ตอน สาม อานาปานสติภาวนา โดย พุทธทาสภิกขุ

ตอน สาม อานาปานสติภาวนา โดย พุทธทาสภิกขุ

ความมุ่งหมายอันแท้จริงของบุพพกิจ

บุพพกิจต่างๆ เหล่านี้ ถ้าอยากจะทำ ก็จะขอแนะนำ หรือชี้ความมุ่งหมายอันแท้จริง ของกิจเหล่านั้นไว้พอเป็นตัวอย่าง ดังต่อไปนี้ :-
(๑) การทำความเคารพสักการะ แก่ท่านผู้เป็นประธานหรือเจ้าของสำนัก นั้น เป็นธรรมเนียมของสังคมทั่วไป. ส่วนที่สำคัญกว่านั้น อยู่ตรงที่จะต้องทำความเข้าใจกับท่านให้ถึงที่สุด คือให้ท่านเกิดความเข้าใจในเราว่าเราเป็นคนอย่างไร มีกิเลส มีนิสัยสันดานอย่างไร ต้องการความสะดวกเพื่อการปฏิบัติในส่วนไหน ดังนี้เป็นต้น. เพื่อท่านจะได้ไว้ใจเราและให้ความช่วยเหลือแก่เราอย่างถูกต้องและเต็มที่ได้โดยง่ายดาย เป็นการปรารภธรรมะเป็นใหญ่ มิใช่ปรารภวัตถุหรือพิธีรีตอง ดังกล่าวแล้ว. ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่อาจทำความเข้าใจกันได้ ก็อย่าเข้าไปสู่สำนักนั้นเลย ข้อนี้เป็นกิจที่ต้องทำในขั้นแรกที่สุด และก็ทำเพียงครั้งเดียวเป็นธรรมดา หลังจากนั้นก็มีแต่การประพฤติปฏิบัติให้ตรงตามข้อสัญญาหรือข้อตกลงต่างๆ ที่มุ่งหมายจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ด้วยอาศัยความเมตตากรุณาเป็นที่ตั้งอย่างแท้จริง

(๒) การถวายสักการะต่ออาจารย์ผู้สอนโดยตรงนั้น เหมือนกับการเคารพ หรือการปฏิบัติอื่นๆ ต่อครูประจำชั้นของนักเรียน ในเมื่อการกระทำข้อ ๑ เป็นเรื่องที่จะต้องปฏิบัติต่ออาจารย์ใหญ่ หรืออาจารย์ผู้ปกครอง หรือเจ้าของโรงเรียนอย่างในสมัยนี้. ผู้ปฏิบัติจะต้องมีความเคารพและไว้วางใจในอาจารย์ผู้สอนของตนมากพอที่จะไม่ละเลยต่อการที่จะฟัง หรือการนำไปคิด ไปพิจารณาด้วยความสนใจอย่างยิ่ง. ถ้าความเคารพหรือความไว้วางใจมีไม่พอ ก็จะทำให้เกิดการฟังอย่างลวกๆ การพิจารณาอย่างลวกๆ และอะไรก็ลวกๆ ไปเสียหมด. ซึ่งเป็นมูลเหตุอันสำคัญของความล้มเหลว ตั้งแต่ระยะแรกไปทีเดียว การทำความเข้าใจต่อกันและกันให้ถึงที่สุด นับว่าเป็นสิ่งสำคัญในข้อนี้ มิใช่ว่าสักแต่ว่าถวายเครื่องสักการะ ไหว้ๆ กราบๆ แล้วจะเป็นการเพียงพอ. จะต้องมีการซักไซ้สอบสวนอย่างละเอียด เหมือนกับการตรวจโรคของหมอ ที่จะพึงกระทำต่อคนป่วยที่มาขอให้รักษาทุกแง่ทุกมุมทีเดียว. ความเคารพและความไว้วางใจ เป็นมูลเหตุให้มีการเปิดเผยถึงโรค คือ กิเลส หรือกรรมอันเป็นบาปของตนเอง เฉพาะเรื่องเฉพาะรายไปทีเดียว. เมื่อเกิดความเคารพและความรักใคร่ฉันบิดากับบุตร หรือฉันอาจารย์กับศิษย์แล้ว สิ่งต่างๆ ก็ดำเนินไปด้วยดี เพราะฉะนั้นสิ่งที่ศิษย์จะพึงถวายแก่อาจารย์นั้น จึงไม่ได้เป็นแต่เพียงธูปเทียนเป็นต้น แต่ต้องเป็นความเชื่อฟังความซื่อตรงเปิดเผยและความไว้วางใจเป็นต้น มากกว่าระเบียบการถวายดอกไม้ธูปเทียน ซึ่งเป็นเพียงวัตถุภายนอก; ย่อมมีความมุ่งหมายถึงความรู้สึกภายในใจอย่างแท้จริง ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว. ความใกล้ชิดสนิทสนมสืบต่อไปในกาลภายหน้าจะช่วยให้สิ่งเหล่านี้ เป็นไปในทางเจริญ หรือก้าวหน้ายิ่งขึ้น.

(๓) การจุดธูปเทียนที่ที่บูชานั้น เป็นเรื่องของพิธี ถ้าต้องทำก็ทำเพราะเห็นแก่พิธี หรือตามธรรมเนียมของสังคม. ผู้ที่มีหัวใจอุทิศบูชาต่อพระรัตนตรัยอย่างเต็มเปี่ยมอยู่แล้ว จะจุดหรือไม่จุดก็ได้. แต่ถ้าจุดหรือมีการจุดก็ต้องไม่เป็นเรื่องที่ฟุ้งซ่านรำคาญ หรือเป็นการทำลายเวลาให้เนิ่นช้า, สิ่งซึ่งเป็นเพียงพิธีเช่นนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคม เพื่อความพร้อมเพรียงสามัคคีกัน ยิ่งกว่าที่จะเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการปฏิบัติ. ผู้ปฏิบัติในครั้งพุทธกาล โดยเฉพาะพระสาวกของพระพุทธองค์นั้น ไม่เคยรู้จักธูปเทียนเหล่านี้ ไม่เคยจุดธูปเทียนเหล่านี้ ในขณะเช่นนี้ หรือจะพกติดตัวไปสำหรับไปจุดในป่า หรือในที่สงัดทุกครั้งที่จะลงมือทำกัมมัฏฐานเลย. ผู้ปฏิบัติพึงวินิจฉัย แล้วทำความแน่ใจอย่างใดอย่างหนึ่งลงไป เพื่อความสะดวกและไม่ฟุ้งซ่านในส่วนตัว และทั้งไม่ขัดขวางในทางสังคม ในเมื่อต้องร่วมกันทำเป็นหมู่ใหญ่. การซื้อหาธูปเทียนไว้จุดทุกคราวทุกครั้งที่จะลงมือทำกัมมัฏฐานนั้น ย่อมแสดงอยู่ในตัวแล้วว่า เป็นการทำของบุคคลประเภทสมัครเล่นเป็นครั้งคราวเท่านั้นเอง. ผู้ปฏิบัติที่แท้จริงต้องทำอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก คือทุกอิริยาบถ ทั้งกลางวันและกลางคืน ทั้งหลับและตื่น แล้วจะเอาเวลาไหนมาเป็นเวลาตั้งต้นสำหรับจุดธูปเทียนเป็นประจำวันได้เล่า. เขาควรพยายามจุดธูปเทียนในใจของตน ให้ลุกโพลงอยู่เสมอทั้งกลางวันและกลางคืน ทั้งเวลาตื่นและเวลาหลับ อย่าต้องลำบากด้วยการซื้อหาหอบหิ้วสิ่งเหล่านี้ให้มาเป็นการเพิ่มความลำบากให้แก่ตนเลย ในเมื่อการปฏิบัติได้ดำเนินมาถึงขั้นนี้แล้วจริงๆ.

(๔) การแสดงอาบัติ หรือการรับศีล ในขณะที่จะรับกัมมัฏฐานครั้งแรก หรือก่อนแต่ที่จะลงมือปฏิบัติเป็นประจำวันก็ตาม เป็นสิ่งที่น่าขบขัน. ความหมายอันแท้จริงมีอยู่โดยหลักว่า ผู้ที่เจริญกัมมัฏฐาน ซึ่งเป็นเรื่องทางใจโดยตรงนั้น ต้องมีกาย วาจาที่สะอาดเป็นพื้นฐาน ไม่มีความรังเกียจกินแหนงตัวเองอย่างใดอย่างหนึ่งติดอยู่ในใจ ถ้ามีความรู้สึกรังเกียจตัวเองอยู่ในใจ ใจก็จะฟุ้งซ่านไม่มีทางที่จะทำสมาธิให้ใจสงบได้ เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้จักปรับปรุงตัวเองในทางจิตใจ ให้มีจิตใจเรียบร้อย สงบราบคาบมาเสียก่อน เช่นมีบาปกรรมอย่างไรติดตัวอยู่ หรือไปทำความชั่วอันใดไว้ ที่กำลังรบกวนกลุ้มรุมอยู่ในใจ เขาต้องใช้สติปัญญาหรืออำนาจของสติปัญญาในทางที่จะสำนึกบาปกรรมอันนั้นด้วยสติปัญญาจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่มาแสดงอาบัติเดี๋ยวนี้ หรือรับศีลกันเดี๋ยวนี้ ซึ่งดูเป็นการเล่นตลกมากกว่า. ทางที่ถูกเขาจะต้องสะสางปัญหาข้อนี้ให้เด็ดขาดลงไปว่าบาปกรรมที่มีอยู่นั้นจะไปพักไว้ที่ไหน จะไปเก็บไว้อย่างไร จึงจะไม่มารบกวนจิตใจในขณะที่ตนกำลังจะทำกัมมัฏฐานอยู่ในขณะนี้ ถ้าเป็นเรื่องของพวกที่ถือความเชื่อเป็นหลัก เช่นพวกที่ถือพระเป็นเจ้า ก็จะมีการแสดงบาป หรือแสดงอาบัติ ให้แก่พระที่ทำหน้าที่รับอาบัติแทนพระเป็นเจ้าให้แก่ตนได้ แล้วตนก็มีจิตใจสะอาดทำกัมมัฏฐาน, แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำกัมมัฏฐานไปทำไมอีก ในเมื่อบาปกรรมนั้นหมดไปได้ ด้วยการทำเพียงเท่านั้น. นี่แหละเป็นทางที่ทำให้มองเห็นได้ว่า การทำกัมมัฏฐานของเรา เป็นเรื่องของสติปัญญา และจะต้องทำเพื่อเอาชนะบาปกรรมด้วยสติปัญญา ไม่ใช่ด้วยอาศัยพิธี หรืออาศัยความเชื่อแต่อย่างเดียว. การสำนึกบาปของเราต้องเป็นการสำนึกด้วยปัญญา รู้ว่าบาปกรรมมันเกิดขึ้นมาจากอะไร จะสิ้นสุดไปได้ด้วยอะไร เราจึงจะมีจิตใจผ่องใสสงบรำงับพอที่จะทำกัมมัฏฐาน. เราต้องมีความรู้แจ้งที่เป็นการแสดงอาบัติของเราอยู่ตลอดเวลา คือสำนึกผิดในความผิด เล็งเห็นโทษของกรรมชั่ว ปักใจแน่วแน่ในการที่จะทำเสียใหม่ให้ถูกให้ดีอยู่เป็นประจำ ด้วยอำนาจของสติปัญญาหรือความรู้.ครั้นมาถึงโอกาสที่จะทำกัมมัฏฐาน เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ตามความมุ่งหมายนั้นจิตก็อาจหาญร่าเริงเหมาะสมที่จะทำกัมมัฏฐานอยู่ในตัวเอง ไม่มีความรังเกียจกินแหนง หรือวิปปฏิสารอันใด มาครอบงำใจให้เศร้าหมอง หรือเกิดความท้อแท้ฟุ้งซ่านขึ้นในขณะนั้นได้ เราก็จะทำสมาธิได้สำเร็จ เป็นสมาธิจริงๆ และเป็นปัญญาจริงๆ ยิ่งขึ้นไป ด้วยเหตุนี้แหละจึงเห็นว่า พิธีแสดงอาบัติหรือการรับศีลกันในขณะที่เป็นการคับขัน หรือเข้าด้ายเข้าเข็มเช่นนี้ เป็นการเล่นตลกหรือน่าขันไปเสีย. ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติผู้ใดยึดมั่นในการทำเช่นนั้น ก็กลายเป็นผู้ปฏิบัติชนิดสมัครเล่นไปตามเคย. แต่ถ้าเราจะต้องทำ ก็ควรจะทำได้ พอเป็นพิธีเพื่อไม่ให้ขัดใจคนอื่น แต่โดยเนื้อแท้แล้วเราจะต้องสำนึกบาปอยู่ตลอดเวลา มีกำลังแกล้วกล้าเพียงพอในการที่จะทำงาน ที่จะเอาชนะบาปเหล่านั้นให้ได้อยู่เป็นประจำตลอดวันตลอดคืน และเป็นผู้เพียบพร้อมที่จะทำกัมมัฏฐานอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก.

(๕) การมอบตัวต่อพระรัตนตรัยนั้น เป็นสิ่งที่ควรมีอยู่ตลอดกาลไม่ใช่เพิ่งมามอบกันเมื่อจะทำกัมมัฏฐาน ด้วยอาการของคนจนตรอกเช่นนี้. ถ้าไปทำเข้า มันก็กลายเป็นเพียงพิธีรีตองล้วนๆ ไปตามเดิม ถ้ามากไปกว่านั้นก็เป็นเรื่องหน้าไหว้หลังหลอกต่อพระรัตนตรัยไปโดยไม่รู้สึกตัว. หรือถ้ามากไปกว่านั้นอีกคือเพิ่งมามอบเพื่อเห็นแก่ใครคนใดคนหนึ่ง หรือหมู่คณะใดคณะหนึ่ง, ซึ่งเป็นการแสดงว่าบุคคลนั้นมีความสำคัญยิ่งกว่าพระรัตนตรัย ดูอะไรๆ มันขลุกขลักเหมือนกับคนเตรียมไม่พร้อมไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง มีพื้นฐานไม่เหมาะสมที่จะก่อสร้างสิ่งที่ประณีตหรือสูงสุดเอาเสียเลย. ขอย้ำว่าเราจะต้องมีการมอบตัว คือการไว้วางใจในพระรัตนตรัยถึงที่สุดแล้ว มาก่อนหน้านั้น จึงมีปีติปราโมทย์อันแท้จริง ที่จะเกิดกำลังส่งเสริมกัมมัฏฐาน อย่างมั่นคงและเพียงพอ.

(๖) การมอบตัวต่ออาจารย์ ก็อย่างเดียวกัน คือเป็นเรื่องของเหตุผลและสติปัญญา มิใช่พิธีรีตอง ถ้าใจไม่เชื่อ หรือสติปัญญาไม่ยอมรับว่าอาจารย์ผู้นั้นจะเป็นประโยชน์อะไรแก่ตนแล้ว ก็ไม่ควรจะมีความลำบากเรื่องการมอบตัวอะไรกันให้เสียเวลา ใจความสำคัญอยู่ตรงที่จะต้องศึกษาซึ่งกันและกันให้เข้าใจซึ่งกันและกันจริ ๆ แล้ว จะทำพิธีหรือไม่ทำพิธีนั้น ย่อมมีเหตุผลอยู่อีกส่วนหนึ่งต่างหาก, ถ้าทำดีกว่า ก็ทำ, ถ้าไม่ทำดีกว่า ก็ไม่ควรทำ ชนิดที่สักว่าพอเป็นพิธี. ขอให้คิดดูให้ดีเถิดย่อมจะเห็นได้ด้วยตนเองว่า พิธีเช่นนี้แหละจะทำให้คนต่างศาสนาที่จะเข้ามาสู่ศาสนานี้ เกิดความรังเกียจไม่ไว้วางใจ หรือเลยไปกว่านั้นจนถึงกับประณามว่า มันเป็นแบบแผนของคนป่าเถื่อน สมัยโบรมโบราณก่อนประวัติศาสตร์ หรืออย่างดีที่สุดก็กลายเป็นเรื่องของพวกที่ถือพระเจ้า ด้วยอำนาจศรัทธาและภักดีมากกว่าที่จะเป็นของพุทธศาสนา ซึ่งมากไปด้วยปัญญา และมุ่งหมายจะทำลายความยึดถือตัวเองอย่างแท้จริง; ฉะนั้นถ้าต้องทำก็ทำเพียงเพื่อพิธี หรือไม่ให้เป็นที่ขัดใจของสังคมที่ยังติดในพิธี หรือเป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกในใจให้เต็มรูปของพิธีเท่านั้นเอง อย่าได้ถือว่าข้อนี้เป็นหลักสำคัญของพุทธศาสนา ซึ่งไม่มีความประสงค์จะผูกพัน หรือทำให้เกิดความผูกพันโดยไม่มีเหตุผล. ความผูกพันอันนี้มุ่งหมายเป็นการเปิดโอกาสให้อาจารย์ว่ากล่าวดุด่า หรือเรียกร้องสิ่งใดได้ตามความพอใจเท่านั้นเอง แต่เมื่อเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สูงไปกว่านั้น คือเป็นเรื่องที่ต้องทำด้วยความเมตตากรุณา และสติปัญญาจริงๆ แล้ว ทั้งฝ่ายอาจารย์และฝ่ายศิษย์ไม่ควรยึดมั่นด้วยอุปาทาน หรือความไม่ไว้วางใจตัวเอง ของตนๆ ให้มากไปเลยมันจะกลายเป็นอุปสรรค ที่จะขัดกันต่อหลักการทั่วๆ ไปก็ได้. มันเป็นเรื่องที่ติดเนื่องมาจากเรื่องที่ต่ำกว่านี้ คือเรื่องขั้นต้นๆ ของบุคคลที่เพิ่งถูกชักจูงเข้ามาสู่ศาสนานี้เท่านั้น. ในครั้งพุทธกาลไม่ปรากฏการทำเช่นนี้ในอริยวินัย. เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น ในเมื่อต้องการจะให้สิ่งต่างๆ รัดกุมยิ่งขึ้นในยุคหลังๆ เท่านั้น.

(๗) การขอกัมมัฏฐาน ด้วยบทสำหรับกล่าวขอว่า “นิพฺพานสฺส เม ภนฺเต สจฺฉิกรณตฺถาย กมฺมฏฺฐานํ เทหิ” นี้เห็นได้ชัดว่า ถอดแบบมาจากการขอบรรพชาอุปสมบทตามแบบลังกาโดยแท้. ไม่มีลักษณะสำนวนของสมัยพุทธกาลเลย : แต่นับว่า เป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญและถูกต้องตามความหมายของเรื่องจริงๆ เป็นการป้องกันที่ดี ที่จะไม่ให้คนขอกัมมัฏฐาน เพื่อประโยชน์อย่างอื่นซึ่งเป็นเรื่องเห็นแก่ตัว เช่น ทำกัมมัฏฐานเพื่อเกิดนั่นเกิดนี่ มีนั่นมีนี่ เป็นคนวิเศษเหนือคนอื่น สำหรับโอ้อวดกัน หาประโยชน์หรือชื่อเสียงมาให้ตัว. แม้การกระทำเพื่อได้ญาณทัสสนะอันวิเศษ เช่น มีหูทิพย์ ตาทิพย์ เป็นต้น ก็ไม่ยกเว้นคือเป็นสิ่งที่ยังไม่ตรงต่อความมุ่งหมายอยู่นั่นเอง. พระพุทธองค์ทรงยืนยันหรือทรงกำชับว่า พรหมจรรย์นี้ต้องเป็นไปเพื่อวิมุตติ หลุดพ้นจากความทุกข์อย่างเดียวเท่านั้น มิใช่เป็นไปเพื่อสิ่งซึ่งมีคุณค่าต่ำกว่านั้น หรือผิดแผกแตกต่างไปจากนั้น เช่นว่าประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความเป็นคนมีศีล หรือเป็นคนมีสมาธิ หรือเพื่อความเป็นคนมีญาณทัสสนะวิเศษต่างๆ ก็หาไม่. นั่นเป็นเพียงกระพี้ของพรหมจรรย์ ผลอันแท้จริงของพรหมจรรย์คือ นิพพาน อย่างเดียว. ถ้าผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐานทุกคนถือตามหลักพระพุทธองค์ข้อนี้กันอย่างแน่นแฟ้นแล้ว สิ่งที่ไม่งดงามต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้นในหมู่บุคคลผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐานไปได้เลย. ผู้ปฏิบัติควรจะศึกษาเรื่องราวอันแท้จริงของพระนิพพาน แม้แต่ในทางทฤษฎีมาให้เพียงพอเสียก่อน ก็ยังเป็นการดีอยู่มากมาย เพราะจะได้มุ่งเข็มตรงไปยังพระนิพพานได้โดยง่าย. ส่วนที่แน่นอนที่สุดและดีที่สุดนั้น อยู่ตรงที่จะต้องมองเห็นความทุกข์อย่างชัดเจน และอยากพ้นทุกข์อย่างแรงกล้า เหมือนกับบุคคลที่ถูกจับศีรษะกดลงไปใต้ผิวน้ำ มีความต้องการอยากจะขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ ฉันใดก็ฉันนั้น. นั่นแหละเป็นความปลอดภัยสำหรับความมุ่งหมายที่จะเข้าทำกัมมัฏฐานในพระศาสนานี้. เพราฉะนั้น เมื่อนักปฏิบัติผู้ใดได้กล่าวคำขอกัมมัฏฐานออกไปว่า “นิพฺพานสฺส เม ภนฺเต สจฺฉิกรณตฺถาย กมฺมฏฺฐานํ เทหิ” เป็นต้น ดังนี้แล้วก็ขอให้มีความรู้สึกในใจอันถูกต้องโดยนัยดังกล่าวมาแล้วนั้นจริงๆ ก็จะเป็นการไม่เสียหายในการทำพิธีอันนี้ ซึ่งเป็นเหมือนการเตือนย้ำอยู่เสมอว่ากัมมัฏฐานนี้ต้องเพื่อนิพพานเท่านั้น หรือขยายออกไปมากกว่านั้น ก็ว่า เพื่อมรรค ผล นิพพานเท่านั้น และขออย่าให้เข้าใจคำว่า “มรรคผล” ผิดต่อไปอีก เพราะเป็นคำพูดที่อาจจะเข้าใจเฉไฉเลือนออกไปได้ยิ่งกว่าคำว่า นิพพาน ; อย่างที่เรามักจะได้ยินกันว่าเงินทองเป็นมรรคผลอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน. นี่ถูกเอามาใช้เป็นภาษาพูดของคนทั่วไป ในความหมายอันต่ำกว่าเดิมมากมาย ผลจึงเกิดมีขึ้นว่าคนแห่กันไปทำกัมมัฏฐานที่นั่นที่นี่ เพราะอยากบรรลุมรรคผล แต่แล้วมรรคผลนั้นก็เป็นแต่เพียงสีลัพพัตตปรามาสอย่างใดอย่างหนึ่งไปเสีย ความวุ่นวายต่างๆ จึงเกิดขึ้นในหมู่บุคคลผู้แห่กันไปทำกัมมัฏฐานนั่นเองอย่างน่าเวียนหัว. ขอให้พิจารณาดูเถิดว่า ความเข้าใจถูก หรือเข้าใจผิด ต่อความมุ่งหมายของการทำกัมมัฏฐานนั้น มีความสำคัญอย่างไร. เพราะฉะนั้น ถ้านักปฏิบัติผู้ใดมีความประสงค์ต่อกัมมัฏฐานก็ดี หรือออกปากขอกัมมัฏฐานก็ดี ควรจะเป็นผู้ที่มีการศึกษาเรื่องของพระนิพพาน หรือมองเห็นความทุกข์ในวัฏฏสงสารอย่างประจักษ์ชัดแก่ใจตนอย่างเพียงพอ จึงจะมีความปลอดภัยในการที่นำตนเข้ามาเกี่ยวข้องกับกัมมัฏฐาน ไม่มีทางที่จะตกเป็นเหยื่อของบุคคลหรือของกิเลสได้เลย.

(๘) การเชื้อเชิญกัมมัฏฐาน ที่ทำกันราวกะว่าเป็นพระเจ้า หรือเทพเจ้าองค์หนึ่งนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ควรจะถือเอาความหมายแต่เพียงว่าตั้งใจจะทำกัมมัฏฐานข้อใดข้อหนึ่ง หรือส่วนใดส่วนหนึ่ง ให้สำเร็จลุล่วงไปวันหนึ่งๆ อย่างเต็มความสามารถ. ถ้าจะให้มีการเชื้อเชิญ ก็ควรจะเป็นการเชื้อเชิญตนเองหรือปลุกปลอบใจตนเอง ให้มีความอาจหาญร่าเริง มีความขยันขันแข็ง สุขุมรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ให้เต็มไปด้วยอิทธิบาท ๔ ประการ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสานั้นเอง จะเป็นการถูกกว่าหรือดีกว่า. เมื่อเชื้อเชิญตนเองในลักษณะเช่นนี้ได้แล้ว สิ่งที่ทำก็จะประสบความสำเร็จเท่ากับสามารถเชื้อเชิญองค์พระกัมมัฏฐานให้มาโปรดได้เหมือนกัน. การที่นักปฏิบัติในกาลก่อน เกิดสมมติธรรมะให้เป็นบุคคลขึ้นมาเช่นนี้เข้าใจว่าเป็นเพียงความเหมาะสมเฉพาะถิ่น เฉพาะยุค หรือเฉพาะกลุ่มชน ที่ตามปรกติมีความยึดมั่นถือมั่นในความขลังและความศักดิ์สิทธิ์เท่านั้นเอง. นับว่าเป็นการพ้นสมัยแล้วในการที่จะทำเช่นนั้นอีก.

(๙) การแผ่เมตตาให้ตนเอง ควรจะหมายถึงความรักตัวเอง ความเคารพนับถือตัวเอง ในทางที่จะสนับสนุนกำลังใจของตัวเอง ให้มีความพอใจหรือความเพลิดเพลินในการกระทำมากยิ่งขึ้นเป็นส่วนใหญ่. ส่วนการแผ่เมตตาให้สัตว์ทั้งหลายตลอดจนถึงผู้มีเวรนั้น ควรถือเอาความหมายอย่างสั้นๆ ไปในทางที่ว่า บัดนี้เราไม่มีเวรต่อใครหมด ยินดีละเวร แม้จะตกเป็นผู้ถูกเขาทำ แต่ฝ่ายเดียว จนกระทั่งเสียชีวิตก็ยอม เพื่อจิตจะไม่ระแวงภัยโดยสิ้นเชิง ในการที่ตัวไปนั่งในที่เปลี่ยวปราศจากการคุ้มครองแต่อย่างใดทั้งสิ้น. และอีกทางหนึ่งก็คือทำจิตให้เป็นมิตรแก่ทุกคน หรือราวกะว่าทุกคนมีหุ้นส่วนในการกระทำของตน เพราะการกระทำนี้ทำเพื่อความดับทุกข์ของสัตว์ทั้งหลายในโลกด้วย และทำในใจเหมือนกับชีวิตทุกชีวิตที่แวดล้อมอยู่รอบข้างนั้นเป็นญาติมิตรที่สนับสนุนการกระทำของเราอยู่อย่างเต็มที่.

(๑๐) การสวดพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ด้วยเสียงนั้น ควรจะเว้นเสียในขณะนี้ หรือกรณีเช่นนี้ แต่ควรจะทำในใจให้เป็นอย่างยิ่ง ในการที่จะรำลึกว่า คุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กำลังคุ้มครองสัตว์โลกทั้งปวงอยู่อย่างแท้จริง แม้เราเองที่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ และมาอยู่ในสถานที่กำลังจะปฏิบัติเพื่อคุณธรรมอันสูงยิ่งขึ้นไปในขณะนี้ ก็ด้วยอำนาจคุณของพระรัตนตรัย และจะดำเนินต่อไปในคลองของพระรัตนตรัย จนถึงที่สุดด้วยการอุทิศชีวิตจิตใจทั้งหมดสิ้นจริงๆ. ควรจะรำลึกจนเกิดความปีติปราโมทย์ ความพอใจ และความกล้าหาญ ในการที่จะปฏิบัติต่อไปจริงๆ.

(๑๑) การอธิษฐานจิตต่อธรรมที่ตนกำลังปฏิบัตินั้น เป็นอุบายที่ควรกระทำโดยแท้ เพื่อความเชื่อมั่นหรือความพอใจ ในสิ่งที่ตนกำลังกระทำอย่างสูงสุด. ถ้าปฏิบัติกัมมัฏฐานข้อใด ควรจะได้รับการแนะนำ ให้มีความเข้าใจในเรื่องของกัมมัฏฐานข้อนั้น อย่างน้อยที่สุดก็ให้เป็นที่แน่ใจว่าเหมาะแก่กิเลสหรือความดับทุกข์ของตน สามารถขจัดปัญหาต่างๆ ได้จริง จึงจะสำเร็จประโยชน์ในการอธิษฐาน. อุบายที่เป็นการเพิ่มกำลังใจหรือรักษากำลังใจ ในการทำจิตของตนเช่นนี้ มิใช่มีความจำเป็นแต่ในวงการทำกัมมัฏฐาน แต่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่หรือทำกิจทั่วไปทุกอย่าง หากแต่ว่าในการปฏิบัติกัมมัฏฐานนี้มีหลักเกณฑ์รัดกุม มีหลักฐานแน่นอน ยิ่งเรียน ยิ่งคิด ยิ่งพิจารณา ก็ยิ่งมีความแน่ใจจึงเป็นการง่ายอยู่ส่วนหนึ่ง ในการที่จะรักษาความแน่ใจอันนี้เอาไว้ได้ตลอดเวลาและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในขณะที่กำลังจะทำกัมมัฏฐานนั่นเอง. ถ้าไปทำให้เป็นเรื่องบุคลาธิษฐาน ไปอ้างวิญญาณของพระพุทธเจ้า หรือพระสาวกขึ้นมาอีกมันก็วกกลับไป เป็นเรื่องพิธีรีตองของพวกที่มัวเมาอยู่ด้วยศรัทธาอีกนั่นเอง. ควรระวังให้ก้าวหน้าไปให้ได้ ไม่ย้อนไปสู่ภูมิของบุคคลที่ยังงมงายอยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่นในทางขลังหรือศักดิ์สิทธิ์เป็นอันขาด แต่ให้เป็นการอยู่ในอำนาจของสติปัญญา หรืออำนาจของเหตุผล ที่เนื่องมาแต่ความรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเองเสมอไป เท่าที่จะทำได้.

(๑๒) สำหรับการอุทิศการปฏิบัติในวันหนึ่งๆ หรือแม้แต่ความตั้งใจแน่วแน่ ในการที่จะปฏิบัติต่อไป เพื่อบูชาคุณพระพุทธองค์นั้น เป็นสิ่งที่ควรกระทำโดยแท้; แต่ก็ต้องระวังอย่าให้เป็นเพียงพิธีเช่นเดียวกัน ต้องให้เป็นความสำนึกตนอยู่อย่างเต็มที่ว่า การกระทำนี้ ถูกพระหฤทัยหรือตรงตามพระพุทธประสงค์อย่างยิ่ง และสมควรที่จะใช้เป็นเครื่องบูชาพระพุทธองค์ได้จริงๆ ไม่มีการหน้าไหว้หลังหลอกต่อพระพุทธองค์ หรือต่อตัวเองแม้แต่อย่างใด. นับว่าเป็นกิจสุดท้ายประจำวันวันหนึ่งๆ ที่จะต้องทำเพื่อเป็นเครื่องตั้งตนไว้ ในคลองของธรรมอย่างแน่นแฟ้น.

สรุปความว่า สิ่งที่ต้องทำไปในฐานะที่เป็นบุพพภาคของการเจริญกัมมัฏฐานนั้น ไม่มีอะไรที่จะเป็นพิธีรีตองไปได้ เพราะไม่ใช่เรื่องของพิธีรีตองแม้แต่น้อย. มันเป็นหน้าที่โดยตรงบ้าง เป็นเทคนิคของการแวดล้อมจิตใจให้มีกำลัง และให้เดินตรงแน่วแน่ไปในหนทางอันลึกซึ้งบ้าง ล้วนแต่มีเหตุผลของมันเองโดยเฉพาะ. ขอให้ทุกคนระมัดระวังตั้งใจทำให้ดีที่สุด ให้ตรงตามความหมายอันแท้จริงของเรื่องนั้นๆ. สำหรับการใช้อุบายแวดล้อมจิตใจให้เกิดกำลังโดยเฉพาะเป็นต้นนั้น ขอให้สังเกตอุปนิสสัยใจคอของตนเองให้มากเป็นพิเศษ จึงจะทำได้สำเร็จเต็มที่. แม้การกระทำอย่างอื่น ซึ่งมิได้ระบุไว้ในที่นี้ก็อาจนำมาใช้ได้ เช่น การรำลึกถึงความตายก็ดี รำลึกถึงระยะเวลาอันสั้น ที่มีอยู่สำหรับเราผู้ประสงค์จะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้นี้ก็ดี รำลึกถึงบุญคุณของผู้มีพระคุณ เช่น บิดามารดาเป็นต้นก็ดี หรือแม้ที่สุดแต่การสำนึกในหน้าที่ ที่จะช่วยกันเผยแผ่พระศาสนาโดยการปฏิบัติให้ดู หรือรับผลของการปฏิบัติให้เขาดูก็ดี ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ควรนำมากระตุ้นจิตใจ ในโอกาสที่จะทำการปรับปรุงจิตชนิดนี้ ได้ด้วยกันทั้งนั้น. ใจความสำคัญอยู่ตรงที่มีความรู้สึกว่า เรากำลังกระทำถูกต่อสิ่งที่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่งแล้วนั่นเอง. ทั้งหมดนี้ ให้ถือว่าเป็นบุพพกิจทั่วไป สำหรับบุคคลผู้เตรียมตัวปฏิบัติกัมมัฏฐาน.

https://sites.google.com/site/smartdhamma/part3_anapanasati_buddhadhas

. . . . . . .