ชีวประวัดิ พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย จันทสาโร ๐๘
จากหนังสือ จันทสาโรบูชา
โดยคุณหญิงสุรีย์พันธุ์ มณีวัต
พรรษาที่ ๓๒ พ.ศ.๒๔๙๙ อยู่บ้านกกกอก
และผจญพญานาค ที่ภูบักบิด
จำพรรษาที่บ้านกกกอก ต.หนองงิ้ว อ.วังสะพุง จ.เลย
สถานที่ซึ่งหลวงปู่จำพรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ นั้น อยู่ที่เชิงภูหลวงเป็นป่าเขาอันสงัดวิเวก มีต้นไม้ใหญ่ แผ่ร่มเงากิ่งก้านประสานกันแทบไม่เห็นแสงตะวันเป็นป่าสูง….สุดหนาทึบ ที่เป็นคล้ายบันไดขั้นแรกที่จะนำขึ้นไปสู่ยอดภูซึ่งสูงราวกับจะชูยอดไม้ขึ้นไประแผ่นฟ้า ต้นไม้แต่ละต้น ใหญ่ขนาด….(สำนวนของท่าน หมายความว่าใหญ่มาก) เอามือ “กอดไม่หุ้ม” ….(สำนวนของท่านอีกเช่นกัน แปลว่าโอบไม่รอบ) ดูมืดครึ้มอยู่เรื่อย
ศาลาโรงครัวที่บ้านกกกอก ด้านหลังเป็นที่มีน้ำซับ ไหลตลอดปี ถือเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์
มี น้ำซำ…หรือ น้ำซับ อยู่ใกล้บริเวณที่เป็นที่ทำความเพียร เรียกกันว่าเป็น ซำเงิน ซำทอง ….หรือ น้ำซับเงิน น้ำซับทอง…น้ำไม่มีแห้ง ไหลออกมาตลอดปี บริเวณน้ำซำนี้ ชาวบ้านถือกันว่า เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ เทพยดาอารักษ์รักษา ตัดต้นไม้ไม่ได้จะมีโทษ มีลักษณะคล้าย น้ำซำ ที่ หนองบง ที่เคยกล่าวมาแล้ว ในบทที่ว่าด้วยหนองบง ในปีจำพรรษาที่ ๑๕ พ.ศ. ๒๔๘๒ เหตุนั้น บริเวณใกล้น้ำซำ ซึ่งมีน้ำซึมซับมาหล่อเลี้ยงต้นไม้ให้เขียวขจีอยู่ตลอดแล้ว ผู้คนยังเกรงกลัว ไม่กล้าตัดฟันไม้อีก จึงยิ่งทำให้สภาพป่าบริเวณนั้น ร่มครึ้ม อากาศเยือกเย็นตลอดคืนตลอดวัน
ท่านว่า ไม่ว่าจะไปภาวนาใต้ต้นไม้ต้นใด จิตจะ “แจบจม” ดี เสมอ
เคยมีพระกัมมัฏฐานมาทำความเพียรและบรรลุธรรม ณ ที่บ้านกกกอกมาก่อนแล้ว ชื่อ หลวงปู่เอีย ชาวบ้านนับถือกันมาก ว่าท่านได้หูทิพย์ด้วย ใครอยู่ที่ไหนในบ้าน ในช่อง จะพูดอะไรไว้ ไปถึงท่าน ไปกราบท่าน ท่านจะเอ่ยทักถึงข้อความที่พูดจากันนั้นได้เสมอ ทำให้ชาวบ้านทั้งรักทั้งกลัวท่านมาก ท่านอ่านหนังสือไม่ออก แต่กล้าในทางความเพียรมาก ท่านภาวนาไป…ภาวนาไป วันหนึ่ง ตัวหนังสือก็ผุดออกมา
ท่านว่า มันเหมือนฉายหนังในจอ เป็นแถวเป็นแนวไป และรู้ขึ้นมาเองว่านั่นคือ พระปาฏิโมกข์ ท่านบอกว่า พระธรรมสอนท่านให้อ่าน ให้ท่อง และรู้ความหมายของตัวบาลีเหล่านั้นหมด ท่านหัดท่องพระปาฏิโมกข์ทางภาวนา รวมทั้งบทสวดมนต์ต่าง ๆ ในเจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน ก็สวดได้คล่องแคล่ว ให้พระเณรอื่นถือหนังสือปาฏิโมกข์ หนังสือเจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน คอยสอบท่านเวลาที่ท่านท่อง ไม่มีผิดเลยสักคำเดียว
ท่านสวดมนต์ได้ อ่านหนังสือได้ โดยเรียนจากสมาธิภาวนานั้น หากสำหรับการเขียนนั้น ท่านยังทำไม่ได้…ด้วยบอกว่า ไม่คิดจะเรียนเขียนด้วยเลย แค่การอ่านได้ สวดมนต์ได้ ท่านก็คิดว่า เพียงพอสำหรับนักปฏิบัติกัมมัฏฐานซึ่งพูดกันด้วยใจแล้ว
ว่ากันว่า “ของเก่า” หลวงปู่เอียท่านมีอยู่ เป็น ปุพฺเพ กตปุญฺญตา ได้ทำบุญมาแล้วด้วยดี แต่ปุเรชาติ ความรู้ทางหนังสือทั้งหลายจึงผุดขึ้นมาทางการภาวนาอย่างน่าอัศจรรย์ใจ คล้ายกับเรื่องของ หลวงปู่หล้า ผู้เป็นคนมาจากเวียงจันทน์ ท่านมาเรียนภาวนากับหลวงปู่เสาร์ ไม่มีความรู้ทางภาษาไทยเลย อ่านไม่ได้ เขียนไม่ได้ แต่สุดท้ายท่านก็สามารถเรียนหนังสือ ก็ได้ทางสมาธิภาวนา เช่นเดียวกับหลวงปู่เอียนี้
การภาวนานั้นมีผลอันน่าอัศจรรย์แก่ผู้ที่ตั้งใจทำจริงเสมอ ถ้าทำอย่างแน่วแน่ทำอย่างมั่นคง ทำอย่างมอบกายถวายชีวิต ก็มักจะประสบผลอย่างคาดไม่ถึงเสมอ
ปัจจุบันนี้ บ้านกกกอกได้จัดตั้งเป็นวัดแล้วเชื่อว่า วัดปริตตบรรพต
หลวงปูไปภาวนาที่ใต้ต้นไม้ใหญ่ใกล้น้ำซำ ได้ความสงบเยือกเย็น “สิ่งไม่เคยรู้ก็ได้รู้ สิ่งไม่เคยเห็นก็ได้เห็น… ” สำนวนของท่านเรียกว่า “เทพอุ้ม” บริเวณต้นไม้ใหญ่กิ่งหนาใบดกนั้น มีรุกขเทพอาศัยอยู่มาก มีฤทธิ์เดชเดชานุภาพมีรัศมีกายมากน้อยแตกต่างกันตามบารมีที่สร้างสมอบรมมา ท่านเคยอธิบายว่าต้นไม้ใหญ่ ลำต้นเท่ากัน จะมีเทพไม่เท่ากัน แต่หากต้นที่มีกิ่งก้านแผ่ขยายออกไปกว้างไกลนั้น จะมีรุกขเทพอาศัยอยู่มากกว่าต้นที่สูงชะลูดตรงขึ้นไปถ่ายเดียว
ก็เฉกเช่นบุคคลธรรมดานี้เอง บางคนมีตำแหน่งการงานใหญ่โต แต่ไม่มีเพื่อนพ้องบริวาร บางคนมีตำแหน่งเท่าเทียมกัน แต่มีเพื่อนพ้องบริวารห้อมล้อมดั่งดาวล้อมเดือน วาสนาบารมีไม่เหมือนกันฉันใด ในกรณีต้นไม้ใหญ่ก็ฉันนั้น
การภาวนานั้น…ถ้าเลือกที่ได้ ควรเลือกที่ซึ่งอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ ต้นหนา กิ่งก้านดก เทพที่อยู่ตามยอดพฤกษาทุกกิ่งก้านสาขาจะช่วยอนุโมทนา “อุ้มจิต” เราให้เข้าสู่ความสงบโดยง่าย
แต่ก็อย่ามัว “รับต้อน” แขก เพลิดเพลินไป….(รับต้อน….ต้อนรับสำนวนท่าน) เพียงแผ่เมตตาให้เขาก็พอแล้ว มัวตามตื่นเต้นกับนิสิตในภาวนา (….ซึ่งอาจจะทั้งที่เห็นได้ด้วยตาเนื้อ อันเป็นผลเนื่องมาจากสมาธิด้วย) จะเป็นบ้าไปเสียเปล่า….
เห็นเขา เห็นวิมานของเขา นั่นก็ตัวเขา วิมานของเขา ซึ่งล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เทวดาก็เสื่อมสลายได้ เคลื่อนที่จากภพภูมิได้…ไม่เที่ยงเหมือนกัน
ได้กลิ่นดอกไม้หอม เวลานั่งภาวนา หรือเดินจงกรม…จะเป็นนิมิตให้กลิ่นที่เทพถือพานดอกไม้มาอนุโมทนาบูชาการทำความเพียรของเรา…หรือไม่ก็ช่าง…กลิ่นหอม มีได้ ก็ดับได้ ของใดเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป
ดูแต่จิตของเรา ให้จิตเป็นกลาง ๆ เป็นอัพยากฤต…. เอาไตรลักษณ์เข้าฟอกจิต….
เขียนเพลินไปตามธรรมะที่หลวงปู่หลุยท่านเคยสอน ขออนุญาตนำกลับเข้าเรื่องต่อไป.. .
ท่านพอใจในความเป็นสัปปายะของที่บ้านกกกอกมาก จึงตกลงอธิษฐานพรรษาที่ ๓๒ ที่บ้านกกกอกนี้ ความจริงเมื่อพูดถึง “สัปปายะ” หรือความสบายแห่งการภาวนา นั้น ควรจะบริบูรณ์ด้วยความสบาย ๔ ประการ คือ สถานที่สัปปายะ อากาศสัปปายะ บุคคลสัปปายะ และ อาหารสัปปายะ
สถานที่สัปปายะ หมายถึง สถานที่ซึ่งชวนให้ดูดดื่มในการภาวนา ไม่เบื่อหน่ายในการปรารภความเพียร
อากาศสัปปายะ หมายถึง อากาศดี อากาศโปร่ง อากาศไม่หนัก ไม่กดทับจิต
บุคคลสัปปายะ หมายถึง ผู้อุปัฏฐากดูแล รู้สิ่งที่ควรประเคน รู้กาลที่ควรประเคน เช่นไม่พรวดพราดเข้าไปในเวลาที่ท่านกำลังสงบจิตอยู่ในสมาธิ รู้เวลาที่เมื่อท่านต้องการทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ ไม่บิณฑบาต ก็ไม่ต้องวุ่นวายเซ้าซี้อ้อนวอนท่าน บุคคลนั้นรวมทั้งท่านที่เราไม่อาจเห็นได้ด้วยตามนุษย์ธรรมดาด้วย….
อาหารสัปปายะ หมายถึง อาหารที่ถูกจริตกับธาตุขันธ์ของท่าน ไม่ทำให้ท่านป่วยเจ็บ เป็นไข้ พอสบายแก่ธาตุขันธ์ ไม่หนักเกินไป ไม่เบาเกินไป พอเป็นไปให้สะดวกแก่การภาวนา
โดยมากสถานที่ทำความเพียรนั้น หลวงปู่ท่านพิจารณาเพียงสัปปายะ ๓ ข้อแรกเท่านั้น ส่วนข้อ อาหาร นั้น ท่านจะแทบไม่สนใจเลย เป็นการบิณฑบาตตามมีตามได้โดยแท้ เช่น ได้พริก ได้เกลือ ก็ฉันกับพริกกับเกลือ ได้ข้าวเปล่า ๆ ก็ฉันข้าวเปล่า ๆ ท่านว่า พระพุทธเจ้าก็สอน ท่านอาจารย์มั่นก็สั่ง พริกกับเกลือก็ดี ข้าวเปล่า ๆ ก็ดี สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ได้มาจากการบิณฑบาต ถือเป็น อติเรกลาภ ทั้งสิ้น
เป็น ลาภ ที่พระธุดงค์ควรมีความสันโดษ พอใจแล้ว เพราะ ความจนเป็นทรัพย์ของบรรพชิต
การภาวนาในพรรษานั้นเป็นเช่นไร เห็นจะไม่ต้องกล่าวมาก เพราะท่านว่า “นั่งได้ทุกที่ เดินจงกรมได้ทุกแห่ง” เป็นภาวนาไปหมด…ภาวนาได้ทะลุทั้งตัว ภาวนาลมหายใจทกเส้นขน….. ”
ท่านย่อมพอใจ สถานที่…อากาศ…และบุคคล….ทั้งเห็นด้วยตาก็ดี ไม่เห็นด้วยตาก็ดี…ที่เป็นสัปปายะนี้ ในเวลาอีก ๘ ปีต่อมา ท่านก็ได้เวียนกลับมาจำพรรษา ณ ที่บ้านกกกอกนี้อีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ พรรษาที่ ๔๐ และเป็นวาระที่ทำให้ท่านต้องระลึกถึงบุญคุณของสถานที่นี้เป็นที่สุด
ผจญพญานาคที่ภูบักบิด
ภูบักบิด เป็นภูเขาเล็ก ๆ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดเลยไม่มากนัก ตั้งอยู่แห่งละฟากฝั่งแม่น้ำเลยกับตัวเมือง ที่เชิงเขามีวัดเล็ก ๆ อยู่วัดหนึ่ง ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดภูบักบิด ปัจจุบันนี้มีชื่อว่า วัดประชานิมิต สถานที่ซึ่งหลวงปู่ขึ้นไปประกอบความเพียรนั้นเป็นถ้ำอยู่บนยอดภู ซึ่งจะต้องเดินขึ้นไปจากเชิงเขาอีกประมาณเกือบ๓ กิโลเมตร ทาง ๓ กิโลเมตรนี้หากเป็นพื้นที่ราบ ก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด แต่นี่เป็นทางขึ้นเขา ประกอบด้วยโขดหินตะปุ่มตะป่ำแหลมคม ต้องบุกป่าบุกเขา แหวกเถาวัลย์กอไม้ พงหนาม พงหวายไป ก็เป็นทางที่ลำบากพอดู ที่โคจรบิณฑบาตอยู่ที่หมู่บ้านเชิงเขา อันหมายความว่า ท่านจะต้องสะพายบาตรลงจากเขาอยู่ทุกวัน เพื่อมาบิณฑบาตอาหารมาขบฉัน โดยที่น้ำบนยอดภูนั้นไม่มี ต้องใส่กระติก ใส่กาขึ้นไป ท่านจึงมักจะฉันที่เชิงเขา เพื่อตัดปัญหาที่จะต้องเป็นภาระหาน้ำมาล้างบาตร และเมื่อวันใดการภาวนาดีจิตรวมดี แจบจมดี…(สำนวนของท่าน เคยเรียนถาม ท่านว่า จิตรวมนิ่งสนิทถึงอัปปนาสมาธิ ถอนออกมาพิจารณาธรรม หมุนตัวเป็นเกลียวต่อเนื่องกัน เช่นนี้ท่านก็จะงดการบิณฑบาตไปเลย…ซึ่งอาจจะเป็นคราวละสองวัน สามวัน หรือแม้แต่เจ็ดวันก็เคยมี ท่านกล่าวว่า อาหารทางกายไม่มีความหมายเท่าอาหารทางจิต
เมื่อกล่าวว่า ท่านไม่ลงเขามาสองวัน สามวัน หรือเจ็ดวัน นั้น ก็หมายความว่าไม่เพียงแต่ท่านจะไม่ฉันอาหารติดต่อกันเป็นเวลาสองวันสามวันหรือเจ็ดวันเท่านั้นหากในกรณีของที่ภูบักบิดซึ่งเป็นที่กันดารน้ำอย่างฉกาจฉกรรจ์ หลวงปู่จะต้องแบกกาใส่น้ำขึ้นไปเองทุกวัน จึงหมายความว่า ท่านจะต้องอดน้ำต่อไปด้วย ตลอดเวลาสองวัน หรือสามวัน หรือเจ็ดวันนั้น
การบำเพ็ญเพียร ณ ที่ภูบักบิด นั้นเป็นที่เลื่องลือกันว่า ในวันหนึ่ง ๆท่านใช้น้ำเพียงกาเดียว กล่าวคือ ท่านสามารถใช้น้ำกาเดียวนั้นพอทั้งฉัน ทั้งชำระกายทั้งล้างหน้า ล้างมือ ล้างเท้าได้
แต่ความจริงนั้นร้ายยิ่งกว่านั้น กล่าวคือ…หากเป็นเวลาทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ น้ำกาเดียวนั้นก็จะต้องถนอมใช้ให้เพียงพอไป จนกว่าจะลงมาบิณฑบาตซึ่งอาจมิใช่เพียงวันเดียว แต่อาจเป็นเวลาสองวันสามวันหรือเจ็ดวันดังกล่าว เคยกราบเรียนถามท่าน ท่านอธิบายว่า ท่านฉันน้ำเพียงจิบเล็กน้อย หรือเมื่อจะต้องอยู่หลายวันก็เพียงแตะปลายลิ้นให้รู้สึกถึงความชุ่มฉ่ำเท่านั้น น้ำใช้ล้างหน้าล้างมือแล้วก็เก็บไว้ใช้สำหรับสรงหรือล้างเท้าต่อไป การสรง การล้างเท้า ก็เพียงใช้ผ้าชุบน้ำค่อย ๆ เช็ดตัวเช็ดเท้าเอา
ความจริงเรื่องอาหารและน้ำดื่มนี้ ผู้เคยผ่านการบำเพ็ญภาวนาได้ผลดีย่อมทราบดีว่า ระหว่างเวลาจิตทรงอยู่ในสมาธิ ร่างกายจะแทบไม่รู้สึกถึงความหิวโหยแต่ประการใด จิตจะเอิบอิ่ม ไม่หิวอาหาร ไม่กระหายน้ำ ไม่ง่วงเหงาหาวนอน จิต “ตื่น”รับสัมผัสธรรมที่มากระทบตลอดเวลา การทรงอยู่ในสมาธิหรือฌาน นั้นมิได้หมายความว่าจะต้องนั่งหลับตา ขัดสมาธิ เป็นฤๅษีบำเพ็ญตบะอยู่ตลอดไป แต่อาจจะยืนเดิน พูด สนทนา อยู่ในอิริยาบถปกติของบุคคลธรรมดาก็ได้
ถ้ำที่หลวงปู่ไปทำความพากความเพียรอย่างเต็มที่นั้น ปากถ้ำแคบอยู่สักหน่อย แต่ภายในกว้างขวาง สวยงาม ผนังถ้ำเป็นรู เป็นซอกมากมาย
เล่ากันว่า แต่ก่อนภายในถ้ำกว้างขวางเวิ้งว้างกว่านั้นด้วยมีเขตของพวก “บังบด” หรือ พวก ภุมมเทวดา ดูแลรักษาอยู่ด้วย มีสมบัติภายในถ้ำมากมายมหาศาลเป็นสมบัติของ
“เทวดา” ผู้มีศีลธรรม มีจิตบริสุทธิ์ ได้ปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นทรัพย์สมบัติของส่วนกลาง ให้มนุษย์นำมากราบไหว้บูชาหรือมีสิทธินำไปใช้สอยได้
ส่วนที่ให้นำมากราบไหว้บูชา คือ พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน นาก ขนาดต่าง ๆ กัน อันแสดงถึงความเลื่อมใสศรัทธาอย่างสูงสุดของคนในสมัยโบราณจึงได้จัดสร้างพระพุทธรูปด้วยวัสดุมีค่าไว้สักการบูชา ส่วนที่ให้นำไปใช้สอยก็เป็นพวกสร้อยสนิมพิมพาภรณ์ แก้วแหวนเงินทอง เช่น สร้อยตัว สร้อยคอ สร้อยสังวาล กำไลแขน กำไลข้อมือ เข็มขัดทอง นาก…สิ่งเหล่านี้กองทิ้งอยู่บนแท่นหินภายในถ้ำอย่าง ระเกะระกะ
เป็นที่อนุญาตกันว่า เมื่อเข้าไปในเขตถ้ำอันเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยเป็นเขตของเทวดาแล้ว ทุกคนจะสามารถนำพระพุทธรูป หรือเครื่องประดับเหล่านั้นติดตัวออกมาได้ ๑ กำมือเต็ม ๆ จะเป็นสร้อยตัว สร้อยคอ เข็มขัด จี้ สร้อยปะวะหล่ำ กำไลอย่างใดก็ตาม สิ่งเดียวหรือหลายสิ่ง อนุญาตให้นำออกมาได้คนละ ๑ กำมือ เมื่อนำมาใช้เสร็จธุระแล้ว ก็ให้นำกลับขึ้นไปคืนยังสถานที่เดิมที่ตนไปขอยืมมา
ไม่ทราบว่าจะเป็นเพราะเหตุใด ..?
เพื่อเป็นการแสดงความเคารพสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ จึงต้องให้แสดงความบริสุทธิ์กายเช่นนั้น หรือเพราะเกรงว่า จะหยิบฉวยเกินเลย ซุกซ่อนใส่กระเป๋าเสื้อ กางเกง หรือเหน็บเข็มขัดคาดผ้ามาด้วยก็ไม่ทราบ แต่ข้อกำหนดกฎเกณฑ์นั้นมีอยู่ว่า ผู้ที่จะสามารถเข้าไปในเขตถ้ำตอนที่มีสมบัติเทวดารักษาไว้นั้นจะต้องเข้าไปแต่ตัวเปล่า กล่าวคือ ต้องเปลื้องเสื้อผ้าออกหมด ไม่ให้มีเครื่องนุ่งห่มชิ้นใดติดกายอยู่เลยแม้แต่ชิ้นเดียว ข้อกำหนดกฎเกณฑ์นี้ใช้ทั่วถึงกัน…ไม่ว่าหญิงหรือชาย…ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ทุกคนที่ปรารถนาจะขอยืมเครื่องประดับของใช้ของเทวดามาประดับกาย หรือเชิญพระพุทธรูปมาในงานบุณย์ ก็จะต้องปฏิบัติตามนี้ มิฉะนั้นแล้ว เมื่อเข้าไปภายในถ้ำจะมองไม่เห็นทรัพย์สมบัติมีค่าเหล่านั้นเลยสักชิ้นเดียว จะเห็นเป็นผนังถ้ำแลโล่งไปหมด
ดังนั้น ในสมัยโบราณ ถึงเวลาตรุษสงกรานต์ วันสารท วันทำการมงคล มีการแต่งงาน โกนจุก ทำบุญบ้าน ชาวบ้านก็จะพากันขึ้นเขาไปขอยืมสิ่งของเครื่องประดับมาใช้ ผู้คนสมัยนั้นต่างมีศีลธรรมอันดี เห็นว่าของเหล่านี้ไม่ใช่ของของตน ไม่ใช่ของแห่งตน เป็นสมบัติของกลาง ยืมมาใช้สอยสมประสงค์ของตนแล้วก็นำไปคืนโดยดี จวบจนภายหลัง เริ่มมีผู้โลภโมห์โทสัน ชักจะไม่ค่อยยอมส่งคืน ยึดถือเก็บไว้กับบ้านตนเรือนตน ทึกทักเป็นของของตน เท่ากับเป็นการผิดศีลข้ออทินนาทานถือเอาของที่เขาไม่ให้มาเป็นของตน สมบัติในถ้ำก็เริ่มลดน้อยลง เครื่องสนิมพิมพาภรณ์ที่เป็นทองคำสุกปลั่ง ก็เริ่มหมองลง ดำคล้ำลง คล้ายเป็นทองเหลือง เป็นที่สังเกตของผู้คนในระยะหลัง
ที่ร้ายแรงที่สุด คือ ได้มีเณรน้อยคนหนึ่งตามหลังเข้าไปในถ้ำด้วย เห็น “แม่ออก” หรือหญิงชาวบ้านเดินอยู่ข้างหน้า ก็ไป “บิด” ก้นแม่ออก… (บิด…คือหยิกแบบบิดด้วย….ผู้เขียน) เป็นการหยอกเอิน ผิดทั้งศีล ที่ไปจับต้องตัวผู้หญิง และไม่สำรวมกิริยา ผิดทั้งการไม่เคารพ ดูหมิ่นสถานที่ ทำให้ปากถ้ำบริเวณมีสมบัตินั้นถล่มลงปิดทางเข้าหมด ว่ากันว่า เณรผู้ทำความผิดศีลวิบัตินั้นรอดชีวิต ตกไปในรูพญานาคไปโผล่ที่กุดป่องได้ การรอดชีวิตนั้นเพียงเพื่อมาบอกเล่าทำให้ได้ทราบสาเหตุของการที่ถ้ำถล่มทลายได้ เพราะกลายเป็นคนเสียจริตเลอะเลือน ได้แต่พร่ำเพ้อถึงกรรมไม่ดีของตน และสุดท้ายก็ตายไป
จึงเรียกชื่อภูเขานี้ว่า “ภูบักบิด” ด้วยประการฉะนี้
หลวงปู่เล่าว่า สมัยเมื่อท่านเป็นเด็ก ขึ้นภูไปที่ถ้ำนี้ ยังทันได้เห็นฆ้องเภรีโบราณขนาดค่อนข้างเชื่องตั้งเรียงรายอยู่ และพระพุทธรูปทองคำก็ยังหลงเหลืออยู่บ้างแต่เป็นพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ มีแผ่นเงินหรือแผ่นทองแผ่หุ้มองค์ ไม่เป็นทองคำทั้งองค์อย่างที่กล่าวกัน พระพุทธรูปเล็ก ๆ เหล่านี้ตั้งอยู่บนแท่นหินในหลืบถ้ำ ขณะนั้นราคาทอง ราคาเงินก็ไม่สูงเท่าไร จึงไม่มีผู้ใดสนใจ มีพระพุทธรูปปั้นดินเผาบรรจุอยู่ในไหเต็มหลายต่อหลายใบ สิ่งเหล่านี้ภายหลังเมื่อท่านกลับไปทำความเพียร คงเหลือแต่พระดินในไหเท่านั้น ชาวบ้านยังยืนยันกันว่า ความศักดิ์สิทธิ์ที่ถ้ำในภูบักบิดนี้ยังมีอยู่มีพญานาคอาศัยอยู่ในถ้ำ โพรงของพญานาคนั้น หากเอามะพร้าวทิ้งลงไปจะไปโผล่ที่กุดป่องเลยทีเดียว
หลวงปู่เล่าว่า แต่แรกท่านมิได้เชื่อถือเรื่องพญานาค ที่ขึ้นไปทำความเพียรก็เพื่อเปลี่ยนสถานที่ ด้วยปี ๒๔๙๙ นี้ท่านจำพรรษาอยู่ที่บ้านกกกอก เป็นพื้นที่เชิงเขาออกพรรษาแล้ว จึงเปลี่ยนขึ้นภูบ้าง และเห็นว่า บนยอดภูนั้นป่าเขายังบริบูรณ์อยู่มากและประวัติของภูบักบิดแต่สมัยโบราณก็ดูขลังดี…! (สำนวนของท่าน….ขลังดี….ท่านใช้อยู่บ่อย ๆ) คงมีเทพมากเช่นเดียวกัน ท่านไปถึงภูบักบิดนี้ในเดือนอ้าย ตรงกับเดือนธันวาคม หมายความว่า ออกพรรษาเพียงเดือนเศษก็ไปเลย
เมื่อขึ้นไปภาวนา เพียงคืนแรก ก็เห็นมือใหญ่ดำ…ยื่นออกมาจากถ้ำเป็นมือที่ใหญ่โตเกินขนาดที่จะเป็นมือมนุษย์ ขนยาวรุงรัง ไม่เห็นอวัยวะส่วนอื่นนอกจากมือที่ชูร่อนเหมือนจะขอบุญกุศล หลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็น กำหนดจิตถามได้ความว่า เป็นเปรตมาขอส่วนบุญ ท่านจึงได้ตั้งจิตแผ่เมตตาให้…..
สำหรับเรื่องพญานาคนั้น ผลสุดท้ายท่านก็ต้องยอมรับว่า มีสิ่งลึกลับนี้อยู่จริง ท่านเล่าว่า พญานาคที่ภูบักบิดนั้น เดิมเป็นมิจฉาทิฏฐิ ระหว่างที่ท่านภาวนาก็มาลองดี เอาส่วนหางพันรอบกายท่านหลายรอบ แล้วรัดแน่น
“หนักอึ่กซึ่ก…อึ่กซึ่ก” ….อึดอัดมาก ทันทีที่รู้สึกตั้งสติไม่ทัน ทำให้ตกใจ…ท่านว่า “เกือบเสียทีเขา” แม้ท่านจะเป็นพระเถระแล้ว พรรษากว่าสามสิบ แต่ประสบการณ์ด้านพญานาคเคยมีอยู่ แต่การที่มาพันรัดตัวนี้เพิ่งจะพบ จึงอดสะดุ้งไม่ได้ แต่แล้วเมื่อตั้งสติได้ ก็กำหนดจิต “เอาพุทโธ…พุทโธ เป่าเข้าไป…เป่าเข้าไป ที่มันรัดแน่นก็คลายวับ ๆ เลย คลายเร็ว…เร็วเลย”
เป็นบางท่าน บางองค์ อาจจะแบกกลดหนีเลยก็ได้ แต่หลวงปู่ก็คงอยู่ทำความเพียรต่อไปอย่างไม่ลดละ แผ่เมตตาให้พญานาคผู้นั้น จนภายหลังจิตของเขาอ่อนน้อมยอมลงต่อท่าน กลายเป็นเพื่อนเป็นมิตรกัน
จากปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ท่านได้กลับไปภูบักบิดอีกหลายครั้ง โดยในภายหลังท่านถือเป็นสถานที่ซึ่งท่านจะพาพระเล็กเณรน้อยไปเร่งความเพียร โดยมีพญานาคเพื่อนคู่มิตรของท่านเป็นผู้ช่วยทรมานทดสอบความมั่นคงของจิตใจ
เคยกราบเรียนถามว่า การทดสอบของพญานาคทำอย่างไร ท่านก็หัวเราะ เฉยเสีย คาดว่า พญานาคนั้นย่อมมีฤทธิ์ในการแปลงกาย หรือเนรมิตสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้รวดเร็วมาก คงจะเป็นการทำให้ผู้ภาวนาเกรงกลัว จิตจะไม่กล้าส่งนอก แนบแน่นอยู่กับพุทโธ จนรวมลงเป็นสมาธิโดยเร็ว
การภาวนาที่ภูบักบิดนี้ แรก ๆ ท่านบันทึกไว้ว่า “สถานที่เป็นมงคลดี เทพมาก จิตแจบจมดี แทบไม่อยากจะจากไปที่อื่นเลย ลืมมืด ลืมแจ้ง” ท่านยังกลับไปหลายครั้งดังกล่าว แต่ภายหลังท่านบ่นว่า มันจืดไปแล้ว เข้าใจว่า ความเคยชินต่อภูบักบิด ทำให้ความรู้จักตนเต้น “ใหม่” ต่อสถานที่อันเป็นปกติวิสัยที่พระธุดงค์แสวงหานั้น…คลายลง ท่านจึงบ่นว่า “จืด” ไป
ภายในถ้ำ ปัจจุบันมีพระพุทธรูปประธาน ที่ท่านพระครูอดิสัยคุณาธารสร้างขึ้นไว้แต่ปี ๒๕๑๕ หนึ่งองค์ ภายหลังในปี ๒๕๒๙ นี้เอง หลวงปู่ได้มอบพระประธานองค์ใหญ่ไปประดิษฐานไว้อีก ๑ องค์ คู่กับพระพุทธรูปองค์เดิม แล้วรวบรวมพระพุทธรูปโบราณองค์เล็กองค์น้อยที่ยังหลงเหลืออยู่ในถ้ำบรรจุเข้าไว้ในองค์พระพุทธรูปองค์ใหญ่ด้วย ท่านได้มอบเงินไปให้จำนวนหนึ่ง ๔,๐๐๐ บาทสมทบกับที่ญาติโยมคนอื่น ๆ บริจาคอีก ๑๔,๐๐๐ บาท ให้จัดสร้างแท่นพระสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป หาจ้างช่างรับเหมาไม่มีคนยินยอม เพราะต้องขนอิฐ ปูน ทราย และน้ำขึ้นไปทำ ต้องเดินทางขึ้นเขาไปลำบากอีกประมาณ ๓ กิโลเมตร ผู้รับคำสั่งจากท่านให้จัดทำ ไม่ทราบจะทำประการใด จึงอธิษฐานถึงหลวงปู่ ขอให้งานลุล่วงไปด้วยดี พระพุทธรูปตั้งอยู่กับพื้นถ้ำ…ไม่เหมาะสม เธอเลยว่า ประหลาดใจที่จู่ๆ ก็มีผู้มาอนุเคราะห์ จัดหารถฟอร์วีล และลูกน้องมาช่วยขนอิฐ ปูน ทราย บุกเขาขึ้นไปส่งได้ ส่วนน้ำไม่ต้องขนขึ้นไป เพราะบังเอิญ (ไม่ทราบว่า บังเอิญหรือไม่…?) ฝนตกหนัก ทำให้ได้รองน้ำใส่แท็งก์น้ำและตุ่ม ทำให้ก่อสร้างแท่นพระพุทธรูปได้สำเร็จและสามารถอัญเชิญพระพุทธรูปของหลวงปู่ขึ้นประดิษฐานบนแท่นได้
ชาวจังหวัดเลยเล่าให้ฟังถึงโบสถ์วัดประชานิมิต ที่ก่อสร้างขึ้นมา ณ ที่เชิงภูบักบิดนั้น ในปี ๒๕๒๐ ที่พระคุณเจ้าหลวงปู่ศรีจันทร์เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ เช้าวันงาน รอบบริเวณภายนอกวัดฝนตกหนัก แต่ในบริเวณงานไม่มีฝนเลยครั้นเมื่อถึงเวลาพิธี ก็มีละอองน้ำโปรยปรายทั่วบริเวณ เหมือนพญานาคมาพ่นน้ำเป็นฟองฝอยอวยชัยให้พรแสดงสาธุการฉะนั้น ผู้ที่มาร่วมงานต่างเห็นเป็นอัศจรรย์กัน ทุกคน
ความจริง ชื่อภูนี้ เวลาชาวจังหวัดเลยเรียกกันว่า ภูบอบิด บ้าง ภูบ่อบิด บ้าง แต่ในบันทึกของหลวงปู่ ท่านเรียก ภูบักบิด ทุกครั้ง ผู้เขียนนำความเรียนปรึกษาพระเถระผู้ใหญ่ ท่านว่า ควรเขียนตามชื่อที่หลวงปู่ใช้ เพราะท่านย่อมพิจารณาและ “ทราบ” เรื่องอันอยู่เหนือกว่าที่บุคคลธรรมดาจะเข้าใจ และความจริง ชื่อ “ภูบักบิด” ของท่านก็สอดคล้องกับประวัติของถ้ำด้วย กล่าวคือ ภูที่มีเจ้าหนุ่ม (เณร) ผู้ไป “บิด” หยิกสาว
หลายปีต่อมา ท่านกลับมาบันทึกถึงภูบักบิดอีก โดยเฉพาะเกี่ยวกับการภาวนา ระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ อันเป็นครั้งที่ท่านได้ไปพบพญานาคมารัดกาย
ที่แห่งหนึ่ง ท่านกล่าวสรุปถึงการภาวนาที่เกือบเสียของท่านทั้งหมด ดังนี้
“ภูเก้า ๐๑ ภาวนาเกือบเสีย
ถ้ำผาบิ้ง ๐๒ เกือบเสีย
๐๓ ถ้ำผาพร้าว ฝั่งซ้าย (อยู่ทางนครเวียงจันทน์….ผู้เขียน) เกือบเสีย บุญวาสนาแก้ทัน เพราะอยู่คนเดียวเสียด้วย นี้เถระผู้ใหญ่ (ท่านมีพรรษาถึง ๓๖ พรรษาแล้ว ในปี ๒๕๐๓….ผู้เขียน) ยังมีนิมิตหลอกได้
ภูบักบิด เกือบเสียเหมือนกัน พ.ศ.๙๙
ถ้ำโพนงาม พ.ศ.๗๗ เกือบเสียเหมือนกัน ระยะผลร้ายที่สุด เกือบสึก เกือบบ้า เกือบเสียชีวิต สกลนคร”
ที่ถ้ำโพนงาม พ.ศ. ๗๗ ที่ท่านว่า “เกือบเสียเหมือนกัน… ฯลฯ” นั้นต่อมา ท่านก็เขียนว่า “การทำความเพียรอยู่ถ้ำโพนงาม ปี ๗๗ นั้น เด่นมาก….หากเราได้ฟังเทศน์ท่านอาจารย์มั่น เราอาจได้สำเร็จอรหันต์”
“เกือบเสีย…” ของท่าน. ..!
ดังนั้น ที่ภูบักบิดนี้เช่นกัน ท่านว่า “เกือบเสีย” แต่กรุณาฟังที่ท่านบันทึกไว้ ณ อีกแห่งหนึ่งว่า
“ถ้ำภูบักบิด เป็นสถานที่ทำความเพียร ไม่เบื่อ จิตไม่คุ้นเคยในสถาน เกรงกลัวในสถานเสมอ นำมาซึ่งความเจริญ นิมิตไม่ร้าย เมตตาจิตเสมอภาค ไม่มีอคติ แผ่เมตตาจิตเยือกเย็นดี ถ้ำนี้ปรุโปร่งทั่ว ธันวาคม พ.ศ.๙๙ เดือนอ้าย พ.ศ.๙๙ ถ้ำนี้ได้พิจารณาตาย ตายที่สงัดดีเป็นหนทางพระอริยเจ้าตายคนเดียว ตายด้วยกิเลส คือตายด้วยหมู่ไม่ดี”
“ถ้ำนี้พิจารณาธรรมะแจ่มใส พิจารณาแห่งเดียวรู้ทั่ว ภาวนาได้ทะลุทั้งตัว ภาวนาลมหายใจทุกเส้นขน เทพ อมนุษย์ นาค ในที่นี้ชอบเอาใจมาก แผ่เมตตาจิตนั้นชอบนัก มีเมตตาเสมอภาคต่อบุคคลทั้งปวงจิตสูงมีอำนาจมาก ความรู้เลื่อนจากฐานะเดิมสู่ที่สูงมาก ประหวัดถึงกึ่งพุทธกาลเสมอ มีปาฏิหาริย์ดีกว่าถ้ำอื่น ๆ…..จิตอุ้มหนุน เอื้อเรื่อย ๆอยู่ถ้ำนี้ไปนาน ๆ จะมีความรู้ใหญ่โต จิตประหวัดคิดถึงกามไม่มี เหมือนที่ถ้ำผาปู่ นิมิตความฝันเป็นมงคล”
เราคงจะเข้าใจคำว่า “เกือบเสีย” ของท่านได้แล้ว
พรรษาที่ ๓๓-๓๕ จำพรรษาร่วมกับกัลยาณมิตร
พ.ศ. ๒๕๐๐ ณ วัดป่าแก้ว บ้านชุมพล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
พ.ศ. ๒๕๐๑- ๒๕๐๒ ณ ถ้ำกลองเพล อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี
กับหลวงปู่ชอบ ฐานสโม
จากวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ที่หลวงปู่ได้ญัตติเป็นธรรมยุต ณ วัดโพธิสมภรณ์ ได้เป็นนาคขวาของ เจ้าคุณธรรมเจดีย์ ผู้เป็นองค์อุปัชฌายะโดยมี พระคุณเจ้าหลวงปู่ขาว อนาลโย เป็น นาคซ้าย ท่านทั้งสององค์ผู้เป็นคู่นาคขวาและซ้ายของกันและกัน ก็เป็นกัลยาณมิตรเอื้อเฟื้อต่อกันตลอดมา ด้วยต่างมีใจตรงกัน หวังจะปฏิบัติธรรมเพื่อความเกษมหลุดพ้นจากโอฆสงสารเช่นเดียวกัน นับแต่ ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ซึ่งท่านและหลวงปู่ขาว ได้จำพรรษาร่วมกัน ณ วัดป่าบ้านหนองวัวซอ ซึ่งมีหลวงปู่ชอบ ฐานสโม จำพรรษาอยู่ร่วมด้วยแล้ว ท่านต่างก็แยกย้ายกันไปแสวงหา ภูเขา เงื้อมถ้ำ โคนไม้ ตามป่าเปลี่ยว เขาสูง เพื่อทรมานกิเลส ต่างถิ่นต่างสถานที่กันไป ตามนิสัยความพอใจของแต่ละองค์
บางโอกาส บางสถานที่ ท่านอาจจะโคจรมาพบกันบ้าง แต่เมื่อต่างองค์ต่างพอใจในความวิเวก สันโดษ อยู่คนเดียว ไปคนเดียว เป็นปกตินิสัย การจะมาจำพรรษาด้วยกันอีกจึงเป็นการยาก กระทั่งเวลาผ่านไปถึง ๒๗ ปี คู่นาคขวาซ้ายจึงมาปวารณาเข้าพรรษาด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง
ท่านท่องเที่ยววิเวกจำพรรษาอยู่ทาง อุดร ขอนแก่น นครราชสีมา และใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ตามถ้ำเขาในเขตจังหวัดเลยอันเป็นจังหวัดบ้านเกิด พร้อมทั้งติดตามไปอยู่จำพรรษาใกล้กับครูบาอาจารย์ในสกลนคร ในขณะที่หลวงปู่ขาวจากอุดร สกลนคร นครพนม ขึ้นไปแสวงหาความวิเวกในจังหวัดภาคเหนือ จนได้ธรรมอันเป็นที่ยอดปรารถนาแล้ว ท่านก็กลับมาภาคอีสาน ได้พบกับหลวงปู่หลุยบ้าง ในระหว่างเวลาที่ท่านเข้ามากราบเยี่ยมฟังธรรมหลวงปู่มั่น…แล้วท่านก็จะเที่ยวธุดงค์ต่อไปทางจังหวัดอุดร หนองคาย ระยะเวลาที่เส้นทางโคจรมาประสานกันจึงค่อนข้างสั้น
ระยะนั้น ญาติโยมแถบอำเภอสว่างแดนดิน ได้นิมนต์ให้หลวงปู่ขาวมาเป็นประธานให้ที่พึ่งทางใจแก่พวกเขา ที่วัดป่าแก้ว บ้านชุมพล ต.ค้อใต้ ท่านอยู่โปรดพวกเขาบ้าง แต่สถานที่นั้นไม่มีภูมิประเทศ ลักษณะถ้ำ ลักษณะขุนเขาที่ท่านพึงใจได้โอกาสหลวงปู่ขาวท่านก็จะหลีกเร้นไปวิเวก และบางครั้งก็อยู่ต่อไปจนเข้าพรรษาอย่างเช่นที่ดงหม้อทอง อำเภอวานรนิวาส สกลนคร ใน พ.ศ. ๒๔๙๗ หรือที่ ถ้ำแก้ว ตาดปอ บ้านทุ่งทรายจก ภูวัว หนองคาย ใน พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นต้น
ออกพรรษา ปี ๒๔๙๙ ชาวบ้านแถบบ้านค้อใต้ ก็มาอาราธนาอ้อนวอนให้หลวงปู่ขาวกลับมาอยู่ ณ วัดป่าแก้วอีก ท่านรับนิมนต์ และปี ๒๕๐๐ นี้เป็นปีสุดท้ายที่ท่านจำพรรษาอยู่โปรดชาวบ้านชุมพลและบ้านค้อใต้ เพราะต่อมาท่านก็เที่ยวธุดงคกรรมฐาน ได้ไปพบสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง ณ อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี เป็นป่ารกชัฏ บริบูรณ์ด้วยพลาญหิน ละหานห้วย เงื้อมเขาและเถื่อนถ้ำต้นไม้สูงใหญ่ขึ้นเบียดเสียดกัน เหมาะแก่อัธยาศัยในการอยู่บำเพ็ญภาวนา หลวงปู่ขาวจึงพักอยู่ ณ บริเวณสถานที่นั้น และต่อมาก็ได้จัดตั้งขึ้นเป็นวัด มีนามว่า วัดถ้ำกลองเพล ซึ่งเป็นที่ซึ่งท่านอยู่บำเพ็ญสมณธรรมตลอดมาจนวาระสุดท้ายของชีวิตของท่านในเดือนพฤษภาคม ๒๕๒๖
หลวงปู่หลุยเที่ยววิเวกมาจากทางจังหวัดเลย มาพบหลวงปู่ขาวที่วัดป่าแก้ว ก่อนจะเข้าพรรษา ปี ๒๕๐๐ เล็กน้อย เมื่อเพื่อนสหธรรมิกชวนให้อยู่จำพรรษาด้วยกันแม้สภาพของวัดป่าแก้วจะอยู่ในพื้นที่ราบ ไม่ใช่ถ้ำ ไม่ใช่เขาอย่างแถบจังหวัดเลยหรือสกลนครที่ท่านพึงใจ แต่เพื่อนสหธรรมิกที่จะอยู่ร่วมด้วย เป็นผู้ที่มีอัธยาศัยต้องกันมีคุณธรรมที่ท่านยกย่อง ท่านก็ตกลงจำพรรษาอยู่ด้วย
ท่านกล่าวว่า สถานที่นี้ออกจะเป็นที่ซึ่ง “ลวงตา” อยู่ กล่าวคือ เดิมคิดว่าคงจะไม่มีอะไรเลย แต่เมื่อพอใจจะได้อยู่กับกัลยาณมิตร ได้มีเวลาธรรมสากัจฉากันบ้างซึ่งก็คงเป็น “สัปปายะ” อันเพียงพอแล้วที่ท่านต้องการ อย่างไรก็ดี ท่านได้พบด้วยความประหลาดใจว่า นอกจากบุคคลสัปปายะแล้ว แม้สถานที่ก็สัปปายะ…และอากาศก็สัปปายะด้วย
ท่านและหลวงปู่ขาวถูกอัธยาศัยกันมาก ท่านเล่าว่า นอกเหนือจากเวลาที่ญาติโยมมาหา ซึ่งเป็นเวลาที่ท่านช่วยหลวงปู่ขาวรับแขกแล้ว ท่านก็ต่างองค์ต่างเข้าที่ภาวนา หรือเดินจงกรมกัน อยู่คนละแห่ง คนละแดนของวัด วัน ๆ หนึ่งแทบไม่ได้พบหน้ากัน พูดคุยกัน นอกจากเวลาเตรียมตัวไปบิณฑบาต หรือฉันน้ำร้อน
ท่านยอมรับว่า นิสัยของท่านทั้งสองต่างคล้ายกัน คือ ชอบเปลี่ยนที่ทำความเพียร เช่น เวลาเช้า นั่งภาวนาอยู่ ณ ใต้ร่มไม้แห่งหนึ่ง เวลาบ่าย ไปทำความเพียรอีกแห่งหนึ่ง ตกค่ำ เปลี่ยนที่ต่อไปอีก เปลี่ยนทิศ เปลี่ยนสถานที่ แม้แต่เส้นทางจงกรมก็ตาม ท่านก็ยังจัดทำไว้หลายสาย สายหนึ่งสำหรับบริเวณนี้ อีกสายหนึ่งสำหรับบริเวณตอนโน้น บริเวณวัดนั้นกว้างขวางมาก ด้วยยังเป็นป่าเป็นแนวไพรอยู่ ผู้ภาวนาจึงสามารถเที่ยวเลือกหาแบ่งปักปันเขตภาวนากันตามอัธยาศัย แดนนี้…สุดชายป่านี้ เป็นขององค์นี้ แดนโน้น สุดชายป่าโน้น เป็นขององค์นั้น
ก้อ…สมมติกันน่ะแหละ ว่าเป็นแดนของใคร… ท่านเล่าขัน ๆ
แต่บางเวลา เปลี่ยนทิศทาง ไปซ้าย ไปขวา ไปใกล้ ไปไกล…ภาวนาเพลินไป ออกจากที่ภาวนา ปรากฏว่ามาทับแดนกัน อยู่ห่างกันเพียงกอไม้กลุ่มเดียวก็เคยมี… !
ท่านต้องอัธยาศัยกันมาก ทั้ง ๆ ที่ท่านต่างชอบสันโดษไปองค์เดียวแต่สำหรับกับหลวงปู่ขาว ดูจะเป็นกรณียกเว้น เมื่อหลวงปู่ขาวไปพบถ้ำกลองเพล ท่านจึงชวนหลวงปู่หลุยให้ไปจำพรรษาอยู่ด้วยกันอีก
ในปีพรรษา ๒๕๐๑ และ ๒๕๐๒ หลวงปู่หลุยจึงอยู่ร่วมกับหลวงปู่ขาวต่อไป รวมเป็นเวลาที่ท่านจำพรรษาอยู่ด้วยกันถึง ๓ ปีติดต่อกัน ซึ่งท่านกล่าวว่า ท่านมิได้เคยจำพรรษาอยู่ด้วยใครนานเช่นนี้มาก่อนเลย
ยิ่งถ้ำกลองเพลมีอาณาบริเวณกว้างขวาง เป็นป่ารกชัฏ บริบูรณ์ด้วยพลาญหิน ละหานห้วย เงื้อมเขาและเถื่อนถ้ำดังกล่าวแล้ว การที่หลวงปู่ทั้งสององค์จะแยกกันหลีกเร้นไปหาที่สงัดวิเวกจึงแทบไม่มีโอกาสที่จะมา “ทับแดน” กันได้เลย
อยู่องค์ละเงื้อมหิน องค์ละถ้ำ ไม่ต้องพูดคุยกัน
ในภายหลัง ได้มาพบบันทึกของหลวงปู่หลุย ท่านกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
“พระเถระไปเยี่ยมกัน ท่านใช้ฌานของจิต ไม่ต้องพูดกันอย่างคนธรรมดา รู้สุข รู้ทุกข์ รู้ทันที ผิดกับคนสามัญต้องถามสุขทุกข์กันเสียจึงรู้ได้”
คงจะพอเข้าใจแล้ว ทำไมท่านไม่จำเป็นต้องพูดคุยกัน…!!
เฉพาะในถ้ำกลองเพล ซึ่งเป็นถ้ำใหญ่กว้างขวาง เพดานถ้ำสูง มีอากาศโปร่ง โล่ง สบาย ลมพัดถ่ายเทได้ ปากถ้ำก็กว้าง คนเข้าไปอยู่ในบริเวณถ้ำได้เป็นจำนวนเรือนพัน กล่าวกันว่า ภายในถ้ำนั้นเคยมีกลองเพลใหญ่ประจำอยู่ลูกหนึ่ง ขนาดใหญ่มหึมา ไม่ทราบสร้างกันมาแต่กาลใด สมัยใด คงจะเป็นเวลานับด้วยร้อย ๆ ปีผ่านมาแล้วบ้างก็ว่า เกิดขึ้นเองพร้อมกับถ้ำ บ้างก็ว่า เป็นกลองเทพเนรมิตขึ้นสำหรับผู้มีบุญ กลองเพลนั้นอยู่คู่กับถ้ำมาช้านาน สุดท้ายก็เสื่อมสลายลงเป็นดินตามกฎแห่งอนิจจังที่ว่า มีเกิด ย่อมมีดับ มีอุบัติ ย่อมมีเสื่อมสลายทำลายลง พวกที่เคยเข้าไปล่าสัตว์อาศัยเข้าไปพักเหนื่อยหรือหุงหาอาหาร เล่าว่า เคยเห็นเศษไม้ของกลองยักษ์นั้นที่กระจัดกระจายอยู่ในหลืบถ้ำ เอามาเป็นฟืนหุงต้มอาหารได้
ที่สำคัญก็คือ ภายในถ้ำนั้นมีพระพุทธรูปขนาดต่าง ๆ มากมาย ประดิษฐานไว้ตามหลังเขา และในถ้ำ ส่วนที่กล่าวกันว่า เป็นพระพุทธรูปทอง หรือพระพุทธรูปเงินแท้นั้น ได้ถูกคนในสมัยหลังยึดถือเอาไปเป็นสมบัติส่วนตัวกันหมดแล้ว
โดยที่ปี ๒๕๐๑ เป็นปีแรกที่หลวงปู่ขาวท่านมาเริ่มตั้งวัดถ้ำกลองเพลดังนั้น หลวงปู่หลุยจึงเท่ากับมาร่วมอยู่ในยุค “บุกเบิกแรกตั้ง” ด้วย ท่านมิได้มีนิสัยในทางก่อสร้าง แต่ท่านก็คงช่วยเพื่อนสหธรรมิกของท่านในการเทศนาอบรม โดยเฉพาะเชิญชวนพุทธบริษัทให้มาร่วมทำนุบำรุงวัดถ้ำกลองเพลด้วย
ได้พบข้อความในสมุดบันทึกของท่านหลายแห่ง ซึ่งท่านให้ชื่อไว้ว่า “โฆษณาเชยชมถ้ำกลองเพลโดยเอกเทศ” ขอเลือกนำมาลงพิมพ์ไว้เป็นอนุสรณ์ในที่นี้สำนวนหนึ่ง ดังนี้
“ถ้ำกลองเพลเป็นสถานที่ประชุมของพุทธบริษัท มีทั้งภิกษุสงฆ์สามเณร มีทั้งศิษย์วัด มีทั้งแม่ขาว นางชี และมี ท่านอาจารย์ขาว ผู้เป็นเถระผู้ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาเป็นเจ้าอาวาส ประกอบทั้งมีคุณวุฒิทางธรรมวินัยที่ได้อบรม และฉายความรู้มาจากเถระผู้ใหญ่ กล่าวคือ ท่านอาจารย์มั่น โลกนิยมกันว่า เป็นคณาจารย์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานที่สำคัญของภาคอีสาน”
“แม้ท่านอาจารย์ขาวองค์นี้ เป็นที่นับถือของพระเถรานุเถระผู้ใหญ่มานาน ทั้งท่านได้มีโอกาสมาจำพรรษา ณ ถ้ำกลองเพล ที่ถ้ำกลองเพลนี้ก็ได้ทราบว่า พระภิกษุสามเณร แม่ขาว นางชี มาจากต่างถิ่น ต่างจังหวัดเช่น อุบล อุดร ขอนแก่น เลย หนองบัวลำภู สกลนคร พร้อมฉันทะมาจำพรรษา ณ ถ้ำกลองเพลนี้ปีละมาก ๆ หากว่าเช่นนั้นเป็นสายชะนวนให้พุทธบริษัทดำเนินการก่อสร้างวัดถ้ำกลองเพล”
“ถ้ำกลองเพลนี้ เนื้อที่ของวัดกว้างขวาง ประมาณ……………..ไร่ ภูเขาถ้ำกลองเพลเป็นธรรมชาติภูเขามาตั้งแต่ปฐมกัป มีเรือกเกณฑ์ภูมิลำเนาดี มีน้ำอุปโภค บริโภค มีถ้ำใหญ่ มีพุทธรูปปฏิมากรเป็นพยานน่าชื่นใจ น่าบูชา และมีเหลี่ยมหินที่เล็กๆ หลายแห่ง ซอกเขาต่าง ๆ เป็นที่ซ่อนใจ ซ่อนตัวในเวลากลางวันได้ สถานที่ขึ้นไปหาถ้ำบิ้งขึ้นแต่ถ้ำหารไป..มีสูง ๆ ต่ำ ๆ และมีกุฎีปลูกขึ้นไปโดยลำดับสวยงาม ส่วนผาบิ้งนั้นมีดานหินที่สะอาด เดินภาวนาเปลี่ยนอิริยาบถได้ตามสบาย ทั้งมีก้อนหินสูง ๆ ต่ำ ๆ สะอาด เจริญใจ ทั้งมีลำคลองน้ำเล็ก ๆ ที่มีน้ำใช้ ฤดูฝนใสสะอาด บริโภค อุปโภคได้เป็นอย่างดี ถ้ำกลองเพลนี้ประกอบไปด้วยป่าใหญ่ที่เกิดจากธรรมชาติ เป็นเทือกดงแนวป่าเปลี่ยว สดชื่น ป่าไม้นั้นล้วนอยู่ในบริเวณถ้ำกลองเพลทั้งนั้น”
“ถ้ำกลองเพลนี้ หนทางเข้าวัด ติดกับทางรถยนต์ระหว่างอุดรไปหนองบัวลำภู ทางแยกรถยนต์เข้ามาทางวัด ๕. กิโลเมตร สะดวกไม่ขัดข้องด้วยประการใด ๆ ถ้ำกลองเพลเป็นสถานที่ห่างไกลจากบ้าน เป็นสถานที่เจริญสมณธรรม เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณกาลนานหนักหนา เป็นสถานที่มงคลดุจเทพรักษาถิ่นนี้มาก เป็นสถานที่ดึงดูดน้ำใจพวกเราพุทธบริษัทให้มาดูสภาพของถ้ำกลองเพลเรื่อย ๆ…เป็นสถานที่มีชื่อเสียงเด่นไปต่างจังหวัดอื่น…เป็นสถานที่ร่วมใจของชาวเมือง มีข้าราชการ พ่อค้าพาณิชย์ และชาวไร่ชาวนา พากันมานมัสการพระพุทธรูปปฏิมากร เจดียสถาน แม้ในฤดูกาลปีใหม่ ท่านศาสนิกชนทั้งหลายพากันมาสระสรงพระพุทธรูป เพื่อขอฟ้าขอฝน และขออยู่อายุวรรณะ สุขะ พละ สำหรับปีใหม่”
“ถ้ำกลองเพล มีทั้งต้นกล้วย ต้นขนุน ต้นมะละกอ เป็นพิเศษหมากไม้บริโภคที่เกิดจากธรรมชาติไม่แสลงโรค ครั้นพากันบริโภคแล้วบังเกิดความสุข หากว่าเป็นเช่นนี้ พวกเราพุทธศาสนิกชนควรปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมสาธารณวัตถุ เพื่ออุทิศบูชาไว้ในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีอานิสงส์อย่างใหญ่ไพศาล”
“ถ้ำกลองเพลนี้ มีท่านอาจารย์ขาวเป็นเจ้าอาวาส ท่านเป็นคณาจารย์ฝ่ายวิปัสสนา ทั้งมีพระภิกษุสามเณรเป็นจำนวนมาก มีทั้งฤดูแล้ง ฤดูฝนมิได้ขาด ท่านโยคาวจรเจ้าทั้งหลายผู้ที่แสวงหาวิโมกขธรรมย่อมไปๆ มา ๆอยู่อย่างนั้นมิได้ขาดสาย ท่านเหล่านั้นมาพักพาอาศัย พึงร่มพึ่งเย็นที่คณะอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายท่านพากันก่อสร้างไว้ดังนี้ แม้เสนาสนะไม่เพียงพอก็อยู่ ท่านเหล่านั้นพากันอยู่ในรุกขมูล ต้นไม้บ้าง อยู่ในถ้ำบ้างอยู่ง่ามภูเขาบ้าง แล้วแต่ความผาสุกของท่านเหล่านั้น”
“ถ้ำกลองเพล ต่ออนาคตข้างหน้าจะเป็นวัดสำนักใหญ่ เป็นสถานที่เป็นมงคลอย่างยิ่งในอนาคตข้างหน้า หากว่าเป็นเช่นนี้ การก่อสร้างใด ๆ จะเป็นกุฎีก็ดี หรือจะเป็นสรณวัตถุสิ่งอื่น ๆ ก็ดี ล้วนแต่เป็นสถานที่เสนาสนะต้อนรับพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายที่มาแต่จตุรทิศทั้ง ๔ ซึ่งมีอานิสงส์อย่างไพศาล”
“….นำมาซึ่งความชื่นใจของท่านศาสนิกชนพุทธบริษัทต่อหลายฟ้าหลายปี จะเป็นสำนักใหญ่รุ่งเรืองด้วยผ้ากาสาวพัสตร์อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ ท่านผู้มาพบเห็น ก็พากันใคร่อยากจะก่อสร้างเป็นอนุสาวรีย์ไว้ในศาสนาทั้งนั้น เพื่อสืบบุญลูก บุญหลาน บุญเหลนต่อไป อนุชนเหล่านั้น ก็จะได้พากันระลึกได้ว่า ปู่ของเรา ย่าของเรา ชวดของเรา บิดามารดาของเรา ท่านเหล่านั้นได้พากันก่อสร้างไว้แล้ว อนุชนเหล่านั้นจะได้พากันก่อสร้างสืบต่ออนาคต….ดังนี้”
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-louis/lp-louis-hist-04-08.htm