ตอน แปด อานาปานสติ ขั้นที่ สี่ (การทำกายสังขาร ให้รำงับ) ส่วนที่ห้า

ตอน แปด อานาปานสติ ขั้นที่ สี่ (การทำกายสังขาร ให้รำงับ)

ส่วนที่ห้า

การบรรลุฌาน
ลำดับของการปฏิบัติในขั้นที่เป็นการบรรลุถึงฌานนี้ ควรจะได้ย้อนไปทำความเข้าใจ ตั้งแต่ขั้นที่ปฏิภาคนิมิตปรากฏขึ้นมาตามลำดับอีกครั้งหนึ่ง เพื่อความเข้าใจง่ายในขั้นนี้ : เมื่อปฏิภาคนิมิตจะปรากฏ มีสิ่งให้สังเกตล่วงหน้าได้ คือ อุคคหนิมิตในขณะนั้นแจ่มใสยิ่งขึ้น ; จิตรู้สึกสงบยิ่งขึ้น ; รู้สึกสบายใจหรือพอใจในการกระทำนั้นมากยิ่งขึ้น ; ความเพียรเป็นไปโดยสะดวก แทบจะไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรเลย ; ลักษณะเหล่านี้แสดงว่าปฏิภาคนิมิตจะปรากฏ. ครั้นปฏิภาคนิมิตปรากฏแล้ว ต้องระมัดระวังในการรักษาปฏิภาคนิมิตโดยนัยดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นระยะยาวตามสมควร. แม้ว่าในขณะนี้นิวรณ์จะระงับไปไม่ปรากฏก็จริง แต่อัปปนาสมาธิยังล้มๆ ลุกๆ อยู่ เพราะองค์ฌานยังไม่ปรากฏแน่นแฟ้นโดยสมบูรณ์. ผู้ปฏิบัติจะต้องดำรงตนอยู่อย่างสม่ำเสมอ ในลักษณะแห่งอัปปนาโกสล ๑๐ ประการ ดังที่กล่าวแล้วเพื่อเป็นการเร่งรัดอัปปนาสมาธิให้ปรากฏต่อไป. ผู้ปฏิบัติหน่วงจิตให้ลุถึงอัปปนาสมาธิได้ ด้วยการหน่วงความรู้สึกที่เป็นองค์ฌานทั้ง ๕ ประการ ให้ปรากฏขึ้นในความรู้สึกแจ่มชัด สมบูรณ์ และตั้งอยู่อย่างแน่นแฟ้น. เมื่อองค์ฌานตั้งมั่นทั้ง ๕ องค์แล้ว ชื่อว่าลุถึงอัปปนาสมาธิหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการได้ฌานในอันดับแรก ซึ่งเรียกว่า ปฐมฌาน.

ปฐมฌาน ปรากฏ

ลักษณะสังเกตความสมบูรณ์ของปฐมฌาน ย่อมมีอยู่ คือ ในขณะนั้นจิตประกอบอยู่ด้วยลักษณะ ๑๐ ประการ. ประกอบอยู่ด้วยองค์แห่งฌาน ๕ ประการ และการประกอบด้วยอินทรีย์ ๕ ประการ ไม่ย่อหย่อน, รวมเป็นสิ่งที่จะต้องกำหนดเพื่อการศึกษา หรือเพื่อการสอบสวนเป็น ๒๐ ประการด้วยกัน มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ :

ลักษณะ ๑๐ ประการ นั้น แบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ ก. ส่วนที่เป็นเบื้องต้น ข. ส่วนที่เป็นท่ามกลาง และ ค. ส่วนที่เป็นที่สุด ของปฐมฌานนั้นมีอธิบายดังต่อไปนี้ :

ก. ลักษณะที่เป็นเบื้องต้นของปฐมฌาน เรียกว่า ความสมบูรณ์ด้วยปฏิปทาวิสุทธิ คือ ความบริสุทธิ์หมดจดของข้อปฏิบัติในขั้นนั้นๆ ซึ่งในที่นี้ได้แก่ปฐมฌานนั่นเอง. ความสมบูรณ์ที่กล่าวนี้ ประกอบอยู่ด้วยลักษณะ ๓ อย่าง คือ :

(๑) จิตหมดจดจากโทษทั้งปวง ที่เป็นอันตรายต่อปฐมฌานนั้น ;
(๒) เพราะความหมดจดเช่นนั้น จิตย่างขึ้นสู่สมถนิมิต ซึ่งในที่นี้ได้แก่ องค์ฌาน :
(๓) เพราะย่างขึ้นสู่สมถนิมิต จิตย่อมแล่นไปในสมถนิมิตนั้น ;

ลักษณะทั้งสามนี้ ทำให้ ปฐมฌานได้ชื่อว่า มีความงามในเบื้องต้น

ข. ลักษณะที่เป็นท่ามกลางของปฐมฌาน เรียกว่า อุเบกขาพรูหนา กล่าวคือ ความหนาแน่นไปด้วยอุเบกขา หรือความเพ่งดูเฉยอยู่ ; ประกอบอยู่ด้วยลักษณะ ๓ อย่างคือ :-

(๑) เพ่งจิตอันหมดจดแล้วจากโทษที่เป็นอันตรายต่อปฐมฌานนั้น (คือข้อหนึ่งแห่งหมวดที่กล่าวถึงเบื้องต้น ข้างบน)
(๒) เพ่งดูจิตที่แล่นเข้าสู่สมถนิมิตแล้ว (ดังที่กล่าวมาแล้วในข้อ ๓ ในหมวดต้น)
(๓) เพ่งดูจิตที่มีเอกัตตะปรากฏแล้ว. เอกัตตะในที่นี้ ได้แก่ความเป็นฌานโดยสมบูรณ์ ประกอบอยู่ด้วยลักษณะต่างๆ ที่ตรงกันข้ามจากนิวรณ์โดยประการทั้งปวง ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น (เปิดย้อนไปดูตอนที่กล่าวเรื่องเอกัตตะ)

ลักษณะทั้งสามนี้ทำให้ ปฐมฌานได้ชื่อว่า มีความงามในท่ามกลาง

ค. ลักษณะที่เป็นที่สุดของปฐมฌาน เรียกว่า สัมปหังสนา แปลว่าความร่าเริง ; ประกอบอยู่ด้วยลักษณะ ๔ ประการ คือ :

(๑) ร่าเริงเพราะธรรมทั้งปวงที่เกิด หรือที่เกี่ยวกับปฐมฌานนั้น (โดยเฉพาะเช่นองค์ฌานเป็นต้น) ไม่ก้ำเกินกัน แต่สมส่วนกัน ซึ่งเรียกได้ว่า มี “ความเป็นสมังคีในหน้าที่ของตนๆ”.
(๒) ร่าเริงเพราะอินทรีย์ทั้งหลายมีกิจเป็นอันเดียวกัน ร่วมกันทำให้เกิดผลอย่างเดียวกัน.
(๓) ร่าเริงเพราะสามารถเป็นพาหนะนำไปได้ซึ่งความเพียรจนกระทั่งลุถึงฌานนั้นๆ ที่ไม่ก้ำเกินกัน และลุถึงความสมบูรณ์แห่งอินทรีย์ ที่มีกิจเป็นอันเดียวกัน.
(๔) ร่าเริงเพราะเป็นที่ส้องเสพมากของจิต.

ลักษณะทั้ง ๔ ประการนี้ ทำให้ ปฐมฌานได้ชื่อว่า มีความงามในที่สุด.

เมื่อรวมเข้าด้วยกันทั้ง ๓ หมวด ย่อมเป็นลักษณะ ๑๐ ประการเป็นเครื่องแสดงถึงเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ของปฐมฌาน พร้อมทั้งเป็นเครื่องแสดงความงาม กล่าวคือ ความน่าเลื่อมใสหรือเป็นที่พอใจของบัณฑิตผู้สนใจในการศึกษาและปฏิบัติในทางจิต.

สำหรับ องค์แห่งฌาน ๕ องค์ และ อินทรีย์ ๕ ประการ นั้นเป็นสิ่งที่ได้กล่าวมาแล้วอย่างละเอียดข้างต้น ว่ามีลักษณะอย่างไรเป็นต้น ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงในที่นี้อีก. หากแต่ว่าจะต้องพิจารณากันในที่นี้เฉพาะข้อที่ ธรรมทั้ง ๒๐ ประการนี้ประกอบพร้อมกันอยู่ในขณะแห่งปฐมฌานด้วยอาการอย่างไรเท่านั้น ; เพราะธรรมทั้ง ๒๐ นี้ เป็นลักษณะแห่งความสมบูรณ์ของฌานนั่นเอง.

ปฐมฌานประกอบด้วยลักษณะยี่สิบด้วยอาการอย่างไร

จากลักษณะ ๑๐ ประการที่กล่าวนั้นเอง มีทางที่ผู้ศึกษาจะพิจารณาให้เห็นชัด ถึงลักษณะความเป็นฌาน นับตั้งแต่การลุถึงฌาน การตั้งอยู่ในฌาน และการเสวยสุขอยู่ในฌาน พร้อมกันไปในตัว. การที่แบ่งเป็น ๓ ระยะ เป็นเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด เช่นนั้น เป็นเพียงนิตินัย คือ เป็นเพียงหลักสำหรับศึกษา ; โดยพฤตินัยย่อมมีพร้อมกัน คือเป็นเพียงของอย่างหนึ่ง ซึ่งประกอบอยู่ด้วยลักษณะอาการหลายอย่าง แล้วแต่จะมองกันในแง่ไหน และจัดลำดับสิ่งเหล่านั้นอย่างไร เพื่อความสะดวกในการศึกษา และการทำความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ นั่นเอง. ต่อไปนี้จะได้พิจารณากันทีละอย่าง คือ :

ลักษณะที่ ๑ : ในขณะแห่งปฐมฌานนั้น เป็นขณะที่จิตปราศจากสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อปฐมฌานโดยประการทั้งปวง ถึงขนาดที่แน่วแน่จริงๆ. ลักษณะที่กล่าวนี้ จึงยังไม่มีโดยสมบูรณ์ ในขณะที่ปฏิภาคนิมิตยังปรากฏอยู่ ; แต่มีต่อเมื่อสมถนิมิต คือองค์แห่งฌานปรากฏแล้ว. ฉะนั้น ความระงับไปแห่งนิวรณ์ด้วยลำพังอำนาจของปฏิภาคนิมิตนั้น ยังหาใช่เป็นฌานไม่ หาใช่เป็นอัปปนาสมาธิไม่ เป็นแต่เพียงอุปจารสมาธิอยู่นั่นเอง. ข้อนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะกล่าวอย่างหละหลวมว่า พอสักว่านิวรณ์ทั้งห้าระงับไป ก็เป็นการบรรลุฌานโดยทันที เว้นไว้แต่จะเป็นการกล่าวอย่างกว้างๆ โดยโวหารพูดทั่วไปสำหรับชาวบ้าน ; และพึงจำกัดความให้แม่นยำอยู่เสมอไปว่า ในที่นี้ท่านหมายถึง การที่จิตหมดจดจากโทษที่เป็นอันตรายต่อปฐมฌานนั้น.

ลักษณะที่ ๒ : ในข้อนี้ แสดงถึง อาการที่จิตผละจากปฏิภาคนิมิต ไปสู่สมถนิมิตหรือองค์ฌานได้ เพราะจิตหมดจดจากโทษที่เป็นอันตรายต่อปฐมฌานจริงๆ ; ถ้าไม่หมดจดในลักษณะอย่างนี้ ก็ไม่สามารถผละจากปฏิภาคนิมิตไปสู่องค์แห่งฌานได้. ในขณะแห่งปฏิภาคนิมิต ยังไม่ถือว่าเป็นความหมดจดเพราะยังมีการกำหนดสิ่งซึ่งยังเป็นภายนอกอยู่ ยังเนื่องอยู่กับสิ่งที่เป็นภายนอกซึ่งหมายความว่ายังไม่เป็นที่ตั้งแห่งความแน่วแน่, ยังโงนเงน เพราะไม่ประกอบที่องค์ อันเป็นเหมือนรากฐานที่สมบูรณ์ และยังเป็นโอกาสแห่งการกลับมารบกวนของนิวรณ์. แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ยังได้ชื่อว่า การหน่วงจิตขึ้นสู่ฌาน เป็นสิ่งที่ต้องทำในขณะที่ไม่มีนิวรณ์รบกวนอยู่นั่นเอง จึงจะสามารถหน่วงความรู้สึก จากความรู้สึกที่เป็นปฏิภาคนิมิต ให้ไปเป็นความรู้สึกที่เป็นองค์แห่งฌานได้.

ลักษณะที่ ๓ : เพราะจิตผละจากปฏิภาคนิมิตได้ และย่างขึ้นสู่สมถนิมิตได้ จิตจึงแล่นไปในสมถนิมิตนั้นโดยทั่วถึง. ข้อนี้ หมายถึงการที่ ภาวะของจิตในขณะนี้ปราศจากร่องรอยของปฏิภาคนิมิตแล้ว ซึมซาบอยู่ด้วยความรู้สึกที่เป็นองค์แห่งฌานทั้ง ๕ องค์อย่างทั่วถึง ไม่เพียงสักแต่ว่ากำหนดองค์นั้นๆ เท่านั้น แต่องค์นั้นๆ ได้เป็นความรู้สึกที่อาบย้อมจิตอยู่อย่างซึมซาบทีเดียว. การที่ท่านจัดลักษณะทั้ง ๓ นี้ไว้ ว่าเป็นลักษณะเบื้องต้นของปฐมฌานก็เพราะเป็นการแสดงถึงลักษณะหรือเครื่องปรากฏของฌาน ชนิดที่ควรสังเกตหรือเข้าใจ ก่อนลักษณะอย่างอื่นทั้งหมด ; ต่อจากนั้นไปจึงค่อยสังเกตให้ละเอียดลงไปว่า ในขณะที่มันมีภาวะอย่างนั้นๆ มันได้มีกิจหรือกำลังทำอะไรอยู่บ้างสืบต่อไป คือ :-

ลักษณะที่ ๔ : จิตย่อมประจักษ์ ได้ด้วยตัวมันเอง ต่อความที่จิตเองเป็นธรรมชาติหมดจดจากโทษแล้ว ; เปรียบเหมือนกับเมื่อเราอาบน้ำชำระร่างกายจนสะอาดหมดจดแล้ว จะดูหรือไม่ดูก็ตาม เราก็ย่อมประจักษ์ต่อความที่ร่างกายเป็นสิ่งที่หมดจดแล้ว. แต่ในกรณีของจิตนั้น มันเพ่งอยู่ตรงที่องค์ฌานตลอดเวลา มันจึงประจักษ์ต่อความที่ตัวมันเองเป็นสิ่งที่สะอาดหมดจดแล้ว พร้อมกันไปในตัว. ยิ่งเพ่งต่อองค์ฌานเท่าไร ก็เท่ากับยิ่งเพ่งต่อความสะอาดหมดจดของตัวเท่านั้น. สรุปความว่า มันได้เห็นความหมดจดจากโทษของตัวมันเองอยู่อย่างแน่วแน่พร้อมกับอาการอื่นๆ ที่เนื่องกัน. เปรียบเหมือนเมื่อเราเดินดูอะไรสักอย่างหนึ่ง : การเดินก็ดี การดูก็ดี การเห็นก็ดี ความรู้สึกต่อสิ่งนั้นๆ ก็ดีเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีได้พร้อมกันด้วยเจตนาเพียงอันเดียว และโดยอัตโนมัติ ฉันใดก็ฉันนั้น.

ลักษณะที่ ๕ : จิตย่อมประจักษ์ต่อการที่ตัวมันเองได้แล่นเข้าไปในสมถนิมิตหรือในองค์แห่งฌาน ที่กำลังประกอบกันอยู่เป็นฌานโดยสมบูรณ์เพราะความที่ตัวมันเองหมดจดแล้วจากโทษทั้งปวง. กล่าวให้ชัดลงไปอีกก็คือ เห็นความที่ตัวมันเองเป็นอย่างนี้ได้ อย่างหนึ่ง, และเห็นความที่มันเป็นอย่างนี้ได้เพราะอาศัยเหตุปัจจัยอะไร อีกอย่างหนึ่ง, อย่างประจักษ์ชัดพร้อมกัน ; แล้วยังประจักษ์ต่อภาวะหรือความเป็นอีกอย่างหนึ่ง คือ :

ลักษณะที่ ๖ : จิตย่อมประจักษ์ต่อความดีหรือความประเสริฐชนิดหนึ่งที่ปรากฏอยู่กับจิต ซึ่งเรียกโดยบาลีว่า เอกัตตะ (ความเป็นเอก) อันเนื่องมาจากการที่จิตได้ทำกิจ ๒ อย่างข้างต้นเสร็จไปแล้ว. เราจะเห็นได้ทันทีว่า ลักษณะแห่งความประจักษ์ทั้ง ๓ อย่างนี้ (คือ ข้อ ๔ ข้อ ๕ ข้อ ๖) เป็นสิ่งที่เนื่องกัน. ความหมายอันลึกข้อนี้ จะต้นขึ้นมาได้ด้วยการเปรียบเทียบ ด้วยการอุปมา คือ เราเป็นคนบริสุทธิ์ เขาจึงให้เกียรติแก่เราโดยยอมให้เข้าไปในบ้าน ; เราเดินเข้าไปในบ้านเขาด้วยความภาคภูมิใจในความบริสุทธิ์ของตัวเราที่มีอยู่ จนถึงกับเขายอมให้เข้าบ้าน เมื่อเป็นเช่นนี้ เราอาจจะมองดูสิ่งเหล่านี้ได้พร้อมกันคือ ดูความที่เราเป็นคนบริสุทธิ์ก็ได้ ดูการที่เราเดินเข้าไปในบ้านเขาก็ได้ ดูความดีหรือเกียรติของเรา ที่กำลังได้รับอยู่ในขณะนั้นก็ได้ ซึ่งแม้จะแยกดูกันอย่างไร มันก็ต้องดูที่ตัวเราเองทั้งนั้น ; ข้อนี้ฉันใด จิตก็เพ่งดูตัวเองโดยประจักษ์ โดยลักษณะ ๓ ประการที่กล่าวมาแล้ว และเห็นอยู่อย่างแน่วแน่มั่นคง มีกำลังแห่งการดู กำลังแห่งความพอใจ และกำลังแห่งความรู้สึกเป็นสุข เพราะความพอใจอยู่อย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นเหตุให้แน่วแน่ ยากที่จะเปลี่ยนแปลง เหตุนั้นจึงได้ชื่อว่าอัปปนา ; และเรียกลักษณะทั้งหมดนี้ว่า อุเบกขาพรูหนา หรือความหนาแน่นไปด้วยอุเบกขา กล่าวคือการเพ่งเฉยอยู่อย่างมั่นคง.

ลักษณะทั้งสาม ซึ่งจัดเป็นท่ามกลางของปฐมฌานนี้ เราสรุปไว้ในฐานะเป็นกิจหรือเป็นหน้าที่ของจิตที่ลุถึงฌาน ; ส่วนลักษณะต่อไป เป็นลักษณะประเภทที่แสดงถึงรส หรืออานิสงส์ ที่จิตจะได้รับ เรียกว่า “ความร่าเริง” กล่าวคือ :

ลักษณะที่ ๗ : จิตร่าเริงอยู่ได้ เพราะธรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้นในขณะนั้นไม่ก้ำเกิน ก้าวก่าย แก่งแย่งกัน แต่สามัคคีประนีประนอมกัน ทำหน้าที่ของตัวอยู่อย่างขยันขันแข็ง. คำว่า “ธรรมทั้งปวง” ในที่นี้ โดยตรงเล็งถึงองค์ฌานทั้งห้าและอินทรีย์ทั้งห้า และยังหมายถึงธรรมะชื่ออื่นซึ่งไม่ระบุบางอย่างด้วย. อินทรีย์ได้รับการปรับปรุงอย่างไร จึงไม่ก้ำเกินกัน ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น เช่นในข้อสองแห่งอัปปนาโกสล. ในที่นี้ มุ่งหมายจะชี้แต่เพียงการที่ธรรมะทั้งห้านั้นประกอบกันทำหน้าที่อย่างเหมาะสม ไม่มีส่วนใดที่มีกำลังมากกว่าส่วนอื่น แล้วไปครอบงำส่วนอื่นให้รวนเรในการทำหน้าที่ของตน. สำหรับองค์ฌานทั้งห้านั้น ในขณะนี้หมายถึงการที่แต่ละองค์ๆ ปรากฏเต็มที่ตามส่วนสัดของตน จึงตั้งอยู่อย่างแน่วแน่. ในขณะอื่นจากนี้ ในตอนต้นๆ โดยเฉพาะในขณะแห่งคณนา และอนุพันธนานั้น พึงสังเกตดูเถิดว่า มีแต่วิตกบ้าง มีวิตกวิจารที่ยิ่งหย่อนกว่ากันบ้าง ; ปีติ สุข เอกัคคตา นั้นยังไม่เคยมีเลย. แม้ในขณะแห่งผุสนาและฐปนาก็มีปีติและสุข ที่ยังล้มๆ ลุกๆ, เอกัคคตายังไม่อยู่ในลักษณะที่เรียกว่า เอกัคคตา เลย ; ดังนี้เป็นต้น. แต่ในบัดนี้สิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้นเต็มสัดส่วนและครบทุกส่วน ราวกะว่าได้ผ่านการชั่งตวงวัดของคนฉลาดและมีอำนาจมาแล้ว มันจึงอยู่ในลักษณะที่เหมือนกับไม้ ๕ ขา หรือ ๑๐ ขา ที่ปักอยู่อย่างมั่นคง แล้วรวมกำลังเป็นอันเดียวกันในเบื้องบน : มีการรับน้ำหนักเท่ากัน มีโอกาสเท่ากันในการที่จะทำหน้าที่ของตนๆ ฉันใดก็ฉันนั้น ; ฉะนั้น จึงไม่เป็นการยากที่บุคคลนั้นจะมีความรู้สึกในองค์แห่งฌาน ทั้ง ๕ องค์ อยู่ได้อย่างแน่วแน่ ในลักษณะที่เป็นอัปปนา.

ลักษณะที่ ๘ : รู้สึกร่าเริงเพราะอินทรีย์ทั้งห้า ร่วมกันทำอย่างเดียวกันโดยมุ่งหมายจะได้รสอันเดียวกัน ทั้งๆ ที่ธรรมะนี้แต่ละอย่างๆ ต่างก็มีความเป็นใหญ่ หรือมีหน้าที่ของตนโดยเฉพาะ ราวกะว่าจะไม่สามารถลดตัวลงมาประนีประนอมกันได้. เมื่ออินทรีย์ทั้งห้า คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ได้ร่วมกันทำกิจเพื่อรสอันเดียวกัน สำเร็จไปได้เช่นนี้ ความร่าเริงของจิต ย่อม
เกิดเองโดยธรรมชาติ.

ลักษณะที่ ๙ : ร่างเริงเพราะจิตนี้ สามารถนำธรรมะอันเป็นตัวกำลังทุกอย่างเข้าไปสู่จุดที่หมายได้. ถ้ากล่าวอย่างคน ก็คือร่าเริงเพราะตนสามารถนำคนอื่นทั้งหมดไปได้ ตามที่ตนต้องการ. สำหรับเรื่องของจิตในที่นี้ หมายถึงการที่สามารถควบคุมธรรมนั้นๆ ไม่ให้ก้ำเกินก้าวก่ายกัน และให้อินทรีย์นั้นๆ ร่วมกันทำกิจอย่างเดียวกัน และเพื่อรสอันเดียวกันเป็นส่วนใหญ่. เมื่อจิตอยู่ในสภาพเช่นนี้ ความร่าเริงย่อมผุดขึ้นมาเอง โดยไร้เจตนาอีกอย่างเดียวกัน.

ลักษณะที่ ๑๐ : ร่าเริงเพราะความที่ฌานนั้น เป็นที่พอใจของจิต เป็นรสที่จิตรู้สึกพอใจ และเสวยอยู่เป็นปรกติมากกว่าอย่างอื่น. ทั้งนี้ เป็นด้วยอำนาจของปีติและความสุขเป็นต้น ซึ่งเป็นองค์ฌาน เป็นเครื่องดึงดูด และเพราะอำนาจของวิตกวิจารและอุเบกขา เป็นเครื่องทำความตั้งมั่น ; ฌานจึงมีอาการราวกะว่าเป็นนิพพานของจิต เป็นที่พอใจแห่งจิต จนไม่อยากจะละไป. รวมความว่า ความร่าเริงเกิดขึ้น เพราะความพอใจในรสของฌานนั้น. ความร่าเริงเหล่านี้ เป็นได้เองโดยไร้เจตนา จึงไม่เป็นอุปสรรคใดๆ ต่อฌาน และรวมอยู่ในองค์แห่งฌาน หรือกล่าวให้ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ความร่าเริงนั้น เป็นลักษณะอาการบางอย่างขององค์แห่งฌานในตัวมันเองนั่นเอง. สำหรับความร่าเริงในที่นี้ จัดเป็นอาการของปีติและสุขโดยตรง แต่เราแยกมองกันในอาการของความร่าเริง และแยกสอดส่องลงไปดูถึงลักษณะต่างๆ ที่เป็นต้นเหตุของความร่าเริงต่างๆ กัน ที่มีอยู่ในส่วนลึกของความรู้สึก ที่เป็นองค์แห่งฌานองค์นั้น. ทั้งหมดนี้มิใช่เพื่อการศึกษาที่เยิ่นเย้อ แต่เป็นแนวทางที่จะสอบสวนข้อเท็จจริงของความเป็นฌาน และของการแก้ไขอุปสรรคบางประการ อันอาจจะเกิดขึ้นแก่การปฏิบัติในขั้นนี้.

ลักษณะทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นกฎเกณฑ์ที่ตายตัว ที่อาจใช้ได้ทั่วไปทุกลำดับของธรรมะที่จะบรรลุในโอกาสข้างหน้า กล่าวคือ รูปฌานที่เหลือจากนี้ก็ดี อรูปฌานก็ดี วิปัสสนาทั้งหมดก็ดี การบรรลุมรรคผลก็ดี ย่อมอาศัยกฎเกณฑ์แห่งลักษณะ ๑๐ ประการนี้ เป็นเครื่องตรวจสอบ ด้วยกันทั้งนั้น. ทั้งหมดนั้นมีหลักการ หรือวิชาการ แห่งการปฏิบัติและการตรวจสอบโดยทำนองเดียวกันทั้งนั้น ผิดกันแต่สักว่าชื่อต่างๆ ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับลักษณะเหล่านี้ ; ฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่จะต้องสนใจเป็นพิเศษ เพื่อเป็นผลอันใหญ่หลวงข้างหน้า. ถ้าผู้ปฏิบัติไม่สามารถศึกษา และไม่สามารถทำความรู้สึกด้วยใจจริงๆ ในลักษณะเหล่านี้แล้ว การปฏิบัติโดยวิธีนี้ ย่อมยากที่จะเป็นไปได้สำหรับบุคคลนั้น ซึ่งจะทำให้เขาต้องหันไปหาวิธีปัญญาวิมุตติ ซึ่งเป็นวิธีง่ายๆ ตามธรรมชาติอีกตามเคย. นี้เป็นใจความสำคัญของลักษณะทั้ง ๑๐ นี้.

การที่เรียกลักษณะทั้ง ๑๐ นี้ว่า ความงาม แล้วจำแนกเป็นความงามในเบื้องต้น ความงามในท่ามกลาง ความงามในที่สุดนั้น เป็นเพียงผลพลอยได้ในแง่ของการจูงใจ หรือถ้าเรียกอย่างสมัยใหม่ ก็เรียกว่าโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อชักชวนบุคคลให้เกิดความสนใจหรือขะมักเขม้น. ข้อนี้ ไม่เกี่ยวกับแง่ของการปฏิบัติ แต่ก็เป็นธรรมเนียมที่ท่านแนะให้ระลึกนึกถึง เพื่อให้เกิดสัทธาปสาทะในเบื้องต้น และยิ่งๆ ขึ้นไป จนถึงกับให้หลักไว้เป็นทำนองว่า อะไรๆ ในพระพุทธศาสนาที่เป็นความสำเร็จขั้นหนึ่งๆ แล้ว จักต้องมีความงาม ๓ ประการนี้ และจะต้องหัดมองให้เห็นความแยบคายหรือความน่าอัศจรรย์ ที่จัดเป็นความงามในที่นี้ด้วยทุกครั้งไป. เมื่อได้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันของธรรมะในกลุ่มหนึ่งๆ ทั้ง ๓ กลุ่มดังนี้แล้ว จะได้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทั้ง ๓ นี้สืบไป.

ภาวะของจิตในขณะแห่งฌาน

ความสัมพันธ์เป็นอันเดียวกันแห่งธรรมทั้ง ๓ กลุ่ม ตลอดถึงลักษณะอื่นๆ อีก ที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับสิ่งเหล่านี้ จะเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย ต่อเมื่อเราได้วินิจฉัยกันดูถึงภาวะของจิตในขณะแห่งการบรรลุฌาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัญหาข้อที่ว่า อะไรเป็นอารมณ์ของจิตในขณะนั้น และ จิตในขณะนั้น มีการกำหนดอารมณ์อย่างไร. ถ้อยคำต่างๆ บางคำ เปลี่ยนความหมาย, และกิริยาอาการบางอย่างก็เป็นไปในลักษณะที่เข้าใจได้ยาก ราวกะว่าเป็นเคล็ดลับ จึงต้องทำความเข้าใจกันใหม่ในความหมายของคำบางคำ และกิริยาอาการบางอย่างในขั้นนี้กันอีกครั้งหนึ่ง. เป็นที่ทราบกันแล้วว่า จิตเป็นธรรมชาติที่ต้องกำหนดอยู่ที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นอารมณ์ แล้วอะไรเล่าเป็น อารมณ์ในขณะที่จิตบรรลุฌาน ? เพื่อความเข้าใจง่าย ควรจะแยกเป็น ๒ ระยะ คือ ขณะที่จิตจะบรรลุฌาน อย่างหนึ่ง ขณะที่จิตตั้งอยู่แล้วในฌาน อย่างหนึ่ง. สำหรับ จิตในขณะที่จะบรรลุฌานโดยแน่นอน ซึ่งเรียกว่า “โคตรภูจิตในฝ่ายสมถะ” นั้น พอที่จะกล่าวได้ว่า มีความเป็นอัปปนาหรือฌาน ซึ่งจะลุถึงข้างหน้าเป็นอารมณ์. ส่วนจิตที่ตั้งอยู่แล้วในฌานนั้น อยู่ในสภาพที่ไม่ควรจะกล่าวว่ามีอะไรเป็นอารมณ์ แต่ถ้าจะกล่าวก็กล่าวว่า มีองค์แห่งฌานที่ปรากฏชัดเจนโดยสมบูรณ์แล้วนั้นเองเป็นอารมณ์ เพราะมีความรู้สึกที่เป็นองค์แห่งฌานนั้นปรากฏอยู่. แต่ข้อนี้ยังมิใช่ปัญหาสำคัญในการการปฏิบัติ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้เอง. ปัญหาสำคัญของเราอยู่ตรงที่ว่า :- ในขณะที่จิตลุถึงฌานนั้น มีอะไรเป็นอารมณ์ และมีการเกี่ยวข้องกับอารมณ์นั้น ในลักษณะอย่างไร ? ซึ่งจะได้วินิจฉัยสืบไป.

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า จิตในขณะที่กำลังจะลุถึงฌานนี้ มีการหน่วงต่ออัปปนาสมาธิ จึงมีความเป็นอัปปนานั่นเอง เป็นอารมณ์ของการหน่วง. นี้ทำให้เห็นได้ว่า มิได้มีการกำหนดอารมณ์นั้น ในฐานะที่เป็นนิมิต ดังที่เคยกระทำกันมาแล้วแต่กาลก่อน กล่าวคือ ในขณะแห่งบริกรรมนิมิต อุคคหนิมิต และแม้ปฏิภาคนิมิต ; ฉะนั้น จึงถือเป็นหลักอันสำคัญสำหรับการศึกษาในขั้นนี้ว่าธรรม ๓ คือ นิมิต ลมหายใจออก และลมหายใจเข้า ทั้งสามนี้มิได้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นอารมณ์แห่งเอกัคคตาจิต หรือแม้จิตที่กำลังจะเป็นเอกัคคตา ; แต่ถึงกระนั้นธรรมทั้งสามนี้ ก็ยังคงปรากฏด้วยอำนาจของสติอยู่นั่นเอง ทั้งจิตก็ไม่ฟุ้งซ่านทั้งความเพียรก็ปรากฏหรือเป็นไปอยู่ และผู้ปฏิบัติก็สามารถทำประโยคให้สำเร็จจนลุถึงคุณพิเศษที่ตนประสงค์ และนี้คือหัวข้อที่ต้องทำความเข้าใจ หรือที่อยู่ในลักษณะที่พอจะเรียกได้ว่า เป็น “กลเม็ดที่เกี่ยวกับการบรรลุฌาน” ผู้ศึกษาพึงสังเกตให้เห็นใจความสำคัญของหลักที่กล่าวแล้ว ซึ่งมีอยู่ว่าในขณะนี้ นิมิตก็ตาม ลมหายใจออกก็ตาม ลมหายใจเข้าก็ตาม มิได้เป็นอารมณ์ของจิต แต่ก็ยังคงปรากฏอยู่นี้ ข้อหนึ่ง ; และอีกข้อหนึ่งคือ แม้มิได้มีการกำหนดสิ่งเหล่านั้นเป็นอารมณ์ จิตก็ไม่ฟุ้งซ่าน. ความพยายามทำก็ปรากฏอยู่. ตัวประโยค กล่าวคือตัวการกระทำ ก็ดำเนินไปอยู่ จนกระทั่งเป็นสมาธิ ดังนี้. นึกดูแล้ว มันจะเป็นไปได้อย่างไรกัน ? ปัญหาย่อมจะเกิดขึ้นว่า นิมิตและลมหายใจจะปรากฏแก่จิตได้อย่างไร ในเมื่อไม่ได้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นอารมณ์ของจิต ? ความพยายามและความดำเนินไปของภาวนา จะมีได้อย่างไร ในเมื่อจิตสงบไม่มีพฤติหรือความหวั่นไหวแต่อย่างใด ? นี่แหละ คือความหมายของคำที่กล่าวว่า ถ้าเป็นไปได้ ก็ต้องเป็นไปในลักษณะที่เป็นกลเม็ดหรือเป็นเคล็ดลับ. แต่ที่แท้จริงนั้น หาได้เป็นกลเม็ดหรือเคล็ดลับอย่างใดไม่ มันเพียงอาการของการกระทำที่แยบคายที่สุด ตามแบบของจิตที่ฝึกแล้วถึงที่สุด และเป็นไปได้โดยกฎธรรมดา หรือตามธรรมชาตินั่นเอง. ถ้าไม่มีการสังเกตหรือการศึกษาที่เพียงพอ ก็ดูคล้ายกับว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้. การอธิบายสิ่งที่อธิบายด้วยคำพูดตรงๆ ไม่ได้ หรือได้ก็มีความยากลำบากเกินไปนั้น ท่านนิยมให้ทำการอธิบายด้วยการทำอุปมา ; พอผู้ฟังเข้าใจความหมายของอุปมาแล้ว ก็เข้าใจความหมายของตัวเรื่อง ซึ่งเป็นตัวอุปมัยได้ทันที. ในที่นี้ก็จำเป็นจะต้องใช้วิธีการอันนั้น กล่าวคือ การทำอุปมาด้วยการเลื่อยไม้อีกตามเคย :- คนๆ หนึ่ง กำลังเลื่อยไม้อยู่ ซึ่งหมายความว่าฟันเลื่อยกำลังกินเนื้อไม้อยู่. สิ่งที่จะต้องสังเกตเพื่อทำความเข้าใจก็คือ เขามิได้มองตรงไปที่ฟันเลื่อยกินเนื้อไม้เลย เขามิได้สนใจที่ตรงนั้น แต่สติก็ปรากฏอยู่ชัดเจน ว่าเขากำลังเลื่อยไม้อยู่ ; ทั้งนี้ก็มิใช่อะไรอื่น แต่เป็นเพราะอำนาจของฟันเลื่อยที่กำลังกินเนื้อไม้นั่นเองให้ความรู้สึกแก่เขา. พึงสังเกตว่า :-

๑. ทำไมเขาจึงรู้สึกตัวอยู่ว่าเขากำลังเลื่อยไม้ ทั้งๆ ที่เขามิได้สนใจตรงที่ฟันเลื่อยกำลังกินเนื้อไม้อยู่โดยเฉพาะ ;

๒. ข้อถัดไปก็คือ ฟันเลื่อยย่อมเดินไปเดินมาตามการชักของบุคคลผู้เลื่อย แต่สิ่งที่เรียกว่า “ความแน่วแน่” ในการเลื่อยก็ยังมีอยู่ ทั้งที่เลื่อยมีอาการวิ่งไปวิ่งมา. ข้อนี้พึงตั้งข้อสังเกตว่า “ความแน่วแน่” มันปรากฏได้อย่างไร ในเมื่อการเคลื่อนไหวไปเคลื่อนไหวมา ก็ปรากฏอยู่ ;

๓. ข้อถัดไปก็คือ ความพยายามกระทำของบุคคลนั้นก็มีอยู่ โดยมิได้มีความสนใจตรงที่ฟันเลื่อยกินไม้ หรือมิได้สนใจแม้แต่ในความพยายามที่ตนกำลังพยายามอยู่, แม้สติก็มิได้ปรากฏอย่างเด่นชัดรุนแรงในการควบคุมความพยายาม ; ความพยายามนั้นก็ยังเป็นไปได้เต็มตามความต้องการ และ

๔. ข้อสุดท้ายที่ควรสังเกตก็คือ แม้ว่าเขาจะหลับตาเสียในขณะนั้นไม้ก็คงขาดไปเรื่อยๆ จนกระทั่งขาดออกจากกันในที่สุด ซึ่งทำให้กล่าวได้ว่าประโยคได้เป็นไปเอง โดยที่บุคคลนั้นมิได้สนใจฟันเลื่อย ในการแน่วแน่ต่อการเลื่อย ในความพยายามของตน หรือในอะไรอื่น คงมีแต่สติที่คุมสิ่งต่างๆ อยู่ตามสมควรเท่านั้น ; สิ่งต่างๆ ซึ่งชำนิชำนาญ และถูกปรับปรุงมาดีแล้วถึงขั้นนี้ ก็ดำเนินไปได้ถึงที่สุดเอง.

ทั้ง ๔ ข้อนี้ มีอุปมาฉันใด ภาวะแห่งจิตในการบรรลุฌาน ก็มีอุปมัยฉันนั้น : ต้นไม้เท่ากับสิ่งที่เรียกว่านิมิต หรืออารมณ์ ; ฟันเลื่อย เท่ากับการหายใจเข้าและออก กล่าวคือ การที่ลมหายใจเข้าออก ได้ผ่านนิมิตหรือที่กำหนดผุสนานั่นเอง ; การที่บุรุษนั้นไม่ดูที่ฟันเลื่อยก็ยังมีสติอยู่ได้ เปรียบเหมือนผู้ปฏิบัติในขั้นนี้ แม้จะไม่กำหนดลมหายใจหรือกำหนดนิมิตอีกต่อไป ก็ยังคงมีสติอยู่ได้ หรือจะยิ่งมีสติในขั้นที่ประณีตสูงสุดขึ้นไปอีก : ฟันเลื่อยที่เคลื่อนไปเคลื่อนมาก็ปรากฏชัดอยู่ แต่เขาไม่ได้สนใจเลย. นี้เท่ากับข้อที่ผู้ปฏิบัติก็ยังมีการหายใจอยู่ นิมิตแม้ในลักษณะแห่งปฏิภาคนิมิตก็ปรากฏอยู่ แต่เขาไม่มีความสนใจเลย คงมีแต่สติที่ควบคุมความเพียร และประโยคในการหน่วงเอาองค์ฌาน หรืออัปปนาอยู่อย่างเร้นลับหรือโดยไม่มีเจตนาที่เป็นขั้นสำนึก. คนเลื่อยไม้ไม่สนใจฟันเลื่อยเลยว่ามันจะกินน้อยหรือกินมากอย่างไร ความเพียรของเขาก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ได้, เลื่อยก็ยังกินไม้ได้. นี่เท่ากับการที่ผู้ปฏิบัติในขั้นนี้ ไม่สนใจในลมหรือในนิมิตเลย ไม่ตั้งใจทำความพยายามอะไรเลย ความเพียรก็ยังเป็นไปได้ ประโยคคือการบรรลุถึงฌานก็ยังดำเนินไปเองได้. ทั้งหมดนี้ เพื่อที่จะแสดงให้เห็น ความสำคัญของคำว่า “นิมิตและลมหายใจออกเข้า มิได้เป็นอารมณ์แห่งจิต แต่ยังคงปรากฏอยู่” ซึ่งเมื่อมีความเข้าใจข้อนี้ถูกต้องแล้ว ก็อาจเข้าใจได้ด้วยตนเองทันทีว่า จิตในขณะนั้นไม่สนใจต่อปฏิภาคนิมิต ไม่สนใจต่อลมออกเข้า ไม่กำหนดสิ่งใดเป็นนิมิต สติก็ยังคงเป็นไปได้เองและคุมสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามวิถีทางที่ถูกต้อง จนถึงขณะแห่งอัปปนาคือการบรรลุฌาน.

ถ้ากล่าวอย่างโวหารพูดตามธรรมดาของสมัยนี้ก็กล่าวได้ว่าเพียงแต่สติคุมสิ่งต่างๆ ที่ได้ปรับปรุงดีแล้วเท่านั้น คุมอยู่เฉยๆ เท่านั้น สิ่งต่างๆ ก็เป็นไปได้เองโดยอัตโนมัติ ซึ่งในที่นี้หมายถึงเป็นไปในการหน่วงต่ออัปปนา หรือการปรากฏชัดแห่งองค์ฌานทั้งห้า. ธรรมะต่างๆ ไม่กีดขวางก้าวก่ายกันนั้น เป็นเพราะได้ฝึกฝนและปรับปรุงมาดีแล้วแต่หนหลัง จนกระทั่งอยู่ในภาวะที่ถูกต้องและเหมาะสม จะกล่าวได้ว่า ไม่ต้องห่วงต่อการที่จะมีอะไรเกิดขึ้นกีดขวางก้าวก่ายกัน ; สติจึงตั้งอยู่ในฐานะเหมือนกับนายสารถี ที่เพียงแต่ถือสายบังเหียนไว้เฉยๆ รถก็แล่นไปจนถึงที่สุด ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น. สิ่งที่ควรสังเกตอย่างยิ่ง ก็คือ ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่เริ่มต้นมาทีเดียว ลมหายใจอยู่ในฐานะที่ต้องกำหนดหรือทำให้เป็นอารมณ์, นิมิตอยู่ในฐานะที่ต้องเพ่ง ดังที่ได้กล่าวแล้วอย่างละเอียดในตอนต้นๆ นั้น ; บัดนี้กลายเป็นว่าลมหายใจก็ไม่ต้องกำหนด, นิมิตก็ไม่ต้องกำหนด, แต่มันก็ยังมีผลเท่ากับมีการกำหนด กล่าวคือ ความที่สติคุมสิ่งต่างๆ ไปได้ตามวิถีทางของสมถะ. เพราะฉะนั้น การรู้เท่าทันสิ่งทั้งสาม กล่าวคือ นิมิต ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าอยู่ทุกๆ ระยะแห่งการปฏิบัตินั่นแหละ นับว่าเป็นใจความสำคัญของการเจริญสมาธิในขั้นหนึ่งก่อน. เรากระทำมันอย่างหนึ่งเรื่อยๆ มา จนกระทั่งเปลี่ยนมาอยู่ในลักษณะที่กลับกัน และประสบความสำเร็จขั้นสุดท้าย ซึ่งในขั้นนี้ อาจจะกล่าวได้ว่า :-

๑. ไม่กำหนดอะไรๆ เป็นนิมิตเลย.
๒. ในทำนองตรงกันข้าม อะไรๆ ก็ปรากฏอยู่เองโดยไม่ต้องกำหนด.
๓. ความรู้สึกในธรรมต่างๆ มีองค์ฌานเป็นต้น รู้สึกอยู่ได้เองโดยไม่ต้องเจตนา, (ถ้าเจตนาก็เป็นการกำหนด ซึ่งผิดไปจากความรู้สึก).

ทั้งหมดนี้ เป็นใจความสำคัญ ที่แสดงลักษณะแห่งภาวะของจิตในขณะที่บรรลุฌาน.

ต่อไปนี้ เราจะได้วินิจฉัยกันถึงปัญหาข้อที่ว่า ในขณะแห่งฌานนั้นธรรมกลุ่มใหญ่ๆ ๓ กลุ่ม กล่าวคือ ลักษณะ ๑๐, องค์ฌาน ๕, และอินทรีย์ ๕, ที่กล่าวแล้วข้างต้น ; มี ความสัมพันธ์กันโดยตรง อย่างไร หรือมีอยู่พร้อมกันได้อย่างไรสืบไป.

ในขณะที่จิตลุถึงฌาน สติย่อมหน่วงต่อความปรากฏ ขององค์ฌานทั้ง ๕ อยู่แล้วอย่างสมบูรณ์. ครั้นถึงขณะแห่งการบรรลุฌานหรือลุถึงอัปปนานั้นองค์แห่งฌานปรากฏชัด. ในขณะนั้นแหละ เป็นอันกล่าวได้ว่า ธรรมะ ๒๐ ประการซึ่งจัดเป็น ๓ กลุ่ม ได้ปรากฏแล้วอย่างสมบูรณ์.

กลุ่มที่หนึ่ง คือลักษณะ ๑๐ นั้น ได้กล่าวแล้วว่า ได้จัดเป็น ๓ หมวด คือ :

หมวดแรก คือการที่จิตบริสุทธิ์หมดจด จนเพียงพอที่จะแล่นเข้าไปสู่วิถีของสมถะจนกระทั่งเข้าถึงตัวสมถะ. ข้อนี้ก็ได้แก่การที่จิตในบัดนี้หมดจดจากนิวรณ์ และมีความพร้อมมูลด้วยคุณธรรม. ภายใต้การควบคุมของสติ ผละจากนิมิตและอารมณ์ทั้งปวงแล้ว เลื่อนเข้าไปสู่ความเป็นอัปปนา ด้วยอาการดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น.

หมวดที่สอง เป็นการเพ่งเฉยต่อการที่ตัวมันเองหมดจดแล้ว เข้าถึงความเป็นจิตประเสริฐ สงบรำงับอยู่. ข้อนี้ได้แก่สติ รู้สึกต่อความที่จิตเป็นอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ต้องมีเจตนาอะไรเลย จนกระทั่งลุถึงอัปปนาเหมือนกับคนเลื่อยไม้ รู้สึกในความที่ไม้ขาดไปๆ ตามลำดับ จนกระทั่งขาดออกจากกัน ; กล่าวคือ การละจากจิตที่ไม่เป็นสมาธิ หรือจิตของคนธรรมดา ไปสู่จิตขั้นสูงสุดที่ประกอบด้วยคุณอันใหญ่ที่เรียกว่า “มหัคคตาจิต” เพราะอยู่เหนือกามโดยประการทั้งปวง เป็นต้น.

หมวดที่สาม มีใจความสำคัญอยู่ตรงร่าเริง ในการประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องเจตนา. เมื่อการประสบความสำเร็จเป็นสิ่งที่มีได้โดยไม่ต้องเจตนา ความร่าเริงก็เป็นสิ่งที่มีได้โดยไม่ต้องเจตนา. ข้อนี้ หมายถึงการที่ความรู้สึกอันเป็นองค์ฌาน เช่น ปีติ และสุข เป็นสิ่งที่ปรากฏออกมาได้โดยไม่ต้องมีเจตนา. เป็นอันว่า ธรรมทั้งสิบที่แบ่งเป็น ๓ หมวดนี้ ได้เริ่มมีแล้วตั้งแต่ขณะแห่ง สมถโคตรภู คือ ขณะที่จิตย่างขึ้นสู่การบรรลุฌาน แล้วก็มีเรื่อยติดต่ออันไปโดยไม่มีระยะว่างเว้น.

กลุ่มที่สอง คือองค์ฌานทั้ง ๕ องค์นั้น บัดนี้แม้มิใช่เป็นธรรมที่เป็นอารมณ์โดยตรง ก็ตั้งอยู่ในฐานะที่เป็นอารมณ์โดยอ้อม, คือไม่ใช่เป็นอารมณ์สำหรับการเพ่งหรือการกำหนดก็จริง แต่ก็ตั้งอยู่ในฐานะที่เป็นอารมณ์สำหรับการหน่วงเอาเป็นวัตถุที่มุ่งหมาย เพื่อทำความรู้สึกอันเป็นองค์ฌานนั้นๆ ให้เกิดขึ้น ; ทำนองเดียวกันกับนิพพานธาตุ : แม้ไม่อาจจะจัดว่าเป็นอารมณ์ แต่ก็ยังต้องตั้งอยู่ในฐานะเป็นอารมณ์ หรือวัตถุที่ประสงค์เป็นที่หน่วงของจิต ในขณะแห่งวิปัสสนาโคตรภู เพื่อการเข้าถึงในที่สุด ฉันใดก็ฉันนั้น. ฉะนั้น เป็นอันกล่าวได้ว่า ผู้ปฏิบัติที่มีปฏิภาคนิมิตปรากฏชัดถึงที่สุดแล้ว รักษาไว้เป็นอย่างดีแล้ว กำลังมุ่งต่อการเกิดของอัปปนาสมาธิ. ก็คือผู้ที่กำลังหน่วงต่อความรู้สึกที่เป็นองค์ฌานอยู่นั่นเอง. ขณะที่จิตจะลุถึงฌาน ก็คือขณะที่องค์เหล่านี้จะปรากฏออกมาอย่างสมบูรณ์ ; และ ขณะที่จิตตั้งอยู่ในฌาน ก็คือขณะที่องค์เหล่านี้ได้ปรากฏแก่จิตอยู่อย่างสมบูรณ์นั่นเอง. เป็นอันกล่าวได้ว่า สิ่งที่เรียกว่า “องค์แห่งฌาน” นี้ได้เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ในสมถวิถี นับตั้งแต่ขณะที่หน่วงต่อฌาน ขณะที่ย่างเข้าสู่ฌานและขณะที่ตั้งอยู่ในฌานในที่สุด ทีเดียว.

กลุ่มที่สาม คือ อินทรีย์ห้านั้น กล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่มีกระจายอยู่ทั่วไปทุกขั้นของการปฏิบัติธรรมะ ในที่ทุกหนทุกแห่งและตลอดทุกเวลา. สำหรับในขณะที่จิตจะลุถึงฌานโดยเฉพาะนั้น มีอาการยิ่งแก่กล้า แต่ว่ายิ่งประณีตสุขุมราวกะว่าจะหาตัวไม่พบ. ต่อเมื่อได้ศึกษาและสังเกตโดยแยบคาย จึงจะพบว่าเป็นเช่นนั้น เช่น ในกรณีของสัทธินทรีย์ : ยิ่งปฏิบัติประสบความสำเร็จผ่านมาเท่าไร ก็ยิ่งกำลังของความเชื่อมากเพิ่มขึ้นเท่านั้น. เมื่อเครื่องหมายแห่งความสำเร็จปรากฏออกมาให้เห็นเมื่อใด สัทธาก็ก้าวหน้าไปเมื่อนั้น ทุกชั้นทุกลำดับไปทีเดียว. ส่วนที่เห็นได้ง่ายในขณะนี้ก็คือ ในขณะที่ร่องรอยของปฏิภาคนิมิตปรากฏชัด, หรือในขณะที่จิตว่าจากนิวรณ์ มีความหมดจดพอที่จะแล่นไปสู่สมถะหรือความเป็นเอกัตตะ เป็นต้น.

สำหรับความพากเพียร หรือวิริยินทรีย์ นั้น เป็นไปอย่างมีเจตนาเรื่อยๆ มา จนกระทั่งถึงขณะแห่งการบรรลุฌาน กลายเป็นของละเอียดประณีต และดำเนินไปได้เองโดยไม่มีเจตนา แต่ก็ปรากฏชัดอยู่ในลักษณะที่สมบูรณ์ที่สุด. สำหรับสติหรือสตินทรีย์นั้น เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ได้เข้าไปแทรกแซงหรือควบคุมอยู่ในที่ทั้งปวง ; แต่ในขณะนี้โดยเฉพาะนั้น สติได้ขึ้นถึงขีดสูงสุดของธรรมะชื่อนี้ กล่าวคือ มีอยู่ได้โดยไม่ต้องอาศัยนิมิตหรืออารมณ์ โดยอาการดังที่กล่าวมาแล้วอย่างละเอียด.

สำหรับสมาธิหรือสมาธินทรีย์นั้น กล่าวก็ได้ว่า มีอยู่โดยปริยายหรือโดยอ้อม มาตั้งแต่ขณะแห่งปฏิภาคนิมิต แต่บัดนี้ได้เกิดขึ้นเต็มรูป ในขณะที่องค์แห่งฌานปรากฏ. โดยหลักทั่วไปนั้น เราอาจจะกล่าวได้ว่า เมื่อจิตไม่ถึงความฟุ้งซ่านในที่ใด สมาธิก็ชื่อว่ามีอยู่ในที่นั้น หากแต่เป็นเพียงขั้นที่ยังเป็นเพียงเครื่องมือ. ครั้นมาถึงขั้นนี้ย่อมตั้งอยู่ในฐานะเป็นผลสำเร็จขั้นหนึ่งโดยสมบูรณ์ คือ ขั้นสมถภาวนา ; แต่ต่อจากนี้ไป ก็จะกลายเป็นเครื่องมือเพื่อการปฏิบัติในขั้นสูงขึ้นไปอีก กล่าวคือขั้นวิปัสสนาภาวนา. ฉะนั้น เป็นอันกล่าวได้ว่าแม้สมาธิในขั้นที่เป็นฌานแล้ว ก็ยังจัดเป็นสมาธินทรีย์ได้อยู่นั่นเอง.

สำหรับปัญญาหรือปัญญินทรีย์ นั้น มีหน้าที่กว้างขวางตั้งแต่ต้นจนปลาย : การทำในใจโดยแยบคายทุกระยะ ไม่ว่าใหญ่น้อยเพียงไร และไม่ว่าจะเป็นกรณีแก้ไขอุปสรรค หรือกรณีทำความก้าวหน้าต่อไป โดยตรงก็ตาม ย่อมจัดเป็นปัญญินทรีย์ทั้งสิ้น. อนึ่ง อย่าได้เข้าใจผิดว่า ในเรื่องของสมาธินั้นไม่เกี่ยวกับปัญญาเลย แต่ได้เกี่ยวอยู่อย่างเต็มที่ สมตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ หรือทรงยืนยันในทำนองว่า ในเรื่องของสมาธินั้น นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส ซึ่งแปลว่า “ฌานย่อมไม่มีแก่คนที่ไม่มีปัญญา” เราจะเห็นได้ชัดว่า แม้ในขณะที่ทำการกำหนดอารมณ์หรือนิมิต เราก็ต้องมีปัญญาจึงจะทำการกำหนดได้, และแม้เมื่อสูงขึ้นมาจนถึงขั้นที่จิตกำลังตั้งอยู่ในฌาน ปัญญาก็ยังซ่อนตัวอยู่ในที่นั้นเองอย่างเต็มที่ คือ มีความรอบรู้ในการที่จะเข้าฌาน ในการที่จะหยุดอยู่ในฌาน ตั้งอยู่ในฌาน การพิจารณาองค์แห่งฌาน และการออกมาจากฌานนั้น เป็นที่สุด. อีกทางหนึ่ง ปัญญาเป็นสิ่งที่เนื่องกันอยู่กับสติ หรือสนับสนุนสติอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง เป็นอันว่าปัญญินทรีย์มีอยู่ แม้ในขณะแห่งการบรรลุฌานด้วยอาการดังกล่าวนี้. ทั้งนี้เป็นการแสดงว่า ด้วยอำนาจของความเป็นอินทรีย์นั่นเอง ที่ทำให้ธรรม เช่น สมาธิ และปัญญา ซึ่งถูกจัดเป็นภาวนาคนละพวก ได้กลายมาเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างไม่มีทางที่จะแยกจากกัน เพื่อทำหน้าที่แม้ในขั้นสมถภาวนาเห็นปานนี้.

สรุปความว่า ในบรรดาธรรมทั้ง ๒๐ ประการนี้ หมวดที่เป็นอินทรีย์ ๕ ประการนั้น เป็นเหมือนกับมือที่ทำงาน ส่วนองค์ฌานทั้งห้านั้น เป็นเหมือนกับสิ่งที่ถูกทำส่วนลักษณะทั้ง ๑๐ ประการนั้น เป็นเหมือนกับอาการที่กระทำในอันดับต่างๆ กัน. นี้คือความสัมพันธ์กันระหว่างธรรมทั้ง ๓ กลุ่ม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่มีการบรรลุฌาน.

ฌานถัดไป ปรากฏ คือ ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เป็นต้น

ภาวะของจิตในขณะแห่งทุติยฌาน

เมื่อได้กล่าวถึงภาวะแห่งจิตในขณะที่ลุถึงปฐมฌานแล้ว จะได้กล่าวถึงภาวะของจิตในขณะแห่งฌานที่สูงขึ้นเป็นลำดับไป กล่าวคือ ในขณะแห่ง ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน.

ความแตกต่างระหว่างฌาน

ความแตกต่างระหว่างฌานหนึ่งๆ อยู่ที่มีการมีองค์ฌานมากน้อยกว่ากันก็จริง แต่ใจความสำคัญนั้น อยู่ที่มันสงบรำงับหรือประณีตยิ่งกว่ากันตามลำดับ เป็นลำดับไป ตั้งแต่ปฐมฌานจนกระทั่งถึงจตุตถฌาน. ข้อที่ฌานสูงขึ้นไปย่อมมีจำนวนองค์แห่งฌานน้อยลงๆ กว่าฌานที่ต่ำกว่า นั่นแหละคือความที่สงบกว่า หรือประณีตกว่า ; โดยเหตุนี้จะเห็นได้ว่า ปฐมฌานมีองค์แห่งฌานมากกว่าฌานอื่น และฌานต่อไปก็มีองค์แห่งฌานน้อยลงไปตามลำดับดังนี้. องค์แห่งฌานคืออะไร มีลักษณะอย่างไร ได้กล่าวแล้วข้างต้น พึงย้อนไปดูในที่นั้นๆ. ในที่นี้ จะกล่าวแต่เฉพาะ อาการที่องค์ฌานนั้นๆ จะละไปได้อย่างไร สืบไป. แต่ในขั้นต้นนี้ ควรจะทำการกำหนดกันเสียก่อน ว่าฌานไหนมีองค์เท่าไร.

ตามหลักในบาลีทั่วไป และที่เป็นพุทธภาษิตโดยตรงนั้น มีหลักเกณฑ์ที่อาจสรุปได้ ปรากฏชัดอยู่ ดังนี้ :

๑. ปฐมฌาน ประกอบด้วยองค์ห้า คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข และ เอกัคคตา.
๒. ทุติยฌาน ประกอบด้วยองค์สาม คือ ปีติ สุข และ เอกัคคตา.
๓. ตติยฌาน ประกอบด้วยองค์สองคือ สุข และ เอกัคคตา.
๔. จตุตถฌาน ประกอบด้วยองค์สองคือ อุเบกขา และ เอกัคคตา.

ส่วนหลักเกณฑ์ฝ่ายอภิธรรม ตลอดถึง คัมภีร์ชั้นหลังที่อิงอาศัยคัมภีร์อภิธรรม ได้กำหนดองค์แห่งฌานไว้แตกต่างกันบ้างบางอย่าง คือ ปฐมฌานประกอบด้วยองค์ห้า และมีรายชื่อเหมือนกัน ; ส่วน ทุติยฌาน มีองค์สี่ โดยเว้นวิตกเสียเพียงอย่างเดียว ; ตติยฌาน มีองค์สาม คือ เว้นวิตกและวิจารเสีย; จตุตถฌาน มีองค์สอง คือ เว้นวิตก วิจาร และปีติเสีย ส่วนสุข กลายเป็นอุเบกขา.

โดยนัยนี้จะเห็นได้ว่า มีการลดหลั่นกันลงมาตามลำดับตัวเลข คือ ๕, ๔, ๓, ๒, ตามลำดับ ; ชะรอยท่านจะเห็นว่าความเป็นลำดับนี้จะเป็นความเหมาะสมกว่า. ความแตกต่างกัน แม้โดยทั้งนิตินัยและพฤตินัยเช่นนี้ หาได้ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกลายเป็นของผิดไปได้ ; หากแต่เป็นการบัญญัติวางกฎเกณฑ์ต่างกันด้วยการขยับโน่นนิด ร่นนี้หน่อยเท่านั้น. คงมีความเป็นสมาธิที่อาจใช้เป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนาได้เท่ากัน.

อีกนัยหนึ่ง ทางฝ่ายอภิธรรม ได้ขยายฌานออกไปเป็นห้า คือแทนที่จะมีเพียงสี่ ดังที่กล่าวแล้ว ได้เพิ่มเข้าอีกขั้นหนึ่ง เป็นฌานที่ห้า เรียกว่าปัญจมฌาน. เมื่อแบ่งฌานออกเป็นห้าดังนี้ การกำหนดองค์แห่งฌานก็ต้องเปลี่ยนไปตาม กล่าวคือ ปฐมฌานมีองค์ครบทั้งห้า ; ทุติยฌาน เหลือสี่ คือเว้นวิตกเสีย ; ตติยฌาน เหลือสาม คือ เว้นวิตก วิจารเสีย ; จตุตถฌานเหลือสอง คือเว้น วิตก วิจาร และปีติ เสีย ; ปัญจมฌานเหลือสอง คือ เว้นวิตกวิจาร และปีติเสีย ส่วนสุขนั้นกลายเป็นอุเบกขา ดังนี้. การแบ่งฌานในทำนองนี้ไม่เคยพบในพระสูตรที่เป็นพุทธภาษิต มีอยู่แต่ในอภิธรรม (ซึ่งกำลังเถียงกันอยู่ว่าเป็นพุทธภาษิต หรือไม่ใช่พุทธภาษิต) ; ฉะนั้น จะเว้นเสีย ไม่ทำการวินิจฉัยในที่นี้. แม้การจัดองค์แห่งฌานทั้งสี่ชนิดแตกต่างไปจากพุทธภาษิต ที่กล่าวแล้วก่อนหน้าแต่นี้ ก็จะได้เว้นเสียดุจกัน. ทั้งนี้ มิใช่ว่าเป็นเพราะไม่เชื่อถือกฎเกณฑ์หรือการบัญญัตินั้นๆ หากแต่เป็นเพราะว่า แม้จะจัดอย่างไร เรื่องก็ยังเป็นอย่างเดียวกันนั่นเอง คือองค์ฌานทั้งหมด ยังคงมีอยู่เพียงห้าองค์ ใครจะไปบัญญัติการละองค์ไหนไปได้กี่องค์ๆ แล้วจัดความประณีตของจิตในขั้นนั้นๆ ว่าจะเรียกชื่อว่าอะไรก็แล้วแต่ใจ จะแบ่งสักกี่ชั้นก็ตามใจ, ชั้นหนึ่งๆ จะละองค์ฌานอะไรบ้าง หรือจะเหลือองค์อะไรไว้ก็ตามใจ แต่ขั้นสุดท้ายหรือขั้นสูงสุด ก็ต้องยังเหลืออยู่แต่อุเบกขากับเอกัคคตาโดยเท่ากันหมดทุกพวก.

โดยนัยนี้ ผู้ศึกษาจะสังเกตเห็นได้ว่า การแบ่งฌานออกไปเท่าไรหรือกำหนดองค์ฌานอย่างไรนั้นไม่สู้สำคัญ ข้อสำคัญมันอยู่ตรงที่จะปฏิบัติมันอย่างไร จึงจะเกิดองค์ฌานขึ้นมาครบถ้วน แล้วละมันออกไปเสียทีละองค์ สององค์ตามแต่ถนัด จนกว่าจะเหลืออยู่เท่าที่จำเป็นในลักษณะที่สงบและประณีตที่สุดเท่านั้นเอง. ฉะนั้น ในที่นี้จึงถือเอาแต่แนวที่อยู่ในรูปของพระพุทธภาษิตเป็นหลักเพียงแนวเดียว ดังที่ได้ยกมากล่าวไว้เป็นอันดับแรก และได้วินิจฉัยกันสืบไปถึงความแตกต่างของฌานทั้งสี่ ซึ่งจะทำให้เห็นลักษณะของฌานนั้นอย่างชัดแจ้งพร้อมกันไปในตัว ดังต่อไปนี้ :-

ปฐมฌาน ประกอบด้วยองค์ห้า คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา. ข้อนี้หมายความว่า จิตในขณะแห่งปฐมฌานนั้น มีความรู้สึกปรากฏอยู่ที่จิตหรือภายในความเพ่งของจิต อยู่ถึง ๕ อย่างด้วยกัน. แม้จะไม่ใช่ความคิดที่เป็นตัวเจตนา เป็นเพียงตัวความรู้สึกที่รู้สึกเฉยๆ แต่การที่มีอยู่ถึง ๕ อย่างนั้น นับว่ายังอยู่ในชั้นที่ไม่ประณีต เพราะยังมีทางที่ทำให้ประณีตยิ่งขึ้นไปอีก : นับว่ายังไม่สงบรำงับถึงที่สุด เพราะยังมีทางที่จะทำให้สงบยิ่งขึ้นไปอีก ; นับว่ายังหยาบอยู่ เพราะยังต้องคุมถึง ๕ อย่าง ; ยังหนักเกินไป ยังอาจจะย้อนหลังไปสู่ความกำเริบได้ง่ายอยู่ ; ความรู้สึกจึงอาจเกิดขึ้นได้โดยสามัญสำนึกในใจของผู้ปฏิบัติ โดยทำนองนี้ว่า ถ้าอย่างไร เราจะละความรู้สึกที่เป็นองค์ฌานบางองค์เสียเพื่อความสงบรำงับยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อมีความประณีตยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อความตั้งอยู่อย่างแน่นแฟ้นมั่นคงยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อมีความหนักในการกระทำที่น้อยลงไปอีก เพื่อความไว้ใจได้ว่าจะไม่กลับกำเริบย้อนหลังยิ่งขึ้นไป ; ดังนั้น เขาจึงพิจารณาหาลู่ทางที่จะละความรู้สึกที่เป็นองค์ฌานบางองค์ออกไปเสีย ให้เหลือน้อยลงทุกทีจนกระทั่งถึงฌานสุดท้าย. สำหรับปฐมฌานนั้น ประกอบอยู่ด้วยองค์ห้า ถ้ามองดูด้วยสายตาของคนธรรมดาก็จะรู้สึกว่าสงบรำงับอย่างยิ่ง เพราะเป็นฌานขั้นหนึ่งจริงๆ ประณีตและสุขุม จนยากที่คนธรรมดาจะทำได้ ; แต่เมื่อมองด้วยตาของพระโยคาวจรชั้นสูง หรือสายตาของพระอริยเจ้า กลับเห็นเป็นของที่ยังหยาบอยู่ ยังไม่สู้จะประณีต และยังง่อนแง่นไม่น่าไว้ใจ จึงปรารถนาชั้นสูงขึ้นไป โดยเหตุนี้เอง จึงมีการปฏิบัติเพื่อทุติยฌานเป็นต้น สืบไป.

ทุติยฌาน ประกอบด้วยองค์สาม เพราะละวิตก วิจาร เสียได้ หมายความว่า ผู้ปฏิบัติได้พิจารณาสอดส่องดูองค์ฌานทั้งห้า แต่ละองค์ๆ อย่างทั่วถึงแล้วรู้สึกว่า วิตก และวิจาร เป็นความรู้สึกที่ยังหยาบ หรือยังกระด้างกว่าเขาทั้งหมด จึงเริ่มกำหนดองค์ฌานโดยวิธีอื่น คือละความสนใจในความรู้สึกที่เรียกว่าวิตกวิจารนั้นเสีย. ยิ่งผละความรู้สึกไปเสียจากวิตกและวิจารได้เท่าไรก็ยิ่งรู้สึกต่อองค์ฌานที่เหลือมากขึ้นเท่านั้น ; ยกตัวอย่างเหมือนกับว่า เราดูของ ๕ อย่าง หรือ ๕ ชิ้นพร้อมกัน ต่อมาละความสนใจในชิ้นที่หยาบที่สุด หรือหยาบกว่าชิ้นอื่นๆ เสียสักสองชิ้น ให้เหลือเพียง ๓ ชิ้น การเพ่งนั้นก็อยู่ในลักษณะที่เรียกได้ว่าละเอียดกว่า ประณีตกว่า หรือสูงกว่า เป็นต้น. วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการละวิตก และวิจาร ก็มีอุปมัยอย่างเดียวกัน คือ ผู้ปฏิบัติจะต้องออกจากปฐมฌานเสียก่อน แล้วย้อนกลับไปตั้งต้นอานาปานสติมาใหม่ ตั้งแต่ขณะแห่งคณนาและอนุพันธนา เพื่อกำหนดสี่งที่เรียกว่า วิตก วิจาร อย่างหยาบๆ มาใหม่ ทั้งนี้เพื่อกำหนดความหยาบ หรือลักษณะเฉพาะของความวิตก วิจารให้แจ่มชัดเป็นพิเศษ เพื่อการกำหนดในอันที่จะละเสียว่า “ความรู้สึก ๒ อย่างนี้เราจักไม่ให้มาข้องแวะอีกต่อไป จักไม่ให้เหลืออยู่ในความรู้สึก”. ดังนี้, ก็สามารถทำความรู้สึกที่เป็น วิตก วิจาร ให้ระงับไปได้ด้วยการเปลี่ยนไปเพิ่มกำลังแห่งการกำหนดให้แก่ความรู้สึกที่เป็นปีติ และสุข นั่นเอง ฌานที่เกิดขึ้นจึงมีองค์เพียงสาม ; และเหตุนั้นเอง จึงจัดเป็นการก้าวหน้าขั้นหนึ่ง ในระบบของรูปฌาน.

ตติยฌาน ประกอบด้วยองค์สอง เพราะปีติถูกละเพิ่มขึ้นอีกองค์หนึ่งจากที่ทุติยฌานเคยละมาก่อน. ข้อนี้ก็หมายความอย่างเดียวกันกับเรื่องของการละในขั้นทุติยฌาน กล่าวคือ เมื่อผู้ปฏิบัติได้เข้าอยู่ในทุติยฌาน และพิจารณาองค์แห่งทุติยฌานจนถึงที่สุดอยู่บ่อยๆ แล้ว นานเข้าก็เกิดสังเกตและมีความรู้สึกขึ้นมาได้เองว่า แม้ปีติก็ยังเป็นองค์ฌานที่หยาบ ถ้าละออกไปเสียได้ ก็จะเกิดความรำงับยิ่งไปกว่าที่จะยังคงไว้เป็นแน่นอน จึงมีความตั้งใจหรืออธิษฐานใจในการที่จะละความรู้สึกส่วนที่เป็นปีตินั้นเสีย ให้ยังคงมีแต่ความสุข ไม่ต้องมีความซาบซ่าน.คือมีแต่ความสุขที่สงบรำงับด้วยอำนาจของสติสัมปชัญญะที่ถึงที่สุด ; ในที่สุดก็ละได้โดยวิธีอย่างเดียวกับการละวิตกและวิจาร.

จตุตถฌาน ประกอบด้วยองค์สองก็จริง แต่สิ่งที่เรียกว่าความสุขนั้นได้ถูกเปลี่ยนเป็นอุเบกขา. ทั้งนี้ ก็ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกันกับที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น คือเมื่อพิจารณาสอดส่องอยู่เสมอ จนเห็นเป็นของที่ยังหยาบหรือเป็นของที่ยังรุนแรงอยู่ ยังกวัดแกว่งได้ง่ายอยู่ ยังทำให้รำงับยิ่งขึ้นไปกว่านั้นได้อีก จึงพยายามรำงับความรู้สึกที่เป็นสุขนั้นเสีย เหลืออยู่แต่ความเพ่งในสิ่งที่สักว่าเป็นเวทนาเฉยๆ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีว่าความสุขอีกต่อไป. ความเพ่งในระยะนี้เป็นความเพ่งแน่วแน่ถึงที่สุด สงบรำงับถึงที่สุด จืดสนิทถึงที่สุด หรือขาวผ่องถึงที่สุดคือเหลืออยู่แต่ความรู้สึกที่เป็นความเพ่งเฉยๆ กับความที่จิตมีอารมณ์เพียงอย่างเดียว คือในสิ่งที่ใจเพ่งเฉยนั่นเอง. ถ้าถามว่ามันเพ่งอะไร ก็ตอบได้ว่ามันเพ่งอยู่ที่ความรู้สึกอย่างหนึ่งของจิต ซึ่งเป็นเพียงความรู้สึกเฉยๆ ถ้าจะเรียกโดยชื่อภาษาบาลี ก็เรียกว่า อุเบกขาเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนานั่นเอง อิงอาศัยอยู่กับลมหายใจออกเข้า มีมูลมาจากลมหายใจออกเข้า แต่มิใช่ตัวลมหายใจออกเข้ามิใช่ตัวการหายใจออกเข้า เป็นแต่เพียงความรู้สึกอันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นใหม่หรือถูกสร้างขึ้นใหม่จากการกำหนดลมหายใจ หรือมีลมหายใจเป็นมูลฐาน สำหรับในกรณีนี้ ; นับว่าเป็นขั้นสุดท้ายของรูปฌาน.

ความแตกต่างที่แสดงได้ด้วยพุทธภาษิต

ต่อนี้ไป จะได้วินิจฉัยกันถึงความแตกต่างระหว่างฌานทั้งสี่ โดยอาศัยแง่ของบาลีพระพุทธภาษิตที่ปรากฏอยู่เป็นหลัก :-

สำหรับปฐมฌาน มีหลักอยู่ว่า

๑. มีขึ้น เพราะความสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งปวง,
๒. ยังเต็มอยู่ด้วยวิตกและวิจาร,
๓. มีปีติและสุขชนิดที่ยังหยาบ คือชนิดที่เกิดมาจากวิเวก,
๔. จัดเป็นขั้นที่หนึ่ง คือระดับที่หนึ่งของรูปฌาน.

ส่วนทุติยฌาน นั้น

๑. มีขึ้นเพราะวิตก วิจาร รำงับไป,
๒. เต็มอยู่ด้วยความแน่วแน่และความพอใจของจิตภายใน,
๓. มีปีติและสุขชนิดที่สงบรำงับ เพราะเกิดมาจากสมาธิ,
๔. จัดเป็นระดับที่สองของรูปฌาน.

ส่วนตติยฌาน นั้น

๑. มีขึ้นเพราะปีติจางไปหมด โดยการแยกออกจากความสุข,
๒. มีการเพ่งด้วยสติสัมปชัญญะถึงที่สุด,
๓. เสวยสุขทางนามธรรมที่ละเอียดไปกว่า,
๔. จัดเป็นระดับที่สามของรูปฌาน.

ส่วนจตุตถฌาน อันเป็นอันดับสุดท้ายนั้น

๑. มีขึ้นเพราะดับความรู้สึกที่เป็นสุข ทุกข์ โสมนัส และโทมนัส ที่มีมาแล้วในกาลก่อน (ในฌานขั้นต้นๆ) เสียได้อย่างสิ้นเชิง,
๒. มีความบริสุทธิ์ของสติ เพราะการกำหนดสิ่งที่ไม่สุข–ไม่ทุกข์อยู่อย่างเต็มที่,
๓. มีเวทนาที่เป็นอุเบกขา แทนที่ของเวทนาที่เป็นสุข,
๔. จัดเป็นลำดับที่สี่ของรูปฌาน.

ทั้งหมดนั้น เมื่อเปรียบเทียบกันดูในระหว่างฌานทั้งสี่ โดยพฤตินัยต่าง ๆ อย่างละเอียดแล้ว จะเห็นได้ว่า มีความแตกต่างกันอย่างชัดแจ้ง ดังต่อไปนี้ :

๑. เกี่ยวกับที่ตั้ง หรือมูลเหตุอันเป็นที่ตั้ง, ถ้าเอามูลเหตุหรือที่ตั้งของฌานนั้นๆ เป็นเกณฑ์กันแล้ว เราจะเห็นได้ว่า :-

ปฐมฌาน เกิดมาจากความสงัด (วิเวก) จากกามและอกุศล,
ทุติยฌาน เกิดมาจากความสงัดจากวิตก วิจาร,
ตติยฌาน เกิดมาจากความสงัดจากปีติ,
จตุตถฌาน เกิดมาจากความสงัดจากสุขและทุกข์โดยประการทั้งปวง.

อาจจะมีผู้สงสัยว่า เมื่อปฐมฌานสงัดจากกามและอกุศลแล้ว ฌานที่ถัดไปไม่ได้สงัดจากกามหรืออกุศลหรือ ดังนี้เป็นต้น. ข้อนี้พึงเข้าใจว่า สิ่งที่ถูกละไปแล้วในฌานขั้นต้นๆ ก็เป็นอันไม่เหลืออยู่ในฌานขั้นต่อไป ฉะนั้น จึงไม่กล่าวถึงสิ่งนั้นอีก จะกล่าวถึงแต่สิ่งที่ยังเหลืออยู่หรือที่เป็นปัญหาให้ต้องละต่อไปอีกในขั้นต่อไปตามลำดับเท่านั้น : เช่นในขั้นปฐมฌาน ความรู้สึกที่เป็นกามและอกุศลธรรมอย่างอื่นในระดับเดียวกัน ไม่รบกวนหรือไม่มาให้เห็นหน้าอีกต่อไป แต่มีความรู้สึกที่เป็นวิตกวิจาร ตั้งอยู่ในฐานะที่จะเป็นปัญหาสำหรับให้ละต่อไป, ในขั้นทุติยฌาน จึงไม่กล่าวถึงกามและอกุศลว่าเป็นสิ่งที่ต้องละ แต่กล่าววิตกวิจารว่าเป็นสิ่งที่ต้องละขึ้นมาแทน แล้วเป็นอยู่ด้วยปีติและสุข. ครั้นถึงขั้นตติยฌานปรากฏว่าปีติเป็นสิ่งที่ต้องละต่อไปอีก เหลืออยู่แต่สุขซึ่งสูงขึ้นระดับหนึ่ง. ครั้นไปถึงจตุตถฌาน สุขแม้ประณีตถึงระดับนั้นแล้ว ก็ยังต้องละโดยสิ้นเชิง แล้วยังแถมกล่าวกว้างไปถึงกับว่า ละเสียทั้งสุขทั้งทุกข์ ทั้งโสมนัสโทมนัส โดยประสงค์จะให้เหลืออยู่แต่อุเบกขาจริงๆ ซึ่งเราอาจจะสรุปความได้ว่า :-

ต่อเมื่อกามและอกุศลไม่รบกวน จึงจะมีปฐมฌาน.
ต่อเมื่อวิตก วิจาร แม้ในรูปธรรมที่บริสุทธิ์ไม่รบกวน จึงจะมีทุติยฌาน.
ต่อเมื่อปีติ แม้จะเป็นปีติในธรรม ไม่รบกวน จึงจะมีตติยฌาน,
และต่อเมื่อสุขเวทนา แม้ที่บริสุทธิ์ในทางนามธรรมไม่รบกวน (ซึ่งไม่ต้องกล่าวถึงความทุกข์รบกวน) จึงจะมีจตุตถฌาน.

ทั้งหมดนี้ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นความแตกต่างอย่างยิ่ง ของมูลเหตุอันเป็นที่ตั้งของฌานนั้นๆ พร้อมทั้งความสูงต่ำกว่ากันอย่างไร.
๒. เมื่อพิจารณาดูกันถึงสิ่งที่กำลังมีอยู่ อย่างเด่นที่สุด ในฐานะเป็นเครื่องสังเกตเฉพาะแห่งฌานนั้นๆ เราจะเห็นได้ว่า :-

ในปฐมฌาน มี วิตกวิจาร เป็นตัวการ ตั้งเด่นอยู่,
ส่วนในทุติยฌานสิ่งสองนั้นหายหน้าไป แต่มีปีติและสุข เด่นอยู่แทน,
ส่วนในตติยฌาน ปีติหายหน้าไป แม้สุขก็ไม่ปรากฏเด่น แต่มีลักษณะของการเพ่งด้วยสติ สัมปชัญญะที่สมบูรณ์ ที่สุด มาเด่นอยู่แทน,
ครั้นถึงขั้นจตุตถฌาน มี ความบริสุทธิ์ของสติด้วยอำนาจอุเบกขา ตั้งอยู่แทน.

นี้คือความแตกต่างของลักษณะที่ปรากฏเด่น ๆ ในขณะแห่งฌานทั้งที่ว่ามีอยู่อย่างแตกต่างกันอย่างไร.
๓. เมื่อกล่าวถึงรส หรือความสุขอันเนื่องด้วยฌานนั้น ก็จะเห็นได้ว่า

ปฐมฌาน มี ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก,
ทุติยฌาน มี ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ,
ตติยฌาน มีแต่ ความสุขทางนามกายขั้นที่ประณีตที่สุด,
จตุตถฌาน มีแต่ อุเบกขาคือไม่มีทั้งปีติและสุข ไม่มีขั้นไหนหมด.

ย้อนกลับไปดูอีกทีหนึ่ง เพื่อพิจารณาให้เห็นข้อเท็จจริงต่างๆ ว่าในปฐมฌาน ปีติและสุขที่เกิดมาจากวิเวกนั้น หยาบหรือต่ำกว่าปีติและสุขที่เกิดจากสมาธิ ทั้งนี้เพราะว่าในขณะแห่งปฐมฌานนั้น สุขนั้นก็ยังต้องอาศัยวิตกวิจาร และเพียงแต่สงัดจากความรบกวนของนิวรณ์เท่านั้น : ความเป็นสมาธิยังหยาบอยู่ ไม่ถึงขนาดที่จะให้เกิดความสุขโดยตรง ที่เต็มตามความหมายได้.

ครั้นมาถึงทุติยฌาน ความเป็นสมาธิ มีกำลังมากพอที่จะให้เกิดความสุขอันใหม่ จึงเกิดมี ปีติและสุขที่เกิดจากสมาธิ แทนที่จะเรียกว่า ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก ดังแต่ก่อน.

ครั้นถึงขณะแห่งตติยฌาน ความสุขประณีตขึ้นไป ถึงขนาดที่สลัดปีติทิ้งเสีย เหลือแต่ความสุขทางนามธรรมชั้นสูงของผู้ที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะจริงๆ คือเป็นความสุขขั้นที่พระอริยเจ้าก็ยอมรับนับถือว่าเป็นความสุข.

ครั้นตกไปถึงขั้นจตุตถฌาน มีเหลืออยู่แต่รสอันจืดสนิท ไม่เรียกว่าเป็นสุขหรือทุกข์ ไม่เป็นโสมนัสหรือโทมนัสอีกต่อไป. นี้คือความแตกต่างของสิ่งที่เรียกว่ารสแห่งฌาน อันแสดงให้เห็นความสูงต่ำกว่ากันอย่างชัดแจ้ง.
๔. สำหรับลำดับแห่งฌาน ที่กล่าวไว้ว่า ฌานที่หนึ่ง ฌานที่สอง ฌานที่สาม ฌานที่สี่ นั้น เป็นเพียงการบัญญัติตามกฎเกณฑ์ที่เห็นว่าควรบัญญัติเพื่อสะดวกแก่การศึกษาและการพูดจา. เมื่อการบัญญัติได้บัญญัติไปตามความสูงต่ำ คำที่บัญญัติขึ้นก็ย่อมแสดงความสูงต่ำอยู่ในตัว เป็นการทำความเข้าใจกันได้โดยง่าย ในขณะที่พอสักแต่ว่าได้ยินชื่อ ; แต่ทั้งนี้เป็นไปได้เฉพาะหมู่บุคคลผู้มีการศึกษาในเรื่องนี้มาแล้วเท่านั้น.

ถ้าผู้ปฏิบัติได้ศึกษาและพิจารณา ให้เห็นความแตกต่างกัน ในแง่ต่างๆ ของสิ่งที่เรียกว่าฌาน ตามที่กล่าวมานี้อย่างทั่วถึงแล้ว ก็เป็นการง่ายแก่การปฏิบัติยิ่งไปกว่าการที่จะรอไว้ถามต่อเมื่อสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น ว่านั้นคืออะไร หรือจะทำอย่างไรต่อไป ดังนี้เป็นต้น. สำหรับนักศึกษาทั่วๆ ไปนั้น เมื่อมีความเข้าใจในเรื่องนี้แล้ว ย่อมเป็นหนทางที่จะอนุมานเพื่อทราบถึง ภาวะแห่งจิตในขณะที่ลุถึงฌานได้เป็นอย่างดี และพอที่จะทำให้เกิดความสนใจในการศึกษาถึงสิ่งเหล่านี้ แทนที่จะดูถูกดูหมิ่น หรือเข้าใจว่าเรื่องเหล่านี้ไม่มีความหมายอะไรสำหรับคนในยุคปัจจุบันนี้.

ลักษณะสมบูรณ์ ของฌานทั้งสี่

เมื่อกล่าวตามหลักวิชา อาจจะกล่าวได้เป็นหลักจำกัดลงไปได้ว่า ฌานหนึ่งๆ นั้น ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบเท่าไร จึงจะเป็นเครื่องตัดสินว่าเป็นความสมบูรณ์ของฌานนั้น. โดยหัวข้อ ก็คือปฐมฌาน มีองค์ประกอบ ๒๐, ทุติยฌาน มี ๑๘, ตติยฌาน มี ๑๗, จตุตถฌาน มี ๑๗, อธิบายดังต่อไปนี้ :

ปฐมฌาน มีองค์ประกอบ ๒๐ ประการ คือประกอบด้วยลักษณะ ๑๐ ประการดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ที่รวมเป็นความงามในเบื้องต้น ความงามในท่ามกลาง ความงามในที่สุด นี้ประเภทหนึ่ง ; และประกอบด้วยองค์ฌาน ๕ และธรรมเป็นอินทรีย์อีก ๕ รวมกันจึงเป็น ๒๐ ซึ่งทำให้กล่าวได้ว่า ปฐมฌานสมบูรณ์ด้วยองค์ประกอบ ๒๐; หรือเรียกง่ายๆ ก็ว่าประกอบด้วยลักษณะ ๑๐ ด้วยองค์ฌาน ๕ ด้วยอินทรีย์ ๕ ดังนี้.

การที่ท่านระบุธรรมถึง ๒๐ ประการว่าเป็นองค์ประกอบของปฐมฌานดังนี้ ก็เพื่อการรัดกุมของสิ่งที่เรียกว่าฌานนั่นเอง ; มีความประสงค์อย่างยิ่งที่จะไม่ให้ผู้ปฏิบัติมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไปเสีย หรือมองไปอย่างลวกๆ สนใจอย่างลวกๆ ว่าปฐมฌานประกอบด้วยองค์ห้าเท่านั้น ก็พอแล้ว ; ทางที่ถูก เขาก็ต้องเพ่งเล็งถึงอินทรีย์ทั้งห้าที่สมบูรณ์ และเข้ามาเกี่ยวข้องกับองค์ของฌานทั้งหมด ในลักษณะที่ถูกต้องที่สุด คือถูกต้องตามลักษณะ ๑๐ ประการ ที่กล่าวแล้วอย่างละเอียดนั่นเอง. ให้เอาลักษณะ ๑๐ ประการนั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ที่เด็ดขาดและแน่นอนว่าปฐมฌานเป็นไปถึงที่สุดหรือไม่ ; อย่าถือเอาเพียงลวกๆ ว่าปฐมฌานประกอบด้วยองค์ห้าเท่านี้ก็พอแล้ว. นี้คือประโยชน์ของการบัญญัติองค์ประกอบ ๒๐ ประการของปฐมฌาน.

ทุติยฌาน มีองค์ประกอบ ๑๘ ประการ. ข้อนี้มีหลักเกณฑ์ทำนองเดียวกันกับหลักเกณฑ์ต่างๆ ในกรณีของปฐมฌาน, หากแต่ว่าในที่นี้องค์แห่งฌานขาดไปสององค์ กล่าวคือ วิตก วิจาร ที่ถูกระงับไปเสียแล้ว. องค์แห่งฌานเหลือเพียงสาม คือ ปีติ สุข และ เอกัคคตา ; ดังนั้น องค์ประกอบทั้งหมดของทุติยฌานจึงเหลืออยู่ ๑๘ กล่าวคือลักษณะ ๑๐, องค์แห่งฌาน ๓, และอินทรีย์ ๕ ดังนี้, ความสัมพันธ์กันระหว่างองค์ประกอบ ๓ กลุ่มนี้ มีนัยอย่างเดียวกันกับที่กล่าวแล้วข้างต้น ในกรณีของปฐมฌาน.

ตติยฌาน มีองค์ประกอบ ๑๗ ประการ มีหลักเกณฑ์ทำนองเดียวกันกับฌานที่กล่าวแล้วข้างต้น หากแต่ว่าองค์แห่งฌานในที่นี้ ลดลงไปอีก ๑ รวมเป็นลดไป ๓, เหลืออยู่แต่เพียง ๒ คือ สุขและเอกัคคตา ; องค์ประกอบทั้งหมดของตติยฌานจึงเหลืออยู่เพียง ๑๗ กล่าวคือลักษณะ ๑๐ องค์แห่งฌาน ๒ อินทรีย์ ๕ ดังนี้. วินิจฉัยอื่น ๆ ก็เหมือนกันฌานข้างต้น.

จตุตถฌาน มีองค์ประกอบ ๑๗ ประการ มีหลักเกณฑ์อย่างเดียวกันคือจตุตถฌานมีองค์ฌาน ๒ แม้ว่าสุขจะได้เปลี่ยนเป็นอุเบกขา ก็ยังคงนับอุเบกขานั้นเอง ว่าเป็นองค์ฌานองค์หนึ่ง, รวมเป็นมีองค์ฌาน ๒ ทั้งเอกัคคตา : โดยนัยนี้ก็กล่าวได้ว่า จตุตถฌานก็มีองค์ประกอบ ๑๗ เท่ากับตติยฌาน โดยจำนวน, แต่ต่างกันอยู่หน่อยหนึ่ง ตรงที่องค์ฌานที่เปลี่ยนเป็นอุเบกขานั่นเอง.

สรุปความว่า ปฐมฌานมีองค์ประกอบ ๒๐, ทุติยฌานมี ๑๘, ตติยฌานมี ๑๗, จตุตถฌานมี ๑๗, เป็นองค์ประกอบสำหรับการกำหนด การศึกษา หรือการพิจารณา ให้หยั่งทราบถึงความสมบูรณ์แห่งฌานนั้นๆ จริงๆ.

ข้อที่ต้องสังเกตอย่างยิ่ง มีอยู่ว่าจำนวนองค์ฌานเปลี่ยนไปได้ตามความสูงต่ำของฌาน ; ส่วนลักษณะ ๑๐ ประการ และอินทรีย์ ๕ อย่างนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย. โดยนัยนี้เป็นอันว่า ปฐมฌานก็ดี ทุติยฌานก็ดี ตติยฌานก็ดี และจตุตถฌานก็ดี ล้วนแต่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลางและมีความงามในที่สุด ด้วยหลักเกณฑ์อันเดียวกันแท้. ทั้งนี้ เพราะมีลักษณะ ๑๐ ประการ ดังที่ได้แยกไว้เป็นความงาม ๓ ประการ ปรากฏอยู่แล้วในข้อความข้างต้นด้วยกันทั้งนั้น. ส่วนอินทรีย์ทั้งห้านั้น พึงทราบไว้ว่าเป็นสิ่งที่มีกำลังเพิ่มขึ้นตามส่วน แห่งความสูงของฌานไปทุกลำดับ ; แม้ว่าจะยังคงทำหน้าที่อย่างเดียวกัน หรือตรงกัน แต่กำลังของมันได้เพิ่มขึ้นทุกอย่าง โดยสมส่วนกันกับความสูงยิ่งๆ ขึ้นไปของฌานนั้นๆ ; กล่าวโดยสรุปก็คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แต่ละอย่างๆ ต้องมีความประณีต และมีกำลังเพิ่มขึ้นตามความต้องการของการที่จะก้าวขึ้นไปสู่ฌานนั้นๆ ตามลำดับ. โดยนัยนี้ทำให้กล่าวได้ว่า อินทรีย์นั้นๆ ไม่เปลี่ยนแปลงโดยจำนวนก็จริง แต่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากในทางคุณค่าหรือในทางกำลัง ดังที่กล่าวแล้ว. ผู้ศึกษาได้สังเกตเห็นความแตกต่างในข้อนี้จริงๆ แล้ว ย่อมเข้าใจความแตกต่างระหว่างฌานหนึ่งๆ ได้ดียิ่งขึ้นไปอีก. ในที่สุดเราก็มาถึงสิ่งที่เรียกว่า วสี.

วสี ๕ ประการ

สิ่งที่เรียกว่า วสี หมายถึงความชำนาญแคล่วคล่องว่องไวในสิ่งที่จะต้องทำ และทำได้อย่างใจที่สุด. จนกล่าวได้ว่า เป็นผู้มีอำนาจเหนือสิ่งนั้นโดยเด็ดขาด.

คำว่า วสี โดยพยัญชนะ แปลว่า ผู้มีอำนาจ ซึ่งในที่นี้ได้แก่ความมีอำนาจอยู่เหนือการกระทำ สามารถทำอะไรได้อย่างผู้มีอำนาจ คือแคล่วคล่องว่องไวไม่ติดขัด ได้อย่างใจ. อำนาจในกรณีของการฝึกสมาธินี้ มีทางมาจากความชำนาญในการฝึกฝน ยิ่งชำนาญเท่าไร ก็ยิ่งมีอำนาจมากขึ้นเท่านั้น ฉะนั้นใจความของคำว่า วสี โดยสั้นๆ ก็คือ ผู้มีอำนาจแห่งความชำนาญ นั่นเอง เขาเป็นผู้มีความชำนาญเกี่ยวกับฌาน ในกรณีดังต่อไปนี้ คือ ๑. ชำนาญในการกำหนด, ๒. ชำนาญในการเข้าฌาน, ๓. ชำนาญในการหยุดอยู่ในฌาน, ๔. ชำนาญในการออกจากฌาน, และ ๕. ชำนาญในการพิจารณาฌาน ; รวมเป็น ๕ ประการด้วยกัน มีอธิบายดังนี้ :-

๑. ชำนาญในการกำหนด เรียกว่า อาวัชชนวสี ข้อนี้ได้แก่ความเชี่ยวชาญในการกำหนดอารมณ์ นิมิต และองค์ฌาน ได้เร็วขึ้นกว่าแต่กาลก่อนและเร็วทันใจยิ่งขึ้นไปทุกที. วิธีฝึก คือเมื่อได้ปฏิบัติจนทำปฐมฌานให้เกิดขึ้นได้โดยนัยดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ก็คำนวณดูว่า การกำหนดอารมณ์และนิมิตต่างๆ กระทั่งถึงองค์ฌานทั้ง ๕ ของตนในหนหลังนั้น ได้เป็นมาอย่างไร ใช้เวลานานเท่าใดในการกำหนดอย่างหนึ่งๆ และในขั้นหนึ่งๆ บัดนี้เราจะทำให้ดีกว่านั้นและเร็วกว่านั้น เพราะฉะนั้น จะต้องย้อนไปหัดกำหนดทุกสิ่งที่จะต้องกำหนดในลักษณะที่รวดเร็วกว่าเดิม กล่าวคือกำหนดลมหายใจ อย่างยาว – อย่างสั้น ได้ดีและเร็วกว่าเดิม กำหนดผุสนาและฐปนาทำให้เกิดอุคคหนิมิตได้เร็วกว่าเดิม กำหนดอุคคหนิมิตให้เปลี่ยนรูปเป็นปฏิภาคนิมิตได้เร็วกว่าเดิม และในที่สุดก็คือการอาศัยปฏิภาคนิมิตนั้น หน่วงเอาองค์ฌานทั้งห้า ให้ปรากฏออกมาได้ในลักษณะที่รวดเร็วกว่าเดิมยิ่งขึ้นทุกที. กล่าวสรุปให้สั้นที่สุดก็คือ การซ้อมความเร็ว ในการกำหนดอารมณ์ นิมิต และองค์ฌานนั่นเอง.

ในการกำหนดเพื่อทำความเร็ว หรือเร่งอัตราความเร็วอย่างหนึ่งๆ ในที่นี้ เมื่อเร่งเร็วขึ้นมาได้อย่างใด ในขั้นแรกๆ ต้องมีการกำหนดในสิ่งที่ปรากฏแล้วนั้นให้นานพอสมควร คือนานพอที่จะเห็นชัด แล้วจึงค่อยเลื่อนไปกำหนดสิ่งที่ถัดไป. ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงของสิ่งที่กำหนดได้ในอัตราความเร็วใหม่ ทำดังนี้เป็นลำดับไปและเพิ่มความเร็วให้มากขึ้นทุกที จนมีความชำนาญที่กล่าวได้ว่า รวดเดียวถึง นับตั้งแต่การกำหนดอารมณ์ทุกขั้น กำหนดนิมิตทุกตอน จนกระทั่งถึงองค์ฌานทุกองค์ มีผลทำให้การเจริญสมาธิในครั้งหลังๆ มีการกำหนดสิ่งต่างๆ ลุล่วงไปเร็วกว่าเดิม และมั่นคงกว่าเดิม.

อุปมาที่จะช่วยให้เข้าใจได้ง่าย เช่นผู้ฝึกในการปรุงอาหาร เตรียมหาส่วนประกอบต่างๆ ที่จะเอามาปรุงกันขึ้นเป็นอาหารอย่างหนึ่ง : ในการทำได้ครั้งแรกย่อมงุ่มง่ามและชักช้า กว่าจะได้มาครบทุกอย่าง กว่าจะทำให้มีส่วนสัดที่ถูกต้องได้ทุกอย่าง ก็กินเวลานาน ; แต่ในการปรุงอาหารอย่างเดียวกันนั้นเป็นครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ที่ ๔ เขาอาจจะทำให้เร็วยิ่งขึ้นทุกที จนกระทั่งครั้งสุดท้ายจริงๆ ก็ทำได้เร็วเป็นว่าเล่น. ทั้งนี้ มีผลเนื่องมาจากฝึกกำหนดในสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว ว่ามีอะไรกี่อย่าง และอย่างละเท่าไร เป็นต้นนั่นเอง จนมีความชำนาญถึงที่สุด ก็ทำไปได้เป็นว่าเล่น โดยปราศจากความยากลำบากหรือหนักอกหนักใจแต่ประการใด, ข้อนี้อุปมาฉันใด การฝึกกำหนด อารมณ์แต่ละตอนนิมิตแต่ละขั้น และองค์ฌานแต่ละองค์ ของบุคคลผู้ทำปฐมฌานให้เกิดขึ้นได้เป็นครั้งแรก เพื่อความเชี่ยวชาญในขั้นต่อไป ก็มีอุปมัยฉันนั้น. นี้เรียกว่ามีอำนาจในการกำหนด.

๒. ชำนาญในการเข้าฌาน เรียกว่า สมาปัชชวสี. คำว่า “เข้าฌาน” ในที่นี้หมายถึงกิริยาที่อาศัยปฏิภาคนิมิต แล้วหน่วงเอาองค์ฌานทั้งห้า ทำให้เกิดขึ้นโดยครบถ้วนและสมบูรณ์ ปรากฏอยู่เป็นฌานโดยนัยดังที่กล่าวข้างต้นอย่างละเอียด. หากแต่ว่าการทำได้ในครั้งแรกนั้น เป็นมาอย่างชักช้าและงุ่มง่าม ฉะนั้นจะต้องฝึกให้เร็วเข้าโดยอาการอย่างเดียวกันนั่นเอง คือสามารถทำปฏิภาคนิมิตให้ปรากฏขึ้นฉับพลัน หน่วงความรู้สึกที่เป็นองค์ฌานให้ปรากฏขึ้นฉับพลัน ยิ่งกว่าเดิมยิ่งขึ้นทุกที ด้วยการขยันฝึกจนกระทั่งว่า พอสักว่าคิดจะเข้าสู่ฌานก็เข้าฌานได้ ดังนี้. เรื่องที่แท้ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการทำของอย่างเดียวกันและอย่างเดิมนั่นเอง แต่ว่าทำได้เร็วยิ่งขึ้นจนถึงอัตราเร็วสูงสุด. เมื่อเรื่องนี้เป็นเรื่องทางฝ่ายจิต ความเร็วก็มีได้ถึงขนาดชั่วเวลาดีดนิ้วมือครั้งเดียวหรือกระพริบตาเดียว ก็เข้าอยู่ในฌานแล้วดังนี้เป็นต้น.

อุปมาในชั้นนี้ เปรียบเหมือนผู้ปรุงอาหารคนเดียวกัน ที่เคยใช้เวลาในการปรุงอาหารอย่างนั้นนานเป็นชั่วโมง บัดนี้ อาจจะปรุงให้เสร็จได้ภายใน ๕๐ นาที หรือ ๔๐ นาที ๓๐ นาที ร่นเข้าตามลำดับ จนถึงอัตราเร็วสูงสุดของการปรุงอาหารอย่างนั้น เช่นภายใน ๑๐ นาทีเป็นต้น. เมื่อการจัดหาเครื่องปรุงก็เร็วและการปรุงก็เร็ว ความเร็วก็เพิ่มขึ้นตามส่วนในการที่จะได้อาหารมารับประทาน ; ข้อนี้มีอุปมาฉันใด อาวัชชนวสี ซึ่งเปรียบเหมือนการจัดหาเครื่องปรุง และ สมาปัชชวสี ซึ่งเปรียบเทียบการปรุง ก็มีอุปมัยฉันนั้น. ความสามารถเข้าฌานได้เร็วทันความต้องการ ในอัตราที่เรียกว่า ชั่วเวลากระพริบตาเดียวนั้น เป็นขีดสูงสุดของสมาปัชชสี หรือผู้มีอำนาจในการเข้าฌานนั้น.

๓. ชำนาญในการหยุดอยู่ในฌาน เรียกว่า อธิฏฐานวสี. คำว่า “อธิษฐาน” โดยพยัญชนะแปลว่า การตั้งทับ : โดยใจความ ก็คือการตั้งทับฌานหรือหยุดอยู่ในฌานนั่นเอง. ความชำนาญในการหยุดอยู่ในฌานนั้น หมายความว่าสามารถหยุดอยู่ในฌานได้นานตามที่ตนต้องการจริงๆ. ในชั้นแรกๆ ผู้เข้าฌานไม่สามารถจะหยุดอยู่ในฌานได้นานตามที่ตนต้องการ หรือถึงกับไม่สามารถอยู่ได้นานด้วยซ้ำไป : เขาจะต้องฝึกให้อยู่ในฌานได้นานยิ่งขึ้น นับตั้งแต่ไม่กี่นาที จนถึงเป็นชั่วโมงๆ กระทั่งถึงเป็นวันๆ มี ๗ วันเป็นที่สุด : และพร้อมกันนั้น ต้องฝึกให้ได้ตามที่ต้องการอย่างเฉียบขาดจริงๆ ด้วย เช่นจะอยู่ในฌานเพียง ๕ นาที ก็ให้เป็นเพียง ๕ นาทีจริงๆ ไม่ขาดไม่เกินแม้แต่เพียงวินาทีเดียวเป็นต้น จึงจะเรียกว่ามีความชำนาญได้ถึงที่สุดในกรณีแห่งอธิฏฐานวสี. ข้อสำคัญอยู่ที่การกำหนดในการเข้าและการออก มีความชำนาญในการเข้าและการออก. สิ่งที่เรียกว่าอธิฏฐานหรือการหยุดอยู่ในฌานนั้น ได้แก่ ระยะที่มีอยู่ในระหว่างการเข้าและการออก เพราะฉะนั้น เขาจะต้องฝึกให้มีความชำนาญทั้งในการเข้าและการออก จึงจะสามารถควบคุมการหยุดในฌานให้เป็นไปได้ตามที่ตนต้องการจริงๆ. เมื่อมีความชำนาญในการหยุดอยู่ในฌาน ก็ย่อมหมายถึงเป็นผู้ชำนาญในการเข้าและการออกจากฌานอย่างยิ่งอยู่ด้วยในตัวเป็นธรรมดา. การฝึกในการนอนหลับชั่วเวลาที่กำหนดไว้ แล้วตื่นขึ้นมาได้ตรงตามเวลาจริงๆ ก็นับว่าเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์อยู่แล้ว แต่การฝึกในอธิฏฐานวสีหรือการหยุดอยู่ในฌานนั้น สามารถทำได้เฉียบขาดกว่านั้น และน่าอัศจรรย์ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งนี้เป็นเพราะอำนาจของการฝึกอย่างเฉียบขาด จนมีความชำนาญขนาดที่เรียกว่า วสี หรือผู้มีอำนาจนั่นเอง.

อุปมาในข้อนี้ เปรียบเหมือนการบริโภคอาหาร หรือการเก็บอาหารไว้บริโภคอย่างไรตามที่ตนต้องการ ด้วยความชำนาญอีกชั้นหนึ่ง หลังจากที่มีความชำนาญในการจัดหาเครื่องปรุงอาหาร และความชำนาญในการปรุง ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น. การหยุดอยู่ในฌานนานเท่าใดนั้น ย่อมแล้วแต่ความมุ่งหมายซึ่งมีอยู่มากมายหลายอย่างด้วยกัน เช่นเข้าฌานเพื่อแสวงหาความสุขอยู่ในฌานก็ใช้เวลาที่หยุดอยู่ในฌานนาน หรือนานมาก ตามที่ตนต้องการ, แต่ถ้าเป็นการเข้าฌานขั้นต้นเพื่อเปลี่ยนเป็นฌานขั้นสูงขึ้นไป การหยุดอยู่ในฌานขั้นต้นๆ ขั้นหนึ่งๆ ก็มีเวลาน้อยลงไปเป็นธรรมดา ยิ่งถ้าเป็นการเข้าฌานอันเนื่องด้วยการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยแล้ว การเปลี่ยนฌาน จะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก. ผู้ที่สามารถเข้าฌาน หยุดอยู่ในฌานและออกจากฌานได้เร็วดังประสงค์ ในกรณีอย่างนี้เรียกว่า ผู้มีอำนาจในอธิฏฐานวสีถึงที่สุด.

๔. ชำนาญในการออกจากฌาน เรียกว่า วุฏฐานวสี. ข้อนี้มีพฤติกรรมตรงกันข้ามต่อสมาปัชชวสี กล่าวคือ สมาปัชชวสีเข้าได้เร็ว ส่วนวุฏฐานวสีออกมาได้เร็ว โดยอาการที่กล่าวได้ว่า ถอยหลังกลับออกมาในทำนองที่ตรงกันข้ามต่อกันนั้นเอง. ผู้ที่ไม่มีความชำนาญในการออก ย่อมออกได้ช้าหรือออกไม่ค่อยจะได้ตามที่ตนต้องการ จากความรู้สึกที่เป็นการอยู่ในฌาน มาสู่ความรู้สึกปรกติอย่างสามัญธรรมดา ฉะนั้น เขาจะต้องฝึกในการถอยหลังกลับออกมาอย่างรวดเดียวถึงเช่นเดียวกัน ซึ่งโดยพฤตินัยก็ได้แก่การถอยจากความรู้สึกที่เป็นฌาน มาสู่ความรู้สึกที่เป็นองค์ฌาน มาเป็นปฏิภาคนิมิต มาเป็นอุคคหนิมิตกระทั่งมาเป็นการบริกรรม กล่าวคือการกำหนดลมหายใจในขั้นละเอียด และขั้นปรกติธรรมดาเป็นที่สุด. หากแต่ว่าการกระทำทางจิตนี้ เมื่อฝึกถึงที่สุดแล้วย่อมเป็นไปได้เร็วอย่างสายฟ้าแลบ จึงเป็นสิ่งที่ยากจะสังเกตว่ามีลำดับมาอย่างไรโดยแท้จริง. ทางที่ดีที่สุดนั้น ควรจะฝึกมาอย่างช้าๆ ทีละขั้นๆ และอย่างเป็นระเบียบดังที่กล่าวแล้วนั่นเอง : จากฌานสู่องค์ฌาน จากองค์ฌานสู่ปฏิภาคนิมิต จากปฏิภาคนิมิตสู่อุคคหนิมิต จากอุคคหนิมิตสู่ฐปนาและผุสสนาชั้นต้นๆ จากฐปนาและผุสนาสู่การกำหนดลมหายใจสั้นยาวในขณะแห่งการบริกรรม. เมื่อฝึกได้อย่างเป็นระเบียบแล้ว จึงเร่งให้เร็วเข้าทุกทีจนถึงเร็วที่สุด ที่เรียกว่าแว็บเดียวถึง ดังที่กล่าวแล้ว. การทำได้อย่างนี้เรียกว่า ผู้มีอำนาจถึงที่สุดในการออกจากฌาน. อุปมาในกรณีนี้ เหมือนกับการเลิกกินอาหารอย่างมีระเบียบและรวดเร็วและเป็นผลดีถึงที่สุด.

๕. ชำนาญในการพิจารณา เรียกว่า ปัจจเวกขณวสี ข้อนี้หมายถึงความชำนาญในการที่จะพิจารณาดูสิ่งต่างๆ เช่นลักษณะอาการ พฤติและความสัมพันธ์เป็นต้น ที่เกี่ยวกับฌานนั้นโดยทั่วถึงอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้มีความแจ่มแจ้งแคล่วคล่องว่องไวในสิ่งนั้น โดยตลอดสาย อย่างทบทวนไป ทบทวนมา วิธีปฏิบัติคือ เมื่อออกจากฌานนั้นแล้ว อย่าเพ่อลุกจากที่นั่ง อย่าเพ่อส่งใจไปเรื่องอื่นหรือคิดเรื่องใดๆ แต่จะกำหนดพิจารณาดูสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับฌานนั้นอย่างทบทวนไปมา คือลำดับต่างๆ แห่งการเข้าฌานและการออกจากฌาน ทั้งขึ้นทั้งล่องอย่างทั่วถึงอีกครั้งหนึ่ง ; ทั้งนี้ กระทำโดยทำนองของการพิจารณาในขั้นอาวัชชนวสีนั่นเอง เป็นเที่ยวขึ้นจนถึงที่สุดคือความเป็นฌาน การหยุดอยู่ในฌาน หรือแม้การเสวยสุขเนื่องด้วยฌานนั้น ในลักษณะแห่งวิกขัมภนวิมุตติจนเพียงพอแล้วจึงย้อนกลับลงไปตามลำดับ โดยทำนองของอาวัชชนวสีเที่ยวถอยกลับ จนกระทั่งถึงขณะแห่งบริกรรมเป็นที่สุด. การกระทำทั้งนี้ย่อมเป็นการตรวจดูสมาธิของตนเองตั้งแต่ต้นจนปลาย ทั้งขาขึ้นและขาลง หรือทั้งเที่ยวเข้าเที่ยวออกอย่างละเอียดทุกๆ ขั้นไป เพื่อความแจ่มแจ้งยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อความชำนาญยิ่งๆ ขึ้นไปในโอกาสหน้าและมีผลพิเศษเพื่อความพอใจในการที่จะบ่มอิทธิบาทและอินทรีย์ของตนให้แก่กล้ายิ่งๆ ขึ้นไป ในการปฏิบัติธรรมข้างหน้าด้วยอีกโสดหนึ่ง. ถ้าไม่เชี่ยวชาญในวสีข้อนี้ ย่อมไม่เป็นผู้คล่องแคล่วถึงที่สุดในวสีข้ออื่น ; ดังนั้น วสีข้อนี้จึงเป็นเหมือนการประมวลไว้ซึ่งความรู้ และความชำนาญแห่งวสีข้ออื่นไว้ทั้งหมดอย่างเป็นระเบียบและมั่นคงนั่นเอง.

อุปมาในกรณีนี้ เปรียบเหมือนบุคคลที่เสาะแสวงหาเครื่องปรุงอาหารอย่างชำนาญ แล้วมาปรุงอย่างชำนาญ แล้วบริโภคอย่างชำนาญ แล้วเลิกบริโภคหรือถ่ายออกอย่างชำนาญ และสามารถพิจารณาเห็นคุณและโทษของอาหารนั้นอย่างชำนาญ ด้วยการพิจารณาทบทวนไปมา จากต้นไปยังปลาย จากปลายไปยังต้น ก็ย่อมมีความรู้ความชำนาญในเรื่องของอาหารได้ถึงที่สุด ข้อนี้มีอุปมาฉันใด การกระทำในขั้นแห่งปัจจเวกขณสี ซึ่งเป็นความชำนาญขั้นสุดยอด ก็มีอุปมัยฉันนั้น.

ทั้งหมดนี้ เป็นการฝึกในวสีทั้งห้า ส่วนที่เกี่ยวกับปฐมฌาน เมื่อทำได้ถึงที่สุดแล้ว ก็เรียกว่าเป็นผู้มีความคล่องแคล่วในปฐมฌาน หรือมีปฐมฌานอยู่ในอำนาจของตัวโดยแท้จริง. หลังจากนั้นก็มี การปฏิบัติในวสี ที่เป็นการเลื่อนขึ้นไปสู่ฌานที่สูงขึ้นไปตามลำดับ กล่าวคือทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน โดยวิธีการดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ในตอนอันว่าด้วยฌานนั้นๆ โดยละเอียดแล้ว. วิธีฝึกคือเมื่อได้ฌานใหม่มาอีกขั้นหนึ่ง ก็พึงฝึกในวสีทั้งห้า โดยอาการทำนองเดียวกับการฝึกวสีในขั้นปฐมฌาน ไม่มีอะไรที่ผิดกันเลย หากแต่ว่าสูงขึ้นหรือไกลออกไปทุกทีๆ เท่านั้น เมื่อการฝึกวสีในปฐมฌานถึงที่สุดแล้ว ก็เริ่มการปฏิบัติเพื่อการลุถึงทุติยฌาน ; ครั้นทำทุติยฌานให้เกิดขึ้นได้แล้ว ก็ฝึกวสีทั้งห้าในส่วนทุติยฌานสืบไป. แต่ว่าในการฝึกนั้น ต้องย้อนไปตั้งต้นมาตั้งแต่ระยะต้นของปฐมฌานด้วยทุกคราวไป กล่าวคือให้มีความชำนาญมาตั้งแต่ต้นจนปลาย เนื่องกันไปตลอดสายเสมอ. อย่าได้มีความประมาท ตัดลัดฝึกแต่ตอนปลายเป็นขั้นๆ ตอนๆ เลย เพราะเป็นเรื่องของจิตเป็นของเบาหวิว อาจสูญหายไปได้ง่าย ไม่ว่าตอนไหน ฉะนั้นจะต้องฝึกไว้ตลอดสาย ทุกคราวไป. แม้การปฏิบัติของผู้ใดจะได้ดำเนินไปโดยทำนองนี้ จนขึ้นถึงขั้นจตุตถฌานแล้วก็ตาม การปฏิบัติในวสีในจตุตถฌานนั้นคราวหนึ่งๆ ก็จะต้องย้อนไปตั้งต้นมาตั้งแต่ระยะต้นของปฐมฌานอยู่นั่นเอง เพื่อ “ความชำนาญตลอดสาย” และเพื่อ “ความชำนาญในการเปลี่ยนฌานที่สัมพันธ์กันอยู่เป็นลำดับ” การทำอย่างนี้ นอกจากมีประโยชน์ ในความแตกฉานและมั่นคงในเรื่องของฌานแล้ว ยังมีประโยชน์อย่างยิ่ง ในการที่จะดำเนินเข้าสู่ลำดับของสมาบัติในขั้นสูง อันหากจะพึงมีข้างหน้าในเมื่อต้องประสงค์.

สรุปความแห่งวสีทั้งห้า ว่า การฝึกในวสีทั้งห้าลำดับนี้ เป็นการฝึกเพื่อ ๑. ให้เกิดความชำนาญ, ๒. ให้เกิดความเร็วไว, และ ๓. ให้เกิดความได้อย่างใจ ; ซึ่งเมื่อรวมกันแล้ว ก็คือ ความมีอำนาจเหนือสิ่งนั้น หรือ ความมีสิ่งนั้นอยู่ในอำนาจของตน นั่นเอง ซึ่งเป็นความหมายโดยตรงของคำว่า “วสี”. การฝึกนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง จนถึงกับ ถ้าปราศจากการฝึกในระบอบแห่งวสีนี้แล้ว สิ่งต่างๆ จะติดตันอยู่พักหนึ่ง แล้วกลับล้มเหลวในที่สุด. ผู้ปฏิบัติพึงสังเกตให้เห็นความจำเป็นของการที่ต้องซักซ้อมให้เกิดความชำนาญ ไม่ว่าในกิจการใดๆ. ตัวอย่างเช่นผู้ฝึกดนตรี ฝึกเพลงได้เป็นครั้งแรก เพลงหนึ่งหรือเพียงตอนหนึ่งก็ตามถ้าไม่ขยันซ้อมให้ชำนาญจริงๆ แล้ว ไม่กี่วันก็ลืม ; ยิ่งกระโดดข้ามไปฝึกเพลงใหม่อื่นอีก ก็จะต้องเลอะด้วยกันทั้งสองเพลง ; ฉะนั้น นับว่าเป็นการฝึกให้เกิดความชำนาญเสียตอนหนึ่งๆ ก่อน ทุกตอนๆ นั้น เป็นความจำเป็นสำหรับกิจการทั้งปวง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับการฝึกทางฝ่ายจิตโดยตรง เช่นการฝึกฌานนี้เป็นต้น. แม้ที่สุดแต่เด็กๆ ที่กำลังเรียนเลขก็ยังต้องซ้อมการท่องสูตรคูณเป็นต้น ให้เชี่ยวชาญไปทุกๆ ชั้น จึงจะเรียนเรื่อยไปได้ มิฉะนั้นก็เลอะเทอะรวนเรกันไปหมด. นี่คือความชำนาญ พร้อมกันนั้นก็มีผลเกิดขึ้นคือความไวกว่าเดิมยิ่งขึ้นทุกที จนถึงขนาดที่ใช้ประโยชน์ได้สำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์เหมือนกับคนงานที่ชำนาญ ซึ่งปั้นอิฐ ปั้นหม้อได้ไว จนคนธรรมดาเห็นแล้วต้องตกตะลึง เพราะเขาทำได้เร็วกว่าเราตั้ง ๒๐ เท่า ดังนี้เป็นต้น. ในที่สุดจากความชำนาญและความไวนั้นเอง ย่อมก่อให้เกิดความได้อย่างใจ คือ ตรงตามความประสงค์อย่างเต็มที่ไปเสียทุกอย่างทุกทางในที่สุด ; นี้คือ ประโยชน์ของสิ่งที่เรียกว่า วสี ๕ อย่าง อันเป็นสิ่งที่ผู้ฝึกสมาธิทุกคนจะต้องสนใจทำเป็นพิเศษ แล้วการเจริญอานาปานสติในขั้นแห่งการทำกายสังขารให้สงบรำงับ ก็จะอยู่ในกำมือของบุคคลนั้น ได้ถึงที่สุดโดยไม่ต้องสงสัย สามารถทำอานาปานสติในขั้นที่สี่ ให้สมบูรณ์ได้จริงๆ ในเวลาอันรวดเร็วโดยแท้.

สรุปใจความของอานาปานสติขั้นที่สี่.

อานาปานสติขั้นที่สี่ มีหัวข้อว่า ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ หายใจเข้า – ออก มีรายละเอียดดังกล่าวแล้วอย่างยืดยาว แต่ก็อาจจะสรุปความเป็นไปทั้งหมดนั้นได้เป็น ๔ ขั้น :-

(๑) ในระยะ ลมหายใจเข้า – ออกอย่างหยาบเป็นไปอยู่ตลอดเวลาเพราะเธอถือเอาลมหายใจหยาบเป็นนิมิต ถือเอานิมิตเป็นอย่างดี ทำไว้ในใจเป็นอย่างดี และใคร่ครวญอยู่อย่างดี ในการที่จะทำให้ลมหายใจอย่างหยาบนั้นดับไป.
(๒) ระยะต่อมา ครั้นลมหายใจหยาบดับไป ลมหายใจละเอียดตั้งอยู่แทน เพราะเธอถือเอาเป็นนิมิต ถือเอาอย่างดี ทำไว้ในใจอย่างดี ใคร่ครวญอยู่อย่างดี เพื่อความดับไปแห่งลมอันละเอียด.
(๓) ระยะต่อมา ครั้นลมหายใจละเอียดดับไป กล่าวคือไม่ปรากฏในการกำหนด เพราะเธอถือเอาเพียงนิมิตอันเกิดจากลมอันละเอียดไว้เป็นอารมณ์จิตจึงไม่ถึงความฟุ้งซ่าน แต่ถึงความแน่วแน่ถึงที่สุดด้วยเหตุนั้น จนกระทั่ง…
(๔) เมื่อเป็นอยู่อย่างนี้ เธอนั้นได้ชื่อว่า มีภาวนา (การเจริญ) ถึงที่สุด ของสิ่งทั้งสี่ คือ :

๑. ของวาตุปลัทธิ,
๒. ของอัสสาสะปัสสาสะ,
๓. ของอานาปานสติ,
๔. ของอานาปานสติสมาธิ ;

ครบทั้ง ๔ ประการ. เมื่อเป็นเช่นนี้เป็นอันกล่าวได้ว่าความรำงับแห่งกายสังขารคือลมหายใจนั้น ชื่อว่าปรากฏถึงที่สุดแล้ว. รวมความว่า เมื่อยังไม่ได้สิ่งทั้งสี่นี้ ก็ยังไม่ชื่อว่า เข้าถึงความรำงับแห่งกายสังขารโดยแท้จริง ; ต่อเมื่อได้เข้าถึงสิ่งทั้งสี่นี้ หรือสิ่งทั้งสี่นี้ตั้งอยู่อย่างสมบูรณ์แล้ว ก็จะได้ชื่อว่า เข้าถึงความรำงับแห่งกายสังขารถึงที่สุด. สำหรับสิ่งทั้งสี่นั้น วาตุปลัทธิ คือการได้ความรู้เรื่องลมเพื่อทำการปฏิบัติกัมมัฏฐานภาวนาข้อนี้โดยสมบูรณ์ ; อัสสาสะ ปัสสาสะ คือการได้ลมหายใจเข้า-ออกเป็นไปตามที่ต้องการทุกระยะโดยสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นชั้นหยาบ หรือชั้นละเอียดประณีตเพียงไร ; อานาปานสติ คือสติที่ไปในการกำหนดลมหายใจ เข้า – ออก อย่างสมบูรณ์ทุกขั้นทุกตอน ; อานาปานสติสมาธิ คือสมาธิที่เกิดขึ้นจากสติที่กำหนดลมหายใจเข้า-ออกอย่างสมบูรณ์ (หมายถึงตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป จนถึงจตุตถฌาน), ถ้าจะเรียกอย่างสั้น – ตรงๆ ก็เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า :

ได้ความเต็มที่ หรือเต็มเปี่ยมของเรื่องที่จะกระทำ ๑. [ความรู้เรื่องนี้] ;
ได้ความเต็มเปี่ยม ของสิ่งที่ถูกทำ ๑. [ลมหายใจ] ;
ได้ความเต็มเปี่ยม ของเครื่องมือที่ใช้ในการกระทำ ๑. [สติ] ;
ได้ความเต็มเปี่ยม ของผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำ ๑. [สมาธิ] ;

รวมเป็น ๔ อย่างด้วยกันดังนี้ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงถึงลักษณะแห่งความสมบูรณ์ของการกระทำนั้น ๆ ซึ่งในที่นี้ ได้แก่การกระทำความรำงับแห่งกายสังขาร.

(จบอานาปานสติขั้นที่สี่ อันว่าด้วยการทำลมหายใจให้รำงับ)

* * *

สรุปความ แห่ง จตุกกะที่หนึ่ง

จตุกกะที่หนึ่ง แห่งอานาปานสติ ดังที่กล่าวมาแล้วแต่ต้นจนบัดนี้
เมื่อประมวลเข้าเป็นหลักใหญ่ๆ โดยใจความแล้ว ก็มีอยู่ว่า : อานาปานสติ

ขั้นที่หนึ่ง กำหนดลมหายใจเข้า – ออก ที่ยาว,
ขั้นที่สอง กำหนดลมหายใจเข้า – ออก ที่สั้น,
ขั้นที่สาม กำหนดลมหายใจโดยประการทั้งปวง,
ขั้นที่สี่ กำหนดลมหายใจที่สงบรำงับยิ่งๆ ขึ้นไป
จนกระทั่งถึงการบรรลุฌาน.

ขั้นแรกที่สุด เป็นการกำหนดลมหายใจโดยเฉพาะเจาะจง และตามที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ กระทั่งถึงได้รับการปรับปรุงดีแล้ว อยู่ทุกขณะ, ขั้นถัดมาไม่กำหนดโดยลักษณะเฉพาะ หรือโดยรายละเอียดเช่นนั้น แต่ได้กำหนดสิ่งที่เรียกว่า นิมิต กล่าวคือมโนภาพที่เกิดจากความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นมาแทน เนื่องจากการที่ได้กำหนดลมหายใจอย่างเป็นระเบียบหรือเคยชินจนถึงที่สุด และขั้นต่อมา ได้ผละจากการกำหนดนิมิตนั้น ไปกำหนดที่ความรู้สึกอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นผลอันเกิดมาจากการกำหนดที่ละเอียดยิ่งขึ้นทุกที จนกระทั่งเป็นความรำงับชั้นสูงสุดแล้วเพ่งเฉยอยู่ ซึ่งเรียกว่า ฌาน ในที่นี้. ลมหายใจมีอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าค่อยๆ เปลี่ยนจากหยาบที่สุด ไปจนถึงขั้นที่ประณีตหรือละเอียดที่สุดจนไม่ปรากฏแก่ความรู้สึก ซึ่งเรียกโดยโวหารว่า ดับหมด ในที่นี้ ซึ่งนับว่าเป็นระยะสุดท้ายของจตุกกะที่หนึ่ง.

ความได้เป็นอย่างนี้ จัดว่าเป็นผลอันสมบูรณ์ของการทำสมาธิ เพียงพอที่จะกล่าวได้ว่าได้ลุถึง ทิฏฐธรรมสุขวิหาร กล่าวคือ การเสวยสุขที่มีรสอย่างเดียวกันกับสุขอันเกิดจากนิพพานทันตาเห็น หากแต่ว่ายังเป็นของชั่วคราวและกลับเปลี่ยนแปลงได้. ผู้ที่พอใจเพียงเท่านี้ก็รักษาความเป็นอย่างนี้ไว้จนตลอดชีวิตก็มี. ก่อนพุทธกาล เคยมีผู้บัญญัติความเป็นอย่างนี้ ด้วยความสำคัญผิดว่าเป็นนิพพานไปก็มี ; ส่วนผู้ที่มีความเข้าใจถูกต้อง ย่อมทราบได้ว่า ยังมีสิ่งที่จะต้องทำให้ยิ่งไปกว่านั้นเพราะเหตุฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสข้อปฏิบัติที่สูงขึ้นไปโดยจตุกกะอันมีอยู่ในลำดับต่อไป.

อย่างไรก็ดี ไม่ควรจะลืมว่า การปฏิบัติอีกสายหนึ่ง ซึ่งดิ่งไปยังการเห็นแจ้งแทงตลอดตามแบบของปัญญาวิมุตตินั้น ไม่จำเป็นจะต้องปฏิบัติในทางจิตหรือทางสมาธิอย่างลึกซึ้งจนถึงขั้นนี้เสียก่อน กล่าวคือมีการปฏิบัติเพียงขั้นที่เรียกว่า อุปจารสมาธิ แม้ที่เกิดอยู่เองตามธรรมชาติ แล้วก็ข้ามไปปฏิบัติในขั้นที่เป็นวิปัสสนาได้, เพื่อเห็น อนิจจัง ทุกชัง อนัตตา อย่างแจ่มแจ้งได้. เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปฏิบัติมาจนถึงขั้นที่สุดแห่งจตุกกะที่หนึ่งแล้ว ก็ยังอาจข้ามจตุกกะที่สอง ที่สาม เลยไปปฏิบัติในจตุกกะที่สี่ อันเป็นขั้นวิปัสสนาโดยตรงก็เป็นสิ่งที่ทำได้ดุจเดียวกัน แต่เพื่อความสมบูรณ์ของการปฏิบัติอานาปานสติตามแบบนี้ เราจะได้วินิจฉัยกันตามลำดับ คือจตุกกะที่สอง ที่สาม สืบไป. ส่วนผู้ที่ประสงค์จะลัดข้ามไปนั้น พึงข้ามไปศึกษาในข้อปฏิบัติอันกล่าวไว้ในจตุกกะที่สี่โดยตรงเถิด.

อานาปานสติ จตุกกะที่ ๑ จบ

https://sites.google.com/site/smartdhamma/smartdhamma.googlepages.compart8_5_anapa

. . . . . . .