ตอน สิบหก อานาปานสติ ขั้นที่ สิบสอง

ตอน สิบหก อานาปานสติ ขั้นที่ สิบสอง

(การทำจิตให้ปล่อย)

อุทเทสแห่งอานาปานสติขั้นที่สิบสอง หรือข้อที่สี่แห่งจตุกกะที่สามนี้มีหัวข้อว่า “ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ จักหายใจเข้าดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ จักหายใจออก ดังนี้” (วิโมจยํ จิตฺตํ อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ; วิโมจยํ จิตฺตํ ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ.)

วินิจฉัยมีอยู่ดังต่อไปนี้ :-

การทำ ในบทศึกษาทั้งสามในอานาปานสติขั้นนี้นั้น ความสำรวมสติในการคอยกำ หนดการปล่อยชนิดต่าง ๆ ของจิต หรือแม้แต่การคอยกำหนดจิตให้ทำการปลดเปลื้องสิ่งต่าง ๆ จากจิต ซึ่งเป็นความสำรวมอย่างยิ่ง และอย่างละเอียดที่สุดนั่นแหละ คือ ความสำ รวมที่ประมวลไว้ได้ซึ่งสีลสิกขาในขณะนี้. สำหรับจิตตสิกขาและปัญญาสิกขานั้น มีอยู่ได้โดยลักษณะเดียวกันกับอานาปานสติขั้นอื่น ๆ ทุกขั้นดังที่กล่าวแล้ว ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยซ้ำในที่นี้อีก. สำหรับคำว่า “ทำจิตให้ปล่อยอยู่” นั้น มีสิ่งที่จะต้องวินิจฉัยเป็น ๒ อย่างคือ :-

๑. ปล่อยอย่างไร ?
๒. ปล่อยซึ่งอะไร ? ซึ่งจะได้วินิจฉัยต่อไป.

การที่ยกเอาปัญหาว่าปล่อยอย่างไรมาวินิจฉัยก่อนนั้นเป็นเพราะจะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจได้โดยง่าย เพราะจะได้อาศัยข้อความต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นเครื่องช่วยทำให้เกิดความเข้าใจง่าย โดยเฉพาะก็คือ เรื่ององค์แห่งฌานอันกล่าวแล้วในอานปานสติขั้นที่สี่โดยละเอียด และเรื่องการละนิจจสัญญาเสียได้ด้วยอนิจจสัญญา เป็นต้น ดังที่กล่าวแล้วโดยละเอียดในอานาปานสติขั้นที่ห้า. คำว่าทำจิตให้ปล่อย มีความหมายโดยตรงว่า ทำจิตให้ปล่อยสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตหรือกลุ้มรุมห้องล้อมจิต อย่างหนึ่ง และ สิ่งที่จิตยึดไว้เองด้วยอำนาจของอุปาทานอันเกิดจากอวิชชา อันนอนเนื่องอยู่ในสันดาน นี้อีกอย่างหนึ่ง. ถ้ากล่าวกลับกันอีกอย่างหนึ่งก็คือ แทนที่จะกล่าวว่าทำจิตให้ปล่อย ก็กล่าวกลับกันได้ว่า “เปลื้องจิตเสียจากสิ่งซึ่งควรปลดเปลื้อง” ดังนี้ก็ได้ ; ผลย่อมเป็นอย่างเดียวกัน จะแตกต่างกันก็แต่วิธีพูด. ที่ว่าทำจิตให้ปล่อยเสีย หรือเปลื้องจิตเสียจากสิ่งที่มากลุ้มรุมจิตนั้นหมายถึงการเปลื้องจิตจากนิวรณ์ในขณะแห่งสมาธิ นับตั้งแต่ระยะเริ่มแรกขึ้นมาจนกระทั่งถึงสมาธิที่เป็นฌาน. สมาธิที่ยังไม่เป็นฌาน ก็เกียดกันนิวรณ์ออกไปได้เล็ก ๆ น้อย ๆ ตามสัดส่วน และล้มลุกคลุกคลานไปตามเรื่องของมัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นการเปลื้องจิตจากนิวรณ์อยู่นั่นเอง. เมื่อมีความตั้งอกตั้งใจทำอยู่ในสมาธิขั้นนี้ ก็เป็นการทำจิตให้ปล่อยอยู่ซึ่งนิวรณ์ในขั้นนี้ ซึ่งทำให้เห็นได้อีกว่า ผู้ปฏิบัติในอานาปานสติขั้นที่สิบสองนี้ ก็จำเป็นที่จะต้องตีวงกว้าง คือการย้อนมาฝึกการกำหนดในการที่จิตเปลื้องจากนิวรณ์ออกไปได้อย่างไร ไปตั้งแต่อานาปานสติขั้นต้น ๆ อีกนั่นเอง. แต่โดยที่แท้นั้น คำว่า “ทำจิตให้เปลื้องอยู่” นั้น อย่างน้อยหมายถึงการทำจิตให้เปลื้องนิวรณ์ออกไปได้จริง ๆ โดยตรง มิได้มุ่งหมายถึงการปลดเปลื้องเล็กน้อยโดยตัวมันเองในระยะเริ่มแรกที่สุดเช่นนั้น แต่การที่นำมากล่าวนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นชัดว่า การปลดเปลื้องนิวรณ์นั้นย่อมมีให้เห็นได้ตั้งแต่เมื่อไร ฉะนั้นถ้าผู้ใดประสงค์จะย้อนกลับไปฝึกการกำหนดอาการอันนี้ มาตั้งแต่อานาปานสติขั้นที่หนึ่ง ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อเห็นการปลดเปลื้องนิวรณ์ “อย่างล้มลุกคลุกคลาน” ดังที่กล่าวแล้วนั่นเอง ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจความหมายของคำว่า”ทำจิตให้ปล่อยอยู่” ไปได้ตั้งแต่ต้นทีเดียว. การทำจิตให้ปล่อยอยู่ซึ่งนิวรณ์ในขั้นแห่งสมถะ นั้น ก็คือการกำจัดนิวรณ์ทั้งห้าเสียได้ด้วยอำนาจของปฐมฌาน เรียกว่า การปล่อยนิวรณ์ห้าเสียได้จากจิต. สูงขึ้นมา คือการปล่อยวิตก วิจาร เสียได้ ด้วยอำนาจทุติยฌาน ; จิตจะเกลี้ยงเกลายิ่งขึ้นเพียงไร ขอให้ลองคำนวณดุ. สูงขึ้นมาเป็นการปล่อยปีติเสียได้ ด้วยอำนาจของตติยฌาน ; และการปล่อยความรู้สึกที่เป็นสุขและทุกข์เสียได้ ด้วยอำนาจของจตุตถฌานในที่สุด. ผู้ปฏิบัติจะต้องพยายามกำหนดความที่จิตปล่อยนิวรณ์หรือเปลื้องตนเองจากนิวรณ์ได้อย่างไร แล้วความเกลี้ยงเกลาหรือโวทาตะเกิดขึ้นได้อย่างไร และจิตเปลื้องจากองค์ฌานต่าง ๆ เป็นลำดับขึ้นมาอย่างไร และจิตมีความเกลี้ยงเกลาตามขึ้นไปอย่างไร เป็นการฝึกทำซ้ำ ๆ ซาก ๆ ให้ชำนาญในการเปลื้องและปล่อยเหล่านี้ จนชำนิชำนาญเหมือนของเล่นก็เป็นอันกล่าวได้ว่า เป็นผู้ประสบความสำเร็จในการทำจิตให้ปล่อยอยู่ในขั้นของสมถะสำเร็จไปขั้นหนึ่ง.

ถัดไปอีกขั้นหนึ่ง ก็คือการทำ จิตให้ปล่อยจากสิ่งที่จิตยึดไว้เองด้วยอำนาจของอุปาทาน. ข้อนี้ คือการทำ จิตให้เปลื้องปล่อยอยู่ในขั้นวิปัสสนา. ข้อนี้จะมีได้ในณะแห่งอานาปานสติที่ได้หยิบยกเอาธรรมไม่ว่ารูปหรือนามอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาพิจารณาอยู่โดยลักษณะ คือโดยความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นต้น. ถ้าจะมีการย้อนไปฝึกมาตั้งแต่อานาปานาสติขั้นที่หนึ่ง ก็กำหนดเอาลมหายใจยาวมาเป็นวัตถุสำหรับดูความไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา ของลมนั้น. อานาปานสติทุกขั้นในอานาปานสติจตุกกะที่หนึ่งนี้มีลมหายใจนั่นเองในลักษณะที่ต่าง ๆ กัน เป็นวัตถุสำหรับพิจารณาโดยลักษณะ; อานาปานสติในจตุกกะที่สองทั้งหมด มีเวทนาที่อยู่ในลักษณะต่าง ๆ กันนั่นแหละเป็นวัตถุสำหรับการพิจารณาโดยลักษณะ ; อานาปานสติทุกขั้นในจตุกกะที่สามมีจิตซึ่งกำ ลังเป็นอยู่ในลักษณะที่ต่าง ๆ กันนั่นแหละ เป็นวัตถุสำ หรับพิจารณาโดยลักษณะ. เป็นอันว่าในอานาปานสติทุกขั้น ล้วนแต่มีวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งสำหรับให้พิจารณาโดยลักษณะ คือโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา. เมื่อการพิจารณามีอยู่ การเห็นแจ้งโดยลักษณะก็ย่อมมี ฉะนั้น เมื่อมีการเห็นความไม่เที่ยงที่ใด จิตก็ปล่อยนิจจสัญญา คือความเห็นว่าเที่ยงเสียได้เมื่อนั้น ;เมื่อเห็นโดยความเป็นทุกข์เมื่อใด จิตก็ปล่อยสุขสัญญา คือความสำคัญว่าสุขเสียได้เมื่อนั้น ; เมื่อเห็นโดยความเป็นอนัตตา จิตก็ปล่อยอัตตสัญญา ความสำคัญว่าตนเสียได้ ; เมื่อจิตเบื่อหน่ายอยู่ ย่อมปล่อยนันทิ คือความเพลินเสียได้ ;เมื่อจิตคลายกำหนัดอยู่ ยอมปล่อยราคะ คือความกำหนัดเสียได้ ; เมื่อจิตดับอยู่คือไม่มีอะไรปรุงแต่ง ย่อมปล่อยสมุทัย คือความก่อเสียได้ ; เมื่อจิตสละคืนอยู่ย่อมปล่อยอุปาทาน คือความถือมั่นเสียได้ มีรายละเอียดดังกล่าวแล้วในคำอธิบายส่วนหนึ่งของอานาปานสติขั้นที่ห้า. นี้คือการทำจิตให้ปล่อยในขั้นของวิปัสสนา. ในขั้นของสมาธิ จิตเปลื้องปล่อยนิวรณ์และอกุศลธรรมต่าง ๆ ตลอดถึงองค์แห่งฌานต่าง ๆ ได้ด้วยอำนาจของฌานนั้น ๆ. ส่วนในขั้นของวิปัสสนานี้จิตเปลื้องปล่อยความเห็นผิดและกิเลสอันละเอียดต่าง ๆ ด้วยอำนาจของปัญญา. ทั้งหมดนี้คือคำตอบของคำถามที่ว่า จิตทำการเปลื้องปล่อยโดยวิธีใด. ในที่นี้ได้ยกเอาตัวอย่างการเปลื้องปล่อยนิวรณ์ด้วยสมาธิ และเปลื้องปล่อยนิจจสัญญา เป็นต้นด้วยปัญญามาแสงดให้เห็นชัดว่า มีอาการปล่อยอย่างไร.

ต่อไปนี้จะได้วินิจฉัยข้อที่ว่า จะต้องปล่อยอะไรบ้างกี่อย่างเมื่อถามว่า จะต้องทำจิตให้ปล่อย หรือให้เปลื้องจากอะไร ? โดยวงกว้างท่านจำแนกไว้ว่า จะต้องเปลื้องมาจากสิ่งเหล่านี้คือ เปลื้องจากราคะ จากโทสะ จากโมหะ จากตัณหา จากมานะ จากทิฏฐิ จากวิจิกิจฉา จากถีนมิทธะจากอหิริกะ – บาปธรรมที่ทำจิตให้ไม่รู้ละอายบาป จากอโนตตัปปะ – บาปธรรมที่ทำคนไม่ให้กลัวบาป.อย่างไรก็ดี พึงถือว่าเท่าที่ท่านนิยมตอบกันอย่างนี้ ดังปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ต่าง ๆ นั้น เป็นเพียงตัวอย่างเท่าที่ยกมาพอสมควรอีกนั่นเอง และพึงสังเกตให้เห็นว่า ท่านยกเอากิเลสที่มีอำนาจรุนแรงขึ้นมากล่าวก่อนเป็นลำดับ แล้วจึงมาถึงอกุศลธรรมที่มีความรุนแรงน้อยกว่าลงมาตามลำดับ ซึ่งผิดกับพวกเราสมัยนี้ ซึ่งชอบกล่าวถึงสิ่งเล็กไปหาสิ่งใหญ่ หรือสิ่งที่ไม่สู้สำคัญขึ้นไปสู่สิ่งที่มีความสำคัญที่สุด. การที่ท่านกล่าวดังนี้ ชะรอยเป็นการมุ่งหรือเตือนให้รู้สึกในขั้นแรกถึงสิ่งที่น่ากลัวที่สุดก่อน จะได้เกิดความสนใจหรือเกิดความพยายามมากเพียงพอ แล้วตั้งหน้าตั้งตาเปลื้องปล่อยสิ่งนั้นอย่างเต็มที่ ; เมื่อทำอย่างนั้นไม่ได้จึงค่อยลดลงมาตามลำดับ. อาจจะมีผู้ถามว่าจะเปลื้องปล่อยสิ่งเหล่านี้ โดยอาศัยอะไรเป็นเครื่องมือ ? คำตอบมีง่าย ๆ แม้โดยสามัญสำนึก คือตอบว่า โดยอาศัยกุศลธรรมที่ตรงกันข้ามต่ออกุศลธรรมเหล่านั้น ด้วยอุบายวิธีต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น. ในข้อที่จะเปลื้องปล่อยด้วยการเปลื้องปล่อยมันอย่างไร ? ตั้งแต่ราคะลงมาจนถึงทิฏฐิเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดว่า ต้องมีการเปลื้องปล่อยด้วยการการเปลื้องปล่อย ในขั้นแห่งวิปัสสนาโดยตรง ส่วนอกุศลธรรมอันมีชื่อ วิจิกิจฉา ถีนมิทธะ อหิริกะ อโนตตัปปะ เหล่านี้ ถ้ายังเป็นขั้นที่เป็นอกุศลธรรมต่ำ ๆ ย่อมเปลื้องเสียได้ด้วยการเปลื้องปล่อยขั้นสมาธิ. ถ้าเป็นขั้นที่เล็งถึงกิเลสอาสวะอันละเอียด ก็ต้องอาศัยการเปลื้องปล่อยแห่งขั้นวิปัสสนาอีกอย่างเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่นอุทธัจจะตามปกติหมายถึงนิวรณ์ และในที่นี้ก็หมายถึงนิวรณ์ แต่คำ ว่าอุทธัจจะนี้ เป็นชื่อของสังโยชน์หรืออนุสัยอย่างหนึ่ง ในบรรดาสังโยชน์สิบ มันเป็นสิ่งที่ต้องละหรือตัดด้วยอำนาจของปัญญาหรือวิชชาโดยตรง.ถ้าผู้ปฏิบัติมุ่งหมายจะฝึกฝน การเปลื้องจิตจากบาปธรรมเท่าที่จะพึงทำ
ได้ ขณะแห่งอานาปานสติขั้นต่าง ๆ ที่ทำอยู่ตามปกติ ก็อาจจะได้เท่าที่กล่าวแล้วในตัวอย่างในตอนอันว่าด้วยการปลดเปลื้องอย่างไร ซึ่งก็นับว่าเป็นการเพียงพอเหมือนกัน. แต่หากว่ามีความประสงค์จะศึกษาและฝึกฝนโดยนัยอันละเอียดยิ่งขึ้นไปด้วยการจำแนกการปลดเปลื้องเป็นรายอย่าง แต่ละอย่าง โดยรายชื่อดังที่กล่าวแล้วนี้ ก็จำเป็นจะต้องศึกษาเกี่ยวกับกุศลธรรม ที่เป็นข้าศึกโดยตรงของอกุศลธรรมเหล่านี้เรียงอย่างไปตามสมควร คือ :-

เมื่อจะปลดเปลื้องเสียซึ่งราคะ๑ ย่อมต้องทำในใจถึงสิ่งตรงกันข้าม คือสามารถระงับราคะนั้นได้ เช่นกายคตาสติซึ่งรวมอสุภสัญญาอยู่ด้วย. กายคตาสติโดยตรง ได้แก่การพิจารณากายแยกออกเป็นส่วน ๆ โดยเฉพาะเป็นธาตุและพิจารณาแต่ละส่วนโดยความเป็นของปฏิกูล. ส่วนอสุภสัญญานั้นเพ่งความไม่งามโดยเฉพาะของซากศพ เพื่อให้เห็นว่าร่างกายนี้มีความเป็นอย่างนี้รวมอยู่ด้วย. เมื่อเห็นความปฏิกูลของร่างกายที่มีชีวิต และร่างกายที่ไม่มีชีวิตอยู่ดังนี้ ย่อมระงับความกำหนัดในสิ่งอันเป็นที่ตั้งของความกำหนัดเสียได้ ทั้งโดยส่วนย่อย เช่นความสวยงามเป็นส่วน ๆ และทั้งโดยส่วนรวม คือความสวยงามทั้งหมด : อันนี้เป็นสิ่งสำหรับเปลื้องจิตจากราคะโดยตรง หรือเป็นการต่อสู้โดยตรง. ที่เป็นโดยอ้อมหรือทั่วไป ก็คือการทำจิตให้เป็นสมาธิ โดยวิธีแห่งอานาปานสติ เป็นต้น ซึ่งเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว ราคะหรืออื่น ๆ ย่อมระงับไปในตัว ดังที่กล่าวแล้วข้างต้นซึ่งจะไม่ต้องกล่าวอีกต่อไป ; เพียงแต่สรุปเป็นหลักไว้ว่า เมื่อจิตเป็นสมาธิด้วยอำนาจของอานาปานสติแล้ว ก็เป็นอันปลดเปลื้องอกุศลธรรมเหล่านี้ทุกอย่าง ดังนี้ก็พอ. สำหรับการปฏิบัติที่เป็นการต่อสู้โดยตรง ผู้ปฏิบัติจะต้องน้อมจิตไปพิจารณาให้เห็นความเป็นธาตุ หรือความเป็นปฏิกูลให้ชัดแจ้งเสียก่อน แล้วนำ มาทำในใจอยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออก ก็เป็นการปลดเปลื้องราคะนั้นด้วยอานาปานสตินี้ด้วยเหมือนกัน. ถ้ายิ่งไปกว่านี้ หรือผิดไปจากนี้ ก็ต้องเป็นการทำกายคตาสติหรืออสุภสัญญาโดยตรง ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งอีกต่างหากไม่เกี่ยวกับอานาปานสติในที่นี้และมีคำอธิบายอยู่ในเรื่องนั้น ๆ แล้ว.

การปลดเปลื้องจิตจากโทสะโดยตรง เล็งถึงการเจริญเมตตาคือทำ ในใจถึงสัตว์ทั้งปวง ในฐานะที่เป็นเพื่อนทุกข์ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์มนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉาน ก็ระงับความโกรธหรือให้อภัยได้เป็นต้น. อีกทางหนึ่งพิจารณาถึงความที่สัตว์ทั้งหลายล้วนแต่ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสด้วยกัน หรือตกอยู่ใต้อำนาจความไม่เที่ยง ซึ่งล้วนแต่ไม่สามารถบังคับได้ด้วยกันทุกคน จึงเกิดความเห็นใจกัน ระงับความโกรธหรือความประทุษร้ายเสียได้. ยังมีวิธีเบ็ดเตล็ดนอกออกไปอีก เช่น การพิจารณาถึงความที่ทุกคนรักสุขเกลียดทุกข์ด้วยกันตกอยู่ใต้อำนาจเวรกรรมด้วยกัน ไม่ประสงค์จะสร้างเวรสร้างกรรมแก่กันต่อไปอีกดังนี้เป็นต้น ก็สามารถปลดเปลื้องจากโทสะได้ ถ้าทำในใจอยู่เช่นนั้นอยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออก. โมหะ ปลดเปลื้องไปได้ ด้วยความรู้แจ้งที่เกิดมาจากการพิจารณาในสิ่งที่ตนกำลังหลงผิดอยู่ โดยส่วนใหญ่หลงสำคัญผิด แสวงหาความสุขในสิ่งที่เป็นทุกข์ หรือจากสิ่งที่เป็นทุกข์ การกระทำต่าง ๆ ก็ผิด กลับตรงกันข้ามหมดทุกอย่าง. เขาจะต้องเห็นความทุกข์โดยความเป็นทุกข์ในทุก ๆ สิ่ง อันเป็นที่ตั้งของความทุกข์ซึ่งได้แก่สังขารทั้งปวง ; แล้วจะต้องพิจารณาให้เห็นมูลเหตุอันเป็นที่เกิดของความทุกข์ ; ให้เห็นความดับสนิทของความทุกข์ เพราะมูลเหตุนั้นดับไป ; และพิจารณาให้เห็นหนทางปฏิบัติ เพื่อดับมูลเหตุของความทุกข์เสียได้โดยสิ้นเชิงในที่สุด. เมื่อเป็นดังนี้ โมหะก็มิได้เหลือยู่เลย ถ้าบุคคลทำในใจถึงความเข้าใจถูกดังนี้ทุกลมหายใจเข้า – ออก ก็เป็นอันปลดเปลื้องจิตจากโมหะอยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออก. มานะ ปลดเปลื้องไปได้ ด้วยการทำในใจถึงอนัตตสัญญา คือการพิจารณาเห็นความไม่มีตัวตน ไม่มีเรามีเขาที่แท้จริง มีแต่ตัวตนเราเขาที่เกิดมาจากความโง่เขลา ความหลง หรืออวิชชาเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวตนเราเขาของมายาเกิดความรู้แจ้งหรือความละอายในการที่จะถือตนทำนองนั้นอีกต่อไป จึงหมดความถือตัวว่ามีอยู่ หรือตัวดีกว่าเขา ตัวเสมอกันกับเขา ตัวเลวกว่าเขาไปได้โดยสิ้นเชิงไม่มีมานะ คือความถือตัว ซึ่งที่แท้เป็นเพียงมายาอีกต่อไป. ถ้ามองเห็นมายาแห่งความมีตัวตนอยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออก ก็ชื่อว่าเปลื้องจิตจากมานะอยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออก. ทิฏฐิ หมายถึงมิจฉาทิฏฐิ ย่อมระงับไปได้เพราะสัมมาทิฏฐิ. มิจฉาทิฏฐิว่าสิ่งทั้งปวงเที่ยง ระงับได้ด้วยความเห็นถูก ว่าสิ่งทั้งปวงเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นนิจเพราะมันตั้งอยู่บนเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนแปลง จะมีเที่ยงก็เพียงสิ่งเดียว คือสิ่งที่ไม่มีปัจจัยเท่านั้น. มิจฉาทิฏฐิที่ว่าสิ่งทั้งปวงจะยังคงมีตัวอยู่เสมอไม่มีการสูญก็ดี หรือถึงกับว่าเป็นตัวเดียวกันเรื่อยไปก็ดี หรือมิจฉาทิฏฐิว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงดับสูญอยู่เนืองนิจก็ดี เหล่านี้จะระงับไปได้ด้วยความเห็นถูกว่า สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นมีเหตุมีปัจจัย และเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ตั้งอยู่เพราะเหตุปัจจัย ดับไปเพราะเหตุปัจจัย ไม่ควรกล่าวว่าเที่ยงแท้หรือขาดสูญโดยส่วนเดียว.

สำหรับมิจฉาทิฏฐิที่เตลิดไปถึงความไม่มีอะไรเสียเลย ไม่มีผู้ทำกรรม ไม่มีผู้รับผลของกรรม ทำอะไรลงไปดีหรือชั่วก็ตาม ไม่ชื่อว่าเป็นอันทำนั้น ระงับเสียได้ด้วยความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องอัตตา อนัตตา ซึ่งมีใจความสำคัญว่าสังขารทั้งปวงเป็นอนัตตาก็จริง ถ้าทำอะไรลงไปด้วยเจตนา ผลย่อมเกิดขึ้นแก่สังขารเหล่านั้นโดยสมควรแก่การกระทำเสมอไป ทั้งที่การกระทำก็เป็นอนัตตา ผลของการกระทำก็เป็นอนัตตา ความทุกข์ก็เป็นอนัตตา อะไร ๆ ก็เป็นอนัตตา แต่มันก็มีอยู่ได้หรือเป็นทุกข์ได้ทั้งที่เป็นอนัตตา มันจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ในทางที่เป็นทุกข์. และเราสมมติบัญญัติว่า มีคน มีสัตว์ มีผู้ทำ ก็เพื่อให้รู้จักกลัวความทุกข์ และหลีกเลี่ยงความทุกข์ ไม่ใช่เพื่อให้ยึดถือ. ส่วนที่เราเพิกถอน สมมติบัญญัติไม่ให้มีอัตตา ไม่ให้มีสัตว์บุคคลนั่นนี่ นั้นก็เพียงจะให้รู้ความจริงเรื่องอนัตตาเพื่อให้หมดความยึดถือ จะได้ไม่มีกิเลสที่เป็นเหตุให้ทำกรรมอีกต่อไป หาใช่ให้เป็นช่องให้เกิดการกระทำตามชอบใจตัว แล้วอ้างว่าไม่มีตัวตน ไม่มีบุญ ไม่มีบาปดังนี้เป็นต้นก็หาไม่. ส่วนมิจฉาทิฏฐิเกี่ยวกับเหตุผลนั้นระงับไปได้ ด้วยความอยู่ในอำนาจของเหตุผล และการใช้เหตุผลอย่างถูกต้อง เช่น มิจฉาทิฏฐิที่ว่าสิ่งทั้งปวงไม่มีเหตุก็ต้องพิจารณาจนเห็นว่ามันต้องมีเหตุ ถ้าไม่มีเหตุมันจะเกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวไปได้อย่างไร.

ส่วนมิจฉาทิฏฐิที่ว่าเหตุอยู่ข้างนอก เช่น ผีสางเทวดาเป็นต้นนั้น จะต้องพิจารณาจนเห็นถูกว่า นั่นไม่สำคัญเท่าเหตุภายใน คือกรรมหรือการกระทำของตัวเอง ซึ่งมีมูลเหตุมาจากกิเลสตัณหา อันมีอวิชชาเป็นประธานอีกต่อหนึ่ง. แม้หากภูตผีปิศาจมีจริงและมีอำนาจร้ายกายเพียงไร นั่นก็ยังพ่ายแพ้แก่เหตุภายใน (อวิชชาเป็นประธานอีกต่อหนึ่ง) คือกรรมและกิเลสของมันเองอีกเช่นเดียวกัน. ฉะนั้น จึงต้องถือว่าสิ่งทั้งปวงมีเหตุมีปัจจัยหรือมีเหตุผล. เหตุปัจจัยที่แท้จริงคือกรรมและกิเลส. หมดเหตุหมดปัจจัยแห่งความทุกข์จึงจะหมดทุกข์ ภูตผีปิศาจเป็นต้น ช่วยทำให้ไม่ได้เลย. การปล่อยไปตามบุญตามกรรมไม่ควรทำ เพราะไม่นำมาซึ่งประโยชน์ ; ควรที่จะต้องควบคุมกรรมให้เป็นไปแต่ในทางที่ควร จนกระทั่งเลิกล้างได้หมด คืออยู่เหนือบุญเหนือบาป. ทั้งหมดนี้สำเร็จมาจากความมีเหตุผล และปฏิบัติถูกในการใช้เหตุผล กระทำถูกต่อเหตุและปัจจัยเหล่านั้นเท่านั้น. สรุปความว่า การมีความเข้าใจถูกต้องอยู่ดังนี้ทุกลมหายใจเข้า – ออก ชื่ว่าเปลื้องจิตเสียจากมิจฉาทิฏฐิอยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออก.

ต่อไปนี้ เป็น อกุศลธรรมประเภทที่มีกำลังเพลาลงไป และชื่อเดียวมีความหมาย ๒ อย่างก็มี กล่าวคือ :-

วิจิกิจฉา ถ้าเป็นชื่อของนิวรณ์ เป็นอกุศลธรรมชนิดที่ระงับได้ด้วยอำนาจของฌาน ; ถ้าเป็นชื่อของกิเลสประเภทอนุสัย ระงับไปได้ด้วยอำนาจของความรู้ยิ่งเห็นจริง ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ทั้งหมดนี้ ควรจะเป็นไปเฉพาะในวงที่ควรรู้ คือเรื่องดับทุกข์เสียให้ได้โดยตรง หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ดับกิเลสเสียให้ได้. ถ้ายังลังเลในในส่วนใดของเรื่องนี้ ก็รีบพิจารณาในส่วนนั้น ให้เชื่อด้วยอำนาจแห่งเหตุผลได้ในที่สุด, ไม่ลังเลในส่วนใดของเรื่องนี้. ไม่ลังเลในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ก็เพราะพิจารณาจนเห็นได้ด้วยตนเองว่า ถ้าปฏิบัติตามคำ สอนของพระองค์แล้วย่อมดับทุกข์ได้จริง หาใช่เชื่อเพราะตื่นข่าวลือ หรือเชื่อเพราะทุกคนเขาเชื่อกันมาก ก็หาไม่. ไม่ลังเลต่อพระธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงนิพพาน ก็เพราะพิจารณาเห็นชัดด้วยตัวเองว่า ปฏิบัติตามนั้นแล้วย่อมดับกิเลส ดับทุกข์ได้จริง.ไม่ลังเลต่อพระสงฆ์ ก็เพราะเห็นอยู่ว่าการปฏิบัติอย่างท่านนั้นย่อมดับทุกข์ได้จริงอย่างเดียวกัน. ไม่ลังเลต่อการละกิเลส ก็เพราะเห็นชัดว่าเป็นสิ่งที่ดับทุกข์ได้จริงเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น สิ่งอื่นไม่มีเลยจริง ๆ. ไม่ลังเลต่อกฎของกรรม ก็เพราะพิจารณาจนเห็นชัดแจ้งว่า ในฝ่ายโลกิยะนี้ ทำดีก็ดีจริง ทำชั่วก็ชั่วจริง เพราะเป็นเรื่องของการบัญญัติอยู่ที่การกระทำนั้น ๆ; แต่ส่วนที่เป็นโลกุตตระนั้นต้องเลิกทำกรรมเสียทั้งสองย่าง คือทั้งดี ทั้งชั่ว เพราะมันนำไปสู่ความเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสารโดยเท่ากันทั้งสองอย่าง ; จะนิพพานหรือดับทุกข์สิ้นเชิง ก็ต่อเมื่อพ้นจากอำนาจของกรรมดี กรรมชั่ว โดยประการทั้งปวงแล้วเท่านั้น. เมื่อมีความเห็นอย่างแจ่มแจ้ง ดังที่กล่าวมานี้ทั้งหมด ก็ชื่อว่าปลดเปลื้องจิตจากวิจิกิจฉาได้.

ถีนมิทธะ ที่เป็นชื่อของนิวรณ์ ระงับได้ด้วยอำนาจขององค์ฌานที่มีปฏิกิริยาโดยตรงต่อกัน เช่นวิจารและปีติเป็นต้น. คำนี้ไม่เคยเป็นชื่อของกิเลสประเภทอนุสัย. ถ้ามีก็เป็นอย่างเดียวกับโมหะ ย่อมระงับไปได้อย่างเดียวกับวิธีระงับโมหะ. ชะรอยกิเลสชื่อนี้มีอาการอย่างนี้ แล้วมีคำว่าโมหะใช้แทนอยู่แล้ว จึงไม่มีการบัญญัติชื่อ ๆ นี้ ให้เป็นชื่อของอนุสัย หรือกิเลสชั้นละเอียดอีกชื่อหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการซ้ำกันโดยไม่เกิดประโยชน์อย่างใด.

อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน ที่เป็นชื่อของนิวรณ์ ระงับได้ด้วยองค์ฌานที่มีปฏิกิริยาต่อมันโดยตรงคือวิจารและสุข. ส่วนอุทธัจจะที่เป็นชื่อของอนุสัยนั้นหมายถึงความกระเพื่อมแห่งจิตในเมื่อมีความรู้สึกต่ออารมณ์ด้วยอำนาจโมหะ ทำให้สนใจหรือสงสัย อยากรู้ อยากเข้าใจ ในสิ่งที่ยั่วความรู้หรือความสนใจ หรือยั่วความคิดนึกต่าง ๆ. สิ่งนี้ระงับได้ด้วยอำนาจของปัญญาชนิดที่เป็นอริยมรรคขั้นสูงสุด ที่สามารถตัดความอยากรู้ อยากสนใจ อย่างสงสัยอยากคิด อยากนึก อยากวิตกหวาดกลัว เป็นต้น เสียได้หมดทุกอย่าง. ฉะนั้นถ้าหากว่าญาณในอนัตตาหรือสุญญตาปรากฏแจ่มแจ้งอยู่ในใจ อุทธัจจะโดยทำนองนี้ก็มีขึ้นไม่ได้.

อหิริกะ ความรู้สึกที่ทำให้ไม่รู้จักละอายบาป ระงับไปเพราะการพิจารณาเห็นบาปเป็นสิ่งเศร้าหมองต่ำทราม และทำให้มนุษย์ไม่อยู่ในสภาพของความเป็นมนุษย์ ก็เกิดละอายหรือความขยะแขยงเกลียดชังต่อบาปนั้นขึ้นมาได้เหมือนคนรักความสะอาดอย่างโลก ๆ เกลียดของสกปรกต่าง ๆ ; หรือความสะอาดอย่างธรรมก็ปลดเปลื้องความไม่ละอายต่อบาปหรือความไม่สะอาดอยู่ได้ทุกลมหายใจเข้า – ออก เช่นเดียวกัน.

อโนตตัปปะ ความไม่กลัวบาป ระงับได้เพราะการพิจารณาเห็นโทษอันน่ากลัวของบาป ว่ามันน่ากลัวยิ่งกว่าสิ่งที่ตนกำลังกลัวอยู่เป็นอย่างมาก เช่นกลัวเสือ กลัวผี เป็นต้น จึงกลัวบาปและเว้นจากบาปโดยสิ้นเชิง โดยทำนองเดียวกับบุคคลที่รักชีวิตไม่อยากจะตาย ย่อมกลัวและหลีกจากอันตรายที่จะทำให้ตนตายอย่างห่างไกลทีเดียว. เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างหิริโอตตัปปะได้โดยง่าย ควรพิจารณาดูที่ความเกลียดหรือกลัวสัตว์สกปรก เช่นกิ้งกือหรือตุ๊กแก กับความกลัวต่อเสือหรือราชสีห์เป็นต้น ว่ามันต่างกันอย่างไร แล้วก็จะเข้าใจคำว่าเกลียดบาปและคำว่ากลัวบาปได้อย่างเพียงพอ.

เท่าที่กล่าวมานี้ เป็นการระบุถึงสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์โดยตรงต่อกุศลธรรมเหล่านั้น ซึ่งอาจใช้เป็นเครื่องเปลื้องจิตจากอกุศลธรรมเหล่านั้นได้โดยตรงอีกอย่างเดียวกัน. เมื่อลำพังการกำหนดลมหายใจอย่างเดียว หรืออำนาจสมาธิอย่างเดียวก็ตาม ไม่สามารถระงับอกุศลธรรมเหล่านี้ ก็ต้องอาศัยธรรมอันเป็นข้าศึกต่ออกุศลธรรมเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่าง ๆ มาเป็นเครื่องระงับมัน ; แล้วกำหนดความที่ตนสามารถปลดเปลื้องอกุศลธรรมอย่างนั้น ออกไปจากจิตได้อย่างไร อยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออก ก็จักได้ชื่อว่าเป็นการเจริญอานาปานสติข้อนี้อยู่ตลอดเวลา.

เมื่อทำอยู่ดังนี้ วิญญาณจิตหรือจิตที่เป็นความรู้ก็มีอยู่ ญาณก็มีอยู่สติกำหนดจิตหรือญาณนั้นว่าปลดเปลื้องแล้วจากอกุศลธรรมมีประการต่าง ๆ นั้นได้อย่างไรก็มีอยู่ สติอันกลายเป็นอนุปัสสนาญาณตามความจริงว่า อกุศลธรรมที่หุ้มห่อจิตนั้นก็ดี จิตที่ถูกหุ้มห่อก็ดี จิตที่ปลดเปลื้องแล้วก็ดี ล้วนแต่เป็นสังขารธรรม ที่มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ด้วยกันทั้งนั้น ย่อมนำมาซึ่งความเบื่อหน่ายคลายกำ หนัด ความไม่ก่อกิเลสและความสละคืนซึ่งสังขารธรรมเหล่านั้นอยู่ตามลำดับ. เมื่อทำอยู่อย่างนี้ย่อมชื่อว่าเป็นการเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานภาวนา อันเป็นอานาปานสติข้อสุดท้ายของจตุกกะที่สามแห่งอานาปานสติทั้งหมด. เมื่อภาวนานั้นสมบูรณ์อยู่ด้วยอรรถทั้ง ๔ ของภาวนาดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ก็ย่อมเป็นภาวนาที่สโมธานมาได้ในขณะนั้นซึ่งธรรมทั้งปวง ๒๙ ประการ ดังที่กล่าวแล้วโดยละเอียดในอานาปานสติขั้นที่ห้าข้างต้น. วินิจฉัยในอานาปานสติขั้นที่สิบสองยุติลงเพียงเท่านี้.

สิ่งที่ควรสนใจเป็นพิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในจตุกกะที่สามนี้ มีการกำหนดจิตที่เรียกว่าจิตตานุปัสสนาโดยเท่ากัน หรือเสมอกันทุกขั้น แต่อาการที่กำหนดพิจารณานั้นต่างกัน คือ ขั้นที่หนึ่งกำหนดจิตว่ามีลักษณะอย่างไรในขณะแห่งอานาปานสติขั้นต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มทำอานาปานสติจนถึงการทำอานาปานสติขั้นนี้. ขั้นที่สองกำหนดจิตที่ถูกทำให้บันเทิงอยู่ในธรรม หรือมีความบันเทิงอยู่ในธรรมโดยลักษณะที่สูงต่ำอย่างไรขึ้นมาตามลำดับ. ขั้นที่สามกำหนดจิตที่ถูกทำให้ตั้งมั่นและมีความตั้งมั่นอยู่อย่างไรตามลำดับ นับตั้งแต่ต่ำที่สุดถึงสูงที่สุด อย่างหยาบที่สุดถึงอย่างละเอียดที่สุด. และขั้นที่สี่ กำหนดจิตที่ถูกทำให้ปล่อย และมีความปล่อยอยู่ซึ่งกุศลธรรมต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปทุกขณะแห่งลมหายใจเข้า – ออก จนเป็นสติปัฏฐานภาวนาชนิดที่สามารถประมวลมาได้ซึ่งคุณธรรมต่าง ๆ โดยทำนองเดียวกันและเสมอกัน.

อานาปานสติ จตุกกะที่ ๓ จบ

https://sites.google.com/site/smartdhamma/part16_anapanasati_buddhadhas

. . . . . . .