ประวัติการสร้างพระเครื่อง สมเด็จหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด

ประวัติการสร้างพระเครื่อง สมเด็จหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด

ที่ปรากฏองค์ของท่านขึ้นมาในยุคนี้ได้ เพราะความฝัน คือ

คืนวันหนึ่งในปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๕ เวลาใกล้รุ่ง ข้าพเจ้าฝันว่าได้พบกับท่าน ณ ที่แห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดช้างให้มากนัก ท่านได้มอบยาชนิดหนึ่งให้ข้าพเจ้ากิน แล้วสวมมงคลรัดศีรษะให้อีก แสดงว่าท่านได้รับข้าพเจ้าไว้เป็นศิษย์ เพื่อจะให้ข้าพเจ้าได้รับใช้งานของท่านในโอกาสต่อไป เป็นการสนองคุณพระอาจารย์ เสร็จแล้วท่านเดินจากข้าพเจ้าไปทางทิศที่ตั้งของวัดช้างให้ รุ่งเช้าข้าพเจ้าคิดว่าสถูปศักดิ์สิทธิ์หน้าวัดช้างให้นี้ คงจะเป็นสถูปซึ่งได้บรรจุอัฐิของท่าน หรือสมเด็จเจ้าพะโคะ เมื่อสมัยหลายร้อยปีมาแล้วเป็นแน่ ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปที่วัดเพื่อสืบถามดู แต่ในระยะนั้น ข้าพเจ้ามีธุระกิจจำเป็นบางประการไม่สามารถจะไปได้ตามความตั้งใจ โอกาสต่อมา เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๗ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๓ ข้าพเจ้าจึงมีโอกาสออกจากบ้านมาถึงตลาดนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จึงได้แวะชวนนายชาติ สิมศิริ กำนัน นายกวี จิตตกูล นายวิศิษฐ์ คณานุรักษ์ พากันไปวัดช้างให้

เมื่อพวกเราได้ทำความเคารพท่านอาจารย์ทิม ธมฺมธโร เจ้าอาวาสวัดช้างให้แล้ว ก็ได้สนทนาปราศรัยต่อกัน วันนี้เป็นวันแรกที่ข้าพเจ้าได้มาเยี่ยมวัดช้างให้ และได้รู้จักท่านอาจารย์ฯ เจ้าอาวาสวัดช้างให้ ในการสนทนากันตอนหนึ่งข้าพเจ้าได้เรียนถามท่านอาจารย์ฯ ว่าโบสถ์ที่สร้างค้างอยู่นั้น ท่านไม่คิดจะสร้างพระเครื่องไว้แจกจ่ายแก่ผู้สละทรัพย์โมทนาสร้างโบสถ์บ้างหรือ ท่านอาจารย์ตอบว่า เคยคิดมา ๒ ปีแล้วแต่ไม่สำเร็จ ข้าพเจ้าจึงรับว่าถ้าเช่นนั้นข้าพเจ้าขอรับจัดสร้างขึ้นถวาย ท่านก็ยินดีที่ข้าพเจ้าจัดทำให้

ข้าพเจ้าได้เรียนขอให้ท่านอาจารย์ได้เลือกแบบพระ ท่านจะเอาปางไหนตามใจท่านชอบ แต่ข้าพเจ้าขอเพียงแต่เลือกสีของพระคือสีดินแดง ทันใดนั้นข้าพเจ้าก็เกิดรู้สึกขนพองสยองเกล้าขึ้นมา ทุกคนในที่นั้นได้เห็นเป็นประจักษ์ ข้าพเจ้าจึงพูดต่อไปว่า ปรากฎการณ์เช่นนี้ที่มีต่อตัวข้าพเจ้า ก็เห็นจะเป็นเพราะหลวงพ่อทวดฯ ท่านมีความปิติยินดีที่พวกเราคิดจะสร้างพระเครื่องครั้งนี้ แต่เอาเถอะขอให้ท่านอาจารย์เลือกแบบพระก็แล้วกัน ทันใดนั้นข้าพเจ้าก็เกิดขนพองสยองเกล้าอย่างแรงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และได้เห็นพระเครื่องลอยเด่นอยู่ตรงหน้า เป็นรูปพระภิกษุชรานั่งขัดสมาธิอยู่บนดอกบัวมีสีพระองค์ดำ ปรากฏการณ์อันมหัศจรรย์ครั้งนี้โดยหลวงพ่อทวดฯ บันดาลให้ข้าพเจ้าได้เห็นเป็นมโนภาพอย่างชัดเจนยิ่งนัก ข้าพเจ้าจึงดูนาฬิกาที่ข้อมือขณะนั้นเวลา ๑๓.๒๕ น. ข้าพเจ้าจึงได้เรียนให้ท่านอาจารย์ทราบว่า ตามนิมิตโดยอำนาจของหลวงพ่อทวดฯ ครั้งนี้ เนื่องจากท่านแนะนำให้สร้างพระเครื่องขึ้นแทนองค์ของท่านเอง จำเป็นที่เราจะต้องปฏิบัติตาม และขอให้ท่านอาจารย์เป็นสื่อการติดต่อกับวิญญาณของท่าน ในพิธีการที่จะสร้างพระเครื่องทุกๆ ระยะโดยใกล้ชิดด้วย

ข้าพเจ้าให้ช่างแกะสลักขี้ผึ้งเหลืองทำแบบพระเครื่องเสร็จแล้วเก็บไว้ ๓ คืน รุ่งเช้าแบบขี้ผึ้งแปรสภาพ คือในองค์พระซึ่งมีสบงจีวรคลุมอยู่ยังคงเป็นสีเหลืองตามเดิม แต่ผิวเนื้อที่อยู่นอกสบงจีวร เช่น ศอ ถึง พักตร ลำแขนถึงนิ้วมือ หน้าแข้งถึงปลายเท้า เกิดเป็นสีดำอย่างเอาหมึกทา ปรากฏการณ์อัศจรรย์นี้ ท่านพระครูฯ นั่งสมาธิถามท่านว่า ใครทำให้แบบแปรสภาพเช่นนี้ ท่านตอบว่าสมเด็จเจ้าพะโคะเอง แล้วท่านอาจารย์ฯ ถามถึงความฝันของผู้เขียนที่ว่าพบสมเด็จเจ้าฯ ทำพิธีสวมมงคลให้ ว่าใครเป็นผู้ทำให้ และทำให้เขาทำไม ท่านตอบว่าสมเด็จเจ้าฯ ทำให้เพราะเขาเป็นคนดี และชอบทางนี้ เราจะใช้เขาให้ช่วยทำงานใหญ่ (หมายถึงงานสร้างโบสถ์)

เมื่อมีข่าวว่าวัดช้างให้จะสร้างพระเครื่องขึ้น พี่น้องชาวพุทธในแถบนั้นต่างคนต่างสนใจเป็นจำนวนมาก ได้บุกป่าขึ้นเขาชักชวนกันไปหาว่านนานาชนิด มาถวายแก่ท่านอาจารย์เป็นจำนวนมากมาย ทางวัดก็ได้เตรียมการรอวันจะทำพิธีอยู่อย่างพร้อมเพรียงและได้ปฏิบัติตามหลวงพ่อทวดฯ แนะนำผ่านท่านอาจารย์ทุกประการ

นายฮวด ผู้ใหญ่บ้านเหมืองใน ตำบลลำพยา ได้มาหาข้าพเจ้าพร้อมด้วยนายชาติ สิมศิริ กำนันโดยบังเอิญ เมื่อเขาทราบว่าข้าพเจ้ากำลังหาดินดำเพื่อสร้างพระเครื่อง นายฮวดขอรับอาสาจะขุดและขนเอาดินว่านสีดำซึ่งมีอยู่ ณ เชิงเขาแห่งหนึ่งไปส่งให้ถึงวัด โดยไม่คิดค่ารถค่าแรงแต่ประการใด

ดินว่านนี้เป็นดินสีดำตามธรรมชาติ อยู่เป็นทางซึ่งจะเข้าใต้ภูเขา ชาวบ้านแถวนั้นเรียกกันว่า กากยายักษ์ หมายถึงกากยายักษ์ในเรื่องรามเกียรติ์ ชาวบ้านเอาดินดำนี้มาตากแห้ง หรือย่างไฟกินแก้โรคผอมเหลืองหรือโรคโลหิตจาง เขาว่าดีนักจึงเป็นที่หวงแหนของชาวบ้านแถวนั้น

เมื่อได้เตรียมการตามคำแนะนำของหลวงพ่อทวดฯ เรียบร้อยแล้ว ถึงวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ ตรงกับวันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลาเที่ยงตรง เป็นมงคลฤกษ์ในพิธี จึงปลุกเสกเบ้าพิมพ์ซึ่งมีอยู่ ๑๖ เบ้า เสร็จแล้วได้พิมพ์พระเครื่องเป็นต้นมา จนถึงวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๔๙๗ ได้พระเครื่องจำนวน ๖๔,๐๐๐ องค์ (จะพิมพ์ให้ได้ ๘๔,๐๐๐ องค์ แต่เวลาจำกัดในพิธีปลุกเสก) ก็ต้องหยุดลง เพื่อเอาเวลาเตรียมงานพิธีปลุกเสกพระเครื่อง ตามที่หลวงพ่อทวดฯ กำหนดให้ท่านพระครูปฏิบัติ

ถึงวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗ ตรงกับวันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลาเที่ยงตรง ได้ฤกษ์พิธีปลุกเสกพระเครื่อง ณ เดินดินบริเวณโบสถ์เก่า โดยมีท่านพระครูวิสัยโสภณ (อาจารย์ทิม ธมฺมธโร) เจ้าอาวาสเป็นองค์ประธานในพิธีและนั่งปรก ได้อาราธนาอัญเชิญพระวิญญาณหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด พร้อมด้วยวิญญาณหลวงพ่อสี หลวงพ่อทอง และหลวงพ่อจันทร์ ซึ่งหลวงพ่อทั้งสาม องค์นี้สิงสถิตย์อยู่ร่วมกับหลวงพ่อทวดฯ ในสถูปหน้าวัด ขอให้ท่านประสิทธิ์ประสาทความศักดิ์สิทธิ์ขลังแก่พระเครื่องฯ นอกจากนั้นก็มีหลวงพ่อสงโฆสโก เจ้าอาวาสวัดพะโคะเวลานี้ พระอุปัชฌาย์ดำ เจ้าอาวาสวัดศิลาลอย (ทั้ง ๒ วัดนี้ตั้งอยู่ในอำเภอจะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา) พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์อาวุโส ณ วัดช้างให้ ร่วมพิธีปลุกเสกพระเครื่องเสร็จลงในเวลา ๑๖.๐๐ น. ของวันนั้น ท่านพระครูฯ พร้อมด้วยพระภิกษุอาวุโสและคณะกรรมการ มีนายอนันต์ คณานุรักษ์ (ผู้เขียน) นายชาติ สิมสิริ นายกวี จิตกูล นายวิศิษฐ์ คณานุรักษ์ นายวิทยา คณานุรักษ์ นายสุนนท์ คณานุรักษ์ และนายจำรูญ คณานุรักษ์ ได้ร่วมกันทำการแจกจ่ายพระเครื่องหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ให้แก่ประชาชนผู้เลื่อมใส ซึ่งมาคอยรอรับอยู่อย่างคับคั่งจนถึงเวลาเที่ยงคืน ปรากฏว่าในวันนั้นกรรมการได้รับเงินจากผู้ใจบุญ โมทนาสมทบทุนสร้างโบสถ์เป็นจำนวน ๑๔,๐๐๐ บาท

หลังจากนั้นมา ด้วยอำนาจบุญบารมีอภินิหารหลวงพ่อทวดฯ ดลบันดาลให้พี่น้องหลายชาติหลายภาษาร่วมสามัคคีสละทรัพย์โมทนาสมทบทุนสร้างโบสถ์เรื่อยๆ มา งานก่อสร้างโบสถ์จึงมีกำลังดำเนินการต่อไปโดยมิได้หยุดยั้ง จนถึงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๔๙๙ ได้จัดทำพิธียกช่อฟ้า และวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๐๑ พิธีผูกพัทธสีมา โบสถ์หลังนี้จึงสำเร็จสมบูรณ์ และพระภิกษุสงฆ์ได้อาศัยทำสังฆกรรมถึงเวลานี้ รวมค่าก่อสร้างประมาณ ๘ แสนบาท ขอให้พี่น้องทุกคนจงรับเอาส่วนกุศลจงทั่วๆ กันเทอญ

ตามที่ข้าพเจ้าได้จัดการสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดครั้งนี้ เพราะข้าพเจ้าฝันว่า สมเด็จเจ้าพะโคะมาทำพิธีสวมมงคลให้ ข้าพเจ้าปรารถนาจะตอบแทนคุณสมเด็จฯ ท่าน แต่ไม่รู้ว่าท่านสถิตย์อยู่ที่ไหน จึงเรียนถามท่านเจ้าคุณเทพญาณโมลี วัดตานีนรสโมสร ท่านเจ้าคุณกรุณาบอกว่าท่านไม่โล่ไปไหนตามข่าวลือ อัฐิของสมเด็จท่านอยู่ในเขื่อนหรือสถูปหน้าวัดช้างให้ ข้าพเจ้าจึงสร้างพระเครื่องเป็นรูปพระภิกษุชราต่างองค์สมเด็จท่านและตามนิมิต ณ วัดช้างให้ ซึ่งปรากฏทราบกันมาดีแล้ว ข้าพเจ้าปรารภกับ ท่านพระครูวิสัยโสภณว่า พระเครื่องนี้จะให้ชื่อว่า พ่อท่านทวดตามความนิยมเรียกของคนถิ่นนั้น แต่ท่านพระครูฯ นั่งสมาธิถามท่าน ท่านว่าไม่เอา ถามต่อไปว่าจะให้ชื่อว่าสมเด็จเจ้าพะโคะหรือ ท่านว่าชื่อนี้ให้เขาเรียกกันทางโน้น (หมายถึงภูมิลำเนาเดิม หรือวัดพะโคะ) ถ้ากระนั้นจะชื่ออย่างไร? วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของท่านบอกว่า ให้ชื่อ “หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” จึงให้ชื่อพระเครื่องแต่วันนั้นมา

อาจารย์ทิม ธัมมธโร ลงนามอนุญาตให้ นายอนันต์ คณานุรักษ์ เป็นผู้จัดสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวดรุ่นแรก
คนยืนด้านขวามือสุดของภาพ ด้านหลังของนายอนันต์ คือ นายสุนนท์ คณานุรักษ์ (บุตรชายคนที่สองของนายอนันต์)

พิมพ์ขี้ผึ้งต้นแบบพระเครื่องหลวงพ่อทวด
ซึ่งนายอนันต์ คณานุรักษ์ ให้นายวิทยา คณานุรักษ์ เป็นผู้แกะสลัก

By: นายอนันต์ คณานุรักษ์ – หนังสือประวัติหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด และคุณอภินิหารพระเครื่องหลวงพ่อทวดฯ วัดช้างให้ (พ.ศ. ๒๕๐๔)

http://www.kananurak.com/mcontents/marticle.php?headtitle=mcontents&id=73885

. . . . . . .