ความเพียรและการบรรลุธรรม : หลวงปู่ขาว อนาลโย
โอวาทธรรมของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตฺโต
แสดงเพื่ออบรมพระอาจารย์ขาว อนาลโย
เมื่อสมัยจำพรรษาร่วมกัน
คัดลอกเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ อนาลโยคุโณ หน้า ๑๓๑-๑๓๔
: สมัยพุทธกาลทำไมจึงบรรลุธรรมได้ง่าย
ความสงสัยที่หลวงปู่ขาวเรียนถามหลวงปู่มั่นนั้นมีว่า
“ในครั้งพุทธกาล ตามประวัติว่ามีผู้สำเร็จมรรคผลนิพพานมาก
และรวดเร็สกว่าสมัยนี้ซึ่งไม่ค่อยมีผู้ใดสำเร็จกัน
แม้ไม่มากเหมือนครั้งโน้น หากมีการสำเร็จได้ก็รู้สึกว่าจะช้ากว่ากันมาก”
หลวงปู่มั่นย้อนถามทันทีว่า
“ท่านทราบได้อย่างไร สมัยนี้ไม่ค่อยมีผู้สำเร็จมรรคผลนั้น
แม้สำเร็จได้ก็ช้ากว่ากันมาก ดังนี้”
หลวงปู่ขาวตอบว่า
“ก็ไม่ค่อยได้ยินว่าใครสำเร็จเหมือนครั้งโน้น
ซึ่งเขียนไว้ในตำราว่าสำเร็จกันครั้งละมากๆ
แต่ละครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรด
ตลอดการบำเพ็ญในสถานที่ต่างๆ
ก็ทราบว่าท่านสำเร็จรวดเร็วและง่ายดายจริงๆ
น่าเพลินใจด้วยผลที่ท่านได้รับ
แต่สมัยทุกวันนี้ ทำแทบล้มแทบตาย
ก็ไม่ค่อยปรากฏผลเท่าที่ควรแก่เหตุบ้างเลย
อันเป็นสาเหตุให้ผู้บำเพ็ญท้อใจและอ่อนแอต่อความเพียร”
หลวงปู่มั่นถามกลับคืนว่า
“ครั้งโน้นในตำราท่านแสดงไว้ด้วยหรือว่า
ผู้บำเพ็ญล้วนเป็นผู้สำเร็จอย่างรวดเร็วและง่ายดายทุกรายไป
หรือมีทั้งผู้ปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้า
ผู้ปฏิบัติลำบากแต่รู้ได้เร็ว
ผู้ปฏิบัติสะดวกแต่รู้ได้ช้าและผู้ปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็ว
อันเป็นไปตามประเภทของบุคคลที่อุปนิสัยวาสนายิ่งหย่อนต่างกัน”
หลวงปู่มั่นอธิบายว่า
“ข้อนี้ขึ้นอยู่กับผู้แนะนำ ถูกต้องแม่นยำผิดกัน
ตลอดจนอำนาจวาสนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระสาวก
และพวกเราผิดกันอยู่มากจนเทียบไม่ได้”
อีกประการหนึ่ง “ความสนใจในธรรม” ก็ต่างกันมาก
สำหรับสมัยนี้กับสมัยพุทธกาล
แม้ “พ้นเพนิสัย” ก็ผิดกันกับครั้งนั้นมาก
เมื่ออะไรๆ ผิดกัน ผลจะให้เหมือนกันย่อมเป็นไปไม่ได้
ต่อจากนั้น หลวงปู่มั่นก็เริ่มเทศนา หลวงปู่ขาว
ด้วยกัณฑ์ใหญ่อย่างเผ็ดร้อนถึงใจ ดังต่อไปนี้
เราไม่ต้องพูดเรื่องผู้อื่น สมัยอื่น ให้เยิ่นเย้อไปมาก
แม้ตัวเราเองยังแสดงความหยาบ กระทบกระเทือนตัวเองอยู่ตลอดเวลา
ทั้งที่เป็นนักบวชและนักปฏิบัติ
ซึ่งกำัลังใจเข้าใจว่า ตัวประกอบความเพียรอยู่เวลานั้น
ด้วยวิธีเดินจงกรมอยู่บ้าง นั่งสมาธิภาวนาอยู่บ้าง
แต่นั่นเป็นเพียงกิริยาแห่งความเพียรทางกาย
ส่วนใจมิได้เพียรไปตามกิริยาเลย
มีแต่ความคิดสั่งสมกิเลส ความกระเทือนใจอยู่ตลอดเวลา
ในขณะที่เข้าใจว่าตนกำลังทำความเพียรด้วยวิธีนั้นๆ
ดังนั้น ผลจึงเป็นความกระทบกระเทือนใจโดยไม่เลือกาลสถานที่
แล้วก็มาเหมาเอาว่า ตนทำความเพียรเจียนตายแต่ไม่ได้รับผลเท่าที่ควร
ความจริงตนเดินจงกรม นั่งสมาธิ
สั่งสมยาพิษทำลายตนโดยไม่รู้สึกตัวต่างหาก
มิได้ตรงความจริงตามหลักแห่งความเพียรเลย
ฉะนั้น ครั้งพุทธกาลที่ท่านทำความเพียร
ด้วยความจริงจัง หวังพ้นทุกข์จริงๆ
กับสมัยที่พวกเราทำเล่นราวเด็กกับตุ๊กตาจึงนำมาเทียบกัยไม่ได้
ขืนเทียบไปมากเท่าไร
ยิ่งเป็นการขายกิเลสความไม่เป็นท่าของตัวมากเพียงนั้น
ที่มา แสดงกระทู้ – ความเพียรและการบรรลุธรรม : หลวงปู่ขาว อนาลโย • ลานธรรมจักร
http://board.palungjit.org/