ท่านพุทธทาสภิกขุ–“พระ” ที่ตรงตามตัวหนังสือ

การถือพุทธศาสนา ที่มุ่งตรงแต่ตามตัวหนังสือ กับ การถือที่มุ่งจะเอาแต่ใจความนั้น
ย่อมทำให้เกิดผลแตกแยกตรงกันข้าม เป็นสองฝ่าย เกิดบุคคล เป็นสองพวก และ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือ เกิดพุทธศาสนา เป็นสองชนิดนั่นเอง และ ผลที่ตามมาก็คือ
ความปั่นป่วน.

พวกที่ถือ ตรงตามตัวหนังสือ นั้น ครั้นความต้องการของตน เกิดขัดกันขึ้น
กับความหมายเดิม ก็ถือเลิศเอาแง่ตามตัวหนังสือนั่นเอง เป็นข้อแก้ตัว ในส่วนวินัย
เช่น ห้ามรับเงิน ก็มีเงินได้เป็นจำนวนมาก โดยแก้ตัวว่า วินัยห้ามรับเงิน เท่านั้น
หรือ การห้ามนั่งบนเบาะสำลี แต่ก็นั่งบน เบาะนวม มีสปริง เป็นต้นได้ เพราะ
วินัย มิได้ห้ามไว้ เตียงเหล็กมีเท้าสูง เอาแผ่นกระดาน มาตีปะ ให้ดูปกลงมาเป็น
แม่แคร่จนเท้าเหลือนิดเดียว เตียงตัวนั้นเองก็กลายเป็นเตียงที่ใช้ได้ไม่ผิดวินัยไป
ดังนี้เป็นต้น การมีเงินได้โดยไม่ต้องมีการรับเงิน เช่นนี้ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้
เห็นว่า เกิดมาจากการแกล้งถือตามตัวหนังสือ ถ้าจะมองดู แม้ในพวกที่หวังดี
โดยบริสุทธิ์ใจ ก็ยังมีอาการอย่างอื่นๆ เช่น ที่เรียกกันเป็นเชิงล้อว่า
“เถรส่องบาตร” เป็นต้น เป็นตัวอย่าง แห่งการถือตรงตามตัวหนังสือ
อยู่มากเหมือนกัน ในเมืองไทย ฤดูฝนไม่ตรงกับเดือนฤดูฝนในอินเดียภาคกลาง
แต่เมืองไทย ก็ต้องถือระยะกาลจำพรรษาอย่างของอินเดีย จนปรากฏว่าใน
บางส่วนของประเทศไทย ฝนเพิ่งจะตก เมื่อพระออกพรรษา แล้วก็มี นี่ก็ดู
ไม่แพ้ อาการของตาเถรที่ส่องบาตร ในส่วนธรรมก็ไม่แพ้ในเรื่องของวินัย
มีผู้เข้าใจความหมายของคำว่า สัพพัญญู เป็นพระพุทธองค์ ทรงรู้อะไร
ไปหมดทุกอย่าง รู้ภาษาทุกภาษาในโลก รู้วิชาทุกอย่างที่โลกมี ทั้งในอดีต
ปัจจุบัน และแถมอนาคต กระทั่ง เวลาที่พระองค์หลับ ทั้งนี้ เพราะคำว่า
สัพพัญญู แปลว่า ผู้รู้สิ่งทั้งปวง พระองค์ ทรงรู้จัก ถิ่นฐานในโลก ทุกแง่
ทุกมุม เพราะพระองค์ เป็นโลกวิทู ดังนี้ก็มี ครั้นใครสักคนหนึ่ง แย้งว่า
พระองค์ไม่เคยเสด็จ ไปอเมริกา เพราะอเมริกา ยังไม่เกิด การเถียงกัน
อย่างคอเป็นเอ็น ก็เกิดขึ้นว่า ทรงทราบด้วย อนาคตญาณ

อ่านเพิ่มเติม

ท่านพุทธทาสภิกขุ–บุญ กับ กุศล

เมื่อใดมีการพิจารณากันให้ละเอียดถี่ถ้วน เมื่อนั้นจะพบความแตกต่างระหว่าง
สิ่งที่เรียกกันว่า “บุญ” กับ สิ่งที่เรียกว่า “กุศล” บ้างไม่มากก็น้อย
แล้วแต่ความสามารถ ในการพินิจพิจารณา แต่ว่า โดยเนื้อแท้แล้ว
บุญ กับ กุศล ควรจะเป็น คนละอย่าง หรือ เรียกได้ว่า ตรงกันข้าม
ตามความหมาย ของรูปศัพท์ แห่งคำสองคำ นี้ทีเดียว

คำว่า บุญ มีความหมายว่า ทำให้ฟู หรือ พองขึ้น บวมขึ้น นูนขึ้น,
ส่วนคำว่า กุศล นั้น แปลว่า แผ้วถาง ให้ราบเตียนไป โดยความหมาย
เช่นนี้ เราย่อมเห็นได้ว่า เป็นของคนละอย่างหรือเดินคนละทาง

บุญ เป็นสิ่งที่ทำให้ฟูใจพอใจชอบใจ เช่น ทำบุญให้ทานหรือรักษาศีลก็ตาม
แล้วก็ฟูใจ อิ่มเอิบ หรือ แม้ที่สุดแต่รู้สึกว่า ตัวได้ทำสิ่งที่ทำยาก ในกรณีที่
ทำบุญเอาหน้า เอาเกียรติ อย่างนี้ ก็ได้ชื่อว่า ได้บุญ เหมือนกัน แม้จะ
เป็น บุญชนิดที่ไม่สู้จะแพ้ หรือแม้ในกรณีที่ทำบุญด้วยความบริสุทธิ์ใจ
เพื่อเอาบุญกันจริงๆ ก็ยังอดฟูใจไม่ได้ว่า ตนจะได้เกิดในสุคติโลกสวรรค์
มีความปรารถนาอย่างนั้น อย่างนี้ ในภพนั้น ภพนี้ อันเป็น ภวตัณหา นำไปสู่
การเกิดในภพใหม่ เพื่อเป็น อย่างนั้น อย่างนี้ ตามแต่ ตนจะปรารถนา ไม่ออก
ไปจาก การเวียนว่ายตายเกิด ในวัฎสงสาร ได้ แม้จะไปเกิดในโลกที่เป็นสุคติ
อย่างไรก็ตาม ฉะนั้น ความหมายของคำว่า บุญ จึงหมายถึง สิ่งที่ทำให้ฟูใจ
และ เวียนไปเพื่อความเกิดอีก ไม่มีวันที่สิ้นสุดลงได้

อ่านเพิ่มเติม

ท่านพุทธทาสภิกขุ–ทางเดินของชีวิต

ชีวิตคนเรานั้น แท้จริงคือ การเดินทางชนิดหนึ่ง
ซึ่งเดินจากความเต็มไปด้วยความทุกข์ ไปยัง ที่สุดจบสิ้นของความทุกข์
ที่ตนเคยผ่านมาแล้วนั่นเอง ไม่รู้ว่า ผู้นั้นจะทราบหรือไม่ทราบ รู้สึกหรือไม่รู้สึก
ชีวิตก็ยังคงเป็น การเดินทาง เรื่อยอยู่นั่นเอง เมื่อเดินไป ทั้งไม่ทราบ ก็ย่อมมี
ความระหกระเหิน บอบช้ำเป็นธรรมดา

การเดินทางของชีวิตนี้ มิใช่เป็น การเดินทางด้วยเท้า
ทางของชีวิต จึงมิใช่ ทางที่จะเดินได้ด้วยเท้า อีกเช่นเดียวกัน

บัณฑิตทั้งหลายในกาลก่อน ได้พากันสนใจใน “ทางชีวิต” กันมากเป็นพิเศษ
ในฐานะที่เป็นทางของจิต อันจะวิวัฒน์ไปในทางสูง
ซึ่งจะไปได้สูงกว่าทางวัตถุหรือทางกาย อย่างที่จะเทียบกันไม่ได้เลย

สิ่งที่เรียกกันว่า ทางๆ นั้น แม้จะมีสายเดียว ก็จริง ตามธรรมดา ต้องประกอบ
อยู่ด้วย องค์คุณหลายประการเสมอ ทางเดินเท้าทางไกลแรมเดือนสายหนึ่ง
จะต้องประกอบด้วย สะพาน ร่มเงา ที่พักอาศัยระหว่างทาง การอารักขา
คุ้มครองในระหว่างทาง การหาอาหารได้เสมอไปในระหว่างทาง ฯลฯ
ดังนี้เป็นต้น ฉันใด ทางชีวิตแม้จะสายเดียวดิ่งไปสู่ความพ้นทุกข์ก็จริง แต่
ก็ต้องประกอบไปด้วย องค์คุณหลายประการ ฉันนั้น

ศาสนา เป็นองค์คุณอันสำคัญ โดยช่วยให้ชีวิตนี้ มีความสดชื่น เยือกเย็น
พอที่จะเป็นอยู่ ไม่ร้อนเป็นไฟ เช่นเดียวกับน้ำ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงพฤกษาชาติ
ให้สดชื่น งอกงาม ตลอดเวลา ฉันใดฉันนั้น

อ่านเพิ่มเติม

ท่านพุทธทาสภิกขุ–อานาปานสติ (สำหรับคนทั่วไป อย่างง่าย ขั้นต้นๆ เพื่อรู้จักไว้ทีก่อน)

ในกรณีปรกติ ให้นั่งตัวตรง (ข้อกระดูกสันหลัง จดกันสนิท เต็มหน้าตัด ของมันทุกๆ ข้อ) ศีรษะตั้งตรง ตามองไปที่ปลายจมูกให้อย่างยิ่ง จนไม่เห็นสิ่งอื่น จะเห็นอะไรหรือไม่เห็น ก็ตามใจ ขอให้จ้องมองเท่านั้น พอชินเข้า ก็จะได้ผลดีกว่าหลับตา และไม่ชวนให้ง่วงนอน ได้ง่ายด้วย โดยเฉพาะ คนขึ้ง่วง ให้ทำอย่าง ลืมตานี้ แทนหลับตา ทำไปเรื่อยๆ ตามันจะหลับ ของมันเอง ในเมื่อถึงขั้นที่ มันจะต้องหลับตา หรือจะหัดทำ อย่างหลับตาเสีย ตั้งแต่ต้น ก็ตามใจ แต่วิธีที่ลืมตานั้น จะมีผลดีกว่า หลายอย่าง แต่ว่า สำหรับบางคน รู้สึกว่าทำยาก โดยเฉพาะ พวกที่ยึดถือ ในการหลับตา ย่อมไม่สามารถ ทำอย่างลืมตา ได้เลย มือปล่อยวาง ไว้บนตัก ซ้อนกัน ตามสบาย ขาขัด หรือ ซ้อนกัน โดยวิธีที่จะ ช่วยยัน น้ำหนักตัว ให้นั่งได้ถนัด และล้มยาก ขาขัด อย่างซ้อนกัน ธรรมดา หรือ จะขัดไขว้กัน นั่นแล้วแต่ จะชอบ หรือ ทำได้ คนอ้วนจะขัดขา ไขว้กันอย่างที่ เรียกขัดสมาธิเพชร นั้น ทำได้ยาก และ ไม่จำเป็น แต่ขอให้นั่งคู้ขามา เพื่อรับน้ำหนักตัว ให้สมดุลย์ ล้มยากก็พอแล้ว ขัดสมาธิ อย่างเอาจริง เอาจัง ยากๆ แบบต่างๆ นั้น ไว้สำหรับ เมื่อจะเอาจริง อย่างโยคี เถิด

ในกรณีพิเศษ สำหรับคนป่วย คนไม่ค่อยสบาย หรือ แม้แต่ คนเหนื่อย จะนั่งอิง หรือ นั่งเก้าอี้ หรือ เก้าอี้ผ้าใบ สำหรับเอนทอด เล็กน้อย หรือ นอนเลย สำหรับคนเจ็บไข้ ก็ทำได้ ทำในที่ ไม่อับอากาศ หายใจได้สบาย ไม่มีอะไรกวน จนเกินไป เสียงอึกทึก ที่ดังสม่ำเสมอ และ ไม่มีความหมาย อะไร เช่น เสียงคลื่น เสียงโรงงาน เหล่านี้ ไม่เป็นอุปสรรค (เว้นแต่ จะไป ยึดถือเอาว่า เป็นอุปสรรค เสียเอง) เสียงที่มี ความหมายต่างๆ (เช่น เสียงคนพูดกัน) นั้นเป็นอุปสรรค แก่ผู้หัดทำ ถ้าหาที่เงียบเสียง ไม่ได้ ก็ให้ถือว่า ไม่มีเสียงอะไร ตั้งใจทำไป ก็แล้วกัน มันจะค่อยได้เอง

อ่านเพิ่มเติม

ท่านพุทธทาสภิกขุ–หลักอนันตากับการอบรมประชาชน

เมื่อเอ่ยถึง คำว่า “อนัตตา” นักธรรม ย่อมคุย ได้ว่า มีแต่ใน พุทธศาสนา เท่านั้น
หามีในศาสนาอื่นๆ ไม่ แท้จริง ก็เป็นเช่นนั้น แต่ทำไม เราจึงไม่เอาธรรมะ ข้อนี้
มาเป็นหลัก สั่งสอน ประชาชน โดยตรง ให้สมกับว่า พุทธบริษัท มีธรรมชิ้นเอก
อยู่อย่างหนึ่งนี้ ?

หลักอนัตตา แบ่งออกได้ ทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายโลกิยะ และ โลกุตตระ
ฝ่าย โลกุตตระ จักยกไว้ เพราะ ไม่เกี่ยวกับ ประชาชน พลเมืองส่วนมาก ซึ่งยังต้อง
หมกอยู่ใน วิสัยโลก เป็นของสำหรับบรรพชิต ผู้บำเพ็ญ ชั้นสูง ส่วนที่เป็นชั้นโลกิยะ
นั้นแหละ ข้าพเจ้า เชื่อว่า เหมาะแก่ การอบรมฆราวาส ทุกชั้น ตั้งแต่ เด็ก จนแก่
และได้ผลดีกว่าหลักธรรมอื่น เพราะเป็น แก่นพุทธศาสนาที่แท้จริง ซึ่งพระพุทธเจ้า
ผู้เป็น ยอดนักปราชญ์ ได้บัญญัติขึ้น แปลกจาก ศาสนาทั้งปวง สำหรับโวหาร อย่าง
โลกิยะ หลักอนัตตา ถอดใจความได้ว่า “ไม่เห็นแก่ตน”

ผู้สอน จงสอนว่า “อย่าเห็นแก่ตน” เพียงวลีเดียวเท่านั้น และตนเองก็ทำตัวอย่าง
การไม่เห็นแก่ตน ให้เขาดูอย่างจริงจังด้วย จะได้ผลดีเกินคาด มากกว่าที่จะสอน
ด้วยหลักธรรม อย่างอื่น อันเป็นฝอย หรือ กิ่งก้าน ของ หลักอนัตตานี้

อ่านเพิ่มเติม

ท่านพุทธทาสภิกขุ–ศรัทธาความเชื่ออย่างพุทธมามกะ

ฉันปฏิญาณว่า ฉันมีความเชื่ออย่างพุทธมามกะ ซึ่งอาจจะแตกต่าง
จากความเชื่อของชนเหล่าอื่น

ความเชื่อของพุทธมามกะ นั้นคือ

๑) พุทธมามกะ เชื่อโดยตรงต่อเหตุผล
และด้วยความเป็นผู้อยู่ในอำนาจแห่งเหตุผล ข้อนี้ย่อมทำให้ความเชื่อของฉัน
มี พอเหมาะพอสม ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป และเคียงคู่กันไปกับปัญญา
พุทธมามกะ ถือกันเป็นแบบฉบับว่า การเชื่องมงาย เป็นสิ่งที่ น่าอับอายอย่างยิ่ง
พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นจุดรวมแห่งความนับถือ ของพุทธมามกะนั้น เป็นผู้ที่รู้
และดำเนินไป ตามหลักแห่งการใช้เหตุผล จึงเป็นผู้กำจัดความงมงายของโลก

๒) พุทธมามกะ เชื่อว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ได้บ่มพระองค์เอง มาเป็นเวลาเพียงพอ
จนสามารถลุถึงด้วยพระองค์เอง และทรงชี้ทางให้มนุษย์ มีความสะอาด ความสว่าง
และความสงบเย็น ได้จริง

เมื่อได้ พิจารณาดูประวัติแห่งคำสอน และการกระทำของพระองค์แล้ว คนทุกคน
แม้กระทั่งผู้ที่ไม่นับถือพระองค์ ก็ย่อมเห็นได้ทันทีว่า พระองค์เป็นผู้ที่สมบูรณ์
ด้วยความสะอาด ความสว่าง และความสงบถึงที่สุด จนสามารถสอนผู้อื่นในเรื่องนี้
ธรรมะ ที่พระองค์ได้ทรงบรรลุนั่นเอง ทำพระองค์ให้ได้นามว่า พระพุทธเจ้า

๓) พุทธมามกะ เชื่อว่า พระธรรม ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบรรลุ และนำมาสอนนั้น
คือความจริงอันตายตัวของสิ่งทั้งปวง อันมีอำนาจที่จะบันดาลสิ่งทั้งปวงให้เป็นไป
ตามกฏนั้น และโดยเฉพาะที่มีค่าต่อมนุษย์มากที่สุด ก็คือ กฏความจริง ที่รู้แล้ว
สามารถทำผู้นั้น ให้ปฏิบัติถูกในสิ่งทั้งปวง และ พ้นทุกข์สิ้นเชิง พระธรรมนี้มีอยู่
สำหรับให้ มนุษย์เรียนรู้ และทำตาม จนได้รับผลจากการกระทำ เป็น
ความพ้นทุกข์สิ้นเชิง ทั้งทางกาย และ ทางใจ

อ่านเพิ่มเติม

ท่านพุทธทาสภิกขุ–ฤทธิ์-ปาฎิหาริย์

เรื่องของฤทธิ์ หรือ ปาฎิหาริย์ นับว่าเป็นเรื่องหนึ่ง ที่ยังมัวอยู่มาก
ในบรรดา เรื่องที่ยังมัวอยู่ หลายเรื่อง ด้วยกัน และดูเหมือน จะเป็นเพราะ
ความที่มันเป็น เรื่องมัว นี่เอง ที่เป็นเหตุ ให้มีผู้สนใจ ในเรื่องนี้ อยู่เรื่อยๆ
มาเป็นลำดับอย่างไม่ขาดสาย และมากกว่า ที่ถ้ามันจะเป็น เรื่องที่กระจ่าง
เสียว่า มันเป็นเรื่อง อะไรกันแน่

หมายความว่า ถ้าเราทราบดีว่า ฤทธิ์ คืออะไร
และเป็นเรื่อง เหมาะสำหรับใคร โดยเฉพาะแล้ว
เชื่อว่า จะทำให้มีผู้สนใจเรื่องนี้ น้อยเข้า เป็นอันมาก

ท่านผู้ที่แสดงฤทธิ์ได้ ไม่เคยปรากฏว่า ได้รับผล อัน”เด็ดขาดแท้จริง” อย่างไร
จากฤทธิ์นั้น ทั้งทางวัตถุ และความสุขในส่วนใจ

ฤทธิ์ เป็นเรื่องจริง สำหรับผู้ที่ไม่ทราบว่า ฤทธิ์ คืออะไร
และ ตนเป็นผู้ที่ ตกอยู่ใน ภูมิแห่งใจที่ต่ำ
จนผู้มีฤทธิ์ จะออกอำนาจฤทธิ์ บังคับ เมื่อไรก็ได้

อ่านเพิ่มเติม

ท่านพุทธทาสภิกขุ–อาหารของดวงใจ

ความอิ่มเอิบ ด้วยอารมณ์ ทางรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั้น เป็นอาหารของฝ่ายโลก
ความอิ่มเอิบด้วยปีติและปราโมชอันเกิดจากความที่ใจสงบจากอารมณ์เป็นอาหารของฝ่ายธรรม.
อุดมคติของชีวิต คือ ความถึงที่สุด แห่งอารยธรรมทั้งฝ่ายโลก และฝ่ายธรรม
เพราะฉะนั้น ชีวิตย่อมต้องการอาหารทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายธรรม
ถ้ามีเพียงอย่างเดียว ชีวิตนั้น ก็มีความเป็นมนุษย์ เพียงครึ่งเดียว หรือ ซีกเดียว.

เราหาความสำราญให้แก่กายของเราได้ไม่สู้ยากนัก แต่การหาความสำราญ
ให้แก่ใจนั้นยากเหลือเกิน ความสำราญกายเห็นได้ง่ายรู้จักง่าย ตรงกันข้ามกับ
ความสำราญทางใจ แต่ไม่มีใครเชื่อเช่นนี้ กี่คนนัก เพราะเขาเชื่อว่าไม่มีความ
สำราญอย่างอื่นที่ไหนอีก นอกจากความสำราญทางกายและเมื่อกายสำราญแล้ว
ใจก็สำราญเอง คนพวกนี้ ไม่ฟังธรรม หรือ ศึกษาธรรม และ ไม่ไหว้พระสงฆ์
ซึ่งเป็น นิมิต อันหนึ่งของธรรม.

อ่านเพิ่มเติม

ท่านพุทธทาสภิกขุ–ความกลัว

ความกลัว เป็นสิ่งที่มีอำนาจมากสิ่งหนึ่ง
ในบรรดา สิ่งที่ทำลาย ความสุข สำราญ
หรือ รบกวนประสาท ของมนุษย์ เป็นอย่างยิ่ง ด้วยกัน

ความกลัวนี้ ย่อมมีลักษณะ และพิษสง มากน้อยกว่ากัน เป็นขั้นๆ
ตามความรู้สึก อันสูงต่ำ ของจิต

เด็กๆ สร้างภาพ ของสิ่งที่น่ากลัว ขึ้นในใจ ตามที่ผู้ใหญ่ นำมาขู่
หรือได้ยิน เขาเล่า เรื่อง อันน่ากลัว เกี่ยวกับผี เป็นต้น สืบๆ กันมา
แล้วก็กลัว เอาจริงๆ จนเป็นผู้ใหญ่ ความกลัวนั้น ก็ไม่หมดสิ้นไป

ความกลัว เป็นสัญชาตญาณ อันหนึ่งของมนุษย์ เหมือนกันหมด
แต่ว่า วัตถุที่กลัว นั่นแหละต่างกัน ตามแต่เรื่องราวที่ตนรับ
เข้าไว้ในสมอง

อ่านเพิ่มเติม

ท่านพุทธทาสภิกขุ–พุทธศาสนา ศาสนาแห่งการบังคับตัวเอง

เมื่อกล่าวสรุปให้สิ้นเชิง ในแง่แห่งการกระทำ หรือ การปฏิบัติแล้ว
“พุทธศาสนาคือ ศาสนา แห่งการบังคับตัวเอง”:
มิใช่ศาสนา แห่งการ อ้อนวอน พระเป็นเจ้า ผู้มีอำนาจ
หรือ เป็น ศาสนาแห่งการแลกเปลี่ยน ทำนองการค้าขาย
ทำบุญทำทาน แลกนางฟ้าในสวรรค์
หรือ อะไรทำนองนี้ แต่ประการใดเลย และเพราะ
ความที่พุทธศาสนา เป็น ศาสนา แห่ง การบังคับตัวเอง
โดยมีเหตุผล เพียงพอแก่ตนเอง จึงได้ชื่อว่า เป็น
“ศาสนาแห่ง เหตุผล” ด้วย

พุทธศาสนา คือคำสั่งสอน อันเป็นแบบฝึกหัด บังคับตนเอง
แต่ว่า ลำพังคำสั่งสอน อย่างเดียว หาใช่เป็น แก่น
หรือ เป็นตัวพุทธศาสนา อันแท้ไม่
แม้ว่า คำว่า “ศา สนา” จะแปลว่า คำสอน ก็ตาม
ตัวศาสนาแท้ หรือ ตัวพรหมจรรย์ นั้น ได้แก่
การปฏิบัติ ตามคำสั่งสอน นั้นๆ
ซึ่งเรียกโดย ภาษาศาสนาว่า
สีลสิกขา – จิตตสิกขา – ปัญญาสิกขา

พุทธมามกะ เป็นอันมาก เข้าใจว่า “สิกขา” ตรงตามรูปศัพท์เกินไป
คือ สิกขา แปลตามรูปศัพท์ ว่า การศึกษา

อ่านเพิ่มเติม

ท่านพุทธทาสภิกขุ–พุทธศาสนา เป็น Pessimism หรือ Optimism

พุทธศาสนา ไม่ใช่ทั้ง Pessimism (ลัทธิเห็นสิ่งทั้งปวงเป็นไปในแง่ร้าย)
และ Optimism (เห็นเป็นไปในแง่ดี) เพราะ Pessimism และ Optimism
เป็นลัทธิ ที่ดิ่งลงไป จนถึงที่สุด ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทั้งสองอย่าง
ส่วนพุทธศาสนา สั่งสอนสัจธรรม อันเดิน ไปตาม สายกลาง,
Pessimism นั้น จัดได้ว่าเป็นมูลแห่ง อัตตกิลมถานุโยค,
Optimism ก็เป็นทางมาแห่ง กามสุขัลลิกานุโยค
ทั้งสองลัทธินั้น ไม่กล่าวถึง การแก้ไข ให้ความ เป็นเช่นนั้นๆ
กลายเป็นตรงกันข้าม กับที่เป็นอยู่หรือที่เป็นมาแล้วได้

ส่วนพุทธศาสนา สอนให้ดูโลกในแง่ของ Pessimism ก่อนแล้ว และสอน
หนทางแก้ไข ให้มันกลายเป็นดีไป ซึ่งเป็นอันว่า ไม่ปัด Optimism เสียทีเดียว
พุทธศาสนาสอนว่า ชีวิตนี้ เต็มไปด้วย อาการที่ทนยาก เป็น มายา เหลวไหล
ถูกกักขัง และทรมาน อยู่โดยอวิชชา ไม่ได้อย่างใจหวัง สักอย่างเดียว
ทั้งส่วนร่างกาย หรือ ส่วนจิตใจ ก็ตาม นี่แสดงว่า คล้ายกับ จะเอียงไปฝ่าย
Pessimism แต่ พุทธศาสนา ไม่ได้สอน เพียงเท่านั้น ได้สอนวิธี ที่จะทำชีวิตให้
ตรงกันข้ามกับอาการเช่นนั้นได้ด้วย คือ อัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มัชฌิมาปฏิปทา
อันมีหลักสั้นๆ ว่า ชีวิตอาจบริสุทธิ์และหลุดพ้นจากการทรมานได้ด้วยการประพฤติ
อย่างถูกต้อง ของเราเอง จนเราอาจเป็นผู้ที่มีความเยือกเย็นใจของเราเองได้เสมอ
ทุกๆ ฉาก ที่โลกมันจะปรวนแปรไป ความคิดนึกในใจของพุทธบริษัท ไม่ได้ถูก
บังคับให้เชื่อ หรือเห็นอยู่ในวงจำกัด ดุจพวก Pessimist หรือ Optimist เมื่อ
เขายังพอใจที่จะหมุนกลิ้งไปกับโลก อันเอิบอาบไปด้วยความดีใจและเสียใจ เขาก็
มีอิสระที่จะทำเช่นนั้น เมื่อเขาเห็นว่ามันน่าเบื่อหน่าย เขาก็มีอิสระและหนทางที่จะ
เอาชนะมันเสียได้อย่างเด็ดขาด เพราะเหตุนี้เอง พุทธศาสนาจึงมิใช่ Pessimism
หรือ Optimism เลย เป็นแต่มีแง่บางแง่ ที่อาจลวงตา คนบางคน ให้เห็นเป็น
Pessimism หรือ Optimism อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่ เขาจะเห็น ไปใน
บางคราวเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม

ท่านพุทธทาสภิกขุ–เรียนพุทธศาสนา ใน ๑๕ นาที

นับตั้งแต่กาลที่โลกว่างเปล่า เริ่มกลายเป็น มนุษย์โลกขึ้น เมื่อหลายแสนปี มาแล้ว
มนุษย์ ได้ใช้ มันสมอง แสวงหา ความสุข ใส่ตน เป็นลำดับๆ มาทุกๆ ยุค,
จนในที่สุด เกิดมีผู้สั่งสอน ลัทธิแห่งความสุข นั้น ต่างๆ กัน,
ตัวผู้สอนเรียกว่า ศาสดา,
คำสอนที่สอนเรียกว่า ศาสนา,
ผู้ที่ทำตาม คำสอน เรียกว่า ศาสนิก,
ทุกอย่าง ค่อยแปรมาสู่ ความดี ยิ่งขึ้นทุกที,
สำหรับคำสอน ขั้นโลกิยะ หรือ จรรยา ย่อมสอน มีหลักตรงกันหมด ทุกศาสนา,
หลักอันนั้นว่า จงอย่าทำชั่ว จงทำดี ทั้งต่อ ตนเอง และผู้อื่น,
ดังที่ทราบกันได้อยู่ทั่วไปแล้ว:

แต่ส่วนคำสอนขั้นสูงสุด ที่เกี่ยวกับ ความสุขทางใจ อันยิ่งขึ้นไปนั้น
สอนไว้ต่างกัน.
ศาสนาทั้งหลาย มีจุดหมาย อย่างเดียวกัน เป็นแต่ สูงต่ำ กว่ากัน เท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม

ท่านพุทธทาสภิกขุ–มาเป็นพุทธทาสกันเถิด

มีการเป็นทาสชนิดหนึ่ง เป็นทาสที่ไม่ต้องเลิก ยิ่งมีมาก ยิ่งดี
ยิ่งเป็นทุกคนด้วยแล้ว โลกยิ่งมีสันติภาพ ไร้วิกฤตกาล
นั้นคือ การเป็นทาสของพระพุทธองค์ เรียกว่า “พุทธทาส”

พุทธทาส แปลว่า ผู้รับใช้พระพุทธองค์อย่างถวายชีวิต
ในฐานะเป็นหนี้ในพระมหากรุณาธิคุณด้วย
เพราะความกตัญญูด้วย และ
เพราะเห็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ด้วย
จึงสมัคร มอบกายถวายชีวิตหมดสิ้นทุกประการ
เพื่อรับใช้พระพุทธองค์
เพื่อกระทำสิ่งที่เชื่อว่าเป็นพระพุทธประสงค์

พระพุทธองค์ไหน?
ตอบอย่างภาษาคน ก็พระพุทธองค์ที่เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์
ที่ทรงอุบัติขึ้นในโลก ตรัสรู้ แล้วสั่งสอนสัตว์ จนตลอดพระชนมายุ
เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว

อ่านเพิ่มเติม

ท่านพุทธทาส–สวนโมกข์ในอนาคต

แม้ชีวิตในวันนี้ของท่านอาจารย์ จะต้องอยู่กับความเจ็บป่วยตามเหตุปัจจัยแห่ง
ธรรมชาติ แต่ก็เป็นความเจ็บป่วยที่ไม่เคยแยกห่างออกจากธรรมะ จนกล่าวได้ว่า
ท่านพร้อมแล้วที่จะปฏิบัติแห่งพุทธทาสภิกขุ ตราบวาระสุดท้ายของชีวิต ตาม
รอยแห่งพระบรมศาสดานั่นเอง

นับจากวันวิสาขบูชา ๒๔๗๕ ซึ่งพระมหาหนุ่มนาม “เงื่อม”
เริ่มต้นการเดินทางเพื่อตามรอยแห่งพระอริยเจ้ามาจนกระทั่ง
ถึงวิสาขบูชา ๒๕๓๕ นี้ การเดินทางของท่านและสวนโมกข
พลารามได้ยาวนานมาถึง ๖๐ ปีแล้ว อุดมคติอันมุ่งมั่นที่จะ
ค้นหาให้พบในวันเริ่มต้น ได้ค้นพบแล้ว ปณิธานที่จะประกาศ
ธรรมซึ่งค้นพบนั้นแก่ชนร่วมสมัย ก็ได้บรรลุแล้ว

อ่านเพิ่มเติม

ท่านพุทธทาส–สวนโมกข์วันนี้

แม้สวนโมกข์จะก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ ๖๐ แห่งการก่อตั้ง
แต่ปณิธานแห่งการทำงานเพื่อรับใช้พระศาสนาและ
เพื่อนมนุษย์ ก็ยังไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต กิจวัตร
ของคณะสงฆ์ยังคงดำเนินไปดังเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต
กิจวัตรของคณะสงฆ์ยังคงดำเนินไปดังเช่นที่เคยเป็นมา
ในอดีต เพื่อมุ่งไปสู่จุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ แต่สิ่งที่จำต้อง
เปลี่ยนแปลงไปคือ การหมุนเวียนของพระเณรทั้งเก่าและ
ใหม่และกายสังขารของท่านอาจารย์ที่ล่วงเข้าสู่วัยชราตามเหตุปัจจัยแห่งธรรมชาติ

ท่านอาจารย์พุทธทาส อาพาธหนักครั้งแรก
เมื่อ ปี ๒๕๑๘ ขณะอายุได้ ๖๙ ปี โดยเข้า
รับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช และ
อาพาธหนักอีกครั้งในปี ๒๕๒๘ เมื่ออายุ
ได้ ๗๙ ปี จนเมื่อปลายเดือนตุลาคม
๒๕๓๔ ขณะอายุได้ ๘๕ ปีเศษ หลังจาก
การแสดงธรรมติดต่อกันถึง ๖ วัน วันละ
๒ ชั่วโมง ท่านก็มีอาการอาพาธรุนแรง
อีกครั้งหนึ่ง การอาพาธในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกับเมื่อ ปี ๒๕๒๘ คือท่านตัดสินใจ
ขอรับการรักษาตัวอยู่ที่สวนโมกข์ โดยขณะที่กำลังอาพาธหนัก มีอาการอันน่าวิตก
ว่า อาจจะดับขันธ์ได้ทุกเมื่อนั้น ท่านได้กล่าวแก่คณะสงฆ์และแพทย์ที่กราบ
อาราธนาท่านเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลว่า “ขอบใจ ขอบใจอย่างสูง
ขอให้การอาพาธครั้งนี้เป็นการศึกษาของอาตมาอย่างยิ่ง ขอรับการรักษา
อย่างธรรมชาติ อย่างครั้งพุทธกาลอยู่ที่วัด” (๒๘ ตุลาคม ๒๕๓๔)
ท่านอาจารย์เห็นว่า สาวกของพระพุทธเจ้าไม่ควรหอบสังขารหนีความตาย
(ดังที่การแพทย์สมัยใหม่มักใช้วิทยาการต่อชีวิตของผู้ป่วยอย่างผิดธรรมชาติ
ด้วยเครื่องมือและสายระโยงระยางจำนวนมากมาย) ท่านอาจารย์ได้แสดงออก
ซึ่งรูปธรรมของ “การเตรียมตัวตายอย่างมีสติ” ให้ผู้ใกล้ชิดได้เรียนรู้

อ่านเพิ่มเติม

ท่านพุทธทาส–ธรรมะเพื่อสังคมและโลก (พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๓๔)

แม้ท่านอาจารย์พุทธทาสจะเป็นพระภิกษุใน
พุทธศาสนานิกายเถรวาท แต่การศึกษาจนเข้า
ถึงแก่นแท้แห่งพระธรรมคำสอน ได้ทำให้ท่าน
ก้าวพ้นไปจากการติดยึดในนิกายอย่างงมงาย
และไร้ประโยชน์ ตั้งแต่แรกตั้งสวนโมกข์ ท่าน
ได้ศึกษาพุทธศาสนานิกายอื่นๆ อย่างกว้างขวาง
ไม่ว่ามหายาน วัชรยาน เซ็น โดยเฉพาะ
พุทธศาสนานิกายเซ็น ท่านได้แปลหนังสือ
เรื่อง “สูตรเว่ยหล่าง” และ”คำสอนของฮวงโป”
ฯลฯ แม้ว่าการปฏิบัติดังนี้ของท่านจะเป็นเหตุ
ให้ท่านถูกโจมตีว่า กระทำนอกรีต ผิดแบบแผน
ของพระฝ่ายเถรวาท ก็ตาม

อ่านเพิ่มเติม

ท่านพุทธทาส–ประยุกต์ธรรมนำยุคสมัย (พ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕๒๔)

พร้อมๆ กับที่เวลาล่วงผ่านเข้าสู่ยุคหลังกึ่งพุทธกาล (พ.ศ. ๒๕๐๐) นั้น ประเทศไทย
ก็ได้ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนาไปสู่ “ความทันสมัย” ตามแบบตะวันตกด้วยวิถีชีวิต
การศึกษา วัฒนธรรม การทำมาหากิน ต่างมุ่งจะไปสู่ความสมบูรณ์มั่งคั่งทางวัตถุ
ภายใต้คำขวัญของการพัฒนาที่ว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” ผู้คนใน
สังคมได้ถูกกระตุ้นให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของวัตถุยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด จนเกิด
การแสวงหาและแข่งขันกันสะสม ระหว่างบุคคลในสังคมโดยทั่วไป

ในโลกแห่งความทันสมัยนี้ พระพุทธศาสนาซึ่งมีอายุเก่าแก่ถึง ๒,๕๐๐ ปี ได้ถูก
มองว่าเป็นสิ่งที่ล้าสมัย คร่ำครึไร้ประโยชน์ และไม่จำเป็นแก่การพัฒนาแบบนี้

ท่านอาจารย์พุทธทาสกลับมองตรงกันข้ามว่า
ในกระแสแห่งการพัฒนาเช่นนี้ ยิ่งมีความจำเป็น
ที่จะต้องนำ “แก่นพระพุทธศาสนา” ออกเผยแผ่
ให้มากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อมองการณ์ไกลไปถึง
อนาคต ท่านเห็นว่าการพัฒนาที่มุ่งแต่การ
ปรนเปรอชีวิตด้วยความสุขทางวัตถุนั้น จะ
นำไปสู่ความทุกข์ทั้งของปัจเจกชนและสังคม
โดยรวม เพราะเป็นการพัฒนาที่ขาดความ
สมดุล คือมองข้ามคุณค่าของการพัฒนาจิตใจ
มนุษย์จะตกเป็นทาสของวัตถุ จนเกิดการ
เบียดเบียน แย่งชิงและทำร้ายกัน ทั้งทางตรง
และทางอ้อม เพื่อจักให้ได้มาในสิ่งที่ตนต้อง
การศีลธรรมจะเสื่อมถอย ชีวิตและสังคมจะ
เต็มไปด้วยความเร่าร้อน ขาดความสงบสุขมากขึ้นทุกขณะ ท่านจึงเห็นความ
จำเป็นที่จะต้องนำแก่นพุทธศาสน์ มาสั่งสอนเพื่อให้พุทธศาสนิกชนมีชีวิตอยู่
เหนือการเป็นทาสวัตถุมี “จิตสว่าง” ที่ปลอดพ้นจากการยึดมั่นถือมั่นแห่งตน
รู้จักการแบ่งปัน และดำรงชีวิตโดยพอดี

อ่านเพิ่มเติม

ท่านพุทธทาส–ประกาศธรรมทุกทิศ (พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๕๐๕)

ความสามารถของ “พุทธทาสภิกขุ” ใน
ด้านการเขียนอธิบายข้อธรรมะต่างๆ ใน
“พุทธสาสนา” โดยใช้ภาษาที่สละสลวย
เข้าใจง่าย แต่ให้ข้อคิดที่ลึกซึ้งได้ส่งผล
ให้ธรรมะจากสวนโมกข์ แผ่กระจายสู่
ผู้อ่านในที่ต่างๆ โดยง่าย จากฉบับแรก
เริ่ม ซึ่งต้องประกาศแจกให้เปล่าในหนัง
สือพิมพ์ “ไทยเขษม” รายสัปดาห์
ก้าวหน้าจนมีผู้สนใจบอกรับเป็นสมาชิก
เองนับร้อย จนถึงพันในเวลาต่อมา ความ
สำเร็จนี้แม้แต่คณะผู้จัดทำเองก็คาดไม่ถึง
ส่งเสริมให้เกิดกำลังใจที่จะเผยแพร่และ
แจกจ่ายธรรมทานนี้แก่สาธารณชนมากยิ่งขึ้น

พุทธทาสภิกขุ แสดงปาฐกถาธรรมที่หอประชุมใหญ่ จุฬาฯ ประมาณปี ๒๕๐๓ เรื่อง “ส่วนสำคัญของพระพุทธศาสนาที่ทุกคนควรรู้จัก” มีผู้เข้าฟังประมาณ ๓,๐๐๐ คน

อ่านเพิ่มเติม

ท่านพุทธทาส–ตามรอยพระอรหันต์ (พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๘๔)

เมื่อพระมหาเงื่อมตัดสินใจแน่วแน่แล้วที่จะกลับบ้าน ก็ได้มีจดหมายถึง
นายยี่เกยผู้น้องชาย ความตอนหนึ่งว่า

“เราตกลงใจกันแน่นอนแล้วว่า กรุงเทพฯ ไม่ใช่เป็นที่ที่จะค้นพบความบริสุทธิ์
การถลำเข้าเรียนปริยัติธรรมทางเจือด้วยยศศักดิ์ เป็นผลดีให้เรารู้สึกตัวว่า
เป็นการก้าวผิดไปก้าวหนึ่ง หากรู้ไม่ทันก็จะต้องก้าวไปอีกหลายก้าว และยาก
ที่จะถอนออกได้เหมือนบางคน จากการรู้สึกว่าก้าวผิดนั่นเอง ทำให้พบเงื่อนว่า
ทำอย่างไรเราจะก้าวถูกด้วย

เราเดินตามโลกตั้งแต่นาทีที่เกิดมา จนถึงนาทีที่มีความรู้สึกนี้ ต่อนี้ไป เราจะ
ไม่เดินตามโลก และลาโลกไปค้นหาสิ่งที่บริสุทธิ์ ตามรอยพระอริยะที่ค้นแล้ว
จนพบ…” และ “ฉันมืดแปดด้าน ไม่รู้ว่าจะไปขออาศัยสถานที่ที่ไหน เพื่อการ
ศึกษาของเราจึงจะเหมาะนอกจากบ้านเราเอง และไม่มีที่ไหนนอกจากบ้านเรา
คือที่พุมเรียง ก่อนที่อื่น จึงจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือรบกวนในบางอย่าง
คือต้องมีผู้ช่วยให้ได้โอกาสเรียนมากที่สุด และใครๆ จงถือเสียว่า ฉันไม่ได้
กลับออกมาพักอยู่ที่พุมเรียงเลย การกินอยู่ขอรบกวนให้มีการเปลี่ยนแปลงไป
จากเดิมสักเล็กน้อย คือถ้าไม่อยากทำอย่างอื่น ข้าวที่ใส่บาตรจะคลุกน้ำปลา
เสียสักนิดก็จะดี ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าจะไม่รบกวนอย่างอื่นอีกเลย ฉันจะ
เป็นผู้พิสูจน์ให้เพื่อนกันเห็นว่า พระอรหันต์แทบทั้งหมด มีชีวิตอยู่ด้วยข้าว
สุกที่หุงด้วยปลายข้าวสารหัก และราดน้ำส้มหรือน้ำผักดองนิดหน่อยเท่านั้น
เราลองกินข้าวสุกของข้าวสารที่เป็นตัว และน้ำปลา ก็ยังดีกว่าน้ำส้ม และเรา
ลองกินอยู่เดี๋ยวนี้ รู้สึกว่าไม่มีการขัดข้องเลย ที่จะกินต่อไป..”

อ่านเพิ่มเติม

ท่านพุทธทาส–ก่อนกำเนิดสวนโมกข์ (พ.ศ. ๒๔๔๙-๒๔๗๔)

ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย หรือ วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๔๙
บุตรชายคนหัวปีของครอบครัว นายเซี้ยง และ นางเคลื่อน พานิช ได้ถือกำเนิดขึ้น
ณ บ้านตลาด พุมเรียง จ.ไชยา (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น จ. สุราษฎร์ธานี) ไม่มีใคร
ในเวลานั้น จะคาดคิดไปถึงว่า เด็กชายที่เรียกชื่อในเวลาต่อมาว่า “เงื่อม” นั้น จะ
เติบโตกลายเป็นมหาเถระผู้สืบแสงเทียนธรรมแห่งพระศาสนา ที่กำลังอ่อนล้า
ให้มีพลังเจิดจ้าขึ้นอีกในยุคสมัยต่อมา ในนามของ “พุทธทาสภิกขุ”

ด.ช.เงื่อม กับ นายเซี้ยง บิดาและ ด.ช.ยี่เก้ย น้องชายเด็กชายเงื่อม มีน้องอีก ๒ คน คนรองเป็นชาย
ชื่อยี่เกย พานิช ซึ่งเติบใหญ่กลายเป็นคู่คิด ผู้ร่วม
อุดมคติแห่งการจรรโลงพระศาสนา ร่วมกับ
พี่ชายในนาม “ธรรมทาส” และน้องสุดท้อง
เป็นหญิงชื่อ กิมซ้อย พานิช (เหมะกุล) พี่น้อง
ทั้งสามคนใกล้ชิดสนิทสนม และเติบโตมาใน
ครอบครัวที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มีวิถี
ชีวิตแบบชุมชนชนบททั่วไป ด.ช. เงื่อม เอง
ได้รับอิทธิพลชื่นชอบการแต่งบทกวีและงาน
ช่างไม้จากบิดา และได้รับการอบรมสั่งสอน
จากมารดาให้เป็นคนที่ทำอะไรจะต้องทำให้ดีที่สุด และประหยัดละเอียดรอบคอบ

อ่านเพิ่มเติม

. . . . . . .