สติและการฝึกสติ โดย พุทธทาสภิกขุ

สติและการฝึกสติ โดย พุทธทาสภิกขุ

หน้าที่ 1 – สติเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่
ทีนี้จะพูดถึงธรรมะ ตามที่ได้รับการขอร้องให้พูดเรื่อง สติ ที่จริงคำว่าสติคำเดียวมันพอ ถ้าเรารู้ ดับทุกข์ได้จริง แต่ว่าเรามีสติกันแต่ปาก มีสติตามธรรมเนียม ตามพิธีรีตอง ไม่รู้จักตัวสติ ทั้งๆที่สติมีอยู่แล้วในเรา ถ้าไม่มีสติมันตายหมดแล้วคนเรา อยากจะให้ทุกคนระลึกให้ลึกลงไปสิ่งที่เขาเรียกว่า สัญชาตญาณ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้เองแก่สิ่งที่มีชีวิต อย่างที่เราได้ยินกัน สัญชาตญาณแห่งการต่อสู้ แห่งการอยู่รอด เป็นสัญชาตญาณที่สำคัญที่สุด ทีนี้จะมีชีวิตอยู่ได้ต้องมีสัญชาตญาณหลายๆอย่าง ช่วยกันประกอบไว้ให้สำเร็จตามนั้น คราวนี้สัญชาตญาณที่วิเศษอันนี้ ที่สามารถรู้สึกได้เร็วที่เรียกว่า สติ รู้สึกตัวอยู่ มันมีอยู่ตามสัญชาตญาณ เต็มขนาดที่ทำให้มีชีวิตอยู่ได้ ถ้าไม่มีสติแท้ๆตามธรรมชาติ มันทำอะไรไม่ได้ เหมือนหลับตาเดิน หลับตากินข้าว ทำการงานอะไรลองหลับตาดู มันก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีสติ ดังนั้นถือว่า สติเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ เราทำอะไรทุกกอย่างได้ โดยสิ่งที่เรียกว่าสติ ในระดับต่ำสุดคือตามธรรมชาติ หมาแมว อะไรมันก็มี สิ่งมีชีวิตมันต้องมีสัญชาตญาณชื่อนี้ คือสติ ถ้ามิฉะนั้นเหมือนหลับ สลบ หรือตาย ในภาษาบาลี เรียกว่าสติ แต่ในสันสกฤตเรียกว่า สมประดี ก็คือคำว่าสติ ในภาษาไทยว่าสมปฤดี คุณคงเข้าใจว่า คนไม่มีสมปฤดี หมายถึงอะไร คนหลับ คนเมา คนบ้าไม่มีสมปฤดี เพราะว่ามันไม่มีสติ ถ้าว่ากันโดยยุติธรรมแล้ว สติเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานที่ให้ชีวิตเรารอด และต้องขอบคุณสติที่ทำให้เราไม่บ้า ที่ให้เราอยู่รอด โดยที่เราไม่รู้สึกตัว ไม่สนใจ ไม่รู้จักมัน

เดี๋ยวนี้ถึงเวลาที่จะรู้จักสติแล้ว และจะต้องพัฒนามันให้สูง ให้เพียงพอ ให้สำเร็จประโยชน์แก้การเป็นมนุษย์ของเรา เราจะปล่อยให้มีเท่านั้นไม่ได้ มันก็เหมือนสัตว์ทั่วๆไป จึงมีระบบพัฒนาให้มีสติสูงๆขึ้นไป เพื่อให้ชีวิตมันดีกว่าจนถึงที่สุด ให้รู้จักก่อนเถิด สติมันมีอยู่แล้วในสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ ขาดไม่ได้ ช่วยสนับสนุนสัญชาตญาณการอยู่รอดของชีวิต มันจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการมีชีวิตอยู่ เมื่อรู้ความหมายของถ้อยคำ ต่อมาก็ต้องรู้ความหมายของการกระทำ นั้นจึงสามารถพัฒนาได้ สติ คำๆนี้หมายถึง การแล่น รากศัพท์คำเดียวกับคำว่าลูกศร ศร แปลว่า แล่น ทีนี้มันเป็นการแล่นของอะไร มันเป็นการแล่นมาของความรู้ก็ได้ ของความจำก็ได้ ความรู้กับความจำนั้นไม่เหมือนกัน ความรู้ คือเรื่องที่ต้องศึกษาเป็นรูปของปัญญา ทว่ามีแต่ความรู้ ถ้ามันไม่แล่นมาทันเวลาตอนเหตุการณ์เกิดขึ้น นั่นคือไม่มีสติ ไม่มีการแล่นมาแห่งความรู้ เราก็ทำอะไรไม่ถูก ไม่มีการแล่นมาแห่งความจำ เราก็นึกอะไรมาไม่ได้ แม้ว่าเราจำได้มาก แต่ไม่แล่นมา ก็ไม่มีประโยชน์ มันจะแก้ปัญหาอะไรได้ ดังนั้นสติ เป็นเพียงเครื่องขนส่ง ถ้ามีปัญญา แต่ไม่มีเครื่องขนส่ง หรือว่า เราจำได้เยอะแยะ พอเกิดอะไรขึ้น นึกไม่ออก เพราะสติไม่ได้ขนส่งมา สติเหมือนเครื่องขนส่งปัญญา และความจำให้ทันใช้เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น เราวินาศกันก็เพราะว่า ปัญญาและความจำ มันมาไม่ทันเวลา และตามปกติ มันก็เป็นอย่างนั้น หรือบางทีเราก็ไม่มีแม้ความรู้ ความจำ คราวนี้สติมันจะขนอะไรมาก็ไม่ได้ แม้เราเรียนธรรมะได้มาก แต่ไม่มีสติที่จะขนเอามา มันก็เกิดกิเลส พอเกิดผัสสะ หรือความรับรู้ทางตา หู จมูก ปาก แต่ไม่มีความรู้ทันต่อเหตุการณ์นั้น การรับรู้นั้นก็ไม่มีสติ เป็นการหลับ เป็นอย่างคนโง่ เป็นคนอวิชชา เกิดกิเลสตัณหา เกิดอุปาทาน ก็ทุกข์ เพราะสติขนมาไม่ทันเวลา ถ้าเราฝึกไว้ดี มีสติทันเวลา ก็จะเป็นเครื่องตื่นสำหรับรับรู้อารมณ์ทางตา หูจมูก ปาก ก็ป้องกันไว้ได้ ไม่เกิดเวทนาโง่ ไม่เกิดตัณหา ก็ไม่เกิดทุกข์ จำไว้ให้ดีว่าตามหลักปฏิบัติก็มีเท่านี้ เรื่องหลักวิชาปริยัติมีเท่าภูเขา แต่หลักปฏิบัติก็มีเท่านี้ ฉลาดเมื่อมีผัสสะ แล้วจะไม่ทุกข์ โง่เมื่อมีผัสสะ แล้วจะต้องได้ทุกข์ ฉลาดเมื่อมีผัสสะคือมีสติ โง่เมื่อมีผัสสะคือไม่มีสติ กิเลสมันเกิดไม่ได้ เมื่อมีสติมันขนปัญญามาเมื่อมีผัสสะ กิเลสไหนก็เกิดไม่ได้ เดี๋ยวคนธรรมดามันไม่มี ไม่ศึกษา ไม่ฝึกฝนธรรมะ มันก็ไม่มีสติ ดังนั้นเราต้องพัฒนา ให้สติมันขยายตัวมากออกไป ขนเอาปัญญามาเร็วทันเวลาเมื่อมีผัสสะ วันหนึ่งจะมีผัสสะกี่ร้อยครั้ง ก็ขอให้มีสติขนเอาปัญญามาทันเวลา แล้วจะไม่เป็นทุกข์ทุกครั้งไป

นี่มองเห็นความสำคัญของสติรึยัง ว่าที่มีมาแต่เดิมนั้นไม่พอ ซึ่งเราเห็นรู้ได้ด้วยตนเอง พอเห็นอะไรน่ารัก ก็รักไปแล้ว น่าโกรธ ก็โกรธแล้ว น่าเกลียด ก็เกลียดไปแล้ว น่ากลัว ก็กลัวไปแล้ว มันก็ไปอยู่ที่รัก โกรธ เกลียด กลัว มันไม่หยุดยั้งไว้ได้ เพราะสติของเราไม่ได้พัฒนา ให้สูงสุดให้เพียงพอที่จะควบคุมสิ่งเหล่านั้นได้ ควบคุมอะไร ควบคุมกระแสแห่งกิเลสที่เรียกว่า ปฏิจสมุหบาท เรียกสั้นๆว่า กระแสแห่งตัณหา มันไหลไป ถ้าเราหยุดไว้ได้ กั้นไว้ได้ กิเลสตัณหา มันก็ไม่เกิด มีคนไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า จะมีอะไรเป็นเครื่องกั้นแห่งกระแสกิเลสนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า สติเตสังนิวาราณัง สติเป็นเครื่องกันกระแสเหล่านั้น คือกระแสที่โง่เมื่อมีผัสสะ ตัณหาต่างๆจะถูกกั้นได้ด้วยสติ แต่ท่านหมายถึงสติที่เพียงพอ ไม่ใช่สติธรรมดาที่ไม่เพียงพอ ดังนั้นเราต้องฝึกสติ สติปฐาน ให้เพียงพอ แล้วยังมีอีกส่วนหนึ่งคือปัญญา เราต้องอบรมความรู้ ความจำเอาไว้ด้วยให้พอ ฝึกสติให้เร็วพอที่จะขนปัญญานี้ไปทัน ในขณะที่เร็วมากเหมือนสายฟ้าแลบ คนธรรมดาอาจจะไม่เชื่อ ว่าทำไมมันกระแสกิเลสมันเร็วขนาดนั้น สติเท่านั้นที่จะกั้นได้ เพราะฝึกฝนไว้มากพอ มันพร้อมที่จะป้องกัน ล่วงหน้าด้วยซ้ำไป เข้าใจเองเถอะว่า เพียงแค่ตามันกระทบลูก มันก็เตรียมมีสติแล้ว เพราะมันมีวิญญาณที่เกิดขึ้นด้วยสติ อย่างนี้มันจึงกั้นไว้ได้ แม้กระแสนี้จะเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ มันจึงเป็นกั้น แทรกแซงทัน ไม่ให้ผัสสะโง่เกิด เวทนา ตัณหา อุปาทาน เกิดขึ้นมา จงฝึกสติให้พอ ให้เร็ว นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัส ให้ใช้ได้ในทุกกรณี ทุกอารมณ์ ทุกเวลา ทุกสถานที่ ต้องใช้สติทั้งนั้น ไม่ว่าเหตุการณ์ในกรณีไหน นั่นจึงคุ้มกันไว้ได้ ไม่เกิดความทุกข์ สติตามธรรมชาตินั้นไม่พอ ไม่พออย่างไรไปคิดดูเองเถิด วางของไว้ตรงไหน ก็จำไม่ได้ ปิดหน้าต่างรึยังก็จำไม่ได้ หลายๆอย่างมันขาดสติ เราจึงต้องต้องอบรมสติ อบรมอย่างที่ว่าเป็น กำลัง พลัง ที่เรียกว่า สติพละ อย่างที่ว่าเป็นสิ่งสำคัญก็เรียกว่า สติอินทรีย์ อบรมอย่างที่ว่าจะประกอบแห่งการตรัสรู้ ก็เรียกว่า สติสัมโภชชงค์ สติจะต้องใช้ในทุกกรณีอย่างนี้ ไปอบรมตามหลักวิชาการนั้นๆให้มีสติ อยู่อย่างสมบูรณ์ การมีอยู่อย่างสตินั้นเรียกว่า สัมปชัญญะจะมี เมื่อแล่นมาแล้ว และคุมได้แล้ว สตินั้นระลึกได้ สัมปชัญญะคือการระลึกนั้นยังคงอยู่ตลอด แล้วทุกอย่างจะถูกต้องหมด สัญญา ความจำอะไรต่างๆ ถ้าสติไม่พอเราก็จำอะไรไม่ได้ มันก็เลอะเลือน ฟั่นเฟือน กลับกันไปมา ควรจะตอบอย่างนี้ ก็กลับตอบอย่างนั้น เพราะสติทั้งความจำ และความรู้ มันไม่สมบูรณ์ การทำงานอะไรก็ตามที่ละเอียด ที่ใช้เทคโนโลยี ต้องใช้สติมาก เราจึงต้องพัฒนาสติให้สมกับความก้าวหน้าของกิจการของชีวิต หรืออะไรก็ตาม

หน้าที่ 2 – ผลอันสูงสุด ของสติ
หน้าที่ของมนุษย์ให้จำไว้ว่ามีสองขั้นตอน ขั้นตอนแรกเพื่อจะให้ชีวิตมันรอดอยู่ได้ ขั้นตอนที่สองคือหลังจากรอดอยู่ได้ ก็พัฒนาให้สูงสุด ขึ้นไปจนบรรลุนิพพาน ดังนั้นถ้าเรามีสติไม่พอที่จะมีชีวิตอยู่ได้ มันก็ตาย ตายกลางถนน เพราะมันถูกรถชนตายเป็นต้น แล้วตอนที่สองคือมีสติให้สูงถึงขั้นละเอียด ดับกิเลส กำจัดอาสวะออกไป หรือตามแบบที่มีอยู่คือ เจริญกัมมัฏฐาน นั่นแหละ สมถกัมมัฏฐาน วิปัสสนากัมมัฏฐาน หรือสติปัฏฐานสี่ หรือที่อธิบายไว้สั้นๆคือ อานาปาณสติ นี่เป็นขั้นตอนติดต่อ รัดกุม แจ่มแจ้งถึงที่สุด เราถือเป็นแบบฉบับตรงตามพุทธสุภาษิต ที่พระองค์ทรงชี้แนะ ทีนี้ก็จะดูถึง อานาปาณสติ ที่เรียกว่าสติปัฏฐานสี่ นั้นเป็นอย่างไร คือท่านยังแบ่งเป็นสี่หลักตามเดิมคือ กายอย่างหนึ่ง เวทนาอย่างหนึ่ง จิตอย่างหนึ่ง และธรรมอย่างหนึ่ง เราเอากายมาฝึกเรื่องทุกอย่างที่เกี่ยวกับกาย เอาสติเป็นไปในกาย ให้รู้จักกาย ทั้งกายเนื้อ คือเนื้อหนังมังสา หรือกายลม คือลมหายใจก็ได้ เราจะมีความรู้เรื่องกาย และสติ อย่างเพียงพอ หรือ กายนุปัสนาสติปัฏฐา น ทีนี้พอปัญหาเกิดขึ้นที่ทางกาย เราก็เอาความรู้นั้นกับสติ มาแก้ปัญหาได้ ป้องกันได้

ทีนี้เรื่องที่สองคือเวทนา ที่มันเกิดขึ้นในใจ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เอามาเป็นอารมณ์ คือ เวทนานุปัสนาสติปัฏฐาน สำหรับฝึกฝนสติและปัญญา รู้เรื่องปรุงแต่งจิต รู้เรื่องคุมทั้งสองสิ่งนี้ให้ดี ถ้าฝึกได้สำเร็จ ก็จะมีความรู้เกี่ยวกับเวทนาดี สามารถใช้ความรู้และสติเกี่ยวกับเวทนานี้ มาต่อสู้ป้องกันทันเวลา ที่ปัญหาทางเวทนามันเกิดขึ้น ปัญหาที่ให้เราหลงรัก หลงเกลียด หลงโกรธ เราก็จะไม่รู้สึกรักโกรธ เกลียด กลัวใดๆ เวทนาใดๆ เรื่องที่สามก็คือจิต ที่จะนำมาฝึกฝนทั้งทางสติและทางปัญญา คือ จิตตานุปัสนาสติปัฏฐาน รู้เรื่องจิตดี ควบคุมจิตได้ บังคับจิตได้ เมื่อใดเกิดปัญหาเกี่ยวกับจิต เราก็สามารถใช้สติและปัญญา แก้ปัญหานั้นได้ แม้จะไวเหมือนสายฟ้าแลบ แต่เราคุมได้ เพราะฝึกไว้เพียงพอ อันสุดท้ายคือทางธรรม หรือ ธรรมานุปัสนาสติปัฏฐาน คือสิ่งต่างๆที่มันเกิดขึ้นทางกาย ทางเวทนา ทางจิตภายในของเรา จะเป็นกิเลสก็ดี ความทุกข์ก็ดี ทุกอย่างที่มันเกิดกับจิตของเรา เอามาเป็นอารมณ์สำหรับปฏิบัติ เกิดสติและปัญญาอย่างทั่วถึง ที่สำคัญคือความจริง ของความไม่เที่ยงนั้น คืออนัตตา ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม มันจะมีความจริงที่ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าเรามีสติปัญญาเพียงพอในการรู้เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็มีสติที่จะสกัดกั้นกระแสการไหลของกิเลส การปรุงแต่งของกิเลสได้ถึงที่สุด เราก็จะฉลาด เราจะไม่ร้องไห้ เมื่อมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปไม่ตรงกับความต้องการ หรือจะเห็นเป็นเช่นนั้นเอง อนิจตา แปลว่าความไม่เที่ยง ทุกขตา แปลว่าเป็นทุกข์ อนัตตตาแปลว่า ความไม่ใช่ตน รวมความแล้วคือ มันเป็นเช่นนั้นเอง เมื่อรูปสวยกระทบตา ความเป็นเช่นนั้นเอง มันออกรับไปแล้ว เราจะไม่หลงในความสวย มันก็ละได้หมด ทั้งทางตา หู จมูก กี่ทางก็ละได้หมด ทั้งโลกมีอยู่สองสิ่ง คือสิ่งที่มาทำให้รัก และสิ่งที่มาทำให้เกลียด โลกก็มีเท่านั้น ถ้ามีสติและปัญญามากพอ ก็เป็นเช่นนั้นเองไปหมด เห็นอนิจจัง แล้วจะเกิด วิราคะ คือคลายความยึดมั่นถือมั่นจากสิ่งเหล่านั้น จะเกิด นิโรธะ ละลายไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น และจะเกิด ปฏินิสัทธะ คือ โยนกลับไปสู่ธรรมชาติ ไม่มัวมาหลงรัก หลงเกลียดอยู่ นี่คือผลอันสูงสุด ของสติ ในอันดับสุดท้ายคือ ธรรมานุปัสนาสติปัฏฐาน

ท่านเรียกสี่อย่างนี้ว่า อนุปัสนาสติปัฏฐาน หรือเป็นเครื่องตั้งแห่งสติ เพื่อให้เห็นตามที่เป็นจริง พระพุทธเจ้าเลือกสิ่งสูงสุดนี้ เป็นฐานที่ตั้งแห่งการฝึกสติ มีความหมายครอบคลุมหมด ตั้งแต่ต่ำที่สุดจนถึงสูงที่สุด เราจึงสนใจเรื่องแบบปฏิบัติที่สามารถดับทุกข์ได้จริง มันพิสูจน์ได้ว่าจริง ก็คือดับทุกข์ได้ ลองไปปฏิบัติดู พิสูจน์ดู ไม่ต้องเชื่ออาจารย์ก็ได้ ด้วยอำนาจของการปฏิบัตินั้น สรุปได้คือการพัฒนาสติ ให้มีฐานที่ตั้งแห่งการพัฒนาคือกาย เวทนา จิต และธรรมะ สี่อย่างนี้ ตามบาลี ตามพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า คราวนี้นอกบาลีมันก็มี อนุสติสิบ การระลึกตาม พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตามศีล ตามทาน ตามความตาย และข้อสุดท้ายก็มี อานาปาณสติ และพวก กัมมัฏฐาน สี่สิบ ก็มีอานาปาณสติ แต่อธิบายไม่เหมือน ไม่สมบูรณ์เหมือน มหาสติปัฏฐานสูตร สติ เหมือนทำให้เรามีอาการตื่น เรียกว่า อัปมาทะ คือไม่ประมาท ไม่ตาย ถ้าไม่มีสติ หรือ ปมาทะ คือประมาท หรือตาย ตายทั้งทางร่างกายก็ได้คือถูกรถชนตาย หรือทางจิตก็ได้ คือ มีกิเลสครอบงำ ตกนรกทั้งเป็นตลอดเวลา มันก็เหมือนตายแหละ จึงเห็นว่าสติเรื่องเดียว เป็นเรื่องทั้งหมดที่จะดับทุกข์ได้ ถ้าจะแยกไปศีล สมาธิ ปัญญา มรรคมีองค์แปด มันก็ได้ แต่ต้องมีผลอย่างนี้ คือมีสติ ปัญญามาทันเวลาที่มีการกระทบผัสสะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พระพุทธศาสนาตั้งต้นสอนกันที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วคู่ของมันคือ รูป รส กลิ่น เสียง แล้วจะมีวิญญาณของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อวิญญาณนี้ทำงานอยู่เรียกว่า ผัสสะ ตอนนี้ถ้าสติไม่มา ก็เป็นผัสสะหลับ กระแสไหลไปสู่ความทุกข์ ถ้าสติมาก็กั้นกระแสนี้ไว้ เราก็ไม่มีความทุกข์ นี่เป็นศาสนาตามธรรมชาติ คุณถือสาสนาอะไรก็ตาม แต่ความทุกข์ต้องเกิดขึ้นอย่างนี้ และการดับทุกข์ได้ด้วยวิธีอย่างนี้ สมกับที่ว่ามันเป็นเครื่องตื่นในโลก ถ้าไม่มีสติแล้ว ทั้งโลกก็เหมือนหลับ แต่โลกจะตื่นเมื่อมีสติ ดังนั้นเราต้องพัฒนาสติอย่างเพียงพอตามที่ว่ามาแล้ว ดังนั้นขอให้สนใจสติปัฏฐานทั้งสี่ เพื่อพัฒนาสติ เพียงพอสำหรับจะรอดชีวิตอยู่ เพียงพอสำหรับจะดียิ่งๆขึ้นไป จนบรรลุ มรรคผลนิพพาน เรื่องสติที่ท่านขอร้องให้พูด ก็พูดแล้ว และสมควรแก่เวลาแล้วขอให้พิจารณาตาม ถ้าเห็นพอที่จะปฏิบัติได้ ก็ลองปฏิบัติดู ถ้ามันดับทุกข์ได้ แล้วค่อยเชื่อ ขอแสดงความยินดีอนุโมทนาท่านทั้งหลายที่มาหวังว่าท่านทั้งหลายคงจะได้รับประโยชน์คุ้มค่าเวลา คุ้มค่าเหน็ดเหนื่อย คุ้มค่าใช้จ่าย จงได้รับผลคุ้มค่าด้วยความพอใจ อย่าให้เสียใจทีหลัง ให้เป็นการทัศนาจรเพื่อความรู้ มีความก้าวหน้าของชีวิต มีความผาสุกอยู่ทุกทิวาราตรีกาลเทอญ

http://www.vcharkarn.com/varticle/17837

. . . . . . .