ขรัวโต พระแปลกผู้ทรงภูมิรู้
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)พรหมรังษี วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นอริยสงฆ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้แตกฉานยิ่งในพระปริยัติธรรม เป็นพหูสูตรอบรู้ทั้งทางโลกทางธรรม มีความเจนจบทั้งพุทธศาสตร์และไสยศาสตร์ สันนิษฐานว่าท่านเป็นบุคคลที่สันโดษมักน้อยจริงๆ ไม่ยินดีในเกียรติยศชื่อเสียง การศึกษาของท่านเพื่อต้องการความรู้เท่านั้น จึงไม่นิยมสอบเปรียญธรรมนัก
ท่านเกิดในสมัยรัชกาลที่๑ เป็นนาคหลวงของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นโอรสนอกเศวตฉัตรในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหน้านภาลัย กับ นางงุด สาวงามจากเมืองกำแพงเพชร บุตรีของนายผลและนางลา
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นนักเทศน์ที่หาตัวจับยากในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ท่านได้แสดงความเป็นอัจฉริยะตั้งแต่เยาว์ ทั้งเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าแผ่นดิน และประชาชนคนเดินดินทั่วไป คุณวิเศษสำคัญประการหนึ่งของท่าน คือ สามารถเทศน์ให้หัวเราะก็ได้ ให้ร้องไห้ก็ได้ ให้คนเทกระเป๋าทำบุญก็ได้ นอกจากนี้ ท่านยังเป็นนักโหราศาสตร์ ทำนายดวงชะตาได้แม่นยำ และยังเป็นนักใบ้หวยที่โด่งดังด้วย
นายพรหม ขะมาลาได้บันทึกไว้ว่า “การเรียนของเจ้าพระคุณสมเด็จฯนั้นว่า ท่านเรียนจนไม่มีอาจารย์ให้ เพราะเมื่อไปเรียนกับท่านผู้ใดก็เท่ากับไปแปลหนังสือให้ฟังทั้งนั้น เมื่อไม่มีผู้ใดสอนให้แล้ว ในที่สุดจึงไปเรียนกับพระพุทธรูปในโบสถ์ เห็นว่าพอสมควรแล้วก็หยุด จึงกราบสามครั้ง แล้วก็จัดแจงเก็บหนังสือห่อเทินศีรษะเดินไปจนถึงที่อยู่ของตน ประพฤติดั่งนี้เสมอมามิได้ขาด
กางกากะเยียออกแล้วเอาหนังสือวางบนนั้น กราบสามครั้ง แล้วเปิดหนังสือออกแปล เมื่อแปลไป ครั้นถึงเวลาเปิดสนามหลวง ท่านก็เข้าบัญชีแปลทุกปี เพราะสมัยนั้นหาพระและเณรเข้าแปลในสนามหลวงได้ยาก ในวัดหนึ่งๆจะมีสักสามองค์หรือสี่องค์ก็ทั้งยาก ฉะนั้นเจ้าพระคุณสมเด็จฯท่านจึงเข้าแปลทุกปี เมื่อท่านแปลนั้น พวกกรรมการไม่มีใครทักเลยแม้แต่รูปเดียว คงจะเนื่องด้วยเหตุสองประการ คือ ประการที่ ๑ จะเห็นว่าท่านเป็นพระหลวง และประการที่ ๒ จะเห็นว่าท่านมีความรู้บริบูรณ์เต็มที่แล้ว
เมื่อท่านแปลพอจวนจะลงประโยคแล้ว ท่านก็ชิงกราบลาไปเสียทุกที จนบางทีถึงกับกรรมการต่อว่าๆ… แน่ พิลึกจริงไม่เห็นมีใครว่าอะไรก็ลาไปเสียเฉยๆนั่นเอง และไม่ปรากฏว่าท่านเป็นเปรียญ(ในสมัยนั้น) เพราะกล่าวกันว่าท่านไม่ยินดียินร้ายในลาภยศเลย”
คนทั่วไปจึงมักเรียกท่านว่า “มหาโต” เพราะเลื่อมใสในความเปรื่องปราดของท่าน แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้เรียกว่า “ขรัวโต” เพราะท่านมักชอบทำอะไรแปลกๆนั่นเอง สมเด็จโตหลีกเลี่ยงการสอบเปรียญและรับสมณศักดิ์มาหลายรัชสมัย
ประกาศจับ “มหาโต”
จนมาถึงปีพุทธศักราช ๒๓๙๔ เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ประกาศหาพระมหาโต มีพระบรมราชโองการให้เจ้าเมืองฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ ฝ่ายตะวันออก ฝ่ายตะวันตก ทั่วราชอาณาจักรจับพระมหาโต ส่งมายังเมืองหลวงให้ได้ พร้อมทั้งให้เจ้าคณะเหนือ กลาง ใต้ ตก ออก ค้นหามหาโต พระที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายมหาโตถูกจับส่งเข้าเมืองหลวง จนกระทั่งข่าวจับพระมหาโต ดังถึงหูชาวบ้านชาวป่าต่างรู้ว่าพระเจ้าแผ่นดินสั่งให้จับมหาโต
มหาโตกบดานอยู่ในดงพญาไฟนานถึง ๑๕ ปี ถึงกับอุทานขึ้นมาว่า “กูหนีมา ๒๕ ปี ทำไมเพิ่งมาประกาศจับ” ถามไปถามมาจึงรู้ว่าเปลี่ยนแผ่นดินแล้ว
มหาโตก็ไปโผล่ที่บ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ให้ตำรวจหลวงนำท่านเข้าบางกอก และ ได้เข้าเฝ้ารัชกาลที่ ๔ ณ พระที่นั่งอัมรินทร์ฯ ท่ามกลางขุนนาง ข้าราชการ ครั้นรัชกาลที่ ๔ เห็นมหาโตมีพระราชดำรัสว่า
“เป็นสมัยของฉันปกครองแผ่นดินแล้ว ท่านต้องช่วยฉันพยุงพระบวรพุทธศาสนาด้วยกัน”
คราวหนึ่งโปรดเกล้าฯให้ท่านแปลพระปริยัติธรรมถวายในที่รโหฐานแห่งหนึ่ง ท่านแปลถวายได้ตามพระราชประสงค์ จึงมีพระราชดำริว่า ความรู้ของท่านนั้นถึงชั้นเปรียญเอก จะโปรดเกล้าฯพระราชทานพัดยศ เปรียญ ๙ ประโยค แต่ท่านก็ทูลถวายพระพรอีกเช่นเคย อย่างไรก็ตามพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแต่งตั้งให้พระมหาโต พรหมรังสี ถวายสัญญาบัตรเป็นพระราชาคณะที่พระธรรมกิตติ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ตาลปัตรแฉกหักทอง ด้ามงา มีฐานานุกรม ๓ องค์ มี นิตยภัตเดือนละ ๔ ตำลึง ๑ บาท ทั้งค่าข้าวสาร เมื่อปี ชวด จุลศักราช ๑๒๑๔ (พ.ศ.๒๓๙๕) จนได้
เมื่อเสร็จพระราชพิธีการแต่งตั้งแล้ว ท่านก็ออกจากพระบรมมหาราชวัง (ปฏิเสธขบวนเสลี่ยงมีคนหาม มีเรื่องเล่าว่า ท่านว่าถ้าเป็นสมภารแล้วเดินเองไม่ได้ ก็ไม่เอา ถ้าไม่ยอมท่านก็จะไม่รับ) ท่านถือบาตร ผ้าไตร และบริขาร แบกพัดไปเองถึงบางขุนพรหมและบางลำพู บอกลาพวกสัปปุรุษที่เคยนับถือ มีเสมียนตราด้วง และพระยาโหราธิบดีเก่าและผู้อื่นอีกมาก แล้วท่านก็กลับมาวัดมหาธาตุฯลาพระสงฆ์ทั้งปวง ลงเรือกราบสีที่ได้รับพระราชทานมาแต่พระพุทธเลิศหล้าฯ ข้ามไปกับเด็กช้างผู้เป็นหลาน
สมภารวัดระฆังฯ
ท่านหอบเครื่องไทยธรรม ถือพัดยศและย่ามมาเอง ใครจะรับก็ไม่ยอมส่งให้ เที่ยวเดินไปรอบๆ และร้องบอกดังๆว่า
“เจ้าชีวิต ทรงตั้งฉันเป็นที่พระธรรมกิตติ มาเฝ้าวัดระฆังฯ วันนี้จ้ะ เปิดประตูโบสถ์รับฉันเถอะจ้ะ ฉันจะต้องเข้าจำวัดเฝ้าโบสถ์ จะเฝ้าวัดตามพระราชโองการรับสั่งจ้ะ”
ท่านแบกตาลปัตรพัดแฉก สะพายถุงย่ามสัญญาบัติไปเก้ๆกังๆ มือหนึ่งถือกาน้ำ และกล้วยหวีหนึ่งพะรุงพะรัง พวกพระนึกขบขันจะช่วยท่านถือ เจ้าคุณธรรมกิตติก็ไม่ยอม พระเลยสนุกตามมุงดูกันแน่น แห่กันเป็นพรวนเข้าไปแน่นในโบสถ์ บางองค์ก็จัดโน่นทำนี่ ต้มน้ำบ้าง ตักน้ำถวายบ้าง ตะบันหมากบ้าง กิตติศัพท์เกรียวกราวตลอดกรุง คนนั้นก็มาเยี่ยม คนนั้นก็มาดูเลื่อมใสในจรรยาบ้าง เลื่อมใสในยศศักดิ์บ้าง แต่ท่านก็ขึ้นกุฏิไปเงียบๆ ไม่ได้มีการประชุมพระลูกวัดชี้แจงนโยบายอะไร
ครั้งนั้นมีเรื่องเล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปุจฉาเชิงสัพยอกเจ้าพระคุณสมเด็จฯว่า
“เหตุใดขรัวโตจึงพยายามหนีการแต่งตั้งในรัชกาลที่สาม ต่อทีนี้ทำไมจึงยอมรับ ไม่หนีอีกเล่า?” เจ้าพระคุณสมเด็จฯถวายพระพรว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ มิได้ทรงเป็นเจ้าฟ้า ทรงเป็นแต่เจ้าแผ่นดิน อาตมภาพจึงหนีพ้นเสียได้ ส่วนมหาบพิธพระราชสมภารเจ้า ทรงเป็นทั้งเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ไฉนอาตมภาพจะหนีพ้นได้เล่า”
พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระสรวลในปฏิภาณของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ
เมื่อท่านอยู่ที่วัดระฆังนั้น ท่านทำขบขันมากดูสนุกเป็นมหรสพโรงใหญ่ทีเดียว บางคนชอบหวยก็เอาไปแทงหวย ขลังเข้าทุกๆวัน คนก็ยิ่งเอาไปแทงหวยถูกกันมากรายยิ่งขึ้น เลยไม่ขาดคนไปมาหาสู่ บางคนก็ว่าท่านบ้า บางคนก็ตอบว่า
“เมื่อขรัวโตบ้า พากันนิยมชมว่าขรัวโตเป็นคนดี ยามนี้ขรัวโตเป็นคนดี พูดกันบ่นอู้อี้ว่าขรัวโตบ้า”
สมเด็จฯเข็นเรือ
ครั้งหนึ่ง ขณะที่สมเด็จโตกำลังจะไปธุระ บังเอิญเรือติดหล่มต้องเข็นเรือกัน สมเด็จโตได้เอาพัดยศวางไว้ในเรือ แล้วรีบมาช่วยลูกศิษย์เข็นเรือ ชาวบ้านแถบนั้นแลเห็นเข้าหัวเราะชอบใจขบขัน พูดตะโกนเสมือนหนึ่งล้อเลียนท่านว่า
“ดูท่านสมเด็จ…เข็นเรือ! ” สมเด็จโตว่า
“สมเด็จเขาไม่ได้เข็นเรือหรอกจ้ะ สมเด็จท่านอยู่บนเรือ” แล้วท่านสมเด็จโตก็ชี้มือไปที่พัดยศในเรือ ชาวบ้านต่างได้ยินได้ฟังแลเห็นเช่นนั้น ก็เงียบ
บางวันเขานิมนต์ไปเทศน์ เมื่อจบท่านบอกว่า “เอวัง พังกุ้ย” บ้าง
บางวันก็บอกว่า “เอวัง กังสือ”
บางวันก็บอกว่า “เอวัง หุนหัน” เล่ากันต่อๆมาว่าท่านเทศน์ไม่เว้นแต่ละวัน ทรงติดกัณฑ์เทศน์สลึงเฟื้อง
เมื่อพรรษายุกาลมากขึ้น ท่านยิ่งแตกฉานในสรรพวิชากาล สามารถเทศน์ให้ผู้ฟังหัวเราะก็ได้ เทกระเป๋าทำบุญก็ได้ ดังจะเห็นได้จากครั้งหนึ่ง ขณะยังเป็นพระเทพกวี ท่านเจ้าคุณเทศน์คู่กับพระพิมลธรรม (ถึก) วัดพระเชตุพนฯ เสมอมา การเทศน์ของท่านเผ็ดร้อนถึงอกถึงใจคนฟัง จนความทราบถึงพระกรรณสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงนิมนต์เจ้าคุณทั้งสองเข้าไปเทศน์ในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานเงินติดกัณฑ์เทศน์สลึงเฟื้อง พระกวีเทพไหวทัน หันมาบอกพระพิมลธรรมว่า
“เจ้าถึกจ๋าเจ้าถึก เจ้าถึกรู้หรือยัง”
พระพิมลธรรมถามว่า “จะให้รู้อะไรหนา”
“อ้าวท่านเจ้าถึกยังไม่รู้ตัว โง่จริงๆ แฮะ”
ท่านเจ้าถึกถามรุกใหญ่ว่า “จะให้รู้อะไรอีกนอกคอกเปล่าๆ”
พระเทพกวีว่า “จะนอกคอกทำไม เรามาเทศน์กันวันนี้ ในวังไม่ใช่หรือ”
ท่านรับว่า “ในวังน่ะซี”
“ก็ในวัง ในคอก ในกำแพงด้วยซ้ำ รู้ไหมล่ะ”
“รู้อะไรนะ?”
“จงรู้เถิด จะบอกให้ว่า ท่านเจ้าถึกนั้นหัวล้านมีศรี ฝ่ายพระเทพกวีนั้นหัวเหลือง สมเด็จพระบรมบพิตร จึงทรงติดให้สลึงเฟื้องรู้ไหม?” พอหมดคำ ก็ฮาครืนบนพระที่นั่ง สมเด็จพระจอมเกล้าฯ เลยพระราชทานรางวัลองค์ละ ๑๐ บาท
“พ่อจงเอาเงินนี้มาแบ่ง จงจัดแจงให้เข้าใจ พ่อถึกหัวล้าน พ่อโตหัวเหลือง เป็นหัวละเฟื้องสองไพฯ”
ปรากฏได้อีกฮาใหญ่ ผลก็คือได้เงินพระราชทานติดกัณฑ์เทศน์องค์ละ ๑๐ บาท คราวนี้เจ้าจอมคิกคักกันแซ่ คุณเฒ่าคุณแก่ยิงเหงือกยิงฟันอ้าปากกันหวอไปหมด สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงพระสรวลแล้วมีรับสั่งให้ถวายพระธรรมเทศนา ปุจฉาวิสัชนาสืบไปจนจบ
กล่าวขานกันว่าท่านเข้าวังทีใด อะไรมิอะไรก็ขยายให้เป็นที่พอพระราชหฤทัย และได้รับรางวัลทุกครั้ง แต่เมื่อท่านพ้นประตูวังว่าแล้วมักไม่ใคร่มีเงินเหลือในย่าม เพราะมหาดเล็กในวังต่างล้วงย่ามของท่านเอาเงินไปหมด กลับถึงวัดระฆังฯ เหลือเงินอย่างมากที่สุดก็ ๑๘ สตางค์
ท่านเจ้าคุณเป็นพระเถระผู้ใหญ่ ซึ่งมีจรรยาอาการประพฤติอ่อนน้อม ท่านมีความประพฤติผิดจากชาวบ้านทั่วไป ไม่ว่าพระสงฆ์หรือเณรแบกคัมภีร์เรียนมา ถ้าท่านเจ้าคุณพบเข้า แม้จะเป็นกลางถนน ท่านเป็นต้องหมอบก้มลงกราบ ถ้าพระเณรไม่ทันพิจารณา สำคัญว่าท่านเจ้าคุณก้มลงเคารพตนและก้มเคารพตอบท่านเมื่อไร เมื่อนั้นต่างคนต่างหมอบแต้เคารพอยู่ที่นั่น สร้างความครึกครื้นแก่ผู้พบเห็นเสมอๆ
จุดไต้เข้าวัง
ในช่วงที่สมเด็จโตมีชีวิตอยู่ บ่อยครั้งที่ท่านได้สำแดงปริศนาธรรม เมื่อยามที่ท่านเห็นว่าบ้านเมืองมีอะไรที่ไม่ถูกต้อง ครั้งหนึ่งเจ้าประคุณสมเด็จ จุดไต้ลูกใหญ่ลุกโพลงเดินเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง ในตอนกลางวันแสกๆ ตะวันตรงหัวทีเดียว ร.๔ ทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้น ก็ตรัสว่า
“ขรัวโต ๆ ในหลวงรู้แล้วละว่าจะบอกอะไรในหลวง”
เจ้าประคุณสมเด็จก็ไม่ปริปากพูดอะไรสักคำ เอาไต้ลูกนั้นทิ่มกับกำแพงวังแล้วเดินกลับออกมาเฉยๆ
ข้อนี้เล่าว่า ในช่วงนั้น ร. ๔ ทรงหมกมุ่นกับเจ้าจอมหม่อมห้ามและการละเม็งละครหนักข้อไปหน่อย สมเด็จท่านจะถวายพระพรเตือนตรง ๆ ก็เกรงพระราชหฤทัย จึงแสร้งจุดไต้เข้าไปทูลเตือนในฐานะนักปราชญ์ด้วยกัน ร.๔ จึงรีบตรัสว่า “รู้แล้วๆ”
อีกครั้งหนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้สมเด็จโตเข้าเฝ้าถวายพระธรรมเทศนาในวัง เมื่อสมเด็จโตท่านมาถึง นั่งธรรมมาสก์เสร็จ ก็เอ่ยว่า… “ดี พระมหาบพิธก็รู้ ชั่ว พระมหาบพิธก็รู้ เพราะฉะนั้น วันนี้อากาศแจ่มใสดี เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้”
สมเด็จพุฒาจารย์องค์ที่ ๕
ปีขาล จุลศักราช ๑๒๑๖ (พ.ศ.๒๓๙๗) พระเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่พระเทพกวี จนเมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์(สน) วัดสระเกศถึงมรณภาพ จึงได้ทรงสถาปนาท่านขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๐ ขึ้น ๘ ค่ำปีชวด จุลศักราช ๑๒๒๖ ตรงกับวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ.๒๔๐๗ นับเป็นสมเด็จพุฒาจารย์องค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
(สมณศักดิ์นี้เดิมใช้คำว่า “สมเด็จพระพุทธาจารย์” คู่กับ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เพิ่งจะเปลี่ยนมาใช้ “สมเด็จพระพุฒาจารย์”ในสมัยรัชกาลที่ ๔)
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ นั้น มีพระชนมพรรษาเพียง ๑๕ ปี ๑๐ วันเท่านั้น ยังทรงพระเยาว์นัก จึงต้องมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) อัครมหาเสนาบดี ผู้ใหญ่ในขณะนั้น เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
วันหนึ่งเจ้าประคุณสมเด็จก็จุดไต้ลูกใหญ่เข้าไปหาสมเด็จเจ้าพระยาในจวนของท่าน ยามกลางวันแสกๆ อีกเช่นเดียวกัน สมเด็จเจ้าพระยาจึงถามว่า มีประสงค์อันใดหรือ จึงถือไต้เข้ามาหากระผมเช่นนี้ เจ้าประคุณสมเด็จตอบไม่อ้อมค้อมเลยว่า
“อาตมภาพได้ยินว่า ทุกวันนี้แผ่นดินมืดมัวนักด้วยมีคนคิดร้ายจะเอาแผ่นดิน ไม่ทราบว่าเท็จจริงจะเป็นประการใด ถ้าเป็นความจริงแล้วไซร้ อาตมภาพก็ใคร่จะขอบิณฑบาตเขาเสียสักครั้งหนึ่งเถิด”
สมเด็จเจ้าพระยา อึ้งไปนิดหนึ่งก่อนจะตอบว่า “ขอพระคุณเจ้าอย่าได้วิตกเลย ตราบใดที่กระผมยังมีชีวิตอยู่ฉะนี้ จะไม่ให้แผ่นดินนั้นมืดมัวหล่นลงไป ด้วยจะไม่มีผู้ใดแย่งแผ่นดินไปได้เป็นอันขาด”
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จบอกว่า เพื่อความสบายใจ ให้สมเด็จเจ้าพระยาไปสาบานตัวต่อพระแก้วมรกตในวัดพระแก้ว ภายหลังต่อมาท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเป็นข้าราชการผู้หนึ่ง ที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีส่วนผลักดันให้การบริหารราชการแผ่นดินก้าวเข้าสู่ยุคใหม่
ปริศนาธรรมจากพระสมเด็จฯ
สำหรับพระสมเด็จที่ท่านสร้างขึ้นนั้น มีนัยยะแห่งรูปลักษณะที่ลึกซึ้งดังนี้
๑. รูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า หมายถึง พื้นแผ่นดินที่ทรงพระอริยสัจอยู่
๒. วงโค้งในรูปสี่เหลี่ยม หมายถึง อวิชชาที่คลุมพิภพอยู่
๓. รูปสามเหลี่ยมในวงโค้ง หมายถึง พระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ผู้พบอริยสัจ
๔. รูปพระนั่งขัดสมาธิบนบัลลังก์ หมายถึง พระพุทธเจ้าปางตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ โพธิบัลลังก์
๕. ฐานสามชั้น หมายถึงพระไตรปิฎก
๖. ฐาน ๗ ชั้น หมายถึง อปริหานิยธรรม
๗. ฐาน ๙ ชั้น หมายถึง มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑
พุทธศิลป์ที่ท่านสร้าง พระพิมพ์ใหญ่ทรงประธาน เลียนพุทธศิลปะสมัยสุโขทัย ทรงเจดีย์ เลียนพุทธศิลปะสมัยเชียงแสน ทรงหูยาน อกร่อง เลียนพุทธศิลปะสมัยอู่ทอง ครั้งหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ทรงถามท่านถึงเหตุที่ล่ำลือกันมากว่าพระพิมพ์ของท่านศักดิ์สิทธิ์ ท่านถวายพระพรว่าเพราะท่านบริกรรมด้วย “ชินปญฺชรคาถา”หรือพระคาถาชินบัญชรนั้นเอง
ต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๕ สมเด็จโตท่านไปดูการก่อสร้างหลวงพ่อโต ที่วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม แล้วเกิดอาพาธด้วยโรคชรา และถึงแก่มรณภาพ ณ เวลา ๒ ยาม วันเสาร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ (ต้น)ปีวอก จ.ศ.๑๒๓๔ ตรงกับวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๑๕
หลังมรณภาพ
ตัวอย่างคำเทศนาของเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่ได้โปรดชี้ธรรมไว้ในนิมิต หลังจากที่ล่วงลับไปแล้วเมื่อ100 กว่าปี ความว่า
“บุญเราไม่เคยสร้าง ใครที่ไหนจะมาช่วยเจ้า
ลูกเอ๋ย ก่อนจะไปเที่ยวขอบารมีหลวงพ่อองค์ใด เจ้าจะต้องมีทุนของตัวเอง
คือ บารมีของตนลงทุนไปก่อน
เมื่อบารมีของเจ้าไม่พอ จึงค่อยขอยืมบารมีคนอื่นมาช่วย
มิฉะนั้น เจ้าจะเอาตัวไม่รอด เพราะหนี้สินบุญบารมีที่เที่ยวไปขอยืมมาจนล้นพ้นตัว
เมื่อทำบุญทำกุศลได้บารมีมา ก็ต้องเอาไปผ่อนใช้หนี้เขาจนหมดไม่มีอะไรเหลือติดตัว
แล้วเจ้าจะมีอะไรไว้ในภพหน้า
หมั่นสร้างบารมีไว้แล้วฟ้าดินจะช่วยเอง
จงจำไว้นะเมื่อยังไม่ถึงเวลาเทพเจ้าองค์ใดจะคิดช่วยเจ้าไม่ได้
ครั้นถึงเวลาทั่วฟ้าจบดินก็ต้านเจ้าไม่อยู่
จงอย่าไปเร่งเทวดาฟ้าดิน
เมื่อบุญเราไม่เคยสร้างไว้เลย จะมีใครที่ไหนมาช่วยเจ้า… ”
ที่วัดอัมพวัน มีวิหารอยู่ทางทิศใต้ของโรงอุโบสถ ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐาน สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ปางอุ้มบาตรพรมน้ำพระพุทธมนต์ ผู้สร้างถวายคือ คุณเส็ง คุณผ่องศรี ใจบุญ ได้นำมาถวายวัดอัมพวันเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ พร้อมกับ หลวงปู่แสง เมื่อนำมาถวายยังไม่วิหาร ได้อัญเชิญท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ ไว้ในโรงอุโบสถ และหลวงปู่แสงประดิษฐานอยู่ที่ศาลาปฏิบัติกรรมฐาน
อยู่ต่อมาประมาณ ๑ เดือน มีคนข้างวัดมาบอกว่า สมเด็จฯโต ท่านอยากมาอยู่ข้างนอก อาตมาก็รับทราบไว้ ต่อมามีคนจากนครราชสีมาถามหาสมภารวัดอัมพวัน มาถึงก็มากราบ ถามว่า “ท่านเป็นสมภารใช่ไหม? สมเด็จฯโตให้มาบอกว่าท่านไม่อยากอยู่ในโบสถ์ ข้ามหัวไปข้ามหัวมา จุ้นจ้านกันมากเหลือเกิน ช่วยสร้างวิหารให้ที
อาตมาก็ยังไม่ยอมเชื่อ ต่อมาอาจารย์วิทยาลัยครูนครสวรรค์ ฝันมาบอกว่า “ท่านสมเด็จฯ โตให้มาบอกสมภารว่าช่วยสร้างวิหารให้ที”
ในฝันอาจารย์คนนั้นก็ถามว่า “ท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ ทำไมไม่ไปบอกท่านเอง” ท่านบอก
“ไม่ขลัง ต้องให้คนอื่นบอกถึงจะขลัง เพราะสมภารองค์นี้ทิฐิสูง”
คติธรรม
ปราชญ์แท้ ไม่คุยฟุ้งอวดตน
คนดี ไม่เที่ยวยกสอพลอ
คนเก่ง ย่อมทะนงอย่างเงียบ
คนชั่ว อวดรู้ดีทั่วภพ
คนโง่ อวดฉลาดมากมาย
สิ่งทั้งหลายท่านเห็นมีทุกที่เอย
สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี
ภาพนี้เป็นรูปสมเด็จโตฯ ถ่ายตอนแสดงพระธรรมเทศนา ปี ๒๔๑๕ ก่อนที่ภาพนี้จะแพร่หลายนั้น ในราวปี ๒๔๗๑ เล่าว่าภาพนี้ลอยน้ำมาปะทะเข้ากับพระภิกษุรูปหนึ่งที่กำลังสรงน้ำอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่หน้าวัดระฆังฯ จึงมีมหกรรมฉลองกันที่วัด
ปฏิบท รวบรวม
ข้อมูล : หนังสือสมเด็จโต โดย พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ
: อัศจรรย์พลังสมเด็จโต มรณะ130ปี ยังแผ่ปริศนาธรรม(ชาติ) “ก้อง กังฟู” เหนือฟ้า ใต้บาดาล นสพ.ไทยรัฐ
: http://www.jarun.org/TO001.htm
: พระภาวนาวิสุทธิคุณ ๘ เม.ย. ๓๕
ขอบคุณ คุณน้ำบุญ สามตำบล
ขอขอบคุณ : http://www.moomkafae.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=182658&Ntype=7