตภาพร่างกายของเราก็ดี ของเขาก็ดี เป็นแต่เพียงธาตุ 4 เข้ามาทรงกัน มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุด มีความรังเกียจในร่างกายที่เรียกกันว่า นิพพิทาญาณ

แล้วมีอารมณ์เฉยในด้านกามารมณ์ทั้งหมด ที่เรียกกันว่า สังขารุเปกขาญาณ มีอารมณ์ทรงตัว ไม่มีความรู้สึกในเพศ ไม่มีความกระสันในเพศ และก็ไม่ติดใจพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส แม้แต่ไม่ใช่คน เป็นวัตถุก็ตาม สีสันวรรณะที่เห็นส่าสวย เราเห็นเป็นของธรรมดาไป กลิ่นที่เรียกว่า หอม เราก็ไม่มีความรู้สึกในการติดใจ รสสัมผัสใด ๆ ที่พึงเป็นที่พอใจของปุถุชนคนธรรมดาเรางดเว้นได้ อารมณ์ไม่มีความรู้สึกในความต้องการ

สำหรับความโกรธความพยาบาทนั้นไม่ เกิดกับจิต แม้แต่ปฏิฆะ อารมณ์ที่ไม่พอใจ คือกำลังใจที่จะสร้างความสะดุ้งให้เกิด ความไม่พอใจกับวาจาหรือจริยาของบุคคลอื่นที่ทำต่อเรา อันนี้ไม่มี เพราะอาศัยมีพรหมวิหาร 4 เต็มภาคภูมิ

สักกายทิฏฐิมายุว่า มีความรู้สึกว่าอัตภาพร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา อารมณ์ใจที่ทำให้เกิดความไม่พอใจกับบุคคลอื่น หรือที่บุคคลอื่นทำให้เกิดกับเรา รู้สึกว่าอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ของทาส มันเป็นอารมณ์ของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และ อกุศลกรรม ทำใจให้มีความปรอดโปร่งตามอารมณ์อย่างนี้ อารมณ์จิตสบาย

เป็นอันว่า ตัดกามฉันทะกับปฏิฆะได้เด็ดขาด มีอารมณ์จิตเป็นสุข เป็นสุขอย่างมากเท่าที่เราไม่เคยจะพบกัน อารมณ์สบาย จะมีอารมณ์ความหนักอยู่บ้างก็นิดหน่อย เหมือนกับเราเคยแบกช้างมาแล้วช้างมันหนัก ทีนี้กลับมาใหม่ กลับมาแบกเศษกระดาษ เศษกระดาษก็เป็นเศษกระดาษชิ้นเล็ก ๆ แค่กระดาษฟุลสแก๊ป ลองพิจารณากันดู ช้างกับกระดาษฟุลสแก๊ปหนึ่งแผ่นนี่มันหนักเท่ากันไหม ความรู้สึกของพระโยคาวจรในระดับนี้จะมีความเบา จะมีความสบาย

ก็ลองพิจารณากันไปว่า ความทุกข์ใหญ่ของเรานี่มันมีทุกข์ อะไรเป็นสำคัญ ที่เราทุกข์กันจริง ๆ ก็ทุกข์เพราะ ความยึดมั่นถือมั่น มั่นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นเรา มันเป็นของเรา แล้ว เราก็ไม่อยากให้มันเสื่อมโทรมไป ไม่อยากให้มันสลายตัวไป คือ พลัดพรากจากกัน แต่อารมณ์ในตอนนี้นั้น อารมณ์จิตมันมีความรู้สึกว่าทุกอย่างเป็นธรรมดาไปหมด เห็นอาการของความเกิดของเราก็ดี ของบุคคลอื่นก็ดีเป็นของธรรมดา ความเสื่อมโทรมของร่างกายของคนและสัตว์ ของวัตถุถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา การจะสลายไปของวัตถุถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา การจะสลายไปของวัตถุของร่างกายของคนอื่นและของเราเป็นของธรรมดา

ตอน นี้มาในด้านโลกธรรม ความมีลาภ ลาภเกิดขึ้น ก็มีความรู้สึกว่าลาภนี้มันสลายตัวแน่ มันไม่สามารถจะทรงอยู่คู่กับเราไปได้ เมื่อลาภสลายตัวไปก็ไม่มีความหวั่นไหว ไม่มีการสะเทือนใจ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าได้ยศมาก็ไม่มีความเมายศ มีความรู้สึกว่าคนที่ได้ยศฐาบรรดาศักดิ์ที่สูงลิ่ว ที่ศักดิ์ศรีสูง แต่ภายในไม่ช้า ไม่นานยศนั้นก็สลายไป เพราะการทำลายของตนเอง หรือว่าคนอื่นถอดถอนขึ้น บางทีคนทรงยศใหญ่ เมื่อตายแล้วก็สิ้นสภาพของความเป็นผู้มียศ เห็นว่าการได้รับยศฐาบรรดาศักดิ์ ไม่มีความสำคัญของชีวิต ไม่มีจิตผูกพันในยศ ไม่ถือว่ามีความสำคัญ เห็นว่ายศมีความสำคัญแล้วก็เมื่อเวลายศจะต้องถูกถอดไปหรือต้องสลายไปด้วย ประการใดประการหนึ่ง ก็มีความรู้สึกว่าเป็นของธรรมดา ไม่มีอะไรเป็นที่น่าสะเทือนใจ ได้ยศหรือไม่ได้ยศเราก็มีสภาพเท่าเดิม แก่ลงทุกวัน มีอาการทรุดโทรมริดรอนทุกวัน และมีความตายไปในที่สุด

และอารมณ์ของโลกธรรม ได้แก่ สรรเสริญ และ นินทา ฟังคำสรรเสริญของคนไม่มีความรู้สึกดีใจ รู้สึกเป็นอาการปกติว่านี่เรื่องธรรมดาของโลก มันก็ต้องมีการสรรเสริญกัน เมื่อมีคนสรรเสริญได้ก็ต้องมีคนนินทาได้ บางทีบุคคลคนเดียวกันบางครั้งสรรเสริญเยินยอเราเสียเกือบตาย แต่บางโอกาสเขาก็ทำลายคำสรรเสริญด้วยการนินทาเข้ามาแทน จงถือว่าการสรรเสริญและนินทานั้น เป็นธรรมดาของชาวโลกที่เกิดมาจะต้องกระทบกระทั่งอย่างนั้น อันนี้องค์สมเด็จพระทรงธรรมบรมศาสดาไม่ถือเอาเป็นสาระสำคัญ โดยทรงแนะนำว่า การนินทาและสรรเสริญไม่ได้ทำให้คนดีหรือคนชั่ว ถ้า คนเราทำความดีแล้วใครเขาจะนินทาว่ายังไงก็ตามที เราก็ไม่เลวไปด้วย เมื่อเป็นคนเลวเขาสรรเสริญว่าเราดียังไงก็ตาม เราก็ไม่ดีไปตามคำเขาว่า

ดี หรือชั่วมันอยู่ที่การควบคุมกำลังใจ ถ้าใจของเราบริสุทธิ์ ผุดผ่องเสียอย่างเดียว ใครจะว่าดีหรือชั่วไม่มีความสำคัญ เขาจะประณามเราว่าเลวมันก็เลวไม่ได้ มันก็ต้องดีอยู่ตลอดเวลา ถ้าจิตของเราชั่วเขาจะสรรเสริญว่าดี มันก็ดีไม่ได้เหมือนกัน นี่เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าให้ทรงรักษากำลังใจเป็นสำคัญว่า ควบคุมกำลังใจให้ดีไว้แล้วมันก็จะดีเอง ไม่ต้องไปฟังคำชาวบ้านเขา การที่เราจะต้องดีเพราะรอให้ชาวบ้านสรรเสริยนั่นมันเป็นอารมณ์ของความชั่ว

ที นี้ความสุขความทุกข์ของโลก มีความร้อนเกินไป ความหนาวเกินไป มีความหิว มีความกระหาย มีความป่วยไข้ไม่สบาย กระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่เราพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง ความแก่เข้ามาถึง ความตายจะเข้ามาถึง ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจจะเข้ามาถึง อาการทั้งหลายเหล่านี้ถ้าเกิดขึ้นถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นกฎธรรมดาที่เราจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความสบายใจมันเกิด อารมณ์จิตเกิดสุขนี่อารมณ์ของพระอนาคามี มีความสุขใจแบบนี้ ไม่มีอะไรเป็นที่รับสัมผัสแห่งความทุกข์ มีอารมณ์จิตสบาย

แล้วตัวสำคัญที่ร้ายที่สุดที่สร้างความสุขความทุกข์ก็คือ อารมณ์ความรักในกามารมณ์ นี่ ตัวสำคัญ เป็นตัวสร้างเหตุร้ายให้เกิดขึ้นกับจิต หรือเป็นเหตุให้เกิดขึ้นกับกาย อาศัยความรักเป็นสำคัญที่เราจะต้องเศร้าโศกเสียใจ เพราะอาศัยของรักพลัดพรากไป ภัยอันตรายจะเกิดขึ้นกับเรา โทสะ ความพยาบาทมันจะเกิดขึ้น จะต้องประทุษร้ายซึ่งกันและกันก็เพราะว่าสิ่งที่เรารัก ความรักที่เนื่องด้วยกามารมณ์ไม่มีสำหรับเราแล้ว มันจะมีภัยอันตรายมาจากไหน จะมีความเศร้าโศกเสียใจมาจากไหน ตอนนี้เป็นอันว่ากิเลสหยาบหมดไป ที่องค์สมเด็จพระจอมไตรว่า อันนี้เป็นอธิจิตสิกขา ก็หมายความว่าต้องทรงอารมณ์ในด้านความรู้สึกอย่างนี้เป็นปกติ มีความเข้มแข็งพอที่จะไม่ทำลายความดีส่วนนี้ไปจากจิต มันจะทรงอยู่ได้ทุกขณะจิตที่ชีวิตเราทรงอยู่ต่อไป ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระบรมครูต่อไป นี่เราทบทวนความจำกันว่าสิ่งที่เราศึกษากันมาถึงอนาคามีน่ะ ความจริง เนื้อแท้จริง ๆ เราถึงไหนกันแน่ ข้อวัตรปฏิบัติที่เราปฏิบัติอยู่เวลานี้มันถึงไหน

ทีนี้ต่อไปอีกสักนิดหนึ่ง ว่าถึงการก้าวเข้าไปสู่ความเป็นอรหัตผลค่อย ๆ ไป อย่าไปให้มันแรงนัก ไปแรงนักขาบิ่น ดีไม่ดีก็แพลงตกถนน

มาดูสังโยชน์ตัวที่ 6 กับสังโยชน์ ตัวที่ 7 รูปราคะ อรูปราคะ พระพุทธเจ้ากล่าวว่าพระอรหัตมรรค นี่เป็นพระอนาคามีผลแล้วนะ เข้าถึงอรหัตมรรคก็มานั่งพิจารณาดู รูปฌาน และ อรูปฌาน เพราะ ว่าพระอนาคามีนี่เคร่งครัดมัธยัสถ์ในรูปฌาน และ อรูปฌานอย่างยิ่ง รวมความว่ามีจิตเกาะฌานแจเป็นสำคัญ ไม่ยอมให้ฌานคลาดจากจิต คำว่าฌานนี่ก็คืออารมณ์ที่เป็นกุศล เกาะหนักหน่วงมากไม่อยากให้มันคลายอารมณ์ อารมณ์หนัก ไม่ใช่อารมณ์เบา

ที นี้เราก็มานั่งพิจารณาต่อไปว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ถ้าจะเป็นอรหันต์แล้วละก็ พึงทำความรู้สึกว่ารูปฌานและอรูปฌานนี่เป็นบันไดสำหรับก้าวขึ้นไปสู่ความ เป็นอรหันต์เท่านั้นเป็นกำลังที่จะส่งให้เราสูงขึ้นไป อย่าติดอยู่แค่นี้

ตอน นี้ก็เป็นของไม่ยาก มันเป็นด้านอนุสัย ความจริงจะว่าไม่ยากก็ไม่ใช่ ถ้ายังโง่อยู่มันก็ติด ถ้าเลิกโง่มันก็ไปง่าย ๆ เพราะตอนนี้เป็นของง่ายแล้ว เพียงรักษากำลังใจ ทรงรูปฌานหรืออรูปฌานให้ทรงตัว แล้วก็มีความรู้สึกอยู่เสมอว่าเราจะไม่ยับยั้งอยู่เพียงแค่นี้ เราจะแสวงหาความดีต่อไป เพราะความดียิ่งกว่านี้มีอยู่ แต่เราก็จะรักษาความดีที่องค์สมเด็จพระบรมครูแนะนำไว้ในขั้นต้น คือรูปฌานและอรูปฌาน ทรงอารมณ์ไว้เป็นปกติ แต่ก็ไม่หลงในรูปฌานและอรูปฌาน คิดว่าความดีจากนี้มีอยู่ ที่องค์สมเด็จพระบรมครูแนะนำไว้ว่าต้องทำลาย อวิชชา ความโง่ให้ได้ แต่การก้าวเข้าไปที่จะทำลายอวิชชานั้น จะต้องค่อย ๆ ทำไปตามลำดับ จับอันดับปลายทีเดียว เดี๋ยวอารมณ์จะเฝือ นั่นก็คือก้าวเข้าไปสู่การจับมานะ ความถือตัวถือตน ที่องค์สมเด็จพระทศพลว่าเป็นกิเลสที่เป็นตัวสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่ามานะ ความถือตัวถือตนนี่เป็นความลำบาก องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าให้วางภาระ คือ การถือตัวถือตนเสีย แต่ว่าอาการอย่างนี้จะกล่าวไปก็ไม่มีเวลา เพราะกาลเวลาที่จะพูดหมดแล้ว

ต่อ ไปนี้ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายรวบรวมกำลังใจให้ทรงตัว พยายามกำหนดรู้ลมหายใจเข้า หายใจออก หายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า หายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก ตัวรู้ลมหายใจเข้าหายใจออกเวลาฝึกนี่ เป็นการฝึกสติสัมปชัญญะ ฉะนั้นเวลาที่เราจะทำงานทำการใดก็ดี ต้องใช้อารมณ์นี้ ไม่ใช่ไปนั่งนับลมหายใจว่าเราจะทำอะไร นึกไว้ว่าเราจะทำ ขณะที่ทำไปแล้ว ก็รู้ตัวว่าเราทำแล้ว นี่การฝึกรู้ลมหายใจเข้าออกก็เพื่อผลงาน งานที่เราจะทำเป็นงานควรหรือไม่ควร ที่ทำไปแล้วมันดีหรือมันเลว รู้ตัว นี่ทรงตลอดวันแบบนี้ ไม่ใช่มานั่งฝึกรู้ลมหายใจเข้าออกกันแล้ว เวลาเลิกไปแล้วก็ทำความระยำทุกอย่าง สิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำ ก็ทำดะ นี่มันก็หมายถึงว่าการฝึกไม่มีผล ฝึกไปฝึกมาไปอยู่กับเทวทัตหมด ไม่มีใครเหลือ

http://xn--72c8ae4acia4czfxe.com

. . . . . . .