ตายเสียก่อนตาย (ท่านพุทธทาสภิกขุ)

ตายเสียก่อนตาย (ท่านพุทธทาสภิกขุ)

ตายเสียก่อนตาย…

ในคำโบราณที่พูดไว้ว่า : “นิพพานนั้นคือตายเสียก่อนตาย, หรือ
ตายเสียก่อนแต่ร่างกายตาย”…นี้อะไรตาย?? ก็คือ กิเลสที่เป็น
เหตุให้รู้สึกว่ามีตัวกู-ของกูนั่นแหละตาย กิเลสนี้ต้องตายเสร็จก่อน
ร่างกายตาย จึงจะเรียกว่านิพพาน นี่เป็นสิ่งที่ควรจดจำไว้ด้วยว่า

“ดีอยู่ที่ละ พระอยู่ที่จริง
นิพพานอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย”. ;
เพียงเท่านี้ก็จะทำให้เห็นว่า มีการพูดที่สับสน คราวหนึ่งคนหนึ่ง
สอนว่า ให้ตายเสียก่อนตาย, คราวหนึ่งนี้มีผู้ที่สอน ว่าจงทำให้
ไม่รู้จักตาย ที่แท้มันเป็นคำพูดที่ถูกด้วยกันทั้งนั้น เพราะมีความ
หมายมุ่งไปอย่างหนึ่งๆ : รวมความแล้วคือ ดับตัวกู – ของกูเสียได้
ไม่มีความยึดมั่นตัวกู – ของกูเหลืออยู่ นั่นแหละคือใจความของ
การปฏิบัติ

ดับเสียได้คือตาย ฆ่าตัวกู ทำลายตัวกู ให้หมดเสีย อย่างนี้เรียกว่า
ทำให้มันตายไปเสีย

ทีนี้ ไม่ตายก็หมายความว่าตัวกู – ของกูไม่มีแล้ว ก็เหลืออยู่แต่
ธรรมะที่บริสุทธิ์ ธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ที่ไม่รู้จักตายคือนิพพาน, คือ
ธรรมชาติที่ไม่รู้จักตาย; เข้าใจเสียให้ดีจะได้ไม่มีอะไรกีดขวางกัน
พูดว่า…จงตายเสียให้เสร็จสิ้นในตัวเสียแต่ทีแรก, ก็หมายความ
ว่า : อย่ามีความรู้สึกว่าตัวกู – ของกูมาเสียแต่ทีแรก ให้ตลอดเวลา
ไปเลย…นี้เรียกว่าตัวกู – ของกูมันตาย ไม่มีส่วนเหลือ ตั้งแต่ทีแรก
หรือตลอดเวลา

ถ้าตัวกู – ของกูมันตายเสียแล้วตั้งแต่ทีแรก ก็เหลืออยู่แต่ธรรมชาติ
ที่บริสุทธิ์…ปรากฏออกมาแก่ความรู้สึกเป็นธรรมชาติที่ไม่รู้จักตาย:
เพราะมันไม่มีตัวกู – ของกู มันจึงไม่รู้จักเกิด ไม่รู้จักแก่ ไม่รู้จักเจ็บ
ไม่รู้จักตาย : เพราะว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อะไร
เหล่านี้ มันอยู่ที่ตัวกู – ของกูทั้งนั้น จริงอยู่ที่สังขาร ที่เข้าไปยึดมั่น
ถือมั่นว่าตัวกู และตัวกูเกิด แก่ เจ็บ ตาย; ทีนี้ถ้าเราไม่ยึดถือว่าสังขาร
ว่าเป็นตัวกู – ของกู มันก็เป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ, ไม่เรียก
ว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย ; เพราะว่าเอาความหมายคำว่าตัวกู – ของกู
ออกไปเสีย ไม่มีเหลืออยู่ ความเกิด แก่ เจ็บ ตายก็สูญเสียความหมาย
ไปด้วย เรียกว่าไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย นี่มันผลัดกันพูดคนละที
หรือคนละแนวอย่างนี้

ระวังอย่าให้สับสนสำหรับคำพูดเพียงคำเดียวว่า”ตาย” กับคำว่า”ไม่ตาย”

~ขอนอบน้อมแด่คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์~

http://www.dhammavariety.com/

. . . . . . .