นายโคฆาต หลวงปู่จันทา ถาวโร วัดป่าเขาน้อย จ.พิจิตร

นายโคฆาต หลวงปู่จันทา ถาวโร วัดป่าเขาน้อย จ.พิจิตร

นายโคฆาต
จากเทปเรื่อง ป่าช้า ๙ กอง (๑ ก.ย.๓๓)

การฝึกจิตให้มีสติปัญญาฉลาดรู้ ก็ต้องมาพิจารณาร่างกายนี้นั้น เปรียบเหมือน นายโคฆาต นายเพชฌฆาตฆ่าโค เมื่อฆ่าโคลงไปแล้ว เขาก็ปาดหนังไว้กองหนึ่ง หัวไว้กองหนึ่ง กระดูกน้อยใหญ่ไว้อีกกองหนึ่ง ตับ ไต ไส้น้อย ไส้ใหญ่ ปอด พุง เอาไว้คนละกอง ๆ ชิ้นเนื้อไว้คนละกอง ๆ นั่นแหละ ลูกมือเขาก็แยกแยะเป็นอย่าง ๆ ไป จำหน่ายซื้อจ่ายขายกิน นั่นแหละ เขาก็ต้องทำอย่างนั้น

ทีนี้ พระโยคาวจรเจ้าทั้งหลาย ก็จงแยกแยะพิจารณาร่างกาย เปรียบเหมือนตัวโคนะ ใจเปรียบเหมือนนายเพชรฆาตผู้ฆ่าโคนั่นแหละ เราก็ต้องแยกแยะออกเป็นส่วน ๆ ให้มันเป็นอัน ๆ เป็นชิ้น ๆ ให้มันรู้อะไรเป็นอะไร กำหนดแยกแยะออกด้วยการเอามีดถาก เถือ สับ ฟัน นั่นแหละ กำหนดคาดหมายไปเสียก่อนตอนแรก ก็เพื่อว่าเป็นการศึกษา เป็นการฝึกจิตให้รู้ต่อซากโค คือ ร่างกายนี้

จิต คือเรา เราคือจิต กับสติปัญญาวิชาความรู้นั้น นั่นแหละ สติเป็นผู้ยังจิตให้อยู่กับฐานนั้น ๆ ไม่ลดละ

เมื่อขยายออก เรียกว่า ปาดออกแล้ว ตกไป จากชื่อว่าโคแล้ว มาเป็นเนื้อของโค กองนั้นเป็นกองตับ กองนั้นเป็นกองปอด กองนั้นเป็นพุงใหญ่ กองนั้นไส้น้อยไส้ใหญ่ กองนั้นศีรษะ กองนั้นหนัง กองนั้นขา เขาเอาไว้เป็นกองๆ เราก็จงพิจารณาแยกแยะ เป็นอย่างนั้น แล้วก็รวบรวมเข้า เรียกว่า โค นั่นแหละ

เนื้อโคทั้งหมด เมื่อทำลายแยกแยะออกแล้ว กระจัดกระจายออกไปคนละแห่ง ทีนี้จะเอาคืนมาสู่ฐานเดิมให้เป็นตัวโคขึ้นอีก ก็ไม่ได้เพราะถูกทำลายแล้ว

อันนี้ฉันใด ร่างกายของเราท่านทั้งหลายก็ให้พิจารณาแจ้งชัดเปรียบเหมือนเนื้อโค ที่นายโคฆาตฆ่าแล้ว นั่นแหละ เมื่อมันถูกทำลายลงไปแล้ว หมดภพชาติน้อยใหญ่ ถูกพญามัจจุราช ผู้มีอำนาจเสนาใหญ่สังหารแล้ว ย่อยยับดับสิ้นไปหมดทุกสิ่งอย่าง ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ นั้นแตกสามัคคีกันแล้ว ก็พลอยที่จะทำงานไปคนละหน้าที่ ต่างคนต่างก็จะไปตามหน้าที่

ธาตุดิน ก็พลอยที่จะดับไปเป็นดิน ธาตุน้ำ ก็ดับไปเป็นน้ำสูญไป ธาตุลม ก็ไปเป็นลม ธาตุไฟ ก็ดับไปตามเยี่ยงอย่างของธาตุนั้น นั่นแหละ ให้เราแยกแยะ ให้พิจารณาดูให้แจ้งสิ้นสงสัยในภพชาติ นี่ ธาตุกรรมฐาน

ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ นี้เรียกว่า ธาตุกรรมฐาน ให้เราศึกษาอบรมเล่าเรียนอย่ทุกวันคืน ยืน เดิน นั่ง นอน พิจารณาแยกแยะให้มัน เห็นเป็นอย่างนั้นอยู่เป็นนิจ มันจึงจะเป็นไป ในไตรวัฏฏ์ และโลกธาตุ ไม่มีสิ่งใดหนอที่ปราชญ์เจ้าทั้งหลายผู้ฉลาด จะรื้อฟื้นตนออกจากหลุมลึก คือ กิเลสได้ มีแต่มาพิจารณามูลฐานกรรมฐานนี่ให้เห็นจริงแจ้งชัด แล้วก็น้อมลงสู่ไตรลักษณ์

อนิจจตา มูลฐานนี้ไม่เที่ยง แต่เดิมมันก็รวมสามัคคีกันเป็นรูปนามธาตุขันธ์ แม้โคก็ดี ตัวของเราก็ดีก็ฉันนั้น เมื่อถูกทำลายแล้ว ต่างคนก็ต่างเป็นรูปนามสัณฐาน เป็ฯคนละอย่าง นั่นแหละ น้อมลงสู่ไตรลักษณ์อนิจจตา ไม่เที่ยง ทุกขตา ก็เป็นทุกข์ อนัตตา ก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงสภาพอยู่อย่างนั้น

นั่นแหละ จงใชัปัญญาวิจัยหาเหตุผล เราจะรู้แจ้งเห็นจริงแจ้งชัด ในภพชาติสังขารว่าเป็นอย่างโน้น อย่างนี้ เหตุใดโลกคือหมู่สัตว์ มันจึงหลงยึดมั่นถือขันธ์ว่าธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุกรรมฐานนี้เป็นเรา เราเป็นธาตุ ธาตุมีในเรา เรามีในธาตุ

เพราะเหตุใด จึงว่าหลงยึดมั่นถือมั่น ก็เพราะว่าอินทรีย์อ่อน บารมีธรรมก็อ่อน การฝึกซ้อมอบรมในธรรมคำสอนพระพุทธเจ้าทั้งหลาย นั้นมีน้อย บ่มอินทรีย์บารมีธรรมมาน้อย จึงเป็นเหตุให้หลงยึดมั่นถือมั่นพิทักษ์รักษา ประเล้าประโลมอยู่ทุกวันคืน ไม่ลดละ

ท่านผู้มีอินทรีย์แก่ บารมีแก่มาแล้ว ท่านก็พิจารณามูลฐานนี้เดี๋ยวเดียวเท่านั้นแหละ ก็แตกกระจัดกระจายทำลายสูญ ไม่มีอะไรเป็นเขาเป็นเรา ท่านผู้ฉลาดรื้อฟื้นดวงจิต ออกจากหลุมลึก คือ กิเลสได้หมดแล้ว ก็พ้นไปจากเครื่องจองจำ พ้นไปจากเครื่องร้อยรัด พ้นไปจากการสังหารของพญามัจจุราช ผู้มีอำนาจเสนาใหญ่

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://muangput.com/webboard/index.php/topic,67.0.html

. . . . . . .