พุทธทาสรำลึก (๓)
ประกาศธรรมทุกทิศ
(พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๕๐๕)
ความสามารถของ “พุทธทาสภิกขุ” ใน
ด้านการเขียนอธิบายข้อธรรมะต่างๆ ใน
“พุทธสาสนา” โดยใช้ภาษาที่สละสลวย
เข้าใจง่าย แต่ให้ข้อคิดที่ลึกซึ้งได้ส่งผล
ให้ธรรมะจากสวนโมกข์ แผ่กระจายสู่
ผู้อ่านในที่ต่างๆ โดยง่าย จากฉบับแรก
เริ่ม ซึ่งต้องประกาศแจกให้เปล่าในหนัง
สือพิมพ์ “ไทยเขษม” รายสัปดาห์
ก้าวหน้าจนมีผู้สนใจบอกรับเป็นสมาชิก
เองนับร้อย จนถึงพันในเวลาต่อมา ความ
สำเร็จนี้แม้แต่คณะผู้จัดทำเองก็คาดไม่ถึง
ส่งเสริมให้เกิดกำลังใจที่จะเผยแพร่และ
แจกจ่ายธรรมทานนี้แก่สาธารณชนมากยิ่งขึ้น
ไม่นานนัก การประกาศธรรม ก็
ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง ด้วยความ
สามารถที่มีอยู่แต่แรกบวชของ
พุทธทาสภิกขุนั่นคือ การเผยแผ่
ธรรมะโดยการเทศน์ ท่านได้
ริเริ่มการเทศน์ในรูปของปาฐกถา
ธรรมที่ประยุกต์ทั้งรูปแบบ และ
เนื้อหาของธรรมะที่แสดงให้
สมสมัย โดยเปิดฉากครั้งแรก
ที่พุทธธรรมสมาคม กรุงเทพฯ ตามคำอาราธนาของ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เมื่อ
วันที่ ๑๓ กรกฏาคม ๒๔๘๓ โดยแสดงธรรมเรื่อง “วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม”
ซึ่งใช้เวลานานถึง ๒ ชั่วโมง ๑๕ นาที การแสดงปาฐกถาธรรมของพุทธทาสภิกขุ
แต่ละครั้งนั้น สามารถตรึงผู้ฟังจำนวนนับร้อยหรือพัน ให้สนใจติดตามอย่างสนใจ
ได้โดยอาศัยการพูดที่กระชับชัดเจน และเรียงร้อยความไว้อย่างดี จนผู้ฟังเกิด
ความเข้าใจที่แจ่มแจ้งได้ว่าธรรมะขั้นโลกุตระ อันคนทั่วไปมักคิดว่าพ้นโลกหรือไม่
มีจริงนั้น แท้จริงคือหัวใจของพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและเป็นวิทยาศาสตร์
สามารถจะพิสูจน์และนำไปปฏิบัติให้เกิดผล และเห็นชัดได้โดยตนเองทุกเวลา
ความสามารถดังกล่าวนี้ ทำให้นาม “พุทธทาสภิกขุ”
ร่ำระบือกลายเป็นพระนักเทศน์สนับสนุนให้การเผยแผ่
ธรรมเป็นไปอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้นอีก โดยเฉพาะ
เมื่อสื่อมวลชนให้ความสนใจมาฟังธรรม และนำไป
เขียนเชิญชวนให้ผู้อ่าน ร่วมกันติดตามผลงานเขียน
และพูดของพุทธทาสภิกขุ แล้วกองทัพธรรมซึ่งตั้ง
หลักอยู่ที่ไชยาก็เริ่มยาตราออกสู่ทิศานุทิศเป็นลำดับ
พุทธทาสภิกขุ ได้รับการอาราธนาให้เดินทางไป
แสดงธรรมยังที่ต่างๆ บ่อยครั้ง เช่น ที่กรุงเทพฯ
แสดงธรรมที่โรงพยาบาลสงฆ์ โรงพยาบาลศิริราช
ธรรมศาสตร์-จุฬา กรมสรรพากร กระทรวงยุติธรรม สมาคมจีนตงฮั้ว ฯลฯ
และเดินทางไปยังจังหวัดอื่นๆ เช่น เพชรบุรี ราชบุรี พิษณุโลก สุโขทัย เชียงใหม่
ฯลฯ รวมไปถึงการแสดงธรรมตามวิทยาลัยเทคนิค และวิทยาลัยครู ในจังหวัด
ต่างๆ ด้วย เฉพาะที่เชียงใหม่นั้น ได้เดินทางไปหลายครั้ง เพื่อให้คำแนะนำแก่
กิจการของคณะพุทธนิคม และการจัดตั้งวัดแบบสวนโมกข์ที่วัดอุโมงค์ การ
เผยแผ่ธรรมะที่เชียงใหม่นี้ ก้าวหน้ายิ่งขึ้นอีก เมื่อท่านได้ขอร้องให้
ปัญญานันทภิกขุ สหธรรมิกผู้น้อง ซึ่งถูกอัธยาศัยกันมาตั้งแต่ครั้งเคย
จำพรรษาที่สวนโมกข์เก่าด้วยกันในปี ๒๔๗๙ มาเป็นผู้สานต่อกิจกรรม
ประกาศธรรมในภาคเหนือนี้
บทความ โดย อรศรี งามวิทยาพงศ์ จากหนังสืออนุทินภาพ ๖๐ ปี สวนโมกข์ : พฤษภาคม ๒๕๓๕
ลงตีพิมพ์ใหม่ในหนังสือ พุทธสาสนา ปีที่ ๖๘ เล่ม ๒ พุทธศักราช ๒๕๔๓
http://www.buddhadasa.com/history/budmem3.html