การหาความสุขจากสิ่งที่เป็นทุกข์ โดย ท่านพุทธทาส

การหาความสุขจากสิ่งที่เป็นทุกข์ โดย ท่านพุทธทาส

หน้าที่ 1 – ธรรมเทศนา
อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนา เนื่องในวันเข้าพรรษานี้นั้น เป็นธรรมเทศนาที่มุ่งหมายจะให้ไม่เกิดความไม่ประมาท แก่ท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจในเรื่องนี้มาตามลำดับแล้วแต่วันก่อนๆ ในวันนี้ก็ยังเป็นธรรมเทศนาที่มีความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน คือว่าตลอดการจำพรรษานี้ เป็นเวลาที่พุทธบริษัท ตั้งใจที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นวัดปฏิบัติของตน ให้ดีเป็นพิเศษ ให้สม่ำเสมอเป็นพิเศษ สมกับที่เป็นวันเข้าพรรษา

อย่างว่าบางคนจะสมาทานการพูดน้อยให้ตลอดพรรษา แม้เพียงเท่านี้ก็เป็นการดี เพราะว่าคนส่วนมากที่พูดที่พูดพร่ำพรื่อ ไม่รู้จักมารยาทในการพูด นั่งฟังธรรมก็ยังพูดแข่งกันตอนแสดงธรรมนี้ก็ยังมี นี่เขาเรียกว่ากิเลมันครอบงำมากเกินไป จะต้องตั้งใจฝึกฝนให้เป็นพิเศษด้วย คือการบังคับตัวเอง ให้อยู่ในขอบเขตของธรรมมะและวินัย จะได้เห็นว่าแม้แต่การบังคับตัวเองให้พูดน้อยนี้เป็นเรื่องเล็กน้อยเลย คนที่ไม่รู้จักการบังคับตัว ย่อมไม่รู้ว่าอะไรเป็นเรื่องมากอะไรเป็นเรื่องน้อย คนที่พูด พูดพร่ำพรื่อ พูดไม่รู้จักกาลเทศะนั้น มันก็แสดงอยู่แล้วว่า เป็นผู้ไม่มีสติปัญญาคือเป็นคนโง่ นี่ก็เป็นกิเลสที่เรียกว่า โมหะ เดียวนี้พุทธบริษัทในพระพุทธศาสนานี้จะต้องเป็นผู้มีแสงสว่าง มีความรู้ ความตื่น จากหลับ และความเบิกบาน ถ้ามีโมหะ ความโง่ ความหลงอยู่ ก็ไม่มีความเป็นพุทธบริษัท เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม ดังที่จะเห็นได้ ว่ามันตรงกันข้ามอย่างไร ดังนั้นการที่ตั้งใจตลอดพรรษานี้ จะสมาทานวัดอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ครบถ้วนบริบูรณ์และสม่ำเสมอนั้นเป็นการสมควรอย่างยิ่ง

สำหรับในวันนี้จะแสดงในข้อธรรมมะข้อหนึ่งซึ่งเป็นพระพุทธภาษิตว่า ผู้มีปัญญาย่อมแสวงหาความสุขได้จากสิ่งที่เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายทุกคนจงตั้งจิตอธิษฐาน ในการที่ว่าจะประพฤติปฏิบัติให้ตลอดพรรษานี้ โดยหัวข้อที่ว่า จะแสวงหาความสุขได้จากสิ่งที่เป็นทุกข์ ท่านทั้งหลายจงฟังดูให้ดี ถ้าฟังดูไม่ดีก็จะไม่เห็นด้วย นข้อที่ว่าเราจะแสวงหาความสุขจากสิ่งที่เป็นทุกข์ คนมันโง่ ก็จะเห็นว่าเป็นทุกข์เสียแล้วก็ไม่มีทางแก้ไข ความสุขกับความทุกข์นี้ มันก็เอามาใช้แทนกันไม่ได้ แต่ผู้มีปัญญาหาเป็นอย่างนั้นไม่ จะสามารถแสวงหาความสุขได้จากสิ่งทีเป็นทุกข์ นี้มันก็เป็นหนทางที่ดีหรือดีมากทีเดียว เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่จะช่วยให้มีความทุกข์น้อยลงเข้าถึงกับไม่มีความทุกข์เลย แต่ถ้าฟังไม่ถูกมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร และคงจะคิดเสียว่ามันเป็นสิ่งที่ปฏิบัติไม่ได้ เพราะว่าคนโง่ทั้งหลายย่อมหวังในสิ่งที่หวังไม่ได้หรือไม่ควรหวังยกตัวอย่างเช่นว่า ครั้งหนึ่งได้พูดได้เทศน์ในสิ่งโฆษณาถึงเรื่องซึ่งมีหัวข้อว่า ความเจ็บไข้สอนให้เราเป็นคนฉลาด ความเจ็บความไข้เกิดขึ้นแก่เราเพื่อมาสอนเราให้เป็นคนฉลาด คนที่ไม่เข้าใจก็ล้อว่าเขาไม่ต้องการความเจ็บไข้ เขาต้องการลาภอย่างยิ่ง ที่เกิดมาจากความไม่เจ็บไม่ไข้ อ้างพระพุทธภาษิตขึ้นมาว่า อะโรคะยา ภะละมาลาพา ความไม่มีโรคเป็นยอดแห่งลาภนี้คือคนโง่ ใครบ้างที่อยู่ในโลกนี้แล้วจะไม่เจ็บไม่ไข้ นี้ปัญหามันก็มีว่าความเจ็บความไข้มันมีแล้วจะต้องทำอย่างไร จะต้องมาเสียใจมานั่งบน นั่งเพ้อว่าเป็นกรรมเป็นเวร เป็นบาปมาถึงเข้าแล้ว

บางคนก็ร้องไห้กระสับกระส่าย อย่างนี้เรียกว่าคนโง่ โง่เพราะไม่รู้จักความรับความเจ็บไข้ให้กลายเป็นของที่ไม่ทำอันตราย จึงได้กล่าวไว้ให้เป็นหลักปฏิบัติว่า ความเจ็บไข้นั้นมันมาสอนให้เราฉลาด ถ้าเกิดไม่มีความเจ็บไข้มันเกิดขึ้นเลยจริงๆ เอาจริงๆ คนก็จะเลิง ประมาทยิ่งกว่าที่เป็นอยู่เดียวนี้ ทั้งๆ ที่มีความเจ็บไข้อยู่บ่อยๆ ก็ยังเป็นคนประมาท ถ้าไม่ประมาท มันก็จะได้รับผลประโยชน์จากพระธรรม หรือว่าจากการที่เกิดมาเป็นมนุษย์นี้ แต่ถ้าประมาทเสียแล้วก็ไม่ได้รับประโยชน์จากอะไรเลย จะได้รับแต่โทษของความประมาทเท่านั้น นี้ความเจ็บไข้มาเตือนให้ไม่ประมาท กระทั่งมาเตือนให้เราฉลาดว่าสิ่งเหล่านี้มันต้องเป็นอย่างนี้แล้วเราจะต้องทำอย่างไรจึงจะเอาชนะสิ่งเหล่านี้ได้ ความทุกข์ยากลำบากทั้งหลาย เพราะเรารู้จักความรับเอามันก็กลายเป็นทำให้เราฉลาดขึ้น ยิ่งๆ ทุกที เราดูโดยทั่วๆ ไป ก็จะเห็นได้ว่าการที่มนุษย์รู้จักทำอะไรให้ก้าวหน้าหรือดีขึ้น สวยขึ้น นี้ก็เพราะว่ามันมีอุปสรรคเกิดขึ้นก่อนจึงไม่คิดแก้ไข จึงฉลาดในการที่จะทำอะไรให้มันดีขึ้น แม้แต่จะขุดรูอยู่ เมื่อมันมีทางไม่สำเร็จประโยชน์ที่ส่วนไหนก็คิดแก้ไขให้มันดีขึ้น จนรู้จักทำเปิง ทำกระท่อม ทำบ้าน ทำเรือน ทำตึกอยู่ ก็ล้วนแต่ประสบความยากลำบากอย่างใดอย่างหนึ่งมาก่อนแล้วจึงคิดแก้ไขทั้งนั้น

สำหรับความเจ็บไข้นี้ก็เหมือนกัน มันก็เหมือนมาเตือนให้รู้ไว้ล่วงหน้าว่าจะต้องทำอย่างไร ถ้าหากมันเกิดเจ็บไข้มากกว่านี้ ถึงวันจะต้องตายลงไปจริงๆ ก็จะสามารถทำจิตใจให้ถูกต้อง ไม่ให้ความทุกข์ครอบงำมากเกินไป นั้นเมื่อเจ็บไข้ทีไรต้องรู้จักถือเอาความฉลาด รู้จักพิจารณา และรู้จักสลัดออกไป ด้วยสติปัญญา เว้นแต่ว่าเป็นการฝึกหัดจิตใจให้เข้มแข็ง ให้ความทุกข์เพียงเท่านี้ครอบงำไม่ได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งความทุกข์ชนิดไหนก็ครอบงำไม่ได้ เมื่อเราคิดเสียอย่างนี้ ความเจ็บไข้มันก็จะพ้ายแพ้ไป แม้ว่าความเจ็บไข้นั้น มันจะหนักมากถึงกับต้องตายก็จะมีทางที่จะคิดได้ว่าสังขารมันเป็นอย่างนี้เอง ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของสังขารทั้งหลายมันเป็นอย่างนี้เอง

ถ้าฉลาดถึงขนาดนี้แล้ว ความทุกข์หรือความเจ็บไข้หรือความตายชนิดไหนก็ไม่มาทำให้เดือนร้อนได้ หรือถึงกับหัวเราะได้นี้เรียกว่าเป็นผู้ฉลาดเต็มที่ในเรื่องเกี่ยวกับความเจ็บไข้นี้เป็นหลัก สำหรับพุทธบริษัทจะต้องมีความรู้ความสามารถเข้าใจในการที่เอาชนะความทุกข์ ทีนี้ก็จะย้อนกลับไปหาหัวข้อข้างต้นที่ว่า รู้จักแสวงหาความสุขจากสิ่งที่เป็นทุกข์ หัวข้อนี้มีทางที่จะอธิบายได้มากมายหลายระดับ แต่ที่สำคัญที่สุด ก็คือความเป็นทุกข์ของสังขาร ในบทที่ว่า สัพเพสังขาราทุกขา สังขารคือสิ่งที่มีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่งทั้งปวงทุกชนิดเป็นทุกข์หรือว่าเบญจขรรณ์อันเป็นที่ตั้งของอุปทานนี้เป็นความทุกข์ แปลว่าตัวชีวิตนั้น มันเป็นความทุกข์อยู่ตามธรรมชาติ ทีนี้เราจะแสวงหาความสุขจากสิ่งที่เป็นทุกข์นี้ได้อย่างไร สติปัญญาของคนธรรมดาคงจะทำไม่ได้จึงต้องอาศัย สติปัญญาของสัมมาสัมพุทธเจ้า สติปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีมากพอที่จะทำให้สามารถแสวงหาความสุขจากสิ่งที่เป็นทุกข์ เพราะสติปัญญาอันสูงสุดอย่างนี้เอง เพราะองค์จึงได้นามว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราทุกคนลองพยายามคิดนึก ศึกษาตามที่พระองค์ทรงสอนไว้ เพราะร่างกายจิตใจชีวิตนี้เมื่อปล่อยไปตามเรื่องราวของคนที่ไม่มีความรู้มันก็เป็นทุกข์ แต่ถ้ามีปัญญาก็จะสามารถพิจารณาเสาะหาเอาแต่แง่แต่มุมที่จะไม่ต้องเป็นทุกข์ ลองว่ามาดูว่ามันมีอะไรบ้าง ข้อแรกทีเดียวเราก็ได้ยินได้ฟังกันอยู่ว่าความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความเศร้าโศกพิไรรำพันทุกข์โทมนัสเหล่านี้ก็เป็นทุกข์ ประสบพบกับสิ่งที่ไม่ได้รักก็เป็นทุกข์ พรัดพรากจากกันจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถณาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์ สรุปความแล้วเบญจขรรณ์ที่มีอุปาทานเป็นทุกข์ นี้การพูดที่มีเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์มีอยู่อย่างนี้เป็นหลักทั่วไปในพระพุทธศาสนา ความเกิดเป็นทุกข์ เราจะทำอย่างไร เราต้องศึกษาเรื่องความเกิด ถ้าไม่มีการเกิดเราก็ไม่มีอะไรจะศึกษา นั้นต้องมีความเกิดมาให้เรา

สำหรับเป็นวัตถุแห่งการศึกษา เมื่อเรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดนี้อย่างถูกต้องแล้ว ก็สามารถจะทำให้ความเกิดนั้นหยุดเป็นทุกข์หรือถึงกับไม่มีความเกิดเอาเสียเลยทีเดียว ศึกษาจนรู้ว่าไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาอย่างนั่นอย่างนี้มีแต่ธรรมชาติล้วนๆ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป เราได้ความรู้ความเข้าใจถึงขณะนี้แล้ว ความเกิดก็หมดความเป็นทุกข์ แล้วให้ในสิ่งที่ตรงกันข้ามคือความไม่เป็นทุกข์หรือความสุข ทั้งความแก่ชราจะเป็นความชราแบบไหนก็ตาม ถ้ามีปัญญาพอตัวก็ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับศึกษาบทเรียนสำหรับศึกษาให้รู้ว่าความแก่มันเป็นอย่างนี้เอง มันก็มาสอนให้เราฉลาดขึ้นกันอย่างน้อยก็ให้รู้ว่าสังขารทั้งหลายมันเป็นอย่างนี้ ก็หัวเราะเยาะได้สามารถจะประพฤติธรรมมะขณะที่ว่าไม่มีความยึดมั่นถือมั่นโดยประการทั้งปวงแล้ว ความแก่ก็ไม่มีความหมาย ไม่ทำอันตรายแก่บุคคลใด แม้จะแก่จนลุกเดินไปไหนไม่ไหว มันก็ไม่มีอะไรที่จะต้องมาทำให้เกิดความทุกข์ใจ จะมองไปในแง่ไหนก็ได้

มันเป็นของธรรมดา เป็นไปตามธรรมดาเมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ จะฉลาดในเรื่องของขันต์ ของทาส ของอายะทนะหรือว่าของธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นจริงว่ามันเป็นอย่างนี้ ถ้าความแก่ไม่มีมาก็ไม่มีทางจะรู้อย่างนี้ ความเจ็บไข้ก็อย่างเดียวกันอีก คืออย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นตัวอย่างนั้น เจ็บไข้ทุกทีก็ย่อมจะฉลาดขึ้นทุกที แต่ถ้าไม่ใช้วิธีนี้ เจ็บไข้ทุกทีก็ยิ่งโง่เข้าทุกที ซึ่งทุกข์ง่ายมีความทุกข์ง่ายขึ้นทีจนหมดกำลังใจที่จะต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงของสังขารทั้งหลาย ทีนี้ก็มาถึงความตาย ความตายนี้เป็นความทุกข์ขึ้นมาก็เพราะว่าทุกคนมันยึดมั่น ถือมั่น ว่าความนี้ของเราความตายยังไม่ทันมาถึงก็มีความทุกข์เหลือประมาณ โดยมากคนเรามีความทุกข์เพราะสิ่งที่ยังไม่มาถึง แทบจะทั้งนั้น หมายความว่าคิดเอาเอง หวั่นวิตกเอาเอง ยึดมั่นถือมั่นเอาเองเป็นความทุกข์มากมายมหาศาล จากสิ่งที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น เพราะว่าถึงคราวที่ตายกันจริงๆ หามีเวลาที่จะไป คิดนึกมากอย่างนั้นไม่ มีปัญหาเรื่องความแก่ความเจ็บ ความตายเป็นปีๆ ล่วงหน้า ถึงเวลาจะตายก็จริง ไม่กี่นาทีก็ตายได้ อาการอย่างอื่นอีกหลายอย่างก็เหมือนกัน ที่เป็นปัญหามากที่สุดก็คือความกลัวหรือความวิตกกังวล คนๆ หนึ่งก็มักจะมีเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งเอามาสำหรับกลัวหรือต้องวิตกกังวล มันก็ทนทรมานไปทุกวัน ทุกคืน โดยที่แท้เรื่องจริงนั้นยังไม่ได้เกิดแต่มันเกิดเพราะเอามาคิด มายึดถือ จนเป็นที่ตั้งแห่งความวิตกกังวลหรือความกลัวเป็นต้น โดยเฉะเรื่องภายนอกกลัวเหตุการณ์อันตรายภายนอก กลัวยากกลัวจนกลัวอะไรก็ตาม เอามาคิดสำหรับกลัวได้มากโดยที่ไม่จริง ถ้าจะเอามาคิดสำหรับกลัวหรือวิตกกังวล คิดไปในทางที่จะทำการทำงานให้ลุล่วงไปอย่างไรให้สนุกสนานไปก็ยังจะดีกว่า เพราะว่าเรื่องอะไรๆ ที่มนุษย์รู้สึกเป็นทุกข์หรือกลัววิตกจนทรมานอยู่นี้ เป็นเรื่องที่ไปเอามาคิด ด้วยความสำคัญผิด ด้วยความยึดมั่น ถือมั่น ทั้งนั่น หน้าจะคิดเสียใหม่ว่ามันจะเป็นอะไรก็ตามใจ เราจะทำแต่สิ่งที่ควรทำที่ต้องทำในหน้าที่ของตนเป็นประจำวัน โดยที่ว่ามันจะตายลงเดียวนี้ก็ได้ ขณะที่ทำงานอยู่เดียวนี้ให้มันตายลงไปก็ได้ จะไม่สนใจแต่เรื่องอย่างนั้นที่จะต้องเอามากลัวเพราะล่วงหน้า จะกลัวคนหรือว่ากลัวโรคภัยไข้เจ็บ กลัวจน กลัวผู้ร้ายความวิบัติต่างๆ นานา มันก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน ไม่กลัวเสียเลยจะดีกว่า แต่ถ้ามันได้เกิดขึ้นแล้ว ก็เอามาเป็นเครื่องศึกษา สำหรับให้รู้ให้ถูก ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ให้ฉลาดขึ้นสำหรับที่จะไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องมีความทุกข์ในกรณีอย่างนี้ต่อไป นี้เรียกว่าอะไร ที่เขาถือเป็นความทุกข์

ถ้ามันเกิดกับเราแล้ว เราอาจจะเปลี่ยนให้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อไปเสียก็ได้ เพราะอาศัยสติปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อะไรที่เกิดบ่อยๆ หรือมีอยู่เป็นประจำ เป็นความเจ็บ ความไข้อย่างนั้นอย่างนี้ นั้นแหละเป็นสิ่งที่ต้องทำก่อน เปลี่ยนให้มันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์แทนที่จะมาเป็นเครื่องรบกวนความสงบสุข ก็เปลี่ยนให้เป็นเรื่องที่มาเพื่อให้ฉลาด สำหรับขจัดความทุกข์อย่างก็เรียกว่าอยู่ในประเภทที่แสวงหาความสุขได้จากสิ่งที่เป็นทุกข์นั้นเหมือนกัน ข้อความต่อไปที่ว่าความไม่ประสบกับสิ่งที่รักเป็นความทุกข์ นี้ดูจะเป็นคนโง่มากหน่อย เพราะว่ามันไปโง่ทีแรกคือไปรักสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติของธรรมชาติ จะเอามาเป็นของตนเพราะอำนาจของกิเลสคือความโง่ พอมารู้ว่าความรักนี้คือความโง่ชนิดหนึ่งแล้วเรื่องเหล่านี้ก็ไม่ต้องมี จะวิบัติพรัดพรากจากของรักก็จะไม่ต้องเป็นทุกข์ ประสบเข้ากับสิ่งที่ไม่รักก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ เพราะว่าถ้าเราไม่มีความรักแล้วสิ่งที่รักมันก็มีไม่ได้ นี่ก็กลายเป็นสิ่งกลางๆ ไปหมด นี่คือวิธีที่ทำให้โลกนี้ไม่มีอะไรที่จะเป็นทุกข์แก่บุคคลผู้มีสติปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาเป็นเครื่องคุ้มครอง ทั้งหมดนี้ตามที่กล่าวมานี้เป็นหลักใหญ่ๆ ในพระพุทธศาสนา เมื่อพูดถึงความทุกข์ ก็เหมือนความทุกข์ที่เกิดมาเบญจขรรณ์ที่ประกอบด้วยอุปาทาน เราเป็นพวกรู้จักเข็ดรู้จักหลาบ รู้จักสังเกตุ เป็นทุกข์ทุกทีก็ฉลาดขึ้นทุกที ไม่ใช่เป็นทุกข์ทุกทียิ่งโง่เข้าทุกที ยิ่งท้อถ้อยยิ่งหมดกำลังใจเข้าทุกที มีความทุกข์ทีไรก็จะต้องถือเอากำไรให้ได้จากความทุกข์นั้น

ถ้ามันทุกข์มากมันก็จะเสียความรู้ให้ได้มาก หรือไม่มีกำไรมากแล้วแต่ความทุกข์ว่ามันจะมีมาในลักษณะไหน หรือขนาดไหน ยิ่งทุกข์มากก็ยิ่งดี จะได้รู้ความจริงเกี่ยวกับข้อนี้มาก เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วต่อไปก็จะไม่มีอะไรที่จะเป็นความทุกข์ ความทุกข์เข้ามาแปลงให้เป็นความสุขไปเสียได้ เป็นคาถาอาคมอะไรชนิดหนึ่ง ซึ่งประเสริฐที่สุดสำหรับมนุษย์ คือสามารถที่จะเอาชนะความทุกข์ ทุกอย่างได้ ให้กลายเป็นความรู้บ้าง ให้กลายเป็นความสามารถบ้าง ทั้งในโอกาสของการเข้าพรรษาเช่นนี้แล้วก็จะเอามาจับเข้ากับสิ่งที่มีอยู่เป็นประจำวัน เราจะมีความทุกข์เพราะอะไร ก็จะต้องเอาสิ่งนั้นมาเป็นบทเรียน สำหรับเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นความไม่ทุกข์ แม้แต่เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่มันเกิดขึ้นเป็นประจำวันอย่างนี้ ก็จะต้องรู้จักเปลี่ยนให้เป็นสิ่งที่ไม่มีปัญหาอย่างเดียวกัน เช่นว่าสุนัขมันหอนหนวกหู

ถ้าใครไปโกรธขึ้นมาคนนั้นมันก็บ้าเอง ความโกรธนั้นก็เป็นทุกข์อย่างหนึ่งอยู่แล้ว ก็จะไปคิดอะไรมากมายไปกว่านั้นอีกมันก็เป็นความทุกข์มากกว่านั้น ถึงทำอย่างไรจึงจะไม่ต้องเกิดอาการที่ไม่หน้าปรารถนาเช่นนี้ เพราะว่าเราจะไปห้ามไม่ให้สุนัขหอนนั้นมันคงทำไม่ได้ มันก็คิดหนทางที่ว่า เสียงหอนของสุนัขนี้ มันจะช่วยทำให้มีประโยชน์อะไรขึ้นมาบ้างอย่างนี้จะดีกว่าแล้วแต่จะมีปัญญาคิดเอา มีปัญญามากก็คงจะคิดได้มาก จะถือเอาประโยชน์นี้ได้มาก ถ้ามันหอนเพราะกิเลสมันครอบงำมันหอนเพราะว่าเป็นไปตามธรรมดาๆ ธรรมชาติ คนเรานี้มีอะไรแตกต่างกับสุนัข ถ้าเราเป็นคนที่หอนได้ก็คงจะหอนมากกว่าสุนัข เดี่ยวนี้เราก็มีการหอนอย่างบางคนที่หอนมากกว่าสุนัขเสียอีกกระมั่ง

หน้าที่ 2 – ความทุกข์
ถ้าคิดไปในทำนองนี้บ้าง คิดว่าจะเกิดความรู้สึกสนุกสนานขึ้นมาในใจไม่มีความทุกข์ไม่มีความรำคาญไม่มีอะไร ดูแล้วว่าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ ไม่มีโทษไปเสียหมด ความที่ไม่ได้อย่างอกอย่างใจ ในวันหนึ่งๆ นั้น ต้องมีมากอย่างเป็นธรรมดา หากแต่ว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆ มาก น้อยๆ ไม่กับต้องถึงเป็นถึงตายก็เลยไม่ค่อยจะสนใจ ไม่ถึงเอามาเป็นบทเรียนสำหรับศึกษา นั้นขอให้ตั้งปณิธานว่า เราจะเป็นผู้ไม่หงุดหงิด จะเป็นผู้ไม่รำคาญ ไม่อึดอัดขัดใจต่อสิ่งใดๆ ทั้งหมดทั้งสิ้นจนตลอดพรรษา โดยวิธีลัดอย่างนี้ ก็ยังเป็นการปฏิบัติธรรมมะชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนาได้เหมือนกัน เดียวนี้เรามีการอึดอัดขัดใจนั้นนี้ สารพัดอย่างที่เกิดขึ้น

เดี๋ยวปวดฟัน เดี๋ยวปวดหัว เดี๋ยวท้องไม่ดี เกี่ยวกับร่างกายอย่างเดียวมันก็มีอยู่มากอย่าง มีอยู่หลายอย่างแล้ว ที่นี้เกี่ยวกับเรื่องราวอื่นๆ ที่จะประดังกันเข้ามาก็ยังมีอีกมาก สิ่งภายนอกที่เราห้ามไม่ได้ก็ยังมีอีกมาก จะเป็นความรำคาญหรืออึดอัดหงุดหงิดกับสิ่งเหล่านี้ มันก็กลายเป็นคนบาปหนา เพราะมันโง่ มันจึงมีบาปมากกลุ้มรุมมากถึงขนาดนี้ ถ้ามันฉลาด บาปเหล่านี้มันก็จะมาทำอะไรไม่ได้หรือไม่อาจจะมาได้ ถึงมันจะเกิดขึ้นอย่างที่ธรรมดาที่เคยเกิดมันก็ไม่ทำให้หงุดหงิดรำคาญคลุ้มคลั่งอะไรได้ ธรรมมะที่เป็นความฉลาดมันป้องกันได้ในลักษณะอย่างนี้ ให้ความทุกข์ทั้งหลายเข้ามากระทบจิตใจไม่ได้ จะเข้ามามันต้องกระเด็นออกไป ไม่เข้าไปทำอันตรายจิตใจได้แม้แต่น้อยเลย ดังนั้นคนทุกคนมีหน้าที่ของตนของตนแตกต่างกันอยู่มากมายหลายชนิด เป็นผู้หญิงก็มีเป็นผู้ชายก็มี เป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่เป็นคนแก่เป็นคนเฒ่า

แม้ในหน้าที่การงานนี้ก็ยังมีแตกต่างกัน ทำสวนทำนาทำไร่ หรือแม้แต่ว่าในบ้านเรือนหนึ่งๆ ก็ยังมีการทำหน้าที่ต่างๆ กัน เป็นแม่ครัวก็มีเป็นคนซักผ้าก็มีและอีกหลายๆ อย่าง ล้วนแต่มีทางที่จะเกิดความหงุดหงิดได้ด้วย กันทั้งนั้น เป็นความปั่นปวนในส่วนตัวเพราะทำความปั่นปวนในส่วนรวมหรือกว้างออกไปจนไม่มีอะไรที่จะสงบระงับหรืออยู่กันอย่างผ่าสุกได้ นี้แหละขอให้คิดดูเถอะว่า ถ้าเรารู้จักทำสิ่งที่ถือว่าเป็นความทุกข์ให้กลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์เสียได้แล้ว ความทุกข์ก็จะไม่มีแก่บุคคลใดเลย พิจารณาดูให้ดีจะเห็นได้ว่าไม่ใช่เป็นสิ่งที่เหลือวิสัย มันจะทำไม่ได้เฉพาะคนโง่ มันเหลือวิสัยแต่ สำหรับคนโง่ แต่มันเป็นของง่ายดายสำหรับคนที่มีสิตปัญญาเฉลียวฉลาด และเป็นพุทธบริษัทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เรื่องเหล่านี้ เรื่องทำนองนี้ก็จะ ต้องถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เหมือนกับที่เขาใจสำนวนว่า ขี้ผงหรือฝุ่นธุลีขี้ผงนี้มันไม่ได้มีความหมายอะไรเลย ให้มันเป็นเรื่องเป็นราวที่จะทำให้เราเดือดร้อนได้ เมื่อใดผู้ใดมีปัญญาเผชิญกับสิ่งทั้งหลายที่เป็นความไม่พอใจในลักษณะดั่งที่กล่าวมานี้ เมื่อนั้นโลกนี้ก็จะไม่มีอะไรที่เป็นปัญหา สำหรับบุคคลผู้นั้น อะไรๆ ก็เป็นเรื่องสนุกไปหมด ทั้งมีดบาดมือก็สนุก ตำน้ำพริกแกงเข้าตาก็ยังสนุก

แต่ถ้าคนโง่คงทำไม่ได้ คนที่ทำการงานก็ย่อมมีความผิดพลาด นั้นนี้อยู่ทุกเป็นประจำวัน ตีหัวตะปูมาตีเอานิ้วมือของตนก็มีอยู่บ่อยๆ นี้ถ้าใครหัวเราะได้มันก็เป็นเรื่องสนุกเหมือนกับไปดูละครชนิดหนึ่ง แต่เดียวนี้มันไม่มีสติปัญญา ทำได้ถึงขนาดนั้นมันก็ต้องนรกเป็นสัตว์นรก คือดิ้นรนด้วยความเจ็บปวด จนกลายเป็นยักษ์เป็นมาร คือมันโกรธขึ้นมา มันขว้างเครื่องไม้เครื่องมือแตกกระจายเสียหายไปเสียอีก มันต้อนรับสิ่งที่เกิดขึ้นในลักษณะอย่างนี้ มันไม่ใช่ลักษณะของมนุษย์เลย เป็นยักษ์เป็นมารไปบ้างหรือว่าเป็นสัตว์นรก เป็นสัตว์เดรัจฉานไปบ้าง เพราะความโกรธบ้าง เพราะความโง่บ้าง เพราะอะไรๆ อีกหลายอย่าง แม้ว่าความจริงมันจะมีอยู่อย่างนี้ มันก็ไม่มีใครสนใจ ไปสนใจไปในทางที่จะให้มันเพิ่มความทุกข์ สิ่งที่ไม่ควรจะเป็นทุกข์มันก็กลายเป็นทุกข์ขึ้นมา สิ่งที่เป็นทุกข์อยู่แล้ว มันก็เป็นทุกข์มากขึ้น เพราะฉะนั้นไม่มีวันหรือไม่มีโอกาสที่จะได้รับในสิ่งที่เป็นสุขจากสิ่งที่เป็นทุกข์ เป็นคนขาดทุนเป็นคนฉิบหาย ล้มละลายอยู่จนตลอดชีวิต เพราะมีแต่ความเสียไม่มีความได้ ถ้าเรารู้จักเปลี่ยนจิตใจ เสียสักหน่อยหนึ่งเท่านั้น ในความเสียก็จะกลายเป็นความได้ ความทุกข์ก็จะกลายเป็นความสุข ก็ถือเอาสิ่งที่ถือกันว่าเป็นความทุกข์แล้วเกิดขึ้นมากมายในวันหนึ่งๆ นั้นแหละมาเป็นบทเรียน การจะทำอะไรตกแตกเสียหาย มันก็จะต้องไม่ควรเป็นทุกข์ ก็จะถือเอาเป็นความฉลาดสำหรับจะไม่ต้องเป็นอย่างนั้นอีกต่อไป

ถ้าว่าถูกเขาขโมยก็จะไม่ต้องเป็นทุกข์ก็ควรจะฉลาดในการที่จะถือเอาประโยชน์ให้ได้มากมายหลายชนิด คือฉลาดในการที่จะทำให้เขาเข้ามาขโมยไม่ได้อีกต่อไป จนกระทั่งถึงกับว่าโจรขโมยไปเสียก็ดีเหมือนกัน ไม่รู้จักมองก็ไม่เห็นแง่ดี คิดถึงการถูกขโมยเสียว่าบ้างนี้มันก็มีส่วนดี คือทำลายการเห็นแก่ตัวได้ไม่มากก็น้อย แต่เดียวนี้มันโง่ ไม่ถือเอาเป็นโอกาสสำหรับทำลายความเห็นแก่ตัว ถือเอาเป็นโอกาสสำหรับโกรธ อาฆาต พยาบาท อย่างนี้มันก็ยิ่งเพิ่มความเห็นแก่ตัวมันก็มีความทุกข์มากขึ้น เมื่อถูกเขาเอาเปรียบหรือเมื่อแพ้คดีหรือแพ้การต่อสู้อย่างใดอย่างหนึ่งก็เหมือนกัน เอามาแบกเป็นทุกข์ตามแบบของคนโง่ ไม่รู้จักเอามาใช้ให้มันเกิดความเฉลียวฉลาด จนไม่ต้องประสบผลอย่างนั้นอีกต่อไป สมมุติว่าไฟไหม้บ้านเรือนหมดสิ้น มานั่งทุกข์ร้อนอยู่นั้นมันจะเป็นประโยชน์อะไร คนบ้างคนมีความทุกข์ร้อนเอามาก ถึงกับจะตายตามไป ตามบ้านเรือนที่ไฟไหม้นั้นก็มี แต่บางคนเขาคิดเป็นคิดถูก หัวเราะร่าเริงก็มี เพียงแต่ว่ามันน้อยมาก แม้มันจะหัวเราะเพราะความบ้าบิ่นอย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็ยังดีกว่าคนที่มานั่งร้องไห้ ซึ่งมันไม่ประโยชน์อะไรซึ่งคนเขาจะหัวเราะเยาะเอาด้วย ไม่จำเป็นจะต้องร้องไห้ จงคิดต่อไปว่าเราจะทำอย่างไรต่อไป มันก็ทำอย่างนั้นมันก็ดีที่สุดแล้ว หรือจะมีอะไรเป็นความวิบัติ อย่างอื่นเหมือนกับไฟไหม้หรือยิ่งไปกว่าไฟไหม้

มันก็คิดอย่างเดียวกันทั้งนั้นรวมความในที่สุดก็ว่าอะไรที่ยิ่งทำให้มีความทุกข์มากก็ใช้ให้มันเป็นเครื่องที่นำความฉลาดมาให้มาก ถ้าทำไม่ได้อย่างนี้ก็ถือเป็นคนโง่ ทีนี้ก็มาดู ถึงปัญหาที่อาจจะมีต่อไปว่า เราจะมีธรรมมะ บทไหนข้อไหน ที่มาช่วยให้เป็นไปในลักษณะที่ต้องการนั้นได้ง่ายเข้า ไม่มีธรรมมะบทไหนนอกไปจากธรรมมะบทที่เรียกว่าสติ สำหรับสิ่งที่เรียกว่าสตินี้มีความหมายกว้างขวางเหลือประมาณ มีหลายชั้นหลายระดับแต่รวมความแล้วก็อาจจะกล่าวได้สั้นๆ ว่า คือสติปัญญา ที่มีอยู่แล้วก็วิ่งมาทันท่วงที ที่จะแก้ปัญหานั้นๆ หรือเผชิญกันกับสิ่งที่เป็นอันตรายนั้นๆ

คนที่มีปัญญามากแต่ไม่มีสติ มันก็เหมือนกับไม่มีปัญญาอยู่นั้นเอง คือปัญญามันเป็นหมันมาช่วยให้ทันท่วงทีไม่ได้ กว่าจะนึกออกเรื่องก็พ้นไปเสียแล้ว ไม่สามารถใช้ความรู้นั้นให้ทันกับเหตุการณ์ได้เลย อย่างนี้ก็ขาดสติ ถึงแม้ในกรณีที่ว่าเราจะพริกความทุกข์ให้กลายเป็นความสุขนี้ก็เหมือนกัน คือต้องการสิ่งที่เรียกว่า สตินั้นแหละ มาเป็นเครื่องมือสำคัญ จึงจะสามารถเปลี่ยนเรื่องร้ายให้กลายเป็นดีได้ ปัญญานั้นมันก็คือสติ เพราะว่าสติถ้าไม่มีปัญญาก็เป็นสติไปไม่ได้ ผิดกันหน่อยเดียวที่ว่า นอนอยู่เฉยๆ ก็เรียกว่าปัญญาหรืองอกงามอยู่เฉยๆ เรียกว่าปัญญา แต่ถ้าเอามาใช้ได้ทันท่วงทีกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เปลี่ยนชื่อเป็นสติ เติมเข้าไปอีกหน่อยหนึ่งว่า สติสัมปชัญญะ เรียกว่าสติสัมปชัญญะ ถ้ามีสติสัมปชัญญะแล้วไม่ต้องพูดถึงปัญญาก็ได้เพราะว่ามันหมายความถึงปัญญาอย่างเต็มที่รวมกันอยู่ในคำๆ นี้ ว่ามีสติสัมปชัญญะสามารถที่จะเผชิญสิ่งต่างๆ ในลักษณะที่จะไม่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ หรือว่าจะเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดีได้ทันท่วงทีตามต้องการ

ฉะนั้นจึงขอชักชวนท่านทั้งหลายให้สนใจในสิ่งที่เรียกว่าสติ ขาดสติเมื่อไหร่ก็โง่เมื่อนั้น ขาดสติเมื่อไหร่ก็ไม่รู้จักกาละเทศะเมื่อนั้น ถ้าขาดสติเมื่อไรมันก็ยินดียินร้ายไปตามสิ่งที่เข้ามาครบเมื่อนั้น ตรงความว่าขาดสติเมื่อไร

มันก็ทำสิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อนั้นแล้วก็จะทำแต่ในทางที่เป็นความทุกข์อย่างเดียว ไม่สามารถเปลี่ยนความทุกข์ ให้กลายเป็นความไม่ทุกข์ได้ เรื่องนี้สำคัญมากเปลี่ยนสิ่งหนึ่งซึ่งให้กลายเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งตรงกันข้ามไปนี้ แทบจะไม่มีใครเชื่อ เพราะว่าคนไม่รู้จักสิ่งนั้นๆ ดีนั้นเอง คนไม่จักความทุกข์จึงได้เป็นทุกข์จึงได้นั่งร้องไห้อยู่ ถ้าคนมันฉลาดพอคือรู้จักความทุกข์ มันก็สามารถที่จะแตะความทุกข์นั้นกระเด็นออกไปได้ หรือถ้าเอาไว้ก็เปลี่ยนมันให้กลายเป็นอย่างอื่นไปคือไม่ใช่ความทุกข์ ให้มันกลายเป็นวิชาความรู้ความฉลาดหรือความเข้มแข็งหรือความสามารถหรืออะไรก็สุดแท้ แต่ว่าสติปัญญานั้นมันจะทำได้อย่างไร

นี้แหละความสำคัญที่เร้นลับอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงประทานสิ่งๆ หนึ่งให้สำหรับจะให้ไม่มีความทุกข์ ทั้งที่ว่าสังขารร่างกายนี้มันเป็นทุกข์ ก็จะทำให้มันไม่เป็นทุกข์ก็ไม่ปรากฎเป็นทุกข์ หรือว่าทั้งโลกมันจะลุกเป็นไฟเราก็ไม่มีความทุกข์ คนที่ไม่รู้จักพระพุทธเจ้าไม่รู้จักธรรมมะพระพุทธเจ้าก็คงจะไม่เชื่อ เพียงแถมจะเป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีหรือในผ้าเหลืองหรือเป็นพระเป็นเณรอยู่ด้วยซ้ำไป กำลังไม่เชื่อพระพุทธเจ้าเพราะไม่มีความรู้ไม่มีความเข้าใจในคำสั่งสอนของพระองค์ ทั้งที่มาบวชเป็นพระเป็นเณรแล้วมันก็ยังไม่รู้และไม่เชื่อ มันก็มีลามปามไปถึงกับว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้พูดอย่างนี้ ใครจะเอามาพูดให้ฟังมันก็ไม่เชื่อ

แต่จะใช้หลักตัดสินเช่นหลักมหาประเทศเป็นต้นมาเป็นหลักสำหรับตัดสินมันก็ทำไม่ได้ เพราะมันไม่รู้อะไรเสียเลย การที่จะใช้หลักมหาประเทศหรือกาลามสูญเป็นต้น มาเป็นเครื่องตัดสิน ว่าคำพูดนี้จะเป็นคำพูดของพระพุทธเจ้าจริงหรือไม่นั้น มันต้องมีเดิมพันหรือมีทุนรอนอะไรอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ถือได้เรียนได้ฟังหรือคิดนึกศึกษาก็ได้ผ่านมาแล้วพอสมควร ว่าหลักเกณฑ์ของพระพุทธเจ้านั้นเป็นอย่างไร ว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่าเมื่อเกิดความสงสัยในข้อใดขึ้น ให้เอาปัญหานั้น มาหยั่งดูในสูตรมาสอบสวนกับวินัย ถ้าเราไม่รู้เรื่องสูตรไม่เรื่องวินัยเสียเลย จะเอาปัญหานั้นๆ มาหยั่งดูหรือมาสอบสวนดูในสูตรในวินัยจะได้อย่างไรกัน นี้แหละคือข้อที่ว่าเราจะต้องไม่ประมาทไปเสียทั้งแต่เบื้องต้น พยายามศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจถึงว่าวินัยเป็นอย่างไร สูตรตะเป็นอย่างไร พอเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาก็สามารถเอามาเทียบดูได้ ว่าอย่างไรจะเป็นธรรมของพระพุทธเจ้า อย่างไรจะไม่ใช่ธรรมของพระพุทธเจ้าดังนี้เป็นต้น แต่เมื่อได้ยินคำว่าผู้มีปัญญาสามารถแสวงหาความสุขได้จากสิ่งที่เป็นทุกข์ จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ต้องอาศัยหลักดังนี้ ทีนี้มันก็คงจะมีปัญหาในข้อที่ว่าไม่รู้ว่าจะเอาสูตรข้อไหนหรือว่าวินัยข้อไหนมาเป็นหลักสำหรับจะเทียบจะเคียงหรือจะหยั่งหรือจะสอบเพราะมันมีอยู่มากเกินพัน และหลักเกณฑ์ข้อหนึ่งๆ

นั่นมันยังมีความหมายซับซ้อนหลายชั้นถือเอาแต่ตามตัวหนังสือมันก็ไปอย่างหนึ่ง ถือให้ถูกต้องตามความหมายมันก็เป็นไปอย่างหนึ่ง เช่นว่าให้ถือเอาตามตัวหนังสือว่าสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ แล้วจะถือไปเลยว่ามันไม่มีทางที่จะแก้ไขได้หรือว่าเราไม่มีวิถีทางที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสังขารชนิดนั้น ในลักษณะที่เราไม่ต้องเป็นทุกข์ นี่มันคนละตอนคนละขั้นคนละชั้นอยู่จะต้องระวังให้ดี เมื่อสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์เราก็มีวิธีที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสังขารเหล่านั้นโดยที่เราไม่เป็นทุกข์ สังขารทั้งหลายมันจะเป็นทุกข์เป็นอะไรก็ตามๆ ใจมัน เราไม่เป็นทุกข์ก็แล้วกัน เพราะว่าเรามีวิธีที่ประเสริฐที่สุดที่พระพุทธเจ้าท่านแนะให้ ให้เราจงมีความทุกข์แม้ไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่มันเป็นที่ตั้งของความทุกข์หรือเป็นความทุกข์อยู่ในตัวมันเอง

เดี่ยวนี้ไม่ทำอะไรให้ใครร้องไห้ก็พลอยร้องไห้กับเขาด้วย นี่มันมีความเคยชินไปแต่ในทางอย่างนี้ จะเอาสติสัมปชัญญะที่ไหนมา สำหรับต่อต้านหรือว่าป้องกันไม่ให้ตนต้องเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุดก็ไม่มีอะไรดีไปกว่าจะพยายามศึกษา คือเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้น ให้มันเห็นจริงเห็นจังกันเสียที ว่าถ้าทำอย่างนี้ทำอย่างโน้นทำอย่างนั้น อย่างไหนมันจะดีกว่าที่จะไม่เกิดความทุกข์ขึ้นมาเป็นผู้กล้าเผชิญกับสิ่งที่เป็นทุกข์หรือเอาเป็นบทเรียนสำหรับที่จะเปลี่ยนให้เป็นสิ่งที่มีความทุกข์สำหรับเรา นี่เรียกว่าถือเอาความหมายของคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้อง ตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ ถ้ายึดมั่นถือมั่นก็เป็นทุกข์ ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นมันก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นทุกข์ สำคัญอยู่ที่ว่า มันจะมีสติสัมปชัญญะพอรู้สึกตัวพอ ในการที่จะไม่ไปยึดมั่นถือมั่นหรือไม่ ถ้าในครั้งนี้พลาดพรั้งไปก็อย่าได้เสียใจ หาความเสียหายหรือความทุกข์ที่มันเกิดขึ้นนั้นเองและมาศึกษาเกิดความรู้ความเข้าใจสำหรับการที่จะไม่พรั้งพรากอีกต่อไป เลยเป็นอันได้กำไรใหญ่หลวง ใจความสำคัญมีอยู่สั้นๆ ว่า ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดก็ต้องเป็นทุกข์เพราะเหตุนั้น เดี่ยวนี้เรามันต้องมีนั้นมีนี้ จะต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นสิ่งนี้คนนั้นคนนี้ ทำอย่างไรจึงจะไม่เผลอไปยึดมั่นถือมั่นเท่านั้นเอง

วิธีศึกษาที่สี่ก็ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าการย้อนระลึกไปถึงสิ่งต่างๆ หรือเหตุการณ์ต่างๆ แต่หนหลังที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วนั้นแหละมันจะสอนได้ดีกว่าที่จะมานั่งฟังเทศน์อยู่ที่นี้ ท่านก็พูดเพ้อๆ ไปอย่างนั้นเองมันจะเข้าไปถึงจิตใจหรือแสดงความจริงอะไรไม่ได้มากนักได้ยินได้ฟังแล้วก็เอาไปคิดพิจารณา เข้ากับสิ่งที่เราได้ผ่านมาแล้วแต่หนหลังซึ่งเป็นความผิดก็มีความถูกก็มีความทุกข์ก็มีความสุขก็มี เพื่อจะได้รู้จักความสุขและความทุกข์นั้นๆ ว่ามันเป็นอย่างไร มาจากอะไร เพื่ออะไร แก้ไขได้โดยวิธีใด จะใช้มันเป็นประโยชน์แทนที่จะเป็นโทษได้อย่างไร ในพระบาลีสูตรหนึ่งมีข้อความว่า ศรัทธาต้องอาศัยอยู่บนความทุกข์

ถ้าเรามีความทุกข์เราจะมีศรัทธาความเชื่อในสิ่งที่จะดับทุกข์รวมทั้ง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รู้วิธีการอะไรต่างๆ แต่รวมความแล้วมันก็อยู่ที่พระธรรมคำเดียวเท่านั้น พระพุทธเจ้าก็อยู่คำเดียวกับพระธรรม พระธรรมก็อยู่ในพระธรรม พระสงฆ์ก็อยู่ในคำว่าพระธรรม อะไรอื่นมากก็รวมอยู่ในคำๆ เดียวว่าพระธรรม ถ้าเรามีความทุกข์เราจะศรัทธาในพระธรรม ถ้าไม่มีความทุกข์เราจะบ้าไปในทางอื่น จะบ้าบ่อจะเลิงเถลิดเพิดเพิงไปในทางอื่น ไม่มีศัทธาในพระธรรม เดี๋ยวนี้ความทุกข์นั้นแหละมันทำให้จำเป็นที่จะต้องค้นหาที่พึ่งที่ต้านทาน มันจึงหันมาหาพระธรรมแล้วก็มีศรัทธาในพระธรรม สำหรับที่จะปฏิบัติสืบต่อไปเพื่อต่อต้านความทุกข์นั้น ทั้งในความทุกข์นั้นมันมีอะไรดีพิเศษอยู่อย่างนี้ คนโบราณบางพวกเขาพูดว่าในหัวคางคกมีเพชรพลอยที่แสนจะวิเศษประเสริฐสุดอยู่ในนั้น คนจะเกลียดคางคกพูดว่ามีเพชรพลอยอยู่ในหัวคางคกก็ไม่อยากจะเชื่อแม้จะเชื่อแต่ก็ไม่อยากเข้าไปควักออกมาเพราะว่ามันเกลียดคางคก

ความทุกข์นี้มันก็เหมือนกับคางคก ในหัวคางคกนั้นมีเพชรพลอย ถ้าเราเก่งจริงฉลาดจริงเราก็ควักเพชรพลอยออกมาจากหัวคางคกคือตัวความทุกข์นั้นได้ พูดให้ตรงกว่านี้ก็หมายความว่าเราจะควักพระนิพพานออกมาได้จากความทุกข์หรือคางคกที่แสนจะหน้าเกลียดนั้นเอง ความหมายอันนี้ก็ยังคงเดิมอยู่ว่า แสวงหาความสุขได้จากสิ่งที่เป็นทุกข์ เป็นทุกข์ที่ไหนก็หาความดับทุกข์ที่นั้นจะหาที่อื่นจะไม่มีวันจะพบ มันทุกข์อยู่ที่ตรงไหนมันก็หาความดับทุกข์ที่ตรงนั้น ดับทุกข์ออกไปมันก็เป็นนิพพานได้ที่ตรงนั้น วัดนี้ที่วัดเรานี้มีสระมะพร้าวนาริเกสำหรับเป็นเครื่องเตือนใจในข้อนี้พูดกันแล้วพูดกันอีกคงจะเข้าใจกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ใครไม่เข้าใจก็เป็นคางคกไปก่อนก็แล้วกันก็พูดมาหลายครั้งหลายหนแล้วว่ามะพร้าวนาริเกกลางทะเลขี้ผึ้งนั้นมันเป็นอย่างไร ซึ่งมันมีใจความสำคัญว่า ความทุกข์อยู่ที่ไหนความดับทุกข์อยู่ที่ตรงนั้น

ฉะนั้นให้หาพระนิพพานให้พบจากท่ามกลางวัฐสงสารนั้นเอง นี้แหละคือผู้ที่มีปัญญาสามารถหาพบความสุขได้ในสิ่งที่เป็นความทุกข์ดังที่วิปัสสนามา หวังว่าท่านทั้งหลายพุทธบริษัททุกคนจะได้อธิษฐานจิตในการที่ว่าตลอดพรรษานี้จะมีวิธีปฏิบัติในลักษณะที่จะเปลี่ยนความทุกข์ให้กลายเป็นความไม่ทุกข์หรือกลายเป็นความสุขแม้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะใหญ่โต

http://www.vcharkarn.com/varticle/35492

. . . . . . .