ตะกรุดก่าสะท้อนตำรับ’ครูบาน้อย’

ตะกรุดก่าสะท้อนตำรับ’ครูบาน้อย’

ตะกรุดก่าสะท้อน ตำรับ ‘ครูบาน้อย เตชปญฺโญ วัดศรีดอนมูล’ : ชั่วโมงเซียน โดยอ.โสภณ

“ตะกรุดก่าสะท้อน” จัดเป็นเครื่องรางสายเหนือ ที่ได้รับความนิยมมานาน เชื่อกันว่า มีอิทธิคุณช่วยป้องกันสิ่งชั่วร้ายและไม่ดีต่างๆ ให้สะท้อนกลับออกไป ไม่สามารถส่งผลร้ายแก่ผู้ที่พกบูชาติดตัวได้ ทั้งนี้เรามักจะออกเสียง “ก่า” เป็น “กา” จนกลายเป็น “ตะกรุดกาสะท้อน”

ยันต์ก่าสะท้อนเป็นยันต์ที่ได้รับความนิยมมากในหมู่ผู้นิยมยันต์ล้านนาทั้งหลาย คำว่า “ก่า” เป็นภาษาล้านนา แปลว่า ป้องกัน, ไม่ให้เกิดขึ้น คุณวิเศษของยันต์ก่าสะท้อนนั้น สามารถป้องกันอันตรายต่างๆ ทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็น มนต์ดำ คุณไสย คุณผี คุณคน ที่กระทำย่ำยีมาใส่เรานั้น ตะกรุดนี้จะสะท้อนสิ่งเหล่านั้นกลับไปยังผู้ทำของทำคุณไสยใส่เราได้ตามกฎแห่งกรรม

อย่างไรก็ตาม ยันต์ก่าสะท้อนมีหลายชนิดหลายแบบแตกต่างกันไป เช่น ยันต์ก่าสะท้อนที่ทำจากหนังลูกวัวเกิดแล้วตายคาอวัยวะเพศ ส่วนมากจะหุ้มหรือพอกยันต์ด้วยครั่ง ยันต์ก่าสะท้อนชนิดนี้สามารถป้องกันอันตรายได้หมด เป็นมหาอุด ปืนยิงไม่ออก หลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม วัดวังมุย เคยสร้างไว้ ตอนนี้หายากมากแล้ว

ในส่วนของยันต์ก่าสะท้อนที่ใช้ครั่งพอกนี้ มีคุณวิเศษมากหลายประการ ที่ใช้ครั่งพอกเพราะว่า หากมีผู้ใดประสงค์ร้ายกับเรา ทำคุณไสยใส่เรา ครั่งที่พอกยันต์ก่าสะท้อนจะแตก หากเรานำครั่งที่แตกนั้นไปเผาไฟ ของที่ผู้ประสงค์ร้ายทำใส่เราจะสะท้อนกลับไปหาตัวผู้นั้นเอง นี่คือที่มาของคำว่า ก่าสะท้อน คือทั้งป้องกัน และสะท้อนนั่นเอง

ยันต์ก่าสะท้อนที่ต้องเขียนชื่อลงไปด้วย ยันต์ก่าสะท้อนชนิดนี้ เป็นชนิดที่ต้องเขียนชื่อของผู้ที่จะปกป้องไว้ด้วย ในแผ่นนั้นจะมีการเขียนชื่อ พ่อ แม่ ลูก ไว้ แล้วเก็บรักษาไว้ที่บ้าน แต่ยันต์ก่าสะท้อนชนิดนี้มีข้อเสียอยู่อย่างเดียวคือ ไม่สามารถใช้สืบต่อกันได้เพราะมีชื่อจารไว้เสียแล้ว หากผู้ที่จารชื่อไปเสียชีวิตไปหมดยันต์นั้นก็ไม่มีอำนาจที่จะรักษาใครได้อีกแล้ว

การบริกรรมคาถาก่าสะท้อน ให้เริ่มด้วยการตั้งนะโม ๓ จบ แล้วตามด้วยคาถาที่ว่า “พุทธัง อะระหัง กัณหะ ธัมมัง อะระหัง กัณหะ สังฆัง อะระหัง กันหะ สัมมาทางไหน สัมไปทางนั้น”

โดยมีอุปเท่ห์ว่า ผู้ใดบริกรรมคาถาบทนี้เป็นประจำป้องกันอันตรายได้ทุกอย่างแล ใช้ภาวนาปัดคุณไสยที่ผู้ถูกกระทำ สำหรับผู้ที่รู้ตัวว่าถูกคุณไม่ว่าคุณผี คุณคน ใช้ภาวนาปัดออก ได้ผลแน่นอนภาวนาเรื่อย ใช้ในขณะนั่งสมาธิ (จารลงแผ่นทอง ทองแดง เงิน ผูกข้อมือ หรือแขวนคอติดตัวไว้ป้องกันและสะท้อนกลับ)

ส่วนพระคาถาก่อนนำตะกรุดติดตัว นะโม ๓ จบ เช่นกัน แล้วตามด้วยคาถาที่ว่า “อักขะระยันตังสันตังสันติ พุทธังอะระทะนานัง ธัมมังอะระทะนานัง สังฆังอะระทะนานัง บิดา มารา อะระทะนานัง นะ ชา ลี ติฯ”

โดยมีอุปเท่ห์ว่า ผู้ใดบริกรรมคาถาบทนี้เป็นประจำพุทธคุณด้าน ป้องกัน คุ้มครอง อำนาจ บารมี เสริมดวง เสริมชะตา เสริมตำแหน่งหน้าที่การงาน เสริมกิจการงานให้รุ่งเรือง มั่นคงตลอดกาล คุ้มครองปกป้องรักษาบ้านเรือน ห้างร้าน และบริษัท

ปัจจุบันการจัดสร้าง “ตะกรุดก่าสะท้อน” มีหลายวัดหลายสำนัก แต่ที่มีคนร่ำลือถึงความขลังเป็นอย่างมากทำให้ผู้ที่เช่าบูชาไปแล้วมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นแคล้วคลาดทุกราย จึงมีการเล่าขานสืบต่อกันมาจนชื่อเสียงโด่งดัง ต้องยกให้ ตะกรุดก่าสะท้อน ที่จัดสร้างและปลุกเสกโดย “พระครูสิริศีลสังวร” หรือ “ครูบาน้อย เตชปัญโญ” เจ้าอาวาสวัดศรีดอนมูล อ.สารภี จ.เชียงใหม่

ยันต์ก่าสะท้อนนั้น ในอดีตมีครูบาอาจารย์ที่สร้างยันต์นี้จนเลื่องลือชื่อเสียงระบือไกล มีหลวงปู่ครูบาชุ่ม โพธิโก วัดวังมุย จ.ลำพูน ครูบาสม วัดป่าแดด สารภี จ.เชียงใหม่ และในปัจจุบันนี้ก็ยังมีผู้ที่สืบสร้างยันต์ก่าสะท้อนอยู่ นั่นคือ ครูบาน้อย เตชปญฺโญ โดยท่านเรียนมาจากหลวงปู่ครูบาเจ้าผัด อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีดอนมูล ที่เพิ่งมรณภาพไป

ครูบาน้อย ศึกษาในพระปริยัติธรรม แผนกบาลี ที่สำนักเรียนวัดพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน รวมทั้งได้ฝึกวิปัสสนากรรมฐานจากหลวงพ่อครูบาผัด และครูบาพรหมมา พรหมจักโก ณ วัดพระพุทธบาทตากผ้า จ.ลำพูน อีกทั้งยังได้ศึกษาวิชาธรณีศาสตร์และพระคาถาต่างๆ จากพระครูจันทสมานคุณ (หลวงปู่หล้า ตาทิพย์) วัดป่าตึง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ด้วยศึกษาอักขระภาษาล้านนา วิทยาคมด้านเมตตามหานิยม ตำรับตำรายาสมุนไพรจากหลวงพ่อพระครูมงคลคุณาธร (ครูบาคำปัน นันทิโย) วัดหม้อคำตวง อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ทุกๆ วันจะมีลูกศิษย์จากสารทิศไปกราบไหว้ขอพรจากท่านเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันท่านเมตตาต่อลูกศิษย์ที่เข้าไปกราบท่านมาก ทั้งเจิมรถ ปลุกเสกวัตถุมงคลก่อนมอบให้นำกลับไปบูชา ซึ่งคำหรือภาษาที่ท่านใช้ปลุกเสกนี้ เป็นภาษาเมือง (ภาษาเหนือ) โดยเฉพาะคำประพรมน้ำมนต์ของครูบาน้อยนั้น ท่านได้รับการถ่ายทอดมาจากหลวงปู่หล้าตาทิพย์ (พระครูจันทสมานคุณ) ซึ่งคำประพรมน้ำมนต์นี้เป็นคำโคลงของล้านนาไทย ที่อวยพรให้แก่คณะศรัทธาญาติโยมให้มีความสุขความเจริญในหน้าที่การงาน ตลอดถึงมีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง ไม่ว่าจะไปรดครั้งละกี่คน ท่านร่ายคำโคลงของล้านนาไม่ต่ำกว่า ๑๕ นาที

พระอุปคุตปางจกบาตร
พระอุปคุตมหาเถระ ชื่อเต็มของท่านคือ พระกีสนาคอุปคุตมหาเถระ เป็นพระมหาเถระสำคัญองค์หนึ่งในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นพระอรหันต์หลังสมัยพุทธกาล ดังปรากฏมีพระอรหันต์ที่เป็นศิษย์ของพระอุปคุตมหาเถระถึง ๑๘,๐๐๐ รูป ท่านมีปฏิปทาดำเนินไปในทางสันโดษ มักน้อย นัยว่า ท่านเนรมิตเรือนแก้ว (กุฏิแก้ว) ขึ้นในท้องทะเลหลวง (สะดือทะเล) แล้วก็ลงไปอยู่ประจำที่กุฏิแก้วตลอดเวลา เมื่อมีเหตุเภทภัยเกิดขึ้นในพระศาสนา หรือเมื่อมีพิธีกรรมใหญ่ๆ หรือมีผู้นิมนต์ ท่านก็จะขึ้นมาช่วยเหลือด้วยความเต็มใจเสมอ ครั้งหนึ่งท่านเคยปราบพญามารที่เข้ามาก่อความวุ่นวายในพิธีฉลองสมโภชพระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒ หลังพุทธปรินิพพาน

พระอุปคุตมหาเถระปางจกบาตรนี้ เป็นปางที่พระอุปคุตมหาเถระแหงนหน้าหยุดพระอาทิตย์เพื่อฉันภัตตาหาร แสดงออกถึงความอุดมสมบูรณ์ มีกินมีใช้และความยิ่งใหญ่ของท่าน แม้แต่พระอาทิตย์ไม่ว่าใหญ่แค่ไหนก็ต้องหยุดด้วยอานุภาพของท่าน ชาวพุทธจึงนิยมสร้างพระอุปคุตมหาเถระปางจกบาตรนี้ไว้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล

พระอุปคุต ในวัดศรีดอนมูล ถูกนำมาประดิษฐานไว้ ๒ องค์ ในลักษณะนั่งอุ้มบาตร และพระพุทธรูปอุปคุตแบบยืน รูปลักษณะของพระอุปคุต ที่เป็นรูปเคารพโดยทั่วไป มักทำเป็นรูปองค์พระนั่งอยู่ภายในหอยสังข์ มีขนาดเศียรค่อนข้างใหญ่ เน้นส่วนคิ้ว ตา จมูกให้เห็นชัดเจน และเนื่องจากที่อาศัยจำพรรษาของพระอุปคุตอยู่ในปราสาทแก้วกลางมหาสมุทร จึงมักทำรูปสัตว์น้ำเป็นสัญลักษณ์ประกอบอยู่ด้วยเสมอ จากคติความเชื่อที่ว่า หากผู้ใดมีบุญบารมีได้ใส่บาตรพระอุปคุต มักทำให้ร่ำรวยเงินทอง ปราศจากภัยทั้งปวง มีสมาธิจิตดี ไม่หลงลืม ชีวิตเป็นสุข

ปัจจุบันยังมีความเชื่อในหมู่ชาวล้านนาว่า พระบัวเข็ม หรือพระอุปคุต ยังมีชีวิตอยู่ ในทุกวันขึ้น ๑๕ ค่ำที่ตรงกับวันพุธ ชาวล้านนาจะเรียกว่า เป็นวันเพ็งปุ๊ด พระอุปคุตจะออกบิณฑบาตในร่างเณรน้อย และจะออกมาเวลาเที่ยงคืน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดประเพณีตักบาตรกลางคืนขึ้น

http://www.komchadluek.net/

. . . . . . .