ละครชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี

ละครชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี

ละครชีวประวัติสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี วัดระฆัง (แจกเพื่อธรรมทานเท่านั้น ห้ามจำหน่าย) ละครชุดนี้แสดงประวัติ ปฎิปทาและธรรมะของท่าน ละครแสดงถึงเมตตาธรรม ปฏิภาณในการสอนธรรมะอันเป็นลักษณะที่โดดเด่นของสมเด็จโต ทั้งยังแทรกเรื่องราวความเสื่อมของพุทธศาสนาในยุคนั้น ซึ่งทำให้เข้าใจเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่4 ฟื้นฟูพระพุทธศาสนา และการแก้ไขวัตรปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย เกิดเป็นนิกายธรรมยุตในพ.ศ. 2379

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) (นามเดิม: โต) หรือนามที่นิยมเรียก “สมเด็จโต” “หลวงปู่โต” หรือ “สมเด็จวัดระฆัง” เป็นพระสงฆ์มหานิกาย เป็นพระมหาเถระรูปสำคัญหนึ่งในสององค์ในประวัติศาสตร์ (อีกองค์คือหลวงปู่ทวด จากสมัยอยุุธยา) ที่ได้รับความนิยมนับถืออย่างมากในประเทศไทยมาอย่างข้ามยุคข้ามสมัย ท่านเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารในสมัยรัชกาลที่ 4-5 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่พระราชทินนาม “สมเด็จพระพุฒาจารย์” ในสมัยรัชกาลที่ 4

ท่านเป็นพระกรรมฐานภาคกลางที่มีปฎิปทาเป็นทั้งพระบ้านและพระป่า พุทธศาสนิกชนหลายท่านจะเพียงรู้จักท่านในฐานะพระเกจิอาจารย์ จากวัตถุมงคลอย่าง’พระสมเด็จ’และคาถาชินบัญชร แต่ไม่ใคร่ทราบความปราดเปรื่องในการเป็นพระนักเทศน์ ที่มีปฏิภานและอุบายการสั่งสอนรวมทั้งเทศนาว่าการที่ลุ่มลึกจนโด่งดังแต่อดีตจนปัจจุบัน กว่าสองร้อยปีล่วงมา สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) ท่านดำรงขันธ์ช่วงพ.ศ. 2331-2415 หากจะเปรียบเทียบกับเหตุการณ์สำคัญอื่นในช่วงนั้น หลวงปู่เสาร์ กันตสีโร ท่านบรรพชาเป็นสามเณรในปี พ.ศ. 2417 ส่วนพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระท่านถือกำเนิดในปีพ.ศ. 2413 ช่วงอายุของหลวงปู่โตจึงเป็นยุคคาบเกี่ยว ก่อนหน้าพระอาจารย์เสาร์และพระอาจารย์มั่น พ่อแม่ครูบาอาจารย์ผู้เป็นแม่แบบของพระกรรมฐานในยุคปัจจุบัน

ขอขอบคุณ : http://www.watconcord.org/index.php?option=com_content&view=article&id=192:-biography-of-ven-somdet-to-&catid=8:2011-01-26-04-51-03&Itemid=24

. . . . . . .