ประวัติการสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวดวัดช้างไห้ ว่าน รุ่นแรก พ.ศ. 2497 จ.ปัตตานี.
โดย กู้หาดใหญ
เมื่อเอ่ย ถึงประวัติในการสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวดว่านรุ่นแรก พ.ศ.2497 จ.ปัตตานี. มีหลายๆท่านอาจจะได้รับทราบข้อมูลมามากมาย จากสื่อนิตยสาร รวมเล่ม จากประวัติที่ได้ฟังเขาเล่าขานกันมา และ ในสิ่งที่กระผม จะเขียนให้ได้อ่าน และได้รับทราบข้อมูลตามที่กระผมได้สอบถามประวัติมาให้อ่านนี้ มิได้คัดลอกบทความ จากผู้หนึ่งผู้ใด เป็นข้อมูล ดิบๆที่จะเขียนให้ทุกๆท่านได้อ่านรับทราบตามที่กระผมได้รับฟังมา ไม่ได้มีความคิดว่า สิ่งที่กระผมได้นำมาเขียนนี้มันเลอเลิศ แต่….ด้วยความสำนึกในบุญคุณบารมี องค์พระโพธิสัตว์หลวงปู่ทวด วัดช้างไห้ เหยียบน้ำทะเลจืดและพระอาจารย์ทิม อดีต เจ้าอาวาส วัดช้างไห้ จ.ปัตตานี ซึ่งมีบุญสัมพันธ์ กับ หลวงปู่ทวด ตั้งแต่อดีตชาติ ถึงปัจจุบันชาติ อันที่จริงจะว่ากันแล้ว ด้วย พระบารมีองค์พระโพธิสัตว์ หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด บวกกับวัตรปฏิบัติของพระอาจารย์ทิม งดงามยิ่งนัก เป็นพลังรวมพลังอันมหาศาล ที่ใสสะอาดประดุจ แก้วใส สารพัดนึก เพราะการสร้างเมื่อครั้งอดีต เป็นการสร้างที่มีเจตนาบริสุทธิ์จริงๆไม่มีเจตนาในเรื่องการ ซื้อ-ขายแต่อย่างใด ฉะนั้นพระเครื่องเมื่อครั้งในอดีตจะคงความเข้มขลัง ใสสะอาดบริสุทธิ์ จึงเปี่ยมล้นไปด้วย พลังพุทธคุณ ครับไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมพระเครื่องหลวงปู่ทวด ว่านรุ่นแรก วัดช้างไห้จึงเป็นพระเครื่องที่ “อมตะ” ไม่มีวันดับหายไปจากความศรัทธาของเหล่านักพระเครื่องและประชาชนโดยทั่วไป อีกทั้ง เรื่อง พุทธคุณประสบการณ์ ที่มีมาตลอด ผมเข้าใจว่า พุทธคุณ บวก กับบารมีหลวงปู่ทวด ผมมั่นใจว่าจะมีอยู่ไม่เสื่อมคลาย เรื่องราวการจัดสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวด ว่านรุ่นแรกนั้น ยังมีอีกหลายท่านที่ยังไม่ทราบความเป็นจริงว่าพระเครื่องหลวงปู่ทวดว่าน 2497 นั้น ว่านที่นำมาเป็นส่วนผสมนั้น มีทั้งหมด 200 กว่าชนิด คำว่า 108 มิใช่ว่าน 108 ชนิด แต่เป็นเรื่องพุทธคุณที่มีถึง 108 คำว่า 108 ก็คือ “ได้ทุกสิ่งอะไรก็ได้ศักดิ์สิทธิ์”คำว่าศักดิ์สิทธิ์ เป็นคำพูดที่ครอบ จักรวาล นั่นเองคนเขามักจะนิยมเอามาพูดกัน.
พระอาจารย์ทิม ขณะทำพิธีพุทธาภิเษก หลวงปู่ทวดว่านรุ่นแรก วัดช้างไห้ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 พ.ศ.2497
ว่าน 200 กว่าชนิดส่วนผสมหลวงปู่ทวด 2497.
พูด ถึงว่านต่างๆที่พระอาจารย์ทิมได้บอกกล่าวให้ ชาวบ้านแถบป่าไร่ ข้างวัดช้างไห้เวลาไปกรีดยาง ขากลับให้นำว่านมาทิ้งไว้ตรงบริเวณลานวัดเพื่อทำการตากแห้ง.
คำบอกเล่าจากปาก อ.แย้ม พุฒยอด.
อาจารย์แย้ม พุฒยอด. หรือที่ท่านอาจารย์ทิม จะเรียกว่า เจ้าแย้ม นั้นเป็นศิษย์เอก ของพระอาจารย์ทิม พื้นเพเดิม อ.แย้ม อยู่เยื้องๆกับวัดช้างไห้ มีบ้านและสวนยางอยู่ในละแวกนั้น ซึ่งจัดได้ว่า อ.แย้ม เป็นผู้มีฐานะคนหนึ่ง อีกทั้งยังได้รับการถ่ายทอด วิชาอาคม จากพระอาจารย์ทิม ในเรื่องของการ สักยันต์นั่นเอง. ท่านอาจารย์แย้ม ได้เล่าให้ฟังว่า ท่านอาจารย์ทิมท่านเป็นพระอาจารย์ที่น่ารักมาก มีจิต เมตตาต่อชาวบ้าน ไม่ว่าพระอาจารย์ทิม จะขอความช่วยเหลืออะไร ชาวบ้านจะยื่นมือเข้ามาช่วยทันทีเหมือนอย่างกับการที่พระอาจารย์ทิม ได้ดำริ ว่าจะสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวดว่าน 108 ชาวบ้านที่ทราบต่างก็เสาะหาว่านมาให้กับพระอาจารย์ทิมทันที.
คุณอนันต์ คณานุรักษ์.ผู้รับหน้าที่การทำบล็อกพระ
จากคำ บอกเล่าของท่านอาจารย์แย้ม พุฒยอด.ว่า เรื่องการจัดสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวดว่านรุ่นแรกนั้น เกิดจาก คุณอนันต์ คณานุรักษ์. ท่านนิมิตย์ถึงหลวงปู่ทวด ให้มีการจัดสร้างพระเครื่องขึ้น ซึ่งพระอาจารย์ทิม ท่านให้ คุณอนันต์เป็นผู้ดำเนินการจัดทำบล็อก ทั้งหมด.
บล็อกพระเป็นบล็อกครั่ง
พูดถึงบล็อกพระเครื่องหลวงปู่ทวด ครั้งแรกเป็นโลหะ แล้ว นำครั่งพุทรามาเททำบล็อกจึงไม่เป็นที่น่า
แปลกที่จะเจอบล็อกแท้ๆของพระเครื่องหลวงปู่ทวดที่เป็นครั่งจะมีการหดตัวสูงหากเปรียบกับกาลเวลาที่ได้
จัดทำมาถึง “ห้าสิบกว่าปี” มาแล้ว ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2497. มาจนถึงวันนี้ ผมเองได้สอบถามชาวบ้านในละแวก
วัดช้างไห้หลายท่านด้วยกันในปัจจุบันนี้ก็ไม่สามารถนำมาอ้างอิงได้เพราะว่าไม่ได้คิดว่าตัวผมเองจะมาทำ
ประวัติของการสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวด ที่ผมได้มีโอกาสถ่ายภาพคู่กับอ.แย้ม นั้นเป็นเพราะว่าผมเป็น
บุตรบุญธรรม ของ อ.แย้ม และเป็นศิษย์อ.แย้ม ผมเองได้สักยันต์หลวงปู่ทวดที่หน้าอก และได้ยกครู 12 บาท.
เป็นศิษย์ อ.แย้มเมื่อปี 2517 อย่างถูกต้องวันนั้นผมเองมีความตั้งใจถ่ายภาพกับ อ.แย้ม และ ภรรยา ก่อนหน้า
นั้นไม่นาน อ.แย้ม ก็ได้ถึงแก่กรรม ด้วยโรค “ชรา”.
กู้ หาดใหญ่ และ ภรรยา ได้ ถ่ายภาพ กับท่าน อาจารย์แย้ม พุฒยอด. ที่บ้านท่านอาจารย์แย้ม อยู่เยื้องกับวัดช้างไห้ ปัจจุบัน พี่หลวงพล บุตรชายของท่านอาจารย์แย้ม ก็ยังคงรับหน้าที่ สักยันต์ครู (ยันต์หลวงปู่ทวด) อยู่ ทุกวันนี้ครับ.
บล็อกครั่ง ร่วม 100 บล็อก.
อ.แย้ม ได้เล่าต่อไปว่า คุณอนันต์ได้จัดทำบล็อกขึ้น เกือบ 100 บล็อก.ใช้คนช่วยกันกดพิมพ์พระเกือบ
ร้อยคน มีทั้งเณร และ พระสงฆ์ ฆราวาสนุ่งขาวห่มขาว รวมทั้ง อ.แย้ม ร่วมกันกดพิมพ์พระด้วย การกดพิมพ์
พระไม่ได้พิถีพิถันแต่อย่างใด บางท่านก็ใช้ก้านธูป บางท่านก็ใช้เคาะออกจากเบ้า และ บางท่านก็ใช้ไม้ไผ่
เหลาให้แบนๆเพื่อจะได้สะดวกในการงัดเอาพระเครื่องออกจากบล็อก จุดนี้นี่เองจึงไม่เป็นข้อยุติว่า ใต้ฐาน
พระ รูจะกลม หรือ จะแบน หรือไม่มีรูก็เกิดจากการกดเบ้าแล้วเคาะออกพระจะหลุดออกจากเบ้าหากเนื้อที่กด
นั้นไม่เหนียวจนเกินไป.
ปาฏิหาริย์ของว่าน 108.
จากคำบอกเล่าจากชาวบ้านที่ไปเสาะหาว่านมาถวายพระอาจารย์ทิม ว่า ตนเองได้หาว่านหลังจากเสร็จจากกรีดยาง (เช้า) ก็ได้ไปหาว่านโดยการนำว่านใส่กระสอบปุ๋ย จนเต็มถุงปุ๋ยจึงได้กลับ ขากลับตะวันใกล้จะตกดิน ตนเองมีความรู้สึกว่าได้เหยียบอะไรบางอย่างรู้สึกว่านิ่มๆลื่นๆพอมองดู ตกใจมาก “งู” เต็มไปหมด ตนเองได้เหยียบงู แต่แปลก งูไม่ทำร้ายกลับเลื้อยหนีไปนั่นเป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของว่านนั่นเองที่ตนเองได้แบกอยู่ จึงได้นำความนี้ไปเล่าให้พระอาจารย์ทิมฟัง พระอาจารย์จึงได้บอก ญาติโยมว่า นี่แหละคือสาเหตุที่บอกญาติโยมให้เสาะหาว่านมาเพื่อที่จะนำไปสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวด ความ ศักดิ์สิทธิ์ของว่านมีอยู่แล้ว บวกกับบารมีหลวงปู่ทวดแล้วด้วย พุทธคุณ สูงสุด ต่อไปพระเครื่องชุดนี้จะมีคุณค่ามหาศาลและหายาก นี่คือคำบอกเล่าจากปากชาวบ้าน พระอาจารย์ทิม พูดย้ำอยู่ตลอด เวลาญาติโยมนำว่านมาให้ ท่านจะเสกว่าน แล้วให้ชาวบ้านนำไปตากไว้บริเวณลานวัด.
ว่านบางชนิดเอาลูกไก่ไปล่อ.
ชาวบ้านอีกท่านได้เล่าว่า ตนเองได้เข้าไปในป่าลึกเพื่อเสาะหาว่านต่างๆที่หายากๆสมัยนั้นก็มี ว่านสบู่เลือดตัวผู้-ตัวเมีย ,ว่านกลิ้งกลางดง , ว่านสาวหลง , ว่านพญาว่าน, ว่านหนุมานนั่งแท่น, ว่านคางคก , ว่านนางกวัก , ว่านนกคุ้ม , และว่านอื่นอีกมากมาย แต่ที่ตื่นเต้นที่สุด คือ ไปเจอว่านชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายกับ หม้อข้าว หม้อแกง(มีฝาเปิดปิดดักจับแมลง) แต่นี่เป็นรูปลักษณะคล้ายกันแต่ใหญ่กว่ามาก ความกว้างเกือบเท่าศรีษะคน พอเข้าใกล้มันจะหุบ จะถอนก็ถอนไม่ได้มันจะหุบเข้าหุบออก ด้วยความกลัวจึงไม่เอาต้นว่านต้นนี้ เลยเดินทางกลับ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องแปลกสำหรับคนเดินป่าหาของป่า ความนี้ทราบไปถึงพ่อเฒ่าท่านหนึ่งได้บอกว่า ถ้าอยากจะได้ว่านต้นนี้ต้องนำไก่เป็นๆไปหนึ่งตัวเพื่อไปล่อให้มันกิน จะได้ถอนต้นมันได้ เพราะว่าพอมันกินไก่แล้วลำต้นมันจะอ่อนคล้ายคนนอนหลับ แต่ต้องไปเอายามเช้าอย่าให้สาย ว่าแล้วชาวบ้านท่านนั้นได้ทำตามที่ท่านผู้เฒ่าบอก ตกลงว่าได้ต้นว่านนั้นมาสำเร็จแต่ ต้องแลกด้วย ชีวิตไก่ หนึ่งตัวทุกวันนี้ยังเป็นปริศนาว่า ว่านต้นนั้นเป็นว่าอะไรกันแน่ นับว่าเป็นเรื่องแปลก แต่ จริง.
มวลสาร ที่นำมาผสมมี “ข้าวก้นบาตร”
พระอาจารย์ทิม จะเก็บข้าวก้นบาตรไว้ทุกวัน เพื่อที่จะนำไปส่วนผสมในการทำพระเครื่องหลวงปู่ทวด โดยการนำข้าวก้นบาตรไปตากแดดบนหลังคากุฏิ เพื่อกันไก่ เข้าไปกิน.
ข้าวเหนียวมาปั้นเป็นก้อนเท่ากับกำปั้น.
ข้าวเหนียวในพิธีขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 คือวันไหว้ครู ที่จะจัดขึ้นเป็น ประจำของทุกปี การที่นำข้าวเหนียวที่ปั้นแล้วมาปลุกเสกนั้นเป็นพิธีกรรมโบราณซึ่งมีมานานแล้ว ผู้ที่เข้าพิธีกรรมนั้น ต้องกินข้าวเหนียว เพื่อเป็นสิริมงคล และในแง่ของคนเรียน ไสยศาสตร์ หากได้กินข้าวเหนียวในพิธีแล้วจะ อยู่ยงคงกระพัน ซึ่งข้าวเหนียวนั้นจะเป็นส่วนผสมในการสร้างหลวงปู่ทวดว่าน 2497ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะนำไปตากแดดให้แห้งแล้วนำไปบดผสมกับว่าน 108 .
กล้วยป่าเป็นส่วนผสม พร้อมน้ำมันตังอิ้ว.
ชาวบ้านในละแวกวัดช้างไห้ ทั้งชาวบ้านป่าไร่ เขามีความศรัทธาในวัตรปฏิบัติของพระอาจารย์ทิมเป็นอย่างมาก ซึ่งความเมตตาของพระอาจารย์ทิมนั้นล้นพ้น หากว่าพระอาจารย์ทิมบอกกล่าวไหว้วานอะไรแล้วละก็ ชาวบ้านเขาจะรีบดำเนินการให้ทันที เหมือนกับส่วนผสมพระอาจารย์ทิมได้กล่าวว่า ต้องการกล้วยป่าเป็นจำนวนมากเพื่อที่จะนำมาเป็นตัวประสาน อีกทั้ง น้ำมันตังอิ้ว และ ปูนต์ขาวเพื่อให้เนื้อรวมตัวกันและจับตัวเป็นก้อนแข็งเหมือนกับหินครกนั่นเอง ส่วนเนื้อพระบางองค์ที่ร่วนซุย เป็นเพราะว่า ส่วนผสมในแต่ละครกอาจจะแก่ว่าน ปูนต์น้อย จึงทำให้พระหลวงปู่ทวดว่านรุ่นแรก เนื้อหาสาระไม่แข็งแกร่ง ในเรื่องมวลสารของพระเครื่องหลวงปู่ทวดแต่ละองค์ไม่มีสูตรสำเร็จที่ชัดเจน ฉะนั้นพระแต่ละองค์ ความแข็ง ความแกร่งนั้นไม่เท่ากัน บางองค์แก่ดิน บางองค์แก่ว่าน บางองค์แก่ปูนต์ สำหรับมวลสารของเนื้อจะใกล้เคียงกันไม่หนีกันมากหากเนื้อกะเทาะ หรือ หักออกมาดู ตัวผมเอง หากดูทุกเนื้อ และทราบดีว่า แต่ละองค์มวลสารจะไม่หนีกันเลย ในเรื่องของมวลสาร นั้นสามารถชี้ชัด นั่นต้องบวกกับพิมพ์ และ แร่ ศักดิ์สสิทธิ์นั้นด้วยทุกอย่างต้องกลมกลืนกัน ไม่มีรายการกระด้าง และ ไม่มีคำว่า เนื้อถูกแร่ผิด เนื้อผิด แร่ถูก แต่ให้ยึดถึงความชัดเจน และ ความเป็นธรรมชาติ หากแยกคำว่า ธรรมชาติไม่ได้ ไม่สามารถแยกแยะความเก่าความใหม่ได้ เนื้อแห้งธรรมชาติ กับเนื้อที่ผ่านการ อบแห้ง(ไมโครเวฟ)มันต่างกันมากให้สังเกตให้ดี แต่นั่นต้องเข้าใจคำว่า แห้งธรรมชาติให้ได้ หากว่าดูแล้วก้ำกึ่ง ก็สามารถตี “เก๊” ได้เลยทันที ไม่ต้องกังวล พระแท้จริงๆ เพียงยกขึ้นมาดูรู้ว่าแท้ นั่นคือพระที่ดูง่าย หากว่าพระบางองค์ถึงขนาดส่องดูนานเป็นครึ่งชั่วโมงผมไม่แนะนำให้ซื้อ เพราะว่าโอกาส “เก๊” นั้นสูงมาเลยทีเดียวมวลสารเม็ดแดงของกล้วยป่า และความแห้งเป็นเกร็ดของน้ำมันตังอิ้ว บวกกับข้าวสุกและข้าวเหนียว ผงว่านต่างๆ สองร้อยกว่าชนิด แร่ กายสิทธิ์ ยางว่านต่างๆที่เกิดขึ้นจากการ “แช่” เพื่อให้ยางว่านเกาะเพื่อให้เกิดความแข็งตัวขึ้นกว่าเก่า จะมีไม่มาก เพราะว่าเวลามันกระชั้นชิด.
กำหนดสร้าง 84,000 องค์.กดพระได้เพียง 64,000 องค์.
ระยะเวลาการกดพิมพ์พระใช้เวลามากน่าดู มีทั้งพระ และ ฆราวาสร่วมกันกดพิมพ์พระส่วนฆราวาส
ที่ร่วมกันกดพิมพ์พระก็จะต้องนุ่งขาวห่มขาว ถือศีลด้วย ท่านอาจารย์แย้ม พุฒยอด ศิษย์เอกพระอาจารย์ทิม ได้เล่าต่อไปว่า การจัดสร้างทั้งมวลสาร และพิมพ์พระไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์อะไร การผสมเนื้อก็เช่นกัน จะใช้ “ครกตำข้าว” แบบสมัยก่อนถือว่าทันสมัยที่สุดแล้ว ชาวบ้านก็มีความชำนาญ บวกกับความศรัทธาในองค์หลวงปู่ทวด และ วัตรปฏิบัติของพระอาจารย์ทิม การร่วมแรงกายและแรงใจจึงเป็นส่วนผลักดันทำให้พระเครื่องชุดหลวงปู่ทวดว่านรุ่นแรก พ.ศ.2497 นั้นมีความเข้มขลังสุดกำลัง เพราะว่าไม่มีเรื่องผลประโยชน์อะไรแต่อย่างใด เป็นความศรัทธา ใสสะอาดบริสุทธิ์มาก มาก เลยทีเดียวเรื่องเงินทองไม่ต้องพูดถึงเพราะว่าชาวบ้าน ทุ่มทั้งแรงกาย แรงใจ และ แรงเงิน ร่วมสมทบในทุกๆเรื่องจึงไม่แปลกใจ ว่าทำไมพระเครื่องหลวงปู่ทวดว่านรุ่นแรกวัดช้างไห้ ถึงมีความขลังแบบสุดๆ ประสบการณ์มากมายเหลือคณานัป. การกดพิมพ์พระ พอใกล้วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 การกดพิมพ์พระได้เพียง “หกหมื่นกว่าองค์” ซึ่งพระอาจารย์ทิม ได้มองดูแล้วคงไม่ถึง 84,000 องค์. พระอาจารย์ทิมได้บอกกับ อ.แย้ม ว่า “เจ้าแย้มให้ทุกคนช่วยกันกดพิมพ์พระให้ได้ถึง 64,000 องค์ ก็แล้วกัน และ ให้ไปตระเตรียมข้าวของต่างที่จะจัดพิธีปลุกเศกหลวงปู่ทวด ในวัน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 พ.ศ. 2497.” ซึ่งหน้าที่ตรงนี้เป็นหน้าที่ที่ท่าน อ.แย้ม ดำเนินการในเรื่องการตระเตรียมข้าวของที่จะทำพิธีปลุกเศกหลวงปู่ทวดว่านรุ่นแรก พ.ศ. 2497. ท่าน อ.แย้ม กล่าวอีกต่อไปว่า ท่าน อาจารย์ทิม มักจะพูดเปรยๆว่า ชุดว่านรุ่นแรกนี้ ต่อไปจะมี “คุณค่ายิ่งกว่าทองคำ” นี่คือคำบอกกล่าวของท่าน อ.แย้ม.
พิธีปลุกเศกหลวงปู่ทวด “ประทับทรงพระอาจารย์ทิม”
ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 พิธีปลุกเศกหลวงปู่ทวดว่านรุ่นแรก วัดช้างไห้ ได้จัดขึ้นภายในพระอุโบสถ วัดช้างไห้ ในขณะที่กำลังทำพิธีปลุกเศกอยู่นั้น ได้เกิดสิ่ง มหัศจรรย์ขึ้น “ร่างกายพระอาจารย์ทิม เกิดอาการสั่นสะท้าน แรงขึ้น และ แรงขึ้น จนกระทั่ง ร่างกายพระอาจารย์ทิมหลังค่อมแบบคนแก่มากมาก หน้าแทบจะจรดพื้น” ท่านอาจารย์แย้มได้เล่าให้ฟังต่อไปว่า เสียงของพระอาจารย์เปลี่ยนเป็นเสียงคนแก่มาก ในขณะที่กำลังสวดมนต์อยู่ไม่ขาดสาย เสียงสวดมนต์ไม่มีการขาดช่วงแต่อย่างใด ที่ชัดเจนเสียงสวดมนต์ของคนแก่ ซึ่งไม่ใช่เป็นเสียงของพระอาจารย์ทิมอย่างแน่นอน ท่าน อ.แย้ม ท่านยืนยัน.
มีหลวงพ่อศรีสุข สัจจะวาโร.หนึ่งในเกจิอาจารย์ร่วมปลุกเศก
พระเกจิอาจารย์ที่ร่วมในพิธีปลุกเศก เท่าที่ทราบ และ ได้ พูดคุยกับท่านมี……..
1.หลวงพ่อศรีสุข สัจจะวาโร.แห่งวัดน้ำน้อยใน จ.สงขลา.
2.หลวงพ่อพรหม วัดน้ำขาวใน จ.สงขลา.
3.หลวงพ่อทอง สำนักสงฆ์ป่ากอ อ.นาหม่อม จ.สงขลา.
4.หลวงพ่อแดง วัดศรีมหาโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี.
5.หลวงพ่อคล้าย วัดสวนขันธ์ จ.นครศรีธรรมราช.
6.พระครูภัทรกรณ์โกวิท(ท่านเจ้าคุณแดง ธัมมะโชโต)อดีตเจ้าอาวาสวัดนาประดู่.
7.พระอาจารย์นอง วัดทรายขาว.
พระเกจิอาจารย์ที่ร่วมในพิธีปลุกเศกนั้น เท่าที่ผมทราบมีอยู่เท่านี้ อาจจะมีมากกว่านี้ก็เป็นได้ หากไม่ได้นำชื่อของพระเกจิอาจารย์ต่างที่ร่วมในพิธีปลุกเศก ผมก็ต้องกราบขออภัยด้วยครับ.
พิมพ์พระเครื่องพอจะจำแนกได้ตามหลักสากล มี 3 พิมพ์.
๑) พิมพ์ใหญ่
๒)พิมพ์กลาง
๓)พิมพ์เล็ก
หากจำแนกพิมพ์แยกละเอียด จะมีร่วม 20 พิมพ์ แต่ในที่นี้ผมแยกพิมพ์จุดใหญ่ คือ 3 พิมพ์ ส่วนพิมพ์พิเศษ มีหลายพิมพ์ เช่น…
๑) พิมพ์สี่เหลี่ยมกลักไม้ขีด จำนวนการสร้าง 20 กว่าองค์(ปัจจุบันหาองค์จริงนั้นยากกว่าทุกๆพิมพ์)
๒) พิมพ์ขุนแผน
๓) พิมพ์พระประจำวัน
๔) พิมพ์ชินราช
๕) พิมพ์พระปิดตา
การจัดสร้างเนื้อว่านนั้น ปี 2497 นั้น พิมพ์พิเศษ อาจจะมีมากกว่านี้ก็เป็นได้ แต่ ให้ยึดหลัก เนื้อจะต้องแบบเดียวกับ ว่านพิมพ์มาตรฐาน 3 พิมพ์ หากเนื้อไม่ตรงกัน ถือว่าเป็นข้อยุติ คือไม่ใช่แน่นอน ที่ผมได้เขียนมานี้ ไม่ต้องการให้ ทุกท่าน ใฝ่หา หรือ เสาะหา ชุดว่าน 2497 นอกพิมพ์นะครับ อยู่ที่ ดุลยพินิจของแต่ละท่านนะครับ ประวัติการสร้างอาจจะละเอียดมากกว่านี้ ที่ผมนำมาเขียนให้อ่านกันนี้ เป็นคำบอกเล่า จาก ท่านอาจารย์แย้ม พุฒยอด. ครับอานิสงค์ของการให้ความรู้ในครั้งนี้นั้นผมขอ อุทิศให้ คุณครูบาอาจารย์ทุกท่าน และ ผู้ที่มีพระคุณ ขอให้ได้รับอานิสงค์ผลบุญในครั้งนี้ด้วย หาก ข้อมูล ผิดพลาดประการใด กระผม กู้ หาดใหญ่.ก็ต้องขอกราบขออภัยทุกๆท่านมา ณ.ที่นี้ด้วยครับ ข้อมูลอาจจะไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร แต่ ที่นำมาเขียนให้อ่านกัน อย่างน้อย ก็เป็นพื้นฐานความรู้เล็กๆน้อยๆเท่าที่ผมพอจะมอบให้กับทุกๆท่านได้อ่านเพื่อประดับความรู้นะครับ. ทุกอย่างที่เขียนมาให้อ่านกันในครั้งนี้ ก็เพื่อระลึกถึงบารมีองค์หลวงปู่ทวด วัดช้างไห้ ที่ทำให้ผม เป็น กู้ หาดใหญ่ ทุกวันนี้……….
http://www.koohatyai.com/prawat.html