พระสีวลี ผู้มีลาภมาก

3.1-3-56(500)

เพื่อให้ทราบถึงที่มาที่ไปของพระอริยสาวกอันเป็นที่เคารพบูชาของเหล่าพุทธบริษัท ขอเริ่มเล่าตั้งแต่อดีตชาติครั้งพุทธกาลแห่ง
พระพุทธเจ้าพระนามว่าพระปทุมุตตระ ท่านได้ถวายมหาทานแด่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขเป็นเวลาเจ็ดวันโดยตั้งความ
ปรารถนาขอให้ได้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีลาภ พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ว่าความปรารถนาดังกล่าวจักเป็นผลสำเร็จในกาลแห่ง
พระพุทธเจ้า พระนามว่าโคดม
ในชาติต่อมา ครั้งพุทธกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ท่านได้มีส่วนร่วมกับชาวเมืองถวายมหาทานอีกครั้งหนึ่งแด่พระพุทธ
เจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ (ตามประวัติระบุว่า ถวายน้ำผึ้งสด) แล้วกราบทูลแสดงความปรารถนาต่อพระพุทธองค์ว่า ขอให้เป็นผู้เลิศทั้ง
ลาภและยศในทุก ๆ ชาติที่ตนไปเกิด และพระพุทธองค์ได้ประทานพรให้ว่าขอจงเป็นผลสำเร็จตามปรารถนาเถิด ในชาติสุดท้ายในพุทธกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่า โคดม ที่เราทั้งหลายนับถืออยู่ในปัจจุบัน ท่านได้มาเกิดเป็นโอรสของพระนาง
สุปปวาสา ราชธิดาแห่งโกลิยวงศ์และพระเจ้าลิจฉวี ชื่อ มหาลิ ท่านมีประวัติแปลกประหลาดคืออยู่ในครรภ์ของพระมารดาเป็นเวลา ๗ ปี
๗ เดือน ๗ วัน ทั้งนี้เพราะกรรมเก่าในชาติก่อน ชาติหนึ่งได้เป็นพระราชาสืบต่อจากพระบิดา คราวหนึ่งได้ยกทัพไปล้อมนครแห่งหนึ่งเพื่อ
ชิงเมือง สั่งให้ปิดล้อมประตูเมือง ปิดทางเข้าออกทุกจุดทั้งสี่ทิศเป็นเวลานาน กดดันพวกชาวเมืองนั้นให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก
จนยอมแพ้ ชาตินี้ท่านจึงได้รับผลกรรมตามสนองเช่นนั้น พร้อมพระมารดา
เมื่อพระนางสุปปวาสามีพระครรภ์แก่ใกล้ประสูติได้เสวยทุกขเวทนาแสนสาหัส จึงให้พระสวามีไปกราบทูลพระพุทธเจ้าโดยตั้งใจจะ
ถวายทานแด่พระพุทธเจ้าด้วย พระพุทธเจ้าได้ประทานพรให้ว่า “ขอให้พระนางสุปปวาสาราชธิดาแห่งโกลิยวงศ์จงมีความสุข ไร้โรคา ประสูติ
พระโอรส ผู้หาโรคมิได้เถิด”
ปรากฏว่าพระนางได้ประสูติพระโอรสอย่างง่ายดายและปลอดภัยจึงได้ตั้งชื่อพระโอรสว่า “สีวลี” มีความหมายว่า “เย็น” เพราะได้ประสูติ
มาช่วยดับความรุ่มร้อนในใจของพวกพระญาติ (ที่เห็นความทุกข์ของพระนางสุปปวาสา) และก่อให้เกิดความเย็นฉ่ำชื่นใจในคราวเดียวกันด้วย
นับตั้งแต่ท่านถือปฎิสนธิในครรภ์ของพระมารดา ลาภสักการะและเครื่องบรรณาการได้เกิดแก่พระนางสุปปวาสาอย่างมากมาย
เมื่อเจริญวัย ท่านได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาในสำนักของพระสารีบุตรเถระตามคำชักชวน ในขณะปลงผมท่านได้พิจารณาตาม
คำสอนของพระสารีบุตรเถระที่สอนกำกับไปด้วย พอปลงผมเสร็จก็ได้บรรลุธรรม สำเร็จพระอรหันต์
เมื่อบวชแล้ว ปรากฏว่าลาภสักการะและจตุปัจจัยได้เกิดขึ้นแก่ท่านมากมายเป็นประจำ รวมทั้งอำนวยผลเผื่อแผ่ไปยังพระสงฆ์สาวก
อื่น ๆ อย่างทั่วถึงอีกด้วย แม้ในคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จพร้อมพระภิกษุสงฆ์จำนวนมากเดินทางเพื่อไปเยี่ยมพระเรวตะ น้องชายของพระ
สารีบุตรซึ่งนิยมอยู่ป่าเป็นวัตร เป็นระยะหนทางไกลอันกันดาร มีพระสีวลีเถระร่วมเดินทางไปด้วย ก็ได้รับความสะดวกสบาย ในเรื่องภัตตาหาร
และที่พักตลอดเส้นทางจนถึงที่อยู่ของพระเรวตะ ทั้งนี้ด้วยอานุภาพแห่งเหล่าเทพยดาที่ดลบันดาลให้เกิดขึ้นด้วยผลบุญบารมีของพระสีวลีเถระ
กาลต่อมา พระบรมศาสดาประทับนั่งในท่ามกลางหมู่พระอริยสงฆ์ ได้มีพระพุทธดำรัสทรงตั้งพระสีวลีเถระในตำแหน่งเอตทัคคะ
ผู้เลิศด้วยลาภ (มีลาภมาก) ดังนี้

ชาวพุทธได้มีศรัทธาเลื่อมใสพระสีวลีเถระ นิยมสร้างรูปของท่านไว้สักการบูชาเพื่ออธิฐานขอให้ประสบลาภ ความร่ำรวย มั่งมีศรีสุข
โดยมีลักษณะเป็นพระธุดงค์ ห่มจีวรลดไหล่ มีผ้ารัดอก (เรียกว่าห่มดอง) อยู่ในอิริยาบถยืน มือซ้ายถือกลดแบกบนบ่าซ้าย สะพายบาตรไว้ที่
ไหล่ซ้าย (บางที่สะพายย่ามด้วย) มือขวาถือไม้เท้า (เคยพบอยู่ในอิริยาบถนั่งก็มี)

ขอขอบคุณ http://www.stou.ac.th/

. . . . . . .