นักบุญน้อย–ครูบาอริยชาติตอนที่ 3

016

ครูบาอริยชาติเล่าว่า ชีวิตเมื่อวัยเด็กเป็นช่วงเวลาที่ท่านลำบาก (กาย) ที่สุด เนื่องจากฐานะทางบ้านไม่สู้ดีนัก ดังนั้น ท่านและพี่ชายจึงต้องทำงานหนักเพื่อแบ่งเบาภาระของพ่อแม่มาตั้งแต่ยังเป็นเด็กชายตัวเล็กๆ ท่านเล่าว่า

“ครูบาไม่ได้เกิดมาใช้ชีวิตสบาย พ่อแม่มีลูก ๓ คน อาชีพหลักคือทำสวน ฐานะทางบ้านเรียกว่าเข้าขั้นยากจน ครูบาช่วยงานแม่ทุกอย่างในวัยเด็ก ทั้งงานบ้าน งานสวน ทำสวนแทบจะทุกวัน ตั้งแต่สวนผัก ผักกาด ผักชี หอม แตงกวา สับเปลี่ยนหมุนเวียนไปแต่ละปีๆ โรงเรียนเลิกกลับมาบ้านก็ต้องไปรดน้ำผักให้แม่ บางทีกลับบ้านมาก่อนก็ต้องมาทำกับข้าวรอแม่ บางวันต้องตื่นแต่เช้า บางทีตี ๒ ไปเก็บผักเพราะคนซื้อเขาต้องการผักจำนวนมาก เช่น สั่ง ๕๐๐ กิโล จะเอาตอนเช้า ก็ต้องไป บางทีตี ๔ เก็บผักจากสวน ๗ โมงไปโรงเรียน เสาร์อาทิตย์แทบไม่มีเวลาเล่น คนอื่นเขาดูการ์ตูน ดูหนัง แต่ครูบาไม่ได้เล่นนะ เสาร์อาทิตย์ก็ต้องช่วยแม่ทำงาน เก็บพริก เก็บมะเขือ ช่วยแม่ทุกอย่าง”

นอกจากจะว่านอนสอนง่าย ขยันขันแข็งทั้งงานบ้าน งานสวน และการศึกษาเล่าเรียนแล้ว อุปนิสัยอย่างหนึ่งของเด็กชายเก่ง ซึ่งแสดงให้เห็นเด่นชัดมาตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเยาว์ก็คือ…ความมีเมตตา รักสงบ ไม่ชอบเบียดเบียนผู้ใดไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์

หลายครั้งหลายคราวที่เด็กชายเก่งได้ให้ความเมตตาช่วยเหลือสรรพชีวิตอื่นๆ และมักกระทำสิ่งที่บ่งชี้ถึงจิตใจที่โน้มไปในทางธรรมให้เห็นอยู่เนืองๆ เช่น

ปล่อยปลา…สมัยที่เด็กชายเก่งอายุประมาณ ๗-๘ ขวบ ได้เห็นปลาติดอยู่ในอุปกรณ์ดักปลาของชาวบ้าน ก็เกิดความสงสาร จึงคิดจะปล่อยปลาคืนสู่แหล่งน้ำ เป็นเหตุให้พลัดตกน้ำ โชคดีที่พี่ชายมาเห็นเหตุการณ์จึงเข้าช่วยเหลือได้ทัน

ปล่อยกบ…หลายต่อหลายครั้งที่นายสุขผู้เป็นพ่อตื่นขึ้นมาตอนเช้า พบว่ากบที่ไปจับมาได้และขังเอาไว้สำหรับทำกับข้าว ได้ถูกปล่อยไปจนหมด…ด้วยฝีมือของลูกชายคนเล็ก!

สนใจเรื่อง “พระ”…ในยามว่างเว้นจากการทำงานและมีโอกาสได้เล่นตามประสาเด็ก การเล่นที่เด็กชายเก่งชื่นชอบคือ…นำดินเหนียวมาปั้นเป็นพระพุทธรูป แล้วนำไปวางไว้ตามกำแพงหรือร่มไม้ จนถูกเพื่อนๆ ล้อว่า ‘อยากเป็นตุ๊เจ้าหรือ?’ ซึ่งนอกจากจะไม่เคยโกรธเคืองที่ถูกล้อแล้ว เด็กชายเก่งยังมิได้ปฏิเสธแต่อย่างใด!

ชอบเข้าวัด…เนื่องจากความจำเป็นที่ต้องดิ้นรนทำงานหาเช้ากินค่ำในแต่ละวัน ทำให้นายสุขและนางจำนงค์ไม่ค่อยมีเวลาเข้าวัดฟังธรรมเท่าใดนัก ดังนั้น เมื่อนางจำนงค์จัดสำรับให้เสร็จสรรพ ผู้มีหน้าที่นำ “ขันดอก” หรือดอกไม้ธูปเทียน ตลอดจนข้าวปลาอาหารไปถวายพระที่วัดก็คือเด็กชายเก่ง วัย ๙-๑๐ ปี ซึ่งเด็กชายก็หอบหิ้วตะกร้าติดตาม “พ่ออุ้ยอิ่น” ผู้เป็นปู่ (ซึ่งเด็กชายเรียกจนติดปากว่า “ตาอิ่น”) ไปวัดด้วยความเต็มอกเต็มใจและกระตือรือร้นยิ่ง ด้วยเหตุนี้ เด็กชายเก่งจึงเป็นเด็กคนเดียวในหมู่บ้านที่รอบรู้และชำนาญใน “การวัด” ตั้งแต่ยังเด็ก และสามารถสวดมนต์ไหว้พระได้อย่างช่ำชองตั้งแต่อายุเพียง ๑๒ ปี

สำหรับผู้เป็นพ่อแม่แล้ว ความสุขสบายใจใดเล่าจะมากเท่าการได้เห็นลูกเติบโตเป็นคนดีและประสบความสำเร็จในชีวิต และการที่ลูกชายคนสุดท้องซึ่งเป็นความหวังของครอบครัว ได้แสดงออกชัดเจนว่ามีจิตโน้มเอียงไปในคุณงามความดีมาตั้งแต่ยังเล็กนี้ ทำให้นายสุขและนางจำนงค์รู้สึกภาคภูมิใจและปลื้มปีติอยู่ไม่น้อย
ลูกชายคนนี้มี “ความดี” เป็นเกราะประจำกายจนหายห่วงแล้ว ความหวังต่อไปที่พ่อแม่อยากจะเห็นก็คือ การที่ลูกชายได้รับราชการ ได้เป็น “เจ้าคนนายคน” ซึ่งด้วยสติปัญญาและความมานะพากเพียรสมชื่อ “เก่ง” ทำให้นางจำนงค์แอบตั้งความหวังอยู่ในใจว่า…อย่างไรเสีย ความสำเร็จของลูกชายก็ไม่น่าจะไกลเกินเอื้อม…

ขอขอบคุณ http://www.watsangkaew.com

. . . . . . .