ตอน แปด อานาปานสติ ขั้นที่ สี่ (การทำกายสังขาร ให้รำงับ) ส่วนที่สาม

ตอน แปด อานาปานสติ ขั้นที่ สี่ (การทำกายสังขาร ให้รำงับ)

ส่วนที่สาม

นิวรณ์ กับ คู่ปรับ

สิ่งที่เรียกว่านิวรณ์ ตามตัวหนังสือแปลว่า เครื่องกางกั้น แต่ความหมายหมายถึงสิ่งที่ทำความเสียหายให้แก่ความดีงามของจิต. ความดีงามของจิตในที่นี้เรียกว่า ความเป็นเอก หรือ เอกัตตะ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น : ดังนั้นนิวรณ์จึงเป็นอุปสรรคหรือเป็นคู่ปรับกันกับเอกัตตะ ในฐานะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันซึ่งจะได้ยกมากล่าวเป็นคู่ๆ พร้อมกันไปดังนี้ :

๑. กามฉันทะ เป็นนิวรณ์. เนกขัมมะ เป็นเอกัตตะ. กามฉันทะคือความพอใจในกาม ความหมกหมุ่นอาลัยในกาม หรือความใคร่ในทางกาม ที่กลุ้มรุมรบกวนจิตอยู่ ทำจิตให้ไม่แจ่มใสหรือเป็นประภัสสร : เช่นเดียวกับน้ำที่ใสสะอาด เมื่อบุคคลเอาสีแดงเป็นต้น ใส่ลงไปในน้ำแล้ว ย่อมหมดความเป็นน้ำใส ไม่อาจจะมองเห็นสิ่งต่างๆ ที่อยู่ภายใต้น้ำนั้นได้อีกต่อไป ฉันใดก็ฉันนั้น. เนกขัมมะ คือความที่จิตปราศจากกาม ไม่ถูกกามรบกวน ไม่ถูกกามกระทำให้มืดมัวไป. เมื่อใดจิตมีลักษณะเช่นนั้น เรียกว่าจิตมีเนกขัมมะ หรือเป็นเอกัตตะข้อที่หนึ่ง.

๒. พยาบาท เป็นนิวรณ์. อัพยาบาท เป็นเอกัตตะ. พยาบาท หมายถึงความที่จิตถูกประทุษร้ายด้วยโทสะหรือโกธะ กล่าวคือความขัดใจ ความไม่พอใจ ความโกรธเคือง ความกระทบกระทั่งแห่งจิตทุกชนิด ที่เป็นไปในทางที่จะเบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น หรือวัตถุอื่น. ส่วน อัพยาบาท เป็นไปในทางตรงกันข้าม หมายถึงจิตเยือกเย็นไม่มีความกระทบกระทั่ง หรือหงุดหงิดแต่ประการใด. เมื่อพยาบาทเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตแล้ว ในขณะนั้นจิตย่อมพลุ่งพล่าน เสียความเป็นประภัสสร หรือความผ่องใส เหมือนน้ำที่ใสสะอาดแต่ถูกความร้อนทำให้เดือดพล่านอยู่ ย่อมสูญเสียความผ่องใส ไม่อาจจะมองเห็นสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ใต้พื้นน้ำนั้น ฉันใดก็ฉันนั้น.

๓. ถีนมิทธะ เป็นนิวรณ์. อาโลกสัญญา เป็นเอกัตตะ. ถีนมิทธะในที่นี้ ได้แก่ความเศร้าซึม ความมึนชา ง่วงเหงาหาวนอน เป็นต้น แม้ที่สุดแต่ความละเหี่ยท้อแท้ ก็นับรวมอยู่ในข้อนี้. เมื่อครอบงำจิตแล้ว จิตสูญเสียความผ่องใส เช่นเดียวกับน้ำที่ใสสะอาด แต่ถ้ามีเมือกหรือตะไคร่ หรือสาหร่ายเป็นต้นลอยอยู่ในน้ำนั้น น้ำก็สูญเสียความผ่องใส ไม่สามารถจะมองเห็นสิ่งต่างๆ มีกรวดทรายเป็นต้น ที่มีอยู่ใต้พื้นน้ำนั้น จึงจัดเป็นนิวรณ์ เพราะทำความเสื่อมเสียให้แก่จิต คือทำจิตให้ใช้การไม่ได้. อาโลกสัญญา คือการทำในใจให้เป็นแสงสว่าง ราวกะว่ามีแสงอาทิตย์ส่องอยู่โดยประจักษ์ตลอดเวลา. ข้อนี้เกี่ยวกับอุปนิสัยด้วย เกี่ยวกับการฝึกด้วย ที่จะทำให้บุคคลนั้นมีจิตแจ่มจ้าราวกะว่าได้รับแสงแดดอยู่ตลอดเวลา, คือไม่มีการง่วงซึม มึนชา ซบเซา. ถ้าหลับก็หลับโดยสนิท ถ้าตื่นก็ตื่นโดยแจ่มใส. อาโลกสัญญา เป็นความเป็นเอก หรือความเป็นเลิศชนิดหนึ่งของจิต และเป็นคู่ปรับโดยตรงของถีนมิทธะ.

๔. อุทธัจจกุกกุจจะ เป็นนิวรณ์. อวิกเขปะ เป็นเอกัตตะ. อุทธัจจ-กุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่านและรำคาญ ความแตกต่างกันของอุทธัจจะกับกุกกุจจะ พึงถือเอาตามความหมาย รูปศัพท์. อุทธัจจะ หมายถึงความพลุ่งขึ้น หรือฟุ้งขึ้น เช่นความคิดฟุ้งขึ้น เพราะความทึ่ง หรือความสนใจที่มากเกินไป : ส่วน กุกกุจจะ เป็นความรู้สึกที่แผ่ซ่านระส่ำระสาย เพราะความไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี ที่ไหนดี, หรือทำอย่างไรๆ ก็ไม่เป็นที่พอใจหรือเป็นสุข. เกิดขึ้นเพราะมีสิ่งอื่นมายั่วบ้าง เพราะความเคยชินบ้าง เพราะการกระทำที่เกินขอบเขตเกินเวลาบ้าง จนพร่าไปหมด. ครั้นสิ่งทั้ง ๒ นี้เกิดขึ้นครอบงำจิตแล้ว ก็ทำจิตให้สูญเสียความเป็นประภัสสรไปในอีกทางหนึ่ง : เปรียบเหมือนน้ำที่ใสสะอาดแต่ถ้าถูกเป่าให้เป็นระลอก หรือเป็นคลื่นอยู่เสมอแล้ว ย่อมสูญเสียความผ่องใสไม่อำนวยความสำเร็จแก่การมองเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดภายใต้พื้นน้ำนั้น ฉันใดก็ฉันนั้น ; จึงจัดเป็นสิ่งที่ทำความเสื่อมเสียแก่จิต. อวิกเขปะ แปลว่าไม่ซัดไป หรือไม่ส่ายไป คือไม่พลุ่งขึ้นข้างบนหรือไม่ส่ายไปรอบตัว, เมื่อเป็นลักษณะของจิต ได้แก่ความที่จิตมีความคงที่ หรือคงตัว ทนได้ต่อสิ่งรบกวน ไม่หวั่นไหวไปตามสิ่งรบกวน มีความเป็นปรกติของตัวเองอยู่ได้ จึงจัดว่าเป็นความเป็นเอก หรือความเป็นเลิศของจิตอีกชนิดหนึ่งอาศัยการศึกษาฝึกฝนอย่างเดียวเท่านั้นจึงจะมีคุณธรรมข้อนี้ขึ้นมาได้ เพราะธรรมชาติของจิตย่อมกลับกลอกและหวั่นไหว.

๕. วิจิกิจฉา เป็นนิวรณ์. ธัมมววัตถานะ เป็นเอกัตตะ. วิจิกิจฉาหมายถึงความลังเล หรือโลเลแห่งจิต ไม่มีความแน่ใจในตัวเอง ในวิธีการหรือหลักการ ที่ตนกำลังยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ. ไม่แน่ใจในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หรือในปฏิปทาทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ทางพระศาสนา. มีความเชื่อครึ่งหนึ่ง มีความสงสัยครึ่งหนึ่งในสิ่งนั้นๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสิ่งที่ตนกำลังกระทำอยู่. ความลังเลเช่นนี้ครอบงำจิตแล้ว ทำให้จิตสูญเสียความเป็นประภัสสรหรือความผ่องใส หมดสมรรถภาพในตัวมันเอง ในทางที่จะรู้แจ้งสิ่งต่างๆ ตามที่เป็นจริง เหมือนกับน้ำที่ใสสะอาดแต่มีอยู่ในที่มืดสนิท ย่อมไม่สำเร็จประโยชน์ในการที่มองเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีอยู่ที่พื้นภายใต้น้ำนั้น ฉันใดก็ฉันนั้น. ธัมมววัตถานะ ได้แก่การกำหนดที่แน่นอนชัดเจนลงไปยังธรรมะหรือหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งโดยกระจ่างชัด ไม่มีการสงสัยหรือลังเล. สิ่งที่เราต้องประสงค์โดยตรงในที่นี้ หมายถึง การที่บุคคลแต่ละคน จะต้องมีหลักเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่จำเป็นแก่การครองชีวิตของตน หรือการประกอบอาชีพการงานในหน้าที่ของตน ทั้งทางกายและทางจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ หลักเกณฑ์ในเรื่องความดีความชั่ว บุญบาป สุขทุกข์ ทางแห่งความเสื่อมและความเจริญ ตลอดถึงทางแห่งมรรค ผล นิพพานเป็นที่สุด. ธัมมววัตถานะนี้ มีทางมาจากการศึกษาโดยตรง ซึ่งหมายถึงการฟังหรือการอ่าน การคิด การถาม การซักไซ้สอบสวน การกำหนดจดจำ จนมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแจ่มแจ้ง เป็นที่แน่ใจตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่สงสัยหรือลังเลในสิ่งที่ตนจะต้องทำหรือกำลังทำอยู่. ความสงสัยเป็นสิ่งที่รบกวนหรือทรมานจิตใจอย่างลึกซึ้ง ; ส่วนธัมมววัตถานะนั้นตรงกันข้าม, จึงจัดเป็นความเป็นเอกหรือความเป็นเลิศของจิตอีกอย่างหนึ่ง.

นิวรณ์ มีได้ไม่จำกัดจำนวน

โดยทั่วไป ท่านกล่าวนิวรณ์ไว้เพียง ๕ อย่างเท่านั้น แต่ในที่บางแห่งโดยเฉพาะเช่นในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค ได้เพิ่มนิวรณ์ขึ้นอีก ๓ อย่าง คือ : อวิชชาหรืออัญญาณ เป็นนิวรณ์, ญาณเป็นเอกัตตะ นี้คู่หนึ่ง ; อรติ เป็นนิวรณ์, ปามุชชะเป็นเอกัตตะ นี้คู่หนึ่ง ; และอกุศลธรรมทั้งปวง เป็นนิวรณ์, กุศลธรรมทั้งปวงเป็นเอกัตตะ นี้คู่หนึ่ง. แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นได้ว่าอัญญาณ หรืออวิชชา ในที่นี้อาจสงเคราะห์เข้าได้ในวิจิกิจฉา, อรติ คือความไม่ยินดีหรือความขัดใจนั้น อาจสงเคราะห์เข้าได้กับพยาบาท. ส่วนอกุศลธรรมทั้งปวงนั้น เป็นอันกล่าวเผื่อไว้สำหรับอุปกิเลสที่ไม่ได้ออกชื่อ แต่ก็อาจจะสงเคราะห์เข้าได้ในข้อใดข้อหนึ่งของนิวรณ์ ๕ ข้างต้นนั่นเอง. โดยนัยนี้ จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เรียกว่านิวรณ์นั้น โดยที่แท้ไม่จำกัดจำนวน คือจะเป็นอุปกิเลสชื่อไรก็ได้. การกำหนดไว้เพียง ๕ อย่าง เป็นบาลีพุทธภาษิตดั้งเดิม. ได้รับความนิยมทั่วไป เพราะฉะนั้นจึงได้พิจารณากันแต่ ๕ อย่างเท่านั้น.

เหตุที่ได้ชื่อว่า นิวรณ์

เหตุที่ได้ชื่อว่านิวรณ์ เพราะมีความหมายว่า เป็นเครื่องปิดกั้น. เมื่อถามว่าปิดกั้นอะไร ? มีคำตอบต่างๆ กัน เช่นปิดกั้นความดี ปิดกั้นทางแห่งพระนิพพาน ดังนี้เป็นต้น. แต่ในกรณีที่เกี่ยวกับการเจริญสมาธินี้ ท่านจำกัดความกันลงไปว่าโดยบุคลาธิษฐาน ก็คือปิดบังสัตว์หรือจิตของสัตว์ไม่ให้รู้ธรรม ; ส่วนโดยธรรมาธิษฐานนั้น หมายถึงปิดบัง นิยยานิกธรรม กล่าวคือธรรมเครื่องนำสัตว์ออกจากทุกข์ หรือกล่าวโดยนิตินัย ก็กล่าวได้ว่าปิดบังเอกัตตะนั่นเอง : ยกตัวอย่างเช่นเนกขัมมะ หรือความที่จิตว่างจากกาม เป็นนิยยานะอันหนึ่งของพระอริยเจ้าหมายความว่าพระอริยเจ้ามีจิตออกจากทุกข์ด้วยเนกขัมมะนั้น, ส่วนกามฉันทะเป็นเครื่องปิดกั้นเนกขัมมะ คือกั้นหรือกีดกันเนกขัมมะออกไป แล้วมีกามฉันทะเข้ามาอยู่แทน กามฉันทะจึงได้ชื่อว่าเป็นนิวรณ์ หรือเป็นนิยยานาวรณา ซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกัน กล่าวคือเป็นเครื่องปิดกั้นธรรม ซึ่งเป็นเครื่องนำสัตว์ออกจากทุกข์ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ปุถุชนไม่รู้ว่าเนกขัมมะนั้น เป็นธรรมเครื่องออกจากทุกข์ของพระอริยเจ้า เพราะถูกกามฉันทะหุ้มห่อปิดบังจิต. โดยนัยนี้ จึงได้ความหมายเป็น ๒ ทาง คือปิดบังธรรมฝ่ายเอกัตตะไม่ให้ปรากฏแก่จิต หรือปิดบังจิตไม่ให้ลุถึงธรรมที่เป็นฝ่ายเอกัตตะ. แต่โดยผลแล้วเป็นอย่างเดียวกัน คือจิตถูกหุ้มห่อด้วยนิวรณ์อยู่ตลอดเวลา, เมื่อถือเอาโดยพฤตินัย จึงได้แก่ สิ่งที่เกิดขึ้นหุ้มห่อจิตอยู่เป็นปรกตินั่นเอง : จิตเศร้าหมอง จิตไม่มีวิเวก จิตไม่มีสุขเป็นต้น ด้วยอำนาจแห่งนิวรณ์นั้น.

การละนิวรณ์ มีหลายประเภท

การทำจิตให้ปราศจากนิวรณ์นั้น คือความมุ่งหมายโดยตรงของการทำสมาธิ ฉะนั้น การที่จิตปราศจากนิวรณ์ กับการที่จิตเป็นสมาธิ จึงเป็นของอันเดียวกัน. เมื่อใดจิตปราศจากนิวรณ์อยู่โดยธรรมชาติ ซึ่งเป็นได้เองในบางขณะ ก็เป็นสมาธิธรรมชาติ ; เมื่อใดจิตปราศจากนิวรณ์โดยอาศัยการปฏิบัติ จิตก็มีสมาธิชนิดที่เรากำลังศึกษากันอยู่นี้. สมาธิตามธรรมชาติ ทำให้จิตพ้นจากนิวรณ์ได้โดยบังเอิญ เรียกว่า ตทังควิมุตติ แปลว่าหลุดพ้นเพราะประจวบเหมาะ หรือบังเอิญประจวบเหมาะกับสิ่งที่เป็นเครื่องระงับนิวรณ์, ส่วนในสมาธิที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัตินั้น นิวรณ์ถูกละไปด้วยอำนาจของสมาธินั้น. การปราศจากนิวรณ์ด้วยอาการเช่นนี้ เรียกว่า วิกขัมภนวิมุตติ. แต่ตลอดเวลาที่กิเลสยังไม่หมดสิ้นไปนิวรณ์ย่อมกลับเกิดขึ้นใหม่ ในเมื่อว่างจากสมาธิ ฉะนั้น จึงต้องมีการปฏิบัติอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นการทำลายรากเหง้า หรือต้นตอแห่งนิวรณ์เสีย, สิ่งนั้นคือวิปัสสนา. จิตที่ไม่ถูกนิวรณ์หรือกิเลสรบกวนอีกต่อไป ได้ชื่อว่ามี สมุจเฉทวิมุตติ คือความหลุดพ้น เพราะความขาดสูญของกิเลส เป็นความหลุดพ้นอย่างเด็ดขาด. โดยนัยที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า สิ่งที่เรียกว่านิวรณ์นั้น รำงับเองได้โดยบังเอิญอย่างหนึ่ง, รำงับอยู่ได้ด้วยอำนาจของสมาธิ อย่างหนึ่ง, และมีรากเหง้าอันขาดสูญไปได้ด้วยอำนาจของวิปัสสนา อีกอย่างหนึ่ง. สองอย่างแรกเป็นการชั่วคราว อย่างหลังเป็นการถาวร. ผู้ปฏิบัติต้องไม่เพียงแต่ศึกษาหรือจดจำเรื่องราวอันเกี่ยวกับนิวรณ์อย่างเดียว. แต่ต้องรู้จักหรือหยั่งทราบชัด ต่อสิ่งที่เรียกว่านิวรณ์ด้วยใจของตนเองจริงๆ ว่ามีอยู่อย่างไร เพียงไร และเมื่อไรเป็นต้น, และรู้จักลักษณะที่นิวรณ์นั้นๆ กำลังรบกวนตนเองอยู่อย่างไร ทั้งนี้ เพื่อจะได้เห็นโทษแห่งนิวรณ์นั้นได้จริงๆ จนมีความพอใจและแน่ใจ ในการที่จะกำจัดนิวรณ์นั้นเสีย แม้เพื่อประโยชน์แห่งความอยู่เป็นสุขในปัจจุบันทันตาเห็น ได้ทุกขณะที่ตนต้องการ กล่าวคือแม้ยังจะไม่หมดกิเลสสิ้นเชิง. แต่ก็จะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยอุบายชนิดที่นิวรณ์รบกวนไม่ได้เรื่อยๆ ไป จนกว่าจะหมดกิเลสสิ้นเชิง. โดยนัยนี้จะเห็นได้ว่า ความปราศจากนิวรณ์นั้น เป็นความสงบสุขอย่างยิ่งอยู่ในตัวของมันเอง ชั้นหนึ่งก่อน แล้วยังเป็นโอกาสหรือเป็นฐานที่ตั้งสำหรับการปฏิบัติ เพื่อกำจัดกิเลสอันเป็นรากเหง้าของนิวรณ์นั้นให้หมดสิ้นไปอีกต่อหนึ่ง ซึ่งเป็นการทำลายนิวรณ์ในขั้นเด็ดขาด และเป็นความดับทุกข์ในขั้นที่ไม่เปลี่ยนแปลงอีกต่อไป.

การละนิวรณ์ คือหน้าที่ของสมาธิ

สำหรับการปฏิบัติในขั้นนี้ เป็นเพียงขั้นสมาธิ ยังไม่ใช่ขั้นวิปัสสนา หน้าที่ของเราอันเกี่ยวกับนิวรณ์ จึงเป็นเพียงการทำสมาธิหรืออุบายอันเป็นเครื่องกีดกันนิวรณ์ออกไปเสียจากจิต ด้วยการนำเอาสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อนิวรณ์เข้ามาสู่จิตจนกระทั่งนิวรณ์ต่างๆ ระงับไป. สิ่งที่กีดกันนิวรณ์ออกไปจากจิตในที่นี้คือ ตัวสติที่เกิดขึ้นในการกำหนดลมหายใจ โดยวิธีที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น. โดยกรรมวิธีก็คือเป็นการนำจิตเข้าไปผูกไว้กับลมหายใจ จนกระทั่งเกิดเอกัตตธรรมต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นปฏิปักษ์ต่อนิวรณ์ นิวรณ์จึงหมดโอกาสที่จะครอบงำจิต. ตลอดเวลาที่สติยังไม่ละไป. จิตยังกำหนดอยู่ที่ลมหายใจหรือนิมิตแห่งสมาธิได้อยู่ เมื่อนั้นชื่อว่าไม่มีนิวรณ์ มีแต่เอกัตตธรรมอยู่แทนที่ดังที่กล่าวแล้ว. ผู้ปฏิบัติจะต้องมองให้เห็นชัดเจนทีเดียวว่า เอกัตตธรรมเหล่านี้มีอยู่อย่างไร : ยกตัวอย่างเช่นเนกขัมมะ หรือการหลีกออกจากกามนั้น เป็นสิ่งที่อาจกล่าวได้ว่า ได้เริ่มมีแล้วตั้งแต่ขณะหลีกออกไปสู่ที่สงัด และมีมากขึ้น หรือมั่นคงขึ้น นับตั้งแต่ขณะแห่งคณนา คือการกำหนดนิมิต หรือลมหายใจเป็นต้นไป กระทั่งถึงขณะแห่งปฏิภาคนิมิต ซึ่งเป็นอันกล่าวได้ว่า เป็นเนกขัมมะในที่นี้แล้วอย่างสมบูรณ์ เอกัตตธรรมข้ออื่น เช่นอัพยาบาทเป็นต้น ก็ดำเนินไปในแนวเดียวกัน. แต่ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ก็ต่อเมื่อได้ศึกษาจนทราบว่าองค์ฌานนั้นๆ มีอะไรบ้างและองค์แห่งฌานนั้น ๆ เป็นตัวเอกัตตธรรมข้อไหน, ฉะนั้น จะได้วินิจฉัยกันถึงองค์แห่งฌานสืบไป.

องค์แห่งฌาน

คำว่า “องค์แห่งฌาน” หมายความว่า ส่วนประกอบส่วนหนึ่งๆ ของฌาน. เมื่อประกอบรวมกันหลายอย่าง จึงสำเร็จเป็นฌานขั้นหนึ่ง. เช่นอาจจะกล่าวได้ว่า ปฐมฌานมีองค์ห้า ทุติยฌานมีองค์สาม ตติยฌานมีองค์สอง จตุตถฌานมีองค์สอง ดังนี้เป็นต้น. ทั้งนี้เป็นการแสดงชัดอยู่แล้วว่าองค์แห่งฌานนั้น ไม่ใช่ตัวฌาน เป็นแต่เพียงส่วนประกอบส่วนหนึ่งๆ ของฌาน. องค์แห่งฌาน มี ๕ องค์ คือ ๑ วิตก, ๒ วิจาร, ๓ ปีติ, ๔ สุข, ๕ เอกัคคตา, มีอธิบายดังต่อไปนี้ :-

๑. วิตก คำคำนี้ โดยทั่วไปแปลว่า ความตริหรือความตรึก. แต่ในภาษาสมาธิ คำว่า วิตกนี้ หาใช่ความคิดนึกตริตรึกอย่างใดไม่. ถ้าจะเรียกว่าเป็นความคิด ก็เป็นเพียงการกำหนดนิ่งๆ แนบแน่นอยู่ในสิ่งๆ เดียว, ไม่มีความหมายที่เป็นเรื่องเป็นราวอะไร. อาการแห่งจิตจะมีปรากฏอยู่ในขณะแห่งคณนาและอนุพันธนาโดยอ้อม. และในขณะแห่งผุสนาและฐปนาโดยตรง ดังที่กล่าวแล้วข้างต้นนั่นเอง คือสิ่งที่เรียกว่าวิตกในที่นี้. (ควรย้อนไปดูตอนอันว่าด้วยคณนาเป็นต้นให้เข้าใจจริง ๆ อีกครั้งหนึ่ง) และจะเข้าใจอาการของวิตกได้ดี ก็ต่อเมื่อถูกนำไปเปรียบเทียบ กับสิ่งที่เรียกว่าวิจาร และกล่าวบรรยายลักษณะควบคู่กันไป.

๒. วิจาร คำคำนี้ โดยทั่วไป หมายถึงการตรึกตรอง หรือสอดส่องหรือวินิจฉัย แต่ในทางภาษาสมาธิ หาได้มีความหายอย่างนั้นไม่ เป็นแต่เพียงอาการที่จิตรู้ต่ออารมณ์ที่กำหนดอยู่นั้น, ซึ่งในที่นี้ ได้แก่ลมหายใจ, อยู่อย่างทั่วถึงโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ อาการที่เกิดขึ้นในขณะของอนุพันธนาเป็นต้นไป. (ควรย้อนไปดูเรื่องตอนอนุพันธนาเป็นต้น ดังที่แนะไว้แล้วในกรณีของวิตก) และจะเข้าใจสิ่งนี้ได้ดี ด้วยการนำอุปมาเปรียบเทียบ ซึ่งจะดียิ่งกว่าบรรยายด้วยคำพูดตรงๆ ยกตัวอย่างเช่น เปรียบเทียบกับการดู : เมื่อสายตาทอดไปจับที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งนี้เปรียบกันได้กับอาการของวิตก, เมื่อเห็นสิ่งนั้นทั่วหมด เปรียบกันได้กับอาการของวิจาร. หรือเปรียบด้วยการสาดน้ำ : เมื่อน้ำกระทบกับสิ่งที่ถูกสาด ก็เปรียบได้ด้วยอาการของวิตก, เมื่อน้ำเปียกซึมไปทั่ว ก็เปรียบได้ด้วยอาการของวิจาร. หรือถ้า เปรียบกับการฝึกลูกวัว ซึ่งมักถูกใช้เป็นอุทาหรณ์ในการฝึกจิตทั่วๆ ไปก็อาจจะเปรียบได้ว่า เมื่อลูกวัวถูกแยกไปจากแม่ เอาไปผูกไว้ที่เสาหลักแห่งหนึ่งด้วยเชือก เสาหลักเปรียบด้วยลมหายใจ เชือกนั้นเปรียบด้วยสติ ลูกวัวนั้นเปรียบด้วยจิต การที่มันถูกผูกติดอยู่กับเสา เปรียบด้วยอาการของวิตก และการที่มันดิ้นไปดิ้นมา วนเวียนอยู่รอบๆ เสา รอบแล้ว รอบอีก เปรียบด้วยอาการของวิจาร.

ผู้ศึกษาจะต้องรู้จักสังเกต ความแตกต่างระหว่างคำว่า วิตก กับคำว่า วิจาร และรู้จักความที่สิ่งทั้งสองนี้มีอยู่พร้อมกัน กล่าวคือ การที่ลูกวัวถูกผูกติดอยู่กับเสาก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ในขณะที่มันวนเวียนอยู่รอบๆ เสา, หรืออาการที่มันวนเวียนอยู่รอบ ๆ เสา ก็มีอยู่ในขณะที่มันยังถูกผูกติดอยู่กับเสา, แต่อาการทั้งสองอย่างนี้ไม่ใช่เป็นของสิ่งเดียวกันเลย ทั้งที่มีอยู่พร้อมกันหรือในขณะเดียวกัน. ความเข้าใจอันนี้ เป็นเหตุให้เข้าใจไปถึงว่า ในขณะแห่งปฐมฌานนั้น วิตกกับวิจารมีอยู่ในขณะเดียวกันได้อย่างไร. สำหรับอาการอันนี้โดยเฉพาะ จะเห็นได้ชัดในกรณีของคนขัดหม้อ ซึ่งมือซ้ายจับหม้อ มือขวาจับเครื่องขัดหม้อ แล้วถูไปทั่วๆ ตัวหม้อ ในขณะเดียวกัน ; มือซ้าย คือวิตก มือขวา คือวิจาร, ฉันใดก็ฉันนั้น.สรุปความว่า วิตก คือ อาการที่จิตกำหนดนิมิต, วิจาร คือ อาการที่จิตเคล้าเคลียกันอยู่กับนิมิตอย่างทั่วถึงนั่นเอง และ เป็นสิ่งที่มีอยู่พร้อมกัน.

๓. ปีติ. คำนี้ ตามปรกติแปลว่าความอิ่มใจ. ในภาษาของสมาธิหมายถึงความอิ่มใจด้วยเหมือนกัน แต่จำกัดความเฉพาะความอิ่มใจที่ไม่เนื่องด้วยกาม และต้องเป็นความอิ่มใจที่เกิดมาจากความรู้สึกว่าตนทำอะไรสำเร็จ หรือตนได้ทำสิ่งที่ควรทำเสร็จแล้ว หรือต้องเสร็จแน่ๆ ดังนี้เป็นต้นเท่านั้น. ปีตินี้อาศัยเนกขัมมะ ไม่อาศัยกาม, ฉะนั้น จึงอาจจำกัดความลงไปว่า ปีติ คือ ความอิ่มใจที่เกิดมาจากการที่ตนเอาชนะกามได้สำเร็จ ด้วยนั่นเอง. ปีติ ในกรณีนี้จัดเป็นกุศลเจตสิกประเภทสังขารขันธ์ คือความคิดชนิดหนึ่ง กล่าวคือ การทำความอิ่มใจยังไม่จัดเป็น เวทนาขันธ์ ผู้ศึกษาพึงรู้จักสังเกตความแตกต่างระหว่างปีติกับสุขในข้อนี้, คือข้อที่ปีติเป็นสังขารขันธ์ และสุขเป็นเวทนาขันธ์, เพื่อกันความสับสนกันโดยสิ้นเชิง แล้วพึงทราบความที่ปีติเป็นแดนเกิดของความสุข.

๔. สุข. คำว่าสุขในที่นี้ หมายถึงสุขอันเกิดจากการที่จิตไม่ถูกนิวรณ์รบกวน รวมกันกับกำลังของปีติหรือปราโมทย์ ที่ได้ส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกอันเป็นสุขนี้ขึ้น. ตามธรรมดาคนเรา เมื่อมีปีติ ก็ย่อมรู้สึกเป็นสุขอย่างที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ แต่สุขโดยอาการอย่างนี้ ย่อมตั้งอยู่ชั่วขณะ ส่วนสุขที่เกิดมาจากที่นิวรณ์ไม่รบกวนนั้น ย่อมตั้งอยู่ถาวรและมั่นคงกว่า. เมื่อผู้ศึกษาเข้าใจพฤติอันนี้ดี ก็จะเห็นชัดแจ้งได้โดยตนเองว่า ปีติกับสุขนั้นไม่ใช่ของอย่างเดียวกันเลยแต่ก็มีอยู่พร้อมกันได้ในขณะเดียวกัน เหมือนกับการที่วิตกและวิจาร มีอยู่พร้อมกันได้ ฉันใดก็ฉันนั้น.

๕. เอกัคคตา. เป็นคำที่ย่อมาจากคำว่า จิตเตกัคคตา (จิตต +เอกัคคตา) แปลว่าความที่จิตเป็นสิ่งซึ่งมียอดสุดเพียงอันเดียว. โดยใจความก็คือความที่จิตมีที่กำหนดหรือที่จด-ที่ตั้งเพียงแห่งเดียว. อธิบายว่า ตามธรรมดาจิตนั้น ย่อมดิ้นรนกลับกลอก เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพราะเป็นของเบาหวิว. ต่อเมื่อได้รับการฝึกฝนโดยสมควรแก่กรณีแล้ว จึงจะเป็นจิตที่ตั้งมั่น มีอารมณ์อย่างเดียวอยู่ได้เป็นเวลานาน. ในกรณีแห่งสมาธินี้ เอกัคคตาหมายถึงความที่จิตกำหนดแน่วแน่อยู่ได้ในขณะแห่งฐปนา หรือในระยะแห่งปฏิภาคนิมิตเป็นต้นไป (ส่วนระยะที่ต่ำกว่านั้น ยังล้มลุกคลุกคลาน คือเป็นไปชั่วขณะ) และ อาการแห่งเอกัคคตานี้เอง เป็นอาการที่เป็นความหมายอันแท้จริง ของคำว่า สมาธิ หรือเป็นตัวสมาธิแท้ เอกัคคตานี้ ในที่บางแห่งเรียกว่า “อธิษฐาน” ก็มี.

องค์ฌาน ทำให้เกิดฌานได้อย่างไร

สิ่งที่ต้องพิจารณาหรือวินิจฉัยต่อไปก็คือ องค์ฌานทั้ง ๕ องค์นี้ มีอยู่อย่างไร และสัมพันธ์กันในหน้าที่อย่างไร ในขณะแห่งปฐมฌาน เป็นต้น ? ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ปฐมฌาน มีองค์ ๕ คือมีวิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา. ข้อนี้ย่อมหมายความว่า ในขณะแห่งปฐมฌานนั้น สิ่งทั้ง ๕ นี้ ย่อมมีอยู่ และสัมพันธ์เป็นสิ่งเดียวกัน คือปฐมฌาน. ปัญหาอาจจะเกิดขึ้นแก่คนทั่วไปว่า ถ้าจิตที่เป็นสมาธิเป็นสิ่งที่มีอารมณ์อันเดียวและมียอดสุดอันเดียวคือเป็นเอกัคคตา ทั้งไม่มีความนึกตรึกตรองอะไรแล้ว จะมีความรู้สึกถึง ๕ อย่างพร้อมกันได้อย่างไร ? ปัญหานี้ เป็นปัญหาที่ถ้าสางไม่ออกแล้วก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าสมาธิในขั้นปฐมฌานได้เลย. ในขั้นแรกจะต้องเข้าใจเสียก่อนว่า สิ่งที่เรียกว่า องค์-องค์นั้น เป็นเพียงส่วนประกอบหรือองค์ประกอบ คือเป็นสิ่งที่รวมกันปรุงให้เกิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา ในฐานะเป็นสิ่งๆ เดียว เช่นเชือกเส้นหนึ่งมี ๕ เกลียว เราเรียกว่าเชือกเส้นเดียว ; หรือขนมบางอย่าง ประกอบด้วยเครื่องปรุง ๕ อย่าง เราเรียกว่าขนมอย่างเดียว, นี้คือความหมายของคำว่าองค์ หรือองค์ประกอบ. สำหรับในกรณีของปฐมฌานนั้น หมายความว่า เมื่อจิตกำลังเป็นสมาธิถึงขั้นนี้ จิตย่อมมีสัมปยุตตธรรม คือสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันแก่จิต ถึง ๕ อย่าง, แต่ละอย่าง ๆ ก็เป็นความมั่นคงในตัวของมันเองด้วย สนับสนุนซึ่งกันและกันด้วย จึงตั้งอยู่อย่างมั่นคงยิ่งขึ้นไปอีก. เปรียบเหมือนไม้ ๕ อัน แต่ละอัน ๆ ก็ปักอยู่อย่างแน่นแฟ้นแล้วยังมารวมกลุ่มกันในตอนยอดหรือตอนบน เป็นอันเดียวกัน ก็ยิ่งมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้นไปอีก, ข้อนี้ฉันใด ; ในขณะที่ปฏิภาคนิมิตปรากฏแล้วตั้งอยู่อย่างมั่นคงจิตหน่วงเอาความเป็นอัปปนา คือความแน่วแน่ได้ องค์ทั้ง ๕ นี้ ซึ่งมีความสำคัญแต่ละองค์ก็รวมกันเป็นจุดเดียว เป็นสิ่งที่เรียกว่า “ฌาน” หรือสมาธิที่แน่วแน่ขึ้นมาได้. ในขณะที่ปฏิภาคนิมิตปรากฏนั้น วิตกมิได้มีอยู่ในลักษณะแห่งการกำหนดลมหายใจเข้าหรือออก แต่เปลี่ยนมาเป็นการกำหนดว่า “ลม” อยู่ในจุดหรือในดวงแห่งปฏิภาคนิมิตนั้น ฉะนั้น เป็นอันกล่าวได้ว่า สิ่งที่เรียกว่าวิตกในขั้นริเริ่มต่างๆ นั้น มิได้รำงับไปเสียในขณะแห่งคณนา หรืออนุพันธนาหรือผุสนาเลย แต่ได้กลายมาเป็นวิตกที่ละเอียดสุขุมสงบรำงับ เหลืออยู่จนกระทั่งถึงขณะแห่งฐปนาหรือปฏิภาคนิมิตนั้น. สำหรับองค์ที่เรียกว่าวิจารก็เป็นอย่างเดียวกัน คือมีเหลืออยู่ในลักษณะสุขุมมาตั้งแต่แรก จนกระทั่งถึงขณะแห่งฐปนา ก็ทำหน้าที่รู้สึกอย่างทั่วถึงในปฏิภาคนิมิต : ทำหน้าที่พร้อมกันกับวิตกดังที่เป็นมาแต่ต้น : เป็นอันว่าในขณะแห่งปฏิภาคนิมิต ก็ยังมีวิจารเหลืออยู่เต็มสัดเต็มส่วน. ปีตินั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ ในฐานะที่เป็นปฏิกิริยาอันออกมาจากวิตกและวิจารอย่างประปราย ล้มลุกคลุกคลานมาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก แม้ในขณะแห่งอนุพันธนา หรือผุสนาก็ตาม. เมื่อวิตกวิจารเป็นสิ่งที่มั่นคงอย่างละเอียดสุขุมยิ่งขึ้นทุกที ปีติก็ยังคงมีอยู่อย่างละเอียดสุขุมยิ่งขึ้น ในฐานะที่เป็นปฏิกิริยามาจากวิตกและวิจารไปตามเดิม : ฉะนั้นปีติจึงมีออยู่ด้วย แม้ในขณะแห่งฐปนา หรือปฏิภาคนิมิต. สำหรับความสุขนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เคยละจากปีติ ปัญหาจึงไม่มีความที่จิตเป็นฐปนาหรือกำหนดอยู่ในปฏิภาคนิมิตได้ถึงที่สุด แน่วแน่ไม่หวั่นไหวนั่นเอง จัดเป็นเอกัคคตา. จึงเป็นว่าสิ่งทั้ง ๕ นี้ ได้เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว ในขณะแห่งปฏิภาคนิมิตโดยสมบูรณ์. เมื่อจิตได้อาศัยปฏิภาคนิมิตแล้วหน่วงเอาอัปปนาสมาธิได้อย่างสมบูรณ์ถึงขั้นฌานแล้ว สิ่งทั้ง ๕ นี้ จึงตั้งอยู่ในฐานะเป็นองค์แห่งฌานด้วยกันและกัน ในคราวเดียวกัน โดยไม่ต้องทำการกำหนดนิมิตอีกแต่ประการใด เพราะองค์แห่งฌานเข้าไปตั้งอยู่แทนที่ของนิมิต : คงเหลืออยู่แต่การควบคุมแน่วแน่ไว้เฉยๆ ด้วยอำนาจขององค์ทั้งห้าที่สมังคีกันดีแล้ว. เหมือนนายสารถีที่เพียงแต่นั่งถือบังเหียนเฉยๆ ในเมื่อม้าที่ลากรถได้หมดพยศแล้ว และวิ่งไปตามถนนอันราบรื่น ฉันใดก็ฉันนั้น. ผู้ศึกษาไม่พึงเข้าใจว่าองค์ทั้ง ๕ นี้ เป็นความคิดนึกที่ต้องทำอยู่ด้วยเจตนาแต่ละอย่างๆ : โดยที่แท้มันเป็นเพียงผลของการปฏิบัติ ที่ได้ทำมาอย่างถูกต้องจนเข้ารูปแล้ว ก็ย่อมเป็นไปได้เองโดยไม่มีเจตนา เหมือนการกระทำของนายสารถีที่กุมบังเหียนอยู่เฉยๆ แม้ไม่มีเจตนาในขณะนั้น สิ่งต่างๆ ก็เป็นไปด้วยดี ครบถ้วนเต็มตามความประสงค์.

องค์ฌาน องค์หนึ่งๆ เปลี่ยนความหมายได้หลายชั้น

อีกอย่างหนึ่งพึงทราบว่า ชื่อต่างๆ ขององค์ฌานทั้ง ๕ ชื่อนี้ ย่อมเป็นเช่นเดียวกับชื่อแปลกๆ ของอาการต่างๆ หลายอย่าง ที่เกิดอยู่กับสิ่งๆ เดียว แล้วแต่ว่าเราจะมองในแง่ไหน เฉพาะในความหมายที่สำคัญเป็นแง่ๆ ไป. ชื่อๆ เดียวกัน อาจหมายความถึงกิริยาอาการที่ต่างกันในเมื่อเวลาได้ล่วงไป พร้อมกับความสำเร็จของงานที่ทำเป็นขั้นๆ ไป. ความแจ่มแจ้งในข้อนี้จักมีได้ด้วยการอุปมาในเรื่องการฝึกลูกวัวอีกตามเคย. สมมติว่าในขณะนี้ ลูกวัวได้หมดพยศ มีความเชื่อฟังเจ้าของถึงที่สุด และลงนอนสบายติดอยู่กับโคนเสาหลักนั้นแล้ว ลองพิจารณาดูกันใหม่ ว่ามีอาการที่เป็นองค์สำคัญๆ อะไรบ้างที่ยังเหลืออยู่ นับตั้งแต่ต้นมาจนกระทั่งถึงในขณะนี้. อาการของลูกวัว ที่เปรียบกันได้กับคำว่าวิตกและวิจารในขั้นแรกจริงๆ นั้น อยู่ในลักษณะที่มันถูกผูก แล้วกระโจนไปกระโจนมา ดิ้นรนวนเวียนอยู่รอบๆ เสา ; แต่บัดนี้อาการของลูกวัว ส่วนที่จะเปรียบกันได้กับวิตกวิจารนั้น ได้เปลี่ยนมาอยู่ในลักษณะนอนเบียดอยู่โคนเสาอย่างสบาย. อาการถูกผูกซึ่งเปรียบกันได้กับวิตกก็ยังมีอยู่ ; อาการเคล้าเคลียกับเสา ซึ่งเปรียบกันได้กับวิจารก็ยังคงมีอยู่ หากแต่ว่าเปลี่ยนรูปไปในทางสุภาพเท่านั้น ส่วนความหมายยังคงอยู่ตามเดิม. ก่อนนี้ลูกวัวดื้อดึง ไม่ชอบเจ้าของ ยินดีในการไม่ทำอะไรตามใจเจ้าของเสียเลย บัดนี้ลูกวัวพอใจในความเป็นเช่นนี้ คืออาการที่มีความคุ้นเคยกับเจ้าของ ยินดีที่จะทำตามเจ้าของด้วยความพอใจ ย่อมเปรียบกันได้กับปีติ อาการที่ลูกวัวนอนเป็นสุข ไม่ถูกเบียดเบียนด้วยการเฆี่ยนตี หรือด้วยการดึงของเชือกเมื่อตัวเองดิ้น เป็นต้น เปรียบกันได้กับสุข. ข้อที่ลูกวัวไม่ละไปจากเสา กลับยึดเอาเสาเป็นหลักแหล่ง นี้ก็เปรียบกันได้กับเอกัคคตา, เป็นอันว่าลักษณะทั้ง ๕ ของลูกวัวนั้น เป็นองค์สำคัญแห่งความสำเร็จ ในการที่ได้รับการฝึกจากเจ้าของ และอาจเปรียบกันได้กับองค์ทั้ง ๕ แห่งปฐมฌาน ซึ่งเป็นความสำเร็จแห่งการเจริญสมาธิในขั้นนี้ ฉันใดก็ฉันนั้น. อีกอย่างหนึ่ง ผู้ศึกษาพึงสังเกตให้เห็นว่า องค์แห่งฌานทั้ง ๕ นี้ ไม่ใช่ตัวการปฏิบัติที่จะต้องแยกทำด้วยเจตนาทีละอย่างๆ หากเป็นเพียงผลของการปฏิบัติอันหนึ่ง กล่าวคือฌานที่มีลักษณะอาการให้เห็นในเหลี่ยมที่ต่างๆ กัน เป็น ๕ อย่างดังนี้เป็นต้น. ด้วยเหตุนี้เอง องค์แห่งฌานซึ่งเป็นความรู้สึก ๕ ประการ โดยลักษณะที่กล่าวแล้ว จึงเป็นสิ่งที่มีได้ในจิตดวงเดียวพร้อมกัน และไม่ต้องมีการคิดนึกหรือเจตนาแต่อย่างใด เป็นการตัดปัญหาที่ว่า ความคิดนึกทั้ง ๕ อย่างจะมีอยู่ในฌานได้อย่างไร ให้สิ้นไป.ต่อแต่นี้ไปจะได้วินิจฉัยในข้อที่ว่า องค์แห่งฌานแต่ละองค์ๆ ได้ทำงานในหน้าที่ของตน มีผลในทางกำจัดนิวรณ์ทั้ง ๕ ให้หมดไปได้อย่างไร สืบไป.

องค์ฌาน กำจัดนิวรณ์ได้อย่างไร

ในการที่จะเข้าใจว่าองค์ฌานองค์หนึ่งๆ จะสามารถกำจัดนิวรณ์แต่ละอย่างๆ ได้อย่างไรนั้น จำเป็นจะต้องศึกษาให้ทราบว่า องค์ฌานองค์ไหนมีลักษณะตรงกันข้ามกับนิวรณ์ข้อไหน. ข้อนี้อาจจะพิจารณาดูได้ด้วยเหตุผลธรรมดา คือ : สิ่งที่เรียกว่า วิตก ได้แก่การกำหนดอารมณ์อันใดอันหนึ่งอยู่ : ถ้าสิ่งนี้มีอยู่ นิวรณ์ที่มีอาการตรงกันข้าม เช่นอุทธัจจะกุกกุจจะ ก็ย่อมมีขึ้นไม่ได้ แม้ที่สุดแต่กามฉันทะก็ยังมีขึ้นไม่ได้ เพราะจิตกำลังติดอยู่กับอารมณ์ของสมาธิ. สิ่งที่เรียกว่า วิจาร ก็เป็นอย่างเดียวกัน : เมื่อวิจารมีอยู่ ก็หมายถึงมีการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ในตัวมันเอง ไม่ลังเลในการทำ, สิ่งที่เรียกว่าวิจิกิจฉาย่อมระงับไปโดยตรง, แม้สิ่งที่เรียกว่ากามฉันทะหรืออื่นๆ ก็ย่อมระงับไปโดยอ้อม. สิ่งที่เรียกว่า ปีติ และ สุข นั้น เป็นข้าศึกต่อพยาบาทและถีนมิทธะอยู่แล้วโดยธรรมชาติ และยังสามารถระงับกามฉันทะ เพราะเหตุที่มีอารมณ์ต่างกัน แม้ว่าอาการจะคล้ายกัน คือ ปีติและสุขนั้นปรารภธรรมหรืออาศัยธรรมเป็นกำลัง ; ส่วนกามฉันทะ อาศัยวัตถุกามเป็นอารมณ์ หรือเป็นกำลัง. สำหรับสิ่งที่เรียกว่า เอกัคคตา นั้น ย่อมเป็นที่ระงับของนิวรณ์ทั่วไป.

ทั้งหมดนี้ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นสืบไปอีกว่า องค์แห่งฌานแต่ละองค์ๆ นอกจากจะเป็นข้าศึกต่อนิวรณ์อย่างหนึ่งๆ โดยเฉพาะแล้ว ยังเป็นข้าศึกต่อนิวรณ์โดยส่วนรวม ตามมากตามน้อย พราะฉะนั้น ทั้งสองฝ่าย จึงมีอยู่พร้อมกันไม่ได้ เหมือนความมืดกับแสงสว่าง มีอยู่พร้อมกันไม่ได้โดยธรรมชาติ ฉันใดก็ฉันนั้น.

องค์ฌาน กำจัดนิวรณ์เมื่อไร

สำหรับทางพฤตินัยนั้น นิวรณ์เริ่มระงับไป ตั้งแต่ขณะแห่งอุปจารสมาธิ คือตั้งแต่ฌานยังไม่ปรากฏ. ครั้นถึงขณะแห่งฌานหรืออัปปนาสมาธิองค์แห่งฌานทั้ง ๕ จึงปรากฏขึ้นโดยสมบูรณ์ทั้ง ๕ องค์ : นี้เป็นการแสดงอยู่ในตัวแล้วว่า องค์แห่งฌานองค์หนึ่งๆ หาจำต้องทำหน้าที่ปราบนิวรณ์ที่เป็นคู่ปรับอย่างหนึ่งๆ เป็นคู่ๆ ไปโดยเฉพาะไม่ ; หรือว่า องค์แห่งฌานต้องพร้อมกันทุกองค์ คือเป็นอัปปนาสมาธิเสียก่อน จึงอาจจะละนิวรณ์ได้ ก็หาไม่. ตามพฤตินัยที่เป็นจริงนั้น นิวรณ์ทั้งหลายเริ่มถอยหลัง ตั้งแต่ขณะแห่งการกำหนดบริกรรมนิมิต และไม่ปรากฏให้เห็นตั้งแต่ในขณะอุคคหนิมิต เพราะถ้านิวรณ์มีอยู่สิ่งที่เรียกว่าอุคคหนิมิตก็เกิดขึ้นไม่ได้. ครั้นตกมาถึงขณะแห่งปฏิภาคนิมิต นิวรณ์ก็กลายเป็นสิ่งที่หมดกำลัง ทั้งที่องค์แห่งฌานยังไม่ปรากฏอย่างชัดแจ้งครบทั้ง ๕ องค์ และสมาธิก็ยังเป็นเพียงอุปจารสมาธิอยู่. ครั้นองค์แห่งฌานปรากฏชัดแจ้งมั่นคงทั้ง ๕ องค์ คือเป็นอัปปนาสมาธิหรือฌานแล้ว นิวรณ์ก็เป็นอันว่าขาดสูญไป ตลอดเวลาที่อำนาจของฌานยังคงมีอยู่ หรือเหลืออยู่แต่ร่องรอยกล่าวคือสุขอันเกิดจากฌาน. ฉะนั้น สิ่งที่ควรกำหนดสำหรับการศึกษาต่อไปก็คือความเป็นสมาธิ ๒ อย่าง ;

อ่านต่อ ส่วนที่สี่

https://sites.google.com/site/smartdhamma/smartdhamma.googlepages.compart8_3_anapa

. . . . . . .