ประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายพระกัมมัฏฐาน

ประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายพระกัมมัฏฐาน

25570309-150224.jpg

ประวัติพระอริยะสงฆ์

เกิด 20 มกราคม พ.ศ. 2413
อุปสมบท 12 มิถุนายน พ.ศ. 2436
มรณภาพ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
พรรษา 56
อายุ 79
วัด วัดป่าสุทธาวาส
จังหวัด สกลนคร
สังกัด ธรรมยุติกนิกาย
ตำแหน่งทางคณะสงฆ์ เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง (จังหวัดเชียงใหม่)
พระครูวินัยธร ฐานานุกรมของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)

ประวัติ

พระครูวินัยธร (มั่น ภูริทตฺโต) หรือที่นิยมเรียกด้วยความเคารพว่า “หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต” (20 มกราคม พ.ศ. 2413—11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492) เป็นพระภิกษุชาวไทยสายธรรมยุตชื่อดังในประวัติศาสตร์พระกรรมฐานไทย เมื่อท่านเป็นพระภิกษุ ได้ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดและเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยวางแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้า แก่ประชาชน ทำให้ท่านมีพระสงฆ์และฆราวาสเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก จึงทำให้แนวคำสอนของท่านเป็นที่รู้จักกันดีว่า เป็นคำสอนพระวัดป่า (สายพระอาจารย์มั่น) หลังจากท่านมรณภาพลง ในปี พ.ศ. 2492 ยังคงมีพระสงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์ของท่านสืบต่อแนวปฏิบัติของท่านสืบมา โดยลูกศิษย์ของท่านเรียกว่า พระกรรมฐานสายวัดป่า หรือ พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ท่านได้รับยกย่องจากผู้ศรัทธาให้เป็น พระอาจารย์ใหญ่สายวัดป่า สืบมาจนปัจจุบัน

ภูมิหลัง

ชื่อเดิมคือ “มั่น แก่นแก้ว” ท่านเกิดที่บ้านคำบง อำเภอโขงเจียม (ปัจจุบันคือ อำเภอศรีเมืองใหม่) จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของนายด้วง และนางจันทร์ แก่นแก้ว และได้อุปสมบทในธรรมยุติกนิกายเมื่ออายุ 22 ปี ในปี พ.ศ. 2436 ณ วัดเลียบ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2436 โดยมีพระอริยกวีเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณเป็นพระอนุสาวนาจารย์

ก่อนหน้านี้หลวงปู่มั่นได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุได้ 15 ปี ณ วัดบ้านคำบง เมื่อบวชได้ 2 ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยการงานทางบ้าน จิตท่านยังหวนคิดถึงร่มผ้ากาสาวพัสตร์อยู่เนืองนิจ เพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า “เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายากนัก” ครั้นอายุได้ 22 ปีจึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และได้เข้าฝึกปฏิบัติธรรม ในสำนักวิปัสสนากับหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ณ วัดเลียบ จ.อุบลราชธานีจนกระทั่งท่านได้ออกจาริกเดินธุดงค์ตามสถานที่ต่างๆ เมื่อออกพรรษา แล้วไปศึกษาธรรมะจากพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) แห่งวัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร แล้วออกจาริกไปอีกหลายที่หลายแห่ง จนกระทั่งถึงที่ถ้ำไผ่ขวาง น้ำตกเขาสาริกา จ.นครนายก

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

ประมาณปี 2450 – 2453 ท่านได้จาริกไปทางจังหวัดลพบุรี ไปพักอยู่ที่เขาพระงามบ้าง ถ้ำสิงโตบ้าง ต่อมา ท่านได้ไปพักอยู่ที่ถ้ำสาริกา จ.นครนายกนี่เอง ท่านได้ประสบเหตุการณ์ต่าง หลายประการ และเป็นที่ติดใจท่านมาตลอด คือ ขณะที่ท่านไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้กับถ้ำมากกว่าหมู่บ้านอื่น ๆ ท่านวานให้ชาวบ้านพาไปส่งที่ถ้ำดังกล่าว เพราะไม่รู้จักทาง ชาวบ้านเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับถ้ำนั้นให้ฟัง พร้อมกับนิมนต์ให้เลิกล้มความต้งใจที่จะไปถ้ำนั้นเสีย แต่ท่านบอกว่า ท่านไม่กลัว ท่านทดลองพักดู

ขณะที่พักที่ถ้ำสาริกาแห่งนี้ในระยะเดือนแรกๆ ท่านรู้สึกปรกติดี จิตใจสงบ ไม่มีอะไรพลุกพล่าน พอดีคืนต่อๆมา ท่านรู้สึกว่าโรคเจ็บท้องที่เคยเป็นประจำชักกำเริบ และมีอาการรุนแรงขึ้นตามลำดับ แต่ด้วยอาศัยด้วยเหตุว่าท่านได้บำเพ็ญบารมี (กำลังใจในการปฏิบัติที่สั่งสม) ไว้มากในพระบวรพุทธศาสนา ท่านจึงตัดสินใจออกไปนั่งสมาธิ พิจารณาธรรม แยกธาตุขันธ์ เจริญอสุภะกรรมฐาน จนกระทั่งจิตเกิดความอ้ศจรรย์ สามวันสามคืน แม้กระทั่งเม็ดทราย พอจิตของท่านอิ่มตัวจากการประพฤติปฏิบัติ ได้เกิดนิมิตลูกสุนัขปรี่เข้าไปดูดนมแม่สุนัข ท่านจึงได้เกิดความสงสัยว่า “ในการพิจารณาขั้นนี้ที่จิตรวมในการพิจารณาแล้ว ไม่น่าจะมีนิมิตแล้ว” เพราะนิมิตจะเกิดจากการปฏิบัติสมาธิที่ยังไม่เป็นวสี (ยังไม่ชำนิชำนาญ) เมื่อท่านเกิดความสงสัย จึงได้พิจารณาจนได้ความว่า ลูกสุนัขที่ได้กระทำการดูดนมแม่หาใช่ใครที่ไหน แต่เป็นตัวท่านเองที่เสวยอัตภาพมาตลอด 500 ชาตินั้นเองจึงได้เกิดความสลดสังเวชใจ จึงนำสิ่งที่ได้พบได้เห็นมาพิจารณาธรรมในข้อที่ว่า “กายะ ทุกขัง อริยสัจจัง”คือว่าพิจารณาว่ากายเป็นทุกข์ ไม่ทำให้เกิดความสุขให้เรา แต่ต่อมาท่าเกิดความรู้สึกกังวล จึงใช้ญาณตรวจดูเกิดพบว่าท่านเคยปรารถนาพุทธภูมิ (ปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า) จึงค้นลงไปอีกว่าปรารถนาตอนไหน พอเห็นว่าปรารถนาเมื่อสมัยสมัยพระศาสนาของพระพุทธโคดม จึงเห็นว่าเป็นการเนิ่นช้า ท่านเล่าอีกว่าจึงถอนความปรารถนานั้น มุ่งมั่นความพ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติ จนเกิดเหตุในนิมิตว่ามียักษ์ตนหนึ่งจะเข้ามาทำร้าย แต่ไม่สามารถทำร้ายท่านได้ จนยักษ์ได้ยอมแพ้ จึงอันตรธานหายไป ในกาลเวลาต่อมาจิตท่านจึงรวม เห็นว่าโลกใบนี้ราบเลียบเตียนแล้ว เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เสมอกัน

ต่อมาท่านขึ้นไปที่ภาคเหนือจำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวง 1 พรรษาได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง เป็นพระครูวินัยธร และพระอุปัชฌาย์ ขณะนั้นท่านจึงจำใจรับตำแหน่ง เพราะเห็นแก่ท่านเจ้าคุณอุบาลี ผู้นิมนต์ที่เป็นอาจารย์ของตน ขณะที่กำลังอาพาธเป็นโรคมะเร็งที่กระดูกตรงขา แต่ต่อมาท่านจึงล้มเลิกความตั้งใจที่จะเป็นเจ้าอาวาส โดยท่านรำพึงในใจว่า”หากเรายังรับตำแหน่งอยู่ต่อไป ลาภสักการะอาจจะฆ่าการปฏิบัติของเรา อันเป็นเหตุแห่งการฆ่าการประพฤติปฏิบัติก็เป็นได้” ท่านจึงได้สละตำแหน่ง หนีธุดงค์เข้าป่า อาศัยอยู่ตามดอยมูเซอ ถ้ำเชียงดาว ถ้ำพวง ฯลฯ แล้วออกไปพำนักตามที่วิเวกต่างๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้นๆ นานถึง11ปี

จนในปี พ.ศ. 2478 ท่านบรรลุธรรมชั้นสูงสุดที่ ถ้ำดอกคำ ตำบลน้ำแพร่ จ.เชียงใหม่ จากนั้นท่านได้ธุดงค์ไปยังดอยนะโม ท่านได้พูดกับลูกศิษย์คือ หลวงปู่ขาว อนาลโย ว่า “ผมหมดงานที่จะทำแล้ว ก็อยู่สานกระบุงตระกร้า พอช่วยเหลือพวกท่านและลูกศิษย์ลูกหาได้บ้างเท่านั้น” ต่อมาท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ ได้นิมนต์ท่านให้นิวัติกลับภาคอีสาน โดยท่านได้อาศัยรถไฟสถานีเชียงใหม่ ลงที่นครราชสีมา โดยพำนักที่วัดป่าสาลวัน แล้วลงจำพรรษาที่วัดป่าบ้านนามน ต.นาใน จ.สกลนคร พอพระภิกษุเข้ามาอยู่ศึกษากับท่านมาเข้า ท่านจึงดำริว่าจะย้ายที่จำพรรษาไปวัดป่าบ้านหนองผือ จ.สกลนคร พอเข้ามาลงหลักปักฐานที่วีดป่าบ้านหนองผือเรียบร้อยแล้ว ท่านได้ทุ่มเทสอนอุบายการหลุดจากความยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งทั้งปวง แก่ลูกศิษย์โดยอุบายทางตรงแลทางอ้อม โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.pranamo.com/

. . . . . . .