ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)

ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)

สมเด็จพระพุฒาจารย์
(โต พฺรหฺมรํสี)
สมเด็จโต, หลวงปู่โต, สมเด็จวัดระฆั

เกิด 17 เมษายน พ.ศ. 2331
บรรพชา พ.ศ. 2343
อุปสมบท พ.ศ. 2351
มรณภาพ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415
พรรษา 64
อายุ 84
วัด วัดระฆังโฆสิตาราม
จังหวัด ธนบุรี
สังกัด มหานิกาย
ตำแหน่งทางคณะสงฆ์ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม

ประวัติ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) (นามเดิม: โต) หรือนามที่นิยมเรียก “สมเด็จโต” “หลวงปู่โต” หรือ “สมเด็จวัดระฆัง” เป็นพระสงฆ์มหานิกาย เป็นพระมหาเถระรูปสำคัญที่ได้รับความนิยมนับถืออย่างมากในประเทศไทย ท่านเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารในสมัยรัชกาลที่ 4-5

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) นับเป็นพระเกจิเถราจารย์ผู้มีปฏิปทาจริยาวัตรน่าเลื่อมใส เป็นที่เคารพนับถือทั่วไปมาตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ตั้งแต่พระมหากษัตริย์จนถึงสามัญชนและนอกจากจริยาวัตรด้านความสมถะอันโดดเด่นของท่านแล้ว ท่านยังทรงคุณทางด้านวิชชาคาถาอาคม เมตตามหานิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุมงคล “พระสมเด็จ” ที่ท่านได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา ได้ถูกจัดเข้าในพระเครื่องเบญจภาคี หรือสุดยอดของพระเครื่องวัตถุมงคล 1 ใน 5 ของประเทศไทยและมีราคาซื้อขายในปัจจุบันต่อองค์เป็นราคานับล้านบาท ด้วยปฏิปทาจริยาวัตรและคุณวิเศษอัศจรรย์ของท่าน ทำให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยเคารพนับถือว่าท่านเป็นอมตะเถราจารย์รูปหนึ่งของเมืองไทย และมีผู้นับถือจำนวนมากในปัจจุบัน

สมเด็จพระพุฒาจารย์ เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 (หลังสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้แล้ว 7 ปี ณ บ้านไก่จ้น (ท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก จุลศักราช 1150 เวลาพระบิณฑบาต (ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331) ที่บ้านท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

มารดาบิดาของท่านเป็นใครไม่ทราบแน่ชัด มีผู้กล่าวประวัติของท่านในส่วนนี้แตกต่างกันไปหลายสำนวน เช่น ฉบับของพระยาทิพโกษา กล่าวว่า มารดาของท่านชื่อนางงุด บุตรของนายผลกับนางลา ชาวนาเมืองกำแพงเพชร1 หรือฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล (เฮง อิฏฐาจาโร) กล่าวว่า มารดาของท่านชื่อเกตุ คนท่าอิฐ อำเภอบางโพ อย่างไรก็ดีมารดาของท่านนั้นเป็นชาวเมืองเหนือ (คำเรียกในสมัยอยุธยา) 2 เพราะทุกแหล่งอ้างอิงกล่าวตรงกันว่ามารดาของท่านเป็นชาวเมืองเหนือแต่ได้ลงมาทำมาหากินแถบภาคกลางในช่วงหลัง3

สำหรับบิดาของท่านนั้น สำนวนของพระยาทิพโกษา กล่าวว่าท่านเป็นโอรสนอกเศวตฉัตรของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งทรงพระยศเป็น เจ้าพระยาจักรี ส่วนฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล และฉบับของตรียัมปวายกล่าวว่าท่านเป็นพระโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และแม้ในสำนวนของตรียัมปวายจะมีข้อสันนิษฐานเพื่อยืนยันหลายข้อ แต่อย่างไรก็ตาม ประวัติทั้งสองสำนวนกล่าวตรงกันเพียงว่า ข้อสันนิษฐานว่าด้วยบิดาของท่านนั้นเป็นเพียงเรื่องเล่าซึ่งชาวบ้านในสมัยนั้นกล่าวและเชื่อกันโดยทั่วไป

บรรพชาและอุปสมบท

เมื่อถึงวัยพอสมควรแล้ว ได้บรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา เมื่อ พ.ศ. 2343 ต่อมาปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงโปรดและเมตตาสามเณรโตเป็นอย่างยิ่ง ครั้นอายุครบอุปสมบทปี พ.ศ. 2350 จีงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปสมบทเป็นนาคหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีฉายานามในพุทธศาสนาว่า “พฺรหฺมรํสี” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระภิกษุโตรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์

จริยาวัตร

ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสถาปนาสมณศักดิ์เพื่อยกย่องในกิตติคุณและเกียรติคุณของพระภิกษุโต แต่พระภิกษุโตไม่ยอมรับ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าท่านมีอุปนิสัยไม่ปรารถนายศศักดิ์หรือลาภสักการะใดๆ ทั้งสิ้น อนึ่ง แม้พระภิกษุโตได้ศึกษาพระธรรมวินัยแตกฉาน แต่ด้วยอุปนิสัยดังกล่าวข้างต้น ท่านจึงไม่ยอมเข้าแปลหนังสือเพื่อเป็นพระภิกษุชั้นเปรียญเช่นกัน

ต่อมากล่าวกันว่า พระภิกษุโตได้ออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ และได้สร้างปูชนียสถานในที่ต่างๆ กัน เช่น สร้างพระพุทธไสยาศน์ไว้ที่วัดสตือ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างพระพุทธรูปหลวงพ่อโต วัดไชโย จังหวัดอ่างทอง เป็นต้น ซึ่งปูชนียสถานทุกแห่งที่ท่านสร้างจะมีขนาดใหญ่โตสมกับชื่อของพระภิกษุโตอยู่เสมอ การจะสร้างปูชนียสถานขนาดใหญ่เช่นนี้ล้วนแต่ต้องใช้ทุนทรัพย์และแรงงานจำนวนมากในการก่อสร้างจึงจะทำได้สำเร็จ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความศรัทธาและบารมีของพระภิกษุโต ซึ่งเป็นที่เคารพเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนในย่านที่ท่านได้ธุดงค์ผ่านไปอย่างชัดเจน

สมณศักดิ์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงโปรดปรานพระภิกษุโตเป็นอย่างยิ่ง ในปี พ.ศ. 2395 พระองค์จึงได้พระราชทานสมณศักดิ์ถวายพระภิกษุโตเป็นครั้งแรก โดยมีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ราชทินนาม “พระธรรมกิติ” และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ขณะนั้นท่านอายุ 65 ปี โดยปกติแล้วพระภิกษุโตมักพยายามหลีกเลี่ยงการรับพระราชทานสมณศักดิ์ แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้ท่านต้องยอมรับพระราชทานสมณศักดิ์ในที่สุด อีก 2 ปีต่อมา (พ.ศ. 2397) ท่านจึงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ ในราชทินนาม “พระเทพกวี” หลังจากนั้นอีก 10 ปี (พ.ศ. 2407) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ในราชทินนาม “สมเด็จพระพุฒาจารย์” มีนามจารึกตามสุพรรณบัฏว่า

“สมเด็จพระพุฒาจารย์ เอนกปรีชา วิสุทธศีลจรรยาสมบัติ นิพัทธุตคุณ สิริสุนทร พรตจาริก อรัญญิกคนฤศร สมณนิกรมหาปริณายก ตรีปิฎกโกศล วิมลศีลขันธ์ ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวงฯ”

สมณศักดิ์ดังกล่าวนี้นับเป็นสมณศักดิ์ชั้นสูงสุดและเป็นชั้นสุดท้ายที่ท่านได้รับตราบจนกระทั่งถึงวันมรณภาพ คนทั่วไปนิยมเรียกท่านว่า “สมเด็จโต” หรือ “สมเด็จวัดระฆัง” ส่วนคนในยุคร่วมสมัยกับท่านเรียกท่านว่า “ขรัวโต”

ปัจฉิมวัย

ราวปี พ.ศ. 2410 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้มาเป็นประธานก่อสร้างปูชนียวัตถุครั้งสุดท้ายที่สำคัญของท่าน คือ พระพุทธรูปหลวงพ่อโต (พระศรีอริยเมตไตรย) ที่วัดอินทรวิหาร (ในสมัยนั้นเรียกว่า วัดบางขุนพรหมใน) ทว่าการก่อสร้างก็ยังไม่ทันสำเร็จ โดยขณะนั้นก่อองค์พระได้ถึงเพียงระดับพระนาภี (สะดือ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ได้มรณภาพบนศาลาเก่าวัดบางขุนพรหมใน ณ วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริรวมอายุได้ 84 ปี อยู่ในสมณเพศ 64 พรรษา เป็นเจ้าอาวาสครองวัดระฆังโฆสิตารามได้ 20 ปี

คำสอน

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เป็นพระเกจิเถราจารย์ที่เป็นที่เคารพนับถือนอกจากด้านคาถาอาคมแล้ว ท่านยังได้ดำรงตนเป็นผู้สมถะ มักน้อยสันโดษ ไม่ปรารถนาลาภยศ การแสดงออกของท่านตามบันทึกหลักฐานในสมัยหลัง มักบันทึกถึงความเป็นพระเถระผู้มีเมตตา ดำรงศีลาจารวัตรเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม เอกสารที่บันทึกประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ไว้เป็นหมวดหมู่ชั้นเก่าสุด คือเอกสารฉบับของมหาอำมาตย์ตรีพระยาทิพยโกษา (สอน โลหนันท์) ซึ่งเป็นฉบับที่รวบรวมโดย ม.ล.พระมหาสว่าง เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ที่รวบรวมขึ้นในปี พ.ศ. 2473 ไม่ได้บันทึกคำสอนของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ไว้เป็นหมวดหมู่ เพียงแต่กล่าวถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในช่วงชีวิตของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ต่างกรรมต่างวาระกัน ตามที่ผู้รวบรวมได้บันทึกมาจากปากคำผู้มีชีวิตร่วมสมัยกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เท่านั้น

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันได้ปรากฏมีคำสอนต่าง ๆ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นคำสอนของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ที่เป็นที่นิยมนับถือกันทั่วไป โดยไม่มีการอ้างอิงที่มาที่แน่ชัด เช่น

“บุญเราไม่เคยสร้าง…ใครที่ไหนจะมาช่วยเจ้า …”

“ลูกเอ๋ย ก่อนที่จะเข้าไปขอบารมีหลวงพ่อองค์ใด เจ้าจะต้องมีทุนของตัวเอง คือบารมีของตนลงทุนไปก่อน เมื่อบารมีของเจ้าไม่พอจึงค่อยขอยืมบารมีคนอื่นมาช่วย มิฉะนั้นเจ้าจะเอาตัวไม่รอด เพราะหนี้สินในบุญบารมีที่ไปเที่ยวขอยืมมาจนพ้นตัว…เมื่อทำบุญทำกุศลได้บารมีมา ก็ต้องเอาไปผ่อนใช้หนี้เขาจนหมดไม่มีอะไรเหลือติดตัว…แล้วเจ้าจะมีอะไรไว้ในภพหน้า…หมั่นสร้างบารมีไว้…แล้วฟ้าดินจะช่วยเอง…จงจำไว้นะ… เมื่อยังไม่ถึงเวลาเทพเจ้าองค์ใดจะคิดช่วยเจ้าไม่ได้… ครั้นเมื่อถึงเวลา… ทั่วฟ้าจบดินก็ต้านเจ้าไม่อยู่…จงอย่าไปเร่งเทวดาฟ้าดิน เมื่อบุญเราไม่เคยสร้างไว้เลยจะมีใครที่ไหนมาช่วยเจ้า”

รูปเหมือนของสมเด็จโต

เนื่องจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เป็นพระมหาเกจิเถราจารย์ผู้เป็นที่เคารพนับถือยิ่งนับแต่เมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ จนถึงปัจจุบันผู้ศรัทธาในสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ได้ทำการสร้างรูปเหมือน รูปเคารพจำลองของท่านไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ มากมาย โดยเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “รูปหล่อสมเด็จ” ตามหลักฐานฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล (เฮง อิฏฐาจาโร) ระบุว่ารูปจำลองรูปแรกของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) คือรูปหล่อที่ประดิษฐานที่วัดเกศไชโยวรวิหาร ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปั้นหุ่นลงรักปิดทองโดยหลวงวิจิตรนฤมล (พึ่ง ปฏิมาประกร) หน้าตัก 40.2 เซนติเมตร หล่อขึ้นที่วัดระฆังโฆสิตาราม แต่ได้หล่อเมื่อปีใดไม่ปรากฏ แต่สันนิษฐานว่าสร้างก่อนปี พ.ศ. 2444 ดังความในสำเนาพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 คราวเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ พุทธศักราช 2444 ดังนี้

เมืองสิงหบุรี
วันที่ ๔ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๐
ถึงกรมหลวงเทวะวงษวโรปการ

“……เวลาเช้า ๒ โมงออกจากพลับพลาเมืองอ่างทอง มาจนเวลา ๕ โมงเช้าถึงวัดไชโย ได้แวะขึ้นที่วัด…ในมุขหลังพระอุโบสถรูปสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต มีเค้าจำได้ แต่หนุ่มไปกว่าเมื่อเวลาถึงมรณภาพสักหน่อยหนึ่ง…”
— พระราชหัตถเลขา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
คราวเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ พุทธศักราช ๒๔๔๔

อย่างไรก็ดี รูปเคารพท่านที่เป็นที่แพร่หลายคือรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ที่สร้างขึ้นและประดิษฐานอยู่ที่วัดระฆังโฆสิตาราม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นไม่นานหลังจากได้สร้างรูปเคารพรูปแรกขึ้นและนำไปประดิษฐานที่วัดไชโยวรวิหาร ก่อนปี พ.ศ. 2444 มีขนาดหน้าตัก 48 เซนติเมตร ลักษณะนั่งสมาธิ โดยเคยมีงานแห่สมโภชรูปหล่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ ในวัน แรม 3 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี แต่ปัจจุบันได้เลิกจัดไปแล้ว ปัจจุบันรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ของวัดระฆังโฆสิตาราม ยังคงประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหน้าพระอุโบสถของวัด มีผู้คนเคารพนับถือมากราบไหว้สักการะมากในปัจจุบัน

ในช่วงหลัง มีผู้นำรูปถ่ายเมื่อครั้งมีชีวิตของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ในท่านับลูกประคำ ไปจัดสร้างเป็นรูปหล่อและรูปเหมือนเพื่อสักการะบูชา จนเป็นที่แพร่หลาย และเป็นเอกลักษณ์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) จนถึงปัจจุบัน ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่โตมากมาย เพื่อให้สมชื่อโต ของสมเด็จท่าน โดยรูปเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ขนาดใหญ่ เช่นที่ วิหารสมเด็จโต มูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา สมเด็จโตองค์ใหญ่ปางเทศนาธรรม วัดโบสถ์ จังหวัดปทุมธานี สมเด็จโตองค์ใหญ่ วัดตาลเจ็ดยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และที่วัดสามัคคีบรรพต จังหวัดชลบุรี เป็นต้น

หนังชีวประวัติสมเด็จโตฯ

พระคาถาชินบัญชร

พระคาถาชินบัญชร (อ่านว่า ชินะ- ชินนะบันชอน) เป็นหนึ่งในบทสวดมนต์ที่พุทธศาสนิกชน ชาวไทยนิยมสวดมากที่สุด สันนิษฐานว่าพระเถระชาวล้านนาเป็นผู้แต่งขึ้น และเป็นพระคาถาสำคัญในพิธีกรรมตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏหลักฐานในพระราชพิธีจักรพรรดิราชาธิราช ต่อมาได้ปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ขึ้นโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี วัดระฆังโฆสิตาราม สมเด็จพระพุฒาจารย์องค์ที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (สมัยรัชกาลที่ 4) บทสวดชินบัญชรนี้ยังพบในประเทศพม่าและศรีลังกาอีกด้วย

การหัดสวดคาถาชินบัญชรควรจะเริ่มสวดในวันพฤหัสบดีข้างขึ้น(ยิ่งขึ้นมากยิ่งดี) ให้เตรียมดอกไม้ 3 สี หรือดอกบัว 9 ดอก และดอกมะลิร่วง(เด็ดก้านดอก) 1 กำ ธูปหอมอย่างดี 9 ดอก เทียน(เล่มหนัก1บาท ถ้าไม่มีใช้2บาท แต่ควรใช้1บาทเพื่อเป็นสิริมงคล) จำนวน 9 เล่ม จากนั้นให้จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยโดยการตั้งนะโม 3 จบ ต่อด้วยบทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ จากนั้นตั้งจิตนึกถึงสมเด็จโต

ความหมายตามตัวอักษร

ชินบัญชร แปลว่า กรง ซี่กรงของพระชินเจ้า

ชินบัญชร มาจากคำว่า ชิน ซึ่งแปลว่า ผู้ชนะ อันหมายถึงพระชินเจ้าหรือพระพุทธเจ้า และคำว่า บัญชร ซึ่งแปลว่า กรง ลูกกรง ซี่กรง รวมกันเป็นชินบัญชร ซึ่งเป็นประดุจแผงเหล็กหรือเกราะเพชรที่แข็งแรง สามารถปกป้องคุ้มกันอุบัติภัย อันตรายและศัตรูหมู่มารทั้งปวงได้

ชินบัญชร ปัจจุบันใช้เรียกพระคาถาภาษามคธชุดหนึ่ง นัยว่าเป็นนิพนธ์ของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม เรียกว่า พระคาถาชินบัญชร ซึ่งเชื่อกันว่าสามารถป้องกันสรรพอันตรายทั้งหลายได้เหมือนเกราะเพชรและให้โชคให้ลาภตามที่ปรารถนาได้ พระวาจาตรัสเรื่องคาถาชินบัญชร

คาถาชินบัญชร เป็นที่นับถือสวดกันอย่างแพร่หลาย กล่าวกันว่าเป็นของเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรํสี) วัดระฆังโฆสิตาราม นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ เคยได้นำมาขอให้แปล เพื่อพิมพ์ในหนังสือประวัติของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ครั้งหนึ่ง เมื่อนานปีมาแล้ว แต่ก็ยังสงสัยในถ้อยคำและประโยคหลายแห่ง เพราะไม่อาจจับความได้ ทั้งเมื่อได้พบจากหลายสำนักเข้า ก็ได้พบคำที่ผิดเพี้ยนบ้างเกือบทุกฉบับ ไม่อาจตัดสินได้ว่าที่ถูกต้องเป็นอย่างได้ ได้เคยนึกสงสัยมานานแล้วว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้เรียบเรียงขึ้นเองหรือได้ต้นฉบับมาจากไหน

เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีผู้นำหนังสือมาให้เล่มหนึ่ง เป็นหนังสือขนาดเล็ก พิมพ์ในประเทศศรีลังกา ชื่อหนังสือ The Mirror of The Dhamma (กระจกธรรม)โดยท่านนารทมหาเถระ และท่านกัสสปเถระ ฉบับที่ได้มานี้พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ (ของศรีลังกา ตรงกับ พ.ศ. ๒๕๐๓ ของไทย) ค.ศ.๑๙๖๑ เป็นแบบหนังสือคู่มือธรรมที่จะใช่สวดและปฏิบัติเป็นประจำได้ เริ่มแต่ นโมพุทฺธ ศีล๕ ศีล๘ ศีล๑๐ คำสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย คำบูชา คำสมาธิภาวนาต่าง ๆ บทสวดมี พาหุง ชินบัญชร มงคลสูตร รัตนสูตร เป็นต้น ตัวบาลีพิมพ์ด้วยอักษรสีหฬและอักษรโรมัน มีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อได้อ่านชินบัญชรในหนังสือเล่มนี้แล้ว ก็ได้พบคำและประโยคที่เคยสงสัยในฉบับที่สวดกันในเมืองไทย ซึงจับความได้ หายความข้องใจ จึงได้คิดว่าจะคัดฉบับลังกามาพิมพ์เพื่อผู้ที่ต้องการทราบจะได้อ่านพิจารณา และคิดจะปรับปรุงฉบับที่สวดกันในเมืองไทย อนุวัตรฉบับลังกา เฉพาะที่เห็นว่าสมควรจะปรับปรุงด้วย

ทั้งสองฉบับนี้ เมื่อเทียบกันแล้ว ก็รู้สึกว่าต้นฉบับเดิมนั้นเป็นอันเดียวกันแน่ ฉบับลังกานั้นมี ๒๒ บท ส่วนฉบับที่สวดกันในเมืองไทย มี ๑๔ บท ก็คือ ๑๔ บทข้างต้นของฉบับลังกานั่นเอง เพราะความเดียวกัน ถ้อยคำก็เป็นอันเดียวกันโดยมาก ส่วนคำอธิษฐานท้ายบทที่ ๑๔ ของฉบับที่สวดกันในเมืองไทย ย่อตัดมาอย่างรวบรัดดีมาก คาถาบทที่ ๙ ของฉบับไทย บรรทัดที่ ๒ น่าจะเกินไป แต่จะคงไว้ก็ได้ ส่วนคาถาบทที่ ๑๒ และ ๑๓ สับบรรทัดกัน เมื่อแก้ใหม่ตามฉบับที่ปรับปรุงแล้วนี้ จะถูกลำดับดี

ในการพิมพ์ครั้งนี้ เรียงชินบัญชรฉบับที่สวดกันในเมืองไทย ปรับปรุงขึ้นใหม่ อนุวัตรแบบลังกา เฉพาะที่เห็นว่าสมควร และมีคำแปลเป็นภาษาไทย ที่แปลขึ้นใหม่ในคราวนี้เช่นเดียวกัน ในการแปลครั้งนี้ ไม่ได้เทียบกับคำแปลเก่าที่เคยแปลไว้เพราะไม่พบฉบับที่แปลไว้ บทสวด พาหุง และชินบัญชร เป็นที่นิยมสวดกันในเมืองไทยมาช้านาน แต่บทสวดพาหุง มีถ้อยคำที่ยุติแน่นอน ส่วนบทสวดชินบัญชร แต่ละฉบับ แต่ละสำนัก ยังผิดแผกกันอยู่ ถ้าอาจทำให้ยุติเป็นแบบเดียวกันได้ ก็จะเป็นการดี

สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร ตุลาคม ๒๕๑๘ บทสวดพร้อมคำแปล

ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วระลึกถึงเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรํสี)และตั้งคำอธิษฐานว่า

ปุตฺตกาโม ลเภ ปุตฺตํ ธนกาโม ลเภ ธนํ อตฺถิกาเย กาย ญาย เทวานํ ปิยตํ สุตวา (ภายหลังได้มีผู้นำบทบูชาท้าวเวสสุวรรณมาต่อเติม ซึ่งแต่เดิมมิได้มีอยู่ในบทของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี))

“อิติปิโส ภควา ยมราชาโน ท้าวเวสสุวณฺโณ มรณํ สุขํ อรหฺ สุคโต นโมพุทฺธาย”

บทสวด
คำแปล
๑.ชยาสนาคตา พุทฺธา เชตวามารํสวาหนึ
จตุสจฺจาสภํรสํ เย ปิวึสุ นราสภา พุทธะทั้งหลายทรงชนะมารพร้อมทั้งเสนา พาหนะ
เสด็จสู่พระที่นั้งแห่งชัยชนะแล้ว พระพุทธะใดเล่า ทรงเป็นผู้ประเสริฐแห่งนรชน ทรงดื่มอมตรสแห่งสัจจะทั้งสี่แล้ว
๒.ตณฺหํกราทโยพุทฺธา อฏฺฐวีสติ นายกา
สพฺเพปติฏฺฐิตามยฺหํ มตฺถเก เต มุนิสฺสรา พระพุทธะทั้งหลาย ๒๘ พระองค์
มีพระตัณหังกรเป็นต้น ทรงเป็นพระนายกผู้นำโลก พระมุเนศวรจอมมุนี ทุกพระองค์นั้น ทรงสถิตประทับบนกระหม่อมแห่งข้าพเจ้า
๓.สีเส ปติฏฺฐิโต มฺยหํ พุทฺโธ ธมฺโม ทวิโลจเน
สงฺโฆ ปติฏฺฐิโตมยฺหํ อุเร สพฺพคุณากโร พระพุทธะทั้งหลาย
ทรงสถิตประทับบนศีรษะ พระธรรม สถิตประทับที่ดวงตาของข้าพเจ้า พระสงฆ์ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งคุณทั้งปวง สถิตประทับที่อุระของข้าพเจ้า
๔.หทเย เม อนุรุทฺโธ สารีปุตฺโต จ ทกฺขิเณ
โกณฺฑญฺโญ ปิฏฐิภาคสฺมึ โมคฺคลฺลาโน จ วามเก พระอนุรุทธประทับที่หทัย
พระสารีบุตรประทับที่เบื้องขวา พระโกณฑัญญะประทับที่เบื้องหลัง พระโมคคัลลานะประทับที่เบื้องซ้าย
๕.ทกฺขิเณ สวเน มยฺหํ อาสุํ อานนฺทราหุลา
กสฺสโป จ มหานาโม อุภาสุํ วามโสตะเก
(หรือ ทกฺขิเณ สวเน มยฺหํ อาสุํ อานนฺทราหุโล ในบางฉบับ
เนื่องจาก อาสุํ เป็นพหุพจน์ ดังนั้นคำว่า อานนฺทราหุลา จึงต้องเป็นพหุพจน์ด้วย จึงจะไม่ผิดไวยากณ์ ) พระอานนท์และพระราหุล
ประทับที่หูเบื้องขวาของข้าพเจ้า ประกัสสปะและพระมหานามะ ทั้งสองประทับที่หูเบื้องซ้าย
๖.เกสนฺเต ปิฏฺฐิภาคสฺมึ สุริโยว ปภํกโร
นิสินฺโน สิริสมฺปนฺโน โสภิโต มุนิปุํคโว พระโสภิตผูเป็นมุนีที่แกล้วกล้า
ถึงพร้อมด้วยสิริ เหมือนอย่างดวงอาทิตย์ส่องแสงสว่าง ประทับที่สุดผมส่วนเบื้องหลัง
๗.กุมารกสฺสโป เถโร มเหสีจิตฺตวาทโก
โส มยฺหํ วทเนนิจฺจํ ปติฏฺฐาสิคุณากโร พระเถระผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ผู้มีวาทะอันวิจิตร ชื่อกุมารกัสสป ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งคุณนั้น ประทับที่ปากของข้าพเจ้าเป็นนิตย์
๘.ปุณฺโณ องฺคุลิมาโล จ อุปาลี นนฺทสีวลี
เถรา ปญฺจ อิเม ชาตา นลาเฏ ติลกา มม พระเถระห้าพระองค์เหล่านี้
คือ พระปุณณะ พระองคุลิมาล พระอุบาลี พระนันทะ พระสีวลี เกิดเหมือนอย่างดิลก (รอยเจิม) ที่หน้าผากของข้าพเจ้า
๙.เสสาสีติ มหาเถรา วิชิตา ชินสาวกา
♦ เอตาสีติ มหาเถรา ชิตวนฺโต ชิโนรสา ชลนฺตา สีลเตเชน องฺคมํเคสุ สณฺฐิตา พระมหาเถระทั้งหลาย ๘๐ ที่เหลือจากนี้
ผู้ชนะ ผู้เป็นสาวกของพระสาวกของพระพุทธะผู้ทรงชนะ ๑ รุ่งเรืองอยู่ด้วยเดชแห่งศีล สถิตอยู่ที่องคาพยพทั้งหลาย
๑๐.รตนํ ปุรโต อาสิ ทกฺขิเณ เมตฺตสุตฺตกํ
ธชคฺคํ ปจฺฉโต อาสิ วาเม องฺคุลิมาลกํ พระรตนสูตรประจุอยู่เบื้องหน้า
พระเมตตสูตรประจุอยู่เบื้องขวา พระธชัคคสูตรประจุอยู่เบื้องหลัง พระอังคุลิมาลสูตรประจุอยู่เบื้องซ้าย
๑๑.ขนฺธโมรปริตตญฺจ อาฏานาฏิยสุตฺตกํ
อากาเสฉทนํ อาสิ เสสา ปาการสณฺฐิตา
พระขันธปริตร พระโมรปริตร
และพระอาฏานาฏิยสูตร เป็นเหมือนอย่างฟ้าครอบ พระสูตรปริตรทั้งหลายที่เหลือ กำหนดหมายเป็นปราการ
๑๒.ชินาณาวรสํยุตฺตา สัตฺต ปาการลํกตา
วาตปิตฺตาทิสญฺชาตา พาหิรชฺฌตฺตุปทฺทวา
(หรือ ชินานานาวรสํยุตฺตา สัตฺต ปาการลํกตา ในบางฉบับ
เนื่องจาก ชินาณา เกิดจาก ชิน + อาณา โดย อาณา แปลว่า “อำนาจ” และหากพิมพ์เป็น ชินานานา จะไม่สามารถแปลความหมายได้) เมื่อข้าพเจ้าอาศัยอยู่ด้วยกิจทั้ง ๔ อย่าง
ในบัญชรแห่งพระสัมพุทธะ ประกอบด้วยลานเขต แห่งอาณาอำนาจ แห่งพระพุทธะผู้ทรงชนะ ประดับด้วยปราการคือพระธรรมทุกเมื่อ
๑๓.อเสสา วินยํ ยนฺตุ อนนฺตชินเตชสา
วสโต เม สกิจฺเจน สทา สัมฺพุทฺธปัญฺชเร ขออุปัทวะ (เครื่องขัดข้อง)
ทั้งภายนอก ทั้งภายใน ทั้งหลาย ที่เกิดจากลมและน้ำดีเป็นต้น จงถึงความสิ้นไป ไม่มีเหลือ ด้วยเดชแห่งพระชินะผู้ไม่มีที่สุด
๑๔. ♦♦ ชินปญฺชรมชฺฌมฺหิ วิหรนฺตํ มหีตเล
สทา ปาเลนฺตุมํสพฺเพ เต มหาปุริสาสภา
ขอพระมหาบุรุษ ผู้เลิศกล้าทั้งหลายทั้งปวงนั้น
โปรดอภิบาลแก่ข้าพเจ้า ผู้สถิตในท่ามกลางแห่งพระชินบัญชร อยู่บนพื้นแผ่นดิน
๑๕. อิจฺเจวมนฺโต สุคุตฺโต สุรกฺโข
ชินานุภาเวน ชิตุปทฺทโว
ธมฺมานุภาเวน ชิตาริสํโค
สงฺฆานุภาเวน ชิตนฺตราโย
สทฺธมฺมานุภาวปาลิโต จรามิ ชินปญฺชเรติ ข้าพเจ้ามีความรักษาดี โดยทำให้ครบถ้วนทุกทางอย่างนี้
ด้วยประการฉะนี้ ขอจงชนะอุปัทวะ ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธะผู้ทรงชนะ
ชนะข้าศึกขัดข้อง ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรม
ชนะอันตรายทั้งปวงด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์
อันอานุภาพแห่งพระสัทธรรมอภิบาล ประพฤติอยู่ในชินบัญชรเทอญ ฯ

♦ หมายเหตุ นอกจากนี้ฉบับภาษาไทยบางฉบับ มีอีก ๑ บรรทัดว่า

เอตาสีติ มหาเถรา ชิตวนฺโต ชิโนรสา (หรือ เอเตสีติ มหาเถรา ชิตวนฺโต ชิโนรสา ในบางฉบับ เนื่องจาก เอตาสีติ มาจาก เอเต + อสีติ ซึ่งเป็นโลปสระสนธิ จึงต้องตัด เ- ที่ เต ออก เป็น เอต (เอ-ตะ) แล้วเชื่อมกับ อสีติ เมื่อรัสสะสระ ๒ ตัวรวมกัน ต้องทีฆะ (ทำให้มีเสียงยาว) จึงเป็น เอตาสีติ) แปลว่า พระมหาเถระทั้ง ๘๐ เหล่านั้น ผู้มีความชนะ เป็นโอรสของพระพุทธชิน

♦♦ บาลีออกเสียงว่า มะ-ฮี-ตะ-เล

♦♦♦ บางส่วน ถูกแก้ไขตามไวยากรณ์ ตามฉบับซึ่งตรวจโดยพระเทพวิสุทธิเมธี (เที่ยง อคฺคธมฺโม ป.ธ.๙) เจ้าคณะภาค ๑๑ วัดระฆังโฆสิตาราม (๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๑)

พระคาถาชินบัญชร ฉบับไทย

๑. ฉบับ กาพย์ยานี

ข้าฯ ขอเชิญเสด็จ พระสรรเพชญ พุทธองค์
นราสภาทรง พิชิตมาร และเสนา
ยี่สิบแปดพระองค์ นายกสงฆ์ทรงสมญา
ตัณหังกรเป็นต้นมา ทรงดื่มแล้ว ซึ่งรสธรรม
จตุสัจอันประเสริฐ ทรงคุณเลิศ ดิลกล้ำ
ยอดบุญ พระคุณนำ ยิ่งเทพไท ไตรวิชชา
โปรดรับ ประทับทรง ณ ที่ตรง กระหม่อมข้า-
พระพุทธเจ้าสา- ธุประฌม บังคมเชิญ
ขอให้พระพุทธะ สักกยะ พระจำเริญ
ประทับบนเศียรเทอญ ปราชญ์สรรเสริฐพระบารมี
ขอให้พระธรรมะ อริยะวิสุทธิ์ศรี
ประทับจักขุอืนทรีย์ ให้ข้ามีปัญญาญาณ
ขอให้พระสังฆะ วิสุทธะคุณาจารย์
สถิตประดิษฐาน อุระข้า อย่ารู้ไกล
ให้พระอนุรุทธิ์ บริสุทธิ์ อยู่หทัย
พระสารีบุตรไพ- โรจนัย ณ เบื้องขวา
เบื้องหลังพระโกณทัญ- ญะสถิต จิตตสา
เบื้องซ้ายพระโมคคัลลา- นะสถิต สถาพร
หูขวา พระอานนท์ ประชุมชน ประณมกร
พระราหุล อุดมพร สถิตร่วม จรัญญา
หูซ้ายพระกัสสป นิราศภพ กิตติมา
คู่กับพระมหา- นามสถิตย์ ประดิษฐาน
พระพุทธะโสภิต ผู้เรืองฤทธิ์ อุดมญาณ
จอมมุนี วีระหาญ ไตรวิชชา ประภากร
ดุจดวง พระอาทิตย์ แรงร้อยฤทธิ์ พันแสงศร
สถิตเกศ อุดมกร ปัญฉิมภาค พิบูลพรรณ
พระกุมาระกัสสป ผู้เจนจบ วจีสัณห์
บ่อคุณคุณานันท์ สถิตโอษฐ์ อลังการ
ขอให้พระปุณณะ เถระพระอังคุลิมาล
พระอุบาลีศานต์ พระนันทะ พระสีวลี
บรรจบเป็นเบญจะ พระเถระ ผู้เรืองศรี
สถิตอยู่นลาฏมี เสน่ห์ดี ไมตรีตาม
แปดสิบ พระสาวก มนต์สาธก ผู้เรืองนาม
เรืองเดช ทุกโมงยาม ด้วยลีลา- ธิคุณคง
สถิตทั่วทุกส่วนกาย ทั้งน้อยใหญ่ประทับทรง
เป็นคุณจำเริญมง คลเลิศประเสริฐศรี
ขอเชิญพระปริตร อันศักดิ์สิทธิ์ในแดนตรี
เมตตาและปรานี บริรักษ์ นิราศภัย
เบื้องหน้ารัตนสูตร ธรรมาวุธ อันเกรียงไกร
ทักษิณ อันฤๅชัย เมตตสูตร พระพุทธมนต์
ปัจฉิม ธชัคคสูตร พุทธาวุธ วิเศษล้น
อุดรมหามนต์ อังคุลิมาลสูตรเสริม
ขันธโมพระปริตร ดังจักรกฤช ประสิทธิ์เฉลิม
อาฏานาฎิยสูตรเติม พระขรรค์เพ็ชรเผด็จมาร
เพดารกั้นมารอากาศ ให้ปลาส เกษมศาสตร์
อีกให้เป็นปราการ กำแพงแก้วกำจัดภัย
ทวารบถกลดเจ็ดชั้น ดำรงมั่น เดโชชัย
พระชินราช ประสาทให้ เป็นเกราะใหญ่ คุ้มครองตน
ด้วยเดช พระชินสีห์ เรืองฤทธี มหิทธิดล
ขจัดภัย ทุกแห่งหน ทั้งวิบัติ อุปัทวา
ทั้งภายนอกและภายใน เกิดเป็นภัย ไม่นำพา
เพียงลมร้าย พัดไปมา ไม่บีฑา อย่าอาวรณ์
เมื่อข้า สวดพระสูตร พระสัมพุทธบัญชร
สูงสุด พระพุทธพร ในพื้นเมธนีดล
กลางชินบัญชร คุณากร กิตติพล
หวังใดให้เป็นผล จากกุศลสาธยาย
ขอมวลมหาบุรุษ หน่อพระพุทธฤๅสาย
รักษา ข้าอย่าคลาย ตลอดกาล นิรันดร
อีกเวทมนตร์ ดลคาถา ที่มวลข้า ประฌมกร
เล่าเรียน เพียรว่าวอน อนุสรณ์ ตลอดมา
เป็นคุณ คุ้มครองดี อย่าให้มี ซึ่งโรคา
เป็นคุณ ช่วยรักษา สรรพภัย ไม่แผ้วพาน
อานุภาพ พระชิน อุปัทวะ อย่ารู้หาญ
ห่างไกร ไม่ระราน ประสบงาน สวัสดี
อานุภาพ พระธรรมะ ให้ชำนะ ความอัปรีย์
ห่างไกล คนใจผี กาลกิณี ไม่กล้ำกราย
อานุภาพ พระสังฆะ ให้ชำนะ อันตราย
ไม่เห็น คนใจร้าย ไม่มั่นหมาย มาราวี
อานุภาพ พระสัทธรรม ทุกเช้าค่ำ รักษาศรี
จำรัส จำเริญดี ร่มพระศรี ชินบัญชรฯ

๒. ฉบับ กลอนสุภาพ

พระพุทธะทุกพระองค์ทรงล้ำเลิศ
ทรงดื่มรสธรรมประเสริฐสัจจะสี่
ประทับเหนือบัลลังก์ชัยไล่ไพรี
คือมารร้ายใจอัปรีย์พร้อมเสนา

พระทรงเป็นผู้นำทั้งสามโลก
ทรงดับทุกข์คลายโศกคนทั่วหล้า
นับแต่องค์ตัณหังกรเป็นต้นมา
ยี่สิบแปดพระมหามุนียง

อันตัวข้าฯ ขอเคารพสักการะ
เหล่าพระสัมพุทธะผู้สูงส่ง
อัญเชิญเทอญเชิญรับประทับทรง
สถิตตรงกลางกระหม่อมน้อมบูชา

พุทธะสถิตเสถียรเหนือเศียรเกล้า
พระธรรมเนาสองเนตรคู่วิเศษหล้า
อีกพระสงฆ์ทรงสรรพคุณา
สถิตหว่างกลางอุราป้องกันภัย

กลางหทัยเชิญพระอนุรุทธ
สารีบุตรคู่แขนขวาอย่าสงสัย
เบื้องหลังคือโกณฑัญญะประทับชัย
โมคคัลลาน์สถิตในเบื้องแขนซ้าย

เชิญพุทธะอนุชาอานนท์
สถิตบนหูขวาอย่ารู้หาย
อีกองค์พระราหุลคุณกำจาย
อัญเชิญให้สถิตอยู่คู่เคียงกัน

มหากัสสปะพระธุดงค์
มหานามเถระทรงศีละขันธ์
อัญเชิญให้ประดิษฐานทุกวารวัน
ณ โสตซ้ายให้มิ่งขวัญจำเริญนาน

ณ เบื้องหลังถัดไปแต่ปลายผม
พระโสภิตมุนีสมสุรีย์ฉาน
เชิญประทับนับนิรันดร์อนันต์กาล
ดลบันดาลศรีสวัสดิ์พิพัฒน์ชัย

เชิญพระกุมารกัสสปะ
ผู้เชี่ยวชาญวาทะทรงคุณใหญ่
สถิตโอษฐ์ของข้าฯ อย่ามีภัย
วาจาสิทธิ์ฤทธิไกรในธานิน

อุบาลี, สีวลี, ปุณณะ
องคุลิมาล, นันทะผู้ทรงศีล
ทั้งห้าอยู่หน้าผากข้าฯ เป็นอาจิณ
ใครยลยินเป็นเสน่ห์ทุกเวลา

พระมหาสาวกพระชินสีห์
แปดสิบมีศีลพิสุทธิ์ผุดผ่องหล้า
เชิญสถิตในตัวทั่วกายา
คุ้มครองข้าฯ ปลอดภัยไปชั่วกาล

รัตนสูตรกันภัยไว้เบื้องหน้า
ข้างขวามีเมตตาสูตรประสาน
ธชัคคสูตรอยู่เบื้องหลังระวังนาน
อังคุลิมาลปริตรให้อยู่ซ้ายครัน

ขันธปริตร โมรปริตร
อาฏานาฏิยะปิดเพดานกั้น
พระสูตรพระชินสีห์มีอนันต์
เป็นกำแพงเจ็ดชั้นลดหลั่นไป

ปกป้องภัยนานาบรรดามี
เช่นโรคลมโรคดีบีฑาให้
ด้วยเดชะพระชินบัญชรชัย
ขอโพยภัยจงสลายมลายพลัน

ข้าฯ ผู้เป็นสาวกพระสัมพุทธ
บำเพ็ญกิจบริสุทธิ์ด้วยใจมั่น
ภายในกรงทองของภควันต์
ใต้แผ่นพื้นแผ่นสวรรค์วิมานแมน

ขอพระมหาบุรุษผู้ประเสริฐ
พระผู้เลิศวิมุตพิสุทธิ์แสน
ทั้งหลายทั้งสิ้นทั่วดินแดน
ปกพื้นแผ่นปกหล้าที่ข้าฯ เนา

พุทธะมนต์ชินบัญชรกลอนเสนาะ
ข้าฯ ได้สวดเสียงไพเราะทุกค่ำเช้า
มนต์ขลังคงความขลังไว้อย่าได้เพลา
ขอเทพไท้อย่าดูเบาจงคุ้มครอง

ขออำนาจพระสัมมาสัมพุทธะ
ขอให้ข้าฯ จงชำนะความขัดข้อง
ด้วยอำนาจพระธรรมอันเรืองรอง
อย่าได้พ้องพานหมู่ศัตรูมาร

ด้วยอำนาจองค์พระอริยสงฆ์
ขอข้าฯ จงเป็นสุขทุกสถาน
อันตรายใดใดไม่แผ้วพาน
พระสัทธรรมอภิบาล ชินบัญชร

พระคาถาชินบัญชร ฉบับย่อ

ชิ นะ ปัญ ชะ ระ ปะ ริ ตัง มัง รัก ขะ ตุ สัพ พะ ทา

ภาวนา 10 จบ

คัดลอกมาจาก : Wikipedia

ขอขอบคุณ : http://www.veeranon.com/saranaroo/1451-somdejtoh.html

. . . . . . .