100 รูป ร้อยกวี 100 ปีพุทธทาส

100 รูป ร้อยกวี 100 ปีพุทธทาส

วันที่ 5 – 20 พฤศจิกายน 2549 ณ พิพิธภัณฑ์ไทหัว จ.ภูเก็ต : ตลอดปี พ.ศ. 2548 ที่ผ่านมา จนล่วงเข้าปี พ.ศ. 2549 นี้ ครอบครัว “วรรณานนท์” อันประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูกชาย (ชัยวัฒน์,วรรณี,ปิยวัฒก์)ได้โดยสารรถตู้หนึ่งคันเป็นพาหนะ ตระเวนไปรับภาพเขียนและบทกวีของศิลปินตามภาคต่างๆ ที่ยินดีบริจาคผลงานเข้าร่วมแสดงในนิทรรศการ “100 รูป ร้อยกวี 100 ปี พุทธทาส”

เป็นที่ทราบกันดีว่าในปีนี้เป็นปี ครบรอบ 100 ปี ชาตกาล ของ ท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ขณะที่หน่ายงานและองค์กรต่างๆได้เตรียมจัดกิจกรรมที่น่าสนใจ เพื่อเป็นการรำลึกถึงท่านที่ได้ทำหน้าที่ “ทาสของพระพุทธศาสนา” ในการถ่ายทอดและย่อยพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้คนธรรมดาๆ เช่นเราได้เข้าใจ อีกทั้งยังนำไปปรับใช้กับชีวิตได้เสมอมา

ชัยวัฒน์ วรรณานนท์ คนทำงานศิลปะซึ่งปวารณาตัวเป็นลูกศิษย์ท่านพุทธทาส ก็อยากที่จะจัดกิจกรรมดีๆเพื่อเป็นการรำลึกถึงท่านเช่นกัน เขาจึงได้นำเรื่องไปปรึกษากับคนในครอบครัวว่าอยากจะระดมเพื่อนศิลปินด้วยกันจัดนิทรรศการศิลปะครั้งใหญ่ขึ้นสักครั้ง เมื่อคนในครอบครัวเห็นดีด้วยและตกลงใจว่าพร้อมจะเหนื่อยด้วยกันเขาจึงส่งสารถึงเพื่อนศิลปิน ตลอดจนชุมนุมศิลปะต่างๆ แล้วเริ่มต้นก่อการดีนับแต่นั้นเป็นต้นมา

“พอกระจายข่าวออกไปแล้วหลายคนก็เห็นดีด้วย ผมเลยเสนอเรื่องนี้กับที่สวนโมกข์ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ปีที่แล้ว ว่าผมจะจัดโครงการนี้นะ ทางสวนโมกข์เห็นเป็นอย่างไรบ้าง ในที่ประชุมก็บอกว่า มันก็ดีนะ เพราะมันแปลก มันไม่เคยมี”

ชัยวัฒน์ เป็นชาว อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี เคยครองชีวิตสมณเพศมาแล้ว 6 ปี ครั้งที่ตัดสินใจบวช ด้วยความที่ไม่อยากอยู่ใกล้บ้านและอยากมีเวลาในการปฏิบัติธรรมเต็มที่ ได้เดินทางไปจำพรรษาอยู่ที่ วัดอุโมงค์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นวัดสาขาของสวนโมกข์

ระหว่างนั้นเขาได้นำความรู้ที่ได้ผ่านการศึกษาศิลปะกับอาจารย์ประเทือง เอมเจริญ ไปทำงานให้กับสวนพุทธธรรมของวัด

“ที่วัดอุโมงค์จะเปิดคำเทศน์ คำสั่งสอนของท่านพุทธทาสทุกเช้าเย็น ผ่านเสียงตามสาย ตอนที่บวชผมเป็นศิษย์อาจารย์ประเทืองแล้ว เป็นคนทำงานศิลปะแล้ว และผมชอบแนวของท่านพุทธทาส ซึ่งเป็นแนวปริศนาธรรม ก็เลยเอาความรู้ที่มีไปเขียนภาพในเชิงปริศนาธรรม เอาคำสอนของท่านพุทธทาสมาเขียนภาพ”

เมื่อมีโอกาสมาเยี่ยมบ้านที่สุราษฎร์ฯคราใดเขามักจะแวะมาสนทนาธรรมและปรึกษาหารือในหลายๆเรื่องกับท่านพุทธทาสเสมอ

“ผมได้ความรู้ในเรื่องการสอนธรรมะด้วยภาพจากท่านพุทธทาสเยอะมาก จนถึงวันนี้ผมก็ได้นำความรู้มาใช้ในการเขียนโบสถ์หลายแห่ง ซึ่งล้วนแต่เป็นแนวปริศนาธรรมทั้งนั้น ไม่ใช่เขียนแนวพุทธประวัติ แต่เขียนให้คนได้คิด”

“พุทธทาส” พระรูปแรกที่ใช้ศิลปะสอนธรรมะ

“ท่านพุทธทาสเป็นพระองค์แรกของโลกก็ว่าได้ที่รู้จักเอางานศิลปะมาสอนธรรมะ เอากวีมาสอนธรรมะและได้ผลด้วย รวมทั้งท่านได้สร้างโรงมหรสพทางวิญญาณขึ้นที่สวนโมกข์ ผมก็เลยคิดว่า 100 ปี ของท่านน่าจะทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อนึกถึงท่าน นอกเหนือจากการแค่พิมพ์หนังสือ เช่นที่บริษัทหลายบริษัท หรือลูกศิษย์ส่วนใหญ่คิดทำกัน แต่คิดเรื่องเอาภาพเขียนมาทำไม่มีใครคิด ซึ่งเขาอาจจะไม่ซาบซึ้งในเรื่องนี้ก็ได้

ขณะเดียวกันอายุผมก็จะครอบ 60 ปีด้วย ตอนแรกก็คิดอยากจะจัดงานศิลปะของตัวเอง เหมือนที่ศิลปินท่านอื่นคิดทำกัน เลยเปลี่ยนความคิดว่าแทนที่จะจัดงานให้ตัวเอง เอาเวลาทั้งหมดมาทำเรื่องท่านพุทธทาสแทนดีกว่าไหม”

ศิลปิน &กวี สนใจร่วมด้วยเกินคาดหมาย

ในส่วนของงานภาพเขียน ศิลปินที่มีผลงานมาร่วมด้วย ล้วนแต่เป็นศิลปินแห่งชาติและศิลปินที่มีชื่อเสียงทั้งนั้น ขณะที่ฝั่งกวีก็กวาดกวีซีไรต์มาร่วมด้วยช่วยกันได้ทั้งหมด

“ตอนที่คิดคำว่า 100 รูปนั้น จำนวนศิลปินก็คิดว่าจะกี่คนก็ได้ แต่ปรากฏว่าเราได้ศิลปินเป็น 100 คน ส่วน 100 กวี ตอนแรกก็คิดหนักว่าจะถึงร้อยสำนวนไหม ก็เลยเปลี่ยนชื่อตรง 100 กวี เป็นคำว่าร้อยเรียงดีกว่า แต่ปรากฏว่าเราก็ได้มาเป็น 100 สำนวนเช่นกัน ยังมีศิลปินอีกหลายคนที่อยากจะร่วมด้วย แต่เรารู้สึกว่าเราเหนื่อย ก็เลยคิดว่าพอแล้ว กลัวว่ามันจะมีภาพเขียนเป็น1,000 รูป ก็มีหลายคนต่อว่ามาเหมือนกัน”

การคัดเลือกศิลปินมาร่วมกิจกรรม ชัยวัฒน์บอกว่าคัดเอาจากผู้รู้จักคุ้นเคยกันก่อน และเป็นไปตามความสมัครใจ

“ก็ได้โทร.ไปหาก่อน ว่าผมจะมีโครงการนี้ท่านเห็นดีด้วยไหม และได้ส่งใบตอบรับไปหาศิลปินและกวีว่าจะร่วมไหม ถ้าร่วมก็ส่งใบตอบรับมา ส่วนมากที่เราส่งไปได้คำตอบรับที่ดี แต่แม้จะตอบมา เราเองก็ยังต้องไปพบพวกเขาให้ถึงที่ ทั้งเหนือใต้ออกตก นอกจากไปพูดคุยก็ยังไปถ่ายทำวีซีดี เพื่อจะตัดต่อมาทำวีซีดี 100 รูป 100 กวีด้วย”

ต่างศาสนาใช่พรมแดนกั้นน้ำใจที่มีให้กัน

แม้ว่ากิจกรรมครั้งนี้จะเป็นกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนาก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นพรมแดนกั้นไม่ให้คนต่างศาสนาได้มีส่วนร่วม ด้วย ตัวอย่างเช่นศิลปิน มูฮัมหมัด โรจนอุดมศาสตร์ ซึ่งเป็นชาวมุสลิมแท้ ได้บริจาคภาพเขียนของตัวเองหนึ่งภาพเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

“ผมมองว่าท่านพุทธทาสเป็นปราชญ์ ท่านขอให้แต่ละคนศึกษาศาสนาของตนให้เข้าถึงแก่นแท้และนำไปแก้ปัญหาของตนให้ถูกต้องเหมาะสม อีกอย่างก็คือการดำเนินชีวิตที่ประสานประโยชน์ระหว่างป่ากับคน ซึ่งท่านได้ปฏิบัติเป็นตัวอย่าง และดำเนินชีวิตให้เห็นอย่างชัดเจน

การส่งผลงานเข้าร่วมแสดงงานในครั้งนี้เป็นการร่วมกิจกรรมทางศิลปะ ซึ่งต้องแยกออกจากการศรัทธา การนับถือ งานศิลปะไม่ควรแบ่งแยกศาสนา ผลงานของผมที่ส่งร่วมครั้งนี้ชื่อว่า “บัวพ้นน้ำ” เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงหนทางการดำเนินชีวิตที่งดงาม”

ตระเวนแสดง 9 แห่งทั่วประเทศ

ผลงานภาพเขียนและบทกวีทั้งหมด จะถูกเคลื่อนย้ายไปจัดแสดง ให้คนที่สนใจได้ชมและมีส่วนร่วม 9 แห่งด้วยกัน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2549 เป็นต้นไป ทั้งนี้ได้มีศิลปินและคนสำคัญในแต่ละพื้นที่รับเป็นเจ้าภาพในการช่วยดำเนินการเรียบร้อยแล้ว

นิทรรศการจะมีขึ้นที่สวนโมกข์เป็นที่แรกนอกจากกลุ่มศิลปินและกวีแล้วจะมีคณะของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยซึ่งนำโดย ไมตรี ลิมปชาติ ไปร่วมด้วย ไปจัดหัวข้อคุยกันเรื่องท่านพุทธทาส บรรยากาศจะเป็นไปแบบกันเอง มีพระมาคุยเรื่องศิลปะกับธรรมมะ และมีศิลปินไปทำการเวิร์กช้อปเกี่ยวกับศิลปะ ให้กับเด็ก นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจ

“ในการจัดแสดงแต่ละแห่ง เรื่องของศิลปะและธรรมะ ถ้าเด็กเข้าใจได้สัก 4 – 5 คนเราก็คุ้มแล้ว เพราะการที่เขาเข้าใจธรรมะ เข้าใจศิลปะจริงๆ แล้ววันหนึ่งเขาสามารถนำไปใช้ในการทำงานเพื่อประเทศชาติได้ ทำงานเพื่อศาสนาได้ เพื่อตัวเขาเองได้ เป็นเรื่องที่ดีมาก เราจึงมุ่งว่าอาจจะมีพระที่ไปร่วมกับเรา และจะมีศิลปินประจำอยู่ทุกแห่ง อย่างเด็กสนใจเรื่องเขียนภาพเหมือน ก็สามารถคอยแนะนำได้ คุยกับศิลปินโดยตรง ในขณะที่ดูภาพ สงสัยภาพ สามารถสอบถามได้ มีคนอธิบายให้ฟังได้ ที่เราอยากจะเน้นเรื่องนี้ เพราะเราอยากให้ใจได้สู่ใจ ไม่ใช่ว่าเหมือนกับมีการแสดงแล้วก็ทิ้งงานไว้เฉยๆ ใครจะดูก็ดูไป

อย่างน้อยที่สุด เราคิดว่า งานศิลปะแก้ปัญหาสังคมได้ กวีและงานศิลปะไม่ทำให้คนเป็นคนเลว เพราะนั้นอาจารย์พุทธทาสจึงใช้ศิลปะ เพราะศิลปะก่อให้เกิดสมาธิและสมาธิก่อให้เกิดปัญญา ฉะนั้นสังคมเรา เราดูได้ว่าพวกที่สร้างศิลปะไม่ใช่คนที่สร้างปัญหาให้แก่ประเทศชาติ อันนี้จึงเป็นจุดว่า ตัวธรรมะคือสิ่งช่วยแก้ปัญหาคนและสังคม ศิลปะและกวีก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหา ทำให้เกิดความงดงาม เกิดการเห็นคุณค่าของชีวิต อาจารย์พุทธทาสหวังว่าสังคมจะถูกแก้ไข โดยการที่คนเข้าใจธรรมะ แต่ธรรมะโยงไปหาศิลปะได้ ถ้าเข้าใจศิลปะ ใจละเอียดขึ้น สามารถเข้าใจธรรมะได้ง่ายขึ้น คนเข้าใจธรรมะ สามารถทำงานศิลปะ โดยมีสมาธิขึ้น มันจะโยงไปโยงมา อะไรทำนองนั้น”

จัดแสดงถาวรที่สวนโมกข์

ภายหลังจากที่การตระเวนไปแสดงทั่วประเทศสิ้นสุดลง งานศิลปะและบทกวีทั้งหมด จะถูกนำมาติดตั้งและจัดแสดงถาวรที่สวนโมกข์ โดยในส่วนของสถานที่ติดตั้งไม่ได้มีการสร้างขึ้นใหม่ เพราะมีอาคารเดิมอยู่ก่อนหน้าแล้ว

“อาคารมีลักษณะเป็นเรือนขนาดใหญ่ อยู่ใกล้กับโรงมหรสพทางวิญญาณ พ่อเล่าให้ฟังว่า ท่านพุทธทาสเคยปรารภไว้ว่าจะสร้างเรือนนี้ให้พ่อไปเขียนภาพ และท่านสร้างเสร็จแล้ว แต่สบช่วงเวลาที่ท่านได้มรณภาพไปก่อน พ่อก็เลยยังไม่มีโอกาสได้ไปเขียนให้ พวกเราได้เอาเรื่องนี้ เกี่ยวกับการขอใช้สถานที่ ไปคุยกับทางสวนโมกข์และไปคุยกับท่านปัญญาซึ่งเป็นหลานของท่านพุทธทาส ท่านก็เมตตาให้ได้ใช้สถานที่ได้” ปิยวัฒน์ วรรณานนท์ บุตรชายของชัยวัฒน์ บอกเล่าให้ฟัง

หนังสือและวีซีดี 100 รูป 100 กวี

นอกจากการแสดงผลงานภาพเขียนและบทกวีแล้วในนิทรรศการที่จะเกิดขึ้นนี้ คณะทำงานได้มีการวางแผนจัดทำหนังสือและวีซีดี 100 รูป 100 กวี ขึ้นด้วย ซึ่งชัยวัฒน์บอกว่านี่อาจเป็นครั้งแรกของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ที่มีการแสดงงานที่มีการรวมเอางานศิลปะกับบทกวีหลายร้อยชิ้น มาพิมพ์เป็นเล่ม

“หนังสือมี 300 กว่าหน้า ความหนาของกระดาษ 60 แกรม อาร์ตด้าน พิมพ์สี่สี ปกหุ้มผ้าดิ้นทอง ราคาตกเล่มหนึ่งก็เกือบพัน เพราะว่าเราอยากจะให้มันเป็นหนังสือที่มันมีมาตรฐาน ท่านพุทธทาส 100 ปีครั้งนี้ ก็ไม่รู้ว่าอีกเมื่อไหร่ จะมีการทำขึ้นมาอีกครั้ง เราอยากทำให้มันอยู่ไปนานๆ”

ขณะที่วีซีดี เป็นการรวมเอาเรื่องของ ธรรมะ ศิลปะ กวี และดนตรี มารวมเข้าด้วยกัน 1 ชุดมีทั้งหมด 8 แผ่น แต่ละแผ่นเนื้อหาไม่ซ้ำกัน

“ท่านพุทธทาสพูดสิ่งดีๆไว้หลายเรื่อง เป็นร้อยเป็นพันม้วน เราเอาข้อความสั้นๆแต่ได้ความหมายของเรื่องแต่ละเรื่องนำมาประกอบกับการเขียนรูปของศิลปิน พร้อมกับสัมภาษณ์ศิลปินว่า พบท่านพุทธทาสได้อย่างไร เอาคำสั่งสอนของท่านพุทธทาสมาใช้อย่างไร ส่วนบทกวีของเหล่ากวีเราก็มีอ่านใส่ลงไปในวีซีดีนี้ด้วย แล้วก็มีการแต่งดนตรีเข้าไปประกอบ”

การทำงานที่มีความหมาย

ตลอดระเวลาที่ผ่านมาของการเดินทางด้วยรถตู้ไปทั่วทุกแห่งของประเทศ เพื่อที่จะไปรับภาพ และติดต่อพูดคุยกับศิลปินให้มาร่วมด้วยช่วยกันเป็นหนึ่งแรงในการทำให้ นิทรรศการ 100 รูป ร้อยกวี 100 ปีพุทธทาส” เกิดขึ้น จนถึงเวลานี้ภาพและบทกวีทุกชิ้นมีความพร้อมที่จะแสดงเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ชัยวัฒน์บอกว่าแม้จะเหนื่อยหนักในหลายๆด้าน แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่คุ้มค่าสำหรับตนและครอบครัวอย่างมาก

“ที่ประทับใจคือศิลปินทุกคนมีใจให้เรามาก งานของแต่ละคนล้วนแต่มีคุณค่าและมีราคาสูง แต่ให้เรามาโดยศรัทธาเลยจริงๆ เวลาเราไปสัมภาษณ์เพื่อจะทำวีซีดี เขาก็เต็มที่ ต้อนรับเราเหมือนกับว่าเราเป็นแขก ทั้งที่เราไปรบกวนเขา ทุกแห่งที่ไป ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ดีมากๆ เรารู้สึกประทับใจ เรารู้สึกว่าการที่เราเสียเวลาเพื่อที่จะทำงานนี้ ที่เราได้เป็นกำไร คือได้รู้จักคน รู้จักว่าศิลปินทุกภาค ทุกคน แก่นแท้เหมือนกัน เขาทุ่มให้เต็มที่ ไม่ได้หวังเกี่ยวกับเรื่องการเงินการทอง ให้โดยศรัทธาจริงๆ

ขณะที่บางเรื่องที่เรารู้ เราก็ตกใจเหมือนกัน เพราะผมอยู่ในสังคมแวดวงศาสนามาโดยตลอด ผมทำงานเขียนฝาผนังโบสถ์ ไม่ได้อยู่ในสังคมของนักธุรกิจ ฉะนั้นบางสิ่งเราคิดว่ามันควรจะเป็น มันไม่ได้เป็นไป เหมือนกับคำพูดบางคำพูดที่เราคิดว่าเขาพูดแล้ว มันต้องเป็นอย่างนี้นะ มันไม่ใช่ ทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของคน ว่าทุกอย่างล้วนไม่แน่นอน เหมือนที่พระว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง”

แต่ไม่ว่าอย่างไร ถึงเวลานี้ความตั้งใจดีของครอบครัววรรณานนท์ ก็ได้มาถึงเป้าหมายเกินครึ่งแล้ว

กำหนดการแสดงนิทรรศการ 100 รูป ร้อยกวี 100 ปีพุทธทาส

วันที่ 20 – 31 พฤษภาคม 2549 ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

วันที่ 10 – 20 มิถุนายน 2549 ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยนเรศวร อ.เมือง จ.พิษณุโลก

วันที่ 1 – 31 กรกฎาคม 2549 ณ The Silom Galleria ถ.สีลม กรุงเทพมหานคร

วันที่ 11 – 25 สิงหาคม 2549 ณ หอศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วันที่ 4 – 20 กันยายน 2549 ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยขอนแก่น

วันที่ 1 – 8 ตุลาคม 2549 ณ วัดชุมแสงศรีวนาราม อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี

วันที่ 15 – 25 ตุลาคม 2549 ณ งานประเพณีชักพระ จ.สุราษฎร์ธานี

วันที่ 5 – 20 พฤศจิกายน 2549 ณ พิพิธภัณฑ์ไทหัว จ.ภูเก็ต

วันที่ 10 – 25 ธันวาคม 2549 ณ อาศรมศิลปกรรมทักษิณ สถาบันทักษิณคดีศึกษา
มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา

สอบถาม โทร 0-1537-3769 และ 0-1533-7189

ข้อมูลจาก http://www.manager.co.th/MetroLife/ViewNews.aspx?NewsID=9490000046079

http://www.phukettoday.com/detail_high_eng.php?idc=42

. . . . . . .