ความหวังของแม่–ครูบาอริยชาติตอนที่ 4

024
นายสุข และนางจำนงค์ อุ่นต๊ะ ก็เหมือนกับชาวบ้านปิงน้อยส่วนใหญ่ ที่ยึดอาชีพทำไร่ทำสวนสืบทอดจากบรรพบุรุษ และครอบครัวนี้ซึ่งประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูกชายสามคน ก็มีฐานะไม่สู้จะดีนัก

นับตั้งแต่ “เก่ง” หรือ เด็กชายสุชาติ อุ่นต๊ะ ถือกำเนิด นายสุข และนางจำนงค์ อุ่นต๊ะ สองสามีภรรยาชาวบ้านปิงน้อย อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ก็ต้องทำงานหนักมากขึ้น เนื่องจากลูกทั้ง ๓ คนยังเล็กนัก ทำให้มีเพียงนายสุขผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวที่เป็นแรงงานหลัก โดยในปีที่เด็กชายเก่งเกิดนั้น นิเวศน์ อุ่นต๊ะ บุตรชายคนโตมีอายุเพียง ๙ ขวบ หนำซ้ำยังพิการมาตั้งแต่อายุเพียง ๑ เดือน เนื่องจากป่วยด้วยไข้เลือดออกและเกิดความผิดพลาดในการรักษาทำให้ขาพิการเดินไม่ได้มาตั้งแต่บัดนั้น ส่วน นิรันดร อุ่นต๊ะ บุตรชายคนรองก็มีอายุเพียง ๔ ขวบเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ลูกชายทั้งสามคนของนายสุขและนางจำนงค์เติบโตขึ้น ต่างก็ได้ช่วยงานบิดามารดาเท่าที่กำลังความสามารถจะทำได้ โดยเฉพาะ “เด็กชายเก่ง” ลูกคนสุดท้องด้วยแล้ว แม้ขณะยังเป็นทารกก็มิได้งอแงเอาแต่ใจให้มารดาต้องลำบาก และยิ่งเมื่อเติบโตรู้ความก็ยิ่งว่านอนสอนง่าย ขยันขันแข็งช่วยงานครอบครัวตั้งแต่งานในบ้านไปจนถึงงานไร่งานสวน นอกจากนี้เด็กชายเก่งยังรักเรียน รักการศึกษาหาความรู้ ทั้งยังมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดและมีความจำเป็นเลิศกว่าเด็กวัยเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด นำความปลาบปลื้มและภาคภูมิใจมาสู่นายสุขและนางจำนงค์ยิ่งนัก

อาจด้วยคำพูดจริงจังของคุณหมอผู้ทำคลอด ประกอบกับความฝันอันแปลกประหลาดทั้งสองครั้ง เมื่อรวมกับลักษณะอันงามของลูกชายคนสุดท้อง และความโดดเด่นด้านสติปัญญาของเด็กชาย ล้วนเป็นเหตุให้นางจำนงค์ผู้เป็นมารดาแอบหวังอยู่ลึกๆ ว่า…ถ้อยคำที่คุณหมอทำนายเอาไว้เมื่อแรกคลอดบุตรชายคนสุดท้อง อาจเป็นความจริงขึ้นมาสักวันหนึ่ง และความหวังที่จะเห็นลูกได้เป็น “เจ้าคนนายคน” ก็เรืองรองอยู่ในใจของนางจำนงค์ตลอดมา…

ขอขอบคุณ http://www.watsangkaew.com

 

 

. . . . . . .