ตอน สิบเก้า อานาปานสติ ขั้นที่ สิบห้า

ตอน สิบเก้า อานาปานสติ ขั้นที่ สิบห้า

(การตามเห็นความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ)

อานาปานสติขั้นที่สิบห้า หรือข้อสามแห่งจตุกกะที่สี่ มีหัวข้อว่า “ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า ดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ จักหายใจออก ดังนี้” (นิโรธานุปสฺสี อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ;นิโรธานุปสฺสี ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ.).

สิ่งที่จะต้องวินิจฉัยในที่นี้ คือ ความดับไม่เหลือ นั้นคืออะไร ; ความดับไม่เหลือของอะไร ; ดับไม่เหลือได้โดยวิธีใด ; และทำอย่างไรชื่อว่า นิโรธานุปัสสี คือตามเห็นความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ.

คำว่า ความดับไม่เหลือ ในที่นี้ หมายถึงความตรงกันข้ามต่อความมีอยู่ ยกตัวอย่างเช่นความมีอยู่แห่งรูป กับความไม่มีอยู่แห่งรูป นี้เรียกว่าภาวะที่ตรงกันข้าม ; อย่างแรกเป็นความมีอยู่ อย่างหลังเป็นความดับไม่เหลือ. แต่ความหมายตามทางธรรมของคำว่า “มีอยู่” กับคำว่า “ดับไม่เหลือ” นี้ มิได้หมายถึงตัววัตถุ นั้นมีอยู่หรือไม่มีอยู่ หากแต่หมายถึง “คุณ” หรือคุณลักษณะของสิ่งเหล่านั้นที่มี ผลต่อจิตใจหรือไม่อีกต่อหนึ่ง. ที่เห็นได้ง่าย ๆ เช่นความมีอยู่แห่งรูป หมายถึง ความมีอยู่แห่งความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ทรมาน และสิ่งอื่น ๆ ที่เนื่องกันอยู่กับรูป ; ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่มี ก็มีค่าเท่ากับรูปไม่มี หรือเป็นความดับไม่เหลือของรูป. เพราะฉะนั้น คำว่า “ดับไม่เหลือ” จึงหมายถึงความดับทุกข์ที่เนื่องมาจากรูปนั้น โดยไม่เหลือ นั่นเอง ; นี่เรียกสั้น ๆ ว่านิโรธ หรือความดับไม่เหลือ ในกรณีที่เกี่ยวกับรูป.

ข้อที่ว่า ดับไม่เหลือแห่งอะไร นั้น ถ้าตอบสั้น ๆ ตรง ๆ ก็ตอบว่า ดับไม่เหลือแห่งสิ่งที่เป็นทุกข์ หรือแห่งสิ่งที่มีการเกิด อันเป็นที่ตั้งของความทุกข์ แต่ถ้าจะจำแนกให้ละเอียดออกไป ก็อาจจะจำแนกได้เป็นประเภทใหญ่ ๆ ๓ ประเภท และมีรายละเอียด เท่าที่ยกมาเป็นตัวอย่าง แต่ละประเภทคือ ขันธ์ห้า อายตนะภายในหก และอาการแห่งปฏิจจสมุปบาทสิบสอง ดังที่กล่าวแล้วในอานาปานสติ ขั้นต้นแต่นี้ ในฐานะที่เป็นวัตถุแห่งความไม่เที่ยง และความจางคลายนั่นเอง.ความมีอยู่แห่งเบญจขันธ์ คือ ความมีอยู่แห่งอารมณ์อันเป็นที่ตั้งการสัมผัส และเป็นความมีอยู่ของสิ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ โดยความเป็นกามและโดยความเป็นภพดังที่กล่าวแล้ว ; ดังนั้นย่อมหมายความว่า เป็นความมีอยู่ ของสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์. เมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่มี หรือเรียกว่าสิ่งเหล่านี้ดับไปก็ตาม ย่อมหมายความว่า ไม่มีสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์. หรือว่าเป็นความดับไม่เหลือแห่งสิ่งอันเป็นที่ตั้งของความทุกข์. ถ้าอายตนะภายในมีอยู่ ก็หมายความว่าสิ่งซึ่งทำหน้าที่เสวยอารมณ์ หรือสิ่งที่จะทำหน้าที่สัมผัสกับสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์มีอยู่ ; ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่มี ก็ไม่มีการสัมผัสกับสิ่งอันเป็นสิ่งที่ตั้งแห่งความทุกข์. ความดับไม่เหลือแห่งสิ่งเหล่านี้ ก็คือการไม่มีการสัมผัสชนิดที่จะก่อให้เกิดความทุกข์นั่นเอง.

ความมีอยู่แห่งอาการปฏิจจสมุปบาททุกขั้นตอนเป็นความมีอยู่แห่งการปรุงของสังขารธรรมต่าง ๆ ทุก ๆ ขั้น ที่อิงอาศัยกันแล้วปรุงสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น แล้วไปอิงอาศัยสิ่งอื่นปรุงสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น เป็นลำดับไป จนกระทั่งถึงเกิดอาการที่เป็นตัวความทุกข์โดยตรงในที่สุด และผลที่เป็นทุกข์นั้นก็ยังสามารถหล่อเลี้ยง หรือปรุงต้นเหตุเดิมของมัน กล่าวคืออวิชชาให้ยังคงมีอยู่ และให้เปลี่ยนรูปไปใน ลักษณะต่าง ๆ. ถ้าหากอาการเหล่านี้ไม่มี คือไม่เกิดขึ้น หรือไม่เป็นไป ความทุกข์ ก็ก่อรูปขึ้นในลักษณะต่าง ๆ ไม่ได้ ; ฉะนั้น ความดับไปหรือความไม่มีอยู่ของการปรุงแต่งเหล่านี้ จึงมีค่าเท่ากับความดับทุกข์ หรือความไม่มีอยู่แห่งทุกข์ หรือ
ความที่ทุกข์ไม่สามารถก่อรูปขึ้นมาได้.

เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่าความดับนั้นคือความไม่มีอยู่ หรือเท่ากับความที่สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้ทำหน้าที่ตามความหมายของมัน ; และสิ่งที่เรียกว่าความดับนั้นเป็นความดับของสิ่งที่ก่อให้เกิดทุกข์ซึ่งจำแนกเป็น ๓ ประเภท ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น. การเห็นความดับก็คือการเห็นความดับไม่เหลือของทุกข์ เพราะสิ่งเหล่านี้หยุดทำหน้าที่ของมัน และความดับทุกข์นั้นก็เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ ในสิ่งเหล่านี้ ที่ดับหรือหยุดทำหน้าที่ของมันแล้ว.

ส่วนข้อที่ว่า จะทำการดับได้โดยวิธีใด นั้น มีอธิบายว่า ผู้ปฏิบัติ จะต้องพิจารณาให้เห็นโทษของความมีอยู่แห่งสิ่งเหล่านี้ก่อนโดยประจักษ์ แล้วจิตก็จะน้อมไปพอใจในคุณของความที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ แล้วเพ่งอยู่ที่ “คุณ” ของความไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ทุกลมหายใจ เข้า – ออก จนกระทั่งจิตน้อมไปสู่ความดับไม่เหลือของสิ่งเหล่านี้ได้ โดยสิ้นเชิง อย่างที่เรียกว่า ปลงความเชื่อลงไปได้จนหมดสิ้นในความเป็นอย่างนี้และทำไปด้วยจิตที่เป็นสมาธิเพีงพอ.

คำว่า เห็นโทษ ของสิ่งเหล่านี้ หมายถึงเห็นด้วยลักษณะ หรืออาการ ๕ อย่างคือ สิ่งเหล่านี้มีความไม่เที่ยงหนึ่ง, มีความเป็นทุกข์หนึ่ง, มีความเป็นอนัตตาหนึ่ง, มีความเผาผลาญ (อยู่ในตัวเอง) หนึ่ง, มีความแปรรูปอยู่เสมอ หนึ่ง. สำหรับโทษ คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานั้น มีการวินิจฉัยแล้วโดยละเอียดในอานาปานสติขั้นที่สิบสาม ไม่จำต้องวินิจฉัยอีกในที่นี้. ส่วนคำว่ามีการเผาผลาญอยู่เป็นประจำนั้น หมายถึงความที่สิ่งเหล่านี้ มีการเผาผลาญตัวเองให้ร่อยหรอไป เหมือนไฟที่กินฟืน และให้ความร้อนแก่ผู้เข้าไปใกล้และทำความเผาผลาญให้แก่ผู้ที่สมัครเข้าไปเป็นฟืนโดยไม่มีส่วนเหลือ ; นี่คือโทษของการเข้าไปใกล้สิ่งนี้ หรือการยึดมั่นถือมั่นอยู่กับสิ่งนี้.

ส่วน อาการที่เรียกว่าแปรรูป อยู่เสมอนั้น หมายความว่า ความไม่เที่ยงนั้น แปรรูปอยู่เสมอ จากความไม่เที่ยงอย่างนี้ไปสู่ความไม่เที่ยงอย่างอื่นเรื่อยไปไม่มีหยุด ฉะนั้น สิ่งที่มีการแปรไปในรูปที่เผอิญไปตรงกันเข้ากับความต้องการของบุคคลนั้น ๆ เขาจึงเห็นเป็นความดีงาม ความสุข หรือแม้แต่เป็นความยุติธรรมเป็นต้น ; แล้วก็ยึดถือเอาความไม่เที่ยงนั้นว่า เป็นสิ่งที่น่ายึดถือจนกระทั่งมันเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น ถึงกับเขาต้องนั่งลงร้องไห้อีกครั้งหนึ่ง. ความสุขหรือความทุกข์ การหัวเราะหรือร้องไห้ การฟูขึ้นหรือการแฟบลง และอื่น ๆ ซึ่งเป็นคู่กันทำนองนี้ จึงมีอยู่เป็นเครื่องหลอกลวงสัตว์ทั้งหลายไม่มีที่สิ้นสุด.ในรอบหนึ่ง ๆ หรือคู่หนึ่ง ๆ ย่อมมีอายุขัยอันจำกัดของมันเอง มันเปลี่ยนแปลงไปในวงจำกัดของมันเอง จนสิ้นอายุขัยวงหนึ่งหรือรอบหนึ่งของมัน แล้วก็แปรไปสู่วงอื่น หรือรอบอื่นในลักษณะอื่นต่อไปอีก อย่างไม่มีที่สิ้นสุด. นี้เรียกว่าความไม่เที่ยงของความไม่เที่ยง หรือความไม่เที่ยงซ้อนความไม่เที่ยง ซึ่งมีอยู่เป็นรูปหรือเป็นรอบ ๆ เป็นวง ๆ แปรผันไปไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งเรียกว่า วิปริณามธรรมในที่นี้. ความไม่เที่ยงก็ดี ความเป็นทุกข์ก็ดี ความเป็นอนัตตาก็ดี สันตาปธรรม คือความเผาผลาญก็ดี และวิปริณามธรรม คือความแปรรูปอยู่เสมอก็ดี เรียกว่าโทษของสังขารธรรม และมีอยู่เต็มอัดไปหมดในสังขารธรรมทั้งหลาย. ผู้ปฏิบัติจะต้องเพ่งที่สังขารธรรมนั้น ๆ จนกระทั่ง เห็นโทษ เหล่านี้ โดยประจักษ์ชัดถึงขนาดที่เรียกว่า อาทีนวานุปัสสนาญาณจิรง ๆ แล้วเท่านั้น จึงจะเกิดความจางคลายจากความกำหนัดในสิ่งเหล่านั้น แล้วน้อมมาพอใจต่อความดับสนิท หรือความไม่มีอยู่ของสิ่งเหล่านั้นได้จริง ๆ เมื่อพอใจในความดับแล้วการทำความดับหรือทำสิ่งเหล่านั้นให้มีค่าเท่ากับไม่มี ก็เป็นสิ่งที่ทำได้โดยง่าย.

การทำความดับนั้น จะต้องทราบเสียก่อนว่าสิ่งนั้น ๆ จะดับไปด้วยอำนาจอะไร ซึ่งโดยหลักใหญ่แล้ว สิ่งนั้น ๆ ย่อมดับไปด้วยอำนาจการดับของเหตุปัจจัย ซึ่งปรุงแต่งสิ่งเหล่านั้น และด้วยอำนาจการเกิดขึ้นของสิ่งตรงกันข้าม. สิ่งที่เรียกว่าเหตุปัจจัยนั้น แยกออกได้เป็น ๖ อย่างคือ :-

๑. เรียกว่านิทาน มีความหมายว่า เป็นแดนมอบให้ซึ่งผล คือเป็นที่ให้เกิดผลเป็นสิ่งนั้น ๆ ขึ้นมา เหมือนกับต้นไม้เป็นที่เกิดแห่งผลไม้ ; ถ้าต้นไม้ไม่มีผลไม้จะมีได้อย่างไร. ฉะนั้น การดับของต้นไม้ จึงเป็นการดับผลไม้พร้อมกันไปในตัว. นี้อีกอย่างหนึ่งซึ่งแสดงว่า ถ้าจะดับสิ่งใดจะต้องสืบหาแดนอันเป็นที่มาของสิ่งนั้น เพื่อทำการดับที่ต้นตอของสิ่งนั้น.

๒. เรียกว่าสมุทัย แปลว่า แดนเป็นที่ตั้งขึ้นพร้อม. ข้อนี้หมายถึงสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งอาศัยของสิ่งอื่น เพื่อความมีอยู่ได้ หรือตั้งอยู่ได้ ของสิ่งนั้น เช่นแผ่นดินเป็นที่ตั้งที่อาศัยของต้นไม้ ซึ่งใคร ๆ ย่อมเห็นได้ทุกคน ว่าต้นไม้ทุกต้น หรือบรรดาสิ่งอื่นทุกสิ่งที่อาศัยแผ่นดินล้วนแต่งอกขึ้นหรือตั้งขึ้นบนแผ่นดินทั้งนั้น ถ้าแผ่นดินสลายลงหรือดับลงไป ต้นไม้จะตั้งอยู่ได้อย่างไร ย่อมจะต้อง
สลายหรือดับไป ตามอาการซึ่งเป็นที่ตั้งที่อาศัย อย่างนี้เรียกว่าเป็นสมุทัย ; ต่างกับอาการในข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นแดนมอบให้ซึ่งผล ซึ่งผู้ศึกษาจะต้องสังเกตให้เห็นความแตกต่างกันให้ชัดแจ้ง.

๓. เรียกว่าชาติ แปลว่า ความเกิดหรือการเกิด ถ้าเป็นต้นไม้ย่อมหมายถึงการงอก ถ้ามีแผ่นดิน มีเมล็ดพืชหรือมีเหตุปัจจัยอื่นก็ตาม แต่ถ้าไม่มีการงอกหรือการงอกงามแล้ว ต้นไม้ก็มีขึ้นไม่ได้ ฉะนั้นการเกิด หรือการงอกจึงเป็นตัวการสำคัญอันหนึ่งด้วยเหมือนกัน ในการที่จะทำให้อะไร ๆ เกิดมีขึ้นมา.เราอาจจะทำลายต้นไม้ต้นหนึ่งได้ โดยไม่ต้องทำลายแผ่นดิน ทำลายอาหารของมันหรือทำลายสิ่งอื่น ๆ แต่ทำลายที่ความงอกของมัน เช่นทำลายชีวิตในเมล็ดพืชนั้น ๆ เสีย หรือตัวหนทางที่มันจะงอกงามได้โดยทางใดทางหนึ่งเสีย ดังนี้เรียกว่าทำลายที่ชาติของมัน.

๔. เรียกว่าอาหาร หมายถึง สิ่งที่นำมาซึ่งความเจริญเติบโต หรือนำ มาซึ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งหมายถึงความเจริญงอกงามอีกนั่นเอง.ตัวอย่างเช่นต้นไม้จะต้องอาศัยอาหาร โดยเฉพาะแร่ธาตุต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ในดินที่ใช้เป็นอาหารได้ มันจึงจะอยู่ได้ ไม่ใช่ว่าเพียงแต่มีแผ่นดินเป็นที่ตั้งอาศัยให้งอกแล้วมันจะเจริญงอกงามไปได้ ถ้าสมมติว่าในดินนั้นไม่มีอาหารเลย ต้นไม้นั้นก็จะต้องตายอยู่ดี. นี้เราจะเห็นได้ ว่าสิ่งที่เรียกว่าอาหารก็เป็นตัวการที่สำคัญอันหนึ่งของความมีอยู่ของสิ่งทั้งปวง.

๕. เรียกว่าเหตุ อันนี้หมายถึง ต้นเหตุโดยตรงของสิ่งนั้น ยกตัวอย่างเกี่ยวกับต้นไม้อีกตามเคย. สิ่งที่เรียกว่าเหตุนั้นได้แก่เจตนาของคนใดคนหนึ่งก็ตาม ที่ตั้งใจจะปลูกต้นไม้นั้น ด้วยการเอาเมล็ดมาฝังดินเป็นต้น หรือที่สัตว์นำไปกินแล้วถ่ายโดยไม่มีเจตนาปลูกก็ตาม หรือแม้ที่ลมหรือน้ำพัดพาไป หรือทำให้หล่นลงมาจากต้นก็ตามเหล่านี้เรียกว่า เป็นเหตุโดยตรงของความเกิดขึ้นแห่งต้นไม้นั้น. ถ้าเหตุเหล่านี้ไม่มี แม้สิ่งอื่น ๆ จะมี ต้นไม้นั้นก็ไม่มีโอกาสจะงอกขึ้นมา.

๖. เรียกว่าปัจจัย หมายถึง สิ่งที่ช่วยเหลือในฐานะเป็นเครื่องอุปกรณ์ที่ตรงตามความต้องการของสิ่งนั้น ๆ. ในตัวอย่างที่เกี่ยวกับต้นไม้ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ย่อมหมายถึงการได้รับการพรวนดินดี ได้รับแสงแดด ได้รับการคุ้มครองให้คลาดแคล้วจากอันตรายที่จะมี เช่นสัตว์ที่มากัดกินหรือเจาะไชเป็นต้น ได้เป็นอย่างดีแล้ว ก็เรียกว่าได้ปัจจัยดี มีความเจริญงอกงามได้เป็นลำดับ ๆ ไป. ถ้าไม่ได้รับปัจจัยในทำนองนี้เพียงพอ มันก็จะไม่งอกหรืองอกขึ้นมาอย่างแกน ๆ แล้วก็เป็นอันตรายไปโดยไม่มีการเจริญเติบโตต่อไปได้.ผู้ปฏิบัติจะต้องศึกษาให้ทราบความแตกต่าง ระหว่างความหมายของคำทั้งหมดนี้ให้เป็นอย่างดี คือคำว่า นิทาน สมุทัย ชาติ อาหาร เหตุ และปัจจัยโดยนัยที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ด้วยการทำต้นไม้ให้เป็นอุปมา ว่าจะต้องประกอบด้วยสิ่งทั้งหกเหล่านี้อย่างไร มันจึงจะเกิดขึ้น หรือตั้งอยู่ได้ แล้วนำไปเปรียบเทียบกันดูกับคนเรา หรือ กลุ่มแห่งขันธ์ทั้งห้า อันเป็นที่ตั้งแห่งอายตนะทั้งหก และอาการ ๑๒ แห่งปฏิจจสมุปบาท จนกระทั่งรู้ว่าจะดับนิทาน ดับสมุทัย ดับชาติดับอาหาร ดับเหตุ และ ดับปัจจัยของมัน ได้อย่างไร. ทั้งหมดนี้ ทำให้มันดับไปด้วยการตัดต้นเหตุต่าง ๆ ของมัน.

ส่วนที่ ดับไปด้วยอำนาจของการเกิดขึ้นของสิ่งที่ตรงกันข้ามจากมัน นั้น เล็งถึงสิ่ง ๒ อย่าง คือ :-

๑. การเกิดขึ้นของสิ่งที่เรียกว่า ญาณ ได้แก่ความรู้ซึ่งเป็นของตรงกันข้ามต่ออวิชชา. เมื่อญาณเกิดขึ้น อวิชชาก็ดับไปในตัวเอง. นามรูป กล่าวคือสังขารทั้งปวง ที่มีมูลมาจากอวิชชาก็ย่อมดับไปก็ตาม ; นี้ก็เรียกว่าดับไปเพราะการเกิดขึ้นของญาณ. เช่นคนดับไปเพราะความรู้เกิดขึ้นว่า คนไม่มี มีแต่ขันธ์ธาตุอายตนะเป็นต้น. สำหรับในกรณีที่มีอุปมาด้วยต้นไม้ข้างต้นนั้น ก็อาจจะกล่าวได้ว่าผู้ที่จะทำลายต้นไม้ได้ ก็ต้องมีความรู้ที่ถูกต้อง ในการที่จะทำลายมัน ซึ่งเป็นเหตุให้กล่าวได้ว่า ทำลายมันลงได้ด้วยความรู้ ซึ่งจะเป็นความรู้ในการตัดนิทานหรือดับสมุทัยหรืออะไร ๆ ก็ตาม ที่เกี่ยวกับต้นไม้นั้น. หรือถ้าจะกล่าวโดยโวหารธรรมะก็ยังกล่าวได้ว่าต้นไม้ไม่มี หรือดับไปเพราะญาณหรือความรู้ที่ถูกต้อง ว่าคำว่าต้นไม้นั้นเป็นเพียงคำเรียกสมมติ ต้นไม้จริง ๆไม่มี มีแต่ธาตุต่าง ๆ ที่ประชุมกันอยู่กลุ่มหนึ่ง ด้วยกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ดังที่กล่าวแล้วข้างต้นเท่านั้นเอง ดังนี้ ความรู้สึกว่าต้นไม้ก็ดับไป. แม้โดยปริยายนี้ ก็เป็นอันกล่าวได้ว่าดับไปเพราะอำนาจแห่งความเกิดขึ้นของญาณหรือวิชชา ซึ่งเป็นของตรงกันข้ามจากอวิชชาอีกนั่นเอง.

๒. ได้แก่การปรากฏขึ้นของอาการแห่งความดับสนิท หรือของธรรมอันเป็นที่ดับของสิ่งนั้น ๆ. สิ่งนี้ตรงกันข้ามกับความเกิด เพราะสิ่งนี้ตรงกันข้ามกับ นิทาน สมุทัย ชาติ อาหาร เหตุ ปัจจัย. เมื่อสิ่งนี้มีเข้ามา สิ่งที่ตรงกันข้ามก็ต้องดับ. กล่าวโดยตรง สิ่งนี้ได้แก่ผลของข้อปฏิบัติที่ถูกต้องถึงที่สุด จนเป็นอริยมรรคดับกิเลสและสังโยชน์ได้ ; โดยใจความคือ ดับอวิชชาได้อีกนั่นเอง ;เป็นแต่เล็งถึงตัวธรรม ที่มีอำ นาจในการทำ ความดับ หรือการตัด หรือการล้างหรือการเพิกถอน หรือการแผดเผาก็ตาม ซึ่งแล้วแต่จะสมมติเรียก แต่มันเป็นภาวะของธรรม ที่ทำการดับอวิชชาหรือกิเลสตัณหานั้น ๆ. ถ้าธรรมนี้ปรากฏออกมาให้เห็นแล้ว ย่อมหมายความว่ามีการดับไปแล้ว แห่งสิ่งตรงกันข้ามก่อนหน้านั้นเพราะว่ามีสิ่งซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งนั้นเหลือปรากฏอยู่. สำหรับในกรณีที่ถือเอาต้นไม้เป็นอุปมานั้น ก็กล่าวได้อีกว่า บัดนี้ตรงที่ที่ต้นไม้เคยอยู่นั้นเหลืออยู่แต่ขี้เถ้าปรากฏอยู่ ดังนี้เป็นต้น ซึ่งย่อมเป็นการแสดงว่าได้มีการเผาผลาญเกิดขึ้นแล้ว จะโดยน้ำมือของมนุษย์หรืออำนาจของธรรมชาติ เช่นฟ้าผ่าเป็นต้นก็ตาม สิ่งที่ตรงกันข้ามคือสิ่งที่เป็นที่ดับของต้นไม้นั้นได้ปรากฏแล้ว ความดับของต้นไม้นั้นจึงมี นี้เรียกว่าดับไปเพราะการปรากฏของธรรมเป็นแดนที่ดับสนิทของสิ่งนั้น.

การบังเกิดขึ้นของญาณก็ดี หรือการปรากฏขึ้นของธรรมเป็นที่ดับสนิทก็ดี นี้รวมเรียกว่าสิ่งนั้น ๆ ดับไป เพราะการมีมาของสิ่งที่ตรงกันข้าม ซึ่งเราจำแนกได้ เป็น ๒ อย่างและเมื่อนำเอาการตัดต้นตอ หรือตัดสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ รวม ๖ อย่าง ดังทีกล่าวมาแล้วข้างต้น มารวมกันเข้าก็เป็น ๘ อย่าง ซึ่งทำให้กล่าวได้ว่า สังขารธรรมนั้น ๆ ดับไปด้วยอาการ ๘ อย่างเหล่านี้. ผู้ปฏิบัติอานาปานสติขั้นนี้ จะได้นามว่านิโรธานุปัสสี คือผู้ตามเห็นอยู่ซึ่งความดับอยู่เป็นประจำ ก็โดยการกระทำตนเป็นผู้กำหนดสังขารธรรมเหล่านั้นอยู่โดยประจักษ์ชัด ด้วยการเพ่งเห็นโทษ ๕ ประการแห่งสังขารธรรมดังที่กล่าวแล้วข้างต้นอยู่อย่างรุนแรง จนถึงขนาดเกิดความพอใจในความไม่มีอยู่ของสังขารธรรมเหล่านี้ กล่าวคือดับสังขารเหล่านี้เสียแล้วโทษเหล่านั้นก็จะได้ดับไปตาม. เธอเพ่งพิจารณาอยู่ซึ่งความดับของสังขารธรรมเหล่านี้โดยเห็นว่ามันดับไปด้วยอาการ ๘ อย่าง ดังที่กล่าวแล้วอยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออกก็จะได้ชื่อว่านิโรธานุปัสสี ซึ่งมีใจความสำคัญอยู่ว่า แม้จะเพ่งดูความดับอยู่เป็นส่วนใหญ่ก็ตาม แต่ลักษณะแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ยังคงปรากฏอยู่เป็นพื้นฐานแห่งการน้อมจิตไปสู่ความดับอยู่นั่นเอง.เกี่ยวกับสิ่งที่จะหยิบเอามาเป็นอารมณ์ สำหรับการตามเห็นซึ่งความดับนั้น จะถือเอาตามแบบฉบับดังที่กล่าวไว้ว่าได้แก่ขันธ์ห้า อายตนะภายในหกและอาการแห่งปฏิจจสมุปบาทสิบสอง ดังนี้ก็ได้ แต่เป็นภูมิของนักปฏิบัติที่ผ่านการศึกษาทางปริยัติมาแล้วอย่างเพียงพอเท่านั้น ; ส่วนผู้ที่ยึดมั่นในแนวของอานาปานสติ ย่อมยึดเอาสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในการทำอานาปานสติ เช่นตัวลมหายใจนั่นเอง หรือตัวเวทนา อันได้แก่ปีติและสุข ซึ่งเป็นองค์ฌานก็ตาม หรือแม้แต่จิตซึ่งกำลังผันแปรอยู่ในลักษณะต่าง ๆ ในขณะนั้นก็ตาม มาเป็นอารมณ์สำหรับเพ่งให้เห็นความดับโดยนัยดังที่ล่าวแล้วอยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออก ก็ย่อมได้ชื่อว่า นโรธานุปัสสี อย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน. เมื่อทำอยู่ดังนี้ สิกขาทั้งสามมีสีลสิกขาเป็นต้น ย่อมสมบูรณ์แก่เธอ การกระทำนั้น ๆ ชื่อว่า ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานภาวนา เป็นภาวนาที่สามารถสโมธาน ซึ่งธรรมทั้งหลาย ๒๙ ประการ ในอัตราที่สูงยิ่งขึ้นไปอีก ดังนี้. วินิจฉัยในอานาปานสติขั้นที่สิบห้าสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ ต่อแต่นี้จะได้วินิจฉัยในอานาปานสติขั้นที่สิบหกสืบไป.

https://sites.google.com/site/smartdhamma/part19_anapanasati_buddhadhas

. . . . . . .