การดำรงจิตไว้อย่างถูกต้อง โดย พุทธทาสภิกขุ

การดำรงจิตไว้อย่างถูกต้อง โดย พุทธทาสภิกขุ

หน้าที่ 1 – อุปปาเหมือนกับขี่รถจักรยานจิต
การพูดกันครั้งสุดท้ายนี้เหมือนกับว่าเป็นการปิดประชุม เป็นการลา หรือรับการลา ด้วยการปราศรัยเล็กๆ น้อยๆ พร้อมกันไปกับการสรุปเรื่องที่บรรยายต่างๆ คือจะกล่าวว่า เรื่องทุกเรื่องที่เราได้ฟัง ได้ยินได้พูดกันมาแล้วนี้ อาจจะสรุปได้เป็นคำพูดสั้นๆ ว่า เป็นเรื่องการดำรงจิตไว้อย่างถูกต้อง ขอให้ช่วยจำว่า พุทธศาสนาทั้งหมดทั้งสิ้น ก็คือการดำรงจิตไว้อย่างถูกต้อง ก็ย่อมจะได้รับผลอยู่ในตัวความถูกต้องนั้นเอง ขอให้เราพยายามส่วนที่เป็นการดำรงจิต แล้วก็ดำรงจิตไว้ให้ถูกต้อง

พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เป็นใจความ สรุปได้สั้นๆ ว่า ถ้าหากดำรงจิตไว้อย่างถูกต้อง จะได้รับ ประโยชน์ ความสุขทุกอย่างทุกประการ เหมือนกับว่า ญาติมิตรสหาย คนหวังดีทั้งหมด ช่วยเหลือเรา ช่วยกันทำให้กับเรา แล้วถ้าเราดำรงจิตไว้ผิด เราก็จะสูญเสียประโยชน์ มีความเสียหาย ได้รับความทุกข์ เหมือนกับว่า หากคนที่เป็นข้าศึกศัตรู คู่อาฆาตทั้งหลายทั้งหมดเค้ามารุมกันกระทำให้แก่เรา คิดดู

มันอยู่ที่ว่าเราดำรงจิตไว้ถูกต้องหรือดำรงจิตไว้ผิด ถ้าถูกต้องได้รับประโยชน์ ถ้าดำรงไว้ผิดก็สูญเสียประโยชน์ จึงว่าเรื่องทั้งหมดมันอยู่ที่การดำรงจิตให้ถูกต้อง เราจะเรียนรู้เรื่องอะไร เรื่องขันธ์ เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะ เรื่องอริยสัจ เรื่องอะไรทั้งหมดทุกเรื่อง มันก็มาสรุปลงที่เพื่อการดำรงจิตไว้ถูกต้อง

จะดำรงจิตอย่างไร รายละเอียดก็มีมาก เพราะว่าจะมีความรู้ละเอียดปลีกย่อยนั้นมาก แต่ก็อาจจะสรุปความให้สั้นๆ ได้ว่า มันเป็นการดำรงจิตไว้อย่างถูกต้อง

ทีนี้ก็จะเปรียบเป็นอุปมา ให้จำง่าย และเข้าใจง่ายได้อีกสักคำหนึ่งว่า เหมือนกับขี่รถจักรยานจิต ขอให้ทุกๆ คนเข้าใจ ทำในใจเหมือนกับว่าเราขี่รถจักรยานจิต ทำไมจึงเปรียบกับการขี่รถจักรยาน เพราะว่ามันคล้ายกันมาก เกือบจะทุกอย่างทุกประการ นับตั้งแต่ว่า การขี่รถจักรยานนั้นน่ะ มันก็มีที่หมายปลายทางว่าจะไปที่ไหนซักแห่งหนึ่ง เราขี่รถจักรยานจิต ก็มีที่หมายปลายทางว่าจะไปที่ไหนซักแห่งหนึ่ง คือความดับทุกข์ หมดทุกข์สิ้นเชิงที่เรียกว่าพระนิพพาน เป็นจุดหมายปลายทาง

รถจักรยาน จะขี่ได้ ขี่ไปได้นั้นน่ะ มันมีความหมายสองความหมายซ้อนกันอยู่ คือ ควบคุมรถจักรยานได้ไม่ให้ล้ม นี่ตอนหนึ่ง และก็ออกแรงทำให้มันวิ่งไป แล่นไป เคลื่อนที่ไป นี่อีกตอนหนึ่ง ถ้ามันล้มซะ มันก็ไปไม่ได้ ถ้าไปได้ก็คือไม่ล้ม ดังนั้น ที่ว่าไปได้ ไปไม่ได้นั้นมันเนื่องกัน อย่างที่จะแยกกันไม่ออก ถ้ารถจักรยานมันมีการพุ่งไปข้างหน้า มันก็ไม่ค่อยมีโอกาสจะล้ม เราก็ต้องระวังไม่ให้ล้มและให้พุ่งไปข้างหน้าได้ การที่จะไม่ล้มและการที่จะพุ่งไปข้างหน้าได้เนี่ยมันแฝงกันอยู่

เรื่องขี่รถจักรยานจิตก็เหมือนกัน ต้องทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในลักษณะที่เป็นสมาธิ และให้มันพุ่งไปข้างหน้า คือรู้แจ่มแจ้งในอะไรได้ไกลออกไป ซึ่งเป็นลักษณะของวิปัสสนา หรือปัญญา เรื่องเกี่ยวกับจิตแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนสมาธิหรือสมถะ คุมจิตให้อยู่ภายในอำนาจและตั้งมั่นอยู่ได้ พร้อมที่จะทำงานของมัน แล้วก็เป็นขั้นต่อไปก็คือ วิปัสสนาหรือปัญญาที่มันจะแล่นไปด้วยกระแสแห่งความรู้ รู้ๆๆๆ จนถึงที่สุดมันก็หลุดพ้น และปล่อยวาง นี่มันเหมือนกันอย่างนี้
สังเกตดูก็เข้าใจว่า ทุกคนน่าจะขี่รถจักรยานเป็น เพียงแต่จะไม่สังเกตเท่านั้นเอง ทีนี้มันเหมือนกันในข้อที่ว่ามันล้มง่าย นี่หมายถึงรถจักรยาน 2 ล้อ ซึ่งมันล้มง่าย ตามลำพังมันก็ตั้งอยู่ไม่ได้ โดยไม่มีขาค้ำ ลำพังสองล้อมันตั้งอยู่ไม่ได้มันล้มง่าย มันล้มเก่ง แล้วมันก็ต้องบังคับหรือบังคับยาก จิตนี่ก็เหมือนกัน มันล้มง่าย คือมันฟุ้งซ่าน มันออกนอกลู่นอกทางง่าย คือมันบังคับยาก จึงเปรียบกับรถจักรยาน มันล้มง่ายอย่างไร จิตก็ล้มง่ายอย่างนั้น เราก็ต้องฝึกฝนกันจนบังคับมันได้ และขี่มันได้
และที่มันยังเหมือนกันอีกข้อหนึ่ง เป็นข้อสุดท้าย ซึ่งสำคัญมากนั้นก็คือข้อที่ว่า มันสอนกันไม่ได้ จะให้คนอื่นสอนไม่ได้ มันต้องสอนด้วยตนเอง ด้วยตัวมันเอง นี่คนไม่ค่อยเชื่อ แล้วหาว่าคนพูดเนี่ยโง่ หลับตาพูด คือเราบอกเค้าว่าการขี่รถจักรยานมันสอนกันไม่ได้ คนโง่นั้นก็เถียงว่า อ้าวก็มีคนมาช่วยจับ ช่วยยึด ช่วยแนะ ช่วยอธิบายตอนแรกก่อนไม่ใช่หรือ เราบอกว่า นั่นมันก็จริง แต่ว่ามันไม่สำเร็จประโยชน์ การสอนนั้นไม่สำเร็จประโยชน์ มันเพียงแต่บอกให้รู้ว่าทำยังไง พอสอนเสร็จ อธิบายให้เสร็จ พอให้ขึ้นขี่มันก็ล้มซะงั้น พอขึ้นขี่มันก็ล้ม จะจับเสือกไป มันก็ไปล้ม ตอนนี้แหละจะสอนกันยังไงมันก็สอนไม่ได้ จะให้มีใครมาสอนให้เราจับมือของรถแล้วทำให้เกิอดบาลานซ์ถูกต้องไม่ล้มไปได้เลยเนี่ย ทำไม่ได้ ตอนนี้ไม่มีใครสอนได้ ขอให้เข้าใจตอนนี้มากๆ อย่าไปโง่เหมือนใครบางคน หรือคนแทบทั้งหมด มันหวังแต่ให้คนอื่นสอนเรื่อยไป อะไรสักนิดนึงก็จะให้คนอื่นสอนเรื่อยไป จะฟังจะเรียนให้เสียตะพึด ไม่พยายามที่จะสอนตัวเอง รู้ตัวเอง

ถ้าถามว่าการจะขี่รถจักรยานเป็นใครมันสอนให้ เราก็ต้องบอกว่าให้รถจักรยานนั่นแหละมันสอนให้ หรือว่าการล้มของรถจักรยานนั่นแหละเป็นสิ่งที่สอนให้ การล้มลงไปทีนึงมันสอนให้ทีนึง ล้มอีกทีนึงก็สอนให้อีกทีนึง ล้มไปอีกทีก็สอนอีกทีหนึ่ง จนรู้จักทำความสมดุล ไม่ล้ม ทีนี้มันก็ไปได้ง่อกแง่กๆ ๆ เหมือนกับคนเมา ทีนี้ใครจะสอนได้อีกล่ะ การที่จะขี่ให้เรียบ มันก็ไม่มีใครสอนได้นอกจากรถจักรยานนั่นเอง การที่มันไปง่อกแง่กๆๆ เนี่ยมันสอนให้ทุกที จนกระทั่งเรารู้จักทำสมดุล มันก็ไม่ง่อกแง่ก มันก็ไปเรียบ รู้จักใช้กำลังผลักดัน ถีบให้มันพอดี กับการที่จะบังคับมือสองข้างให้มันสัมพันธ์กันดีเหมาะสมกันดี แล้วมันก็จะขี่ไปได้เรียบตามต้องการ

หน้าที่ 2 – ขั้นที่เป็นสมถะหรือสมาธิ
ทีนี้มันยังจะสอนกันอีกชั้นนึง ซึ่งเป็นชั้นที่ละเอียดปราณีตสุดยอด คือจะขี่รถจักรยานชนิดที่ปล่อยมือเลย เลี้ยวได้ตามต้องการ อาตมาทำได้ ไม่ใช่ว่าดี ตอนเป็นฆราวาสนี่ขี่รถจักรยานปล่อยมือได้นะ ตอนขี่ได้ด้วยมือจับแล้วจะมาเป็นปล่อยมือนี่ไม่มีใครจะสอนกันได้ มันเป็นการใช้ลำตัว สะเอว น้ำหนัก ศูนย์ถ่วงเนี่ยบังคับ และมันต้องไปเร็วๆ ด้วย แม้กระทั่งขี่รถจักรยานปล่อยมือ เลี้ยวได้อะไรได้ ตลอดเวลานี้ไม่มีใครสอนได้นอกจากรถจักรยานนั้นเอง ถ้าจะพูดให้ถูกมันก็ต้องเรียกว่าการล้มนั่นเอง ล้มเจ็บมากๆ ก็ยิ่งสอนมาก จนมันไม่ล้ม มันก็สำเร็จประโยชน์ในการขี่รถจักรยาน ไปจนถึงจุดหมายที่ตัวต้องการได้ โดยไม่มีใครสอนได้

นี่เรื่องฝึกจิตก็เหมือนกัน อย่าไปคิดว่าใครมันจะสอนกันได้ อาตมานะจับจูงอะไรกันอยู่อย่างนี้ มันก็ได้แต่บอกเรื่องว่าจะต้องทำอย่างไร เหมือนกับว่าแนะให้ทำ ให้จับรถจักรยานอย่างไร ให้ถีบยังไง อะไรยังไง แนะได้บ้างนะ ไม่ใช่จะไม่แนะได้เสียเลย แต่ว่ามันจะไม่สำเร็จประโยชน์อะไรเลยด้วยการแนะเพียงเท่านั้น มันก็ต้องขึ้นขี่รถจักรยานจิต แล้วมันก็ล้มให้ดู คือทำไม่ได้ จิตมันละจากอารมณ์ คือไม่แน่วแน่เป็นสมาธิ เราเรียกว่าเหมือนกับล้ม

เขามีหลักว่าให้จิตนี้กำหนดลงไปที่อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นเรื่องพุทโธหรือจะเป็นเรื่องหายใจออก-เข้า หรืออะไรก็ตาม มันมีอารมณ์ หรือจะเรียกว่านิมิตก็ได้สำหรับจิตกำหนด พอมีการกำหนดอารมณ์ก็เหมือนขึ้นขี่จักรยานแล้วในก็ล้ม คือจิตไม่กำหนด จิตมันเถลไถลไปซะที่อื่น คือมันบังคับไม่ได้ ทีนี้ก็ต้องต่อสู้กัน มันล้มอย่างไร มันไม่ได้ด้วยเหตุใด ต้องเอาอันนั้นมาเป็นครูสอน ทำการสังเกตให้ละเอียดลออว่าต้องทำอย่างนี้ แล้วลองทำอย่างนี้ แล้วลองทำอย่างนี้ แล้วลองทำอย่างนี้ ทุกๆ ทีที่มันล้ม หรือมันละจากอารมณ์ มันไปซะที่อื่น จนกระทั่งค่อย ๆ พบสิ่งที่ลึกลับทีละนิดทีละหน่อย

จนสามารถบังคับจิตให้มันกำหนดอยู่ที่อารมณ์ได้นานๆ เป็นที่พอใจ นี่เรียกว่าสำเร็จในขั้นที่เป็นสมถะหรือสมาธิแล้ว เพียงแต่เรารู้จักทำให้มันไม่ล้มแล้ว ทีนี้มันยังไม่ไป มันยังไม่พุ่งไปข้างหน้า มันยังเปะๆ ปะๆ จึงต้องเลื่อนขึ้นไปสู่ระดับที่เรียกว่าปัญญา พิจารณาเพื่อให้เกิดความรู้ เมื่อรู้ยิ่งๆ ขึ้นไปจนตัดกิเลส จนบรรลุมรรคผลนิพพาน เรื่องของจิตมันจึงมีสองตอน คือตอนที่เป็นสมาธิ นี่สามารถบังคับจิตได้ และที่เป็นปัญญา ใช้จิตที่เป็นสมาธิแล้วนั้นพิจารณา จนเห็นแจ้ง เรียกว่าดูๆๆๆ ดูจนเห็นแจ้ง ไม่ใช่ว่ามามัวคิดนึกตามวิธีเหตุผล ตรรกะ ปรัชญา เปล่าๆ ทั้งนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิถึงที่สุดแล้วก็ดู เพ่งดูลงไปที่สิ่งที่เราจะต้องเพ่งดู เช่นว่าทำลมหายใจจนเป็นจิตเป็นสมาธิแล้ว ก็เพ่งดูลมหายใจที่มันไม่เที่ยง หรือเป็นทุกข์ หรือเป็นอนัตตา หรือเพ่งดูเวทนาที่เป็นสุขที่เกิดมาจากสมาธินั้นว่ามันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วก็ดูจิตนั้นเอง ดูตัวจิตนั้นเอง ว่ามีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

จนเกิดความรู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตามากพอ แล้วจิตมันก็ถอนจากความยึดมั่น ที่เคยยึดมั่นในสิ่งใดมาแต่ก่อน ก็ยังต้องดูอีกนั่นแหละ ดู อย่าไปคิดนำ ถ้าไปคิดนำแล้วมันเป็นเรื่องนอกลู่นอกทางเป็นเรื่องผิดไปได้ไม่ทันรู้ เพราะความจริงหรือของจริงนั่นน่ะ มันเป็นสิ่งที่เราต้องดู ไม่ใช่เราไปคิดนำมัน มันเป็นจริงอยู่ในตัวมันแล้ว ก็ดูให้เห็นควมจริง ตอนนี้แหละก็สำเร็จ ก็เห็นความจริง เห็นความจริงแล้วจิตก็เบื่อหน่ายจากการยึดมั่นถือมั่น คลายความยึดมั่นถือมั่น จนกระทั่งไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็เรียกว่าหลุดรอดนั้น ถ้าท่านผู้ใดสนใจในพุทธศาสนา ถึงขั้นที่ว่าถึงหัวใจของพุทธศาสนา นั่นคือต้องศึกษาและปฏิบัติกัน จนเข้าใจเรื่องนี้ เรื่องการดำรงจิตไว้ถูกต้อง ความถูกต้องในขั้นแรกก็เป็นสมาธิได้ นี่ก็สบายมากแล้วนะ กิเลสไม่รบกวน ไม่หมดกิเลส แต่กิเลสไม่รบกวน เป็นอยู่ได้ด้วยความรู้สึกที่เป็นสุขเพราะ กิเลสไม่รบกวน คือ อยู่ในสมาธิ จะคิดนึกอะไรก็คิดได้ดี จะเรียนหนังสือก็เรียนได้ดี จะทำการทำงานก็ทำด้วยความสนุกสนาน ด้วยจิตที่มันเป็นสมาธิ นี่ตั้งจิตไว้ถูกต้องในขั้นแรก คือให้มันมีสมาธิได้

หน้าที่ 3 – อย่าไปถูกผิดตามตัวหนังสือ ตามเขาว่า
ทีนี้ตั้งจิตไว้ได้ถูกต้องเป็นอันดับที่สองก็คือ ให้มีปัญญา มีวิปัสสนา มีความรู้ มีสัมปชัญญะ รู้สึกตัวอยู่เสมอว่าอะไรเป็นอะไร คือพิจารณาเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ว่ามันเป็นอย่างไร แล้วก็ให้ความรู้อันนี้มาทันท่วงที ไม่ให้เผลอสติ ไม่ให้หลง เผลอสติจนเกิดกิเลส ความรู้ที่แจ่มแจ้งเข้ามาทันท่วงทีโดยอำนาจของสติ จิตนี้ก็ไม่มีทางที่จะเกิดกิเลส ทำอย่างนี้เรื่อยไปจนตายตัว มันก็เป็นการบรรลุมรรคผล นี่เรียกว่าไปถึงขั้นสุดท้าย ทีนี้ถ้าพูดถึงคนอยู่ในโลก คนที่อยู่ในโลกตามธรรมดาปกติสามัญนี่ก็มันต้องการ การดำรงจิตไว้อย่างถูกต้องนี่เหมือนกัน เพราะดำรงจิตไว้ไม่ถูกต้องเช่นควบคุมไว้ไม่ได้มัน ก็เหหันไปในทางต่ำ ในทางเลว ในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ ซึ่งเต็มไปด้วยความยั่วยวน หมายถึงว่าสิ่งทีมันจะยั่วให้ไม่ถูกต้องเนี่ย มันมีมาก มันเต็มไปทั้งโลก และเราก็ไม่สามารถที่จะควบคุมบังคับจิต จิตมันก็เหไปในทางที่ไม่ถูกต้อง จึงไม่ประสบสำเร็จ จึงไม่ประสบความสำเร็จ แม้แต่ในการเล่าเรียน กระทั่งถึงการทำงาน มันก็ไม่ประสบความสำเร็จ แก่ผู้ที่ควบคุมจิตไม่ได้ ไม่ดำรงจิตไว้ในความถูกต้อง ที่ว่าถูกต้องในที่นี้ให้ความหมายมันกว้างเข้าไว้ ถูกต้องคือมันสำเร็จประโยชน์ในสิ่งที่เราจะทำ

สิ่งใดเราต้องการจะทำหรือทำให้ได้ ถ้าทำได้สำเร็จต้องเรียกว่ามีความถูกต้อง ไอ้ความถูกความผิดหรือความถูกนั้นน่ะ อย่าไปเชื่อคนอื่นนัก อย่าไปเอาตามหนังสือ ตำรับตำราอะไรนัก ให้เอาที่ตัวมันนั่นเอง ถ้ามันให้เกิดความสำเร็จประโยชน์จริงก็ให้ถือว่าถูกต้องเถอะ ถ้ามันไม่ให้สำเร็จประโยชน์ก็ถือว่ามันผิดก็แล้วกันอย่าไปถูกผิดตามตัวหนังสือ ตามเขาว่า ตามเขายึดถือกันมาเป็นประเพณี เป็นอะไร ก็ไม่ ไม่ต้อง เรื่องนี้ไปหาอ่านดูจากกาลามสูตร คือพระพุทธเจ้าท่านตรัสให้ถือว่ามันถูกต้องเมื่อได้รู้สึกด้วยตนเอง ว่ามันถูกต้อง คือมันเกิดประโยชน์ขึ้นมาได้ เราจะเล่าเรียน หรือทำการงานหรือทำอะไรส่วนย่อยๆ ปลีกย่อยออกไป มันก็เกี่ยวกับความถูกต้องหรือไม่ถูกต้องทั้งนั้น เราพยายามเรื่อยไป สังเกต ศึกษา ปรับปรุง อยู่เรื่อยๆ ไป ให้มันเกิดความสำเร็จประโยชน์ มันก็ค่อยๆ รู้ความถูกต้องมากขึ้น จนถูกต้องไปทุกสิ่ง จนถูกต้องถึงที่สุด เพราะว่าหมดปัญหา แล้วเรื่องมันมีเท่านั้นน่ะ ความถูกต้องนั้นจะเป็นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงบรรลุมรรคผลนิพพาน มันมีเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้นขออย่าได้เข้าใจผิด โดยเห็นว่าเรื่องการดำรงจิตไว้ถูกต้องนี้ เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เกินไป ที่จริงมันเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องทั้งหมด มีความสำคัญทั้งหมด ถ้าเราดำรงจิตไว้ไม่ถูกต้อง มันก็ทำอะไรให้สำเร็จไม่ได้ แม้แต่การเล่าเรียน ในเมื่อไม่ถูกต้องมากเข้า มันก็จะเกิดความชินเป็นนิสัย มันก็จะเกิดความฟุ้งซ่าน เกิดการบังคับไม่ได้ มันก็จะเป็นโรคประสาท แล้วมันก็จะเป็นบ้า แล้วมันก็ต้องตาย ถ้าเราดำรงจิตไว้ไม่ถูกต้องมันจะเป็นอย่างนี้ มันจะถึงกับเป็นบ้าแล้วตาย พวกที่เขาเป็นโรคเส้นประสาทกันมากๆ และมากขึ้นนี้ เพราะว่าเขาดำรงจิตไว้ไม่ถูกต้อง ในโลกที่มันสับสนวุ่นวายยิ่งขึ้นทุกที

คือโลกปัจจุบันนี้ มันมีความสับสนมาก มีความยาก แก่การที่จะดำรงจิตไว้ให้ปกติหรือถูกต้อง หมอจึงออกรายงานว่าในปัจจุบันนี้คนเป็นโรคประสาทเพิ่มขึ้น แม้ว่าเทียบตามส่วนของพลเมืองแม้ที่มันเพิ่มขึ้นก็จริง แต่อาการเป็นโรคประสาทมันยังมากกว่าการเทียบส่วนตามจำนวนของพลเมืองในโลก ก็หมายความว่ามันมีการดำรงจิตไม่ถูกต้องมากขึ้น เพราะสิ่งที่มายั่วเย้า มากระทบกระทั่ง มาเบียดเบียนในโลกนี้มันมากขึ้น จึงหวังว่าท่านทั้งหลายที่ยังจะต้องอยู่ในโลกต่อไปอีกหลายปีนั้นน่ะ จะสนใจในข้อนี้ สนใจในข้อที่ว่ามีความรู้เพียงพอที่จะดำรงจิตไว้ให้ถูกต้อง สามารถเผชิญหน้ากันกับสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ที่จะมารบกวน ที่จะมาหลอกลวง ที่จะมากระทบกระทั่ง ที่จะมาบีบคั้นบังคับมากขึ้น จะต้องฉลาดพอที่จะไม่ถูกสิ่งเหล่านั้นครอบงำย่ำยี ฉลาดพอที่จะปลอดภัยอยู่ในท่ามกลางโลกที่มันมีแต่ความเลวร้ายมากขึ้นทุกที

อยากจะให้ทุกคนจำรูปภาพรูปหนึ่งในตึกโรงหนังนั้นไว้ด้วย รูปที่ว่านั่งในปากงู เหมือนลิ้นงูอยู่ในปากงู ถ้าไม่ได้สนใจก็ไปดูซะใหม่ ถ้าสนใจแล้วก็จะนึกได้ ว่าการอยู่ในโลกปัจจุบันนี้ต้องดำรงการอยู่เหมือนกับลิ้นงูอยู่ในปากงู ภาพนั้นเขาเขียนเป็นงูตัวใหญ่นั่งอ้าปาก อ้าปากอยู่ ก็มีพระองค์หนึ่งนั่งอยู่ในปากงู ให้คำเปรียบว่า เหมือนลิ้นงูอยู่ในปากงู ไม่ถูกกันกับเขี้ยวงู นี่เราไปอยู่ในปากงู ชนิดที่ไม่ถูกกันกับเขี้ยวงูอย่างนั้น เหมือนกัน คือโลกในปัจจุบันนี้มันเหมือนกับปากงูที่เต็มไปด้วยเขี้ยวงู เราก็อยู่ในโลกนี้โดยที่ไม่ถูกกันกับเขี้ยวของโลก เรียกว่าลิ้นงูอยู่ในปากงู ไม่ถูกกับเขี้ยวของงู นี่ก็คือผลหรืออานิสงส์ของการที่จะดำรงจิตไว้อย่างถูกต้อง ไม่มีความผิดพลาด ไม่กระทบกระทั่งกันเข้ากับความผิดพลาด และเราก็ได้รับประโยชน์มาก คือสามารถจะทำอะไรได้ตามที่เราต้องการ แล้วก็เป็นสุข สบายอยู่ในตัวการทำการงานนั่นเอง เมื่อดำรงจิตไว้ถูกต้องแล้ว การงานก็สนุก การงานกลายเป็นของสนุก ก็เลยได้กำไร ความสุข ความสนุกก็ได้ ผลของการงานก็ได้

ถ้าเราดำรงจิตไว้ไม่ถูกต้องแล้ว การงานจะเป็นที่น่าเบื่อหน่าย ไม่อยากจะทำ เหมือนที่ไม่อยากจะเล่าเรียน หรือไม่อยากจะทำหน้าที่การงานในออฟฟิศตามเวลาเนี่ย เพราะว่ามันไม่สนุก เพราะว่าเขาดำรงจิตไว้ไม่ถูกต้อง ถ้าเขาดำรงจิตไว้อย่างถูกต้องตามวิธีแล้ว มันจะสนุกในการทำงาน แม้จะเหนื่อยก็ยังสนุก เพราะจิตมันดำรงอย่างถูกต้อง ไปในทางของความถูกต้องจึงรู้สึกเป็นสุขในการที่ทำหน้าที่ คือมันมีความรู้ว่าการทำหน้าที่คือสิ่งสูงสุดของมนุษย์ มนุษย์ที่ทำหน้าที่ของมนุษย์คือเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง มันจึงพอใจในหน้าที่ในการทำหน้าที่ ขอให้ทุกคนดำรงจิตของตนไว้ในลักษณะที่ถูกต้องอย่างนี้ ในลักษณะอย่างที่ว่ามานี้ คือจะมีความพอใจอย่างอัตโนมัติอยู่ในตัวมันเอง ไม่มานั่งเศร้าสร้อยหงอยเหงาอยู่เหมือนคนโดยมาก และก็ไม่ต้องบ้าบอจนถึงกับไปกินยาตายเพราะทุกอย่างมันไม่เป็นไปอย่างราบรื่น ถ้าดำรงจิตไว้ถูกต้อง ทุกอย่างมันจะมีความเยือกเย็นเป็นสุขอยู่ในตัวมันเองและก็ก้าวหน้าในการทำงาน เปรียบเหมือนกับจิตที่เป็นสมาธิแล้วก็มั่นคงเป็นสุข รู้สึกเป็นสุขจากสมาธินั้นอยู่ในตัวมันเอง แล้วมันก็ก้าวหน้าในทางการงาน คือเรื่องของปัญญาแจ่มแจ้งออกไปๆ จนกว่าจะถึงที่สุด นี่ขอให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความถูกต้องของสมาธิและของปัญญาอย่างนี้

หน้าที่ 4 – ทุกคนจงขี่รถจักรยานจิต ให้สำเร็จประโยชน์
นี่ถ้าไปอ่านหนังสือเล่มไหน ธรรมะเรื่องอะไร มากหรือน้อยอย่างไรก็จับใจความสำคัญของมันให้ได้ว่า เรื่องนั้น คัมภีร์นั้นที่เราอ่านนั้นน่ะมันสอนวิธีดำรงจิตให้ถูกต้องอย่างไร นี่สำคัญมาก อย่างว่าธรรมอานาปาณสติ กำหนดในหมวดที่หนึ่งนี่เป็นเรื่องสมาธิ หมวดที่สองที่สามก็เป็นเรื่องสมาธิ เป็นเรื่องปัญญาปนกันไป หมวดที่สี่ เป็นเรื่องปัญญาล้วน ถ้าสนใจอยากจะได้รับประโยชน์จากของขวัญอันประเสริฐจากพระพุทธเจ้าแล้วก็ต้องสนใจเรื่องนี้อย่างนี้ ถ้าไม่ต้องการก็แล้วไป มันก็เป็นเรื่องที่ไม่รู้ว่าจะศึกษาพุทธศาสนากันไปทำไมให้เสียเวลา ไม่ให้เสียเวลาก็ให้มันรู้จักประโยชน์ ผลที่จะได้รับคือดำรงจิตไว้ แล้วปัญหาทั้งหมดก็จะหมดไป จึงขอร้องให้สนใจการศึกษาหลักธรรมในพุทธศาสนาทุกเรื่องทุกราวให้จับฉวยเอาให้ได้ในข้อที่ว่าจะดำรงจิตไว้ถูกต้องอย่างไร แล้วก็จะไม่มีความทุกข์ ทุกข์เล็ก ทุกข์น้อย ทุกข์ใหญ่ ทุกข์มหาศาล ทุกข์อะไรมันก็ไม่ต้องมี

เดี๋ยวนี้ยังมีคนเป็นอันมากเป็นโรคเส้นประสาทอยู่ คือไม่พอใจในชีวิตของตน ไม่รู้สึกเป็นสุขหรือพอใจในความมีชีวิตอยู่ของตนแต่ละวันละวัน หายใจเข้าออกอยู่ด้วยความคิดที่วิปริตฟุ้งซ่าน ไม่มีความพอใจในตัวชีวิตนั้นเลย นี่มันเริ่มบ้าแล้ว คือมันเริ่มเป็นโรคประสาทแล้ว ถ้ามันไม่มีความรู้สึกที่พอใจในความเป็นอยู่ของตน หรือการกระทำของตนเนี่ยมันเริ่มบ้าแล้ว มันเริ่มมีความวิปริตทางจิตแล้ว มันจะเป็นรคประสาทหรือเป็นบ้าในที่สุด ของที่จะคุ้มกันได้ก็คือธรรมะในลักษณะที่จะช่วยให้ดำรงจิตไว้อย่างถูกต้อง อาตมาจึงเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ควรนำมาพูด เป็นเรื่องขมวดสุดท้ายเรื่องอื่นๆ ก็ทุกเรื่องสอนให้ดำรงจิตไว้อย่างถูกต้อง แล้วเราก็พูดกันเรื่องนี้ ใช้คำง่ายๆ กันลืมว่า เป็นการขี่รถจักรยานจิต รายละเอียดก็เหมือนกับที่กล่าวมาแล้วแต่ต้นว่าทุกคนจงขี่รถจักรยานจิต ให้สำเร็จประโยชน์ ให้ปลิว แล่นฉิวไปสู่จุดหมายปลายทางให้จงได้ ก็ไม่เสียทีที่มาสวนโมกข์ เสียเงินค่ารถลำบาก ยุ่งยากต่างๆ นานาแล้วไม่ได้ประโยชน์อะไร ก็ป่วยการ มันก็ควรจะได้อะไรที่คุ้มค่าหรือเกินค่า เราก็มีกันแต่พระธรรมของพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสสอนไว้อย่างไร จะเป็นประโยชน์แก่มหาชนอย่างไร คือให้มหาชนได้ก้าวหน้าตามวิถีทางของมนุษย์จนถึงระดับสูงสุดที่ มนุษย์จะเข้าถึงได้ ขอให้สำเร็จตามนี้

ในที่สุดนี้ขอกล่าวคำอวยพร ให้ท่านทั้งหลายทุกคนจงมีความกล้าหาญเพียงพอ มีความแน่ใจเพียงพอ มีความร่าเริง สนุกสนานในการที่จะปฏิบัติธรรมะ ตามหลักของพระพุทธศาสนา จนรู้เท่าทันสิ่งทั้งปวง สามารถดำรงจิตไว้อย่างถูกต้องแล้ว ชีวิตนี้ทั้งหมดก็จะดำเนินไปในลักษณะที่น่าพึงพอใจอย่างยิ่ง คือมีความสุขอยู่ในตัวมันเอง เหมือนกับคนกำลังขี่รถจักรยานแล่นไปนี่มันก็เป็นสุข เมื่อถึงจุดหมายปลายทางแล้วมันก็เป็นสุข ก็ขอให้ชีวิตของท่านทั้งหลายเป็นไปในลักษณะนี้ตลอดทุกทิพาราตรีกาลเทอญ

http://www.vcharkarn.com/varticle/1108

. . . . . . .