ธรรมะ – พระจริยาของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
หากจะถามว่าในบรรดาสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทั้งหมด 19 พระองค์ สมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชันษาถึง 100 ปี มีกี่พระองค์ คำตอบ มีเพียง “หนึ่งพระองค์” เท่านั้น คือ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน คชวัตร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระสังฆราช องค์ที่ 19
พระจริยวัตรของพระองค์โสภณะงดงามและน่าเลื่อมใสยิ่ง พระเกียรติคุณทั้งก่อนจะได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช และตลอด 25 ปีในตำแหน่งประมุขสงฆ์ไทยได้ผรณาการแผ่ไพศาลทั้งในและต่างประเทศ ทว่าพระจริยาและพระเกียรติคุณมีอเนกอนันต์ มิอาจพรรณนาหมดสิ้น หลายเรื่องเป็นที่ปรากฏ แต่ก็มีหลายเรื่องที่ชาวไทยและพุทธศาสนิกชนอาจไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อน และเพื่อเทิดพระเกียรติ จึงขอถ่ายทอดพระจริยาและพระเกียรติคุณจากปากของผู้ที่ถวายงานและเคยถวายงานใกล้ชิด
แม้สุขภาพกายไม่ดี…แต่ทรงอายุยืน
หากใครที่เคยอ่านพระประวัติของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช จะทราบว่าพระองค์มีพระสุขภาพไม่ค่อยดีตั้งแต่ทรงพระเยาว์ด้วยมีโรคประจำตัว แต่ใครจะคิดว่าพระองค์จะทรงปฏิบัติศาสนกิจโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและยังเจริญด้วยอายุถึง 100 ปี ทรงมีเคล็ดลับหรือทรงปฏิบัติพระองค์อย่างไร
พระ ดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย หนึ่งในผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช และผู้ถวายการปรนนิบัติสมเด็จพระสังฆราชตั้งแต่ตัวเองยังเป็นสามเณรอายุ 14 ปี เล่าว่า จริงอยู่ในแง่พระสุขภาพนั้นไม่ดีมาตั้งแต่เด็ก เพราะมีโรคประจำตัว แต่พระองค์ไม่เคยคิดว่าพระวรกายเป็นปัญหา ไม่ย่อท้อต่อโรค ทรงมีพระทัยมุ่งมั่นกอปรด้วยพระวิริยอุตสาหะในการฟันฝ่าอุปสรรคนับครั้งไม่ถ้วน ที่สำคัญทรงใช้สมาธิในการดูแลพระวรกายไปพร้อมกับการรักษาของหมอ
“ท่านไม่เคยย่อท้อต่อโรคที่เกิดแต่พระวรกาย เช่น ในคราวสอบเปรียญธรรม 4 ประโยคต้องเอาผ้าสบงรัดหน้าอกให้อุ่นแล้วไปสอบ หลายครั้งพละกำลังแม้จะอ่อนแรงแต่พระเมตตาไม่เคยอ่อนตาม ครั้งหนึ่งหมอเช็กอาการประชวรและแนะนำให้งดศาสนกิจ แต่ว่าก่อนเข้าโรงพยาบาลทรงรับงานไว้งานหนึ่งที่ต่างจังหวัด ท่านจึงขออนุญาตหมอไปเพราะกลัวงานนั้นจะเสีย อีกครั้งหนึ่งหมอขอประทานพระอนุญาตเพื่อจะผ่าตัดติ่งในน้ำดี ก็ทรงบอกว่าช่วงนี้มีภารกิจและศาสนกิจที่รับไว้เยอะเดี๋ยวจะลองดูเองก่อน แล้วก็ทรงใช้สมาธิในการบำบัดควบคู่ไปกับการดูแลรักษาของหมอ”
ผู้ช่วยเลขานุการฯ เล่าต่อว่า สมเด็จฯ ทรงใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย อาหารเสวยก็จะเป็นอาหารแบบคนโบราณบ้านนอกกินกัน เช่น ผักบุ้ง ผักกระเฉด เห็ดยำเมืองกาญจน์ ไม่ใช่อาหารเลิศหรู และที่สำคัญจะไม่เสวยสัตว์ปีก และสัตว์ใหญ่ แต่อาจมีปลาบ้างเป็นบางครั้ง
ทรงเคารพในระเบียบแบบแผน
พระธรรมบัณฑิต (อภิพล อภิพโล ป.ธ.5) เจ้าอาวาสวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก กรรมการมหาเถรสมาคม และอดีตเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชรูปแรก เล่าถึงสมเด็จฯ ว่า ทรงเป็นผู้ที่เคารพในกฎระเบียบต่างๆ อย่างเคร่งครัดไม่ว่าจะทรงทำอะไร ส่วนหนึ่งด้วยพระนิสัย และอีกส่วนเพราะไม่ต้องการให้ใครมองว่าทรงมีอำนาจแล้วจะใช้อำนาจอะไรก็ได้
“หลังจากที่พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้วได้มีพระดำริในการสร้างวัดในจังหวัดต่างๆ เช่น ชลบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ เชียงราย และอาตมาได้รับมอบหมายให้ดูการสร้างวัด พระองค์ได้ประทานนโยบายว่า การจะสร้างวัดในที่ใดๆ จะต้องมีชาวบ้านในที่นั้นๆ และต้องไม่ไปเรี่ยไรหรือบอกบุญ เพราะจะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน แต่ถ้าชาวบ้านอยากร่วมบุญก็ไม่ขัดข้อง”
อดีตพระเลขานุการฯ เล่าต่อว่า สมเด็จฯ จะรับสั่งเสมอว่าต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นไปตามระเบียบของการสร้างวัด ไม่ให้ข้ามขั้นตอน เช่น ที่ที่จะสร้างวัดต้องมีเนื้อที่ตามกฎหมายกำหนด 6 ไร่ขึ้นไป ไม่เป็นป่าอนุรักษ์ เป็นต้น และทรงย้ำว่าอย่าถือว่าเป็นวัดที่สังฆราชไปสร้าง เพราะถ้าไปทำในส่วนที่ผิดก็จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่วัดทั้งหลาย รวมถึงผู้ที่อยากจะสร้างวัดในอนาคตที่มักจะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา
ทรงพระเมตตาต่อคนและสัตว์
พระธรรมบัณฑิต กล่าวต่อว่า พระเกียรติคุณหนึ่งที่เห็นตลอดเวลาที่ถวายงาน คือ ทรงมีพระเมตตาสูงทั้งต่อคนและสัตว์ ทุกครั้งที่เสด็จไปต่างจังหวัด เมื่อเห็นญาติโยมจะทรงสนทนาพูดคุยแบบเป็นกันเอง เพื่อให้สร้างความคุ้นเคย โดยครั้งหนึ่งไปเจอคนแก่นั่งกินหมากก็เข้าไปทักทายและมีรับสั่งถามว่า กินหมากมานานหรือยัง โยมแม่ของอาตมาก็กินเหมือนกัน แต่เหตุการณ์ที่เห็นแล้วประทับใจ ก็คือครั้งที่ทรงเผชิญหน้ากับควายขณะออกบิณฑบาตผ่านทุ่งนา
“ครั้งหนึ่งสมเด็จฯ เสด็จไปสกลนคร วัดท่านอาจารย์วัน (ปกติจะทรงบิณฑบาตทุกวัน) ตอนเช้าจึงเสด็จออกบิณฑบาตผ่านทุ่งนา โดยอาตมาเดินตามและพระอีกจำนวนหนึ่ง พอเดินไปได้ 2 กิโลเมตร ก็ไปเจอควาย ซึ่งควายจะไม่ถูกกับพระอยู่แล้ว เพราะสีจีวรมันขัดกับตาของมัน พอมันเห็นก็ไม่พอใจ จะวิ่งเข้าใส่ สมเด็จฯ ไม่หยุด เดินไปเรื่อยๆ ประมาณ 3 เมตรก็หยุด ทรงยืนนิ่ง 34 นาที อาตมาอยู่ด้านหลังใจเต้นตุบๆ แต่สักพักควายก็ยกหัวขึ้นแล้ววิ่งหนีไป พอควายไปแล้ว ก็ทูลถามว่าทรงว่าคาถาอะไร ก็รับสั่งว่าแผ่เมตตาให้เขา ต่างคนต่างมีหน้าที่ปฏิบัติทางใครทางมัน”
อดีตพระเลขานุการฯ เล่าต่อว่า ช่วงที่ควายวิ่งเข้ามานั้นพระองค์ไม่ได้รับสั่งกับพระที่ติดตามว่าให้ระวัง ทั้งที่โดยทั่วไปถ้าใครเจอเหตุการณ์แบบนี้ก็จะต้องบอกทุกคนให้ระวัง แต่วันนั้นไม่รับสั่งอะไร กลับทรงยืนนิ่งประจันหน้ากับควาย
แสดงธรรมเข้าใจง่าย ไม่อ้างอาจารย์
อดีตพระเลขานุการฯ เล่าพระจริยาอย่างหนึ่งของสมเด็จพระสังฆราชว่า ทุกครั้งที่แสดงธรรมจะทรงแสดงธรรมแบบง่ายๆ เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจและไม่ทรงอ้างเรื่องอภินิหาร แต่สิ่งหนึ่งที่แปลกกว่าอาจารย์ทั้งหลายและน่าจะเป็นแบบอย่างสำหรับพระสงฆ์ทั้งหลายในการที่จะเทศน์สอนชาวบ้านในปัจจุบัน คือ จะทรงอ้างพระพุทธเจ้าตลอด ไม่อ้างธรรมของพระอาจารย์ท่านนั้นท่านนี้
“เวลาที่พระเทศน์หรือแสดงธรรมมักจะอ้างว่าเป็นธรรมะของพระอาจารย์รูปนั้นรูปนี้ แต่สมเด็จฯ ไม่ทรงใช้ ทรงใช้คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว แม้ว่าจะไปฟังจากอาจารย์ทั้งหลายที่สอนอย่างโน้นอย่างนี้ โดยเฉพาะเรื่องศีล สมาธิ ภาวนา ก็จะสอนว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ ขณะที่ธรรมะที่ทรงแสดงก็จะรับสั่งแบบที่เข้าใจง่าย เช่น เรื่องสติปัฏฐาน 4 เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเข้าใจยาก แต่ถ้าใครฟังที่ท่านเทศน์ก็อดพูดไม่ได้ว่าช่างเข้าใจง่ายแท้”
เจ้าอาวาสวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เล่าต่อว่า เรื่องสติปัฏฐาน 4 นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้เจ้าหน้าที่วิทยุ อส. มาบันทึกเทปที่วัดบวรนิเวศวิหารในปี พ.ศ. 2514 โดยสมเด็จฯ ได้เทศน์สอนพระนวกะและญาติโยมที่มาปฏิบัติธรรมในช่วงเข้าพรรษา ซึ่งต่อมาทางวัดบวรฯ ได้ทำเรื่องขอทางสำนักราชเลขาธิการเพื่อขอก๊อบปี้ต้นฉบับมาทำเป็นซีดีแจกในคราวที่สมเด็จฯ ทรงเจริญพระชันษา 90 ปี
เครดิต : โพสต์ทูเดย์
http://www.prachatalk.com/