ครูบาน้อย เตชปญฺโญ วัดศรีดอนมูล จ.เชียงใหม่

ครูบาน้อย เตชปญฺโญ วัดศรีดอนมูล จ.เชียงใหม่

ครูบาน้อย เตชปญฺโญ หรือ พระครูสิริศีลสังวร เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดศรีดอนมูล อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เชี่ยวชาญวิทยาคมเป็นที่เลื่องลือไปทั่วสารทิศ ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ระดับแนวหน้าแห่งล้านนาครูบาน้อย บำเพ็ญเพียรตั้งมั่นอยู่ในสมณธรรมอย่างเคร่งครัด มีวัตรปฏิบัติเรียบง่าย ปฏิปทางดงามเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้ได้พบเห็น ปัจจุบัน อายุ 56 พรรษา 36

อัตโนประวัติ มีนามเดิมว่า ประสิทธิ์ กองคำ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2494 แรม 4 ค่ำ เดือน 3 (เหนือ) ปีขาล ที่บ้านศรีดอนมูล ต.ชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายคำและนางต๋าคำ กองคำ มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน 4 คน คือ

น.ส.สงวน กองคำ ( เสียชีวิตแล้ว )
พระครูสิริศีลสังวร ( ครูบาน้อย )
นายแก้ว กองคำ
นายภัทร กองคำ

เมื่อแรกเกิด ท่านมีสายรกพันรอบตัว ตามความเชื่อคนโบราณในภาคเหนือ เล่าสืบกันมาว่าจะได้บวชเป็นพระสืบทอดพระพุทธศาสนาในตอนแรกเกิด โยมบิดาและโยมมารดาของครูบาน้อย ได้เล่าว่าสายรกได้พันตัวหมดซึ่งตามความเชื่อของคนโบราณ ในภาคเหนือได้เล่าสืบ ๆ กันมาว่า จะได้บวชเป็นพระสืบทอดพระพุทธศาสนา หลังจากเกิดมาแล้วโยมพ่อและโยมแม่ได้ตั้งชื่อให้ว่า ด.ช. น้อย ( ด.ช.ประสิทธิ์ กองคำ ) ตอนเป็นเด็ก เด็กชายน้อย เป็นเด็กที่เลี้ยงง่ายเชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่และครูอาจารย์มาตลอด และชอบที่จะติดตามโยมมารดามาวัดในวันพระเสมอ ในเวลาพระเทศน์เด็กชายน้อยจะตั้งใจสำรวม กาย วาจา ใจ ฟังพระเทศน์อย่างตั้งใจ เพราะมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมากนั่นเอง เด็กชายประสิทธิ์ กองคำ อายุได้ 7 ขวบก็เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก โยมมารดาจึงนำตัวเด็กชายน้อยมาฝากเป็นเด็กวัดเพื่อเรียนหนังสือกับครูบาผัด ( ขณะนั้นเป็นพระใบฎีกาผัด ผุสสิตธมโม ) ในสมัยนั้นท่านเป็นพระที่มีชื่อเสียงทางคาถาอาคม อยู่ยงคงกระพัน และตะกรุดกาสท้อนและเรื่องการรักษาผู้ป่วยด้วยยาสมุนไพรจนมีชื่อเสียงโด่งดังในจังหวัดเชียงใหม่ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเด็กชายน้อย ก็ได้รับการอบรม สั่งสอน ในเรื่องของธรรมะ อักขระภาษาล้านนา ( ซึ่งเป็นภาษาที่รวบรวมคาถาอาคมของคนล้านนาไว้ ) จากครูบาผัดด้วยใจใฝ่การเรียนและใฝ่รู้ของเด็กน้อย เพราะมีความชอบเรื่องของคาถาอาคม เมตตามหานิยมอยู่แล้ว จึงทำให้เด็กชายน้อยเรียนได้อย่างรวดเร็วกว่าเด็กวัดรุ่นราวคราวเดียวกัน

เข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์

พระครูบาน้อยขณะที่เป็นเด็กวัดท่านก็ได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมะอักขระภาษาล้านนาอยู่ตลอดเวลาและในช่วงวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ท่านก็จะไปเรียนตามปกติ จากนั้นในช่วงเลิกเรียนวันเสาร์และวันอาทิตย์ ก็จะคอยปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อครูบาผัดเป็นประจำจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่ออายุได้ 13 ปี หลวงพ่อครูบาผัด ได้เรียกโยมบิดามารดาของ ท่านครูบาน้อยมาปรึกษากันว่า จะนำเด็กชายน้อยมาบรรพชา เป็นสามาเณร เพราะอยู่วัดมานานแล้วและตอนนี้ก็เรียนจบ ป.4 เมื่อปรึกษากันดังนี้แล้วก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน 2507 ปีมะโรง โดยมีพระครูอินทรสธรรม วัดกู่เสือ อำเภอสารภี เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากที่ได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ครูบาน้อยก็ได้ทุ่มเทเวลาในการขยันหมั่นเพียรศึกษาพระธรรมวินัย พร้อมทั้งศึกษาในเรื่องของตำรายาสมุนไพร และคาถาอาคมในด้านอยู่ยงคงกระพัน เมตตามหานิยม จากหลวงพ่อครูบาผัดจนเป็นที่รักและเมตตาของครูบาผัดอย่างมากจนในที่สุดท่านก็สามารถสอบนักธรรมชั้นตรี โท เอก อันเป็นการศึกษาชั้นสูงสุดในสำนักเรียนวัดศรีดอนมูล จากนั้นท่านก็ได้เป็นอาจารย์สอนนักธรรมแก่สามเณรรุ่นน้อง ๆ เพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ของหลวงพ่อครูบาผัด ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้ที่ประสิทธิ์วิชาคาถาอาคมและความรู้ด้านยาสมุนไพรอย่างมานะอดทนเพื่อที่ต้องการจะช่วยให้พุทธศาสนิกชนมีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่ท่านก็ยังมีความมานะที่จะเรียนรู้ในรสธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป จึงกราบลาหลวงพ่อครูบาผัดไปศึกษาต่อในระดับเปรียญธรรมอันเป็นการศึกษาที่สูงขึ้นไปอีก ณ. สำนักเรียนวัดบุบผาราม อ.เมือง จ.เชียงใหม่ แต่ท่านก็เรียนได้ไม่นานเท่าไรเพราะว่าการเดินทางจากวัดศรีดอนมูลไปในตัวจังหวัดเชียงใหม่ในสมัยนั้นเป็นไปด้วยความลำบาก เพราะยังไม่มีความเจริญอย่างในปัจจุบันประกอบกับหลวงพ่อครูบาผัดไม่มีใครช่วยทำงานศาสนา เมื่อเป็นดังนี้ พระครูบาน้อย จึงได้กราบลาพระอาจารย์มาปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อครูบาผัดอย่างเดิม

อุปสมบท

หลังจากที่พระครูบาน้อยได้กลับมาช่วยงานของหลวงพ่อครูบาผัด (พระครูพิศิษฏ์สังฆการ) ซึ่งตอนนั้นท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองเจ้าคณะอำเภอสารภีได้พอสมควร อายุพรรษาของท่านก็ครบอุปสมบทพอดี หลวงพ่อครูบาผัดจึงได้ร่วมคณะศรัทธาญาติโยมรวมทั้งโยมพ่อ โยมแม่ของสามเณรน้อยจึงได้จัดพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เพื่อจะให้สืบทอดงานในด้านพระพุทธศาสนาให้กว้างขวางมากขึ้น จึงได้อุปสมบทขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2514 ณ. พระอุโบสถวัดพญาชมภู โดยมีพระครูพุทธาทิตยวงศ์ วัดป่าแคโยง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสม ชุตินธโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระปลัดผัด ผุสสิตธมโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลังจากที่ได้อุปสมบทแล้ว จึงได้รับ ฉายาว่า เตชปัญโญ อันมีความหมายว่า ผู้มีปัญญาเป็นเดช

หลังจากที่ได้อุปสมบทแล้ว พระครูบาน้อย ก็ได้ช่วยเหลืองานของหลวงพ่อครูบาผัดซึ่งเป็นรองเจ้าคณะอำเภอสารภีฝ่ายสาธารณูปการ คือในด้านดูแลการก่อสร้างศาสนสถานและศาสนวัตถุของวัดทุกวัดในอำเภอสารภีได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม แต่เมื่อหน้าที่การงานและความรับผิดชอบของท่านในด้านพระศาสนามากขึ้น สิ่งหนึ่งที่ท่านไม่ทิ้งก็คือด้าน การศึกษา ดังนั้นท่านจึงได้ปรารภเรื่องการเรียนกับหลวงพ่อครูบาผัดว่า ท่านยังต้องการเรียนภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาที่บันทึกเอาคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ถึง ๘๔.๐๐๐ พระธรรมขันธ์ อันมีพระสูตร พระธรรม พระวินัย หรือที่เรียกกันว่า พระไตรปิฎกดังนั้นท่านจึงได้กราบลาหลวงพ่อครูบาผัดไปศึกษาในระดับเปรียญธรรม เป็นครั้งที่ ๒ โดยได้ไปศึกษาที่หอปริยัติธรรม วัดพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน จนท่านสามารถสอบได้เปรียญ ๑-๒ ขณะที่ท่านกำลังศึกษาประโยค ๓ อยู่นั้น ภารกิจในด้านการเผยแพ่พระพุทธศาสนาของหลวงพ่อครูบาผัด ทั้งในด้านการปกครอง การเผยแผ่ การสาธารณูปโภค รวมทั้งการศึกษาได้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งท่านยังต้องการ คนช่วยแบ่งเบาภาระในหน้าที่การทำงาน พระครูบาน้อยจึงต้องออกจากการศึกษาเป็นครั้งที่ ๒ เพราะความผูกพันระหว่างศิษย์กับอาจารย์มีมาก เหนือกว่าสิ่งใดนั่นเอง

เรียนกัมมัฎฐาน

การศึกษาพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในทางพุทธศาสนามีอยู่ ๓ ระดับ
๑.ระดับปริยัติ คือ การเรียนในขั้นทฤษฎี โดยมีอาจารย์หรือผู้รู้คอยแนะนำในการสั่งสอน
๒.ระดับปฏิบัติ คือ การลงมือกระทำหลังจากเรียนรู้ในเรื่องของปฏิบัติจนเข้าใจ แจ่มแจ้ง
๓.ระดับปฏิเวธ คือ การนำเอาหลักธรรมและหลักปฏิบัติมาประยุกต์กับการดำเนินกิจวัตรประจำวัน

พระครูบาน้อยจึงเป็นพระอีกรูปหนึ่งที่น่าสนใจในเรื่องของการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่เสมอ ทั้งศึกษาจากหลวงพ่อครูบาผัดเองและศึกษาจากหนังสือที่ผู้รู้ต่าง ๆ ได้เขียนไว้ และในสมัยนั้นเรื่องของการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานสำนักปฏิบัติที่โด่งดังในภาคเหนือมากที่สุด คือ พระครูบาเจ้าศรีวิชัยวัดบ้านปาง อ.ลี้ เป็นแบบอย่างและ ครูบาพรหมมา พรหมจักโก วัดพระพุทธบาทตากผ้า อ.ป่าซาง ซึ่งในสมัยนั้นหลวงพ่อครูบาพรหมมาเป็นพระวิปัสสนากัมมัฏฐานชื่อดังที่ถ่ายทอดวิชากัมมัฏฐานให้แก่พุทธศาสนิกชนผู้สนใจ รวมทั้งได้ถ่ายทอดแก่พระภิกษุสามเณรด้วย พระครูบาน้อย ท่านจึงได้กราบลาหลวงพ่อครูบาผัดเพื่อไปศึกษาในเรื่องวิปัสสนากัมมัฏฐาน เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดดังที่ครูบาน้อยจะคอยอบรมลูกศิษย์ลูกหาเป็นประจำว่า การศึกษา เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน และคนคือเครื่องมือในการพัฒนาหมู่บ้าน ชุมชนตลอดจนถึงประเทศชาติ และท่านจะเน้นย้ำอยู่เสมอว่าการเกิดเป็นมนุษย์นี้จะต้องมี ศีลธรรมประจำใจ การเกิดเป็นมนุษย์นี้จะต้องเอาดีอย่างใดอย่างหนึ่งให้ได้ ไม่ใช่จะเอาทุกเรื่องแล้วไม่ดีเลย ดังนั้น หลังจากที่ท่านได้ศึกษาในเรื่องของกัมมัฏฐานจากหลวงพ่อครูบาพรหมมา พรหมจักโก ซึ่งปัจจุบันนี้ท่านจะเรียกว่า อาจารย์ใหญ่ พอสมควรแล้วท่านจึงได้กราบลามาอุปัฏฐากหลวงพ่อครูบาผัด อันเป็นพระอาจารย์รูปแรกที่ได้ประสิทธิ์วิชาในหลาย ๆ ด้าน เช่น ด้านอักขระภาษาล้านนา ด้านการรักษาโดยใช้ยาสมุนไพร ด้านสถาปัตยกรรมการก่อสร้างแบบล้านนาไทย รวมทั้งด้านเวทวิทยาคมตามเดิม

อาจารย์ผู้มีพระคุณ

และอีกท่านหนึ่งที่ครูบาน้อยได้รับการถ่ายทอดจากเกจิชื่อดังของล้านนาไทยก็คือ คำปะพรมน้ำมนต์ที่ท่านรับการถ่ายทอดมาจากหลวงปู่หล้าตาทิพย์ ( พระครูจันทสมานคุณ ) ซึ่งคำปะพรมน้ำมนต์นี้เป็นคำโคลงของล้านนาไทย ที่อวยพรไห้แก่คณะศรัทธาญาติโยมให้มีความสุขความเจริญในหน้าที่การงาน ตลอดถึงมีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง ดังนั้นเมื่อเราทำการสนทนาธรรมจากท่าน จึงมักจะเห็นท่านเอ่ยถึงอาจารย์ท่านนี้อยู่เป็นประจำอาจารย์ที่สอนพระครูบาน้อยในเรื่องต่าง ๆ เช่น อักขระภาษาล้านนาเรื่องของเมตตามหานิยม เรื่องของตำรับตำรายาสมุน ที่ท่านนับถือและเคารพสักการะมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็คือ หลวงพ่อพระครูมงคลคุณาธร ( หลวงปู่ครูบาคำปัน ) วัดหม้อคำตวง ซึ่งเป็นอาจารย์อีกท่านหนึ่งที่คอยให้คำปรึกษาในเรื่องของวัตรปฏิบัติพร้อมทั้งเรื่องของการครองเพศบรรพชิต พระครูบาน้อยได้เข้ารบสักระอีกรูปหนึ่ง ที่พระครูบาน้อยได้ศึกษาในด้านวิปัสสนากรรมฐาน ก็คือ (พระครูบาชัยวงค์ษา) วัดพระธาตุบาท

แสวงหาความวิเวก

ครูบาน้อยท่านเป็นพระที่สนใจศึกษาในรสธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เป็นประจำดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นท่านจึงมักจะหาเวลาประพฤติวัตรปฏิบัติธรรมอยู่เสมอยามที่โอกาสและเวลาจะเอื้ออำนวย ดังนั้น ครั้งหนึ่งท่านจึงได้ทำการออกธุดงค์เพื่อแสวงหาความสงบวิเวกในการประพฤติปฏิบัติธรรม โดยได้ธุดงค์ไปยังจังหวัดเชียงรายผ่านทางอำเภอดอยสะเก็ด ไปยังจังหวัดเชียงราย เข้าพะเยา และแพร่ วกกลับมาทางจังหวัดลำปางเข้าลำพูนจนถึงวัดศรีดอนมูล ท่านใช้เวลาในการเดินธุดงค์ประมาณ 1 เดือน เนื่องจากเหตุผลในเรื่องของ “หน้าที่” อันต้องรับผิดชอบและทำงานแทนหลวงพ่อครูบาผัดนี่เองจึงทำให้ครูบาน้อยมาพิจารณาว่า พระสงฆ์เราสามารถแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ

๑.คามวาสี คือ
พระที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน หรือในเมือง มีหน้าที่สำคัญในการอบรมสั่งสอนพุทธบริษัทให้กระทำความดี ละเว้นความชั่วและทำจิตใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ

๒.อรัญวาสี คือ
พระที่อาศัยอยู่ตามวัดป่า หรือ ป่า พระประเภทนี้จะใช้เวลาในการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน หรือสมถกัมมัฏฐาน เพื่อความพ้นจากกิเลสเรื่องเศร้าหมอง

จากเหตุผลนี้เองจึงทำให้ครูบาน้อยได้ทำการจัดสร้างสวนป่าปฏิบัติธรรม เพื่อใช้ในการประพฤติวัตรปฏิบัติธรรมของพร้อมทั้งพุทธศาสนิกชน จำนวน 15 ไร่ ซึ่งสวนป่าแห่งนี้ได้ใช้ในการปลูกป่า 3 ประเภท คือ

ไม้ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
ไม้สมุนไพรไทย
ไม้ในวรรณคดีไทย

โดยท่านตั้งใจจะมอบไว้กับพระพุทธศาสนา เพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพุทธศาสนิกชน พระภิกษุ – สามเณร ในการปฏิบัติกรรมฐาน รวมทั้งเป็นการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในการสร้างป่าคู่แผ่นดินไทยต่อไป…

นิโรธกรรม

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว พระครูบาน้อยท่านได้มาอยู่อาศัยเป็นลูกศิษย์ พร้อมกับคอยปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อครูบาผัดมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ดั่งนั้น ความผูกพันระหว่างความเป็นศิษย์กับอาจารย์จึงมีมากกว่าสิ่งใด ในปี พ.ศ. 2537 ครูบาผัดได้อาพาต เนื่องด้วยโรคลำไส้รุมเล้าหลายโรค 1. โรคเส้นเลือดตีบในสมอง (จะต้องผ่าตัดสมอง) 2.โรคลำไส้ติดเชื้อ 3.โรคหัวใจ 4.โรคความดันโลหิตสูง 5.โรคระบบทางเดินหายใจ จากนั้นพระครูบาน้อยพร้อมกับลูกศิษย์จึงได้นำส่งโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการโดทันที และในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นมรสุมครั้งยิ่งใหญ่ของครูบาน้อยในเพศบรรพชิตนับตั้งแต่ท่านได้ดำรงสมณเพศมา เพราะว่ามรสุมได้รุมเร้าท่าน หลายทางด้วยกัน

ต้องดูแลอาจารย์ของตนเอง คือ พระครูบาผัด ที่กำลังล้มป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล พร้อมกับโยมแม่ของท่าน ซึ่งต้องผ่าตัดลำไส้ใหญ่ อยู่โรงพยาบาลเดียวกัน
ต้องควบคุมดูแลการก่อสร้าง กุฏิสงฆ์ล้านนาญาณสังวราราม
ต้องควบคุมดูแลการก่อสร้างสะพาน ครูบาผัดสามัคคี

อาการของพระครูบาผัดในครั้งนั้นหมอที่รักษาอาการอยู่ ถึงกับบอกกับพระครูบาน้อยและคณะศิษย์ยานุศิษย์ว่าให้เตรียมใจไว้ เพราะอาการของพระครูบาผัดอยู่ในขั้นอาการหนักเต็มที เมื่อเป็นดังนี้แล้ว ครูบาน้อย ก็มาได้ระลึกนึกถึงบุญคุณของครูบาอาจารย์ที่ท่านได้ประพฤติปฏิบัติตามแนวคำสอนอันมี (พระครูบาเจ้าศรีวิชัย) นักบุญแห่งล้านนาไทย ซึ่งพระครูบาน้อยได้ยึดเป็นแนวทางในการปฏิบัติธรรมของท่านรวมทั้งพระครูบาพรหมา พรหมจักโก อันเป็นอาจารย์สอนกรรมฐานของท่าน พระครูบาน้อยได้ระลึกนึกถึงวัตรปฏิบัติของพระครูบาอาจารย์เหล่านี้ พร้อมทั้งอุปสรรคต่าง ๆ ที่บูรพาจารย์เหล่านี้ ได้ประสบมา ดังนั้น พระครูบาน้อยจึงได้ทำการค้นคว้าวัตรปฏิบัติของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทยอย่างจริงจังจากหนังสือ ปั๊บสาภาษาล้านนาต่าง ๆ ที่มีอยู่ท่านจึงได้ค้นพบ วิธีการเข้านิโรธกรรม ของพระครูบาเจ้าศรีวิชัยที่เขียนไว้ในหนังสือ ประวัติของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย ดังนั้นพระครูบาน้อยจึงได้มารำลึกนึกถึงคุณของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย และพระครูพิศิษฏ์สังฆการ ( ครูบาผัด ) ซึ่งกำลังนอนป่วยอยู่ทีโรงพยาบาล ท่านจึงได้ตั้งสัจจะอธิฐานที่จะถวายชีวิตมอบไว้กับพระพุทธศาสนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมทั้งได้ตั้งสัจจะอธิฐานที่จะอุทิศชีวิตของท่านแลกกับชีวิตของพระครูบาผัดที่กำลังนอนป่วยอยู่ จากจุดนี้เองพระครูบาน้อยจึงได้ทำการเข้านิโรธกรรมตามแบบพระครูบาศรีวิชัย โดยท่านได้ปฏิบัติในครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 แรกปฏิบัติในครั้งนี้ได้สร้างปาฏิหาริย์เกิดขึ้นในบรรดาลูกศิษย์ทุกๆคนคือ ขณะที่พระครูบาน้อยได้ปฏิบัตินิโรธกรรมได้เพียง 2 วันเท่านั้น อาการของพระครูบาผัดที่หมอบอกให้ทำใจก็หายราวกับปาฏิหาริย์ เพราะพระครูบาผัดได้ลุกขึ้นจากเตียงพร้อมกับให้หมอถอดสายน้ำเกลือรวมทั้งสายออกซิเย่นออกตัวท่านและเดินไปมาภายในห้องพักพิเศษ จากนั้นท่านก็ไปสรงน้ำพร้อมกับบอกให้ลูกศิษย์ที่เฝ้าดูอาการพากลับวัดจากปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ครูบาน้อยได้ปฏิบัตินิโรธกรรมในหลาย ๆด้าน จึงทำให้ท่านเกิดความเลื่อมใสในการปฏิบัตินิโรธกรรมตามแบบครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย ดังนั้นท่านจึงได้ทำการปฏิบัติเรื่อยมาจากครั้งแรก 3 วัน ครั้งที่สอง 5 วัน ครั้งที่สาม 7 วัน และครั้งสี่ 9 วัน นับตั้งแต่ปี่ที่ 5-6-7-8-9 เป็นเวลา 9 วัน และในปีนี้ถือได้ว่าเป็นปีที่ 10 แล้วที่ท่านได้ปฏิบัตินิโรธกรรม โดยในครั้งนี้ท่านจะได้ปฏิบัติเป็นเวลา 7 วัน 7 คืนด้วยกัน และปีที่ 11 7 วัน 7 คืนเช่นกัน( ความหมายในการเข้านิโรธกรรม แต่ละปี เข้า 3 วัน คือพระรัตน์ไตร พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ “ เข้า5 วัน คือ พระเจ้าห้าพระองค์ นะกะกุสันโธ โกนาคะมะโน กัสสะโป โกตะโม อริยเมตตัยโย “ เข้า 7 วัน คือ พระอภิธรรม 7 กัมปี สัง วิ ทา ปุกะยะปะ “ เข้า 9 วัน คือพระนวโรกุตรธรรมเจ้าเก้าประการ มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 นั่นเอง )

วิธีการเข้านิโรธกรรมแบบครูบาเจ้าศรีวิชัย ( นักบุญแห่งล้านนาไทย )

โยคาวจรเจ้าตนจักเข้านิโรธกรรม ถือแนวทางมัชฌิมาปฏิปทา ขึ้นไปตามน้ำ ทำไปตามตัว น้ำขึ้นอย่างไร บัวก็ขึ้นอย่างนั้น กล่าวคำขมาพระแก้วเจ้า 5 จำพวก ให้อาบน้ำ ปลงผมเสียแล้ว ให้ศรัทธาทายกผู้มีศีล 5 กับตัวเองมาแต่งสร้างยังตูบซึ้งขนาดของ ( กระท่อม )กว้าง 5 วา ยาว 5 วา ล้อมด้วยราชวัต ตามกำลังวันที่เข้า และมีประตูปิดเปิดไว้ดีงามแล้วตักเอาน้ำบ่อสักสิทธิ์จากวัดที่เป็นมงคล มาใส่ไว้ในบาตรเหล็ก กรองด้วยผ้าขาว 7 ชั้น และเตรียมที่ถ่ายหนัก ถ่ายเบาไว้ด้วย ให้ตั้งจิตให้มั่นคงดีแล้วอธิฐานว่า ภายใน 3-5-7-9 วันนี้ข้าพเจ้าจักไม่ฉันอาหารสักอัน ข้าพเจ้า จักฉันแต่ อุททะกัง ( น้ำ ) ฉันอยู่ในบาตรเดียว แล้วโอกาสว่าสาธุโอกาสะ ภันเต ข้าแด่สัพปัญญูพระโคตมะเจ้าตนประเสริฐกว่าอินตาพรหมและเทวดาทั้งหลาย บัดนี้ผู้ข้าก็มากระทำธุดงควัตร 13 หากบัวรมวลแล้วแล กิริยาอันไหว้ของข้าพเจ้าจงมีแด่ พระพุทธเจ้า พระธรรมะเจ้า พระสังฆเจ้า พระกัมมัฏฐานและครูบาอาจารย์ ผู้ให้กัมมัฏฐานจงเป็นสรณะที่พึ่งแก่ข้าพเจ้า บัดนี้ข้าพเจ้าจักขอเจริญภาวนา ซึ่งวิปัสสนากัมมัฏฐาน ซึ่งวิปัสสนาญาณ และอริยมรรคญาณเจ้าดวงประเสริฐ จงมาบังเกิดในจิตใจของข้าพเจ้าในอริยาบท อันข้าพเจ้าได้นั่งภาวนานี้แด่เทอญ บัดนี้ข้าขอปลงไว้เหนือหัวแห่งข้าก่อนแล ข้าจักขอเข้านิโรธกรรมธัมเจ้าดวงประเสริฐนี้ให้หายเสียยังหารหิวอาหารนานประมาณ 7 วันนี้ ข้าขอเอาโลกุตรธรรมเจ้าดวงประเสริฐ จงมาบังเกิดในวิตาระอันกว้างขวางอยู่ใน ขันธ์ทั้ง 5 บัดนี้ ( ว่า 3 หน ) กล่าวคำอธิฐานวัตร นิโรธกรรมเจ้าว่า สันติปาทัฏโฐ นิโรโธ นิโรธ สัจจัง สัตตเม อะธิฐานมิ (ว่า 3 หน) แล้วให้บริกรรมภาวนาว่า

โลกุตตะรัง มัคคังจะยานัง โลกุตตะรัง สะมุปาทานัง จะยานัง โลกุตตะรัง ปิทธะปาทังจะยานัง โลกุตตะรัง ปินทะริยังจะยานัง โลกุตตะรัง พะลังจะยานัง โลกุตตะรัง โพธฌังคะกัง จะยานัง โลกุตตะรัง สัจจังจะยานัง โลกุตตะรัง สัมมาถังจะยานัง โลกุตตะรัง ธัมมังจะยานัง โลกุตตะรัง ขันธังจะยานัง โลกุตตะรัรง อะยะตะนัง จะยานัง โลกุตตะรัง ธาตุงจะยานัง โลกุตตะรัง อาหารังจะยานัง โลกุตตะรัง ผัสสังจะยานัง โลกุตตะยานัง เวทะนังจะยานัง โลกุตตะนานัง โลกุตตะรัง ผัสสังจะยานัง โกกุตตะรัง เวทะนังจะยานัง โลกุตตะรัง สูญญะจะยานัง โลกุตตะรัง เจตะนังนะยานัง โลกุตตะรัง เจตะนังจะยานัง โลกุตตะรัง จิตตังจะยานัง

จบภาวนาเข้านิโรธนี้ ถ้าภาวนาเรื่อย ๆ ได้ถึงนิพพานคือดับทุกข์ในวัฏฏะสงสารนี้แล

http://www.clubpra.com/index.php?topic=35.0

. . . . . . .