ประวัติ หลวงปู่ดุลย์ อตุโล

ประวัติ หลวงปู่ดุลย์ อตุโล

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล นับเป็นศิษย์อาวุโสรุ่นแรกสุดของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต อาจารย์ใหญ่ฝ่ายอรัญญวาสี ในยุคปัจจุบัน พระเถระที่เป็นสหธรรมิก และมีอายุรุ่นเดียวกับหลวงปู่ดูลย์ ได้แก่ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา และ หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู

ด้วยความปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของหลวงปู่ดูลย์ ท่านจึงมีศิษย์สำคัญๆ หลายองค์ ศิษย์รุ่นแรกๆ ก็มี หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม จ.อุดรธานี หลวงปู่สาม อกิญฺจโน วัดป่าไตรวิเวก จ.สุรินทร์ และ พระเทพสุธาจารย์ (หลวงปู่โชติ คุณสมฺปนฺโน) วัดวชิราลงกรณ์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

สำหรับศิษย์อาวุโสของหลวงปู่ดูลย์ ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ พระวิสุทธิธรรมรังสี (หลวงพ่อเปลี่ยน โอภาโส) วัดป่าโยธาประสิทธิ์ จ.สุรินทร์ พระชินวงศาจารย์ วัดกระดึงทอง จ.บุรีรัมย์ หลวงพ่อสุวัจน์ สุวโจ วัดถ้ำศรีแก้ว จ.สกลนคร และ พระโพธินันทมุนี (สมศักดิ์ ปณฺฑิโต) วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ เป็นต้น

หลวงปู่ดุลย์ อตุโล เป็นพระอริยเจ้าที่มีคุณธรรมล้ำลึก ท่านเน้นการปฏิบัติภาวนามากกว่าการเทศนาสั่งสอน สำหรับพระสงฆ์และญาติโยมที่เข้าไปกราบนมัสการและขอฟังธรรมะ หลวงปู่มักจะให้ธรรมะสั้นๆ แต่มีความล้ำลึกสูงชั้นเสมอ ท่านจะเทศน์เรื่องจิตเพียงอย่างเดียว โดยจะย้ำให้เรา พิจารณาจิตในจิต อยู่เสมอ

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เกิดปีชวด วันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๓๑ ที่บ้านปราสาท ต.เฉนียง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ท่านเกินในตระกูล “เกษมสินธุ์”เป็นบุตรคนหัวปี ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๔ คน

เมื่ออายุ ๒๒ ปี หลวงปู่ได้อุปสมบทที่วัดจุมพลสุทธาวาส อ.เมือง จ.สุรินทร์ โดยมีท่านพระครูวิมลศีลพรต (ทอง) เป็นพระอุปัชฌาย์ ในพรรษาที่ ๖ หลวงปู่ได้เดินทางด้วยเท้าไปจังหวัดอุบลราชธานี พำนักอยู่ที่วัดสุทัศนาราม เพื่อเรียนปริยัติธรรม สอบได้นักธรรมชั้นตรี แล้วเรียนบาลีไวยากรณ์ต่อ ถึงแปลมูลกัจจายน์ได้

หลวงปู่ได้รู้จักชอบพอกับหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันดีในนามของแม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรม ในสายของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าทำการเผยแพร่ธรรมะในสายพุทโธ จนแพร่หลายมาตราบเท่าทุกวันนี้

ในปีที่ ๒ ที่หลวงปู่ไปพำนักอยู่ที่อุบลราชธานีนั้น หลวงปู่มั่นได้ธุดงค์มาพำนักอยู่ที่วัดบูรพา ในเมืองอุบลราชธานี หลวงปู่ดูลย์ และหลวงปู่สิงห์ สองสหายผู้ใคร่ธรรม ได้ไปกราบนมัสการและฟังธรรมของพระอาจารย์ใหญ่ เกิดความอัศจรรย์ใจและศรัทธาเป็นที่ยิ่ง จึงตัดสินใจเลิกละการเรียนด้านปริยัติธรรม แล้วออกธุดงค์ตามหลวงปู่มั่นต่อไป นับเป็นศิษย์หลวงปู่มั่นในสมัยแรก และได้ร่วมเดินธุดงค์ตามหลวงปู่มั่นไปในที่ต่างๆ อยู่นานปี

หลวงปู่ดูลย์ เที่ยวธุดงค์หาความวิเวกตามป่าเขานานถึง ๑๙ ปี จึงได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการคณะสงฆ์ให้หลวงปู่เดินทางไปประจำอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อจัดการศึกษาด้านปริยัติธรรม และเผยแพร่ข้อปฏิบัติทางกัมมัฏฐานไปด้วยกัน หลวงปู่จึงได้ไปพำนักอยู่ประจำที่ ที่วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์ มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๗ จวบจนบั้นปลายชีวิตของท่าน

นับตั้งแต่บัดนั้นมา แสงแห่งรัศมีของพระธรรม ทั้งทางปริยัติและทางปฏิบัติก็เริ่มฉายแสงรุ่งเรืองตลอดมา โดยหลวงปู่รับภาระทั้งฝ่ายคันถธุระและวิปัสสนาธุระ บริหารงานพระศาสนาอย่างเต็มกำลังสามารถ ในปฏิปทาส่วนตัวของท่านนั้นไม่เคยละทิ้งกิจธุดงค์ บำเพ็ญเพียรทางใจอย่างสม่ำเสมอตลอดมา พร้อมทั้งอบรมทางสมาธิภาวนาแก่ผู้สนใจปฏิบัติทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ด้วยเหตุที่หลวงปู่มีเมตตาธรรมสูง จึงช่วยสงเคราะห์บุคคลทั่วไปได้อย่างกว้างขวางโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ

หลวงปู่มีสุขภาพอนามัยดีเยี่ยม แข็งแรง ว่องไว ผิวพรรณผ่องใส มีเมตตาเป็นอารมณ์ สงบเสงี่ยม เยือกเย็น ทำให้ผู้ใกล้ชิด และผู้ได้กราบไหว้ เกิดความเคารพเลื่อมใสศรัทธาอย่างสนิทใจ

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระอริยเจ้าผู้ประเสริฐ ได้ละเสียซึ่งสังขารเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๖ สิริรวมอายุได้ ๙๖ ปี กับ ๒๖ วัน พระอรหันตธาตุของท่านได้เก็บรักษาไว้ให้สาธุชนได้สักการะที่ พิพิธภัณฑ์กัมมัฏฐาน ในบริเวณวัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์ ส่วนคำสอนของหลวงปู่ ซึ่งเป็นคำสอนสั้นๆ และเฉียบคมล้ำลึกนั้น ท่านเจ้าคุณพระโพธินันทมุนี ได้รวบรวมและพิมพ์ไว้ในหนังสือ “หลวงปู่ฝากไว้” เล่มนี้ นับเป็นหนังสือที่มีคุณค่าแก่นักปฏิบัติธรรมและผู้สนใจทั่วไป

หลวงปู่เน้นเรื่องการปฏิบัติภาวนา ให้พิจารณาจิตในจิตจนรู้แจ้ง ท่านเทศนาแต่เพียงสั้นๆ แต่เฉียบคม ท่านสอนว่า “หลักธรรมที่แท้จริงคือจิต จิตของเราทุกคนนั่นแหละคือหลักธรรมสูงสุด ที่อยู่ในจิตใจเรา นอกจากนั้นแล้วมันไม่มีหลักธรรมใดๆ เลย ขอให้เลิกละการคิดและการอธิบาย เสียให้หมดสิ้น จิตในจิตก็จะเหลือแต่ความบริสุทธิ์ ซึ่งมีประจำอยู่แล้วในทุกคน”

http://dhammaforlife1.blogspot.com/2011/07/blog-post_2694.html

. . . . . . .