ธรรมบรรยาย ความสำคัญของ “สมาธิ”

ธรรมบรรยาย ความสำคัญของ “สมาธิ”
พระราชสุทธิญาณมงคล (จรัญ ฐิตธมฺโม)
เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี และ เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
ผู้มีปณิธานมั่นคง และ มีผลงานพัฒนาคนให้สูงด้วยคุณธรรม

การฝึกสมาธิทางพระพุทธศาสนา ถือว่า จิตสงบ เป็นกุญแจสำคัญในการเปิดแสงสว่างให้แก่โลก เป็นบ่อเกิดพลังอันยิ่งใหญ่แก่ชีวิต เป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาของมวลมนุษยชาติทั้งโลก และเป็นความสุขที่มีค่าสูงสุดแก่ผู้ปฏิบัติ ดังพุทธวจนะ นัตถิ สันติ ปรมัง สุขัง สุขอื่นใดจะเท่าใจหยุดนิ่งไม่มีอีกแล้ว ความสุขอันเกิดจากจิตสงบนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตมนุษย์

พจนานุกรมให้คำนิยาม “สมาธิ” อธิบายว่า ความตั้งมั่นแห่งจิต ความสำรวมจิตใจ ความแน่วแน่ของจิต การตรึกตรองเคร่งเครียดในสิ่งใด คำอธิบายเหล่านี้ล้วนแต่แสดงลักษณะของสมาธิ ให้เห็นความหมายและความสำคัญที่มีอยู่ในสมาธินั่นเอง เพียงแต่ความตั้งมั่นแห่งจิต ซึ่งเป็นคำอธิบายท่อนแรกก็มีความหมายลึกซึ้งและแสดงให้เห็นว่าสมาธินั้นเกี่ยวกับจิตเราแท้ ๆ เพราะว่า ความตั้งมั่นจะมีได้ต้องตั้งอยู่ที่จิต

การทำจิตให้มั่นคง ไม่ให้ฟุ้งซ่าน ไม่ให้กวัดแกว่ง ให้ตั้งอยู่ในอารมณ์ไม่เกาะเกี่ยวด้วยสิ่งอื่น ไม่ให้เป็นไปตามกระแสของสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ประสบด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตรงนี้สำคัญมาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้ง ๖ นี้ มีชื่อตามหลักธรรมในทางพุทธศาสนาว่า “อินทรีย์” คำว่า อินทรีย์นั้นแปลว่า เป็นใหญ่ คือ เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ตาเป็นใหญ่ในการดู หูเป็นใหญ่ในการฟังความถูกต้อง ใจเป็นใหญ่ในการรู้ ดู ฟัง เป็นหน้าที่ของอินทรีย์ทั้ง ๖ แต่ละอย่าง จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้เลย ถ้าขาดไปสักอย่างหนึ่งก็ทำให้คนนั้นไม่สมบูรณ์ไม่ครบวงจร

สมมติว่าตาบอดไปข้างหนึ่ง ก็ทำให้และเห็นไม่ถนัด และ ทำให้ขาดความสวยงามไปด้วย ยิ่งกว่านั้น ถ้าตาบอดเสียทั้ง ๒ ข้าง ก็แลไม่เห็นอะไรเลย ทำให้ความเป็นคนบกพร่องไป และความเป็นคนยังไม่เต็มที่ มิหนำซ้ำจะเรียนหนังสือกับเขาก็ไม่ได้ เพราะการเรียนหนังสือต้องใช้อินทรีย์ คือ ตา เป็นส่วนสำคัญกว่าส่วนอื่น หูก็เหมือนกัน ถ้าสมมติว่าหูหนวกก็ไม่ได้ยินเสียง ไม่ว่าจะเป็นเสียงของมนุษย์หรือของสัตว์ว่าเป็นอย่างไร แล้วคงขาดประโยชน์ในการเล่าเรียนไปอีกทางหนึ่ง จมูก ลิ้น กาย ถ้าพิการไปเสียก็ไร้ประโยชน์ตามหน้าที่ไปอย่างหนึ่ง และจิตใจซึ่งเป็นอินทรีย์ ๖ เป็นอันดับสุดท้าย ก็มีหน้าที่ที่จะจำอยู่อย่างสำคัญในการรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ อันเกิดจากอินทรีย์ทั้ง ๕ ข้างต้น ถาขาดไปเสียก็เหมือนคนหมดสติ กลายเป็นบ้าเป็นบอ เพราะไม่รู้เรื่องอะไร จะดีหรือร้าย ทำการวิปริตผิดแปลกจากคนผู้มีอินทรีย์ทั้ง ๖ ครบบริบูรณ์

อินทรีย์ทั้ง ๖ ประการนี้ จึงนับว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งทีทำให้คนเป็นคนสมบูรณ์ และเป็นหลักสำคัญนำสมาธิให้มีได้ ทำให้เกิดสมาธิได้ไว สมาธินั้นได้แก่ ความตั้งมั่นอยู่ในเรื่องที่ต้องการ ให้ใจตั้งไว้เพียงเรื่องเดียว ไม่ให้จิตฟุ้งซ่านออกนอกไปจากเรื่องที่ต้องการ

ความตั้งใจนี้เป็นความหมายทั่วไปของสมาธิ แล้วก็จะต้องมีกิจการที่จะต้องทำทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรียนศึกษา หรือว่า การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ในการเล่าเรียนศึกษา จะอ่านจะเขียนเรียนหนังสือ ก็ต้องมีสมาธิในการเขียน จะฟังคำสอนคำบรรยายของครูอาจารย์ก็มีสมาธิในการฟังดังที่เรียกว่า ตั้งใจอ่าน ตั้งใจเรียน ตั้งใจฟัง

ในการตั้งใจดังกล่าวนี้นั้น ก็ต้องมีอาการของกายและใจประกอบกัน เช่น ในการอ่าน ร่างกายก็ต้องพร้อมที่จะอ่าน เช่น เวลาเปิดหนังสือตาก็ต้องดูหนังสือ ใจก็ต้องอ่านด้วย ไม่ใช่ตาอ่านแล้วใจไม่อ่าน ถ้าใจไปคิดเรื่องอื่นเสียแล้ว ตาจับอยู่ที่หนังสือก็จะค้างอยู่อย่างนั้น เรียกว่า ตาค้าง จะมองไม่เห็นหนังสือ จะไม่รู้เรื่อง ใจจะต้องอ่านด้วย และเมื่อใจอ่านไปพร้อมกับตาที่อ่าน จึงจะรู้เรื่องที่อ่าน ความรู้เรื่องเรียกว่าเป็นปัญญาอย่างหนึ่ง คำว่าเป็นปัญญา ในตัวอย่างหนึ่งคือ ได้ปัญญาจากการอ่านหนังสือ ถ้าหากว่าตากับใจอ่านหนังสือไปพร้อมกัน ก็จะอ่านได้เร็ว รู้เรื่องเร็ว และจำได้ดี ใจที่อ่านนี่แหละ คือ ใจที่มีสมาธิดี หมายความว่า ใจต้องอยู่ที่การอ่าน

ในการเขียนหนังสือก็เหมือนกัน มือเขียนใจต้องเขียนด้วย การเขียนหนังสือจึงสำเร็จด้วยดี ถ้าใจไม่เขียนหนังสือ หรือ ใจคิดไปในเรื่องอื่น ๆ ฟุ้งซ่านออกไปแล้ว จะเขียนหนังสือไม่สำเร็จ ไม่เป็นตัว ใจจึงต้องเขียนด้วย คือ ตั้งใจเขียนไปพร้อมกับมือที่เขียน

การฟังก็เหมือนกัน หูฟังใจก็ต้องฟังไปพร้อมกัน หูฟังแต่ถ้าใจไม่ฟัง แม้เสียงมากระทบหูก็ไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจ ใจจึงต้องฟังด้วย ใจจะฟังก็ต้องมีสมาธิในการฟัง คือ ตั้งใจฟัง ดังนี้จะเห็นได้ในการเรียนหนังสือ ในการอ่านหนังสือ การเขียนจะต้องมีสมาธิ ในการทำการงานทุกอย่างก็เหมือนกัน ไม่ว่าเป็นการงานที่ทำทางกาย วาจา แม้ใจจะคิดอ่านการงานต่าง ๆ ก็ต้องมีสมาธิอยู่ในการงานที่ทำนั้น เมื่อเป็นดังนี้จึงจะทำการงานสำเร็จได้

ตามนัยนี้ จะเห็นว่าสมาธิเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีในการทำงานทุกอย่าง เป็นการแสดงว่าจำเป็นต้องมีสมาธิในการเรียน ในการงานที่พึงทำทุกอย่าง ถ้าเราไม่มีสมาธิ ก็ไม่มีโอกาสทำการงานสำเร็จได้

ต่อจากนี้ จะได้กล่าวถึงการฝึกหัดทำสมาธิ ก็เพราะว่าความตั้งใจให้เป็นสมาธิดังกล่าวนั้น จำเป็นจะต้องมีวิธีฝึกหัด ประกอบด้วยจิต จึงจะเป็นสมาธิได้โดยง่าย สมาธิที่มีมาตามธรรมดาเหมือนอย่างที่ทุกคนมีอยู่ยังไม่เพียงพอ ก็เพราะว่ากำลังใจที่ตั้งมั่นยังอ่อนแอ ยังดิ้นรนกวัดแกว่ง กระสับกระส่าย โยกคลอน หวั่นไหวไปในอารมณ์ คือ เรื่องต่าง ๆ ได้โดยง่าย

เราทุกคนก็จะต้องพบเรื่องราวต่าง ๆ ที่เข้าไปเป็นอารมณ์ให้เกิดกับใจ ได้แก่ เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่เป็นประจำ เมือเป็นเช่นนี้ จึงได้มีความรักใคร่บ้าง ความฟุ้งซ่านบ้าง ความหลงบ้าง ความชังบ้าง เมื่อจิตใจมีอารมณ์อ่อนไหว และมีเรื่องทำให้ใจหวั่นไหวเกิดขึ้นมาอีก อันสืบเนื่องมาจากอารมณ์ดังกล่าวก็ยากที่จะมีสมาธิในการเรียน ในการทำงานตามที่ประสงค์ได้

ดังจะฟังเห็นได้ว่า ในบางคราวหรือหลายครั้งที่เรารวมใจให้มาอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ และ ฟังคำสอนไม่ค่อยได้ เพราะว่าจิตใจฟุ้งซ่านอยู่ในเรื่องนั้นบ้าง เรื่องโน้นบ้าง ที่ชอบบ้าง ที่ชังบ้าง ที่หลงบ้าง จนรวมใจเข้ามาไม่ติด เมื่อเป็นดังนี้ ก็ทำให้ไม่สามารถจะอ่าน จะเขียน จะฟัง เฉพาะเรื่องนั้น ๆ อย่างเดียวได้ จึงทำให้การเรียนไม่ดี

ในการทำงานก็เหมือนกัน เมื่อจิตใจกระสับกระส่ายไปด้วยอำนาจของอารมณ์ และ ภาวะที่เกิดสืบจากอารมณ์ที่เรียกว่า กิเลส คือ ความรัก ความชัง ความหลง เป็นต้น ดังกล่าวนั้นก็ทำให้ไม่สามารถทำการงานได้ดีได้เช่นเดียวกัน ใจที่ไม่ได้หัดทำสมาธิก็จะเป็นเช่นนั้น และแม้ว่าจะยังไม่มีอารมณ์อะไรเข้ามารบกวนให้เกิดความกระสับกระส่าย ดังนั้น ความตั้งใจก็ยังไม่สู้จะแรงนัก ฉะนั้นจึงสู้ฝึกหัดทำสมาธิไม่ได้

ในการฝึกหัดทำสมาธิ มีอยู่ ๒ ประการคือ ๑. ฝึกหัดทำสมาธิเพื่อแก้อารมณ์และกิเลสของจิตใจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน บางคราวก็เป็นอารมณ์รักซึ่งจะชักใย ชักใจ กระสับกระส่าย เมื่อเป็นดังนั้นก็ต้องสงบใจจากอารมณ์รัก จากความชอบนั้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อการศึกษา ต่อการงานที่จะพึงทำ ตลอดจนถึงศีลธรรมอันดีของสาธุชนนี้ เป็นวิธีหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอน คือ หัดเอาชนะใจให้สงบจากอารมณ์เหล่านั้นให้จงได้ บางคราวก็เกิดอารมณ์โกรธ ความโกรธอันทำใจให้ร้อนรุ่ม กระสับกระส่ายก็เป็นอันตรายอีกเหมือนกัน เพราะทำให้เสียสมาธิ

ฉะนั้นก็ต้องหัดทำสมาธิ คือ หัดสงบใจจากอารมณ์โกรธ จากความโกรธนั้น ในบางคราวก็มีอารมณ์หลง ความหลงซึ่งมีลักษณะเป็นความง่วงเหงา เคลิ้ม มีลักษณะเป็นความฟุ้งซ่าน รำคาญใจบ้าง มีลักษณะเป็นความเคลือบแคลงสงสัยบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องหัดทำสมาธิกำหนดจิต หัดสงบจิตสงบใจจากอารมณ์หลง จากความหลงนั้น ๆ

วิธีสอนทำสมาธิตามวิธีพุทธศาสนา เมื่อจะทำสมาธิให้สงบใจจากอารมณ์รัก โกรธ หลง ดังนั้นก็จะต้องเปลี่ยนอารมณ์ให้แก่จิตใจขึ้น เท่าที่ทราบแล้ว คือ อารมณ์รักทำให้เกิดความชอบ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องเปลี่ยนอารมณ์รักมาเป็นอารมณ์ที่ไม่รัก ไม่ชอบ ความโกรธก็เหมือนกัน ก็ต้องเปลี่ยนอารมณ์โกรธมาเป็นอารมณ์ไม่โกรธ หรือให้เปลี่ยนมาเป็นอารมณ์รัก แต่ว่าเป็นความรักที่ประกอบด้วยเมตตาคือ เป็นความรักที่บริสุทธิ์อย่างญาติมิตร มีความรักซึ่งกันและกัน หรือเป็นความรักระหว่างบิดามารดากับบุตรธิดา ความหลงก็เหมือนกัน ต้องเปลี่ยนอารมณ์ที่หลงมาเป็นอารมณ์ที่ไม่หลง เพราะว่าภาวะของจิตใจจะเป็นอย่างไรนั้น สุดแต่ว่าจิตใจตั้งอยู่ในอารมณ์อะไร เมื่อจิตใจตั้งอยู่ในอารมณ์รัก ความชอบก็เกิดขึ้น ถ้าจิตใจไม่ตั้งอยู่ในอารมณ์รัก แต่ว่าตั้งอยู่ในอารมณ์ที่ตรงกันข้ามก็เกิดความสงบ ใจโกรธก็เหมือนกัน ก็เพราะตั้งอยู่ในอารมณ์โกรธ เมื่อเปลี่ยนอารมณ์ให้จิตใจตั้งอยู่ในอารมณ์ที่ตรงกันข้ามก็เกิดความสงบ ความหลงก็เช่นกัน เมื่อตั้งอยู่ในความไม่หลงก็สงบ

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเอาไว้ว่า อารมณ์เช่นไรควรจะต้องหัดใจไว้ให้ตั้งอยู่ในเวลาไหน กำหนดจิตอย่างไร ตั้งสติไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การที่หัดจิตใจไว้ก็จะทำให้รู้ลู่ทาง ตั้งสติสัมปชัญญะไว้ที่จะสงบจิตใจของตนเองอย่างนี้ ก็จะทำให้สามารถกำหนดจิตใจของตนเองได้ดี นี่นับว่าเป็นจุดมุ่งหมายของการทำสมาธิอย่างหนึ่ง ที่ต้องหัดเอาไว้ให้จงได้

ประการที่ ๒ นั้น ฝึกหัดสมาธิเพื่อให้เกิดพลังใจที่ตั้งมั่นมากขึ้น คือ ให้มีพลังขึ้น ก็เหมือนอย่างการที่ออกกำลังกายเพื่อให้กายมีกำลังเรี่ยวแรง เมื่อหัดออกกำลังกายอยู่บ่อย ๆ กำลังกายก็จะดีขึ้น จิตใจก็จะเหมือนกัน เมื่อหัดทำสมาธิอยู่บ่อย ๆ แล้ว โดยที่ปฏิบัติอยู่ในหลักของสมาธิเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้พลังจิตใจมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่นเดียวกับการออกกำลังกายที่ทำให้พลังกายเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นนี่คือสมาธิในการฝึกหัด

สำหรับสมาธิในการใช้ก็มี ๒ ประการคือ

๑. ฝึกสมาธิเพื่อใช้ระงับอารมณ์และระงับกิเลสที่เป็นปัจจุบันดังกล่าวข้างต้น คือ ผู้ที่ฝึกหัดทำสมาธิตามสมควรแล้วจะสามารถระงับจิตใจได้ดี จะไม่ลุอำนาจของอารมณ์ของกิเลสที่เป็นความรัก และ ความชัง และ ความหลงทั้งหลาย จะสามารถสงบจิตใจตัวเองได้ รักษาจิตใจตัวเองให้สวัสดีได้ อารมณ์และกิเลสเหล่านี้จะไม่เป็นอันตรายต่อการเรียน ต่อการงาน ต่อกฎหมาย และต่อศีลธรรมอันดีงาม

๒. ฝึกสมาธิเพื่อใช้ประกอบการงานที่พึงทำทั้งหลาย ตั้งต้นการเรียน การอ่าน การเขียน การฟัง เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำให้การเรียนดี จะทำให้การทำงานดีขึ้น นี่คือสมาธิในการใช้ ตามที่กล่าวมานี้เป็นการแสดงให้เห็นลักษณะของการทำสมาธิทั่วไป

การหัดทำสมาธิและการใช้สมาธิ การฝึกหัดสมาธิ หรือ ที่เรียกว่าการอบรมจิต หรือ การฝึกหัดแบบพุทธศาสนานั้น ปัจจุบันนี้ เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายไปเกือบทั่วโลก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าองค์กร องค์การ และสมาคมต่าง ๆ ทางพุทธศาสนาได้จัดให้มีโครงการผลิตตำราพุทธศาสนาเป็นภาษาต่างประเทศ เผยแผ่มากขึ้น นอกจากนั้น ยังรวมไปถึงการก่อสร้างวัดพุทธศาสนาในต่างประเทศต่าง ๆ ทำให้โครงการเผยแผ่พุทธศาสนาของคณะกรรมการประสบผลสำเร็จได้ดีกว่าแต่ก่อนมาทีเดียว

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดยิ่งกว่าอื่นใดก็คือ พระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นอมตะ ธรรมที่สูงค่า ยิ่งศึกษาค้นคว้าก็ยิ่งน่ารู้ และ ท้าทายต่อการติดตาม และ การพิสูจน์ให้เห็นผลจริงผลจังมากยิ่งขึ้น ไม่เป็นที่น่าแปลกเลยว่า บรรดาชาวต่างประเทศที่มาจากนอรเวย์ แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ได้หลั่งไหลเข้ามาบวชเรียน และปฏิบัติธรรมในประเทศไทยมากขึ้น ข้อสังเกตส่วนใหญ่รอบรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกฉบับภาษาต่างประเทศมาแล้วทั้งสิ้น

ดังนั้นวัตถุประสงค์ที่สำคัญก็คือ เพื่อศึกษาและค้นคว้าความจริงจากการปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะชาวต่างประเทศต้องการปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะ ภาคทฤษฎีก็ได้เรียนจบมาแล้วในพระไตรปิฎก และเป็นที่น่าปีติอย่างยิ่งที่บางท่านบวชเรียนมาแล้ว ๒๐ พรรษา และมีความชำนาญในการฝึกสมาธิมากอย่างยอดเยี่ยม อีกหลายอย่างได้นำความรู้และความมหัศจรรย์ ที่ได้จากการปฏิบัติฝึกวิปัสสนากรรมฐานทางพระพุทธศาสนา ไปเผยแผ่ยังบ้านเกิดเมืองนอนของตนได้ผลเกินคาด

การฝึกสมาธิในทางพระพุทธศาสนานั้น ถือว่า จิตสงบเป็นกุญแจสำคัญในการเปิดแสงสว่างให้แก่โลก เป็นบ่อเกิดพลังอันยิ่งใหญ่แก่ชีวิต เป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาของมวลมนุษยชาติทั้งโลก และเป็นความสุขที่มีค่าสูงสุดแก่ผู้ปฏิบัติ ดังพุทธวจนะบทหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า นัตถิ สันติ ปรมัง สุขัง สุขอื่นใดจะเท่าใจหยุดนิ่งไม่มีอีกแล้ว ใจหยุดนิ่งแห่งความสงบ เป็นสุขอย่างยิ่ง เมื่อใจอยู่นิ่งก็เกิดความสงบขึ้น และเมื่อสงบก็เป็นสุขมาก ความสุขเกิดจากจิตสงบนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตมนุษย์

จิตเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดของร่างกาย จิตเป็นผู้นำ ส่วนร่างกายเป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามคำสั่งของจิต อุปมาดังม้ากับคนขี่ หากผู้ขี่คุมบังเหียนบังคับม้าด้วยความชำนาญ ก็จะเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างราบรื่น ถ้าหากว่าผู้ขี่ไม่ได้รับการฝึกอย่างชำนิชำนาญ หรือตั้งอยู่ในความประมาทเกินไป ก็จะเดินทางไปสู่จุดมุ่งหมายด้วยความลำบาก

ความสุขของจิตที่แท้จริง จะเกิดขึ้นกับบุคคลผู้หมั่นฝึกฝน หรืออบรมจิตอยู่เสมอทุกวันไม่ได้ขาด การฝึกจิต หรือ ฝึกสมาธิในทางพุทธศาสนา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระกรรมฐาน พระกรรมฐาน แปลว่า การกระทำให้ฐานะดี พระกรรมฐานจึงถือเป็นที่ตั้งของการกระทำที่แบ่งออกเป็นวิธีปฏิบัติได้ ๒ ประการคือ
๑. สมถะกรรมฐาน แปลว่า การทำจิตให้สงบ หรือทำสมาธิตามอุบายที่กำหนดให้
๒. วิปัสสนากรรมฐาน แปลว่า การฝึกจิตให้รู้แจ้งเห็นจริงในชั้นสูง หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ทำปัญญาให้เกิดรู้แจ้งเห็นจริงตามสภาพความเป็นจริงนั่นเอง

แต่ในที่นี้จะเสนอแนะเพียงแนวทางการฝึกทำสมาธิเบื้องต้นทั้ง ๒ อย่างนี้ สมถะกรรมฐาน แปลว่า อุบายที่กำหนดให้ทำสมาธิในเบื้องต้น วิปัสสนากรรมฐาน เป็นอุบายเรืองปัญญา ทำให้ผู้ปฏิบัติมีปัญญาเห็นแจ้งเห็นจริง เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นปัญญาภายนอกภายใน เห็นวินัยภายในภายนอก เห็นความจริงของชีวิต มี อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นแก่ท่านเอง นั่นแหละเป็นการปฏิบัติธรรมชั้นสูง สร้างความจริงของชีวิต เป็นการปกครองตน ปกครองชีวิต ปกครองครอบครัวได้ แต่สมถะ เป็นการศึกษาแสวงหาความรู้ข้อเท็จจริงในตัวของตัวเองตามลำดับขั้นตอนของเบื้องต้น

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย ที่ท่านมาปฏิบัติ พระกรรมฐานเป็นคำกลาง การปฏิบัติใช้แนวสติปัฏฐาน ๔ ทางสายเอกของพระพุทธเจ้า ท่านทรงชี้แจงแสดงมาให้เราทราบว่า ทางสายเอกนั้น ทำให้เดินไปสู่จุดมุ่งหมาย มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางเดินทางไปหาที่สุดแห่งปัญญา รอบรู้ในกองการสังขาร จะได้อ่านตัวออก บอกตัวได้ ใช้ตัวเป็น จะได้เห็นตัวตาย จะได้คลายทิฏฐิ จะได้ดำริชอบ จะได้ประกอบกุศล ได้ผลอนันต์เป็นหลักฐานสำคัญ ตรงนี้เป็นจุดหมายอันนี้

เพราะฉะนั้น ท่านสาธุชนทั้งหลายที่เรามาปฏิบัติ ณ วัดอัมพวันนั้น ไม่ใช่มาหลับตา หนอ ๆ แหน ๆ มีอายตนะธาตุอินทรีย์เป็นหลักปฏิบัติของท่านโดยเฉพาะ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในสมาธิเบื้องต้น ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายสัมผัส ท่านต้องปฏิบัติโดยใช้สติกำหนดอยู่ที่จุดนี้ให้จงได้ จะรู้จริง รู้แจ้ง เห็นจริงในตัวของท่านเอง จึงจะอ่านตัวออก บอกตัวได้ ใช้ตัวเป็น ไม่ใช่มาหนอ ๆ แหน ๆ มาพองหนอ ยุบหนอ ซ้ายย่าง ขวาย่าง ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นอิริยาบถที่ต้องปฏิบัติโดยละเอียด ตาเห็นรูป กายรับรู้ จิตกำหนด หูได้ยินเสียง จิตกำหนด จมูกได้กลิ่น กำหนดจิตทางจมูก ลิ้นรับรสเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม กำหนด หวานหนอ ๆ เค็มหนอ ๆ ท่านถึงจะทราบของจริงได้ เสียงหนอ ๆ ท่านได้ยินเสียงหนอท่านก็นิ่ง ท่านก็ไม่เคยกำหนด ถ้าท่านไม่เคยกำหนดแล้ว ท่านจะรู้ได้อย่างไร รู้แต่ของปลอม รับประทานอาหารก็ไม่กำหนดเคี้ยว ไม่มีสติ ท่านจะได้ของปลอมแน่นอน กายสัมผัสร้อนหนาว อ่อนแข็ง ท่านไม่กำหนด ท่านก็ไม่มีสติ ท่านจะได้ของปลอมแน่นอน

มีเวทนาก็ไม่กำหนด ปล่อยให้มันผ่านไปอย่างน่าเสียดาย หายใจเข้าก็ไม่รู้ หายใจออกก็ไม่รู้ น่าจะรู้ลมหายใจเข้าออกเป็นประการใด ท่านกลับไม่รู้อีก ท่านจะรับรู้แต่ของปลอม รู้ของจริงแต่ประการใด ของจริงอยู่ในตัวท่าน แต่เสียใจเหลือเกินของจริงไม่ชอบกลับชอบของปลอม ที่ได้ไม่เอากลับไปเอาที่ไม่ได้ ท่านจะไปเอาของที่ไหนที่ยังไม่ได้ อยู่ใกล้มือเอาก่อนได้ไหม ท่านจะเอาอะไรมาเป็นหลัก แล้วมานั่งจิ้ม ๆ จ้ำ ๆ ไม่ได้อะไร

นี่แหละพระพุทธเจ้าสอนที่เราปฏิบัติทั้ง ๒ ประการ ยืนหนอ ๕ ครั้ง ก็เป็นสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน พองหนอ ยุบหนอ ก็เป็นสมถะกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ทั้ง ๒ ประการนี้ ไม่ใช่วิปัสสนาอย่างเดียว หายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้ ก็เรียกว่าสมถะ เป็นอุบายเบื้องต้นให้จิตสงบ พอจิตสงบแล้วจะรู้ของจริง พองหนอ ยุบหนอ รู้แล้ว พองเป็นรูป ยุบเป็นรูป จิตกำหนดรู้เป็นตัวนาม ก็กลายเป็นวิปัสสนากรรมฐาน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เสียงหนอ เสียงหนอ อุปาทานยึด ก็กำหนดเสียงหนอ เป็นสมถะกรรมฐาน อุบายวิธีเกิดขึ้น กำหนดเสียงหนอ พอเสียงกำหนดได้ หูกับเสียงเป็นอันเดียวกันไหม หูกับเสียงเป็นคนละอัน ในเมื่อ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เสียงก็กลับไปหาเขา หูก็อยู่กับเราถึงจะเป็นวิปัสสนา เข้าใจแจ้งชัดในตัวกำหนดนี้ เสียงหนอ หนอนี้เป็นอะไร เสียงเป็นอะไร อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม ถึงจะเรียกว่า วิปัสสนาญาณ เรามีสติครบเหมือนมีทรัพย์ ตามีทรัพย์ หูมีทรัพย์ มีสติสัมปชัญญะ เสียงนั้นก็กลับไปหาเขา เราก็จะทราบได้ว่า เสียงนั้นเขาโกหกจึงจะเป็นวิปัสสนา เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

สมาธิก่อให้เกิดความสุขจากความสงบที่เราหามาได้ด้วยราคาถูกแท้ ๆ แต่อย่าลืมว่ามีคุณค่ามหาศาลยิ่งกว่าทรัพย์สมบัติพัสถานใด ๆ แน่นอนที่สุด การปฏิบัติพระกรรมฐาน ต้องพยายามฝึกต่อไปเถิดประเสริฐที่สุด อาตมาจำคำสอนของยายได้ ยายบอกว่า ยากแท้หลาน เราไม่เคย ถ้าเคยแล้วก็ง่ายแท้ เราไม่เคยฝึกเลย เอะอะก็พูดว่าแข่งเรือแข่งพายแข่งได้ แข่งบุญแข่งวาสนากันไม่ได้ แต่เสียใจด้วย พายเรือก็ไม่เป็น มีแรงก็จ้ำได้หรือ นั่งเรือก็ไม่เป็น เรือก็จะล่มแล้วจะไปแข่งเรือได้อย่างไร ต้องฝึกต้องหัด ฝึกฝน ต้องอบรมด้วย ทำไม่ได้ไต้องทำไม่ต้องนั่งเฝ้า บางคนบอกหลวงพ่อนิมนต์ไปนั่งเฝ้าเขาหน่อยซิ เฝ้าอย่างไรถึงจะดีได้ คนดีไม่ต้องไปเฝ้า หนามแหลมใครไปเสี้ยม มะนาวกลมเลียงใครไปกลึง

น่าเสียดายเสียใจที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์โสภาภาคย์ เกิดมาก็ยากเหลือเกิน พยายามทำความเป็นมนุษย์ให้บริสุทธิ์หน่อย และอีกประการหนึ่ง เราเกิดมามีอายุถึงขนาดนี้ก็ยาก บางคนอยู่ในท้องไม่ทันร้องก็ตายแล้ว เรามีอายุถึงปูนนี้แล้วก็น่าภูมิใจแล้ว ส่วนผู้ใดได้มีโอกาสฟังธรรมก็นับว่าโชคดีแล้ว เราพบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามาตรัสในโลก เราได้ฟังธรรมปฏิบัติพระกรรมฐาน เป็นการทดแทนคุณบิดามารดา ถือว่าบวชในพระพุทธศาสนาเหมือนกัน ถ้าใครปฏิบัติไตรสิกขา ๓ ศีล สมาธิ ปัญญา ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานได้ ถือว่าใช้ค่าป้อนน้ำนมแม่ได้ เพราะพระกรรมฐานเป็นพระอภิธรรม เจริญสติปัฏฐาน ๔ รับรองใช้ค่าป้อนนมแม่ได้แน่นอน ไม่ต้องเป็นผู้ชายนุ่งเหลือง ห่มเหลือง การที่จะสนองพระเดชพระคุณบิดานี้แสนยากมาก ไม่มีใครจะทดแทนคุณบิดามารดาผู้มีพระคุณบิดามารดาผู้มีพระคุณได้

ขอบคุณข้อมูลจาก ; http://palipage.com/watam/buddhology/42-04.htm

. . . . . . .