จดหมายเหตุ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี)

จดหมายเหตุ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี)

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียงประวัติของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไว้เป็นความย่อๆเรียกว่า “เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์” พิมพ์ขึ้นปีพ.ศ. 2466 กล่าวว่า “…สมเด็จพระพุฒาจารย์ มีนามเดิมว่า “โต” เมื่ออุปสมบทในพระพุทธศาสนา ได้นามฉายาว่า “พรหมรังสี” อุบัติขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 ที่บ้านท่าหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา…” โยมบิดาของสมเด็จ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งทรงพระยศเป็น เจ้าพระยาจักรี โยมมารดาชื่อนางงุด บุตรของนายผลกับนางลา ชาวนาเมืองกำแพงเพชร โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นโอรสนอกเศวตฉัตรของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

บรรพชาและอุปสมบท

เมื่อถึงวัยพอสมควรแล้วได้บรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา ต่อมาปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงโปรดและเมตตาสามเณรโตเป็นอย่างยิ่ง ครั้นอายุครบอุปสมบทปีพ.ศ. 2350 ได้โปรดเกล้าฯให้อุปสมบทเป็นนาคหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระสังฆราช (สุก) เป็นพระอุปัชฌาย์ ในรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดฯรับไว้ในพระราชูปถัมภ์

ธุดงควัตรและไม่ปรารถนาสมณศักดิ์

ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงสถาปนาสมณศักดิ์เพื่อยกย่องในกิตติคุณ และเกียรติคุณแต่ท่านไม่ยอมรับ (ปกติท่านไม่ปรารถนายศศักดิ์ดังจะเห็นได้จากเจ้าประคุณสมเด็จฯ ศึกษาพระธรรมวินัยแตกฉาน แต่ไม่ปรารถนายศศักดิ์จึงไม่ยอมเข้าแปลหนังสือเพื่อเป็นพระเปรียญ) ต่อมาเล่ากันว่า “…ท่านออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ และได้สร้างปูชนียสถานในที่ต่างๆกัน เช่น สร้างพระพุทธไสยาศน์ไว้ที่วัดสตือ ตำบลไก่จัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างพระพุทธรูปหลวงพ่อโต วัดไชโย จังหวัดอ่างทอง นอกจากนี้ยังมีปูชนียสถานที่เจ้าประคุณสมเด็จฯได้สร้างไว้ในที่ต่างๆอีก ซึ่งทุกอย่างที่ท่านสร้างจะมีขนาดใหญ่โตสมกับชื่อของพระคุณท่าน อนึ่ง เจ้าประคุณสมเด็จฯ ไม่ว่าท่านจะไปอยู่ ณ ที่ใดๆท่านย่อมเป็นที่รักใคร่ของมหาชนทุกหนทุกแห่งและด้วยบารมีของเจ้าประคุณสมเด็จฯนี้เอง จึงทำให้บรรดาพุทธศาสนิกชนในยุคนั้นเคารพเลื่อมใส ดังจะเห็นได้จาก พระพุทธรูปองค์ใหญ่โตที่ท่านสร้างจะต้องใช้ทุนทรัพย์และแรงงานจำนวนมากในการก่อสร้าง จึงจะทำได้สำเร็จ ฉะนั้น จึงสรุปได้อย่างไม่ต้องสงสัยเลยว่าเมื่อท่านจะทำการใดคงจะต้องมีผู้อุทิศทั้งทรัพย์และแรงงานช่วยทำการก่อสร้างปูชนียวัตถุจึงสำเร็จสมดังนามของท่านทุกประการ

สมณศักดิ์สมเด็จพระพุฒาจารย์ฯ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์ทรงโปรดปรานสมเด็จฯเป็นอย่างมาก ต่อมาในปี พ.ศ. 2395 ได้พระราชทานสมณศักดิ์ครั้งแรกถวายเป็นพระราชาคณะที่พระธรรมกิติ ขณะนั้นท่านอายุ 65 ปี ครั้งนั้นท่านยอมรับสมณศักดิ์ (โดยมีเหตุผลที่ทำให้ต้องยอมรับสมณศักดิ์) ครั้นต่อมาอีก 2 ปี คือพ.ศ. 2397 ได้รับการสถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ “ พระเทพกวี “ อีก 10 ปี (พ.ศ. 2407) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ มีนามจารึกตามหิรัญบัตรว่า “สมเด็จพระพุฒาจารย์” เอนกปรีชา วิสุทธศีลจรรยาสมบัติ นิพัทธุตคุณ สิริสุนทร พรตจาริก อรัญญิกคนฤศร สมณนิกรมหาปริณายก ตรีปิฎกโกศล วิมลศีลขันธ์ ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวงฯ อนึ่งกิตติคุณ และชื่อเสียงของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ได้ขจรกระจายไปทั่วทิศานุทิศว่า “ เจ้าประคุณสมเด็จ คือ ที่พึ่งของสัตว์โลกผู้ตกอยู่ในห้วงของความทุกข์ทั้งมวล”

องค์หลวงพ่อโตอนุสรณ์งานก่อสร้างครั้งสุดท้าย

ในราวปี พ.ศ. 2410 เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ได้มาเป็นประธานก่อสร้างปูชนียวัตถุครั้งสุดท้ายที่สำคัญของท่าน คือ องค์หลวงพ่อโต ที่วัดอินทรวิหาร ครั้นท่านทำการก่อสร้างได้สูงถึงพระนาภี (สะดือ) ก็มีเหตุให้ไม่สำเร็จ เพราะวันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน 2415 เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (โต) พรหมรังสี ได้สิ้นชีพตักษัย (มรณภาพ) บนศาลาเก่าบางขุนพรหม สิริอายุคำนวณได้ 84 ปี 2 เดือน 5 วัน และมีชีวิตอยู่ในสมณเพศได้ 65 พรรษา

ปราชญ์ปรีชาแต่เยาว์วัย

มีเรื่องเล่าว่า ในตอนที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)จะไปอยู่วัดระฆังฯ นั้น คืนวันหนึ่งพระอาจารย์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ นาค เปรียญเอก วัดระฆังฝันว่า มีช้างเผือกเชือกหนึ่งเข้ามากินหนังสือพระไตรปิฎกในตู้ของท่านหมด แล้วตกใจตื่น (ดูเหมือนพระอาจารย์จะเชื่อมั่นว่า ฝันอย่างนั้นท่านจะได้ศิษย์ที่ฉลาดหลักแหลมคนหนึ่ง) วันรุ่งขึ้นเผอิญเจ้าคุณอรัญญิกได้พาสามเณรโตไปฝากเป็นศิษย์ศึกษาพระปริยัติธรรม พระอาจารย์ก็รับไว้ด้วยความยินดี
ในสมัยที่สมเด็จฯ เป็นสามเณร ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จฯพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อดำรงพระยศเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรโปรดปรานมาก ทรงรับไว้ในพระราชูปถัมภ์ ได้พระราชทานเรือกราบกัญญาหลังคากระแชงให้ท่านใช้สอยตามอัธยาศัย แม้พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ทรงพระเมตตา ครั้นอายุครบอุปสมบทในปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๕๐ ทรงพระกรุณาโปรดให้บวชเป็นนาคหลวงที่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุฯ เป็นพระอุปัชฌาย์

เรื่องประวัติสมเด็จฯ อันเนื่องด้วยการศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น หนังสือประวัติขรัวโต (พระยาทิพโกษา เรียบเรียง) กล่าวว่า ท่านได้ศึกษาในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (นาค) วัดระฆังฯ เป็นพื้น และไปศึกษาในสำนักสมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุฯ บ้าง และว่าเมื่อท่านเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักสมเด็จพระสังฆราชนั้น ก่อนจะเรียนท่านทูลสมเด็จพระสังฆราชว่า วันนี้ท่านจะเรียนตั้งแต่นี่ถึงนั่น ครั้นถึงเวลาเรียนท่านก็เปิดหนังสือออกแปลจนตลอดตามที่กำหนดไว้ ท่านทำดังนี้ทุกครั้ง จนสมเด็จพระสังฆราชรับสั่งว่า “ขรัวโตเขามาแปลหนังสือให้ฟัง เขาไม่ได้มาเรียนหนังสือกับฉันดอก”

สมเด็จฯ ศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ช้านานอย่างไรไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ว่าท่านรอบรู้ชำนาญพระไตรปิฎก เรื่องนี้มีหลักฐานประกอบในหนังสือเรื่อง ตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทรว่า “หม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด) วัดพระเชตุพนฯ เมื่อทรงผนวชเป็นสามเณร ได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตั้งแต่ท่านยังเป็น พระมหาโต เป็นลำดับมา จนสอบได้เป็นเปรียญ ๗ ประโยค” และในหนังสือชุมนุมพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า “ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ โปรดให้มีการสอบพระปริยัติธรรม ณ พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ (เริ่มสอบวันศุกร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙) โปรดให้พระเทพกระวี (โต) วัดระฆังฯ เป็น กรรมการองค์หนึ่ง เพราะชำนาญพระไตรปิฎก ต่อมาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์” ดังนี้

สมเด็จฯ เป็นผู้เชี่ยวชาญชำนาญพระไตรปิฎกมาก ถึงได้รับยกย่องว่า “หนังสือดี” องค์หนึ่งในสงฆมณฑล เกียรตินิยมว่า “หนังสือดี” นั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในเรื่องประวัติวัดเบญจมบพิตรดังนี้

“ผู้ที่ได้รับยกย่องว่าหนังสือดีนั้น ไม่จำเป็นจะต้องได้เป็นเปรียญประโยคสูง หรือเปรียญประโยคสูงจะได้รับยกย่องว่าหนังสือดีไปทุกองค์ เพราะแปลหนังสือได้เป็นเปรียญประโยคสูงเป็นสำคัญเพียงว่ารู้ภาษาบาลีดี ความรู้หลักพระศาสนาเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก จะรู้ได้แต่ด้วยอ่านพระไตรปิฎก
คุณธรรมที่ยกย่องว่ารู้หนังสือดีนั้น ท่านกำหนดว่าต้องบริบูรณ์ด้วยองค์ ๒ คือรู้ภาษาบาลีดีจนสามารถอ่านพระไตรปิฎกได้ถ่องแท้เป็นองค์อัน ๑ กับต้องได้อ่านพระไตรปิฎกหมดทุกคัมภีร์ หรือโดยมากเป็นองค์อีกอย่าง ๑ จึงนับว่า “หนังสือดี”

สมเด็จฯ ท่านศึกษารอบรู้ชำนาญทั้งในทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระ (ข้อนี้เป็นจุดเด่น ของท่านอันหนึ่ง ด้วยปรากฏว่าผู้มีชำนาญ เฉพาะแต่คันถธุระหรือวิปัสสนาธุระอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ที่เชี่ยวชาญทั้ง ๒ ธุระนั้น หาได้ยากยิ่ง) และท่านเป็นนักเสียสละ เมื่อได้ลาภสักการะมาในทางใดๆ ท่านก็ใช้จ่ายไปในการสร้างสิ่งสาธารณกุศลต่างๆ ดังมีปูชนียวัตถุสถานปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ นอกจากนี้ท่านเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลาจารวัตรอันดีงาม ควรแก่การเคารพบูชาของสาธุชนทั่วไป ดังนี้ นับว่าท่านได้บำเพ็ญบารมีธรรมเต็มเปี่ยม ดังบทบาลีว่า กตํ กรณียํ (บำเพ็ญบารมีสมบูรณ์แล้ว) และเพราะเหตุนี้ท่านจึงทรงอภินิหารเป็นวิสามัญบุคคลหาผู้เสมอเหมือนได้โดยยาก

คุณธรรมของสมเด็จฯ ที่นับว่ายอดเยี่ยมอย่างหนึ่งคือมักน้อยสันโดษ ปรากฏว่าท่านมีอัธยาศัยยินดีในปัจจัยตามมีตามได้ ไม่สะสมทรัพย์สมบัติ ได้ลาภสักการะมาในทางใดๆ ก็เอาไปใช้จ่ายในการกุศลต่างๆ มีสร้างวัดเป็นต้น

ส่วนความเมตตา เกื้อกูลอนุเคราะห์ สงเคราะห์แก่คนทุกชั้นไม่เลือกหน้า แม้ที่สุดโจรมาลักของ ท่านก็ยังช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่โจร ดังมีเรื่องเล่ากันอยู่ข้างจะขบขันว่า ครั้งหนึ่งท่านนอนอยู่ มีโจรขึ้นล้วงกุฏิ โจรล้วงหยิบตะเกียงลานไม่ถึง ท่านช่วยเอาเท้าเขี่ยส่งให้โจร ท่านว่ามันอยากได้

เรื่องหนึ่งว่า ครั้งหนึ่งท่านไปเทศน์ในต่างจังหวัดโดยทางเรือ ได้เครื่องกัณฑ์เทศน์หลายอย่างมีเสื่อหมอนเป็นต้น ขากลับมาพักแรมคืนกลางทาง ตกเวลาดึกมีโจรพายเรือเข้าเทียบเรือของท่าน พอโจรล้วงหยิบเสื่อได้แล้ว เผอิญท่านตื่นจึงร้องบอกว่า “เอาหมอนไปด้วยซิจ๊ะ” โจรได้ยินตกใจกลัวรีบพายเรือหนี ท่านจึงเอาหมอนโยนไปทางโจรนั้น โจรเห็นว่าท่านยินดีให้ จึงพายเรือกลับมาเก็บเอาหมอนนั้นไป

อีกเรื่องหนึ่งว่า ครั้งหนึ่งท่านไปเทศน์ที่บ้านทางฝั่งพระนคร (ว่าแถววัดสามปลื้ม) โดยเรือพาย ท่านนั่งกลาง ศิษย์ ๒ คนพายหัวท้าย ขากลับมาตามทาง ศิษย์ ๒ คนคิดจัดแบ่งเครื่องกัณฑ์เทศน์กัน คนหนึ่งว่า “กองนี้ของเอ็ง กองโน้นของข้า” อีกคนหนึ่งว่า “กองนี้ข้าเอา เอ็งเอากองโน้น” ท่านเอ่ยถามขึ้นว่า “ของฉันกองไหนล่ะจ๊ะ” เมื่อถึงวัดศิษย์ ๒ คนได้ขนเอาเครื่องกัณฑ์เทศน์กันไปหมด ท่านก็มิได้บ่นว่ากระไร
คุณธรรมของสมเด็จฯ อย่างหนึ่งคือ ขันติ ท่านเป็น ผู้หนักแน่นมั่นคง สงบจิตระงับใจไม่ยินร้าย เมื่อประสบ อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความโกรธ ดังจะนำเรื่องมาเป็นอุทาหรณ์ เรื่องหนึ่ง
ครั้งหนึ่งมีบ่าวของท่านพระยาคนหนึ่ง บ้านอยู่หลังตลาดบ้านขมิ้น จังหวัดธนบุรี เสพสุรามึนเมาเข้าไปหาสมเด็จฯ ถามว่า “นี่หรือคือสมเด็จที่เขาเลื่องลือกันว่ามีวิชาอาคมขลัง อยากจะลองดีนัก” พอพูดขาดคำก็ตรงเข้าชก แต่ท่านหลบทันเสียก่อน แล้วท่านบอกให้บ่าวคนนั้นรีบหนีไปเสีย ด้วยเกรงว่ามีผู้พบเห็นจะถูกจับกุมมีโทษ ความนั้นได้ทราบถึงท่าน พระยาผู้เป็นนาย จึงจัดการลงโทษบ่าวคนนั้น โดยเอาโซ่ล่ามไว้กับขอนไม้ที่สนามหญ้าหน้าบ้าน ท่านทราบเรื่องได้ไปเยี่ยม เอาเงิน ๑ สลึงกับอาหารคาวหวานไปให้บ่าวคนนั้น ทุกวัน ฝ่ายท่านพระยาคิดเห็นว่า การที่สมเด็จฯ ทำดังนั้น ชะรอยท่านจะมาขอให้ยกโทษโดยทางอ้อม จึงให้แก้บ่าว นั้นปล่อยให้เป็นอิสระ

สมเด็จฯ ทรงคุณธรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ ท่านมีคารวะอ่อนน้อม กล่าวกันว่าท่านไปพบพระพุทธรูป ท่านจะหลีกห่างราว ๔ ศอก แล้วนั่งลงกราบ ที่สุดไปพบหุ่นพระพุทธรูปท่านก็ทำดังนั้น เคยมีผู้ถาม ท่านตอบว่าดินก้อนแรกที่หยิบขึ้นมาปั้นหุ่น ก็นับเป็นองค์พระแล้ว เพราะผู้ทำตั้งใจมาแต่เดิมที่จะทำพระพุทธรูป ในหนังสือ “บุญญวัตร” นายชุ่ม จันทนบุบผา เปรียญ เรียบเรียง (พิมพ์ชำร่วยเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพอุบาสิกาเผื่อน จันทนบุบผา ณ เมรุวัดระฆังฯ วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๙๕) ความตอนหนึ่งกล่าวถึงเรื่องสมเด็จฯ เคารพหุ่นพระพุทธรูป ดังคัดมาลงไว้ต่อไปนี้

“ข้าพเจ้าได้รับบอกกล่าวจากท่านพระครูปลัดสัมพิพัฒนสีลาจารย์ (ชม จันทนบุบผา) ถานานุกรมของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร ณ อยุธยา) วัดระฆังฯ ผู้เป็นลุงมาอีกต่อหนึ่ง ท่านเล่าว่า เมื่อครั้งท่านเป็นเด็กอายุราว ๑๕ ปี ได้เป็นศิษย์ของท่านปลัดฤกษ์ คราวหนึ่งไปสวดมนต์ที่บ้านชาวเหนือ (คือบ้านช่างหล่อปัจจุบันนี้) ไปพร้อมกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ที่บ้านนั้นเขาเอาหุ่น พระพุทธรูปตั้งผึ่งแดดไว้ห่างทางเดินราว ๒ ศอก เมื่อสมเด็จฯ เดินผ่านมาในระยะนี้ท่านก้มกายยกมือขึ้นประนมเหนือศีรษะกระทำคารวะ พระและศิษย์ที่ไปด้วยก็กระทำตาม เมื่อขึ้นบ้านงานและนั่งบนอาสนะเรียบร้อยแล้ว นายเทศผู้ช่วยเจ้าภาพซึ่งคุ้นเคยกับสมเด็จฯ ได้เรียนถามว่า “กระผมสงสัยเพราะไม่เคยเห็นเจ้าคุณสมเด็จฯ กระทำดังนี้” ท่านจึงตอบว่า “แต่ก่อนไม่เคยเห็นจริงจ้ะ แต่วันนี้เป็นเหตุบังเอิญจ้ะ เพราะฉันเดินผ่านมาในเขตอุปจารของท่านไม่เกิน ๔ ศอก จึงต้องทำดังนี้” นายเทศจึงเรียนว่า “ยังไม่ยกขึ้นตั้งและยังไม่เบิกพระเนตร จะเป็นพระหรือขอรับ” ท่านตอบว่า “เป็นจ้ะ เป็นตั้งแต่ผู้ทำหุ่นยกดินก้อนแรกวางลงบนกระดานแล้วจ้ะ เพราะผู้ทำตั้งใจให้เป็นองค์พระอยู่แล้ว เรียกอุทเทสิกเจดีย์ยังไงล่ะจ๊ะ” เมื่อสวดมนต์จบแล้ว ขากลับผ่านมาท่านก็กระทำอย่างนั้นอีก

รุ่งขึ้นท่านไปฉัน ตอนนี้ท่านเห็นพระตั้งอยู่ไกลออกไปราว ๖ ศอก ต่อจากทางที่ท่านไปเมื่อวาน ท่านไปหยุดยืนอยู่ตรงหน้าพระ และประนมมือพร้อมกับพระที่ไปด้วย ประมาณสัก ๑ นาทีแล้วจึงขึ้นไปบนเรือน เมื่อกระทำภัตตกิจเสร็จ เจ้าภาพถวายเครื่องสักการะและท่านยถาสัพพีเสร็จแล้ว ท่านก็นำธูปเทียนดอกไม้ที่เจ้าภาพถวายไปสักการบูชาพระที่ขึ้นหุ่นไว้นั้น พร้อมกับพระสงฆ์ที่ตามมาด้วยกันแล้วจึงกลับวัด”

เล่ากันว่า เมื่อสมเด็จฯ ไปพบพระเณรแบกหนังสือคัมภีร์ไปเรียน ท่านจะต้องนั่งประนมมือหรือก้มกายแสดงคารวะพระธรรม แม้ใครจะฉายรูปฉายาลักษณ์ของท่านในอิริยาบถใดก็ตาม ถ้าในที่นั้นมีหนังสือเทศน์ ท่านจะต้องหยิบขึ้นมาถือประหนึ่งเทศน์เสมอ อีกอย่างหนึ่งถ้าท่านไปพบพระเณรกำลังแสดงธรรม (เทศน์) อยู่ ท่านจะต้องหยุดฟังจนจบแล้วจึงไปในที่อื่น
ว่าที่ท่านทำดังนี้ ด้วยท่านประสงค์จะประพฤติตามเยี่ยงอย่างพระพุทธเจ้าทรงสดับธรรมที่พระอนุรุทธ์แสดง ความว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปพบพระอนุรุทธ์กำลังแสดงธรรมอยู่ พระองค์ได้ประทับยืนฟังจนจบ เมื่อพระอนุรุทธ์ ทราบ จึงทูลขออภัยที่ทำให้ประทับยืนนาน พระองค์ทรงตรัสว่า แม้จะนานกว่านั้นสักเท่าไรก็จะประทับยืน เพราะพระองค์ทรงเคารพในธรรม ดังนี้
อนึ่งว่ากันว่า พระภิกษุจะมีพรรษาอายุมากหรือน้อย ก็ตาม เมื่อไปกราบท่านๆ ก็กราบบ้าง (ว่าจะกราบท่านกี่ครั้ง ท่านก็กราบตอบเท่านั้นครั้ง) พระอุปัชฌาย์เดช วัดกลางธนรินทร์ จังหวัดสิงห์บุรีว่า ครั้งหนึ่งไปหาเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่วัดระฆังฯ เมื่อกราบท่าน ท่านก็กราบตอบ พระอุปัชฌาย์เดชนึกประหลาดใจ จึงกราบเรียนถามว่าทำไมท่านจึงต้องทำดังนั้น ท่านตอบว่า ท่านทำตามบาลีพุทธฎีกาที่ว่า วนฺทโก ปฏิวนฺทนํ ผู้ไหว้ (กราบ) ย่อมได้รับไหว้ (กราบ) ตอบ ดังนี้

ไม่ถือยศศักดิ์

สมเด็จฯ เป็นพระเถระที่ไม่ถือยศถือศักดิ์ ชอบประพฤติ อย่างพระธรรมดาสามัญ (พระลูกวัด) ท่านเคยพูดกับคนอื่นว่า ยศช้างขุนนางพระจะดีอย่างไร ท่านจะทำอะไร ท่านก็ทำตามอัธยาศัยของท่าน ไม่ถือความนิยมของผู้อื่นเป็นสำคัญ เป็นต้น ว่าท่านเห็นศิษย์แจวเรือเหนื่อย ท่านก็แจวแทนเสียเอง มีเรื่อง เล่ากันว่า คราวหนึ่งท่านได้รับนิมนต์ไปในงานที่บ้านแขวงจังหวัดนนทบุรี ขากลับเจ้าภาพได้ให้บ่าว ๒ คนผัวเมียแจวเรือมาส่ง ขณะที่มาตามทางจะเนื่องด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ บ่าว ๒ คนนั้นเกิดเป็นปากเสียงเถียงกัน ถึงกล่าวถ้อยคำหยาบคายต่างๆ ท่านได้ขอร้องหญิงชาย ๒ คนนั้นให้เลิกทะเลาะวิวาทกันและให้เขามานั่งในประทุน แล้วท่านได้แจวเรือมาเองจนถึงวัดระฆังฯ

คราวหนึ่งมีผู้อาราธนาท่านไปเจริญพระพุทธมนต์ที่บ้านในสวนตำบลราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี บ้านของเขาอยู่ในคลองเล็กเข้าไป ท่านไปด้วยเรือสำปั้นกับศิษย์ เวลานั้นน้ำแห้งเข้าคลองไม่ได้ ท่านก็ลงเข็นเรือกับศิษย์ของท่าน ชาวบ้านเห็นก็ร้องบอกกันว่า “สมเด็จเข็นเรือๆ” ท่านบอกว่า “ฉันไม่ใช่สมเด็จดอกจ้ะ ฉันชื่อขรัวโต สมเด็จท่านอยู่ที่วัด ระฆังฯ จ้ะ (หมายถึงว่า พัดยศสมเด็จอยู่ที่วัดระฆังฯ)” แล้วชาวบ้านก็ช่วยท่านเข็นเรือไปจนถึงบ้านงาน
ตามปรกติสมเด็จฯ ท่านพูดจ๊ะจ๋ากับคนทุกคน แม้สัตว์ดิรัจฉานท่านก็พูดอย่างนั้น เช่นคราวหนึ่งท่านเดินไปพบสุนัขนอนขวางทางอยู่ ท่านพูดกับสุนัขนั้นว่า “โยมจ๋า ขอฉันไปทีจ้ะ” แล้วท่านก็ก้มกายเดินหลีกทางไป มีผู้ถามว่าทำไมท่านจึงทำดังนั้น ท่านว่า “ฉันรู้ไม่ได้ว่าสุนัขนี้เคยเป็น พระโพธิสัตว์หรือไม่ เพราะในเรื่องชาดกกล่าวว่า ในกาลครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นสุนัข”
ท่านยังแผ่เมตตาไปในสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ เมื่อพบสัตว์ประสบทุกข์ต้องภัยท่านก็ช่วยเหลือแก้ไขด้วยการุณยจิต ดังเล่ากันว่า ครั้งหนึ่งท่านเดินทางไปต่างจังหวัดระหว่างทางได้พบนกติดแร้วอยู่ ท่านจึงแก้บ่วงปล่อยนกนั้นไป แล้วท่านเอาเท้าของท่านสอดเข้าไปในบ่วงนั่นทำเป็นทีติดแร้ว มีคนมาพบจะช่วยแก้บ่วง ท่านไม่ยอมให้แก้ บอกให้ไปตามเจ้าของแร้วมาก่อน เมื่อเจ้าของแร้วมาบอกอนุญาตให้ท่านปล่อยนกนั้นได้ ท่านจึงแก้บ่วงออกจากเท้า แล้วบอกให้เจ้าของแร้วกรวดน้ำ ท่านยถาสัพพี เสร็จแล้วท่านจึงออกเดินทางต่อไป ดังนี้

เรื่องเทศน์ ๑๒ นักษัตร

ท่านพระยาผู้หนึ่งเคยนิมนต์พระมาแสดงพระธรรมเทศนาให้ฟังอยู่เนืองๆ ที่บ้านของท่าน วันหนึ่งท่านคิดอยากจะฟังเทศน์จตุราริยสัจ จึงใช้บ่าวคนหนึ่งว่าเจ้าจงไปนิมนต์สมเด็จฯ ที่วัดมาเทศน์จตุราริยสัจสักกัณฑ์หนึ่งในค่ำวันนี้ แต่ท่านไม่ได้เขียนฎีกาบอกชื่ออริยสัจให้บ่าวไป บ่าวก็รับ คำสั่งไปนิมนต์สมเด็จฯ ที่วัดว่าเจ้าคุณที่บ้านให้อาราธนาไปแสดงธรรมที่บ้านค่ำวันนี้ สมเด็จฯจึงถามว่า ท่านจะให้เทศน์ เรื่องอะไร บ่าวลืมชื่ออริยสัจเสีย จำไม่ได้นึกคะเนได้แต่ว่า ๑๒ นักษัตร จึงกราบเรียนว่า ๑๒ นักษัตรขอรับผม แล้วก็กราบลามา
ฝ่ายสมเด็จฯ ก็คิดว่า เห็นท่านพระยาจะให้เทศน์อริยสัจ แต่บ่าวลืมชื่อไป จึงมาบอกว่า ๑๒ นักษัตร พอถึงเวลาค่ำท่านก็มีลูกศิษย์ตามไป เข้าไปแสดงธรรมเทศนาที่บ้านท่าน พระยาผู้นั้น มีพวกอุบาสก อุบาสิกามาคอยฟังอยู่ด้วยกันมาก

สมเด็จฯ จึงขึ้นธรรมาสน์ ให้ศีลบอกพุทธศักราช แลตั้งนโม ๓ หนจบแล้ว จึงว่าจุณณียบทสิบสองนักษัตรว่า มุสิโก อุสโภ พยคฺโฆ สโส นาโค สปฺโป อสฺโส เอฬโก มกฺกโฏ กุกฺกุโฏ สุนโข สุกโร แล้วแปลเป็นภาษาไทยว่า มุสิโก หนู อุสโภ วัวผู้ พยคฺโฆ เสือ สโส กระต่าย นาโค งูใหญ่ สปฺโป งูเล็ก อสฺโส ม้า เอฬโก แพะ มกฺกโฏ ลิง กุกฺกุโฏ ไก่ สุนโข สุนัข สุกโร สุกร

ฝ่ายท่านพระยาเจ้าของกัณฑ์กับพวกทายกทายิกาก็มีความสงสัยว่า ทำไมเจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงมาเทศน์ ๑๒ นักษัตร ดังนี้เล่า สงสัยว่าบ่าวจะไปนิมนต์ท่านเรียกชื่ออริย-สัจผิดไปกระมัง ท่านพระยาจึงเรียกบ่าวคนนั้นเข้ามาถามว่า เจ้าไปนิมนต์เจ้าประคุณสมเด็จเทศน์เรื่องอะไร บ่าวก็กราบเรียนว่านิมนต์เทศน์เรื่อง ๑๒ นักษัตร ขอรับผม ท่านพระยาจึงว่านั่นประไรเล่า เจ้าลืมชื่ออริยสัจไปเสียแล้ว ไปคว้าเอา ๑๒ นักษัตรเข้า ท่านจึงมาเทศน์ตามเจ้านิมนต์นั่นซี

ฝ่ายสมเด็จฯ เป็นผู้ฉลาดเทศน์ ท่านจึงอธิบายบรรยายหน้าธรรมาสน์ว่า อาตมภาพก็นึกอยู่แล้วว่า ผู้ไป นิมนต์จะลืมชื่ออริยสัจเสีย ไปบอกว่าท่านให้นิมนต์เทศน์ ๑๒ นักษัตร อาตมภาพก็เห็นว่า ๑๒ นักษัตรนี้ คือเป็นต้นทางของอริยสัจแท้ทีเดียว ยากที่บุคคลจะได้ฟังธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตรสักครั้งสักหน เทศน์ที่ไหนๆ ก็มีแต่เทศน์อริยสัจทั้งนั้น ไม่มีใครจะเทศน์ ๑๒ นักษัตรสู่กันฟังเลย ครั้งนี้เป็นบุญลาภของมหาบพิตรเป็นมหัศจรรย์ เทพยเจ้าผู้รักษาพระพุทธศาสนาจึงได้ดลบันดาลให้ผู้รับใช้เคลิบเคลิ้มไป ให้บอกว่าเทศน์ ๑๒ นักษัตรดังนี้ อาตมภาพก็มาเทศน์ตามผู้นิมนต์ เพื่อจะให้สาธุชนแลมหาบพิตรเจ้าของกัณฑ์ได้ฟังธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตร อันเป็นต้นทางของอริยสัจทั้ง ๔ จะได้ธรรมสวนา นิสงส์อันล้ำเลิศซึ่งจะได้ให้ก่อเกิดปัจจเวกขณญาณในอริยสัจ ทั้ง
แท้ที่จริงธรรมเนียมนับปี เดือน วัน คืนนี้ นักปราชญ์ ผู้รู้โหราศาสตร์แต่ครั้งโบราณต้นปฐมกาลในชมภูทวีปบัญญัติตั้งแต่งขึ้นไว้ คือกำหนดหมายเอาชื่อดวงดาราในอากาศเวหามาตั้งเป็นชื่อปี เดือน วัน ดังนี้คือ
(๑) หมายเอาชื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวอังอาคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ รวม ๗ ดาว มาตั้งเป็นชื่อวันทั้ง ๗ วัน แลให้นับเวียนไปเวียนมาทุกเดือนทุกปี
(๒) หมายเอาชื่อดวงดาวรูปสัตว์ แลดาวรูปสิ่งอื่นๆ มาตั้งเป็นชื่อเดือนทั้ง ๑๒ เดือน มีดังนี้ คือ
เดือนเมษายน ดาวรูปเนื้อ
เดือนพฤษภาคม ดาวรูปวัวผู้
เดือนมิถุนายน ดาวรูปคนคู่หนึ่ง
เดือนกรกฎาคม ดาวรูปปูป่าหรือปูทะเล
เดือนสิงหาคม ดาวรูปราชสีห์
เดือนกันยายน ดาวรูปนางสาวที่น่ารักใคร่
เดือนตุลาคม ดาวรูปคันชั่ง
เดือนพฤศจิกายน ดาวรูปแมงป่อง
เดือนธันวาคม ดาวรูปธนู
เดือนมกราคม ดาวรูปมังกร
เดือนกุมภาพันธ์ ดาวรูปหม้อ
เดือนมีนาคม ดาวรูปปลา (ตะเพียน)
รวมเป็น ๑๒ ดาว หมายเป็นชื่อ ๑๒ เดือน
(๓) หมายเอาดาวรูปสัตว์ ๑๒ ดาว ที่ประจำอยู่ในท้องฟ้าอากาศ เป็นชื่อปีทั้ง ๑๒ ปีดังนี้ คือ
ปีชวด ดาวรูปหนู
ปีฉลู ดาวรูปวัวตัวผู้
ปีขาล ดาวรูปเสือ
ปีเถาะ ดาวรูปกระต่าย
ปีมะโรง ดาวรูปงูใหญ่ คือ นาค
ปีมะเส็ง ดาวรูปงูเล็ก คืองูธรรมดา
ปีมะเมีย ดาวรูปม้า
ปีมะแม ดาวรูปแพะ
ปีวอก ดาวรูปลิง
ปีระกา ดาวรูปไก่
ปีจอ ดาวรูปสุนัข
ปีกุน ดาวรูปสุกร

รวมเป็นชื่อดาวรูปสัตว์ ๑๒ ดวง ตั้งเป็นชื่อปี ๑๒ ปี ใช้เป็นธรรมเนียมเยี่ยงอย่างนับปีเดือนวันคืนนี้ เป็นวิธีกำหนดนับอายุกาลแห่งสรรพสิ่งสรรพสัตว์ในโลกทั่วไป ที่นับของใหญ่ๆ ก็คือนับอายุโลกธาตุ นับเป็นอันตรกัลป มหากัลป ภัทรกัลปเป็นต้น แลนับอายุชนเป็นรอบๆ คือ ๑๒ ปี เรียกว่ารอบหนึ่ง แล ๑๒ รอบเป็น ๑๔๔ ปี แต่มนุษย์เราเกิดมาในกลียุคครั้งนี้ กำหนดอายุเป็นขัยเพียง ๑๐๐ ปี แลในทุกวันนี้อายุมนุษย์ก็ลดถอยลงน้อยกว่า ๑๐๐ ปีก็มีมาก ที่มีอายุกว่า ๑๐๐ ปีขึ้นไปถึง ๑๕๐ หรือ ๒๐๐ ปีก็มีบ้างในบางประเทศ ตามจดหมายเหตุของประเทศต่างๆ ได้กล่าวมา แต่มีเป็น พิเศษแห่งละ ๑ คน ๒ คนหรือ ๓ คน ๔ คนเท่านั้น หาเสมอทั่วกันไปไม่ แต่ที่อายุต่ำกว่า ๑๐๐ ปีลงมานั้น มีทั่วกันไปทุกประเทศ จึงเป็นที่สังเกตได้ว่า คำเรียกว่ากลียุคนี้เป็นภาษาพราหมณ์ ชาวชมภูทวีปแปลว่าคราวชั่วร้าย คือว่าสัตว์เกิดมาในภายหลัง อันเป็นครั้งคราวชั่วร้ายนี้ย่อมทำบาปอกุศลมาก จนถึงอายุสัตว์ลดน้อยถอยลงมาก ด้วย สัตว์ที่เกิดในต้นโลกต้นกัลปนั้น เห็นจะมากไปด้วยเมตตากรุณาแก่กันและกัน ชักชวนกันทำบุญกุศลมาก อายุจึงยืนหลายหมื่นหลายพันปี แลยังจะต่อลงไปข้างปลายโลก บางทีสัตว์จะทำบาปอกุศลยิ่งกว่านี้ อายุสัตว์บางทีก็จะเรียวน้อยถอยลงไปจนถึง ๑๐ ปีเป็นขัย แลสัตว์มีอายุเพียง ๕ ปี จะแต่งงาน เป็นสามีภรรยาต่อกันก็อาจจะเป็นไปได้ แลในสมัยเช่นนี้อาจจะเกิดมิคสัญญี ขาดเมตตาต่อกันแลกัน อย่างประหนึ่งว่านายพรานสำคัญในเนื้อจะฆ่าฟันกันตายลงเกลื่อนกลาด ดังมัจฉาชาติต้องยาพิษทั่วไปในโลก แต่สัตว์ที่เหลือตายนั้นจะกลับบ่ายหน้าเข้าหาบุญก่อสร้างการกุศล ฝูงคนในครั้งนั้นจะกลับมีอายุยืนยิ่งๆ ขึ้นไป จนอายุตลอดอสงขัย ซึ่งแปลว่านับไม่ได้นับไม่ถ้วน ภายหลังสัตว์ทั้งปวงก็กลับตั้งอยู่ในความประมาทก่อสร้างบาปอกุศลรุ่นๆ ไปอีกเล่า อายุสัตว์ก็กลับลดน้อยถอยลงมาอีก ตามธรรมดาของโลกเป็นไปดังนี้

สมเด็จพระพุทธเจ้าของเรา ผู้เป็นพระสัพพัญ ู ตรัสรู้แจ้งในธรรมทั้งปวง พระองค์จึงทรงแสดงธรรมที่จริง ๔ ประการไว้ให้สัตว์ทั้งหลายรู้แจ้ง คือ
(๑) ความทุกข์มีจริง
(๒) สิ่งให้เกิดทุกข์มีจริง
(๓) ธรรมเป็นที่ดับทุกข์มีจริง
(๔) ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์มีจริง

นี่แลเรียกว่าอริยสัจ ๔ คือเป็นความจริง ๔ ประการ ซึ่งเพิ่มอริยเจ้าอีกคำหนึ่งนั้น คืออริยแปลว่าพระผู้รู้ประเสริฐ อย่างหนึ่ง พระผู้ไกลจากกิเลสอย่างหนึ่ง รวมอริย สัจจะ สองคำเป็นนามเดียวกัน เรียกว่าอริยสัจ แลเติมจตุรสังขยานามเข้าอีกคำหนึ่ง แลแปลงตัว ะ เป็นตัว า เพื่อจะให้เรียกเพราะสละสลวยแก่ลิ้นว่า จตุราริยสัจ แปลว่าความจริงของพระอริยเจ้า ๔ อย่าง
ซึ่งท่านอ้างว่าความจริง ๔ อย่างนี้เป็นของพระอริยะนั้น อธิบายว่าต่อเป็นพระอริยเจ้าจึงจะเห็นจริง คือพระอริยเจ้าเห็นว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ซึ่งสัตว์เวียนว่ายทนรับความลำบากอยู่ในวัฏสงสารนั้น ให้เกิดความทุกข์จริง
ตัณหาคือความอยากความดิ้นรนของสัตว์นั้น ให้เกิดความทุกข์จริง
พระอมตมหานิพพาน ไม่มีเกิดแก่เจ็บตายเป็นที่ดับทุกข์จริงแลสุขจริง
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์มีจริง
พระอริยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมเห็นจริงแจ้งประ-จักษ์ในธรรม ๔ อย่างดังนี้ แลสั่งสอนสัตว์ให้รู้ความจริง เพื่อจะให้ละทุกข์ เข้าหาความสุขที่จริง
แต่ฝ่ายปุถุชนนั้นเห็นจริงบ้างแต่เล็กน้อย ไม่เห็นความจริงแจ้งประจักษ์เหมือนอย่างพระอริยเจ้าทั้งปวง พวกปุถุชนเคยเห็นกลับไปว่า เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดก็ดีไม่เป็นทุกข์อะไรนัก บ้างก็ว่าเจ็บก็เจ็บ สนุกก็สนุก ทุกข์ก็ทุกข์ สุขก็สุข จะกลัวทุกข์ทำไม
บ้างว่าถ้าตายแล้วเกิดใหม่ ได้เกิดที่ดีๆ เป็นท้าวพระยามหาเศรษฐีมั่งมีทรัพย์สมบัติมากมายแล้ว ก็หากลัวทุกข์อะไรไม่ ขอแต่อย่าให้ยากจนเท่านั้น
บ้างว่าถ้าตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ ได้เสวยทิพยสมบัติ มีนางฟ้านับพันแวดล้อมเป็นบริวาร เป็นสุขสำราญชื่นอกชื่นใจดังนั้นแล้ว ถึงจะตายบ่อยๆ เกิดบ่อยๆ ก็ไม่กลัวทุกข์กลัวร้อนอะไร
บ้างก็ว่าถ้าไปอมตมหานิพพานไปนอนเป็นสุขอยู่ นมนานแต่ผู้เดียว ไม่มีคู่เคียงเรียงหมอนจะนอนด้วยแล้ว เขาก็ไม่อยากจะไป เขาเห็นว่าอยู่เพียงเมืองมนุษย์กับเมืองสวรรค์เท่านั้นดีกว่า เขาหาอยากไปหาสุขในนิพพานไม่ พวกปุถุชนที่เป็นโลกียชนย่อมเห็นไปดังนี้

นี่แลการฟังเทศน์อริยสัจ จะให้รู้ความจริง แลเห็นธรรมที่ดับทุกข์เป็นสุขจริงของพระอริยเจ้าทั้ง ๔ อย่างนั้น ก็ควรฟังเทศน์เรื่อง ๑๒ นักษัตรเสียก่อน จะได้เห็นว่าวัน คือ เดือน ปี ซึ่งเป็นอายุของเราย่อมล่วงไปทุกวัน ทุกเวลา ประเดี๋ยวก็เกิดประเดี๋ยวก็แก่ ประเดี๋ยวก็เจ็บ ประเดี๋ยวก็ตาย เราเวียนวนทนทุกข์อยู่ด้วยความลำบาก ๔ อย่างนี้แลไม่รู้สิ้นรู้สุด เมื่อเราสลดใจเบื่อหน่ายต่อความเกิดแก่เจ็บตายในโลกแล้ว เราก็ควรรีบเร่งก่อสร้างบุญกุศลจนกว่าจะได้มีบารมีแก่กล้า จะได้ความสุขในสรวงสวรรค์แลความสุขในอมตมหานิพพานในภายหน้า ซึ่งไม่มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสุขเที่ยงแท้ถาวรอย่างเดียว ไม่มีทุกข์มาเจือปนเลย
แลเรื่อง ๑๒ นักษัตร คือดาวชื่อเดือน ๑๒ ดาว และดาวชื่อปี ๑๒ ปี แลดาวชื่อวันทั้ง ๗ วันนี้ เป็นที่นับอายุของเราไม่ให้เราประมาท แลให้คิดพิจารณาเห็นความจริงในอริยสัจทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสั่งสอนเราไว้ ให้รู้ตามนั้น ทีเดียว
สาธุชนทั้งหลายผู้มาได้ฟังพระธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตรกับอริยสัจ ๔ ด้วยในเวลานี้ ไม่ควรจะโทมนัสเสียใจต่อผู้ไปนิมนต์ ควรจะชื่นชมโสมนัสต่อผู้รับใช้ไปนิมนต์ อาตมภาพมาเทศน์ด้วย ถ้าไม่ได้อาศัยผู้นิมนต์เป็นต้นเป็นเหตุดังนี้แล้ว ที่ไหนจะได้ฟังธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตรเล่า ควรจะโมทนาสาธุการอวยพรแก่ผู้ไปนิมนต์จงมาก เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

ฝ่ายท่านพระยาเจ้าของกัณฑ์กับสัปบุรุษทายกทั้งปวง ได้ฟังธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตร กับอริยสัจทั้ง ๔ ของ สมเด็จฯ แล้ว ต่างก็ชื่นชมยินดีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส บ้างก็ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ท่านพระยาเจ้าของกัณฑ์จึงว่าข้าขอบใจเจ้าคนไปนิมนต์ ขอให้เจ้าได้บุญมากๆ ด้วยกันเถิด

เผชิญหน้านักปราชญ์

ที่บ้านสมเด็จพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) มีการประชุมนักปราชญ์ทุกชาติ ทุกภาษา ล้วนเป็นตัวสำคัญๆ รอบรู้การศาสนาของชาตินั้น
สมเด็จเจ้าพระยาฯ ให้ทนายอาราธนาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไปแสดงเผยแผ่ความรู้ในสิ่งที่ถูกที่ชอบด้วยการโลกการธรรม ในพุทธศาสนาอีกภาษาหนึ่งในชาติของสยามไทย
สมเด็จพระพุฒาจารย์ฯ ยินคำอาราธนา จึงรับสั่งว่า
“ฉันยินดีแสดงนักในข้อเข้าใจ”
ทนายกลับไปกราบเรียนสมเด็จพระประสาทว่า
“สมเด็จฯ ที่วัดรับแสดงแล้ว ในเรื่องแสดงให้รู้ความผิดถูกทั้งปวงได้”
ถึงวันกำหนด สมเด็จฯ ก็ไปถึง
นักปราชญ์ทั้งหลายยอมให้นักปราชญ์ของไทย ออกความก่อนในที่ประชุมปราชญ์ และขุนนางทั้งปวงก็มาประชุมฟังด้วย
สมเด็จพระประสาทจึงอาราธนาสมเด็จฯ ขึ้นบัลลังก์ แล้วนิมนต์ให้สำแดงทีเดียว
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ออกวาจาสำแดงขึ้นว่า พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พึมพำทุ้มๆ ครางๆ ไปเท่านี้นาน กล่าวพึมพำสองคำเท่านี้สักชั่วโมงหนึ่ง
สมเด็จพระประสาทลุกขึ้นจี้ตะโพกสมเด็จฯ ที่วัดแล้ว กระซิบเตือนว่า ขยายคำอื่นให้ฟังบ้าง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็เปล่งเสียงดังขึ้นกว่าเดิมอีกชั้นหนึ่งขึ้นเสียงว่า พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา ฯลฯ ว่า อยู่นานสักหนึ่งชั่วโมงอีก
สมเด็จประสาทลุกขึ้นมาจี้ตะโพกสมเด็จฯ ที่วัดอีก ว่าขยายคำอื่นให้เขาฟังรู้บ้างซิ สมเด็จฯ ที่วัดเลยตะโกนดังกว่าครั้งที่สองขึ้นอีกชั้นหนึ่งว่า พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา
อธิบายว่า การของโลกก็ดี การของชาติก็ดี การของศาสนาก็ดี กิจที่จะพึงกระทำต่างๆ ในโลกก็ดี กิจควรทำสำหรับข้างหน้าก็ดี กิจควรทำให้สิ้นธุระทั้งปัจจุบันและข้างหน้าก็ดี สำเร็จกิจเรียบร้อยดีงามได้ ด้วยกิจพิจารณาเป็นชั้นๆ พิจารณาเป็นเปราะๆ เข้าไป ตั้งแต่หยาบๆ และปูนกลางๆ และชั้นสูงชั้นละเอียด พิจารณาให้ประณีตละเมียดเข้า จนถึงที่สุดแห่งเรื่อง ถึงที่สุดแห่งอาการ ให้ถึงที่สุดแห่งกรณี ให้ถึงที่สุดแห่งวิธี ให้ถึงที่สุดแห่งประโยชน์ยืดยาว พิจารณาให้รอบคอบทั่วถึงแล้ว
ทุกๆ คนจะรู้จักประโยชน์คุณเกื้อกูลตน ตลอดทั้งเมื่อนี้เมื่อหน้าจะรู้ประโยชน์อย่างยิ่งได้ ก็ต้องอาศัยกิจพิจารณาเลือกเฟ้นค้นหาของดีของจริง เด่นเห็นชัดปรากฏแก่คน ก็ด้วยการพิจารณาของคนนั่นเอง ถ้าคนใดสติน้อย ถ่อยปัญญา พิจารณา เหตุผล เรื่องราว กิจการงาน ของโลก ของธรรม แต่พื้นๆ ก็รู้ได้พื้นๆ ถ้าพิจารณาด้วยสติปัญญาเป็นอย่างกลางก็รู้เพียงชั้นกลาง ถ้าพิจารณาด้วยสติปัญญาอันละเอียดลึกซึ้ง ในข้อนั้นๆ อย่างสูงสุด ไม่หลับหูหลับตา ไม่งมงายแล้ว อาจจะเห็นผลแก่ตนประจักษ์แท้แก่ตนเอง ดังปริยายมา ทุกประการ จบที
จบแล้ว ท่านลงจากบัลลังก์ นักปราชญ์ชาติอื่นๆ ภาษาอื่นๆ มีแขกแลฝรั่งเป็นต้น ก็ไม่อาจออกปากขัดคอคัดค้าน ถ้อยคำของท่านสักคน
สมเด็จเจ้าพระยาพยักหน้าให้หมู่นักปราชญ์ในชาติทั้งหลายที่มาประชุมคราวนั้นให้ขึ้นบัลลังก์ ต่างคนต่างแหยงไม่อาจนำออกแสดงแถลงในที่ประชุมได้ ถึงต่างคนต่างเตรียม เขียนมาก็จริง
แต่คำของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ครอบไปหมด จะยักย้ายโวหารหรือจะอ้างเอาศาสดาของตนๆ มาแสดงในที่ประชุมเล่า เรื่องของตัวก็ชักจะเก้อ จะต่ำจะขึ้นเหนือความพิจารณาที่สมเด็จฯ ที่วัดระฆังกล่าวนั้นไม่ได้เลย ลงนั่งพยักหน้าเกี่ยงให้กันขึ้นบัลลังก์ใครก็ไม่อาจขึ้น สมเด็จพระประสาทเองก็ซึมทราบได้ดี เห็นจริงตามปริยายของทางพิจารณารู้ได้ตามนั้น ตามภูมิ ตามกาล ตามบุคคล ที่ยิ่งและหย่อน อ่อนและกล้า จะรู้ได้ก็ด้วยการพิจารณา ถ้าไม่พิจารณา ก็หาความรู้ไม่ได้เลย ถ้าพิจารณาต่ำ หรือน้อยวันพิจารณา หรือน้อยพิจารณาก็มีความรู้น้อย ห่างความรู้จริงของสมเด็จฯ ที่วัดทุกประการ
วันนั้นก็เป็นอันเลิกประชุมปราชญ์ ต่างคนต่างลากลับ

ถวายอดิเรก

ครั้นสมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) ถึงมรณภาพแล้ว พระเทพกวีต้องเป็นผู้ใหญ่นั่งหน้า ครั้งหนึ่งเมื่อมีกิจการฉลองสวดมนต์ในพระบรมมหาราชวัง พระเทพกวีเป็นผู้ชักนำพระราชาคณะอ่อนๆ ลงมา สวดเสร็จแล้วยถาพระรับสัพพีแล้วสวดคาถาโมทนาจบแล้ว พระเทพกวี (โต) จึงถวายอดิเรกขึ้นองค์เดียวว่า
“อติเรกวสฺสตํ ชีวตุ อติเรกวสฺสติ ชีวตุ อติเรกวสฺสตํ ชีวตุ ฑีฆายุโก โหตุ อโรโค โหตุ สุขิโต โหตุ มหาราชา สิทฺธิ กิจฺจํ สิทฺธิกัมมํ สิทฺธิลาโภ ชโยนิจจํ มหาราชสฺส ภวตุ สพฺพทา ขอถวายพระพร”
สมเด็จพระจอมเกล้าทรงโปรดมาก รับสั่งถามว่า
“แก้ลัดตัดเติมจะได้บ้างไหม”
พระเทพกวี (โต)ถวายพระพรว่าอาตมาภาพได้ เปยยาล ไว้ในตัวบท คาถาสำหรับสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าได้ทรงตรอกลง ตามพระบรมราชอัธยาศัยแล้ว สมเด็จพระจอมเกล้าทรงตรอกซ้ำลงตรงฑีฆายุอีกบันทัดหนึ่ง ทรงตรอกลงที่หน้าศัพท์มหาราชสฺส เป็นปรเมนฺทรมหาราชวรสฺส นอกนั้นคงไว้ตามคำพระเทพกวี (โต) ทุกคำ แล้วตราพระราชบัญญัติประกาศไปทุกๆ พระอาราม ให้เป็นขนบธรรมเนียมต้องให้พระราชาคณะ ผู้นั่งหน้าถวายคาถาอดิเรกนี้ก่อน จึงรับภวตุสัพฯ จึงถวายพรลาออกจากพระที่นั่งได้ ตลอดจนการพระเมรุ การถวายพระกฐินทานตามพระอารามหลวง ต้องมีพระราชาคณะถวายอดิเรกนี้ ทุกคราวพระราชดำเนิน จึงเป็นราชประเพณีสืบมาจนทุกวันนี้แล วิธีสอนคน

วันหนึ่งสมเด็จฯ เดินผ่านไปยังวัดชนะสงคราม ท่านได้ยินพระสวดตลกคะนองกันอื้ออึงอยู่ในวัด ฟังแล้วรู้สึกสลดใจ “ทำไมพระจึงทำอย่างนี้ได้หนอ ?”
จะเดินเข้าไปว่าทันทีทันใดเลยก็ไม่ได้ จึงค่อยๆ เดินเข้าไป พอไปถึงก็ทรุดตัวลงนั่งยอง แล้วประนมมือขึ้นว
“สาธุ สาธุ สาธุ”
โดยไม่ต้องพูดอะไรออกมาเลย แล้วท่านก็ลุกขึ้นเดินจากไป ปล่อยให้พระเหล่านั้น และญาติโยมที่นั่งฟัง ตะลึงงงงันกันไปหมด
ความสังเวชใจเกิดขึ้นในท่ามกลางประชุมชน โดยเฉพาะพระเหล่านั้นเกิดความละอายเป็นอย่างยิ่ง ไม่อาจ อยู่มองหน้าผู้คน บ้างก็สึกไป ที่ไม่สึกก็เลิกสวดตลกคะนองอีกโดยเด็ดขาด กลับตัวประพฤติปฏิบัติกันเสียใหม่

ขอฝากตัวด้วย

ครั้งหนึ่งพระวัดระฆังเต้นด่าท้าทายกันขึ้นอีกคู่พระเทพกวี (โต) ท่านเอกเขนกนั่งอยู่นอกกุฏิท่าน ท่านแลเห็นเข้า ทั้งได้ยินพระทะเลาะกันด้วย จึงลุกเข้าไปในกุฏิจัดดอกไม้ธูปเทียนใส่พานรีบเดินเข้าไปในระหว่างวิวาท ทรุดองค์ลงนั่งคุกเข่าไปถวายดอกไม้ธูปเทียนพระคู่นั้นแล้วอ้อนวอนฝากตัวว่า

“พ่อเจ้าประคุณ ! พ่อจงคุ้มฉันด้วย ฉันฝากตัวกับพ่อด้วย ฉันเห็นจริงแล้วว่า พ่อเก่งเหลือเกิน เก่งพอได้ เก่งแท้แท้ พ่อเจ้าประคุณ ลูกฝากตัวด้วย”
พระคู่นั้นเลยเลิกทะเลาะกัน มาคุกเข่ากราบพระเทพกวี (โต) พระเทพกวี (โต) ก็คุกเข่ากราบตอบพระ กราบกันอยู่นั่น หมอบกันอยู่นั่นนาน

พระเตะตะกร้อ

วันหนึ่งสมเด็จฯ เดินผ่านหลังโบสถ์ เห็นพระกำลังเตะตะกร้อกันอย่างสนุกสนาน
นายทศซึ่งเดินไปกับท่านด้วย รู้สึกแปลกใจที่ท่านไม่ว่าอะไร ทั้งๆ ที่การเตะตะกร้อมันผิดพระวินัย จึงถามท่านไปว่า “ทำไมไม่ห้ามพระเตะตะกร้อ?”
“ถึงเวลาเขาก็เลิกเอง ถ้าไม่ถึงเวลาเขาเลิก เราไปห้ามเขา เขาก็ไม่เลิก” ท่านตอบนายทศอย่างนั้น จะเลิกไม่เลิกมันอยู่ที่ใจของเขา
ต่อมาพระกลุ่มนั้นได้ใจ คิดว่าสมเด็จฯ ไม่ว่าอะไร จึงเล่นเตะตะกร้อกันอีก แต่คราวนี้ สมเด็จฯ ท่านไม่ปล่อย เหมือนคราวก่อน ท่านให้เด็กไปเรียกพระเหล่านั้นมา แล้วให้เด็กยกน้ำร้อนน้ำชาและน้ำตาลทรายมาถวาย
สักครู่สมเด็จฯ ได้ถามขึ้นว่า
“นี่คุณ! ตะกร้อนี่หัดกันนานไหม?”
พวกพระต่างมองตากัน รู้สึกอาการชักจะไม่ค่อยดี ไม่รู้ว่าสมเด็จฯ จะเล่นไม้ไหน ได้แต่นั่งทำตาปริบๆ
“ลูกไหนเตะยากกว่ากัน ลูกข้างลูกหลังน่ะ?” สมเด็จฯหยอดเข้าไปอีก พระเหล่านั้นไม่พูดอะไร หน้าถอดสี รู้สึกละอายจนอยากจะแทรกแผ่นดินหนีเสียให้ได้
โดยปกติ สมเด็จฯ ท่านไม่ค่อยได้ว่ากล่าวอยู่แล้ว ท่านไม่เคยปากเปียกปากแฉะอย่างพระเจ้าอาวาสทั่วๆไป นานๆ ครั้งจะว่ากล่าวกันที ยิ่งท่านไม่ค่อยได้ว่ากล่าวตักเตือน ยิ่งทำให้ละอายอย่างมาก
ปรากฏว่า ต่อมาพระวัดระฆังเลิกเตะตะกร้อกันอย่างเด็ดขาด

ห้ามพายุร้าย

ครั้งหนึ่ง สมโภชพระราชวังบนเขามไหสวรรค์ เมืองเพชรบุรี สังฆการีวางฎีกาท่านไปเรือญวน ๔ แจว ออกทางปากน้ำบ้านแหลม เวลานั้นทะเลเป็นบ้า คลื่นลมจัดมาก ชาวบ้านอ่าวบ้านแหลมช่วยกันร้องห้ามว่า เจ้าประคุณอย่าออกไป จะล่มตาย
ท่านตอบไปว่า ไปจ๊ะ ไปจ๊ะ ท่านออกยืนหน้าเก๋ง เอาพัชนีใบตาลโบกแหวกลมหน้าเรือ ลูกคลื่นโตกว่าเรือท่านมาก บังเรือมิด แต่ทางหน้าเรือคลื่นไม่มี ลมก็แหวกทางเท่ากับแจวในลำท้องร่อง น้ำเรียบแต่น้ำข้างๆกระเซ็นบ้าง เพราะคลื่นเข้าข้างเรือทั้งสองโตเป็นตลิ่งทีเดียว พระธรรมถาวรเล่าว่า เวลานั้นท่านเป็นพระครูปลัดไปกับท่านด้วย ได้เห็นน่าอัศจรรย์ ใจท่านหายๆ ดูไม่รู้จะคิดเกาะเกี่ยวอะไร
สมเด็จพระพุฒาจารย์ท่านยืนโบกพัดเฉย คนก็แจวเฉยเป็นปกติ จนเข้าปากน้ำเมืองเพชร ท่านจึงเข้าเก๋งเอนกาย ชาวปากอ่าวเมืองเพชรเกรงบารมีสมเด็จท่านมาก ยกมือท่วมๆ หัว สรรเสริญคุณสมบัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตลอดจนเจ้าขุนนางที่ตามเสด็จคราวนั้นว่า เจ้าพระคุณสำคัญมาก แจวฝ่าคลื่นลมกลางทะเลมาได้ตลอดปลอดโปร่งปราศจากอุปัทวันตราย

ดีหรือบ้า ใครเป็นผู้ว่า

ครั้นถึงปีกุน ยังเป็นโทศก จุลศักราช ๑๒๑๒ ปี วันพุธ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า เวลาค่ำ ๘ ทุ่ม ๕ บาท สมเด็จพระนั่งเกล้าเสด็จสวรรคต ศิริพระชนมายุได้ ๖๓ พรรษา กับ ๑๑ วัน ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๕ ปี ๗ เดือน ๒๓ วัน พระมหาโต อายุได้ ๖๔ ปี ๔๒ พรรษา พวกข้าราชการได้ทูลอัญเชิญเสด็จทูลกระหม่อม พระราชาคณะ วัดบวรนิเวศน์วรวิหาร ให้เสด็จนิวัติออกเถลิงราชย์ พระมหาโตเลยออกธุดงค์หนีหายไปหลายเดือน ครั้นทรงระลึกได้ จึงรับสั่งให้หาตัวมหาโตก็ไม่พบ ทรงกริ้วสังฆการี รับสั่งว่า “ท่านเหาะก็ไม่ได้ ดำดินก็ไม่ได้ แหกกำแพงจักรวาลหนีก็ยังไปไม่ได้” จึงรับสั่งพระญาณโพธิออกติดตามก็ไม่พบ รับสั่งว่า “ฉันจะตามเอง” ครั้นถึงเดือนเจ็ดปีนั้น มีกระแสร์รับสั่งถึงเจ้าเมือง ฝ่ายใต้ ฝ่ายเหนือ ตะวันตก ตะวันออก ทั่วพระราชอาณาจักร จับพระมหาโตส่งมายังเมืองหลวงให้ได้ ให้เจ้าคณะเหนือ กลาง ใต้ ตก ออก ออกค้นหามหาโต เลยสนุกกันใหญ่ ทั้งฝ่ายพุทธจักร อาณาจักร แม้จะมีท้องตรารับสั่งเร่งรัดอย่างไรก็ยังเงียบอยู่ เจ้าเมือง เจ้าหมู่ฝ่ายพระร่วมใจกันจับพระอาคันตุกะทุกองค์ส่งยังศาลากลาง คราวนี้พระมหาโตลองวิชาเปลี่ยนหน้า ทำให้คนรู้จักกลับจำไม่ได้ เห็นเป็นพระองค์อื่น ปล่อยท่านไปก็มี (อาคมชนิดนี้ พระอาจารย์เจ้าเรียกว่า นารายณ์แปลงรูป) ต่อมาท่านพิจารณาเห็นว่า นายด่าน นายตำบล เจ้าเมือง กรรมการ จับพระไปอดเช้าบ้าง เพลบ้าง ตากแดดตากฝน ได้รับความลำบาก ทำทุกข์ทำยากแก่พระสงฆ์คงไม่ดีแน่ จึงแสดงตนให้กำนันบ้านไผ่รู้จัก จึงส่งตัวมายังศาลากลาง เจ้าเมืองมีใบบอกมายังกระทรวงธรรมการ๐ บอกส่งไปวัดโพธิเชตุพนฯ พระญาณโพธิขึ้นไปดูตัวก็จำได้ แล้วคุมตัวลงมาเฝ้า ณ พระที่นั่งอมรินทรท่ามกลางขุนนางข้าราชการ ครั้นเห็นพระญาณโพธินำพระมหาโตเข้าเฝ้า จึงมีพระดำรัสว่า “เป็นสมัยของฉันปกครองแผ่นดิน ท่านต้องช่วยฉันพยุงพระบวรพุทธศาสนาด้วยกัน” แล้วมีพระบรมราชโองการให้กรมสังฆการี วางฎีกา ตั้งพระราชาคณะตามธรรมเนียม พระมหาโตก็เข้าไปตามฎีกานิมนต์ จึงทรงถวายสัญญาบัตรตาลิปัตแฉกหักทองขวาง ด้ามงา เป็นพระราชาคณะ ที่พระธรรมกิตติ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม มีฐานานุกรม ๓ องค์ มีนิตยภัตรเดือนละ ๔ ตำลึง ๑ บาท ทั้งค่าข้าวสาร เมื่อออกจากพระบรมราชวังแล้ว ท่านแบกพัดไปเอง ถึงบางขุนพรหมและบางลำภู บอกลาพวกสัปปุรุษที่เคยนับถือ มีเสมียนตราด้วง และพระยาโหราธิบดีเก่า และผู้อื่นอีกมาก แล้วท่านก็กลับมาวัดมหาธาตุ ลาพระสงฆ์ทั้งปวง ลงเรือกราบสีที่ได้รับพระราชทานมาแต่พระพุทธเลิศหล้า ข้ามไปกับเด็กช้างผู้เป็นหลาน ท่านถือบาตร ผ้าไตรและบริขาร ไปบอกพระวัดระฆังว่า “จ้าวชีวิต ทรงตั้งฉันเป็นพระธรรมกิตติ มาเฝ้าวัดระฆังนี่จ้ะ” ท่านแบกตาละปัตพัดแฉก สพายถุงย่ามสัญญาบัตร ไปเก้ๆ กังๆ พะรุงพะรัง พวกพระนึกขบขัน จะช่วยท่านถือ เจ้าคุณธรรมกิตติก็ไม่ยอม พระเลยสนุกตามมุงดูกันแน่น แห่กันเป็นพรวนเข้าไปแน่นในโบสถ์ บางองค์ก็จัดโน่นทำนี้ ต้มน้ำบ้าง ตักน้ำถวายบ้าง ตะบันหมากบ้าง กิตติศัพท์เกรียวกราวตลอดกรุง คนนั้นมาเยี่ยม คนนั้นก็มาดู เลื่อมใสในจรรยาบ้าง เลื่อมในในยศศักดิ์บ้าง ท่านทำขบขันมาก ดูสนุกเป็นมหรสพโรงใหญ่ทีเดียว บางคนชอบหวยก็เอาไปแทงหวย ขลังเข้าทุกๆ วัน คนก็ยิ่งเอาไปแทงหวยถูกกันมากรายยิ่งขึ้น เลยไม่ขาดคนไปมาหาสู่ บางคนก็ว่าท่านบ้า ท่านก็ตอบว่า
“เมื่อขรัวโตบ้า พากันนิยม ชมว่าขรัวโตเป็นคนดี ยามนี้ขรัวโตเป็นคนดี พูดกันบ่นอู้อี้ว่าขรัวโตบ้า”

ทำไมไม่ทำให้ฌาณเสื่อม..???

ครั้งหนึ่ง ที่วังเจ้าฟ้ามหามาลา กรมหมื่นบำราบปรปักษ์ มีเทศน์ ไตรมาส ๓ วันยก พระพิมลธรรม (อ้น) ถวายเทศน์ พระธรรมกิตติเป็นผู้รับสัพพี พระพิมลธรรมถวายเทศน์เรื่องปฐมสมโพธิ ปริเฉทลักขณะปริวัตร ความว่า “กาลเทวินทร์ดาบสร้องไห้ เสียใจว่า ตนจะตายไปก่อน ไม่ทันเห็นพระสิทธาตถ์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ซ้ำจะต้องเกิดในอสัญญีภพเสียอีก เพราะผลของอรูปสมาบัติเนวะสัญญานาสัญญายะตะนะฌานในปัจจุบันชาติ” วันที่ ๓ ก็มาถวายอีก พระธรรมกิตติ (โต) ก็ไปรับสัพพีอีก เจ้าฟ้ามหามาลาฯ ทรงรับสั่งถามพระพิมลธรรมว่า “พระคุณเจ้า ฌานโลกีย์นี้ได้ยินว่าเสื่อมได้มิใช่หรือ” พระพิมลธรรมรับว่า “ถวายพระพร เสื่อมได้” ทรงรับสั่งรุกอีกว่า “เสื่อมก็ได้ ทำไมกาลเทวินทร์ไม่ทำให้เสื่อมเสียก่อน บำเพ็ญแต่กามาวจรฌาน ถึงตายก่อนสิทธาตถ์ ก็พอไปเกิดอยู่ในรูปพรหม หรือ ฉกามาพจรชั้นหนึ่งชั้นใด ก็พอจะได้ เหตุใดไม่ทำญาณของตนให้เสื่อม ต้องมานั่งร้องไห้เสียน้ำตาอยู่ทำไม” คราวนี้พระพิมลธรรมอั้นตู้ ไม่สามารถแก้ไขออกให้แจ้งได้ ส่วนพระธรรมกิตติ (โต) เป็นพระรับสัพพี เห็นพระพิมลธรรมเฉย ไม่เฉลยข้อปัญหานั้น จึงออกเสียงเรอดัง “เออ” แล้วบ่นว่า “เราหนอช่างกระไร วัดระฆังอยู่ใกล้ๆ ตรงวังข้ามฟาก เหตุใดไม่ข้ามฟาก ต้องมาฝืนร่างกายทนลำบากจนดึกดื่น ๒ วัน ๓ คืน ดังนี้” แล้วท่านก็นั่งนิ่ง สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาฯ ก็ทรงจุดเทียน พระพิมลธรรมก็ขึ้นถวายเทศน์จบ ลงจากธรรมาสน์แล้ว สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาฯ ก็ประเคนเครื่องไทยธรรม พระพิมลธรรมยะถา พระธรรมกิตติรับสัพพี พระพิมลธรรม ถวายพระพรลา เมื่อถึงกำหนดเทศน์อีก พระธรรมกิตติก็ได้รับฎีกาอันเป็นลายพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาฯ นิมนต์เทศน์ต่อจากพระพิมลธรรม ท่านเต็มใจรับและบอกมหาดเล็กให้ไปกราบทูลให้ทรงทราบ

ครั้นวัน ๗ ค่ำ เวลา ๓ ทุ่ม พระธรรมกิตติก็ไปถึงท้องพระโรง สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาฯ เสด็จออก ทรงเคารพปราศรัย แล้วจุดเทียน พระธรรมกิตติขึ้นธรรมาสน์ถวายศีล ถวายศักราช ถวายพระพร แล้วจึงเดินคาถาที่ผูกขึ้นว่า

ววิมลธมฺมสฺส ฯลฯ กสฺมาโส วิโสจตีติ

อธิบายความว่า “มหาบพิตรเจ้า มีพระปุจฉา แก่เจ้าคุณพระพิมลธรรมว่า เหตุไฉน กาลเทวินทร์จึงร้องไห้ ควรทำฌานของตนให้เสื่อม ดีกว่านั่งร้องไห้” ดังนี้ ข้อนี้อาตมาภาพ ผู้มีสติปัญญาทราม หากได้รับพระอภัยโทษ โปรดอนุญาตให้แสดง ต่อข้อปุจฉา อาตมาจำต้องแก้ต่างเจ้าคุณพระพิมลธรรม ดังมีข้อความตามพระบาลีที่มีมาในพระปุคคลบัญญัติ มีอรรถกถาฎีกา แก้ไว้พร้อมตามพระคัมภีร์ว่า

กุปฺธมฺโม อกุปฺปธมฺโม

ท่านแสดงตามคัมภีร์เสียพักหนึ่ง ว่าด้วยฌานโลกีย์เสื่อมได้ในคนที่ควรเสื่อม ไม่เสื่อมได้ในคนที่ไม่ควรเสื่อม ฌานก็เสื่อมไม่ได้ตามบาฬี แล้วอธิบายซ้ำว่า ธรรมดา ฌานโลกีย์เสื่อมได้เร็วก็จริงอยู่ แต่บุคคลผู้เป็นเจ้าของฌานมีความกระหายต่อเหตุการณ์ อารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจเป็นของใหม่ ของเก่าก็ยังอาลัย สละทอดทิ้งเสียไม่ได้ เพราะเคยเสวยสุขคุ้นเคยกันมานาน ของเก่าคือฌานที่ตนอาศัยสงบอารมณ์ ก็เห็นมีคุณดีอยู่ ของใหม่ตามข่าวบอกเล่ากันต่อมา และคนที่ควรเชื่อได้ ชี้แจงอย่างถี่ถ้วนว่าของใหม่ดีอย่างนั้นๆ แต่อาลัยของเก่าก็มาก จึงทิ้งไม่ได้ ทำไปไม่ได้ จะยึดสองฝ่ายก็ไม่ได้ เพราะของใหม่ไม่คุ้นกัน ไม่เคยเห็นใจกัน ผะอืดผะอมมาก เสียดายของรักก็มี เสียดายของใหม่ คือรู้แน่ว่าพระสิทธาตถ์จะตรัสเป็นพระพุทธเจ้าก็มี แต่แกเสียใจว่าจะตายไปเสียก่อน และเห็นว่าพรหมโลกอยู่ในเงื้อมมือแน่นอน แต่คุณของการพบพระพุทธเจ้านั้นจะทำประโยชน์สุขสมบัติอะไร กาลเทวินทร์ยังไม่รู้ จึงไม่อาจทำฌานให้เสื่อม ทั้งเป็นบุคคลที่เป็นอุปธรรม ยังไม่เป็นคนที่ควรเสื่อมจากคุณธรรมที่ตนได้ ตนถึงด้วย เปรียบเสมือนคนที่ป่วยไข้อยู่ จะกระทำกระปรี้กระเปร่าแข็งแรงคึกคัก กินข้าว กินน้ำอร่อยอย่างคนธรรมดาดีดีนั้นไม่ได้ คนที่ดีดี ผิวพรรณผุดผ่อง จะมารยาทำป่วยไข้ จะนั่งห่มผ้าคลุมกรอมซอมซ่อ พูดกระร่อกระแร่เป็นคนไข้ก็ทำไม่ได้ ทำให้คนอื่นแลเห็นรู้แน่ว่า คนที่ทำเป็นไข้นั้น เป็นไข้มารยา ไข้ไม่จริง คนในเห็นคนนอกเป็นสุขสบาย ก็ออกมาเป็นคนนอกไม่ได้ เหตาลัยความคุ้นเคยข้างในอยู่มาก คนนอกเห็นคนในนวยนาฏน้ำนวลผ่องใสด้วยผ้านุ่งห่ม แต่ไม่อาจเป็นคนในกับเขา เพราะเป็นห่วงอาลัยของข้างนอก จะไปเที่ยวชั่วคราวนั้นได้ แต่จะไปอยู่ทีเดียวนั้นไม่ได้ เพราะไม่ไว้วางใจว่าเหตุการณ์ข้างใน จะดีหรือเลวยังไม่แน่ใจ แต่เป็นกระหายอยู่เท่านั้น คนที่มีความสุขสบายอยู่ด้วยเพศบวชมาช้านาน แต่แลเห็นคนที่ไม่บวชเที่ยวเตร่ กินนอน ดู ฟัง เล่นหัวสบาย ไม่มีเครื่องขีดคั่นอะไร บางคราวชาววัดบางคนเห็นดี แต่ไม่อาจออกไป เพราะถ้าออกไปไม่เหมือนเช่นเขา หรือเลวทรามกว่าเขา จะทุกข์ตรมระบมทวีมาก จะเดือดร้อนยิ่งใหญ่มาก ก็เป็นแต่นึกสนุกไม่ออกไปทำอย่างเขา เพราะอาลัยความสุขในการบวชค้ำใจอยู่ ออกไปไม่ได้ เป็นแต่ทำเอะอะฮึดฮัดไปตามเพลง คนที่ยังไม่เคยบวชนั้น เห็นว่าผู้บวชสบายไม่ต้องกังวลอะไร กินแล้วก็นอน นอนแล้วก็เที่ยวตามสบาย ไม่ต้องเหงื่อไหลไคลย้อย ไม่ต้องแสวงหาอาหาร มีคนเลี้ยงคนเชิญน่าสบาย คนที่ไม่บวชคิดเห็นดีไปเพ้อๆ เท่านั้น เลยนั่งดูกันไปดูกันมา เพราะยังไม่ถึงคราวจะบวช หรือยังไม่ถึงคราวจะสึก ก็ยังสึกและยังบวชไม่ได้นั่นเอง ข้ออุปมาทั้งหลายดังถวายวิสัชนามานี้ ก็มีอุปมัยเปรียบเทียบด้วยฌานทั้ง ๙ ประการ ที่เป็นธรรมเสื่อมได้เร็วก็จริง แต่ยังไม่ถึงคราวเสื่อม ก็ยังเสื่อมไม่ได้ กาลเทวินทร์ดาบสก็เปรียบดังชาววัด ชาวบ้าน ชาวนอก ชาวใน ต่างเห็นของกันและกัน ไม่อาจแสร้งให้ฌานเสื่อม ที่ตรงแกร้องไห้นั้น อาตมาภาพเข้าใจว่า แกร้องไห้เสียดายขันธ์ เพราะแกกล่าวโดยอันยังไม่รู้เท่าทันขันธ์ ว่ามันเป็นสภาพแปรปรวน แตกดังเป็นธรรมดาของมันเอง แต่เวลานั้น โลกยึดถือขันธ์มาช้านาน ที่กาลเทวินทร์เจริญอรูปฌานจนสำเร็จ ก็เพราะคิดรักษาขันธ์ เพื่อมิให้ขันธ์พลันแตกสลายทำลาย จึงพยายามได้สำเร็จความปรารถนาและเสียดายหน้าตา ถ้าชีวิตของแกอยู่มาอีก ๓๖ ปี แกจะได้เจ้าบรรจบประสบคุยกับหมู่พุทธบริษัท และหมู่พระประยูรญาติ และหมู่พุทธมามกะผู้นับถือ แกจะพลอยมีชื่อยกตัวเป็นครูอย่างดีกว่าที่แล้วมา แต่พระอรรถกถาจารย์ท่านไม่ว่าอย่างขรัวโต เห็นท่านว่าเพียงกาลเทวินทร์เสียใจว่าจะตายเสียก่อนเท่านั้น ไม่ทันพระสิทธาตถ์เป็นพระพุทธเจ้าเท่านี้

เรื่องเทศน์ถวายและเฉลยพระปัญหาถวายสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมหมื่นบำราบปรปักษ์ ตามที่เรียบเรียงไว้นี้ ได้ฟังมาจากสำนักพระปรีชาเฉลิม (แก้ว) เจ้าคุณพระปรีชาเฉลิม (แก้ว) ได้ฟังมาจากเจ้าคุณปรีชาเฉลิม (เกษ) พระปรีชาเฉลิม (เกษ)เป็นเปรียญ ๖ ประโยค อยู่วัดอรุณราชวราราม ได้เป็นพระรับสัพพี จึงได้ยินเทศนาถวายของเจ้าคุณธรรมกิตติ (โต) ภายหลังเลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)

เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร

ครั้นกาลล่วงมา สมเด็จพระวันรัต วัดมหาธาตุ ถึงมรณภาพแล้ว สมเด็จพระวันรัต เซ่ง วัดอรุณ เป็นเจ้าคณะกลาง ครั้งนั้นพระอันดับในวัดระฆังทะเลาะกัน และฝ่ายหนึ่งได้ตีฝ่ายหนึ่งศีรษะแตก ฝ่ายศีรษะแตกได้เข้าฟ้องพระเทพกระวี เจ้าอาวาสๆ ก็ชี้หน้าว่า “คุณตีเขาก่อน” พระองค์หัวแตกเถียงว่า “ผมไม่ได้ทำอะไร องค์นั้นตีกระผม” พระเทพกระวีว่า “ก็เธอตีเขาก่อน เขาก็ต้องตีเธอบ้าง” พระนั้นก็เถียงว่า “เจ้าคุณเห็นหรือ” พระเทพกระวีเถียงว่า “ถึงฉันไม่ได้เห็นก็จริง แต่ฉันรู้อยู่นานแล้วว่า คุณตีเขาก่อน คุณอย่าเถียงฉันเลย” พระองค์ศีรษะแตกเสียใจมาก จึงได้อุตส่าห์เดินลงไปวัดอรุณ เข้าอุทธรณ์ต่อสมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) เจ้าคณะกลาง

ส่วนสมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) จึงเรียกตัวพระเทพกระวี (โต) ไปชำระตามคำอุทธรณ์ พระเทพกระวี (โต) ก็โต้คำอุทธรณ์และตอบสมเด็จพระวันรัตว่า “ผมรู้ดีกว่าเจ้าคุณอีก เจ้าคุณได้แต่รู้ว่า เห็นเขาหัวแตกเท่านั้น ไม่รู้ถึงเหตุในกาลเดิมมูลกรณี ผมรู้ดีว่า คุณองค์นั้นได้ตีคุณองค์นั้นก่อน และเขาบ่ห่อนจะรู้สึกตัว เขามามัวแต่ถือหัว หัวเขาจึงแตก”

สมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) ฟังๆ ก็นึกแปลก แยกวินิจฉัยก็ไม่ออก กลับจะเป็นคนถือเอาแต่คำบอก จึงย้อนถามว่า “เจ้าคุณเห็นอย่างไร จึงรู้ได้ว่า พระองค์นี้ตีพระองค์นั้นก่อน แจ้งให้ฉันฟังสักหน่อย ให้แลเห็นบ้าง จะได้ช่วยกันระงับอธิกรณ์”

พระเทพกระวีว่า “พระเดชพระคุณจะมีวิจารณ์ยกขึ้นพิจารณาแล้ว กระผมก็เต็มใจ อ้างอิงพยานถวาย” พระวันรัตว่า “เอาเถอะ ผมจะตั้งใจฟังเจ้าคุณชี้พยานอ้างอิงมา” พระเทพกระวีจึงว่า “ผมทราบตามพุทธฎีกา บอกให้ผมทราบว่า นหิเวรา นิวปสัมมันติ ว่า เวรต่อเวร ย่อมเป็นเวรกันร่ำไป ถ้าจะระงับเสียด้วยไม่ตอบเวร เวรย่อมระงับ นี่แหละ พระพุทธเจ้าบอกผมเป็นพยาน กระผมว่า เวรต่อเวร มันจึงทำกันได้ ผมเห็นตามคำพระพุทธเจ้าบอกผมเท่านี้ ผมจึงวิจารณ์พิจารณากล้ากล่าวได้ว่า คุณตีเขาก่อน”

สมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) ชักงงใหญ่ จะเถียงก็ไม่ขึ้น เพราะท่านอ้างพุทธภาษิต จึงล้มเข้าหาพระเทพกระวี (โต) ว่า “ถ้ากระนั้น เจ้าคุณต้องระงับอธิกรณ์ เรื่องนี้ว่า ใครเป็นผู้ผิด ผู้ถูกโทษจะตกกับผู้ใด แล้วแต่เจ้าคุณจะตัดสินเถิด” พระเทพกระวีมัดคำพระวันรัตว่า “พระเดชพระคุณอนุญาตตามใจผม ผมจะชี้โทษคุณให้ยินยอมพร้อมใจกันทั้งคู่ความ ทั้งพิพากษาให้อธิกรณ์ระงับได้ ให้เวรระงับด้วย” สมเด็จพระวันรัตก็อนุญาต

พระเทพกระวี (โต) ก็ประเล้าประโลมโน้มน้าวกล่าวธัมมิกถา พรรณนาอานิสงค์ของผู้ระงับเวร พรรณนาโทษของผู้ต่อเวร ให้โจทก์จำเลยสลดจิต คิดเห็นบาปบุญคุณโทษ ปราโมทย์เข้าหากัน ท่านจึงแก้ห่อผ้าไตรออกกับเงินอีกสามตำลึง ทำขวัญองค์ที่ศีรษะแตก แยกบทชี้เป็นสามสถาน ผู้ตีตอบเอาเป็นหมดเวร จักไม่ตีใครต่อไป ถ้าขืนไปตีใครอีก จะลงโทษว่าเป็นผู้ก่อเวร ฝืนต่อพระบวรพุทธศาสนา มีโทษหนักฐานละเมิด

ผู้ที่ถูกตีก็ระงับใจไม่อาฆาต ไม่มุ่งร้ายต่อก่อเวรอีก “ถ้าขืนคดในใจทำหน้าไหว้ หลังหลอก เอาฉันเป็นผู้ปกครอง หรือขืนฟ้องร้องกันต่อไป ว่าฉันเอนเอียงไม่เที่ยงธรรมแล้ว จะต้องโทษฐานบังอาจหาโทษผู้ใหญ่ โดยหาความผิดมิได้ ทั้งจะเป็นเสี้ยนหนามต่อพระบวรพุทธศาสนา เป็นโทษใหญ่ร้อนถึงรัฐบาล จะต้องลงอาญาตามรบิลเมืองฯ”

“ฝ่ายฉันเป็นคนผิด เอาแต่ธุระอื่น ไม่สอดส่องดูแลลูกวัด ไม่คอยชี้แจงสั่งสอนอันเตวาสิก สัทธิวาหาริก ให้รู้ธรรมรู้วินัย จึงลงโทษตามพระวินัยว่าไม่ควรย่อมเป็นโทษแท้ ขอคดีเรื่องนี้จงเลิกระงับไปตามวินัยนี้” พระฐานะที่นั่งฟังทั้งมหาบาเรียนและพระอันดับพระคู่ความ ก็สาธุการเห็นดีพร้อมกันอย่างเย็นใจ พระวันรัต (เซ่ง) ก็เห็นดี สงบเรื่องลงเท่านี้ฯ

ถอดได้ ก็ตั้งได้

ครั้งหนึ่งมีราชการโสกันต์ สังฆการีวางฎีกาว่าย่ำรุ่งถึง แล้วถวายพระพร ถวายชัยมงคลคาถา พระฤกษ์โสกันต์ วางฎีกาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ครั้นได้เวลาย่ำรุ่งตรง ท่านก็มาถึง พระมหาปราสาทยังไม่เปิดพระทวาร สมเด็จพระพุฒาจารย์ก็มานั่งอยู่บนบันไดพระมหาปราสาทชั้นบน แล้วท่านก็สวดชัยมงคลคาถาชยันโตโพธิยาลั่นอยู่องค์เดียว สามจบแล้ว ท่านก็ไปฉันข้าวต้มที่ทิมสงฆ์ แล้วท่านก็ไปพักจำวัดในโรงม้าต้น ในพระบรมมหาราชวัง ครั้นเวลาสามโมงเช้า เสด็จออกจวนพระฤกษ์ สังฆการีประจุ พระราชาคณะประจำที่หมด ยังขาดแต่สมเด็จพระพุฒาจารย์องค์เดียว เที่ยวตามหากันลั่นไปหมด สมเด็จพระจอมเกล้าทรงกริ้วใหญ่ พวกทนายเลือกสนใจใน บอกต่อๆ กันเข้าไปว่าได้เห็นสมเด็จหายเข้าไปในโรงม้าต้น พวกสังฆการี เข้าไปค้นคว้าเอาองค์ท่านมาได้ ช่วยกันรุนก้นดันส่งเข้าไปในพระทวาร ครั้นทอดรพะเนตร์เห็น ก็กริ้วแหว รับสั่งว่า “ถอดๆ ไม่ระวังรั้วงานราชการ เป็นขุนนางไม่ได้ แฉกคืนๆ เร็วๆ เอาชยันโตทีเดียว” ขรัวโตก็เดินชยันโตจนถึงอาสนสงฆ์ ลงเข้าแถวสวด พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงคีบพระเมาฬี พระบรมวงศานุวงศ์ก็คีบ และคีบ แลโกน เป็นลำดับไป ครั้นเสร็จแล้ว ทรงประเคน อังคาสพระสงฆ์ แล้วเสด็จเข้าในพระฉาก

ขรัวโตฉันแล้วก็นั่งนิ่ง เสด็จออกเร่งให้ยถา ขรัวโตก็ยถา แต่ไม่ตั้งตาลิปัด เวลานั้นพระธุระมาก มัวหันพระพักตร์ไปรับสั่งราชกิจอื่นๆ พระพุฒาจารย์ (โต) ก็เดินดุ่มๆ รีบออกไปลงเรือข้ามฟาก พอแปรพักตร์ไปรับสั่งอติเรก จะรีบฯ พระราชาคณะรองๆลงมา ก็ไม่มีใครกล้า นิ่งงันกันไปหมด รับสั่งถามว่า “อ้าว สมเด็จหายไปไหน” เขาทูลว่า “ท่านกลับไปแล้ว” “อ้าวพัดยังอยู่ ชรอยจะทำใจน้อยไม่เอาพัดไป เร็ว เอาพัดไปส่ง เอาตัวมาถวายอติเรกก่อน” สังฆการีรีบออกเรือตามร้องเรียก “เจ้าคุณขอรับ นิมนต์กลับมาก่อน มาเอาพัดแฉก” ท่านร้องตอบมาว่า “พ่อจะมาตั้งสมเด็จกลางแม่น้ำได้หรือ” สังฆการีว่า “รับสั่งให้หา” ท่านก็ข้ามกลับมา เข้าทางประตูต้นสน ดุ่มๆ ขึ้นมาบนพระปราสาท แล้วรับสั่งให้ถวายอติเรกเร็วๆ ฯ ทูลว่า ขอถวายพระพร ถวายไม่ได้ฯ” รับสั่งถามว่า “ทำไมถวายไม่ได้ฯ” ทูลว่า “ขอถวายพระพร เหตุพระราชบัญญัติตราไว้ว่า ให้พระราชาคณะถวายอติเรก บัดนี้ อาตมาภาพกลายเป็นพระอันดับแล้ว จึงไม่ควรถวายอติเรก ขอถวายพระพรฯ” รับสั่งว่า “อ้อ จริงๆ เอาสิ ตั้งกันใหม่” กรมวังออกหมายตั้งสมเด็จ บอกวิเสศเลี้ยงพระอีก สังฆการีวางฎีกา เอาพระชุดนี้ก็ได้ วิเสศทำไม่ทัน ก็ทำแต่น้อย ก็ได้เพียง ๕ องค์ ศุภรัตน์เตรียมผ้าไตรตั้ง และพระไตร พระชยันโต แล้วเสด็จ พวกสังฆการีวางฎีกาพระชุดโสกันต์กำหนดเวลา เลยกลับไม่ได้

ครั้นเวลา ๕ โมง เสด็จออกทรงประเคน พระฉันแล้ว (ประกาศตั้งสมเด็จ) ทรงประเคนหิรัญบัตร ประเคนไตร บาตร ตาลิปัด ย่าม พระชยันโต คราวนี้สมเด็จยกไตรแพรครอง กลับเข้ามาอนุโมทนาแล้วถวายอติเรก ถวายพระพรลา เป็นอันเสร็จการไปคราวหนึ่งฯ

ขรัวโตชอบ

ครั้งหนึ่งเข้าไปฉันในพระบรมมหาราชวังอีก ถวายเงินองค์ละ ๒๐ บาท สมเด็จทำดีใจ รวบเงินใส่ย่ามกราว ทรงทักว่า “อ้าว พระจับเงินได้หรือ” “ขอถวายพระพร เงิน พระจับไม่ได้ แต่ขรัวโตชอบ” เรื่องแผลงๆ ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) องค์นี้ตั้งแต่เป็นพระธรรมกิตติ มาจนเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ต่อหน้าพระที่นั่งเสมอมา แต่ก็ทรงอภัย ซ้ำพระราชทานรางวัลอีกด้วย ถึงวันรวบเงินนี้ ก็รางวัลอีก ๓๐ บาท รวบใส่ย่ามทันที ครั้นหิ้วคอนย่ามออกมา คนนั้นล้วงบ้าง คนนี้ล้วงบ้าง จนหมดย่าม ท่านคุยพึมว่า “วันนี้รวยใหญ่ ๆ” ฯ

เทศน์หายโศก

ครั้งหนึ่งหม่อมชั้นเล็ก ตัวโปรดของสมเด็จพระประสาทถึงอนิจกรรมลง สมเด็จพระประสาทรักหม่อมชั้นมาก ถึงกับโสกาไม่ค่อยสร่าง จึงใช้ทนายให้ไปอาราธนาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง ไปเทศน์ดับโศก ให้ท่านฟัง ทนายก็ไปอาราธนาว่า ฯพณฯ หัวเจ้าท่านให้อาราธนาพระเดชพระคุณ ไปแสดงธรรมแก้โศก ให้ ฯพณฯ ท่านฟังขอรับกระผมในวันนี้ เพลแล้วขอรับกระผม

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) รับว่า จ๊ะ เรื่องเทศน์แก้โศกนั้น ฉันยินดีเทศน์นักจ๊ะ ฉันจะไปจ๊ะ ครั้นถึงเวลา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ลงเรือกราบสี ไปถึงบ้านสมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์นั่งที่บัญญัติพาสน์

ฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็ออกรับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ปฏิสัณฐานแล้วจุดเทียน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ขึ้นธรรมาสน์ ให้ศีลบอกศักราชแล้วถวายพร แล้วเริ่มนักเขปบทเป็นทำนองเส้นเหล้าในกัณฑ์ชูชกว่า “ตะทากาลิงคะรัฏเฐ ทุนนะวิฏฐะพราหมณวาสี ชูชโกนามพราหมโณ ฯลฯ ตัสสอทาสิ” แปลความว่า “ตะฑากาเล ในกาลเมื่อสมเด็จพระบรม สองหน่อชินวงศ์วิศนุเวทฯ ว่าความพระคลัง ที่สมเด็จพระประสาทแต่งขึ้นนั้น พอกล่าวถึงกำเนิดชูชกของท่านว่า ผูกขึ้นใหม่ ขบขันคมสันมากกว่าความพระคลัง เพราะแหล่นอกแบบ ต้องขำอยู่เอง และแลเห็นความเป็นจริงเสียด้วย คราวนี้สมเด็จพระประสาทก็ยิ้มแป้น พวกหม่อมๆ เหล่านั้น และคนผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้เด็ก ทนาย ข้าราชการ ฟังเป็นอันมาก ก็พากันยิ้มแป้นทุกคน พอถึงแหล่ขอทาน แหล่ทวงทอง แหล่พานาง คราวนี้ถึงกับหัวเราะกันท้องคัดท้องแข็ง ถึงกับเยี่ยวรดเยี่ยวราดก็มีบ้าง ส่วนสมเด็จเจ้าพระยาก็หัวเราะ ถึงกับออกวาจาว่าสนุกดีจริง ขุนนางและทนายหน้าหอ พนักงานเหล่านั้น ลืมเกรงสมเด็จพระประสาท สมเด็จพระประสาทก็ลืมโศกถึงหม่อมเล็ก ตั้งกองหัวเราะกิ๊กก๊ากไปทั้งบ้าน เทศน์ไปถึงแหล่ยิง แหล่เชิญ แหล่นำทาง แหล่จบ ก็จบกัน ลงท้ายเหนื่อยไปตามๆ กัน รุ่งขึ้นที่บ้านนั้นก็พูดลือกันแต่ชูชก สมเด็จเทศน์ ฝ่ายสมเด็จพระประสาทก็ลืมโศก ชักคุยแต่เรื่องความชูชกตรงนั้นผู้นั้นๆ แต่ง ไม่มีใครร้องไห้ถึงหม่อมเล็กมานาน

ปราบนางนาคพระโขนง

ครั้นเมื่อนางนาค บ้านพระโขนง เขาตายทั้งกลม ปีศาจของนางนาคกำเริบ เขาลือกันต่อมาว่า ปีศาจนางนาคมาเป็นรูปคน ช่วยผัววิดน้ำเข้านาได้ จนทำให้ชายผู้ผัวมีเมียใหม่ไม่ได้ ปีศาจนางนาคเที่ยวรังควานหลอนหลอก คนเดินเรือในคลองพระโขนงไม่ได้ ตั้งแต่เวลาเย็นตะวันรอนๆ ลงไป ต้องแลเห็นปีศาจนางนาคเดินห่มผ้าสีบ้าง โหนตัวบนต้นโพธิ์ต้นไทรบ้าง พระสงฆ์ในวัดพระโขนงมันก็ล้อเล่น จนกลางคืนพระภิกษุสามเณรต้องนอนรวมกัน ถ้าปลีกไปนอนองค์เดียว เป็นต้องถูกปีศาจนางนาครบกวน จนเสียงกร๊อกแกร๊กอื่นๆ ก็เหมาว่าเป็นปีศาจนางนาคไปหมด พวกหมอผีไปทำเป็นผู้มีวิเศษตั้งพิธีผูกมัดเรียกภูตมัน มันก็เข้ามานั่งแลบลิ้นเหลือกตาเอา เจ้าหมอต้องเจ๊งมันมาหลายคน จนพวกแย่งพวกชิงล้วงลัก ปลอมตัวเป็นนางนาค หลอกลวงเจ้าของบ้าน เจ้าของบ้านกลัวนางนาค เลยมุดหัวเข้ามุ้ง ขโมยเก็บเอาของไปสบาย ค่ำลงก็ต้องล้อมต้องนั่งกองกันยันรุ่งก็มี
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านรู้เหตุปีศาจนางนาคกำเริบเหลือมือหมอ ท่านจึงลงไปค้างที่วัดมหาบุศ ในคลองพระโขนง พอค่ำท่านก็ไปนั่งอยู่ปากหลุม แล้วท่านเรียกนางนาคปีศาจขึ้นมาสนทนากัน ฝ่ายปีศาจนางนาคก็ขึ้นมาพูดจาตกลงกันอย่างไรไม่ทราบ ลงผลท้ายที่สุดท่านได้เจาะเอากระดูกหน้าผากนางนาคที่เขาฝังไว้มาได้ แล้วท่านมานั่งขัดเกลาจนเป็นมัน ท่านนำขึ้นมาวัดระฆัง ท่านลงยันต์เป็นอักษรไว้ตลอด เจาะเป็นปั้นเหน่งคาดเอว ไปไหนท่านก็เอาติดเอวไปด้วย ปีศาจในพระโขนงก็หายกำเริบซาลง เมื่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว. เจริญ) ยังเป็นสามเณรอยู่ในกุฏิ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นางนาคได้ออกมารบกวน ม.ร.ว.เณรๆ ก็ฟ้องสมเด็จฯ ว่า สีกามากวนเขาเจ้าข้า สีกามากวนเขา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านร้องว่า นางนาคเอ๊ย อย่ารบกวนคุณเณรซี ปีศาจนั้นก็สงบไป นานๆ จึงออกมารบกวน ครั้นท่านชรามากแล้ว ท่านจึงมอบปั้นเหน่งกระดูกหน้าผากนางนาค ประทานไว้กับหม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ มอบหม่อมราชวงศ์สามเณรเจริญให้ไปอยู่กับหม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ด้วย นานๆ นางนาคออกมาหยอกเย้าหม่อมราชวงศ์สามเณรเจริญ หม่อมราชวงศ์สามเณรเจริญต้องร้องฟ้องหม่อมเจ้าพระพุทธบาทฯ ๆ ต้องทรงกริ้วนางนาคว่า เป็นผู้หญิงยิงเรืออย่ามารบกวน คุณเณรจะดูหนังสือหนังหา เสร็จกริ้วแล้วก็เงียบไป (เรื่องนี้สำหรับเจ้านายหม่อมราชวงศ์วังหลังเล่าให้ฟัง)

ปฏิภาณฉับไว

ตั้งแต่ท่านรับสมณศักดิ์เป็นที่พระธรรมกิตติ จนกระทั่งเป็นพระเทพกวี ได้มีความผิดครั้งหนึ่ง เมื่อเทศน์ถึงตั้งกรุงกบิลพัสดุ์ และตั้งวงศ์สักยราช ในพระปฐมโพธิ ปริจเฉทที่ ๑ นั้น แต่ในสมัยใช่กาลจะเทศน์พระปฐมโพธิปริจเฉทที่ ๑ ไม่ใช่กลางเดือน ๖ ท่านก็นำไปเทศน์ถวายว่า เมื่อตั้งกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว จึงนำบุตรกษัตริย์ในวงศ์เดียวกันมาเสก แต่กษัตริย์องค์แรกได้นำพระขนิษฐานารีมาอภิเษก ตามลัทธิคติของพวกพราหมณ์ที่พากันนิยมว่าแต่งงานกันเองไม่เสียวงศ์ จนเป็นโลกยบัญญัติสืบมาช้านาน จนถึงกษัตริย์โอกากะวงศ์รัชกาลที่ ๑ รวมพี่น้อง ๗ องค์ เจ้าชาย ๓ เจ้าหญิง ๓ ออกจากเมืองพระราชบิดามาตั้งเป็นราชธานี ขนานนามว่ากรุงกบิลพัสดุ์ ตามบัญญัติของกบิลฤๅษี ต่อนี้ไปก็แต่งงานราชาภิเษก พี่เอาน้อง น้องเอาพี่ เอากันเรื่อยไม่ว่ากัน เห็นตามพราหมณ์เขาถือมั่นว่าอะสมภินนะวงศ์ ไม่แตกพี่แตกน้อง แน่นแฟ้นดี บริสุทธิ์ไม่เจือไพร่ คราวนี้เลียนอย่างมาถึงประเทศใกล้เคียงมัชฌิมประเทศก็พลอยเอาอย่างกันสืบๆ มา จนถึงสยามประเทศก็เอาอย่าง เอาพี่เอาน้องขึ้นราชาภิเษกและสมรสกันเป็นธรรมเนียมมา

สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ไม่พอพระราชหฤทัย ไล่ลงธรรมาสน์ไป ไป ไป ไปให้พ้นพระราชอาณาจักร ไม่ให้อยู่ในดินแดนของฟ้า ไปให้พ้น พระเทพกวีออกจากวัง เข้าไปนอนในโบสถ์วัดระฆังออกไม่ได้นาน ใช้บิณฑบาตบนโบสถ์ ลงดินไม่ได้ เกรงผิดพระบรมราชโองการ ครั้งถึงคราวถวายพระกฐิน เสด็จมาพบเข้ารับสั่งว่า อ้าวไล่แล้วไม่ให้อยู่ในราชอาณาจักรสยาม ทำไมยังขืนอยู่อีกล่ะ ขอถวายพระพร อาตมาภาพไม่ได้อยู่ในพระราชอาณาจักร อาตมาภาพอาศัยอยู่ในพุทธจักร ตั้งแต่วันที่มีพระราชโองการ อาตมาภาพไม่ได้ลงดินของมหาบพิตรเลย ก็กินข้าวที่ไหน ไปถานที่ไหน ขอถวายพระพร บิณฑบาตบนโบสถ์นี้ฉัน ถานในกระโถน เทวดาคนนำไปลอยน้ำ

รับสั่งว่า โบสถ์นี้ไม่ใช่อาณาจักรสยามหรือ ถวายพระพรว่า โบสถ์เป็นวิสุงคาม เป็นส่วนหนึ่งจากพระราชอาณาจักร กษัตริย์ไม่มีอำนาจขับไล่ได้ ขอถวายพระพร

ลงท้าย ขอโทษฯ แล้ว ทรงถวายกฐิน

ครั้นเสร็จการกฐินแล้ว รับสั่งว่า อยู่ในพระราชอาณาจักรสยามได้ แต่วันนี้เป็นต้นไป

ไฟสามกอง

ในปีฉลู สัปตศก ๑๒๒๗ ปีนั้นเอง สมเด็จพระปวเรนทราเมศร์มหิศเรศร์รังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบวรราชวัง (วังหน้า) เสด็จสวรรคต ในพระที่นั่งอิศเรศร์ ณ วัน…. เดือนยี่ เป็นปีที่ ๑๕ ในรัชกาลที่ ๔ เถลิงราชย์ ได้อุปราชาภิเศก ๑๔ ปี กับ ๓ เดือน พระชนม์ ๕๗ กับ ๔ เดือน ประกอบโกศตั้งบนพระเบญจา ในพระที่นั่งอิศเรศร์ ฯ นั้น

สมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานในพระบวรศพ แต่พอเสด็จถึงพระทวารพระที่นั่งนั้น พวกพระสวดพระอภิธรรม ๘ รูปท่านตกใจ เกรงพระบรมเดชานุภาพ ท่านลุกวิ่งหนีเข้าแอบในพระวิสูตร (ม่าน) ที่กั้นพระโกศ ทรงทราบแล้วกริ้วใหญ่ แหว ๆ ว่า ดูซิ ดูซิ ดูถูกข้า มาเห็นข้าเป็นเสือ เป็นยักษ์ เอาไว้ไม่ได้ ต้องให้มันสึกให้หมด รับสั่งแล้วทรงพระอักษรถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ส่งให้พระธรรมเสนา (เนียม) นำลายพระราชหัตถ์เลขามาถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง ครั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) รับจากสังฆการีมาอ่านดูแล้ว ท่านก็จุดธูป ๓ ดอก แล้วจี้ที่กระดาษว่างๆ ลายพระหัตถ์นั้น ๓ รู แล้วส่งให้พระธรรมเสนานำมาถวายคืนในเวลานั้น ฯ
ครั้นพระธรรมเสนาทูลเกล้าถวาย ทรงทอดพระเนตรเห็นรูกระดาษไหม้ไม่ลามถึงตัวหนังสือ ก็ทรงทราบธรรมปฤษณา จึงรับสั่งว่า อ้อ ท่านให้เราดับราคะ โทษะ โมหะ อันเป็นไฟ ๓ กอง งดที งดที เอาเถอะๆ ถวายท่าน พระธรรมเสนาไปเอาตัวพระสวดมานั่งประจำที่ให้หมด แล้วทรงแนะนำสั่งสอนระเบียบจรรยาในหน้าพระที่นั่ง ให้พระรู้ระเบียบรับเสด็จแต่นั้นมาจนถึงทุกวันนี้ฯ

เจ้าชีวิตเสวยน้ำเหล้า สมเด็จเจ้าก็ต้องแจวเรือ

ครั้นถึงเดือน ๑๑-๑๒ ลอยกระทงหลวง เสด็จลงประทับบนพระที่นั่งชลังคะพิมาณ (ตำหนักแพ) พร้อมด้วยฝ่ายในเป็นอันมาก สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) แจวเรือข้ามฟากฝ่าริ้วเข้ามา เจ้ากรมเรือตั้งจับเรือแหกทุ่น รับสั่งถามว่าเรือใคร เจ้ากรมกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า เรือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) รับสั่งว่า เอาเข้ามานี่ ครั้นเจ้ากรมเรือ ดั้ง นำเรือสมเด็จฯ เข้าไปถวาย นิมนต์ให้นั่งแล้วรับสั่งว่าไปไหน ทูลขอถวายพระพร ตั้งใจมาเฝ้า ทำไมถึงเป็นสมเด็จเจ้าแล้ว เหตุใดต้องแจวเรือเอง เสียเกียรติยศแผ่นดิน ทูล ขอถวายพระพร อาตมภาพทราบว่า เจ้าชีวิตเสวยน้ำเหล้า สมเด็จเจ้าก็ต้องแจวเรือ อ้อ จริง จริง การกินเหล้าเป็นโทษ เป็นมูลเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติยศแผ่นดินใหญ่โตทีเดียว ตั้งแต่วันนี้ไป โยมจะถวายพระคุณเจ้า จักไม่กินเหล้าอีกแล้ว สมเด็จพระพุฒาจารย์เลย ยถาสัพพี ถวายอติเรก ถวายพระพรลา รับสั่งให้ฝีพายเรือดั้งไปส่งถึงวัดระฆัง

ให้คนเป็นบ้างไม่ได้หรือ?

ครั้งหนึ่งเมื่อยังเป็นพระเทพกระวี ได้เข้าไปฉันบนพระที่นั่งแล้วยถาจบ สมเด็จพระจอมเกล้า ทรงสัพยอกว่า ทำไมจึงไปให้เปรตเสียหมด คนผู้ที่ทำจะไม่ให้บ้างหรือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ยถาใหม่ว่า ยถา วาริ วหา ปุราปริม ปุเรนฺติสาครํ เอว เมวอิโตทินนํ ทายกานํ ทายิกานํ สพฺเพสํ อุปกปฺปติ รับสั่งว่า ยถาอุตตริ สัพพีอุตตรอย แล้งทรงรางวัล ๖ บาท สมเด็จเข้าวังทีใด อะไรมิอะไรก็ขยายให้เป็นที่พอพระราชหฤทัย ได้รางวัลทุกคราวฯ

นิพพานเปรียบเทียบ

ก็และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) องค์นี้ พูดธรรมสากัจฉากันในที่สมภารต่างๆ ถ้ามีผู้ถาม ถามขึ้นว่า คำที่เรียกว่า นิพพานๆ นั้น บางคนเป็นนักแปล ก็แปลตามศัพท์ ว่า ดับ บ้าง ออกจากเครื่องร้อยรัด บ้าง แปลว่าเกิดแล้วไม่ตายบ้าง ตายแล้วไม่มาเกิดบ้าง ดับจากกิเลสบ้าง ดับไม่มีเศษเป็นนิรินทพินาสบ้าง เลยไม่บอกถิ่นฐานเป็นทางเดียวกัน จะยังกันและกันให้ได้ความรู้จักพระนิพพานเป็นเงาๆ หรือรู้รางรางบ้างก็ทั้งยาก จึงพากันหารือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ในเรื่องใคร่รู้จักนิพพาน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านว่าท่าก็ไม่รู้แห่ง แต่จะช่วยชี้แจงอุปมาเปรียบเทียบให้รู้และเข้าใจเอาเอง ตามเหตุแลผล เทียบเทียมได้บ้างว่า นิพพานจะรู้ได้อย่างไร ท่านอุปไมยด้วยหญิงสองคนพี่น้องจ้องคิดปรารภปรารมภ์อยู่แต่การมีผัว อุตส่าห์อาบน้ำทาขมิ้น นุ่งผ้าใหม่ ผัดหน้า หวีผมแปร้ ก็ประสงค์ความรักให้เกิดกับชายผู้แลเห็น จะได้มาสู่ขอเป็นสามีเท่านั้น ครั้นล่วงมาก็สบโชคสบช่องของคนพี่สาว มีผู้มีชื่อมีหน้ามาขอ ได้ตกลงแต่งงานร่วมห้องร่วมหอกันแล้ว หญิงผู้ที่เป็นนางน้องสาวก็มาเยี่ยม แล้วตั้งหน้าวิงวอนเซ้าซี้ซักถามว่า พี่จ๋า การที่พี่หลับนอนกับผัวนั้น มีรสมีชาติครึกครื้นสนุกสนานชื่นบานเป็นประการใด จงบอกให้ฉันรู้บ้าง นางพี่สาวก็ไม่รู้แห่งจะนำความรื่นรมย์สมสนิทด้วยสามีนั้น ออกมาตีแผ่เปิดเผยให้น้องสาวสม รู้ตาม เห็นตามในความรื่นรมย์แห่งโลกสันนิวาสได้ นางพี่สาวก็ได้แต่บอกว่า น้องมีผัวบ้างน้องจะรู้เอง ไม่ต้องถามเอาเรื่องกับพี่หรอก ครั้นอยู่มาไม่ช้านาน นางผู้เป็นน้องสาวได้สามีแล้ว ไปหาพี่สาวๆ ถามว่าการหลับนอนรมย์รื่นชื่นใจกับผัว น้องมีความรู้สึกว่าเป็นเช่นไร ลองเล่าบอกออกความให้พี่เข้าใจบ้างซี แม่น้อง นางน้องสาวฉอเลาะตอบพี่สาวทันทีว่า พี่ไม่ต้องเยาะ ไม่ต้องเยาะ และพี่น้องคู่นั้นก็นั่งสำรวล หัวเราะกันตามฐานที่รู้รสสังวาสเสมอกัน ข้ออุปมานี้ฉันใดก็ดี พระโยคาวจรกุลบุตร มีความมุ่งหมายจะออกจากชาติจากภพ เบื่อหน่ายโลกสันนิวาส เห็นว่าเป็นหม้อต้มหรือเรือนอันไฟไหม้ คิดจะออกจะหนีให้พ้น ก็ทำความพยายามแข็งข้อ ถกเขมรจะเผ่นข้ามให้พ้นจากหม้อต้มสัตว์ และเรือนไฟอันไหม้ลุกลาม ก็เตรียมตัวทำศีลให้บริสุทธิ์ ปราศจากโทษเศร้าหมอง ทำสมาธิตั้งใจตรง จงใจทำสัมมะถะกัมมัฏฐาน ทำปัญญาให้เป็นวิปัสสนาญาณอย่างยิ่งยอด ตัดสังโยชน์ให้ขาดเด็ดแล้วด้วยมีดคมกล้า กล่าวคือ โคตรภูญาณ อนุโลมญาณ มรรคญาณ ทำช่องให้เวิ้งว้างเห็นแสงสว่างปรากฏพระโยคาวจรกุลบุตรก็กำหนดดวงจิต จิตวางอารมณ์วางสัญญา วางอุปาทานเครื่องยึดถือ ทำลายเครื่องกั้นทั้ง ๕ ละวางได้ขาด ประกอบองค์ ๕ คือ วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข เอกกคตา ฟอกใจ คราวนี้ก็กอปรด้วยวิสุทธิ ๗ เมื่อวิสุทธิ ๗ ประการผุดขึ้นแล้ว พระโยคาวจรกุลบุตรก็มาละวิตก ละวิจารณ์ ละปิติ ละสุข ละเอกกคตา เหลือแต่อุเบกขาญาณ ดำเนินไปอุเบกขาญาณ มีองค์ ๖ ประการ เป็นพื้น มโนธาตุ ก็กลายเป็นอัพยากฤตไม่ติดบุญ ไม่ติดบาป ต่อไป จะยังมีลมหายใจหรือหมดลมหายใจ มโนธาตุก็ตั้งอยู่ตามตำแหน่ง ไม่เข้าสิงในเบญจขันธ์ต่อไป เรียดว่า ธรรมธาตุ บริสุทธิ์จำเพาะตน เรียกว่า พระนิพพาน ท่านผู้ใด ผู้ถึง ท่านรู้กันว่าเป็นเอกันตบรมสุข ไม่ระคนปนด้วยทุกข์ต่อไป ท่านไม่ต้องซักถามเซ้าซี้ เช่นหญิงทั้ง ๒ ดังสำแดงมา

อาทิตย์สิ้นแสงสูริย์

ในปลายปีมะเมีย โทศก นี้มา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้มีลายลิขิตแจ้งแก่กรมสังฆการีว่า จะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตยกเป็นสมเด็จพระราชาคณะกิตติมศักดิ์ ด้วยเหตุชราทุพพลภาพ ไม่สามารถรับราชการเทศน์แลสวดฉันในพระบรมราชวังได้ ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตตกเป็นพระมหาเถรกิตติมศักดิ์ และได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมเจ้าพระ (ทัส) ในกรมสมเด็จพระราชวังหลัง ขึ้นเป็นพระราชาคณะรองเจ้าอาวาส พระราชทานพระสุพรรณบัฏมีราชทินนามว่า หม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ มีฐานา ๓ รูป มีนิตยภัตรเดือนละ ๑๖ บาท ค่าข้าวสาร / บาท เป็นผู้ช่วยบัญชาการกิจการวัดระฆังต่อไป
ฝ่ายสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตั้งแต่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ปลดชรายกเป็นสมเด็จพระราชาคณะกิตติมศักดิ์แล้ว ท่านก็คลายอิสริยยศ บริวารยศ แบกตาลิปัดเอง พายเรือบิณฑบาตเอง จนเป็นที่คุ้นเคยกับอีกา กาจับบ่ากินอาหารกับท่าน จนท่านพูดกับกาที่ประตูอนงคลีลา (ประตูดิน) กาตัวหนึ่งบอกว่าจะไปวัดมหาธาตุ กาตัวหนึ่งว่าจะไปท่าเตียน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ว่า ไปท่าเตียนดีกว่าไปวัดมหาธาตุ เพระคนเขาทิ้งหัวกุ้งหัวปลาหมักหมมไว้มาก ที่วัดมหาธาตุถึงมีโรงครัวก็จริง แต่ทว่าคนเขาเก็บกวาดเสียหมดแล้วจ้ะ
ครั้นถึง ณ วันเดือน ๕ ปีวอก จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๓๔ ปี เป็นปีที่ ๕ ในรัชกาลที่ ๕ กรุงเทพพระมหานครฯ ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๑๕ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไปดูการก่อพระโตที่วัดบางขุนพรหมใน ก็ไปอาพาธด้วยโรคชราภาพ ๑๕ วัน ก็ถึงมรณภาพ บนศาลาใหญ่วัดบางขุนพรหมใน ในเวลาปัจจุบันสมัยวันนั้น สิริรวมชนมายุ ๘๔ บริบูรณ์ เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามมาได้ ๒๑ ปีบริบูรณ์ รับตำแหน่งที่สมเด็จพระพุฒาจารย์มาได้ ๗ ปีบริบูรณ์ ถ้าจะนับปีทางจันทรคติก็ได้ ๘ ปี นับอายุทางจันทรคติก็ได้ ๘๕ ปี เพราะท่านเกิดปีวอก เดือน ๖ รอบที่ ๗ ถึงวอกรอบที่ ๘ เพียงย่างขึ้นเดือน ๕ ท่านก็ถึงมรณภาพ คิดทดหักเดือน ตามอายุโหราจารย์ ตามสุริยคตินิยม จึงเป็นอายุ ๘๔ ปีบริบูรณ์ ด้วยประการฉะนี้

พระสมเด็จวัดระฆังโฆษิตาราม

…..พระสมเด็จวัดระฆังเป็นพระที่สร้างจากเนื้อผงวิเศษ ๕ ชนิด คือ ปถมัง , อิธะเจ , มหาราช , พุทธคุณ และตรีนิสิงเห ตามลำดับ การเกิดผงวิเศษทั้ง ๕ นี้ นับเป็นขบวนการหล่อหลอมพระเวทย์วิทยาคมอันศักดิ์สิทธิ์ทั้ง ๕ มาเป็นหนึ่งเดียว วิธีการสร้างผงวิเศษนั้นเริ่มมาจากการบริการพระคาถา เขียนสูตร ชักยันต์ด้วยชอล์คลงในกระดาษชนวน เขียนแล้วลบ ลบแล้วเขียนใหม่ทำเช่นนี้นับเป็นร้อยๆครั้ง จนเกิดเศษชอล์คจากการลบ ซึ่งถือว่าเป็นผงศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดจากการตั้งจิตบริกรรมพระเวทย์ในขณะที่เขียนให้ครบถ้วนตามจำนวนที่พระเวทย์ในแต่ละบทกำหนดไว้ ขั้นผงที่ได้ออกมาเป็นผงที่ได้ออกมาเป็นผงที่มีชื่อ “ ปถมัง ”

…..เมื่อได้ผง “ ปถมัง ” แล้ว นำผงนี้มาปั้นเป็นดินสอ ตากแห้ง แล้วนำแท่งดินสอชอล์ดที่เกิดจากผงปถมัง มาเขียนสูตรพระเวทย์อีกบทหนึ่งเขียนแล้วลบ ทำซ้ำกันตามจำนวนครั้งที่พระเวทย์บทใหม่กำหนด จนเกิดผงชอล์ดครั้งใหม่ ที่เรียกว่า “ ผงอิธะเจ ” แล้วก็ผงอิธะเจมาปั้นเป็นแท่งชอล์ด เขียนสูตรพระเวทย์อีก เขียนแล้วลบ ลบแล้วเขียนเช่นนี้จนได้ ผงมหาราช แล้วก็ผงมหาราช กระทำเช่นเดียวกับขั้นตอนการทำตอนการผงอื่นๆ หากแตกต่างกันที่สูตรในการเขียน อักขระเลขยันต์ และจำนวนครั้งที่ถือเป็นเฉพาะแต่ละสูตรจนได้ ผงพุทธคุณ และสุดท้ายคือ ผงตรีนิสิงเห อันเกิดจากหลอมรวมสูตรทั้ง ๕ มาเป็นหนึ่งเดียวจากนั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังษี ) จึงนำผงวิเศษนี้มาผสมรวมกันกับเปลือกหอยที่บดหอยที่บดละเอียดอันเป็นส่วนผสมหลัก นอกจากนี้ก็จะมีข้าวสุก ดินสอพอง กล้วย โดยมีน้ำตังอิ๊วเป็นตัวประสานส่วนผสมเหล่านี้ จากนั้นจึงนำพระที่ผสมเสร็จแล้วนั้น กดลงในแม่พิมพ์ซึ่งแกะพิมพ์โดย นายเทศ แห่งช่างหล่อ

…..การสร้างพระสมเด็จวัดระฆัง เป็นการสร้างไปแจกไป มิได้เก็บลงกรุ โดยประมาณว่ามีการสร้างถึง ๘๔ , ๐๐๐ องศ์ เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์

พระสมเด็จวัดระฆัง ถูกจำแนกออกไปเป็น ๕ พิมพ์ใหญ่ด้วยกันคือ
๑ พิมพ์พระประธาน หรือ พิมพ์ใหญ่
๒ พิมพ์ทรงเจดีย์
๓ พิมพ์เกศบัวตูม
๔ พิมพ์ฐานแซม
๕ พิมพ์ปรกโพธิ์ สำหรับพระพิมพ์นี้มีให้พบน้อยมาก ภายหลังจึง ไม่ค่อยจะมีผู้กล่าวถึง

พระสมเด็จบางขุนพรหม(วัดใหม่อมตรส)
บางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร

เสมียนตราด้วง ท่านเป็นต้นสกุล ธนโกเศศ เป็นคหบดีผู้มั่งคั่งย่านบางขุนพรหม และจากหน้าประวัติของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) อดีตท่านเจ้าอาวาสวัดระฆังฯ ผู้ประติมากรรมพระสมเด็จวัดระฆัง อันมีค่านิยมสูงจนรั้งตำแหน่งราชาแห่งพระเครื่องมาโดยตลอดนั้น ท่านเสมียนตราด้วง ท่านได้ปวารณาตัวเป็นโยมอุปัฏฐากและรับใช้ใกล้ชิดในท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ พระองค์นั้นอย่างเสมอต้นเสมอปลายตลอดมาทุกยุคทุกสมัย แต่ครั้งท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังเป็นสามเณร และได้จำเริญสมณศักดิ์จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณสถาปนาเป็นที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ จนกระทั่งท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านชราภาพ ชนม์มายุได้ ๘๔ ปี จึงได้ลาจากสมณศักดิ์ยกขึ้นเป็นกิตติมศักดิ์ ท่านได้จึงมาพักผ่อนและแสวงหาความสงบวิเวกอยู่ ณ ที่วัดบางขุนพรหม กำกับดูแลช่างเขียนภาพประวัติส่วนตัวของท่านและควบคุมช่างก่อสร้างพระศรีอริยเมตไตรยอีกด้วย
วัดบางขุนพรหมในอดีตนั้นเป็นวัดที่มีอาณาเขตที่กว้างขวางมากวัดหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านกลับมาพักผ่อนเป็นที่สำราญอารมณ์อยู่นั้น ได้มีชาวบ้านในย่านบางขุนพรหมได้นำเอาที่ดินอันเป็นเรือกสวนไร่นามาถวายท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ แล้วรวมเป็นที่ดินของวัดบางขุนพรหม และเพื่อให้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างพระหลวงพ่อโต เมื่อรวมที่ดินของวัดบางขุนพรหมแล้วมีอาณาเขตกว้างขวาง ทิศตะวันตกจดแม่น้ำเจ้าพระยา ทางทิศเหนือจดคลองเทเวศร์ ทิศตะวันออกถึงบ้านพานบ้านหล่อพระนคร
ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๕ ทรงพิจารณาเห็นความจำเป็นในการถมนาเพื่อความเจริญของบ้านเมือง จึงทรงมีพระราชดำริให้ตัดถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ผ่านกลางวัดบางขุนพรหม จึงทำให้วัดบางขุนพรหมต้องแยกออกเป็นสองวัด คือ วัดบางขุนพรหมใน หรือ วัดใหม่อมตรส ในปัจจุบัน และวัดบางขุนพรหมนอก คือวัดอินทรวิหาร อันเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต (พระศรีอริยเมตไตรย) และเมื่อทางราชการได้ตัดถนนสามเสนก็ได้แบ่งที่ดินของวัดบางขุนพรหมออกไปอีกส่วนหนึ่ง
วัดบางขุนพรหมเป็นวัดเก่าแก่มีมาแต่สมัยอยุธยาเป็นราชธานี และเป็นวัดที่สร้างอยู่บนที่ดอนห้อมล้อมไปด้วยเรือกสวนและไร่นา เข้าใจว่าเป็นวัดที่ประชาชนในละแวกนั้นช่วยกันสร้างและบูรณะสืบต่อๆ กันมา เมื่อปีจอ พุทธศักราช ๒๓๒๑ เจ้าอินทรวงศ์ราชโอรสในพระเจ้าธรรมเทววงศ์ ผู้ครองนครศรีสัตนาครหุตได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ในรัชสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี ต่อมาครั้นสร้างกรุงเทพมหานครเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ทว่าวัดบางขุนพรหมไม่เคยได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์เลยสักครั้งเดียว สิ่งก่อสร้างต่างๆ ได้ปรักหักพังลง สืบต่อมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๕ เสมียนตราด้วง พร้อมกับชาวบ้านในย่านบางขุนพรหมและท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้ร่วมใจกันบริจาคจตุปัจจัยไทยธรรมจัดการสร้าง และซ่อมแซมวัดบางขุนพรหมขึ้นมาใหม่ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ นอกจากนั้นแล้วยังได้จัดสร้างพระมหาเจดีย์องค์ใหญ่ประดิษฐานไว้ที่หน้าวัดบางขุนพรหมเป็นพิเศษอีกด้วย เมื่อดำเนินการสร้างพระมหาเจดีย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านเสมียนตราด้วงพร้อมกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้จัดสร้างพระพิมพ์เนื้อผงสีขาวอย่างพระสมเด็จวัดระฆัง มีจำนวนมากถึง ๘๔,๐๐๐ องค์ บรรจุไว้ในพระมหาเจดีย์เพื่อเป็นพุทธบูชาและการสืบพระศาสนาตามคดีโบราณนิยมอีกด้วย
อนึ่งการสร้างพระสมเด็จบรรจุพระมหาเจดีย์ที่วัดบางขุนพรหมนั้นได้รับความอนุเคราะห์จากท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ โดยให้ใช้แม่พิมพ์สมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามของท่านที่เคยใช้ในการสร้างพระสมเเด็จวัดระฆัง คือ พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่,พระสมเด็จพิมพ์เจดีย์,พระสมเด็จพิมพ์เกศบัวตูม,พระสมเด็จพิมพ์ฐานแซม
นอกจากพิมพ์พระสมเด็จวัดระฆัง ดังกล่าวแล้วนั้น ทางคณะท่านผู้สร้างพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมยังได้ให้นายช่างผู้แกะแม่พิมพ์วัดระฆัง เจ้าเดิม แกะแม่พิมพ์พระสมเด็จทั้ง ๔ พิมพ์ ดังกล่าวแล้วเพิ่มเติมขึ้นมาอีก และยิ่งไปกว่านั้นยังให้แกะแม่พิมพ์พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมขึ้นมาในรูปทรงใหม่อีก ๗ พิมพ์คือ พระสมเด็จพิมพ์เส้นด้าย,พระสมเด็จพิมพ์สังฆาฏิ,
พระสมเด็จพิมพ์สังฆาฏิ หูช้าง,พระสมเด็จพิมพ์ฐานคู่,พระสมเด็จพิมพ์ปรกโพธิ์,พระสมเด็จพิมพ์อกครุฑ,พระสมเด็จพิมพ์ไสยาสน์ รวมในกรุวัดบางขุนพรหมมีพระทั้งสิ้น ๑๑ พิมพ์ด้วยกันก็จริงและแต่ละพิมพ์ทรงยังมีแม่พิมพ์ที่แตกต่างกันออกไปอีกมาก อย่างเช่น พระสมเด็จพิมพ์เส้นด้าย มีแม่พิมพ์ที่ต่างพิมพ์กันไปอีกหลายพิมพ์ ตัวอย่างเช่น พระสมเด็จพิมพ์เส้นด้ายใหญ่ พระสมเด็จพิมพ์เส้นด้ายแขนกลม พระสมเด็จพิมพ์เส้นด้ายแขนหักศอก เป็นต้นเมื่อได้พิจารณาถึงการสร้างพระสมเด็จบางขุนพรหมแล้ว ท่านจะเห็นว่า การสร้างพระสมเด็จในครั้งนี้นั้นไม่เหมือนกับการสร้างพระสมเด็จวัดระฆังที่อยู่ในลักษณะที่ค่อยทำค่อยไปไม่รีบเร่ง รวบรวมผงวิเศษวัสดุอาถรรพณ์และวัตถุมงคลได่แค่ไหนก็ทำไปแค่นั้น มวลสารในพระสมเด็จวัดระฆัง จึงหลากหลายและมีความแตกต่างกันไปบ้างเป็นธรรมดา เพราะการผสมมวลสารต่างกรรมต่างวาระกัน ผิดกับการสร้างพระสมเด็จที่วัดบางขุนพรหม เข้าใจว่าคงจะระดมชาวบ้านช่องมาช่วยกันสร้างกันเป็นงานใหญ่ครั้งมโหฬารให้สำเร็จกันเลยทีเดียว มวลสารของสมเด็จกรุบางขุนพรหมส่วนมากจึงเป็นไปในลักษณะอย่างเดียวกันคือเนื้อจะแก่ปูนหอย หรือปูนเพชร ผสมผสานด้วยผงวิเศษซึ่งสำเร็จจากสูตรสนธิ์อันเป็นอักขระเลขยันต์ตามตำราบังคับ เช่น ผงปถมัง อิถเจมหาราช ตรีนิสิงเห และผงนะอักขระวิเศษต่างๆ อันมีนะ ๑๐๘ เป็นต้น เนื้อหาจึงดูกระด้างไม่หนึกนุ่มและอุดมไปด้วยมวลสารอันมีวัสดุมงคลและอาถรรพณ์อย่างกับพระสมเด็จวัดระฆัง หรือจะพูดโดยสรุปก็คือมวลสารจะหนักไปทางผงปูนหอยเมื่อได้สร้างพระสมเด็จบางขุนพรหม และการปลุกเสกจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เสร้จเรียบร้อยแล้วจึงได้ทำการบรรจุในเจดีย์องค์ใหญ่ที่วัดบางขุนพรหม
อนึ่ง การบรรจุพระสมเด็จไว้ในพระเจดีย์ที่วัดบางขุนพรหมนั้นเป็นงานบุญครั้งยิ่งใหญ่ซึ่งนานทีปีหนจึงจักมีสักครั้งหนึ่ง ในครั้งต่อมาการบรรจุพระพิมพ์ ๒๕ พุทธศตวรรษ ที่นับเป็นการใหญ่และค่อนข้างจะเป็นทางการ
ดังนั้น การบรรจุพระสมเด็จที่กรุวัดบางขุนพรหม ชาวบ้านร้านตลาด ตลอดจนประชาชนทั้งไกลและใกล้ย่อมจักทราบกันเป็นอย่างดีและเป็นข่าวที่เล่าขานสืบต่อๆ กันมาจนกระทั่งถึงสงครามโลกครั้งที่ ๑ ประเทศไทยได้ส่งทหารหาญไปร่วมรบ ในการนี้ได้ปรากฎมีประชาชนแอบเข้ามาใช้ดินเหนียวปั้นเป็นลูกกลมๆ แล้วหย่อนลงไปตามช่องลมพระเจดีย์เพื่อให้พระสมเด็จติดก้อนดินขึ้นมา ทีแรกก็ทำกันอย่างลับๆ ล่อๆ เพียงไม่กี่ตน ครั้นตกได้พระสมเด็จขึ้นมามีการเช่าซื้อปรากฎเป็นสนนราคาขึ้นมาแล้วเท่านั้นแหละ ปรากฎว่าแห่กันมาเป็นการโกลาหล ครั้งแรกทางวัดมิได้ห้ามหวงแต่อย่างใด แต่พอนานๆ เข้าเห็นว่าจะไม่ได้การ จึงทำการโบกปิดช่องลมที่พระเจดีย์เสียการตกเบ็ดพระสมเด็จกรุบางขุนพรหมได้ยุติลง
พระสมเด็จบางขุนพรหมซึ่งได้จากการตกในครั้งนั้น นิยมเรียกว่าพระสมเด็จบางขุนพรหมกรุเก่าจะไม่ปรากฎขี้กรุชัดเจน ผิวจะเรียบ จะมีอยู่บ้างก็เป็นชนิดราบนวลขาว ที่เรียกว่าฟองเต้าหูเท่านั้น ผิวพระจึงเรียบงดงามเพราะไม่มีขี้กรุผสมผสานกับดินกรุดินแน่นเป็นก้อนสีน้ำตาลแก่ ชนิดลอกขี้กรุออกนั้นต้องใช้หัวกรอฟันจึงจะเอาออกได้
วัดบางขุนพรหมได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดใหม่อมตรส ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวบูรณะปฏิสังขรณ์กรุงเทพฯ ๑๕๐ ปี (พ.ศ. ๒๔๗๕)

พระสมเด็จวัดเกศไชโย วัดไชโยวรวิหาร
อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง

วัดไชโย เป็นวัดราษฎรสามัญสร้าง เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาแต่โบราณกาล ปรากฎชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไปก็เมื่อครั้งท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) อดีตท่านเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ผู้เป็นอมตะเถระ ได้มาสร้างพะรพุทธรูปใหญ่โตขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เรียกกันว่าหลวงพ่อโต ต่อมามีชื่อว่า พระมหาพุทธพิมพ์
พระมหาพุทธพิมพ์ ครั้งท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) สร้างนั้น เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิ ก่ออิฐสอดินถือปูนขาว ไม่ได้ปิดทอง ประทับนั่งอยู่กลางแจ้ง ขนาดหน้าตักกว้าง ๘ วา ๖ นิ้ว สูงสุดถึงยอดพระรัศมี ๑๑ วา ๑ ศอก ๗ นิ้ว มองเห็นได้แต่ไกล
ปรากฎในจดหมายเหตุครั้งเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสมณฑลอยุธยา (พ.ศ. ๒๔๑๖) เสด็จขึ้นทอดพระเนตรพระโตนี้
สืบต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยารัตนบดินทร (บุญรอด) ที่สมุหนายก สำเร็จราชการกรมมหาดไทยเป็นแม่กองปฏิสังขรณ์วัดไชโยขึ้นใหม่ทั่วพระอารามเมื่อปีกุน (พ.ศ.๒๔๓๐)
ครั้งเมื่อสร้างพระวิหารครอบพระมหาพุทธพิมพ์ได้มีการกระทุ้งราก ฝังเข็มพระมหาพุทธพิมพ์พระพุทธรูปใหญ่ทนการกระเทือนไม่ได้จึงพังทลายลงมา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสร้างพระพุทรูปขึ้นใหม่เป็นของหลวงทดแทนพระพุทธรูปที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้สร้างเอาไว้
จากเหตุที่เจ้าพระยารัตนบดินทร (บุญรอด) ดำเนินการปฏิสังขรณ์วัดไชโยและสร้างวิหารครอบพระมหาพุทธพิมพ์ หรือพระใหญ่ ที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้สร้างขึ้นไว้ เนื่องจากด้วยแต่เดิมที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างไว้นั้นองค์ใหญ่โตมาก การสร้างก็ไม่มั่นคงแข็งแรงแต่อย่างใด เพียงแต่อิฐสอดินและถือปูนเท่านั้น ไม่มีโครงสร้างยึดเกาะ
จากเหตุที่พระมหาพุทธพิมพ์พังทลายลงมานี้เอง จึงได้พบพระพิมพ์เนื้อผงขาวทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นจำนวนมาก ตามที่เราท่านรู้จักกันดีในนามพระสมเด็จวัดเกศไชโยนั่นเอง
พระสมเด็จวัดเกศไชโยนี้เป็นที่ยอมรับและเชื่อกันว่า ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านได้สร้างและบรรจุเอาไว้เพื่อเป็นพุทธบูชาและเป็นอนุสรณ์ แต่โยมมารดาของท่าน ชื่อเกศ หรืออีกนัยหนึ่งว่ากันว่า ท่านเกิดและเจริญเติบโตมานั่งได้ที่นี่ เป็นต้น
และยิ่งไปกว่านั้น ยังเดากันว่า เหตุที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านเจาะจงให้ช่างแกะแม่พิมพ์สมเด็จตรงช่วงทรวงอกให้เป็นร่องลึกนั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่า ธรรมดาเมื่อบุตรธิดาเกิดมาลืมตาดูโลกก็ได้อาศัยดื่มกินน้ำนมอันเกิดแต่เลือดเนื้อเชื้อไขของมารดาจนกระทั่งท่านมีอันต้องผ่ายผอมลงจนอกท่านเป็นร่อง เป็นเครื่องยังชีพให้ทารกได้เจริญเติบโตใหญ่มาได้นั้น บุญคุณท่านสุดจะประมาณได้กว้างใหญ่ไพศาลถึงแผ่นฟ้าแผ่นดิน
พูดถึงพระสมเด็จวัดไชโยก็แปลกอยู่อย่างทั้งๆ ที่วัดนี้เขาเรียกกันว่าวัดไชโยด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าผู้เฒ่าผู้แก่ หรือชื่อที่ปรากฎอยู่ในทำเนียบวัดเขาก็ชื่ออย่างนั้น หรือชื่อที่ปรากฎอยู่ในทำเนียบวัดเขาก็ชื่ออย่างนั้น พอเกิดได้พระสมเด็จขึ้นมากลับเติมคำว่าเกศลงไปข้างหน้า เป็นพระสมเด็จวัดเกศไชโยไปเสียและเรียกเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
วัดนี้มีชื่อเต็มว่า วัดไชโยวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ตั้งอยู่ใน ตำบลไชโย อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง บนฝั่งขวาของแมน้ำเจ้าพระยา วัดนี้นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานพระมหาพุทธพิมพ์แล้วยังมีรูปหล่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) อีกด้วย
รูปหล่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ช่างหลวงหล่อขึ้นเป็น ๒ องค์ด้วยกัน พระราชทานแก่วัดระฆังโฆสิตารามและวัดไชโย
ถึงหน้าเทศกาลงานนมัสการพระพุทธรูปประจำปี ประชาชนจะหลั่งไหลมาจากกหัวเมืองต่างๆ เพื่อนมัสการพระมหาพุทธพิมพ์ พระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์และปิดทองรูปหล่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ
คราวที่ ๒ กำหนดในฤดูน้ำ เดือน ๑๑ แรม ๘ ค่ำ ถึงแรม ๑๐ ค่ำ รวม ๓ วัน ๓ คืน อีกเช่นกันงานในฤดูน้ำนี้สนุกสนานมาก มีการออกร้านเยี่ยงงานภูเขาทอง ในกรุงเทพฯ เวลานั้นน้ำขึ้นเต็มฝั่ง การสัญจรไปมาสะดวกมาก เรือแพนาวาจอดยาวเหยียดตลอดฝั่งแม่น้ำ โดยเฉพาะหน้าวัดไชโยจะจอดเรียงซ้อนกันไปเกือบกลางแม่น้ำเจ้าพระยา
ความศักดิ์สิทธิ์ของพระมหาพุทธพิมพ์และรูปหล่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ นั้น ประชาชนเคารพนับถือความศักดิ์สิทธิ์ในเชิงน้ำมนต์รักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ และความมีสิริมงคลสืบต่อมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
พุทธลักษณะพระสมเด็จวัดเกศไชโย เป็นแบบเดียวกันกับพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม และพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ผิดกันที่องค์พระมีลักษณะเป็นอกร่อง ผงส่วนมากที่ทำสำเร็จเป็นองค์พระมักมีสีขาวมากกว่าสีอื่นๆ ด้านหลังของพื้นฐานบางองค์เป็นรอยกาบหมากเห็นเป็นเส้นๆ ได้ชัด กล่าวกันว่าสมเด็จฯ ท่านสร้างแล้ว จึงเอาไปบรรจุไว้ ณ วัดสะเกศ ตำบลสะเกศ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง เลยเรียกกันว่า พระสมเด็จวัดเกศไชโย (ตัดคำว่าสะออกเสียเพื่อพูดสะดวกปาก) แต่นักพระเครื่องบางท่านว่าสมเด็จบรรจุที่วัดไชโย ตำบลไชโย อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ท่านได้สร้างพระนี้อุทิศให้กับโยมมารดา ซึ่งเคยพาท่านมาอยู่ ณ ที่ตำบลไชโยนี้ ประกอบกับมารดาท่านชื่อ เกศ พระวัดไชโยจึงมีชื่อว่า สมเด็จวัดเกศไชโย
พระสมเด็จวัดเกศไชโย จังหวัดอ่างทอง เป็นพระเนื้อปูนขาว สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) อดีตเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ใน สมัยรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ พระสมเด็จวัดเกศไชโยฯ สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. ๒๔๐๙ พุทธศิลปะอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์
พระสมเด็จวัดเกศไชโยฯ ตามความนิยมในวงการพระเครื่องมี ๓ พิมพ์ด้วยกัน คือ พิมพ์ ๗ ชั้นอกตัน,พิมพ์ ๖ ชั้นอกตัน และพิมพ์ ๕ ชั้นอกตลอด
จากบันทึกของพระยาทิพโกษา (สอนโลหะนันท์) และนายก สัชฌุกร ซึ่งได้บันทึกจากการบอกเล่าของพระธรรมถาวร จันทโชติ สามเณรที่ช่วยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ตำผงเพื่อสร้างพระสมเด็จประมาณปี พ.ศ. ๒๔๐๙ ที่วัดระฆังโฆสิตารามฯ พระที่สร้างขึ้นในสมัยนั้นมีทั้ง ๓ ชั้น และ ๗ ชั้น ซึ่งพิมพ์ ๗ ชั้นได้นำไปบรรจุไว้ที่ วัดเกศไชโยฯ จังหวัดอ่างทอง
นอกจากนี้พระยาทิพโกษาฯ ได้บันทึกไว้ว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นผู้สร้างเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับโยมมารดา มีชื่อว่า เกศ และตามีชื่อว่า ไช พระสมเด็จจึงถูกขนานนามตามชื่อวัดว่า สมเด็จวัดเกศไชโย สมเด็จพระพุฒาจารย์ฯ ท่านสร้างพระสมเด็จพิมพ์ ๗ ชั้นนี้ที่วัดระฆังโฆสิตาราม แล้วนำมาแจกและบรรจุไว้ในกรุวัดไชโยวรวิหารนี้ ในคราวที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ฯ ได้มาสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่หรือพระมหาพุทธพิมพ์ที่วัดนี้

พระชินบัญชรคาถา
สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี)

ชิพระคาถาชินบัญชร เป็นหนึ่งในบทสวดมนต์ที่พุทธศาสนิกชน ชาวไทยนิยมสวดมากที่สุด สันนิษฐานว่าพระเถระชาวล้านนาเป็นผู้แต่งขึ้น และเป็นพระคาถาสำคัญในพิธีกรรมตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏหลักฐานในพระราชพิธีจักรพรรดิราชาธิราช ต่อมาได้ปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ขึ้นโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี วัดระฆังโฆสิตาราม สมเด็จพระพุฒาจารย์องค์ที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (สมัยรัชกาลที่ 4) บทสวดชินบัญชรนี้ยังพบในประเทศพม่าและศรีลังกาอีกด้วย
การหัดสวดคาถาชินบัญชรควรจะเริ่มสวดในวันพฤหัสบดีซึ่งถือเป็นวันครูและให้เตรียมดอกไม้ 3 สี หรือดอกบัว 9 ดอก หรือดอกมะลิ 1 กำ จุดธูป 3 5 ถึง 9 ดอก เทียน 2 เล่ม จากนั้นให้จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยโดยการตั้งนะโม 3 จบ ต่อด้วยบทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ จากนั้นตั้งจิตนึกถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) ด้วยก็จะเป็นการที่ดียิ่ง
ชินบัญชร นี้ มีรากศัพท์มาจากคำว่า ชิน ซึ่งแปลว่า ผู้ชนะ อันหมายถึงพระชินเจ้าหรือพระพุทธเจ้า และคำว่า บัญชร ซึ่งแปลว่า กรง ลูกกรง ซี่กรง รวมกันเป็นชินบัญชร ซึ่งเป็นประดุจแผงเหล็กหรือเกราะเพชรที่แข็งแรง สามารถปกป้องคุ้มกันอุบัติภัย อันตรายและศัตรูหมู่มารทั้งปวงได้

บทสวดพร้อมคำแปล

เพื่อให้เกิดอานุภาพยิ่งขึ้น ก่อนเจริญภาวนาให้ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วระลึกถึงและตั้งคำอธิษฐานว่า

ปุตตะกาโมละเภปุตตัง ธะนะกาโมละเภธะนัง อัตถิกาเยกายะญายะ เทวานังปิยะตังสุตตะวา อิติปิโสภะคะวา ยะมะราชาโน ท้าวเวสสุวัณโณ มรณังสุขัง อะระหังสุคะโต นะโมพุทธายะ

จากนั้นจึงเริ่มสวดพระคาถา

บทสวด คำแปล
๑.ชะยาสะนาคะตา พุทธา เชตะวา มารัง สะวาหะนัง จะตุสัจจาสะภัง ระสัง เยปิวิงสุ นะราสะภา พระพุทธเจ้าและพระนราสภาทั้งหลาย ผู้ประทับนั่งแล้วบนชัยบัลลังก์
ทรงพิชิตพระยามาราธิราชผู้พรั่งพร้อมด้วยเสนาราชพาหนะแล้ว เสวยอมตรัสคือ อริยะสัจธรรมทั้งสี่ประการ เป็นผู้นำสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นจากกิเลสและกองทุกข์

๒.ตัณหังกะราทะโย พุทธา อัฏฐะวีสะติ นายะกา สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง มัตถะเก เต มุนิสสะรา มี ๒๘ พระองค์คือ พระผู้ทรงพระนามว่า ตัณหังกรเป็นอาทิ พระพุทธเจ้าผู้จอมมุนีทั้งหมดนั้น
๓.สีเส ปะติฏฐิโต มัยหัง พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง อุเร สัพพะคุณากะโร ข้าพระพุทธเจ้าขออัญเชิญมาประดิษฐานเหนือเศียรเกล้า
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดิษฐานอยู่บนศีรษะพระธรรมอยู่ที่ดวงตาทั้งสอง พระสงฆ์ผู้เป็นอากรบ่อเกิดแห่งสรรพคุณอยู่ที่อก

๔.หะทะเย เม อะนุรุทโธ สารีปุตโต จะทักขิเณ โกณฑัญโญ ปิฏฐิภาคัสมิง โมคคัลลาโน จะวามะเก พระอนุรุทธะอยู่ที่ใจ พระสารีบุตรอยู่เบื้องขวา พระโมคคัลลาน์อยู่เบื้องซ้าย พระอัญญาโกณทัญญะอยู่เบื้องหลัง
๕.ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง อาสุง อานันทะราหุโล กัสสะโป จะ มะหานาโม อุภาสุง วามะโสตะเล พระอานนท์กับพระราหุลอยู่หูขวา พระกัสสะปะกับพระมหานามะอยู่ที่หูซ้าย
๖.เกสันเต ปิฏฐิภาคัสมิง สุริโย วะ ปะภังกะโร นิสินโน สิริสัมปันโน โสภิโต มุนิปุงคะโว มุนีผู้ประเสริฐคือ พระโสภิตะผู้สมบูรณ์ด้วยสิริดังพระอาทิตย์ส่องแสงอยู่ที่ทุกเส้นขน ตลอดร่างทั้งข้างหน้าและข้างหลัง
๗.กุมาระกัสสะโป เถโร มะเหสี จิตตะวาทะโก โส มัยหัง วะทะเนนิจจัง ปะติฏฐาสิ คุณากะโร พระเถระกุมาระกัสสะปะผู้แสวงบุญทรงคุณอันวิเศษ
มีวาทะอันวิจิตรไพเราะอยู่ปากเป็นประจำ

๘.ปุณโณ อังคุลิมาโลจะ อุปาลี นันทะสีวะลี เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา นะลาเฏ ตีละกา มะมะ พระปุณณะ พระอังคุลิมาล พระอุบาลี พระนันทะ และพระสีวะลี
พระเถระทั้ง ๕ นี้ จงปรากฏเกิดเป็นกระแจะจุณเจิมที่หน้าผาก

๙.เสสาสีติ มะหาเถรา วิชิตา ชินะสาวะกา เอเตสีติ มะหาเถรา ชิตะวันโต ชิโนระสา ชะลันตา สีละเต เชนะ อังคะมังเคสุ สัณฐิตา ส่วนพระอสีติมหาเถระที่เหลือผู้มีชัยและเป็นพระโอรส เป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ทรงชัย แต่ละองค์ล้วน รุ่งเรืองไพโรจน์ด้วยเดชแห่งศีลให้ดำรงอยู่ทั่วอวัยวะน้อยใหญ่
๑๐.ระตะนัง ปุระโต อาสิ ทักขิเณ เมตตะสุตตะกัง ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ วาเม อังคุลิมาละกัง พระรัตนสูตรอยู่เบื้องหน้า พระเมตตาสูตรอยู่เบื้องขวา พระอังคุลิมาลปริตรอยู่เบื้องซ้าย พระธชัคคะสูตรอยู่เบื้องหลัง
๑๑.ขันธะโมระปะริตตัญจะ อาฏานาฏิยะสุตตะกัง อากาเส ฉะทะนัง อาสิ เสสา ปาการะสัณฐิตา พระขันธปริตร พระโมรปริตร และพระอาฏานาฏิยสูตร
เป็นเครื่องกางกั้นดุจหลังคาอยู่บนนภากาศ

๑๒.ชินา นาวะระสังยุตตา สัตตะปาการะลังกะตา วาตะปิตตาทิสัญชาตา พาหิรัชฌัตตุปัททะวา ด้วยเดชานุภาพแห่งพระอนันตชินเจ้าไม่ว่าจะทำกิจการใดๆ
อนึ่งพระชินเจ้าทั้งหลาย นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ผู้ประกอบพร้อมด้วยกำลังนานาชนิด มีศีลาทิคุณอันมั่นคง สัตตะปราการเป็นอาภรณ์มาตั้งล้อมเป็นกำแพงคุ้มครองเจ็ดชั้น

๑๓.อะเสสา วินะยัง ยันตุ อะนันตะชินะเตชะสา วะสะ โต เม สะกิจเจนะ สะทา สัมพุทธะปัญชะเร ด้วยเดชานุภาพแห่งพระอนันตชินเจ้าไม่ว่าจะทำกิจการใดๆ
เมื่อข้าพระพุทธเจ้าเข้าอาศัยอยู่ในพระบัญชรแวดวงกรงล้อม แห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอโรคอุปัทวะทุกข์ทั้งภายนอกและภายใน อันเกิดแต่โรคร้าย คือ โรคลมและโรคดีเป็นต้น เป็นสมุฏฐานจงกำจัดให้พินาศไปอย่าได้เหลือ

๑๔.ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ วิหะรันตัง มะฮีตะเล สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพเต มะหาปุริสาสะภา ขอพระมหาบุรุษผู้ทรงพระคุณอันล้ำเลิศทั้งปวงนั้น จงอภิบาลข้าพระพุทธเจ้า ผู้อยู่ในภาคพื้น ท่ามกลางพระชินบัญชร
ข้าพระพุทธเจ้าได้รับการคุ้มครองปกปักรักษาภายในเป็นอันดีฉะนี้แล

๑๕.อิจเจวะมันโต สุคุตโต สุรักโข ชินานุภาเวนะ ชิตุปัททะโว ธัมมานุภาเวนะ ชิตาริสังโฆ สังฆานุภาเวนะ ชิตันตะราโย สัทธัมมานุภาวะปาลิโต จะรามิ ชินะปัญชะเรติ ข้าพระพุทธเจ้าได้รับการอภิบาลด้วยคุณานุภาพแห่งสัทธรรม
จึงชนะเสียได้ซึ่งอุปัทวอันตรายใดๆ ด้วยอานุภาพแห่งพระชินะพุทธเจ้า ชนะข้าศึกศัตรูด้วยอานุภาพแห่งพระธรรม ชนะอันตรายทั้งปวงด้วยอานุภาพ แห่งพระสงฆ์ ขอข้าพระพุทธเจ้าจงได้ปฏิบัติ และรักษาดำเนินไปโดยสวัสดีเป็นนิจนิรันดรเทอญฯ

“ในการปลุกเสกพระนั้น พระคาถาของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี)ดีที่สุด อาตมาใช้พระคาถาชินบัญชรนี้ปลุกเสกพระเป็นประจำ”
พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต (ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ) วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร

“ที่หลวงปู่สวดชินบัญชรนี่ เพราะ”หลวงพ่อโต”(สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี)ท่านมาสั่งให้สวดน๊ะ..!!!?!”

หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง เชียงใหม

อนึ่ง เหตุที่หลวงพ่อกัสสปมุนี วัดปิปผลิวนาราม ระยอง สร้างพระผงรูปสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) ไว้สมัยที่ท่านยังดำรงสังขารอยู่รุ่นหนึ่งนั้น ทราบเป็นการภายในจากศิษย์ใกล้ชิดท่านหนึ่ง(คุณยอร์ช)เล่าให้ฟังว่า มาจากเหตุที่ หลวงพ่อกัสสปมุนีท่านได้เคยตั้งใจสวดชินบัญชรวันละ 108 จบ สวดไปจนไม่ได้นับว่ากี่วัน หรือสวดได้กี่ร้อยกี่พันจบ จนกระทั่งสมเด็จพระพุฒาจารย์โตได้มาปรากฏในนิมิต พร้อมกับพยักหน้ารับท่านเป็นศิษย์องค์หนึ่ง จึงเป็นเหตุให้หลวงพ่อกัสสปมุนีสร้างพระผงสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสีขึ้นมาเป็นอนุสรณ์ด้วยประการฉะนี้ฯ

ประมาณสัก 4-5 ปีก่อนที่หลวงปู่สิมจะดับขันธ์ ครั้งหนึ่ง ที่บ้านกรุงเทพภาวนา สุขุมวิท 36 มีผู้นำหนังสือพระเครื่องศักดิ์สิทธิ์เล่มหนึ่งมาถวาย หลวงปู่สิมท่านก็พลิกๆไปเรื่อยๆจนกระทั่งมาพบกับภาพของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี)ซึ่งพิมพ์สี่สีอยู่หน้ากลางเข้า ท่านก็เพ่งพิศอย่างตั้งใจ ชะรอยจะเป็นด้วยเหตุที่มีบุญสัมพันธ์เนื่องถึงกันมาแต่กาลก่อน ดังมีการบันทึกไว้ในหนังสืออนุสรณ์เล่มหนึ่งของหลวงปู่เองในภายหลังว่า “เมื่อราวปี 2529 มีผู้นำรูปสมเด็จพระพุฒาจารย์โตมาถวาย หลังจากนั้น หลวงปู่สิมก็ให้หาคาถาชินบัญชรมาสวดพร้อมกับพระลูกวัด โดยท่านบอกแต่เพียงสั้นๆว่า”หลวงพ่อโตสั่งให้สวด” ดังนี้ ฯ
และไม่ช้าและอย่างคาดคิดไม่ถึง หลวงปู่สิมท่านก็ใช้สองมือยกหนังสือหันกลับออกมากางใส่ยังญาติโยมที่เฝ้าแหนท่านอยู่ พลางพูดยิ้มๆว่า
“เอ้า..รับพรหลวงพ่อโตเน้อ..!!?!”
ว่าแล้ว หลวงปู่สิมก็สวด”ยถา วาริวหาฯ” จนจบ ซึ่งญาติโยม รวมถึงตัวของ”พุทธวงศ์”เอง ซึ่งนั่งอยู่ข้างๆกับท่านพอดีตอนนั้น ก็เปล่งเสียงสาธุการกันอึงมี่ไปหมด กับ”พรหลวงพ่อโต”ที่เปล่งออกมาจากปากของพระอรหันตเจ้าอย่างหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโรอย่างที่ไม่เคยนึกเคยฝันมาก่อน ว่าจะได้พบได้เจอได้ยินอะไรที่เหนือความคาดหมายอย่างสุดขีดยิ่งไปกว่านี้ไปได้อีกแล้ว……
และนั่น ก็เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ “หลวงปู่สิมให้พรแทนสมเด็จพระพุฒาจารย์โต”อย่างเป็นรูปธรรมที่สุดอย่างแท้จริงทีเดียว..!!!!!

และอีกคราว หลวงปู่สิมก็ปรารภถึงชาติกำเนิดของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี)ที่ค่อนข้างจะลึกลับซับซ้อน ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่นอนว่า “บิดา”ของพระคุณท่านคือท่านผู้ใดกันแน่ อย่างตรงไปตรงมาที่สุดทีเดียวว่า
“หลวงพ่อโตท่านเป็นลูกของรัชกาลที่ 1 และท่านเก่งมากน๊ะ..!!!!!”
ก็คำพูดของ”พระอรหันต์”ที่มีปฏิสัมพันธ์กับ”พระโพธิสัตว์”อย่างสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)ได้อย่างใกล้ชิดสนิทแนบเห็นปานนี้ ซึ่งก็เชื่อแน่ได้ว่า “ความลับสวรรค์” ท่านก็คงบอกแก่กันจนสิ้นแล้ว ยังจะมีอะไรจะต้องสงสัยอยู่อีกละหรือ..????

“สมเด็จพระพุฒาจารย์โตน่ะ ท่านเป็นอาจารย์ของปรมาจารย์น๊ะ..!!!!!”

หลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ ลำปาง

“ในบรรดาพระเครื่องทั้งปวงนั้น พระสมเด็จวัดระฆังของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี)พบว่า มีความศักดิ์สิทธิ์มากที่สุด”

พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต(ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ) วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร
พระราชสังวรญาณ(พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน นครราชสีมา

“หากจะสร้างรูปพระสงฆ์ให้คนได้กราบไหว้บูชาแล้ว ให้ทำรูปสมเด็จพระพุฒาจารย์โต วัดระฆังจะดีมาก เพราะ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) นั้น มีลูกศิษย์ที่เป็นเทวดามากที่สุด คนที่กราบไหว้ขอพรจากสมเด็จพระพุฒาจารย์โตทั่วบ้านทั่วเมืองจำนวนไม่น้อยที่ลูกศิษย์ซึ่งเป็นเทวดาของสมเด็จท่านได้จัดการแทนให้ อันจะเป็นกุศลและประโยชน์ไม่น้อยเลยทีเดียว..!!!!!”

พระอาจารย์เปลี่ยน วัดอรัญญวิเวก จ.เชียงใหม่
(ปฐมเหตุให้คุณสรพงศ์ ชาตรีได้คิดสร้างสมเด็จพระพุฒาจารย์โตใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่สีคิ้ว จ.นครราชสีมาในกาลต่อมา)

ตะลึง งูจงอางแผ่แม่เบี้ยบนเศียรรูปเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์โต

ชาวบ้านที่สำนักสงฆ์ ที่อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง ตะลึงเมื่อเห็นงูจงอางเลื้อยไปพันรูปปั้นองค์สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี กลางสำนักสงฆ์ โดยชาวบ้านเชื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ทรงลงมาโปรด
พระวิศาล ถาวโร อายุ 47 ปี เจ้าอาวาสวัดถ้ำผางาม สำนักปฎิบัติธรรมพรหมรังสี ต. พระบาทวังตวง อ.แม่พริก จ.ลำปาง เปิดเผยว่า เกิดเหตุการณ์ประหลาดมีงูจงอาง ขนาด 3 เมตรเลื้อยไปพันบริเวณรูปเหมือนขนาดใหญ่ของสมเด็จพุฒาจารย์โต ที่มีขนาดสูงกว่า 3 เมตร โดยส่วนหัวงูจงอาง ยังได้ชูอยู่เหนือศรีษะสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พร้อมยังแผ่ได้แม่เบี้ย
ผู้พบเห็นต่างขนลุกในความน่าอัศจรรย์ และเป็นปาฎิหาริย์ ในสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมากว่าเป็นงูศักดิ์สิทธิ์ ที่มาแสดงปาฎิหาริย์ให้ประชาชน ที่ได้พบเห็น ส่วนชาวบ้านบางรายยังได้นำไม้มาไล่งูจงอางแต่งูไม่ยอมหนีแต่อย่างใด ทั้งนี้ ชาวบ้านหลายคนที่พบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวต่างเชื่อว่า เป็นความศักดิ์สิทธิ์ และบารมีของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ที่ได้มาโปรดให้พระสงฆ์ แม่ชี และชาวบ้านของอำเภอแม่พริก
ผ่านไปกว่า 7 ชั่วโมง งูก็ได้เลื้อยลงเข้าไปใต้ต้นโพธิ์ด้านข้างวัด แล้วเลื้อยหายเข้าป่าไปเอง ส่วนชาวบ้านบางรายต่างร่ำลือว่าเป็นบารมีของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ที่ได้มาสร้างความอัศจรรย์ใจแก่ผู้พบเห็น แต่ก็มีบางส่วนวิพากษ์วิจารย์กันว่าอาจจะเกิดอาเพศครั้งใหญ่ก็เป็นไปได้

ขอบคุณข้อมูลข่าวและภาพประกอบจาก Sanook.com

พระที่สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)โปรดปรานยิ่งถึงขนาดมาเข้าฝันให้คนเตรียมหาไว้ทั้งๆที่พระยังไม่ได้ออกให้บูชา..!!!!????!!!!
นั่นคือ พระสมเด็จชินบัญชรปริตร หลังพระยันต์ชินบัญชรคาถาเต็มรูปแบบ ครั้งแรกสุดในเมืองไทยที่”พุทธวงศ์”คิดอ่านสร้างออกมาเป็นรายแรกเพื่อหาทุนจัดสร้างฉัตรทองคู่นวหรคุณบรมพุทธวงศ์ประกอบพระประธานในพระอุโบสถ วัดพระพุทธบาทสี่รอย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2542
เคยดำริว่า อันพระสมเด็จนั้น คู่กับพระคาถาชินบัญชรอยู่แล้ว แต่ในเวลานั้น หาได้มีวัดไหนหรือสำนักใดเคยเอาพระคาถาชินบัญชรเต็มบทมาใส่หลังพระสมเด็จไม่
หรือหากจะมีบ้าง ก็เป็นเหรียญเนื้อโลหะ(ของ”ศักดิ์สิทธิ์”) ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว พิจารณาเห็นว่า ยังไม่ทรงความเป็น”พระสมเด็จ”อย่างสมบูรณ์แบบเสียทีเดียว
เพราะพระสมเด็จ จะต้องเป็น”พระผง” จึงจะเห็นสมโดยแน่
พระสมเด็จ ชินบัญชรปริตรนี้ สร้างเป็น 2 เนื้อ คือเนื้อสีเทากับเนื้อสีขาว
เนื้อสีเทาสร้าง 1,000 องค์ (สมทบสร้างฉัตรฯ หลวงพ่ออุตตมะปลุกเสกพร้อมด้วยพระอริยเกจิสายล้านนาเสกจำนวนมาก มีครูบาอิน วัดฟ้าหลั่ง,ครูบาชัยวงศา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม,ครุบาดาบส อาศรมไผ่มรกตเป็นต้น) เนื้อสีขาวสร้างประมาณ 5,000 องค์ (“พุทธวงศ์”ร่วมกับคุณกันตชาติ เกษมสันต์ ณ อยุธยา (ททบ.5) สร้างถวายหลวงพ่ออุตตมะ วัดวังก์วิเวการาม กาญจนบุรีปลุกเสกเดี่ยวเป็นการเฉพาะ)
และยังจำได้อย่างแม่นยำที่สุดอีกด้วยว่า ในยุคนั้น ผงวิเศษของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)อะไร ก็ไม่มีเป็นชิ้นเป็นอันอะไรทั้งนั้น
ไม่เหมือนสมัยนี้ที่ได้หัวเชื้อเพียวๆของสมเด็จท่านจนทำแทบไม่ทัน
คงได้เอาผงหัวเชื้อมหาจักรพรรดิ หลวงปู่ดู่ วัดสะแก(ที่ตอนนั้น หาได้ง่าย)จำนวนมากมาผสมอย่างเข้มข้นที่สุดแทน
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ที่พระสมเด็จ ชินบัญชรปริตรมีสีเทานั้น ก็เพราะแก่ผงมหาจักรพรรดิ หลวงปู่ดู่ วัดสะแกแบบเพียวๆ ไม่ใช่ผงสมเด็จของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต(ตอนนั้น ยังหาไม่ได้)แต่อย่างใด
แต่…แม้พระสมเด็จชุดนี้จะแก่ผงหลวงปู่ดู่หลวงปู่ทวดถึงขนาดใด แต่ในเมื่อพิมพ์ทรงและรูปแบบเป็นของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ตามกฏกติกามารยาทในโลกทิพย์ หลวงปู่ดู่หรือหลวงปู่ทวดก็ยังต้องหลีกทางให้ ปล่อยให้สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)ท่านเป็นพระเอกในพระชุดนี้เพียงลำพังโดดๆโดยเฉพาะ
ไม่เข้ามาแย่งหรือขโมยซีน โดยถือเอาผงมวลสารวิเศษมาเป็นข้ออ้างแล้วกดให้เจ้าของตัวจริงท่านอื่นเป็นแต่เพียงตัวประกอบแบบที่เป็นคนละเรื่องเดียวกันและไม่ได้ยกย่องเชิดชูให้สมเกียรติเท่าที่ควรจะต้องเป็นแบบที่สามัญชนในมนุสภูมินิยมทำกันแต่ประการใด
ที่สุด แม้หลวงปู่ทวดเองยังได้แต่อนุโมทนาอยู่ ณ เบื้องหลัง และถามผ่านร่างทรงรายหนึ่งมาทีเดียวโดยที่”พุทธวงศ์”ยังไม่ทันได้บอกเล่าเรื่องนี้มาก่อนแม้แต่เพียงครึ่งคำเลยว่า
“เจ้าจะทำฉัตรถวายพ่อหลวงรึ ปู่ขอโมทนาด้วยน๊ะ..!!!!?????!!!!!”
ผลสรุปก็คือ ได้มีสมาชิกนิตยสารศักดิ์สิทธิ์ท่านหนึ่งมาเล่าเรื่องในงานเลี้ยงครบรอบปีของนิตยสารต่อหน้าเจ้าของและกองบรรณาธิการ ณ ภัตตาคารระฆังทอง (ใกล้ๆกับวัดระฆัง) ทั้งหมดว่า “สมเด็จพระพุฒาจารย์โตมาเข้าฝัน พร้อมเอาพระสมเด็จ ชินบัญชรปริตรชุดนี้มาโชว์ พร้อมกับสั่งให้เตรียมหามาบูชาไว้ทั้งๆที่ตอนนั้น ยังไม่ได้นำเรื่องของพระชุดนี้ลงตีพิมพ์เลยแม้แต่น้อย..!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!”
ส่วนรายละเอียดอันเหนือโลกนี้ จะมีประการใดนั้น หากได้เวลาอันเหมาะสม จะได้นำมาขยายให้สุดขั้วตามสไตล์ที่ไม่คิดจะเปลี่ยนสืบต่อไปทีเดียว…

หมายเหตุพิเศษ 1, เรื่องจริงผ่านจอตอนนี้ เป็นอุทาหรณ์เป็นอย่างดีว่า การทั้งปวงทุกสิ่ง โดยเฉพาะการสร้างของสูงอย่างพระพุทธพิมพ์หรือพระพุทธปฏิมา ล้วนอยู่ในสายตาของพระและทวยเทพทั้งสิ้น
ส่วนจะดีจะได้เรื่องจะศักดิ์สิทธิ์แค่ไหนเพียงใด จะเป็นที่ชื่นชมอนุโมทนาและถูกใจจนถึงขั้นลงมาร่วมด้วยสักปานไหนนั้น ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวที่ต้องไปหาวิเคราะห์ค้นคำตอบกันเอาเอง
เพราะยากจะอธิบายในเวลาอันจำกัดได้
แย้มพรายแต่สั้นๆและได้ใจความที่สุดก็คือ”นอกจากจะทำอะไร ต้องมีเจตจำนงให้เป็นอย่างนั้นอย่างบริสุทธิ์ใจจริงๆแล้ว ยังต้องมีจริตในสิ่งที่ทำอย่างลึกซึ้งและไร้อคติวาระซ่อนเร้นใดๆ”อีกด้วย
เข้าใจหรือ..?????
หมายเหตุพิเศษ 2 ,พระสมเด็จ ชินบัญชรปริตรนี้ มีผู้บูชาไปหมดแต่แรกสร้างเมื่อปีพ.ศ. 2542 แล้ว แม้แต่”พุทธวงศ์”ก็ไม่มีเหลือเลยแม้แต่เพียงองค์เดียว โชคดีที่มีผู้ที่เคยบูชาไปในสมัยก่อนเมื่อได้ทราบว่า ตัวคนสร้างไม่มีพระสมเด็จชุดสำคัญนี้เหลือเลย เลยมอบคืนมาให้ 1 องค์(ใกล้ๆกับวันมรณภาพ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต 22 มิถุนายนเมื่อ 2-3 ปีก่อนอีกต่างหากด้วย)อย่างไม่นึกไม่ฝัน ราวกับสมเด็จฯท่านประทานกลับมาให้เป็นที่สักการะเป็นอนุสรณ์แทนองค์ท่าน นับเป็นพระคุณและความกรุณาที่น่าซาบซึ้งใจอย่างยิ่งเลยทีเดียวขอรับ.!!!!!!!!!!!!

(ข้อความที่ปรากฎ เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง ทุกความคิดเห็น
ทีมงานขอสงวนสิทธิ์ ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ และถ้าพบเห็นข้อความใดที่ ก่อให้เกิดความเสียหาย
กรุณาแจ้งมาที่ Contact Us เพื่อให้ทีมงานได้ทราบ และดำเนินการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป)

ขอขอบคุณ : http://www.gmwebsite.com/webboard/Topic.asp?TopicID=Topic-080621141627805&PageNo=2&Other=#LoopStart

. . . . . . .