ประวัติหลวงพ่อเกษม เขมโก (โดยสังเขป) หน้า 4/8

ประวัติหลวงพ่อเกษม เขมโก (โดยสังเขป) หน้า 4/8

เมื่อสำเร็จทางด้านปริยัติพอควรแล้ว สามารถนำไปปฏิบัติได้โดยไม่หลงทาง ท่านจึงหันมาปฏิบัติต่อไปจนแตกฉาน แค่นั้นยังไม่พอ พระภิกษุเกษม เขมโก ได้เสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ ที่มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ จนกระทั่งได้ทราบข่าวภิกษุรูปหนึ่งมีชื่อเสียงในด้านวิปัสสนา ภิกษุรูปนี้ คือ ครูบาแก่น สุมโน อดีตเจ้าอาวาสวัดประตูป่อง

ครูบาแก่น สุมโน เป็นพระภิกษุสายวิปัสสนา ถือธุดงค์เป็นวัตร หรือที่เรียกกันว่า พระป่า หรือภาษา ทางการเรียกว่า พระภิกษุฝ่ายอรัญญวาสี ตอนนั้นครูบาแก่น ท่านได้ธุดงค์แสวงหาความวิเวกทั่วไป ยึดถือป่าเป็นที่บำเพ็ญเพียร นอกจากมีชื่อเสียงในด้านวิปัสสนาแล้ว ท่านยังเก่งรอบรู้ในด้านพระธรรมวินัยอย่างแตกฉานอีกด้วย

พระภิกษุเกษม เขมโก จึงเดินทางไปขอฝากตัวเป็นศิษย์ และได้อธิบายความต้องการที่จะศึกษาในด้านวิปัสสนาให้ครูบาแก่นฟัง ครูบาแก่น สุมโน เห็นความตั้งใจจริงของภิกษุเกษม เขมโก ท่านจึงรับไว้เป็นศิษย์ และได้นำภิกษุเกษม เขมโก ออกท่องธุดงค์ไปแสวงหาความวิเวก และบำเพ็ญเพียรตามป่าลึกตามที่ภิกษุเกษม เขมโก ต้องการ จึงถือได้ว่า ครูบาแก่น สุมโน รูปนี้เป็นอาจารย์ทางวิปัสสนากรรมฐานรูปแรกของ พระภิกษุเจ้าเกษม เขมโก

ดังนั้น พระภิกษุเกษม เขมโก จึงได้เริ่มก้าวไปสัมผัสชีวิตของภิกษุฝ่ายอรัญญวาสี ประกอบกับจิตของท่านโน้มเอียงมาทางสายนี้อยู่แล้ว จึงไม่ใช่เป็นเรื่องลำบากสำหรับในการไปธุดงค์ กลับเป็นการได้พบความสงบสุขโดยแท้จริง กับความเงียบสงบ ซ้ำยังได้ดื่มด่ำกับรสพระธรรมอันบังเกิดท่ามกลางความวิเวก พระภิกษุเกษม เขมโก จึงมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง โดยมีครูบาแก่นแนะอุบายธรรมอย่างใกล้ชิด ระหว่างท่องธุดงค์แสวงหาความวิเวกในที่สงัดตามป่าเขาและป่าช้าต่าง ๆ การฉันอาหารในบาตร คือ อาหารหวานคาวรวมกัน เรียกว่า ฉันเอกา ไม่รวมอาสนะกับสงฆ์อื่น ฉันมื้อเดียว ช่วงบ่ายก็จะเดินจงกรม เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ พร้อมกำหนดจิตจนกระทั่งถึงเย็น เมื่อเสร็จจากการเดินจงกรม ก็กลับมานั่งบำเพ็ญภาวนาต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงประมาณ 5 ทุ่ม เสร็จจากการบำเพ็ญภาวนาก็สวดมนต์ทำวัตรเย็น ในตอนดึกก่อนจำวัดท่านก็ไม่นอนเหมือนคนธรรมดาทั่วไป ท่านจะหมอบเท่านั้น และท่านจะทำเป็นกิจวัตร คือการกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล แผ่เมตตาไปให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย

http://mongkhonkasem.com/kasem_p4.html

. . . . . . .