บูรณะพระบรมธาตุดอยเกิ้ง (ครูบาเจ้าชุ่ม วัดชัยมงคล (วังมุย) )

บูรณะพระบรมธาตุดอยเกิ้ง รับสัมผัสปาฏิหาริย์ขององค์พระบรมสารีริกธาตุ

พระธาตุดอยเกิ้ง

ต่อมาครูบาเจ้าชุ่มได้เดินธุดงค์จาก ต.บ้านก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน ตัดป่าเขาลำเนาไพรขึ้นไปทางทิศตะวันตก มุ่งหน้าสู่ อ.ฮอด ล่วงจนถึงพระบรมธาตุดอยเกิ้ง ปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาคเหนือของไทย พระบรมธาตุดอยเกิ้งนั้น มีความเก่าแก่ และศักดิ์สิทธิ์ เป็นเจดีย์ขนาดพอๆ กับพระบรมธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ในขณะที่ครูบาเจ้าชุ่มได้ธุดงค์ไปพบนั้น พระบรมธาตุมีสภาพแตกร้าวและชำรุดทรุดโทรมเป็นอันมาก ท่านรู้สึกสลดใจที่ปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ ขาดการบูรณปฏิสังขรณ์ แต่ท่านก็ได้น้อมนำคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้ามาพิจารณา คือกฎไตรลักษณ์ ไม่ว่าสิ่งมีชีวิตหรือวัตถุสิ่งของใดในโลก ต่างก็หลีกไม่พ้นกฎ 3 ข้อนี้ อันได้แก่ “อนิจจัง” ความไม่เที่ยง “ทุกขัง” เมื่อทรงตัวอยู่ก็เป็นทุกข์ และ “อนัตตา” มีความเสื่อมสลายส้นไปเป็นธรรมดา

ครูบาเจ้าชุ่มตั้งใจว่า จะพักอยู่ ณ ที่แห่งนี้ และคิดหาวิธีการที่บูรณะองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เพื่อธำรงรักษาพุทธสถานแห่งนี้ไว้ให้เป็นที่สักการบูชาสืบต่อไป

เมื่อท่านได้สำรวจรอบบริเวณองค์พระบรมธาตุ คำนวณวางแผนการบูรณะได้อย่างละเอียดแน่ชัดแล้ว จึงได้ไปพบนายอำเภอ แจ้งความประสงค์ว่า ท่านปรารถนาจะบูรณะองค์พระบรมธาตุ และจะสร้างทางขึ้นพระบรมธาตุ นายอำเภอตอบตกลง และยินดีให้ความร่วมมือ

ครั้งนี้ ครูบาชุ่มได้พำนักอยู่ที่ป่าช้าวัดหนองบัวคำ ขณะที่พำนักอยู่ในป่าช้า ท่านก็ได้ปฏิบัติกิจของสงฆ์ตามปกติ คือการทำวัตร สวดมนต์ เจริญพระกรรมฐานเป็นปฏิบัติบูชา เสร็จแล้วจึงแผ่เมตตาไปในจักรวาลทั้งปวง ให้แก่สัตว์โลกที่เวียนว่ายตายเกิดเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอมิได้ขาด

คืนหนึ่งมีชาวบ้านในละแวกนั้น ได้เห็นองค์พระบรมธาตุ สำแดงปาฏิหาริย์ โดยปรากฏรัศมีเรืองรองสว่างไสวไปทั่วบริเวณ ทำให้ชาวบ้านเหล่านั้นต่างปลื้มปีติยินดียิ่งนัก ด้วยว่าไม่เคยพบเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อนในชีวิต

http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/kb-choom-photigo/kb-choom-hist-01-01.htm

. . . . . . .