ตอน สิบสอง อานาปานสติ ขั้นที่แปด (การกำหนดจิตตสังขารให้รำงับ)

ตอน สิบสอง อานาปานสติ ขั้นที่แปด (การกำหนดจิตตสังขารให้รำงับ)

อุทเทสแห่งอานาปานสติขั้นที่แปดนี้ มีหัวข้อว่า “ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจเข้า ดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจออก ดังนี้”. (ปสฺสมฺภยํ จิตฺตสงฺขารํ อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ; ปสฺสมฺภยํ จิตฺตสงฺขารํ ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ.)
สิ่งที่ต้องวินิจฉัย มีอยู่เฉพาะคำว่า “ทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่”. ส่วนคำนอกนั้น มีคำอธิบายเช่นเดียวกับคำอธิบายในอานาปานสติข้ออื่น ๆ ทุกประการ.

การทำจิตตสังขารให้รำงับ ย่อมเนื่องกันอยู่กับการทำกายสังขารให้รำงับ, ฉะนั้น จึงมีการทำโดยแยบคาย ในส่วนที่เป็นการทำกายสังขารให้รำงับรวมอยู่ด้วย กล่าวคือ เมื่อบุคคลผู้ปฏิบัติกำลังมีอำนาจของสัญญาและเวทนาครอบงำจิตอยู่อย่างรุนแรง มีวิตกอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ แม้ในทางที่เป็นกุศลก็ตามเขาย่อมสามารถบรรเทากำลังหรืออำนาจของสัญญาและเวทนาลงเสียได้ ด้วยการทำลมหายใจเข้า – ออกที่กำลังเป็นไปอยู่อย่างหยาบ ๆ นั้น ให้ละเอียดลง ๆ ; เมื่อลมหายใจละเอียดลง ความรู้สึกที่เป็นสัญญาและเวทนาก็รำงับลง ซึ่งมีผลทำให้วิตกพลอยรำงับลงไปตามกัน. นี่คือการทำจิตสังขารให้รำงับลงด้วยอุบายอันแรก.

วิธีปฏิบัติ คือผู้ปฏิบัติคอยกำหนดความรุนแรงของสัญญาและเวทนาเป็นิมิตและเป็นอารมณ์อยู่ในใจ. กำหนดให้เห็นชัดเจนจริง ๆ ว่ามันรุนแรงอยู่อย่างไรเบื้องต้น แล้วมันค่อยๆระงับหรือค่อยอ่อนกำลังลงอย่างไรเป็นลำดับมา ในเมื่อมีการควบคุมลมหายใจให้ประณีต หรือละเอียดยิ่งขึ้นตามลำดับ พึงถือเป็นหลักว่า การควบคุมลมหายใจ เป็นการควบคุมสัญญาและเวทนาพร้อมกันไปในตัว : เมื่อทำลมหายใจให้ประณีตได้ ก็สามารถทำสัญญาและเวทนาให้อ่อนกำลังลงได้. หากแต่ว่าในขั้นนี้ ไม่กำหนดนิมิตหรืออารมณ์ที่ลมหายใจอันค่อย ๆ รำ งับลง แต่กำหนดตัวสัญญาและเวทนาที่ค่อย ๆ รำ งับลงตามลมหายใจนั้นเอง เป็นนิมิตหรืออารมณ์ของสติ ฉะนั้น จึงได้ชื่อว่า ทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่ ดังนี้.

หลักสำคัญมีอยู่ว่า เมื่อลมยิ่งละเอียดเท่าไร เวทนาและสัญญาก็รำงับลงเท่านั้น จิตถึงความละเอียดไม่ฟุ้งซ่านยิ่งขึ้นเท่านั้น. เมื่อถือเอาความที่จิตไม่ฟุ้งซ่าน เพราะมีความรำงับลงแห่งสัญญาและเวทนา ก็ดี และความที่จิตไม่ฟุ้งซ่าน เพราะกำหนดเอาสัญญาและเวทนาในขณะนั้นเป็นอารมณ์อยู่ก็ดี มาเป็นหลัก ก็เป็นอันกล่าวได้ว่า ได้มีการถือเอาเวทนาที่เป็นตัวจิตตสังขารโดยตรงที่กำลังรำงับอยู่ ๆ เป็นอารมณ์แห่งการกำหนดแล้ว ดังนี้. เป็นอันว่าในขณะนั้นมีความเต็มที่แห่งการหายใจ : มีความเต็มที่แห่งการหายใจเข้า – ออก, มีความเต็มที่แห่งสติที่เข้าไปกำหนดเวทนาที่รำงับลง ๆ ตามลมหายใจที่รำงับลง, และมีความเต็มที่แห่งความเป็นสมาธิ คือความที่จิตแน่วแน่ด้วยอำนาจของสติที่กำหนดเวทนาอันรำงับลงตามลมหายใจนั้น. ฉะนั้น จึงเป็นอันว่า แม้จะเป็นการกำหนดจิตตสังขาร คือเวทนาและสัญญาที่รำ งับอยู่ก็มีความเป็นสติ และความเป็นสมาธิโดยสมบูรณ์.

ส่วนที่จัดเป็นอนุปัสสนาหรือเป็นญานในอานาปานสติขั้นนี้นั้นได้แก่การพิจารณาเห็นเวทนาที่กำ ลังรำงับลงนั้นเอง ว่าเป็นจิตตสังขารที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนกระทั่งละสัญญาว่าเที่ยง ว่าสุข ว่าตัวตนเสียได้, นี้เป็นอนุปัสสนาด้วย เป็นการรำงับสัญญาว่าเที่ยง ว่าสุข ว่าอัตตาเสียด้วย ; จึงเป็นทั้งญาณและเป็นทั้งการรำงับจิตตสังขารอย่างยิ่งพร้อมกันไปในตัว. หลังจากนั้นย่อมเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ความดับและความสละคืน ซึ่งทำให้ละความเพลิน ความกำหนัด ความก่อขึ้น และความยึดมั่นเสียได้ โดยนัยที่กล่าวแล้วโดยละเอียดในตอนท้ายของอานาปานสติขั้นที่ห้า. และอาการทั้งหมดนี้เป็นอาการของเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานภาวนา ซึ่งมีความหมายเต็มตามอรรถแห่งคำว่า ภาวนา โดยสมบูรณ์ จึงเป็นการประมวลมาได้ซึ่งธรรมทั้งปวง มีอินทรีย์ห้าเป็นต้น และมี อมโตคธะ เป็นที่สุด รวมกันเป็น ๒๙ อย่าง ดังที่กล่าวแล้วในตอนท้ายของอานาปานสติขั้นที่ห้า เช่นเดียวกัน.

คำว่า รำงับ มีความหมายตั้งแต่ความค่อย ๆ รำงับลง กระทั่งถึงความดับสนิท และเป็นความเข้าไปสงบรำงับแล้วโดยสิ้นเชิง. ข้อนี้หมายถึงการที่เวทนามีกำลังอ่อนลง ๆ จกระทั่งดับไปไม่ปรากฏ. ผลก็คือปรุงแต่งจิตน้อย ๆ ลงจนกระทั่งไม่มีการปรุงแต่งจิตเลย ซึ่งเรียกว่าระงับจิตสังขารเสียได้.

อาการทั้งหมดนี้ เป็นไปได้เพราะการควบคุมกำลังของสัญญาและเวทนา โดยอาศัยการควบคุมลมหายใจโดยนัยดังที่กล่าวแล้ว. โดยอำนาจของสติเป็นการทำให้จิตตสังขารรำงับลง, ด้วยอำนาจของสมาธิเป็นการให้จิตตสังขารรำงับไปไม่ปรากฏ.

ด้วยอำนาจของอนุปัสสนาหรือญาณ ทำให้จิตตสังขารขาดเหตุขาดปัจจัยที่จะปรุงแต่ง คือจะไม่มีสัญญาหรือเวทนาชนิดที่จะเป็นจิตตสังขารขึ้นมาได้ ตลอดเวลาที่อนุปัสสนาหรือญาณนั้นยังมีอยู่, กล่าวคือ ยังเป็นการเจริญภาวนาอยู่.

สรุปความว่า สติก็ดี สมาธิก็ดี อนุปัสสนา หรือญาณก็ดี ซึ่งรวมเรียกว่าภาวนาในที่นี้ เป็นไปโดยอาศัยลมหายใจเข้า หายใจออก และควบคุมลมหายใจเข้า – ออกโดยอาการที่สามารถควบคุมสัญญา และเวทนาได้อีกต่อหนึ่ง.

ภาวนานี้ได้ชื่อว่าอานาปานสติ เพราะมีการกำหนดที่ลมหายใจ หรือด้วยลมหายใจหรือโดยการเนื่องด้วยลมหายใจ เช่นเดียวกับอานาปานสติในขั้นต้น ๆ ที่แล้วมาและได้ชื่อว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานภาวนา ก็เพราะเป็นการเจริญภาวนา ที่มีการกำหนดสิตหรือการเข้าไปตั้งไว้ซึ่งสติ ด้วยการตามพิจารณาซึ่งเวทนานั้นเอง. และเนื่องจากภาวนานี้เป็นไปทุกลมหายใจเข้า – ออก จึงกล่าวว่าเป็นอานาปานสติด้วย เป็นสติปัฏฐานภาวนาด้วย ด้วยอาการอย่างนี้.

การวินิจฉัยในอานาปานสติขั้นที่แปด สิ้นสุดลงเพียงแค่นี้ ซึ่งเป็นการสิ้นสุดของจตุกกะที่สอง อันกล่าวถึงภาวนาที่มีเวทนาเป็นอารมณ์ทั้ง ๔ ขั้น.

(จบ อานาปานสติขั้นที่แปด อันว่าด้วยการทำจิตตสังขารให้รำงับ.)

ในจตุกกะที่สองนี้ ท่านแนะให้สังเกตว่า การปฏิบัติที่ดำเนินมาถึงจตุกกะที่สองนี้ สิ่งที่เรียกว่าญาณในอนุปัสสนา ก็มีอยู่แปด. และอนุสสติซึ่งเป็นเครื่องกำหนด ก็มีอยู่แปด. ที่กล่าวว่าแปดในที่นี้ หมายถึงญาณก็ตามอนุสสติก็ตาม ที่ทำหน้าที่เข้าไปรู้ และเข้าไปกำหนดตามลำดับนั้น ได้กำหนดปีติหายใจเข้า ๑ หายใจออก ๑, กำหนดสุขหายใจเข้า ๑ หายใจออก ๑, กำหนดจิตตสังขารหายใจเข้า ๑ หายใจออก ๑ และกำหนดความที่จิตตสังขารนั้นรำงับลง ๆ หายใจเข้า ๑ หายใจออก ๑, รวมกันจึงเป็นแปด. ข้อนั้นเป็นการแสดงว่าอนุปัสสนาคือการตามเห็นก็ดี อนุสสติคือการตามกำหนดก็ดี ต้องเป็นไปครบทั้งแปดจริง ๆ และสม่ำเสมอเท่ากันจริง ๆ จึงจะเป็นการสมบูรณ์แห่งจตุกกะที่สองนี้.

อานาปานสติ จตุกกะที่ ๒ จบ

https://sites.google.com/site/smartdhamma/part12_anapanasati_buddhadhas

. . . . . . .