ประวัติการจัดสร้างวัตถุมงคล รุ่น 100 ปี แห่งการมรณภาพเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์โต วัดระฆังโฆษิตาราม ปี 2515
ปีพุทธศักราช 2515 ที่จะมาถึงในขณะนั้น อันเป็นปีที่การมรณภาพของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี เวียนมาบรรจบครบ 100 ปี ประกอบกับวัดระฆังโฆสิตารามเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ถาวรวัตถุและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ชำรุดทรุดโทรมเป็นอันมากเกินกำลังของทางวัดที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์โดยลำพัง
ม.ล.เนื่องพร สุทัศน์ เห็นว่าเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่จะจัดสร้างวัตถุมงคลเพื่อหาทุนในการบูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุและส่งปลูกสร้างต่าง ๆ ที่ชำรุดทรุดโทรม จึงได้นำโครงการดังกล่าวเสนอต่อพระราชธรรมภาณี รักษาการเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามสมัยนั้น ใช้ชื่อโครงการดังกล่าวว่า โครงการสร้างปูชนียวัตถุเพื่อเป็นอนุสรณ์ครบ 100 ปี แห่งการมรณภาพของเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรํงสี) ณ วัดระฆังโฆสิตาราม จังหวัดธนบุรี ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือ พล.ร.อ.จรูญ เฉลิมเตียรณ ผู้บัญชาการทหารเรือขณะนั้นรับผิดชอบเป็นประธานกรรมการดำเนินงาน พระราชธรรมภาณี รักษาการเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม เป็นประธานฝายสงฆ์ พล.ร.ท.อุดม สุทัศน์ ณ อยุธยา เจ้ากรมอู่ทหารเรือในขณะนั้น เป็นประธานกรรมการดำเนินการฝ่ายฆราวาส
สมเด็จ 100 ปี วัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ใหญ่ บล็อคแขนกลม ก่อนนี้น้อยคนนักที่จะรู้จักสำหรับบล็อคแม่พิมพ์นี้ จุดไข่ปลาอยู่ด้านซ้ายแปลกกว่าพิมพ์อื่น แต่ปัจจุบันกลับเป็นที่ต้องการของนักสะสมมากขึ้น ด้วยมีข้อมูลแพร่หลายโดยกว้างแล้วว่าเป็นพระบล็อคแม่พิมพ์แรก ๆ ของพระสมเด็จ 100 ปี
พิธีในการจัดสร้างวัตถุมงคล รุ่น อนุสรณ์ 100 ปี แห่งการมรณภาพท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี วัดระฆังโฆสิตาราม ประกอบไปด้วยพิธีทั้งทางสงฆ์และพรหมณ์ รวมทั้งสิ้น 3 วาระด้วยกัน
วาระแรก ประกอบพิธิพุทธาภิเษกทองชนวนและผงมวลสาร
หมายกำหนดการวาระแรก วันพฤหัสบดี ที่ 16 กันยายน พ.ศ.2514 พิธีการในส่วนนี้จัดขึ้นตามแบบขนบธรรมเนียมทั้งพิธีสงฆ์ และ พิธีพราหมณ์ มีการประกอบพิธีบวงสรวงอัญเชิญบารมีแห่งเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ทำพิธีบูชาฤกษ์ บูชาเทพยดา
ประธานฝ่ายสงฆ์ พระราชธรรมภาณี ประธานฝ่ายพราหมณ์ พระราชครูวามเทพมุนี พล.ร.ท.อุดม สุทัศน์ ณ อยุธยา ประธานกรรมการดำเนินงานจุดเทียนถวายพระราชธรรมภาณี ประธานฝ่ายสงฆ์จุดเทียนชัย
วาระที่ 2 ประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธปฏิมาจำลองและรูปเหมือนสมเด็จพุฒาจารย์โต
หมายกำหนดการวาระที่ 2 วันเสาร์ ที่ 18 กันยายน พ.ศ.2514 พิธิการในวาระที่สองนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จมาเททองเป็นปฐมฤกษ์ตามกำหนดฤกษ์เวลา 15.35 น. และทรงปลูกต้นจันทน์หน้าหอพระไตรปิฎกด้วย
วาระที่ 3 ประกอบพิธิพุทธาภิเษกพระพุทธรูป และวัตถุมงคลต่าง ๆ
หมายกำหนดการวาระที่ 3 วันพฤหัสบดี ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2515 อันเป็นวันครบรอบ 100 ปี แห่งการมรณภาพของเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี พิธีพุทธาภิเกจัดขึ้นตามขนบประเพณี ทั้งพิธีพราหมณ์และพิธีสงฆ์ ในวาระที่สามนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นครั้งที่ 2 เพื่อทรงประกอบพิธีพุทธาภิเษก และทรงวางศิลาฤกษ์โรงเรียนพระปริยัติธรรม ณ วัดระฆังโฆสิตาราม
สำหรับบล็อคแม่พิมพ์เส้นด้ายนี้ คงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปแล้ว เพราะขณะที่หลายคนกำลังตั้งหลักในการสะสม ข้อมูลของสมเด็จ 100 ปี ยังไม่กว้างขวางนัก บล็อคไข่ปลาเลือน และ บล็อคเส้นด้าย ถูกยกให้เป็นพิมพ์นิยมที่เลือกเก็บกันก่อนเป็นอันดับแรก
วัตถุมงคลที่จัดสร้างในครั้งนั้นประกอบไปด้วย
พระพุทธรูปจำลององค์พระประธาน ขนาดบูชา เนื้อนวโลหะ
พระกริ่งจำลององค์พระประธาน เนื้อทองคำ เนื้อนวโลหะ
รูปเหมือนสมเด็จพุฒาจารย์โต ขนาดบูชา เนื้อนวโลหะ
รูปเหมือนลอยองค์สมเด็จพุฒาจารย์โต เนื้อทองคำ เงิน นวโลหะ
เหรียญสมเด็จพุฒาจารย์โต เนื้อทองคำ เงิน นวโลหะ
พระผงพิมพ์พระสมเด็จ และ พิมพ์รูปเหมือนสมเด็จพุฒาจารย์โต
100 ปี พิมพ์ใหญ่ บล็อคเศียรไข่ เป็นอีกบล็อคแม่พิมพ์หนึ่งในกลุ่มพิมพ์ใหญ่ ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มพิมพ์ธรรมดา แต่ก็ถูกเก็บเรื่อย ๆ จากนักสะสมโดยทั่วไป
ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการจัดสร้างวัตถุมงคล รุ่นอนุสรณ์ 100 ปี แห่งการมรณภาพของเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี วัดระฆังโฆสิตาราม และวัตถุมงคลรุ่นและแบบพิมพ์ทรงต่าง ๆ โดยเฉพาะพระเนื้อผงนั้น เดิมทีหาชมศึกษาได้ยากยิ่ง เนื่องจากก่อนนี้ไม่มีคนนำออกเผยแพร่เท่าไหร่นัก
ก่อนนี้หากจะหาข้อมูลเกี่ยวกับพระสมเด็จ 100 ปี วัดระฆังฯ จากหนังสือในท้องตลาดก็เห็นจะมีอยู่เพียง 3 เล่มเท่านั้น เล่มแรกคือ หนังสือ 100 ปี วัดระฆังฯ ซึ่งเป็นหนังสือที่ทางวัดได้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อครบรอบ 100 ปี แห่งการมรณภาพของเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์โต ซึ่งเป็นหนังสือที่หายากและราคาสูงมากด้วย เน้นไปทางประวัติ เล่มที่ 2 คือหนังสือบางขุนพรหม 09 และพระผงวัดใหม่อมตรส ของคุณธีรยุทธ์ จงบุญญานุภาพ ซึ่งเป็นหนังสือที่จัดพิมพ์ไว้นานแล้วและก็มีจำนวนจำกัด เป็นหนังสือข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุมงคลสายบางขุนพรหมเป็นหลักโดยมีข้อมูลพระสมเด็จ 100 ปี วัดระฆังฯ เพียงส่วนหนึ่ง เป็นข้อมูลภาพและการจำแนกพิมพ์ทรง ภาพขนาดใหญ่ชัดเจนดี แต่ก็มีบางพิมพ์ที่ขาดหายไปบ้าง เล่มที่ 3 คือหนังสือของดีวัดระฆังฯ เป็นหนังสือที่รวบรวมประวัติและวัตถุมงคลที่จัดสร้างและเกี่ยวเนื่องกับวัดระฆังโฆสิตาราม ข้อมูลเกี่ยวกับพระสมเด็จ 100 ปี ไม่ได้จำแนกพิมพ์ทรงและข้อมูลภาพอาจเล็กไปนิดนึง
ปัจจุบันมีหนังสือ 100 ปี วัดระฆัง ที่ออกใหม่มาเล่มหนึ่งชื่อ วัดระฆังฯ 100 ปี ของคุณอิศรา เตชะสา เป็นหนังสือที่สมบูรณ์ที่สุดเกี่ยวกับพระสมเด็จวัดระฆัง รุ่น 100 ปี ที่จัดพิมพ์มา และที่สำคัญราคาไม่แพงอย่างที่คิด ให้ข้อมูลโดยละเอียดในหลายด้านหลายมุม ทั้งในส่วนของประวัติ พิมพ์ทรง เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่คุ้มค้าและท่านที่สนใจวัตถุมงคลสายนี้ควรจะมีเก็บไว้
ความรู้เคียงคู่การสะสม คุณค่าในสิ่งสะสมไม่ใช่อยู่ที่ใครบอกว่าสิ่งไหนดีไม่ดี แบบไหนถูกแบบไหนแพง หากแต่อยู่ที่ท่านลึกซึ้งกับสิ่งเหล่านั้นเพียงใด รู้ในสิ่งที่ท่านสะสมมากน้อยขนาดไหน สิ่งดี ๆ ที่หายากในมือท่านอาจเป็นสิ่งไร้ค่าก็ได้หากท่านไม่รู้อะไรที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้นเลย … ด้วยความปราถนาดี www.Collection9.net
ขอขอบคุณ : http://www.inform.collection9.net/index.php?doc=doc_detail&id=0070