การปฏิบัติในสติปัฏฐาน อานาปานสติ ๔ ชั้น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

การปฏิบัติในสติปัฏฐาน อานาปานสติ ๔ ชั้น
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

บทกรรมฐานที่สวดและแสดงในที่นี้ ได้มีพระสูตรใหญ่แห่งสติปัฏฐาน อันเรียกว่ามหาสติปัฏฐานเป็นหลัก และคำว่าสติปัฏฐานนี้กล่าวโดยย่อ หมายถึงสติตั้งอย่างหนึ่ง

ตั้งสติอย่างหนึ่ง ในการปฏิบัตินั้นก็คือตั้งสติ และเมื่อปฏิบัติจนตั้งสติได้ก็เรียกว่าสติตั้ง คำว่าตั้งสติและสติตั้งนี้ เรียกเป็นภาษาบาลีว่าสติปัฏฐานนั้นเอง

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้มีความเพียรที่เรียกว่า อาตาปี มีสัมปชานะ หรือสัมปชัญญะความรู้ตัว มีสติ ความระลึกได้ กำจัดความยินดียินร้ายในโลกเสีย ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในคำว่าสติ ยกสติขึ้นมาคำเดียวก็หมายถึงทั้ง ๔ ข้อนี้ ซึ่งเป็นอุปการธรรมในการปฏิบัติตั้งสติ เพื่อให้สติตั้ง

หลักในการพิจารณากายเวทนาจิตธรรม

พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ตั้งสติพิจารณากายเวทนาจิตธรรม ให้มีสติตั้งอยู่ในกายเวทนาจิตธรรม ให้รู้จักกาย รู้จักเวทนา รู้จักจิต รู้จักธรรม ในกายใจของตัวเองนี้เอง แต่ก็ได้ตรัสสอนให้กำหนดพิจารณารู้ว่าแม้ในกายของผู้อื่นก็มีกายเวทนาจิตธรรมนี้เช่นเดียวกัน และพิจารณาเช่นเดียวกัน คือทั้งภายในทั้งภายนอก

ทั้งนี้โดยหลักที่พึงปฏิบัติในทุกข้อ ก็คือพิจารณาให้เห็นว่า อนิจจะ คือไม่เที่ยงต้องเกิดดับ ทุกขะ เป็นทุกข์คือตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เป็นอนัตตา

มิใช่อัตตาตัวตน ไม่ควรที่จะยึดถือว่า ของเรา เป็นเรา เป็นตัวตนของเรา ในกายเวทนาจิตธรรม ทั้งของตนเอง ทั้งของผู้อื่น ที่เรียกว่าทั้งภายในทั้งภายนอก ซึ่งการพิจารณาให้เห็นดั่งนี้ ก็รวมอยู่ในข้อที่ตรัสไว้ว่าให้ตั้งสติพิจารณาในกายเวทนาจิตธรรม

ว่ามีเกิดเป็นธรรมดา มีดับเป็นธรรมดา มีทั้งเกิดทั้งดับเป็นธรรมดา ก็คือให้เห็น อนิจจะ ไม่เที่ยง ทุกขะ เป็นทุกข์ อนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน และทั้งเห็นว่าเป็น อสุภะ คือไม่สวยงามในกายทั้งหลาย

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ดั่งนี้ ก็เพื่อว่าจะได้กำจัด จิตวิปัลลาส ความผิดวิปริตแห่งจิต ทิฏฐิวิปัลลาส ความวิปริตผิดแห่งความเห็นนั้นเอง คือวิปัลลาส

ความเห็นที่วิปริตผิดไปนี้ก็คือว่า เห็นวิปริตผิดไปในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา ในสิ่งที่ไม่งามว่างดงาม

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติในสติปัฏฐานนั้นจึงเป็นไปเพื่อแก้ไข จิตวิปัลลาส ทิฏฐิวิปัลลาส จิตใจที่คิดผิดเห็นผิด หรือความเห็นผิดดังกล่าว เพราะฉะนั้นการพิจารณาดั่งนี้ จึงเป็นหลักในการพิจารณาทุกข้อ

ข้อปฏิบัติข้อแรกในสติปัฏฐาน

และได้ตรัสสอนไว้เป็นข้อแรกให้ปฏิบัติในอานาปานสติ คือสติที่พิจารณากำหนดลมหายใจเข้าออก และอานาปานสตินี้ได้มีตรัสแสดงไว้ว่า แม้พระพุทธเจ้าเองเมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสรู้ เมื่อทรงปฏิบัติค้นคว้าไปต่างๆ จนพบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา

ข้อปฏิบัติที่เป็นหนทางกลางคือมรรคมีองค์ ๘ ก็ทรงพบอานาปานสตินี้เป็นเบื้องต้นนั้นเอง โดยทรงระลึกได้ถึงสมาธิที่ทรงได้เมื่อครั้งเป็นพระราชกุมารดังที่กล่าวแล้ว จากการที่ทรงกำหนดลมหายใจเข้าออก จึงได้ตรัสสอนอานาปานสตินี้เป็นบทแรก และเป็นข้อที่ผู้ปฏิบัติสมาธิทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติกรรมฐานทั้งหลาย ได้นำมาปฏิบัติเป็นส่วนมาก

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ โดยวางหลักในข้อแรกของสติปัฏฐาน คือตั้งสติพิจารณากายในกาย ให้ปฏิบัติกำหนดลมหายใจเข้าออกไว้เป็น ๔ ชั้น คือ ๑ มีสติหายใจเข้ายาว มีสติหายใจออกยาว ๒ มีสติหายใจเข้าสั้น มีสติหายใจออกสั้น ๓ ศึกษาว่า

สำเหนียกว่าเราจักกำหนดรู้กายทั้งหมด หายใจเข้า ศึกษาคือสำเหนียกว่าเราจักกำหนดรู้กายทั้งหมด หายใจออก ๔ ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักสงบระงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย คือลมหายใจเข้าลมหายใจออก หายใจเข้า เราจักสงบระงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย หายใจออก ดั่งนี้

และพระอาจารย์ได้มีอธิบายไว้ยกเอาข้อแรกขึ้นเป็นที่ตั้งก่อน มีสติกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออกยาวนั้น ก็คือกำหนดลมหายใจเข้าออกของตนที่เป็นไปโดยปรกติธรรมดา ซึ่งลมหายใจเข้าออกนี้ เมื่อหายใจเข้า ลมหายใจก็ย่อมมากระทบที่ริมฝีปากเบื้องบน

หรือปลายกระพุ้งจมูกเข้าไป ที่กำหนดว่าต้องผ่านอุระคือทรวงอก และเข้าไปถึงอุทรที่พองขึ้น และเมื่อหายใจออกก็จากอุทรที่ยุบลง ผ่านอุระคือทรวงอก มาผ่านปลายกระพุ้งจมูก หรือริมฝีปากเบื้องบน

การกำหนดอารมณ์ของสมาธิ

ทีแรกก็หัดกำหนดให้รู้ทางลมดังที่กล่าวมานี้ เมื่อเข้าก็ให้รู้ที่ปลายกระพุ้งจมูกซึ่งลมกระทบ แล้วตามลมเข้าไป ผ่านอุระมาถึงนาภีที่พองขึ้น ออกก็กำหนดจากนาภีที่ยุบลง ผ่านอุระมาถึงปลายกระพุ้งจมูก แล้วออกไป ซึ่งอันนี้ก็ไม่ตรงกับหลักสรีระวิทยา

แต่ว่าการจะกำหนดให้เป็นที่ตั้งของสมาธิ ตามหลักสรีระวิทยาให้ตลอดนั้นไม่ได้ เพราะลมที่เข้าปอดนั้นไม่สามารถจะกำหนดได้ จึงกำหนดอาการภายนอกดังที่กล่าวนี้เพื่อให้เป็นที่ตั้งของสมาธิ หรือเป็นอารมณ์ของสมาธิ และเมื่อหัดกำหนดตามลมเข้าตามลมออกดั่งนี้

จนรู้ทางลมเข้าออกชัดเจนพอสมควรแล้ว ก็กำหนดเพียงจุดเดียว คือที่ปลายกระพุ้งจมูก หรือริมฝีปากเบื้องบน คือจุดที่ลมกระทบเมื่อเข้าและกระทบเมื่อออก

ไม่ต้องส่งจิตตามลมเข้าออก เพราะไม่สามารถจะทำจิตให้เป็นสมาธิ คือมีอารมณ์เป็นอันเดียวได้ จึงต้องยกเว้นเสีย ๒ ให้เหลือ ๑ คือที่ปลายกระพุ้งจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบนเท่านั้น

และดังที่ได้กล่าวแล้วว่า พระอาจารย์ท่านสอนมาแต่เดิมว่าให้ใช้นับช่วยก็ได้ หรือในปัจจุบันนิยมใช้ พุทโธ กันมาก หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ

ตามวิธีที่พระอาจารย์กรรมฐานท่านสอนกันมาสำหรับในประเทศไทย และสำหรับในประเทศอื่นที่ผู้ปฏิบัติชาวไทยได้นำมาใช้ก็เช่นพองยุบ หายใจเข้าพอง หายใจออกยุบ กำหนดที่ท้องหรือนาภี ก็สุดแต่จะใช้กัน

และท่านอาจารย์ท่านสอนว่า เมื่อกำหนดรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกจนจิตสงบลง ขึ้นตามสมควร จะได้ฉันทะคือความพอใจในการปฏิบัติ

และเมื่อได้ฉันทะคือความพอใจในการปฏิบัติขึ้น ลมหายใจเข้าออกก็จะละเอียดเข้า ด้วยสามารถแห่งฉันทะ และเมื่อกำหนดลมหายใจเข้าออกที่ละเอียดขึ้นด้วยอำนาจแห่งการฉันทะมากขึ้น ปราโมทย์คือความบันเทิงใจก็ย่อมจะเกิดขึ้น

เมื่อปราโมทย์คือความบันเทิงใจบังเกิดขึ้น ก็จะหายใจเข้าออกละเอียดขึ้นไปอีก ด้วยสามารถแห่งปราโมทย์ และเมื่อหายใจเข้าออกละเอียดขึ้นไปอีกด้วยสามารถแห่งปราโมทย์ยิ่งขึ้น อุเบกขาคือความวางเฉยก็จะเกิดขึ้น

จิตที่มีอุเบกขาก็จะกลับจากลมหายใจเข้าลมหายใจออก ทำให้มีความรู้สึกเหมือนอย่างว่าไม่หายใจ

แต่อันที่จริงเมื่อพิจารณาดูแล้ว ก็จะเห็นว่าคงมีลมเข้าออกอย่างละเอียดนั้นเอง โดยที่กิริยาหายใจละเอียดมาก จนถึงรู้สึกว่าไม่ปรากฏ

และเมื่อกายสงบมากแล้วอาการของกายก็ไม่ปรากฏ แต่ลมหายใจคงเข้าไปได้ออกได้นั้นเอง เพราะทางลมหายใจที่เข้าออกนั้นมิได้อุดตันแต่ประการใด ย่อมเปิด ยังคงเปิดอย่างปรกติ เป็นแต่เพียงละเอียดเข้าเท่านั้น

นิมิตของลมหายใจ

แต่ว่าเมื่ออาการที่หายใจเข้าออกไม่ปรากฏ ลมหายใจเข้าออกซึ่งเป็นที่ตั้งของสมาธิ ก็รู้สึกเหมือนอย่างหายไป เมื่อหายไป จึงไม่ได้อานาปานสติ ไม่ได้อานาปานสมาธิ เพราะไม่มีที่ตั้ง

เพราะฉะนั้น ท่านพระอาจารย์จึงสอนว่า ให้กำหนดนิมิตของลมหายใจที่ละเอียดก่อนที่จะรู้สึกว่าหยุดนั้นไว้ กำหนดนิมิตคือเครื่องหมายเครื่องกำหนดของลมหายใจที่ละเอียดนั้นไว้ เหมือน

อย่างว่าเมื่อตีกังสดาลหรือระฆัง เสียงของกังสดาลหรือระฆังที่ตีนั้นก็ดัง ก็กำหนดเสียงของกังสดาลหรือระฆังที่ตีนั้นเป็นอารมณ์ เมื่อเสียงของกังสดาลหรือระฆังที่ตีนั้นเบาลง ก็กำหนดเสียงที่เบาลงนั้น

และเมื่อเสียงของระฆังของกังสดาลหรือระฆังที่เบาลงอีก จนถึงเป็นเสียงละเอียด ก็กำหนดเสียงที่ละเอียดนั้นเป็นอารมณ์ เมื่อเสียงที่ละเอียดนั้นหยุดลง ก็กำหนดนิมิตของเสียงที่ละเอียดนั้นไว้ เมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็คงมีที่ตั้ง คือนิมิตของเสียงที่ละเอียดนั้นเป็นที่ตั้งของสติของสมาธิ

ฉันใดก็ดี เมื่อเครื่องปรุงกายคือลมหายใจเข้าออก พร้อมทั้งกายที่ปรุงลมหายใจเข้าออกนั้นสงบลง การหายใจเข้าออกที่เกี่ยวกับกายก็สงบลง ก็กำหนดลมหายใจเข้าออกที่ละเอียดนั้นเป็นอารมณ์ คือเป็นที่ตั้งของสติของสมาธิ

และเมื่อกายสังขารเครื่องปรุงกาย คือกายทั้งลมหายใจเข้าออกที่ละเอียดนั้นสงบลงถึงที่สุด เหมือนอย่างว่าไม่หายใจ ก็ให้กำหนดนิมิต คือเครื่องกำหนดหมาย ของลมหายใจที่ละเอียดนั้นไว้เป็นอารมณ์ ไม่ปล่อยนิมิตนั้น เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ชื่อว่ายังมีนิมิตนั้นเป็นอารมณ์ คือเป็นที่ตั้งของสมาธิ ย่อมได้อานาปานสติ อานาปานสมาธิ

และในขณะเดียวกันก็ให้กำหนดรู้ว่าไม่เที่ยง ต้องเกิดดับ เป็นทุกข์ ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน ไม่ควรยึดถือทั้งกายทั้งลมหายใจ ทั้งใจที่เป็นนามรูป ว่าเป็นเราเป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา

และก็ให้พิจารณาให้รู้ด้วยว่ากายทั้งหมดเป็นสิ่งปฏิกูลไม่สะอาด ไม่งดงาม จะทำให้ละ ทิฏฐิวิปัลลาส จิตวิปัลลาส ความวิปริตแปรผันของความเห็นของๆ จิตใจได้ จะทำให้ได้สติปัฏฐาน ได้โพชฌงค์ ได้มรรคมีองค์ ๘ เป็นต้น ไปในขณะเดียวที่ปฏิบัตินี้

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

http://www.watpanonvivek.com/index.php/section-table/2012-07-14-12-23-28/1382-2010-01-09-14-26-08

. . . . . . .