ประมวลหลักปฏิบัติ สมเด็จพระญาณสังวร

ประมวลหลักปฏิบัติ

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

บัดนี้ จักแสดงธรรมะ เป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระผู้รู้ผู้เห็นได้ตรัสสั่งสอนไว้ ให้เราทั้งหลายพากันปฏิบัติธรรมะ ในที่แห่งหนึ่งได้ตรัสประมวลข้อที่พึงปฏิบัติไว้ทั้งหมด โดยพระพุทธภาษิตที่แปลความว่า ท่านทั้งหลายจงมีความหลีกเร้นเป็นอาราม คือเป็นที่มายินดี ยินดีในความหลีกเร้น ตามประกอบความสงบแห่งใจในภายใน กระทำฌานคือความเพ่งพินิจมิให้เสื่อมไป ประกอบด้วยวิปัสสนาความเห็นแจ้ง หรือปัญญาเห็นแจ้งพอกพูนเรือนว่างอยู่เถิด ดั่งนี้

ข้อปฏิบัติข้อแรก

พระพุทธานุสาสนี ที่แปลความมานี้เป็นอันประมวลหลักปฏิบัติไว้ทั้งหมด ทุกๆ คนผู้ปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาย่อมต้องปฏิบัติในหลักที่ทรงสั่งสอนไว้นี้ แม้ว่าจะตั้งแต่ในเบื้องต้นซึ่งดูเหมือนจะยังไม่เข้าหลักที่ทรงสั่งสอนไว้ แต่อันที่จริงนั้นก็ต้องเริ่มเข้าหลักที่ทรงสั่งสอนไว้นั้นตั้งแต่ข้อแรก คือมีความหลีกเร้นเป็นอารามคือเป็นที่มายินดี ยินดีในความหลีกเร้น ข้อนี้ย่อมหมายถึงตั้งแต่สถานที่ ซึ่งเข้าไปปฏิบัติ และข้อประกอบต่างๆ ของการที่จะเข้าไปสู่สถานที่ซึ่งปฏิบัตินั้นได้ ตลอดจนถึงความเพียร ดังเช่น ต้องการจะปฏิบัติในบ้านของตนเอง ก็ต้องเข้าไปสู่ที่หลีกเร้น อันเป็นกายวิเวกความสงัดกาย มาสู่ที่นี้ก็เป็นการมาสู่ที่หลีกเร้นเช่นเดียวกัน หลีกก็คือว่าหลีกออกจากเครื่องพัวพัน แม้ว่าจะชั่วระยะหนึ่งเวลาหนึ่งก็ตามที เร้นก็คือว่าสงบสงัด ตลอดจนถึงจิตใจต้องวางสิ่งที่เป็นภาระธุระทั้งหลายอย่างอื่น และการที่จะหลีกเร้นดั่งนี้ได้ ก็จะต้องมีข้อประกอบเช่นว่า ศีล คือความสำรวมกายวาจาใจของตนเอง แม้ว่าจะมิได้คิดรับหรือสมาทานศีลห้าศีลแปด หรือศีลที่ยิ่งไปกว่าก็ตาม แต่ว่าเมื่อจะปฏิบัติก็จะต้องเริ่มมีความสำรวมกายวาจาใจ กายวาจาใจต้องมีความสงบ ไม่วุ่นวาย ดั่งนี้ก็เป็นศีล และก็จะต้องมีความสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเรียกว่าอินทรียสังวร ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่มีความระลึกรู้ในอันที่จะปฏิบัติ จึงจะชักนำให้เข้ามาสู่สถานที่หลีกเร้น และกายวาจาใจของตนเองก็สงบ มีสติสัมปชัญญะ อันเป็นอาการหลีกเร้น ซึ่งเป็นอาการของศีล ของอินทรียสังวร ของสติ ของสัมปชัญญะ แม้ว่าในขั้นเริ่มต้นก็ตามที

เพราะฉะนั้น ความที่มีความหลีกเร้นเป็นอาราม คือเป็นที่มายินดี ยินดีในความหลีกเร้น อันหมายถึงทั้งสถานที่ ทั้งกายวาจาใจของตนเอง มีอาการที่สงบสงัด สถานที่ก็สงบสงัดเท่าที่จะมีได้ กายวาจาใจของตนเองก็สงบสงัด เป็นศีล เป็นอินทรียสังวรเป็นสติสัมปชัญญะ และก็รวมเข้าซึ่งข้อความรู้ประมาณในโภชนะด้วย คือในการบริโภคซึ่งเหมาะแก่การที่จะปฏิบัติ ดั่งนี้แหละคืออาราม หรือที่แปลว่าวัด หรืออารามอันควรเป็นสถานที่ที่หลีกเร้น อารามนี้ย่อมตั้งอยู่บนดินอันเป็นภูมิประเทศก็ได้ ตั้งอยู่ที่กายวาจาใจก็ได้ หรือตั้งอยู่ที่จิตนี้ก็ได้ ต้องประกอบกันเป็นอารามหรือเป็นวัด อันมีลักษณะที่หลีกเร้น มีลักษณะที่สงบสงัด มีลักษณะที่เป็นศีล เป็นอินทรียสังวร เป็นสติ เป็นสัมปชัญญะ เป็นความรู้ประมาณในการบริโภค อันรวมเข้าในข้อว่า ชาคริยานุโยค ด้วยคือการประกอบความเพียรของผู้ที่ตื่นอยู่ ฉะนั้น การปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนานั้นจึงต้องมีอารามดังกล่าวนี้เป็นประการแรก เป็นวิหารคือเป็นที่อยู่ของทั้งทางกาย และทั้งของทางจิตใจ ศีลก็รวมอยู่ในอาราม อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ ชาคริยานุโยคการประกอบความเพียรของผู้ที่ตื่นอยู่ ความรู้ประมาณในโภชนาหารในภัตตาหาร สติสัมปชัญญะก็รวมอยู่ในคำว่าอารามนี้ อันนี้เป็นหลักสำคัญของการปฏิบัติพุทธศาสนา หรือของวัดวาอารามทั้งหลาย

ข้อปฏิบัติข้อ ๒

จึงมาถึงข้อที่ ๒ ตามประกอบความสงบของใจในภายใน คำว่าในภายในนี้ก็หมายถึงว่าใจของตน และแม้ใจของตนเองนี้ก็ต้องหมายถึงว่าใจของตนที่เป็นภายใน เพราะว่าใจของตนนี้ เมื่อไม่สงบประกอบด้วยนิวรณ์ทั้งหลาย อันเป็นกามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ไปในกามบ้าง เป็นพยาบาทความกระทบกระทั่งโกรธแค้นขัดเคืองมุ่งร้ายปองร้ายบ้าง เป็นถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มบ้าง เป็นอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่าน รำคาญใจบ้าง เป็นวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัยบ้าง รวมความว่าฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ อันเป็นที่ตั้งของราคะหรือโลภะโทสะโมหะทั้งหลาย จึงฟุ้งซ่านไปด้วยราคะ หรือโลภะโทสะโมหะทั้งหลาย ดั่งนี้ ก็เป็นจิตที่ไม่สงบในภายใน ฟุ้งออกไปในภายนอกคือในอารมณ์ทั้งหลาย ในกิเลสทั้งหลายดังกล่าวนั้น ฉะนั้น แม้ว่าจะอยู่ในอารามดังกล่าวมาในข้อ ๑ กายเข้ามาอยู่ได้จริง แต่ว่าจิตไม่เข้ามาอยู่ จิตยังออกไปนอกอาราม ฟุ้งไปในอารมณ์ และในกิเลสทั้งหลาย กองราคะหรือโลภะโทสะโมหะ หรือในนิวรณ์ดังกล่าวมานั้น ก็เป็นอันว่าจิตยังไม่สงบ จิตยังไม่เป็นอาราม จึงต้องปฏิบัติทำจิตให้สงบในภายใน คือสงบจากการคิดฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งของกิเลสดังกล่าวนั้น นำมากำหนดให้ตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมถกรรมฐาน เช่นในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ในกาย เวทนา จิต ธรรม หรือในข้อใดข้อหนึ่ง ให้จิตไม่ฟุ้งออกไปในภายนอก ให้ตั้งสงบอยู่ในภายใน คือภายในสมถกรรมฐาน เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ชื่อว่าปฏิบัติสมาธิหรือสมถกรรมฐาน

ฌานในเบื้องต้น

ซึ่งการปฏิบัติในทางสมาธินี้ก็ต้องอาศัย ฌาน คือ ความเพ่งพินิจ เพ่งพินิจอารมณ์ของสมถกรรมฐาน เช่นเพ่งพินิจกาย เวทนา จิต ธรรม หรือเพ่งพินิจข้อใดหนึ่งเช่น อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก กายคตาสติ สติที่ไปในกาย หรือ ธาตุกรรมฐาน เพ่งพินิจกายนี้ ว่าประกอบหรือแยกออกเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ทำฌานคือความเพ่งพินิจนี้มิให้เสื่อม คือให้อยู่ในภายใน เพ่งพินิจอยู่ในภายใน ดั่งนี้คือฌานตั้งแต่เบื้องต้น และเมื่อเพ่งพินิจอยู่ในสมถกรรมฐาน จนจิตสงบตั้งมั่นแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ ก็เป็นฌานแห่งสมาธิที่เป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น เป็นสมาธิอย่างสูงดังที่เรียกว่า รูปฌาน อรูปฌาน แต่อันที่จริงนั้นก็เป็นฌานมาตั้งแต่เบื้องต้น คือเพ่งพินิจ จะต้องเพ่งพินิจอยู่ในอารมณ์ของสมถกรรมฐานดังกล่าว จึงจะได้ความสงบของใจในภายใน ฉะนั้น การที่จะได้ความสงบของใจในภายในนั้น จึงต้องทำฌานคือความเพ่งพินิจ ไม่ให้เสื่อมด้วย และในการที่จะทำฌานคือความเพ่งพินิจไม่ให้เสื่อมนี้ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าไม่ให้ไปเพ่งพินิจในภายนอก เมื่อไปเพ่งพินิจในภายนอก คือในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลส เพ่งพินิจรูปเสียงเป็นต้นที่เข้ามาทางตาทางหู อันเป็นที่ตั้งของกิเลส ก็เกิดกิเลส กองราคะบ้างโทสะบ้างโมหะบ้าง หรือโลภโกรธหลง หรือนิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าวนั้น ดั่งนี้ก็คือว่าเพ่งพินิจอารมณ์ข้างนอกอันเป็นที่ตั้งของกิเลส กิเลสก็เกิดขึ้น ฉะนั้นก็ต้องรักษาความเพ่งพินิจนี้ไม่ให้ออกไปเพ่งพินิจข้างนอก กระทำให้เพ่งพินิจอยู่ข้างใน คือในอารมณ์ของสมถกรรมฐาน ในกายเวทนาจิตธรรม หรือในกรรมฐานข้อใดข้อหนึ่งก็ตาม ดั่งนี้ก็คือว่าทำฌานคือความเพ่งพินิจไม่ให้ออกไปข้างนอก คือไม่ให้เสื่อม เมื่อออกไปข้างนอกก็เรียกว่าเสื่อม นี่เป็นหลักปฏิบัติ เพราะฉะนั้นฌานคือความเพ่งพินิจในที่นี้จึงหมายดั่งนี้ ตั้งแต่เพ่งพินิจสมถกรรมฐาน จนถึงเพ่งพินิจที่เป็นอัปปนาสมาธิ และเมื่อประกอบกันดั่งนี้ คือประกอบ ตามประกอบความสงบของใจในภายใน ทำความเพ่งพินิจไม่ให้ออกไปข้างนอก ไม่ให้เสื่อม จิตก็จะได้สมาธิในภายใน ได้ความสงบในภายใน

ข้อปฏิบัติข้อ ๓

จึงถึงข้อที่ ๓ ที่ตรัสสอนให้ประกอบด้วยวิปัสสนา คือความเห็นแจ้ง หรือปัญญาที่เห็นแจ้งน้อมจิตที่สงบนั้นกำหนดพิจารณา แม้ตามข้อที่แสดงในสัญญาทั้ง ๑๐ อนิจจสัญญา กำหนดพิจารณาอายตนะภายในภายนอก หรือขันธ์ ๕ ว่าไม่เที่ยง อนัตตสัญญา กำหนดพิจาณาอายตนะภายในภายนอก หรือขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน อสุภสัญญา กำหนดพิจารณาร่างกายอันนี้ อันประกอบด้วยผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้น ว่าไม่งดงาม เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลไม่สะอาดต่างๆ อาทีนวสัญญา กำหนดพิจารณากายนี้ว่าเต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ มากมาย ปหานสัญญา กำหนดพิจารณาจิตนี้คอยละอกุศลวิตก คือความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลทั้งหลาย อันได้แก่ กามวิตก ตรึกนึกคิดในกาม พยาบาทวิตก ตรึกนึกคิดในทางพยาบาทปองร้าย วิหิงสาวิตก ตรึกนึกคิดในทางเบียดเบียน หากความตรึกนึกคิดนี้ผุดขึ้นมาก็ละเสียไม่รับเอาไว้ ทำให้สงบไป ให้หายไป วิราคสัญญา กำหนดพิจารณาวิราคธรรม ธรรมะที่สำรอกจิตจากกิเลส ตั้งแต่ในเบื้องต้นจนถึงเบื้องสูง คือสำรอกราคะโทสะโมหะเหล่านี้เอง ไม่ให้ราคะโทสะโมหะมาย้อมจิตใจ เมื่อราคะโทสะโมหะมาย้อมจิตใจได้ จิตใจนี้ที่เปรียบเหมือนว่าน้ำที่ใสสะอาด ไม่มีสี ก็กลายเป็นมีสี เป็นสีเขียว สีแดง สีเหลืองอะไรเป็นต้น คือกิเลสต่างๆ แต่เมื่อปฏิบัติฟอกจิตของตนมาโดยลำดับ แม้ในสายปฏิบัติที่ได้แสดงมาคือมีความหลีกเร้นเป็นที่มายินดีเป็นอาราม ตามประกอบความสงบของใจในภายใน ทำความเพ่งพินิจไม่ให้ออกไปข้างนอก คือให้อยู่ในภายใน เพ่งพินิจอยู่ในอารมณ์ของสมถกรรมฐาน และประกอบด้วยวิปัสสนาปัญญาที่เห็นแจ้ง คือน้อมจิตที่สงบนี่แหละมากำหนดพิจารณา ตั้งต้นแต่อายตนะภายในภายนอก ขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนิจจะไม่เที่ยง เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน ร่างกายนี่เป็นของไม่งดงาม เต็มไปด้วยของปฏิกูล ประกอบไปด้วยโทษโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ มากมาย ตรวจดูจิต หากอกุศลวิตกอันใดอันหนึ่งผุดขึ้นมาก็ไม่รับเอาไว้ สงบไปเสีย ก็เป็นการปฏิบัติฟอกจิตให้บริสุทธิ์สะอาดจากอารมณ์และกิเลสโดยลำดับ

วิปัสสนาปัญญา

เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็กำหนดดูให้รู้จักจิตอันนี้เองที่บริสุทธิ์ คือเป็นจิตที่สำรอก ราคะ โทสะ โมหะ หรือโลภโกรธหลงไปได้โดยลำดับ น้อยหรือมาก น้อยก็แปลว่าบริสุทธิ์น้อย มากก็บริสุทธิ์มาก เป็นตัววิราคะคือเป็นตัวความสำรอก น้อยหรือมาก ดูให้รู้จักตัววิราคะคือตัวความสำรอกนี้ที่จิตเอง ก็เป็น วิราคสัญญา ต่อจากนั้นก็ นิโรธสัญญา กำหนดหมายความดับ ก็ดับกิเลสดับทุกข์นี่แหละ เพราะเมื่อสำรอกออกได้เท่าใด ก็ดับได้เท่านั้น ดับกิเลสได้เท่านั้น ดับทุกข์ได้เท่านั้น ดูให้รู้จักตัวนิโรธคือตัวความดับ ดับกิเลสและดับทุกข์ในจิตนี้เอง จะน้อยก็ตาม ก็ให้รู้จักว่าเมื่อปฏิบัติก็จะต้องได้ ได้ความดับกิเลสได้ดับทุกข์น้อยหรือมาก ให้รู้จักเอาไว้ และก็ปฏิบัติต่อไป คอยระวังจิตไม่ให้ยินดีในโลกทั้งหมด และปฏิบัติต่อไปคอยระวังจิตมิให้พอใจยินดีในสังขารทั้งหมด สิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหมด และรวมเข้ามาก็กำหนดลมหายใจเข้าออก ซึ่งเมื่อปฏิบัติกำหนดลมหายใจเข้าออกประกอบด้วยสัญญาเหล่านี้ ก็ย่อมจะได้ข้อกาย ข้อเวทนา ข้อจิต ข้อธรรมไปโดยลำดับ จิตก็จะพบกับความสำรอกและความดับยิ่งๆ ขึ้นไป ดั่งนี้ ก็ชื่อว่าเป็นการประกอบด้วยวิปัสสนาปัญญาที่เห็นแจ้ง หรือรู้แจ้งเห็นจริง แต่ว่าการปฏิบัตินั้นจะไปมุ่งว่าจะต้องละกิเลสได้ จะต้องสำเร็จเมื่อนั่นเมื่อนี่นั้นไม่ได้ ผู้ปฏิบัติก็มีหน้าที่ปฏิบัติไป น้อยหรือมากก็ตาม ก็ย่อมจะได้ไปโดยลำดับ และขั้นตอนของการปฏิบัติก็จะเลื่อนขึ้นไปเอง ไม่ต้องไปใช้ตัณหาอยากได้ ถ้าใช้ตัณหาอยากได้อยากถึงแล้วย่อมจะไม่ได้ เพราะนั่นเป็นตัณหา ซึ่งคอยขัดขวาง

ข้อปฏิบัติข้อสุดท้าย

เพราะฉะนั้น จึงถึงข้อสุดท้ายที่ตรัสสอนให้พอกพูนเรือนว่าง อันหมายความว่า ให้ผู้ปฏิบัตินั้นพอกพูนคือกระทำอยู่บ่อยๆ หาโอกาสที่จะหลีกเร้นเข้าไปสู่เรือนว่างคือที่ว่าง แล้วก็ทำกายวาจาใจนี้ให้ว่าง ทำจิตนี้ให้ว่างว่างจากอารมณ์ ว่างจากกิเลส ว่างจากกองทุกข์ไปโดยลำดับ ผลของการปฏิบัติก็ได้เอง ได้มาโดยลำดับ

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

https://sites.google.com/site/smartdhamma/part3_sangarat_anapa

. . . . . . .