ปฐมบทแห่งองค์ปฐมบรมครูผู้ค้นพบวิชาธรรมกาย

ปฐมบทแห่งองค์ปฐมบรมครูผู้ค้นพบวิชาธรรมกาย

พระมงคลเทพมุนีหรือที่ชาวบ้านรู้จักกันดีในนาม “หลวงพ่อสดวัดปากน้ำฯ” ท่านเป็นพระอริยเจ้าที่ทรงฤทธิ์อภิญญา มีปาฏิหาริย์ที่ได้รับการเล่าขานผ่านห้วงเวลามาอย่างยาวนานมากมายหลากหลายเรื่องราว หากถามบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ศึกษาและปฏิบัติวิชาธรรมกาย คำตอบที่ได้ส่วนใหญ่ ศรัทธาท่านเพราะรู้ดีว่าท่านเป็นพระดีที่มีแต่ให้ไม่สะสม มรณภาพไปแล้วก็ยังคงศักดิ์สิทธิ์ ใครกราบไหว้ขอพรให้ท่านช่วยแหลือย่อมสำเร็จผลเป็นอัศจรรย์ แม้แต่พระเครื่องคือพระของขวัญที่ท่านสร้าง ก็โด่งดังเด่นดีในด้านพุทธคุณเยี่ยมยอด ไม่ว่าจะไปที่ใด เห็นมีแต่ภาพถ่ายของหลวงพ่อประดิษฐานไว้ในที่สูงเกือบทุกบ้าน เพราะถือว่ามีไว้บูชาแล้วเกิดมงคล แต่สำหรับผู้ที่เข้าถึงธรรม บรรลุวิชาธรรมกายในขั้นต่างๆได้แล้วนั้น หลวงพ่อคือผู้ค้นพบวิธีทำใจให้เข้าถึงไตรสรณะคมน์ได้อย่างแยบยล ,เป็นผู้ค้นพบวิชาธรรมกายและวิชาอาสวักขยญาณ รวมถึงวิชาสะสางธาตุธรรม(วิชาปราบมาร) ท่านเป็นปฐมบรมครูผู้ทำวิชาปราบมารมาตลอดชีวิต,ผู้นำร่องวิชาปราบมารขนานแท้ และท่านเป็นผู้ที่“องค์ต้นธาตุต้นธรรม” ส่งลงมาเกิดในมนุษยโลกเพื่อปราบมารโดยเฉพาะฯลฯ ไม่ว่าใครก็ตามหากบรรลุ “ธรรมกาย”เป็นต้องเห็นซึ้งถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของท่านทุกคนไป เขาว่ากันว่า ใครได้ยินคำว่า “ธรรมกาย “ มีบุญระดับหนึ่ง ใครได้ยินคำว่า”ธรรมกายและรู้เรื่องราวของผู้ค้นพบวิชาธรรมกาย ตลอดจนปฏิบัติธรรมแล้วเข้าถึงธรรมกายภาคขาวเป็นผู้มีบุญมากที่สุด ดังนั้นขอเรียนเชิญคุณผู้อ่านที่มีบารมีธรรมทุกท่าน มาร่วมรับรู้เรื่องราวของหลวงพ่อสดวัดปากน้ำกัน ว่าท่านเป็นใครมาจากไหน บรรลุธรรมได้อย่างไร แล้วทำไมผู้คนทั้งหลายถึงได้ศรัทราท่านกันนัก เรามาเริ่มต้นกันถึงที่มาที่ไปเกี่ยวกับประวัติของท่านกันก่อนเลยก็แล้วกันนะครับ และย้อนรอยธรรมด้วยเรื่องราวในแง่มุมต่างๆตามลำดับ คุณผู้อ่านพร้อมหรือยังครับ..ถ้าพร้อมแล้ว เรามาเรียนรู้ประวัติของหลวงพ่อไปด้วยกันได้เลยครับ

ประวัติของพระเดชพระคุณ พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ )

หลวงพ่อสดวัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านเกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2427 ตรงกับวันศุกร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 11 ปีวอกจุลศักราช 1246 ณ บ้านสองพี่น้อง ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรรณบุรี บ้านตำบลนี้อยู่ฝั่งใต้ตรงกันข้ามกับวัดสองพี่น้อง ท่านเป็นบุตรของนายเงิน นางสุดใจ มีแก้วน้อย ครอบครัวของท่านทำการค้าขายมีพี่น้องร่วมบิดา 5 คน ดังต่อไปนี้ครับ

1. นางดา เจริญเรือง

2. หลวงพ่อสดวัดปากน้ำ ( สด มีแก้วน้อย )

3. นายใส มีแก้วน้อย

4. นายผูก มีแก้วน้อย

5. นายสำรวย มีแก้วน้อย

เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมากครับสำหรับครอบครัวของหลวงพ่อวัดปากน้ำคือ ญาติพี่น้องของท่านแทบทุกคนนั้น คนสุดท้องจะตายก่อนแล้วเลื่อนขึ้นมาตามลำดับชั้น คนหัวปีตายทีหลังแทบทุกคนเช่น พี่น้องของหลวงพ่อคนที่ 5 ตายก่อน แล้วก็คนที่ 4 จากนั้นก็คนที่ 3 ที่มาตายก่อนหน้าหลวงพ่อไม่กี่เดือน คล้ายกับว่าจะรักษาระเบียบแห่งความตายเอาไว้ ส่วนนางดา เจริญเรือง ซึ่งเป็นคนที่ 1 นั้นกลับตายเป็นคนสุดท้าย

1.ชีวิตเมื่อเยาว์วัย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านอาจารย์การุณย์ บุญมานุช ( วิปัสสนาจารย์ผู้เชี่ยวชาญวิชาธรรมกายชั้นสูง และเป็นบุคคลที่ผมเคารพนับถือยิ่ง ประดุจครูบาอาจารย์และมิตรในธรรมที่สำคัญ )ท่านได้ถ่ายทอดเอาไว้ในหนังสือ “อภินิหารหลวงพ่อวัดปากน้ำ” มีใจความที่น่าสนใจเป็นอย่างมากดังนี้ครับว่า “ เด็กชายสด มีแก้วน้อย เมื่อครั้งเดินเตาะแตะกำลังพูด , กำลังซน , กำลังน่ารัก หลวงปู่ชั้ว โอภาโส เล่าให้ฟังว่า พี่เลี้ยงหลวงพ่อชื่อยายบู่ คืนไหนดวงจันทร์สว่าง หลวงพ่อเห็นดวงจันทร์บนท้องฟ้าแล้ว เป็นต้องร้องจะเอาดวงจันทร์ทุกครั้ง เอาอะไรให้แทนก็ไม่ยอมยังร้องไห้อยู่อย่างนั้น จะเอาดวงจันทร์อย่างเดียว สร้างความหนักใจแก่พี่เลี้ยงอย่างมาก พี่เลี้ยงก็ฉลาดบอกแก่หลวงพ่อว่า อย่าร้องนะเดี๋ยวยายจะไปเอาไม้กระทู้ยาวมาพาดชายคาบ้าน แล้วยายจะปีนกระทู้ขึ้นไปหยิบเอาดวงจันทร์มาให้ เพียงเท่านั้น หลวงพ่อก็หยุดร้องไห้จับตาดูยายบู่พี่เลี้ยงไต่กระทู้ขึ้นไปจนถึงชายคาบ้าน ยกมือสองข้างยื่นออกไปทำเป็นว่าจะหยิบดวงจันทร์ แต่เกินที่ยายจะเอื้อมถึง ยายหยิบดวงจันทร์มาให้หลานไม่ได้ พอพี่เลี้ยงพูดอย่างนี้หลวงพ่อไม่ร้อง หยุดร้องไปเฉย ๆ แปลกใจว่ายายบู่พี่เลี้ยงหยิบดวงจันทร์มาให้ไม่ได้ ทำไมหลวงพ่อไม่ร้องต่อหลวงปู่อธิบายว่า หลวงพ่อเป็นคนมีเหตุผลมาแต่เล็กแดงแล้ว ดวงจันทร์คืออะไร ดวงจันทร์คือดวงธรรมนั่นเอง แสดงแววที่จะเห็นธรรมมาแต่เด็กน้อยแล้ว อีกเรื่องหนึ่งอุบาสิกาทองสุก สำแดงปั้น ( ศิษย์ธรรมกายของหลวงพ่อ )เล่าให้ฟังว่า ตอนหลวงพ่อเป็นเด็กเล็ก ชอบร้องเพลงแต่เพลงที่หลวงพ่อร้อง มีเนื้อร้องที่ไม่เหมือนชาวบ้านเขาร้อง เพลงของหลวงพ่อมีแต่เรื่องนรกสวรรค์ ไม่ทราบว่าจำมาจากใคร หรือหลวงพ่อร้องได้เองตามสัญชาติญาณ ( INSTINCT ) ของท่านเอง เด็กร้องเอาดวงจันทร์ เราไม่เคยได้ยิน เคยได้ยินแต่เรื่องแพ้ท้อง การแพ้ท้องของมารดาบ่งบอกถึงอนาคตของเด็กได้เหมือนกัน อย่างพระพรหมมุนี ( ผิน ธรรมประทีป ) อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารเล่าว่า เดิมอาตมาเป็นคริสต์ โยมหญิงเล่าให้ฟังว่าตอนโยมแพ้ท้องโยมอยากกินแต่น้ำชา พออาตมาเกิดได้เข้านับถือพุทธ บวชเป็นพระเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นหิรัญบัตร จวนจะได้เป็นสมเด็จอยู่แล้ว หากไม่มรณภาพเสียก่อนได้เลื่อนเป็นสมเด็จแน่ ๆ

2.การศึกษาเบื้องต้น

หลวงพ่อสดท่านเรียนหนังสือวัดกับพระภิกษุน้าชายของท่าน ณ วัดสองพี่น้อง เมื่อพระภิกษุน้าชายลาสิกขาบทแล้วได้มาศึกษาอักขรสมัย ณ วัดบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ในปกครองของพระอาจารย์ทรัพย์ เพราะชาติภูมิของบิดาท่านอยู่ที่วัดบางปลา ปรากฏว่าหลวงพ่อเรียนได้ดีสมสมัยและการศึกษาขั้นสุดท้ายของเด็กวัดสมัยนั้นก็คือ เขียนอ่านหนังสือขอมได้คล่องแคล่ว อ่านหนังสือมาลัยซึ่งเขียนเป็นอักษรและเป็นบทเรียนขั้นสุดท้ายโดยการอ่านกันไปคนละหลาย ๆ จบจนกว่าจะออกจากวัด ซึ่งเรียกกันสมัยนี้ว่าจบหลักสูตรการศึกษาก็ได้ครับ การศึกษาของหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญก็อยู่ในลักษณะนี้ ท่านมีนิสัยจริงมาตั้งแต่เล็ก ๆ คือ ตั้งใจเรียนจริง ๆ ไม่ยอมอยู่หลังใคร

3.การอาชีพ

เมื่อจบการศึกษาแล้วท่านก็ออกจากวัดมาช่วยบิดามารดาค้าขาย โดยซื้อข้าวบรรทุกเรือต่อล่องมาขายให้แก่โรงสีในกรุงเทพฯ หรือไม่ก็ที่นครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เมื่อสิ้นบุญบิดาแล้วท่านได้รับหน้าที่ประกอบอาชีพสืบต่อมา ด้วยอุปนิสัยส่วนตัวของท่านที่เป็นคนรักงานและทำอะไรทำจริง อีกทั้งขยันขันแข็งอาชีพการค้าจึงเจริญมาตามลำดับ ญาติ ๆ ของท่านก็ให้การอุปการะสนับสนุน โดยที่ท่านไม่ต้องลงทุนอะไรมากนัก เพราะว่าตีราคาข้าวเปลือกแล้วตกลงราคากัน จากนั้นขนข้าวลงเรือ โดยไม่ต้องชำระเงินก่อน เมื่อขายข้าวแล้วจึงชำระเงินกันได้ มันเป็นเรื่องของการไว้เนื้อเชื่อใจกันครับ หลวงพ่อสดท่านประกอบอาชีพนี้ตลอดมา จนปรากฏในยุคนั้นว่าเป็นผู้มีฐานะดีคนหนึ่ง ท่านเป็นคนมีนิสัยชอบความก้าวหน้ามุ่งไปสู่ความเจริญมีจุดน่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่งว่า ถ้าหากท่านพบกับญาติหรือคนชอบพอแล้วถามถึงการประกอบอาชีพ ถ้าทราบว่าผู้ใดเจริญขึ้นก็แสดงมุฑิตาจิตหากใครทรงตัวอยู่หรือทรุดลงท่านก็จะพูดว่า กินอย่างไก่หาได้ไม่มีเก็บ อย่างนี้ต้องจนได้ ควรหาอุบายใหม่ จุดหักเหอยู่ที่ตรงนี้ครับคือ เมื่อท่านอายุได้ 19 ปีระหว่างที่ทำการค้าอยู่นั้นความคิดอันประกอบด้วยความเบื่อหน่ายบังเกิดแก่ท่าน อาจมีผลมาจากความลำบากใจเกี่ยวกับอาชีพที่ท่านทำอยู่ส่วนหนึ่งด้วยที่ท่านต้องเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงทำงานเลี้ยงมารดา และรับผิดชอบในกิจการงานต่าง ๆ โดยเกิดธรรมสังเวชขึ้นในใจว่า“ การหาเงินเลี้ยงชีพนั้นลำบาก บิดาของเราก็หามาอย่างนี้ ต่างไม่มีเวลาว่างกันทั้งนั้น ถ้าใครไม่รีบหาให้มั่งมีก็เป็นคนชั้นต่ำ ไม่มีใครนับหน้าถือตาเข้าหมู่เพื่อนบ้านก็อับอาย ไม่เทียมหน้าเขา บุรพชนต้นสกุลก็ทำมาอย่างนี้เหมือนกันจนถึงบิดาเรา และตัวเราในบัดนี้ก็คงทำอยู่อย่างนี้ก็บัดนี้บุรพชนทั้งหลายได้ตายหมดแล้ว แม้เราก็จักตายเหมือนกัน เราจะมัวแสวงหาทรัพย์อยู่ทำไม ตายแล้วเอาไปไม่ได้บวชดีกว่า” เมื่อได้โอกาสท่านได้จุดธูปเทียนบูชาพระแล้วอธิษฐานว่า “ ขอเราอย่าได้ตายเสียก่อน เมื่อบวชแล้วจะไม่ลาสิกขา ขอบวชไปจนตลอดชีวิต ” หลวงพ่อสดท่านบอกว่า เริ่มอธิษฐานมาตั้งแต่อายุ 19 ปี ท่านยังเล่าต่อไปอีกครับว่า เมื่อตกลงใจบวชไม่สึกแล้วจิตที่คิดเป็นห่วงมารดาก็พลันบังเกิดขึ้นจึงขะมักเขม้นทำงานสะสมทรัพย์ เพื่อให้มารดาเลี้ยงชีพไปจนตลอดชีวิต จากประวัติของท่านนั้นหลวงพ่อสดวัดปากน้ำ ฯ ท่านหาเงินให้มารดาเอาไว้ใช้เลี้ยงชีพได้จนตาย ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกที่มารดาของท่านมีอายุยืนมาจนถึงกล้วยน้ำว้าราคาหวีละบาทกว่า

-เกิดอารมณ์กรรมฐานตั้งแต่อายุ 19 ปี

ตามบันทึกของหลวงพ่อจะพบว่าหลวงพ่อเกิดเบื่อหน่ายกับอาชีพที่ทำอยู่ในเมื่อกลัวโจรจะปล้นจี้ ปล่อยใจจินตนาการไปตามหลักของกรรมฐานคือ ระลึกถึงบิดา บิดาก็ตายไปแล้วไปคนเดียวไม่เอาอะไรไปได้เลยและตัวเราก็หนีความตายไปไม่พ้นต้องตายอย่างบิดาเหมือนกัน ลองทำเป็นตายจริง ๆ ถึงกับนอนที่ท้ายเรือแล้วลองไปหาญาติพี่น้อง เพื่อน ปรากฏว่าไม่มีใครเห็นเราทั้งนั้น ครั้นรู้ตัวว่าคิดนึกไปจึงลุกขึ้นแล้วจุดธูปอธิษฐานใจขออย่าให้ตายไปก่อนแล้วจะบวชไม่สึก อารมณ์เช่นนี้จัดเป็นอารมณ์ทางกรรมฐาน อนุเคราะห์เข้าอสุภกัมมัฏฐาน เด็กหนุ่มอายุ 19 ปี เกิดอารมณ์ทางกัมมัฏฐานเราไม่เคยได้ยิน และหลวงพ่อคงไม่ทราบเหมือนกันว่าเหตุใดหลวงพ่อต้องมาคิดนึกเช่นนั้น

-เหตุใดหลวงพ่อจึงทำการค้าซื้อง่ายขายคล่องกำไรงาม

เมื่อหลวงพ่อรู้ตัวว่าจะบวชจึงรีบค้ารีบขาย เพื่อรวมเงินไว้ให้มารดาใช้จ่ายตลอดชีวิตปรากฏว่า ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ เพราะได้เงินมาให้มารดาเป็นกอบเป็นกำพอใช้จ่าย เหตุใดหลวงพ่อจึงประสบความสำเร็จเช่นนั้น พิจารณาดูแล้วหลวงพ่อประกอบอาชีพถูกตำราของพระศาสนา เพราะการสงเคราะห์บิดามารดาเป็นมงคลสูงเข้าหลัก มาตาปิตุอุปฏํฐานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ แปลว่า การสงเคราะห์บิดามารดาเป็นมงคล …นี่คือทัศนะวิจารณ์ที่อาจารย์การุณย์ บุญมานุช ได้แสดงเอาไว้ครับนับว่าน่าสนใจมากทีเดียว

4.อุปสมบท / การศึกษาในเพศสมณะของหลวงพ่อ

ทีนี้เรามาสัมผัสเรื่องนี้ที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของหลวงพ่อสดวัดปากน้ำกันครับ ตามประวัติได้บันทึกไว้ว่าในเดือนกรกฎาคม 2449 ต้นเดือน 8 ท่านได้อุปสมบทในขณะที่อายุย่างเข้า 22 ปี ที่วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มีฉายาว่า “ จนฺทสโร ” พระอาจารย์ดีวัดประตูศาล อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระอุปัชฌายะ พระครูวินยานุโยค ( เหนี่ยง อินฺทโชโต ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ คู่สวดอยู่วัดเดียวกันคือ วัดสองพี่น้อง อ .สองพี่น้อง จ . สุพรรณบุรี เมื่ออุปสมบทแล้วท่านได้จำพรรษาอยู่วัดสองพี่น้อง 1 พรรษา เมื่อปวารณาพระพรรษาแล้วท่านได้เดินทางมาจำพรรษาต่อ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ เพื่อเล่าเรียนพระธรรมวินัยต่อไป การศึกษาของพระภิกษุสามเณรในสมัยนั้น การเรียนบาลีต้องท่องสูตรก่อน เมื่อท่องสูตรจบเบื้องต้นแล้วจึงเริ่มจับเรียงมูล เริ่มตั้งแต่เรียนสนธิขึ้นไป หลวงพ่อสดวัดปากน้ำ ฯ ท่านเริ่มต้นโดยวิธีนี้ครับแล้วถึงเรียนนาม , สมาส , ตัทธิต , กิตก์ แล้วเริ่มขึ้นคัมภีร์จับแต่พระธรรมบทเรื่อยไป ท่านเรียนพระธรรมบทจบทั้งสองบั้น เมื่อจบสองบั้นแล้วกลับขึ้นต้นใหม่ เรียนมงคลทีปนีและสารสังคหะตามความนิยมของสมัยจนชำนาญและเข้าใจถึงขั้นสอนผู้อื่นได้ เมื่อกำลังเรียนอยู่นั้น ท่านต้องพบกับความลำบากเป็นอย่างมาก เพราะว่าเรียนกันตามกุฏิต้องเดินไปศึกษากับอาจารย์ตามวัดต่าง ๆ เมื่อฉันเช้าแล้วข้ามฟากไปเรียนที่วัดอรุณราชวราราม แล้วกลับมาฉันเพลที่วัด หลังจากเพลแล้วก็ต้องไปเรียนที่วัดพระเชตุพน ฯ แต่ไม่ได้ไปติด ๆ กันทุกวันนะครับมีเว้นบ้างสลับกันไป สมัยที่ท่านกำลังศึกษาอยู่นั้นนิยมใช้หนังสือขอมที่จารลงในใบลาน และนักเรียนที่ขอไปศึกษากับอาจารย์นั้น บทเรียนไม่เสมอกันต่างคนต่างเรียนตามความสมัครใจ กล่าวคือบางองค์เรียนธรรมบทเบื้องต้น บางองค์เรียนบั้นปลาย ยิ่งนักเรียนมีมากหนังสือที่เอาไปโรงเรียนก็เพิ่มจำนวนขึ้นเช่น นักเรียน 10 คน เรียนหนังสือกันคนละผูก นักเรียนที่ไปเรียนนั้นก็ต้องจัดหนังสือติดตัวไปให้ครบจำนวนนักเรียน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่านอกจากเรียนตามบทเรียนของตนแล้วต้องเอาหนังสือไปฟังบทเรียนของคนอื่นด้วย อันมีผลช่วยให้ตนมีความรู้กว้างขวางขึ้น ฉะนั้นปรากฏว่านักเรียนต้องแบกหนังสือไปคนละหลาย ๆ ผูก แบกจนไหล่ลู่ คือว่าหนังสือเต็มบ่า หลวงพ่อสดวัดปากน้ำ ฯ เป็นนักเรียนประเภทดังกล่าวนี้ครับ ท่านพยายามไม่ขาดเรียน แบกหนังสือข้ามฟากลงท่าประตูนกยูง วัดพระเชตุพน ฯ ไปขึ้นท่าวัดอรุณ ฯ เข้าศึกษาในสำนักนั้น หลวงพ่อสดวัดปากน้ำ ฯ ท่านได้เดินทางไปศึกษาสำนักต่าง ๆ อยู่หลายปี ครั้นต่อมามีผู้เลื่อมใสในท่านมากขึ้น พวกข้าหลวงในวังกรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม ซึ่งชาวบ้านใกล้เคียงเรียกว่า ” วังพระองค์เพ็ญ ” ต่างเลื่อมใสในตัวหลวงพ่อสดมากครับ ได้เวลาเพลต่างก็ช่วยกันจัดสำรับคาวหวานมาถวายทุกวัน นับว่าเป็นกำลังส่งเสริมให้สะดวกแก่การศึกษาเป็นอย่างดี สำหรับผู้ฝาในการศึกษาแล้วท่านส่งเสริมและให้กำลังใจ โดยพูดอยู่เสมอ ๆ ว่า “ การศึกษานั้นเปลี่ยนชีวิต ผู้ศึกษาให้สูงกว่าพื้นเดิม คนที่มีการศึกษาจะได้อะไรดีกว่า , ประณีตกว่าผู้อื่น คนมีวิชาเท่ากับได้สมบัติจักรพรรดิ ใช้ไม่หมด ” ต่อจากนั้นท่านก็มุ่งธรรมะปฏิบัติ โดยเบื้องต้นนั้นท่านอ่านตำราก่อนครับ ส่วนมากใช้ “วิสุทธิมรรค”ท่านศึกษาตามแบบแผน เพื่อจับเอาหลักให้ได้ก่อน ประกอบกับศึกษาทางปฏิบัติกับอาจารย์ ท่านได้ผ่านอาจารย์มามากครับเช่น เจ้าคุณพระมงคลทิพมุนี ( มุ้ย ) อดีตเจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิ , พระครูฌานวิรัติ ( โป๊ ) วัดพระเชตุพนฯ , พระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำ จังหวัดธนบุรี , พระอาจารย์ปลื้ม วัดเขาใหญ่ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ใครว่าดีที่ไหนท่านพยายามเข้าศึกษา เมื่อมีความรู้พอสมควรก็ได้ออกจากวัดพระเชตุพนฯ ไปจำพรรษาต่างจังหวัด เพื่อเผยแพร่ธรรมวินัยตามอัธยาศัยของท่าน แต่ส่วนมากแนะนำทางปฏิบัติ การเทศนาท่านใช้ปฏิภาณของท่านเอง แหล่งสุดท้ายท่านได้ไปอยู่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี อยู่มาวันหนึ่งท่านเห็นว่าวัดนี้เป็นที่สงัดสงบเหมาะสมแก่ผู้ที่ต้องการความเพียรทางใจและไกลจากหมู่บ้าน อีกทั้งเป็นวัดโบราณมีลักษณะกึ่งวัดร้างอยู่แล้ว พระพุทธรูปศิลาองค์ใหญ่นับร้อยถูกทำลายเพราะฝีมือของพวกอันธพาลบ้าง เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลาจนดูเก่าคร่ำคร่าบ้าง พระเศียรหักแขนหักดูเกลื่อนกล่นไปหมด หลวงพ่อสดเกิดความสังเวชในใจ จึงใช้วิชาพระกรรมฐานแนะนำประชาชนและผู้มีศรัทธา ให้ช่วยกันปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปเหล่านั้น โดยได้พรรณนาอานิสงส์แห่งการเสียสละ พระพุทธรูปได้ถูกปฏิสังขรณ์ขึ้นมาบ้าง แต่ทำได้ไม่หมดครับเพราะมีเป็นจำนวนมากและต้องใช้เวลานาน การซ่อมแซมนั้นยังไม่ทันสำเร็จสมความมุ่งหมาย ประชาชนได้เข้าปฏิบัติธรรมกันมาก จนทำให้การบูรณะซ่อมแซมต่างๆต้องมีอันยุติไป สมัยนั้นการปกครองประเทศจัดเป็นมณฑลครับ เจ้าเมืองสุพรรณบุรีและสมุหเทศาภิบาลเกรงว่าจะเป็นการมั่วสุมประชาชน วันหนึ่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรีได้พบกับสมเด็จพระวันรัต ( ติสฺสทตฺตเถร ) วัดพระเชตุพนฯ เวลานั้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญ ได้ปรารภเรื่องหลวงพ่อวัดปากน้ำ ฯ ไปทำพระกรรมฐานกันที่นั่นจะเป็นการไม่เหมาะสมแก่ฐานะ ขอให้ทางคณะสงฆ์พิจารณาเรียกกลับ หลวงพ่อสดวัดปากน้ำ ฯจึงจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุมาด้วยความเคารพในการปกครอง แล้วมาอยู่วัดสองพี่น้องจังหวัดเดียวกัน แต่พระเถระในวัดสองพี่น้องนั้นไม่เห็นความสำคัญในการศึกษา มีบางท่านสนใจแต่ไม่สามารถจะจัดการไปได้ เพราะพระเถระส่วนใหญ่ไม่ส่งเสริม ผู้สนใจก็ก็ส่งภิกษุสามเณรผู้ใคร่ต่อการศึกษามาเล่าเรียนที่กรุงเทพฯ หลวงพ่อสดวัดปากน้ำ ฯ มาอยู่วัดสองพี่น้องได้เป็นกำลังตั้งโรงเรียนนักธรรมขึ้น และท่านได้ชักชวนตั้งมูลนิธิเพื่อการศึกษาโดยมีคณะกรรมการมูลนิธินั้นได้เป็นทุนการศึกษามาจนทุกวันนี้ นับว่าท่านได้ทำความดีไว้แก่วัดสองพี่น้องเป็นอันมากครับ สมเด็จพระวันรัต ( ติสฺสทตฺตเถร ) วัดพระเชตุพน ฯ ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรีในยุคนั้น วัดปากน้ำเป็นพระอารามหลวงวัดหนึ่งในอำเภอนั้น กลับว่างเจ้าอาวาสลงครับ พระคุณท่านหวังจะอนุเคราะห์หลวงพ่อวัดปากน้ำ ฯ ให้มีที่อยู่เป็นหลักฐาน หวังเอาตำแหน่งเจ้าอาวาสผูกหลวงพ่อไว้วัดปากน้ำฯ เพื่อไม่ให้เร่ร่อนไปโดยไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ครั้งแรกท่านได้พยายามปัดไม่ยอมรับหน้าที่ แต่ครั้นแล้วก็จำต้องยอมรับด้วยเหตุผล ก่อนจะส่งไปนั้นสมเด็จพระวันรัตตั้งข้อแม้ให้หลายข้อเช่น ห้ามแสดงอภินิหาร และทำการเกินหน้าพระคณาธิการวัดใกล้เคียง ให้เคารพการปกครองตามลำดับ ให้อดทนเพื่อความสงบและไม่ให้ใช้อำนาจอย่างรุนแรง การที่เจ้าคณะอำเภอเอาคำมั่นสัญญากับหลวงพ่อวัดปากน้ำ ฯ เช่นนั้น เพราะเห็นว่าหลวงพ่อวัดปากน้ำ ฯ ชอบทำสิ่งที่ตนเห็นว่าดีงาม ไม่ชอบอยู่เฉย ๆ โดยไม่ทำกิจอะไรให้เป็นประโยชน์ขึ้นแม้แก่ตัวเอง ท่านเจ้าคณะอำเภอได้ปกครองอำเภอนี้มานานย่อมซาบซึ้งถึงอัธยาศัยและความเป็นไปในอำเภอนั้นได้ดี เพราะจิตปรานีจะไม่ให้เกิดความกระทบกระเทือนแก่ใครผู้ใด หวังความสงบในการปกครองเป็นหลักสำคัญ เบื้องต้นหลงพ่อวัดปากน้ำ ฯ ท่านยอมรับด้วยดี เป็นทั้งนี้ก็เพราะว่า ท่านไม่เคยประสบปัญหาความขัดข้องในการปกครองวัดมาก่อน พอมาถึงในราวปีพ.ศ. 2359 ท่านได้จากวัดพระเชตุพนฯ ในฐานะเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ โดยมีเรือยนต์หลวงซึ่งกรมการศาสนาจัดถวาย เพื่อเป็นเกียรติยศแก่พระอารามหลวง มีพระอนุจรติดตาม 4 รูป ทางกรมได้จัดสมณบริขารถวายเจ้าอาวาสและนิตยภัตรอีก 4 เดือน ๆ ละ 30 บาท พระอนุจร 4 รูป ๆ ละ 20 บาท เจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญนำมาส่งถึงวัดปากน้ำ พร้อมด้วยพระเถรานุเถระและพระคณาธิการในอำเภอนั้นหลายรูป มีคฤหัสถ์ชายหญิงหลายคนมาต้อนรับ ก่อนจะมาวัดปากน้ำฯท่านได้เป็นฐานานุกรมของเจ้าคุณพระศากยยุติวงศ์ เจ้าคณะอำเภอในตำแหน่งสมุห์อีกด้วยครับ วัดปากน้ำ ฯในสมัยนั้น มีสภาพคล้ายๆกึ่งวัดร้างก็ว่าได้ครับ สมควรที่จะต้องได้รับการบูรณะฟื้นฟูก่อนเป็นอันดับแรก งานเบื้องต้นหลวงพ่อวัดปากน้ำ ฯ นั้น ท่านได้ประชุมพระภิกษุสามเณรที่อยู่เดิมและมาใหม่ มารับโอวาทและปรับความเข้าใจกันซึ่งท่านไก้ให้โอวาทว่า “ เจ้าคณะอำเภอส่งมาเพื่อให้รักษาวัด และปกครองตักเตือนว่ากล่าวผู้อยู่วัดโดยพระธรรมวินัย อันจะให้วัดเจริญได้ต้องอาศัยความพร้อมเพรียง และเห็นอกเห็นใจกันจึงจะทำความเจริญได้ ถิ่นนี้ไม่คุ้นเคยกับใครเลย มาอยู่นี้เท่ากับถูกปล่อยโดยไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใคร เพราะต่างไม่รู้จักกัน แต่ก็มั่นใจว่าธรรมที่พวกเราปฏิบัติตรงต่อพระพุทธโอวาท จะปรากฏความราบรื่นและรุ่งเรืองให้แก่ผู้มีความประพฤติเป็นสัมมาปฏิบัติ ธรรมวินัยเหล่านั้นจะกำจัดอธรรมให้สูญสิ้นไป พวกเราบวชกันมาคนละมาก ๆ ปี ปฏิบัติธรรมเข้าขั้นไหน มีพระปาฎิโมกข์เรียบร้อยอย่างไร ทุกคนทราบความจริงของตนได้ ถ้าเป็นไปตามแนวพระธรรมวินัยก็น่าสรรเสริญ ถ้าผิดพระธรรมวินัยก็น่าเศร้าใจ เพราะตนเองก็ติเตียนตนเอง ได้เคยพบมาบ้างแม้บวชตั้งนานนับสิบ ๆ ปี ก็ไม่มีภูมิจะสอนผู้อื่น จะเป็นที่พึ่งของศาสนาก็ไม่ได้ได้แต่อาศัยศาสนาอย่างเดียว ไม่ทำประโยชน์ให้เกิดแก่ตนและเกิดแก่ท่าน ซ้ำร้ายยังทำให้พระศาสนาเศร้าหมองอีกด้วย บวชอยู่อย่างนี้เหมือนตัวเสฉวน ( เรื่องเสฉวนนี้หลวงพ่อท่านชอบพูดบ่อย ๆ ต่อมาก็หายไปครับ ) จะได้ประโยชน์อะไรในการบวช,ในการอยู่วัด ฉันมาอยู่วัดปากน้ำ ฯ จะพยายามตั้งใจประพฤติให้เป็นไปตามแนวพระธรรมวินัย พวกพระเก่า ๆจะร่วมกันก็ได้หรือว่าจะไม่ร่วมด้วยก็แล้วแต่อัธยาศัย ฉันจะไม่รบกวนด้วยอาการใด ๆ เพราะถือว่าทุกคนรู้สึกผิดชอบด้วยตนเองดีแล้ว ถ้าไม่ร่วมใจก็ขออย่าขัดขวาง ฉันก็จะไม่ขัดขวางผู้ไม่ร่วมมือเหมือนกัน ต่างคนต่างอยู่ แต่ต้องช่วยกันรักษาระเบียบของวัด คนจะเข้าจะออกต้องบอกให้รู้ ที่แล้วมาไม่เกี่ยวข้อง เพราะยังไม่อยู่ในหน้าที่ จะพยายามรักษาเมื่ออยู่ในหน้าที่ ” นี่เป็นโอวาทที่หลวงพ่อให้แก่ภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา เมื่อครั้งได้ไปปกครองวัดครับ ในเวลาต่อมา..หลวงพ่อท่านก็โดนมรสุมขนาดหนัก โอวาทนั้นกลายเป็นคำพูดที่อวดดีไป แต่หลวงพ่อวัดปากน้ำฯ ท่านทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ไม่ปริปากโต้แย้งอะไร แต่ภายในเร่งรัดกวดขันภิกษุสามเณรยิ่งขึ้น แต่กวดขันได้แต่พวกที่ติดตาม และภิกษุสามเณรที่เข้าสำนักใหม่ เปิดการสอนกรรมฐานเป็นหลักฐานขึ้น ประชาชนต้อนรับด้วยปสาทะ แต่ส่วนมากเป็นชาวบ้านตำบลเมืองอื่นและมาจากถิ่นไกล ส่วนข้างเคียงก็มีบ้าง เวลาย่ำค่ำแล้วมีการอบรมภิกษุสามเณร , อุบาสก ,อุบาสิกาทุกวันแล้วบำเพ็ญสมณธรรมด้วย ความดีเริ่มฉายรัศมีขึ้น ความเดือดร้อนก็เป็นเงาแฝงมา เด็ก ๆ ที่ไม่ได้รับการศึกษา มารบกวนวัดแทบทุกวันและพากันมาเป็นจำนวนมาก ต่างชวนกันมาเอะอะในวัดและยิงนกเล่น เป็นภัยแก่วัด ครั้นจะตักเตือนว่ากล่าวหรือใช้อำนาจก็ไม่แน่ใจว่าจะเกิดความราบรื่น เพราะชาวบ้านแถวนั้นยังไม่เกิดความนิยมในท่าน เขานิยมพระพวกเก่ามากกว่า ท่านพูออกมาคำหนึ่งว่า “เด็ก ๆ ที่ไร้การศึกษาเป็นคนรกชาติ มาเที่ยงรังแกวัดต่อไปก็กลายเป็นพาล” ไม่ช้าท่านได้ตั้งโรงเรียนราษฎร์สำหรับวัดขึ้น โดยหาทุนค่าครูเองได้ค่าอุปการะจากท่านผู้หญิงสุธรรมมนตรี ( กิ้มไล้ สุจริตกุล ) บ้าง หลวงฤทธิ์ณรงค์รอญธนบดีในคลองบางหลวง บ้านอยู่ข้างวัดสังกระจายบ้าง จากนายต่าง บุณยมานพ ธนบดีตลาดพลูบ้าง พระภิรมย์ราชาวาจรงค์ บ้านตรงข้ามหน้าวัดและผู้มีศรัทธาอีกหลายท่าน ทางกรมการอำเภอส่งเสริมให้กิจการของโรงเรียนดำเนินไปโดยสะดวก นักเรียนจากจำนวน 10 เป็นจำนวนร้อย จนถึง 300 เศษให้ได้รับการศึกษา โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ภาวะของวัดปากน้ำค่อยดีขึ้น ผู้ปกครองเด็กเห็นบุญคุณของท่านเกิดความเลื่อมใส บางคนมาพูดว่า “หลวงพ่อดีมาก ลูกหลานผมได้เข้าโรงเรียนเพราะหลวงพ่ออนุเคราะห์ นโยบายของท่านเบื้องต้นนั้นให้คนเกรงใจวัดและเห็นบุญคุณของวัด การเกะกะระรานในวัดก็ค่อย ๆ จางไปจนแทบพูดได้ว่าไม่มีคนรังแกวัด ต่อมาทางปกครองได้ใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา ทางรัฐบาลได้จัดโรงเรียนสถานการศึกษาโดยทั่วถึงกันประจวบกับเจ้าอาวาสวัดขุนจันทร์ว่างลง เจ้าคณะจังหวัดธนบุรีมอบให้หลวงพ่อวัดปากน้ำ ฯ รักษาการวัดขุนจันทร์ ท่านได้ย้ายโรงเรียนภาษาไทยจากวัดปากน้ำ ฯไปตั้งการสอนที่วัดขุนจันทร์ ต่อมาทางวัดเห็นว่าหมดความจำเป็น จึงเลิกกิจการด้านนี้ มอบให้รัฐบาลรับภาระ หลวงพ่อหันมาจัดการศึกษาทางบาลีและปฏิบัติธรรมต่อไปครับ และในโอกาสนี้ ผมขอน้อมนำข้อเขียนในมุมมองอีกมิติหนึ่งของท่านอาจารย์การุณย์ บุญมานุช ที่ได้กล่าวถึงเรื่องราวของหลวงพ่อสดวัดปากน้ำ ฯ เกี่ยวกับเรื่องการศึกษาในเพศสมณะของหลวงพ่อท่านโดยมีเนื้อหาน่าติดตามดังนี้ครับว่า” มีคนบ่นกันมาก ว่าหลวงพ่อมีความรู้ทางบาลีอย่างมาก มีวาทศิลป์ในการเทศน์ ใครเทศน์ก็ไม่น่าฟังเหมือนหลวงพ่อเทศน์ คำบาลีไม่รู้ว่ามาจากไหน เวลาเทศน์ถือแต่ใบลานไม่เคยดูใบลาน เหตุใดจำบาลีได้มากถึงปานนั้น ในเรื่องความเก่งของหลวงพ่อนั้นบิดาของข้าพเจ้านายเหลียง บุญมานุช ( ขณะนี้อายุ 94 ปี ) บ้านบางพลับ อำเภอสองพี่น้อง เคยบวชอยู่กับหลวงพ่อ 2 พรรษาที่วัดปากน้ำ ฯ เล่าให้ฟังว่า หลวงพ่อเก่งทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ สอนได้ทั้งปริยัติและสอนบาลีด้วย การให้โอวาทแก่พระสงฆ์หลังจากทำวัตรเช้าแล้วไม่ซ้ำสูตรกันเลย ไม่รู้ว่าไปเอาความรู้ที่ไหนมาแสดงได้ไม่ติดขัด บิดาของผู้เขียนเล่าต่อว่า อยากได้เงินค่าแสดงปาฏิโมกข์ในอุโบสถวัดปากน้ำ ฯ เพื่อจะนำเงินนั้นเป็นค่าใช้จ่ายไปเยี่ยมย่าที่สุพรรณบุรี หลวงพ่อคุมการสวดปาฎิโมกข์ คุมทั้งอักขระและคุมเสียงด้วย ติดขัดนิดหนึ่งหลวงพ่อก็ไม่ยอม ต้องเล่าให้ได้ทั้งอักขระและเสียงด้วย เล่นเอาเหงื่อแตกทั้งตัวกว่าจะได้ค่าแสดงปาฎิโมกข์ 20 บาท จึงค้นคว้าว่าหลวงพ่อศึกษาเล่าเรียนมาอย่างไร พบว่าหลวงพ่อเรียนทั้งปริยัติและปฏิบัติคู่กันไป ซึ่งไม่เหมือนใครปกติเขาเรียนกันแต่ปริยัติเท่านั้น ว่าถึงการเรียนภาวนาหรือที่เราเรียกว่าการปฏิบัตินั้น หลวงพ่อเทศน์ให้ฟังเองว่าบวชวันแรกยังไม่ได้เรียนภาวนา เพราะจะต้องทำกิจของพระเกี่ยวกับเรื่องพินทุผ้า พอรุ่งขึ้นเป็นวันที่ 2 แห่งการบวช หลวงพ่อก็เรียนภาวนาทันที ใครว่าดีที่ไหนไปเรียนทั้งนั้น ”

-หลวงพ่อศึกษาทั้งปริยัติและปฏิบัติคู่กันไป

ท่านอาจารย์การุณย์ บุญมานุชได้อธิบายขยายความเพิ่มเติมต่อไปอีกว่า”สำหรับด้านปริยัติได้แก่การเรียนทางวิชาการของสงฆ์ ซึ่งแบ่งออกเป็นฝ่ายนักธรรมและฝ่าบาลี ถ้าใครได้ น.ธ.เอก ถือว่าจบหลักสูตรนักธรรม และถ้าใครสอบได้เปรียญ 9 ถือว่าจบหลักสูตรเปรียญเอก แต่ยุคของหลวงพ่อแทบจะเรียนอะไรไม่ได้เลย เพราะงานการศึกษาของสงฆ์ยังไม่เจริญ วัดต่าง ๆ ยังไม่อาจเปิดสำนักเรียนมีเปิดสำนักเรียนก็ได้แก่วัดใหญ่ ๆ เช่น วัดพระเชตุพน ฯ ( วัดโพธิ์ ) วัดมหาธาตุ , วัดอรุณราชวราราม , วัดสุทัศน์เป็นต้น พระสงฆ์วัดต่าง ๆ จำต้องเดินทางไปเรียนจากวัดสำนักเหล่านั้น เช้าไปเรียนที่วัดหนึ่ง เวลาบ่ายต้องไปเรียนอีกวัดหนึ่ง ตอนเย็นต้องไปเรียนอีกวัดหนึ่ง พูดถึงตำราเรียนไม่ใช่หนังสืออย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้ เป็นสมุดข่อยเล่มหนาเขียนเป็นภาษาขอมก็มี เป็นภาษามคธก็มี ภิกษุสามเณรจำต้องแบกสมุดข่อยไปเรียน นับว่าเป็นภาระมาก หากนึกถึงการไปเรียนของพระสงฆ์สมัยนั้น คงเหมือนกับที่เราเห็นพระท่านแบกกลดในปัจจุบันนี้

-การศึกษาด้านปริยัติของหลวงพ่อ

สมเด็จพระสังฆราชป๋า ( ปุ่น ปุณณสิริมหาเถร วัดพระเชตุพน ฯ ) สมัยมีสมณศักดิ์เป็น “สมเด็จพระวันรัต” ทรงกล่าวถึงการศึกษาด้านปริยัติของหลวงพ่อไว้ว่า การศึกษายุคของหลวงพ่อเป็นสมัยจังหวัดธนบุรี มีการคมนาคมเพียงเรือจ้างและเรือยนต์ ยังไม่มีถนนยังไม่ได้สร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฯ การเรียนบาลีสมัยนั้นต้องท่องสูตรก่อนแล้วจึงมาเรียนมูลสนธิ ต่อมาจึงมาเรียนนาม , สมาส , ตัทธิต , อาขยาต , กิตก์ จากนั้นจึงมาเรียนคัมภีร์ธรรมบท จากนั้นมาเรียนมงคลทีปนีและสารสังคหะ หลวงพ่อเรียนตามวิธีนี้ กล่าวถึงความอุตสาหะของหลวงพ่อ แบกตำราไปมาก เช้าไปเรียนที่สำนักของวัดหนึ่ง กลางวันไปอีกสำนักวัดหนึ่ง และตอนเย็นไปอีกสำนักวัดหนึ่ง หลวงพ่ออยู่วัดโพธิ์ ( วัดพระเชตุพน ฯ ) วันหนึ่งจะต้องออกจากวัดโพธิ์ไปวัดอื่นถึง 3 วัด เพียงแต่เดินทางก็มือเท้าอ่อนแล้วยังจะต้องเรียนกับครูเขาอีก เป็นเรามานะพยายามไหวหรือ ความเพียรพยายามของหลวงพ่อเป็นที่ประทับใจของญาติโยมถึงกับจัดอาหารมาถวาย เพื่อสงเคราะห์การศึกษาปริยัติของหลวงพ่อให้เกิดความสบายขึ้นบ้าง แม่ค้าคนหนึ่งชื่อ “นวม” ท่านผู้นี้จัดอาหารถวายหลวงพ่อเป็นประจำ ชีวิตของหลวงพ่อเมื่อเรียนปริยัติธรรมจบลงแล้ว ก็จาริกไปอยู่ที่ตามความต้องการของทางสงฆ์ คือหลวงพ่อได้ไปอยู่วัดปากน้ำ ฯ หลวงพ่อเกิดเรืองนามขึ้นมาแต่แม่ค้า “ นวม” สู่ความชราทุพพลภาพขาดผู้อุปการะหลวงพ่อทราบเรื่องเข้า จึงรับตัวแม่ค้านวมไปอยู่วัดปากน้ำ ฯ ให้การอุปการะทุกอย่างและเมื่อสิ้นชีวิตลง หลวงพ่อจัดฌาปนกิจศพให้ด้วย หลวงพ่อเล่าว่า “ชีวิตเราเมื่อเริ่มศึกษา แม่ค้านวมได้ให้การอุปการะ ครั้นแม่ค้านวมยากจนเรากลับเป็นผู้ให้การอุปถัมภ์ “คือที่สุดต่อที่สุดมาเจอกัน” เป็นมหากุศลยากที่จะหาเหตุการณ์อย่างนี้ “ หลวงพ่อท่านมักเล่าด้วยความชอบใจ การศึกษาด้านปริยัติธรรมหรือคันถธุระของหลวงพ่อขอจบแค่นี้ หลวงพ่อได้รับพระราชทานพัดยศเทียบเปรียญเมื่อ พ.ศ. 2494 ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดหลวงพ่อไม่สอบสนามหลวงคลาดกันไปก็คลาดกันมา แต่ความรู้ทางบาลีของหลวงพ่อไม่มีติดขัด จำได้หมดแปลได้คล่อง ตีความหมายของศัพท์ได้แม่นยำจริง ๆ คนฟังเขาเข้าใจถ้อยคำบาลีที่หลวงพ่ออธิบาย เมื่อคนฟังรู้เรื่องเขาก็ชอบหลวงพ่อ ถ้าเทศน์ไม่รู้เรื่องเขาจะชอบได้อย่างไร เคยฟังหลวงพ่อเทศน์มีอยู่คราวหนึ่งอธิบายศัพท์หลวงพ่อบอกว่า คำ ๆ หนึ่งมีความหมายเป็นร้อยจะทราบกรณีเช่นนี้ ศัพท์คำนี้มีความหมายอย่างไรก็ต้องปฏิบัติธรรมกายให้ได้จึงจะทราบว่าพระพุทธองค์ทรงหมายความเอาอะไร เคยนำหนังสือเทศน์ของหลวงพ่อถวายแก่พระเปรียญต่างชอบใจในการอธิบายศัพท์ของหลวงพ่อ ยกศัพท์ขึ้นก่อนแล้วอธิบายต่อไปก็ให้ความหมาย ให้ความหมายเสร็จแล้วโยงเข้าเรื่องที่เทศน์ เทศน์ของหลวงพ่อจึงแจ่มแจ้งเกิดควมเข้าใจฟังแล้วรู้เรื่อง การศึกษาด้านปริยัติธรรมของหลวงพ่อได้จบลงแล้ว แต่ช่วงเวลาที่หลวงพ่อกำลังศึกษาอยู่ที่วัดโพธิ์ มีประวัติน่าสนใจเรื่องหนึ่งผู้เขียนถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะความคิดของโพธิสัตว์ย่อมไม่เหมือนใคร แม้ทำอะไรก็ไม่เหมือนใครเหมือนกัน เรื่องมีอยู่ว่าระหว่างที่หลวงพ่อกำลังศึกษาปริยัติธรรมอยู่ที่วัดโพธิ์นั้น ได้ใช้กุฏิของท่านตั้งเป็นสำนักบาลี โดยมอบหมายให้พระมหาปิ วสุตตมะ ( ป.ธ. 5 ) เป็นผู้สอน สมัยนั้นการตั้งสำนักเรียนในวัดโพธิ์มีหลายสำนัก ใครมีกำลังก็ตั้งได้ กุฏิหลวงพ่อเลยกลายเป็นสำนักเรียนไป ต่อมาทางการสงฆ์เปลี่ยนหลักสูตรบาลี สำนักเรียนที่หลวงพ่อตั้งขึ้นก็เลิกไป เรามาพิจารณากันว่าระหว่างนั้นพระสด จนฺทสโร ยังอยู่ในวัยหนุ่มเป็นพระลูกวัดเล็ก ๆ เหตุใดจึงกล้าที่จะตั้งสำนักเรียน ครั้งกระนั้นเราทราบแล้วว่าวัดที่จะเปิดสำนักเรียนนั้นได้แก่วัดใหญ่ ๆ เท่านั้น และระหว่างนั้นหลวงพ่อก็ยังเป็นพระนักเรียนอยู่ หลวงพ่อยังเดินเรียนอยู่ ออกจากวัดนี้ไปวัดนั้นออกจากวัดนั้นไปวัดนี้ นี่คือความเป็นนักพัฒนาการศึกษาฉายแสง ในสมองมีแต่จะพัฒนาการศึกษา ความคิดนี้อยู่ในสมองแต่หนุ่มแล้ว เพียงแต่รอโอกาสเท่านั้น โพธิสัตว์ย่อมมีความคิดไม่เหมือนใคร คติโบราณกล่าวว่า อย่าติพระสงฆ์ว่ายังหนุ่ม อย่าดูถูกงูพิษว่าตัวเล็ก

– การศึกษาด้านปฏิบัติหรือวิปัสสนาธุระ

ในทางพระพุทธศาสนากล่าวถึงธุระของสงฆ์ว่ามี 2 อย่าง คือคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ธุระคือภารกิจทางคันถะก็คือ การศึกษาคำสอนของพระศาสดาว่าคำสอนของพระศาสดามีอย่างไร การศึกษาคำสอนของพระศาสดานั้นทางการสงฆ์ท่านเรียกปริยัติธรรม แบ่งการเรียนอกเป็น 2 หลักสูตรคือ หลักสูตรนักธรรมและหลักสูตรบาลี หลักสูตรนักธรรมมี 3 ชั้น คือ นักธรรมตรี โท เอก ส่วนหลักสูตรบาลีนั้นเรียนคำสอนของพระศาสดาที่เป็นบาลี หากใครเรียนจบเปรียญ 9 ถือว่าจบชั้นสูงสุด ธุระคือภารกิจทางวิปัสสนาก็คือ การศึกษาพัฒนาใจได้แก่ การนำคำสอนของพระศาสดาทั้งหลักสูตรนักธรรมและบาลี มาฝึกฝนอบรมจิตใจเพื่อให้แจ้งนิพพานหลักสูตรนี้ท่านวางไว้ 2 คือ สมถะและวิปัสสนา ตามที่ปรากฏไว้ในหนังสือวิสุทธิมรรคนั้น กล่าวถึงธุระทั้ง 2 คือ คันถะ และ วิปัสสนา ในวงการของสงฆ์ไทยสมัยนั้นปรากฏว่าด้อยทั้ง 2 ธุระ ธุระทางปริยัติธรรมก็หาที่เรียนไม่ได้ กลับมาดูธุระทางวิปัสสนายิ่งไปกันใหญ่ จะเอาแบบเอาแนวไม่ได้กันเลย มีเล่าเรียนกันบ้างก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ ปุรพชนเรียนกันมาอย่างไรเรามักเรียนกันอย่างนั้น สรุปแล้วธุระทั้ง 2 คือ คันถธุระและวิปัสสนาธุระ รอผู้รู้มาบุกเบิกรอผู้มีบุญผู้นั้น ตามที่กล่าวนี้เป็นเหตุการณ์ก่อนสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฯ กลับมาศึกษาประวัติการเรียนวิปัสสนาธุระของหลวงพ่อต่อไปว่ามีความพิสดารอย่างไร เคยกล่าวแล้วว่าหลวงพ่อเรียนไม่เหมือนใคร ส่วนใหญ่เขาจะเรียนแต่ คันถธุระอย่างเดียว ส่วนการเรียนวิปัสสนาธุระเอาไว้เรียนเมื่อจบการเรียนคันถธุระแล้วหากมีโอกาส หากโอกาสไม่อำนวยก็ไม่ต้องเรียน แต่หลวงพ่อเรียนทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระคู่กันไป ไม่ทราบว่าหลวงพ่อท่านเอาเวลาที่ไหนมา เพราะคันถธุระต้องเอาเวลาไปท่องบ่น การเจียดเวลาไปเรียนได้นับว่าหลวงพ่อบริหารเวลาได้เก่ง ประเด็นสำคัญที่เราข้องใจก็คือ การเรียนปริยัติกับปฏิบัติไม่เหมือนกัน ปริยัติเป็นเรื่องการท่องบ่นจดจำ แต่ปฏิบัติเป็นเรื่องราวทำใจ ขณะทำใจ ๆ ย่อมประหวัดไปในเรื่องที่เราผ่านมา หลวงพ่อเอาจริงต่อการเรียนปริยัติ ความรู้ร้อยแปดจากปริยัติย่อมจะมานึกคิดในการทำภาวนา ปรากฏว่าการเรียนวิปัสสนาธุระของหลวงพ่อดำเนินไปด้วยดีไม่มีปัญหาอะไร ใจหลวงพ่อไม่ประหวัด เมื่อจะทำอะไรก็มีใจในสิ่งนั้นสิ่งเดียว นี่คือความอัจฉริยะของหลวงพ่อในทางวิปัสสนา การค้นคว้าประวัติการเรียนวิปัสสนาธุระของหลวงพ่อค้นได้ง่ายเพราะหลวงพ่อบันทึกไว้ บันทึกการเรียนวิปัสสนาธุระของหลวงพ่อเท่าที่สรุปย่นย่อได้ความดังนี้ เมื่อวันบวชได้เรียนวิปัสสนาธุระกับพระอนุสาวนาจารย์ของท่านคือ พระโหน่ง อินฺทสุวณฺโณ วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ( ชาวบ้านเรียกหลวงพ่อโหน่ง ต่อมาไปเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนมะดัน หรือเรียกอีกชื่อว่า วัดคลองมะดัน ต่อมาเปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดอัมพวัน อยู่ในท้องที่อำเภอสองพี่น้อง ไม่ไกลจากวัดสองพี่น้องเท่าไรนัก หลวงพ่อโหน่งเป็นอาจารย์ที่เคารพของชาวสุพรรณบุรี ตราบทุกวันนี้ รถยนต์และรถประจำทางจะมีภาพถ่ายของหลวงพ่อโหน่ง พระเครื่องของท่านมีชื่อเสียงมากในปัจจุบัน ) บวชได้เพียงวันที่ 2 เท่านั้น หลวงพ่อก็ไปเรียนวิปัสสนาธุระกับหลวงพ่อเนียม วัดน้อย จังหวัดสุพรรณบุรี อาจารย์ที่ 3 ได้แก่ เจ้าคุณสังวรานุวงษ์ ( เอี่ยม ) วัดราชสิทธาราม อาจารย์ที่ 4 พระครูญาณวิรัติ ( โป๊ ) วัดพระเชตุพน ฯ อาจารย์ที่ 5 พระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำ หลังวัดระฆังโฆสิตาราม วิปัสสนาแบบของพระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำและแบบของพระครูญาณวิรัติ หลวงพ่อทำได้แต่ยังไม่เป็นที่พอใจจะสอนจึงเรียนต่อไป ในช่วงนี้หลวงพ่อจำพรรษาอยู่วัดพระเชตุพน ฯ ( วัดโพธิ์ ) ซึ่งมีสมเด็จพระพุฒาจารย์เข้ม เป็นเจ้าอาวาส ในพรรษาที่ 12 หลวงพ่อได้กราบลาสมเด็จพระพุฒาจารย์เข้ม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน ฯ ไปจำพรรษาที่วัดบางคูเวียง คลองบางกอกน้อย จังหวัดนนทบุรี ทั้งนี้ได้มาระลึกถึงคุณของท่านเจ้าอาวาสวัดบางคูเวียง ( เจ้าอธิการชุ่ม ) ที่ได้ถวายหนังสือมูลกัจจายน์และหนังสือธรรมบทแก่หลวงพ่อ ในตอนนี้หลวงพ่อเรียนปริยัติอยู่ เมื่อไปอยู่วัดนั้นจะได้เทศน์แสดงธรรมตอบแทนค่าของหนังสือที่ถวาย หลวงพ่อท่านคิดอย่างนั้น อุโบสถวัดบางคูเวียงเป็นมหาวิทยาลัยสำคัญที่หลวงพ่อใช้เรียนวิปัสสนาธุระส่วนตัว เป็นมหาวิทยาลัยแปลกเอามากทีเดียว เพราะไม่มีครูมีแต่นักเรียน และมีนักเรียนคนเดียว นักเรียนผู้นั้นคือหลวงพ่อวัดปากน้ำ ฯ มีวิธีเรียนที่แปลกพิสดารใช้เวลาเรียนไม่นาน ทำได้แล้วถือว่าจบหลักสูตรวิปัสสนาธุระ ความรู้ที่ได้รับจากการเรียนในคราวนี้เป็นกุญแจทองเปิดกรุวิปัสสนาเล่มใหญ่ เรื่องราวมีอยู่ว่า ระลึกขึ้นได้ว่าในเมื่อเราตั้งใจจริงในการบวช จำเดิมอายุ 19 เราได้ปฏิญาณตนบวชจนตาย ขออย่าให้ตายในระหว่างก่อนบวช บัดนี้ก็ได้บอกลามาถึง 15 พรรษาย่างเข้าพรรษานี้แล้ว ก็พอสมควรแก่ความประสงค์ของเราแล้ว “บัดนี้ ของจริงที่พระพุทธเจ้าท่านรู้ท่านเห็น เราก็ยังไม่ได้บรรลุเรายังไม่รู้ไม่เห็น สมควรแล้วที่จะต้องกระทำอย่างจริงจัง” เมื่อตกลงใจได้ดังนี้แล้ว วันนั้นเป็นวันกลางเดือน 10 ก็เริ่มเข้าอุโบสถตั้งแต่เวลาเย็น “ ตั้งสัตย์อธิษฐานแน่นอนลงไปว่า ถ้านั่งลงไปครั้งนี้ไม่เห็นธรรมที่พระพุทธเจ้าต้องการ เป็นอันไม่ลุกจากที่นี้จนหมดชีวิต ” เมื่อตั้งจิตมั่นลงไปแล้วก็เริ่มปรารภนั่ง ได้แสดงคำอ้อนวอนต่อพระพุทธเจ้าว่า “ ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดข้าพระพุทธเจ้า ทรงประทานธรรมที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ อย่างน้อยที่สุดแลง่ายที่สุดที่พระองค์ได้ทรงรู้แล้วแด่ข้าพระพุทธเจ้า ถ้าข้าพระพุทธเจ้ารู้ธรรมของพระองค์แล้ว เป็นโทษแก่ศาสนาของพระองค์ ขอพระองค์อย่าทรงพระราชทานเลย ถ้าเป็นคุณแก่ศาสนาของพระองค์แล้ว ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานแด่ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้ารับเป็นทนายศาสนาในศาสนาของพระองค์จนตลอดชีวิต ” พออ้อนวอนเสร็จแล้ว ก็เริ่มปรารภเข้าที่นั่งสมาธิ มานึกถึงมดตามช่องแผ่นหินยาวและบนแผ่นหินบ้าง ไต่ไปมาอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก จึงหยิบเอาขวดน้ำมันก๊าดมา เอานิ้วจุกเข้าที่ปากขวด แล้วตะแคงขวดให้เปียกนิ้ว แล้วเอามาลากเป็นทางให้รอบตัว จะได้กันไม่ให้มาทำอันตรายในเวลานั่งลงไปแล้ว พอเอานิ้ววงไม่ทันถึงครึ่งวงตัวที่นั่ง ความคิดอันหนึ่งเกิดขึ้นว่า “ ชีวิตสละได้ แต่ทำไมยังกลัวมดอยู่เล่า” นึกอายตัวเองขึ้นมาเลยวางขวดน้ำมัน แล้วเข้าที่ภาวนาในเดี๋ยวนั้น ประมาณครึ่งหรือค่อนคืนไม่มีนาฬิกา “ ได้เห็นผังของจริงของพระพุทธเจ้า” ซึ่งมีเนื้อหาวิชาอยู่ในหนังสือ 18 กาย ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ฯ ในขณะนั้นก็เกิดวิตกว่าคัมภีร์โรจายังธรรมเป็นของลึกซึ้งเพียงนี้ ใครจะไปคิดคาดคะเนเอาได้ พ้นวิสัยของความตรึกนึกคิด ถ้ายังตรึกนึกคิดอยู่ก็เข้าไม่ถึง “ ที่จะเข้าถึงต้องทำให้รู้ตรึก รู้นึก รู้คิดนั้น หยุดเป็นจุดเดียวกัน แต่พอหยุดก็ดับแต่พอดับแล้วก็เกิด ถ้าไม่ดับแล้วไม่เกิด ตรองดูเถิดท่านทั้งหลาย นี้เป็นของจริง หัวต่อมีอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนดังนี้ก็ไม่มีไม่เป็นเด็ดขาด” วิตกอยู่อย่างนี้สักครู่ใหญ่ ๆ ก็กลัวว่าความมีความเป็นนั้นจะเลือนไปเสีย จึงเข้าที่ต่อไปใหม่ ราวสัก 30 นาทีก็เห็นวัดบางปลาปรากฏ เหมือนตัวเองไปอยู่ที่นั้นแต่พอชัดดีก็รู้สึกตัวขึ้นมา จึงมีความรู้สึกขึ้นว่า จะมีผู้รู้เห็นสิ่งที่ได้ยากนั้น ในวัดบางปลานี้จะต้องมีผู้รู้เห็นได้อย่างแน่นอน จึงปรากฏขึ้นบัดนี้ ต่อแต่นั้นมาก็คำนึกจะไปสอนที่วัดนั้นอยู่เรื่อย ๆ มาจนถึงออกพรรษารับกฐินแล้วก็ลาสมภารวัดบางคูเวียงไปสอนที่วัดบางปลาราว 4 เดือน มีพระทำเป็น 3 รูป คฤหัสถ์ 4 คน นี้เป็นเริ่มต้น “แผ่ธรรมกายของจริง” ที่แสวงหาได้มาจริงปรากฏอยู่จนบัดนี้

คุณผู้อ่านครับ..ท่านอาจารย์การุณย์ บุญมานุช ท่านเป็นผู้บรรลุธรรมกายชั้นสูง และได้พิมพ์ตำราเกี่ยวกับวิชาธรรมกายออกมาหลายเล่ม ล้วนแต่มีประโยชน์ต่อผู้ใคร่การศึกษาวิชาธรรมกายเป็นอย่างมาก อีกทั้งท่านยังเป็นวิปัสสนาจารย์ผู้มีความเชี่ยวชาญในการถ่ายทอดการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงธรรมกายได้โดยง่ายอีกด้วย ท่านจึงมีความรู้และญาณทัสสนะเกี่ยวกับเรื่องราวของหลวงพ่อได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง ท่านได้ตั้งข้อสังเกตการศึกษาวิปัสสนาธุระของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ฯ เอาไว้ ซึ่งผมขออนุญาตน้อมนำมาถ่ายทอกต่อตามข้อมูลเดิมของอาจารย์ดังนี้ครับว่า “ เหตุที่เราวิจารณ์และตั้งข้อสังเกตการศึกษาวิปัสสนาธุระของหลวงพ่อ เพราะเหตุว่าวิปัสสนาธุระเป็นภาคปฏิบัติพัฒนาใจ เพื่อให้แจ้งนิพพานตามที่กล่าวมาแล้ว แต่การที่จะพัฒนาใจจำต้องมีความรู้และความรู้นั้นจะได้มาจากไหน ความรู้คือคำสอนของพระศาสดานั้นเป็นภาษาบาลี หลักสูตรการศึกษาของสงฆ์ท่านกำหนดไว้เรียกว่า การศึกษาปริยัติธรรม และการศึกษาปริยัติธรรมนั้นแบ่งออกเป็น 2 แผนกคือ แผนกนักธรรมและแผนกบาลี เมื่อเรียนจบปริยัติธรรมแล้วจึงเรียกว่าจบคันถธุระ ครั้นเรียนจบปริยัติธรรมแล้วจึงขึ้นวิปัสสนาธุระถือว่าเป็นการเรียนระดับสำคัญ เพราะเป็นเรื่องทำนิพพานให้แจ้ง เรื่องทำพระนิพพานให้แจ้งนี้เป็นยอดปรารถนาของพุทธศาสนา และการทำนิพพานให้แจ้งนั้นมีแต่พระสงฆ์เท่านั้นที่ทำได้ เพราะมีหลักสูตรให้เรียนซึ่งเรียกว่า “ วิปัสสนาธุระ “ แต่หลักวิปัสสนาธุระของสงฆ์ยังไม่มี การศึกษาด้านวิปัสสนาธุระจึงไม่มี พระสงฆ์เรียนจบปริยัติแล้ว ( คันถธุระ )ไม่รู้จะไปเรียนวิปัสสนาธุระที่สำนักเรียนไหน รวมความว่าการศึกษาด้านวิปัสสนาธุระของสงฆ์ ไม่ได้รับการรื้อฟื้นหยุดชะงักมานาน แม้มีเรียนกันบ้างในบางวัด แต่ไม่เป็นโล้เป็นพายยังหาข้อยุติในเนื้อหาวิชาไม่ได้ ไม่ชัดเจนในเรื่องหลักสูตร ไม่ชัดเจนในเรื่องวิธีการ ไม่ชัดเจนในเรื่องการปฏิบัติ ไม่ชัดเจนในเรื่องวัดผล ในที่สุดก็เสื่อม ครั้นมายุคหลวงพ่อวัดปากน้ำ ฯ ท่านตั้งความปรารถนาเรียนทั้ง 2 ธุระ ว่าถึงวิปัสสนาธุระท่านก็พยายามไปเรียน ใครว่าอาจารย์ดีที่ไหน หลวงพ่อไปเรียนทั้งนั้น ตามที่เราค้นคว้าได้ปรากฏว่าหลวงพ่อเรียนมาตั้ง 5 อาจารย์ แต่ละอาจารย์ก็ว่ากันไปคนละอย่าง

https://sites.google.com/site/baromjuk/

. . . . . . .