กรรม อวิชชา สันโดษ พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร

กรรม อวิชชา สันโดษ
พระนิพนธ์
สมเด็จพระญาณสังวร

กรรม อวิชชา สันโดษ

กุศลกรรม อกุศลกรรม อพยากตธรรม

-เรื่องกรรม (บาลี กัมมะ) เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในพระพุทธศาสนา ปรากฏในพระพุทธประวัติว่า เมื่อพระพุทธเจ้ายังมิได้ตรัสรู้ ยังทรงเป็นโพธิสัตว์อยู่ ได้เสด็จออกแสวงหาทางที่เป็นเครื่องหลุดพ้น ที่เรียกว่า โมกขธรรม เมื่อได้ทรงพบทางปฏิบัติที่ถูกต้องแล้วก็ได้ทรงปฏิบัติในทางนั้นจนถึงใน ราตรีที่จะตรัสรู้

– ในยามที่ ๑ แห่งราตรีนั้น ทรงได้ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ญาณนี้คือพระปรีชาหยั่งรู้ถึงขันธ์ที่เป็นที่อยู่อาศัยในปางก่อน เรียกสั้นว่าระลึกชาติได้

-ในยามที่ ๒ ทรงได้ จุตูปปาตญาณ พระปรีชาหยั่งรู้ในจุติและอุบัติของสัตว์ (สัตตะ) ทั้งหลาย คือ การตายและการเกิดอีกของสัตว์ทั้งหลายในชาตินั้นๆ ว่าเป็นไปตามกรรม กระทำชั่วไว้ก็เข้าถึงชาติที่ชั่วมีทุกข์ กระทำความดีไว้ก็เข้าถึงชาติที่ดีมีสุข

– ในยามที่ ๓ จึงทรงได้ อาสวักขยญาณ พระปรีชาหยั่งรู้วิธีกำจัดอาสวะ คือ กิเลส (ความไม่ดี) ที่นอนจมหมักหมมอยู่ในจิตสันดาน สำเร็จเป็นพุทธ คือ พระผู้ตรัสรู้

– กรรม เป็นคำกลางแปลว่า การงานที่บุคคลกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ กรรมแบ่งออกได้เป็น ๓ คือ

กุศลกรรม คือ กรรมที่เป็นส่วนดี

อกุศลกรรม คือ กรรมที่เป็นส่วนชั่ว

อัพยากตกรรม คือ กรรมที่ไม่เป็นกุศลหรืออกุศล

กรรมทุกอย่างพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้โดยชัดเจนว่า กรรมเช่นไรเป็นอกุศล เช่นไรเป็นกุศล เช่นไรเป็นอัพยากตกรรม

O กรรมที่เป็นอกุศล

ทางกาย เช่น ฆ่าและทรมานสัตว์ ลักของเขา โกง ประพฤติผิดในทางกาม

ทางวาจา พูดปด พูดส่อเสียด นินทา ว่าร้าย คนอื่น พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เป็นต้น

ทางใจ โลภ เพ่งเล็งทรัพย์ของเขา พยาบาท คิดปองร้าย เห็นผิดจากคลองธรรม

O กรรมที่เป็นกุศล

เว้นจากอกุศลกรรมต่างๆ ปฏิบัติไปในทางสุจริต มีเมตตา กรุณา มีทาน มีศีล

O อัพยากตธรรม

กรรม ที่เป็นอาชีพ เช่น กสิกรรม พาณิชยกรรม ที่เกี่ยวแก่ความรื่นเริง การเดิน ยืน นั่ง นอน กิน ดื่ม ถ่าย พูด นิ่ง เหล่านี้ไม่จัดว่าเป็นกุศลหรืออกุศล

O คนเรานั้นได้ทำกรรมต่างๆ ซับซ้อนกันอยู่มากมายทั้งในอดีตและชาตินี้ เมื่อเกิดมาในชาตินี้ บางทีกระทำดีต่างๆ อยู่แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับผลดี ทั้งนี้ก็หาใช่ว่ากรรมดีที่ทำไว้นั้นจะไม่ให้ผล แต่ก็เพราะว่ากรรมไม่ดีที่ทำไว้แต่ชาติก่อนให้ผลจึงรับผลที่ไม่ดี กรรมดีที่ทำอยู่ปัจจุบันนี้ก็จะให้ผลในเวลาต่อไป

หรือบางคนทำกรรม ชั่วในปัจจุบันแต่ก็ปรากฏว่าได้รับผลดี ผลดีที่ได้รับนั้นไม่ใช่เป็นผลของกรรมชั่วที่ทำอยู่ แต่เป็นผลของกรรมดีที่ได้กระทำไว้ก่อน เมื่อหมดผลของกรรมดีแล้วผลของกรรมชั่วก็จะปรากฏขึ้น เขาก็จะเข้าถึงทุกข์

O กุศลกรรมที่ประกอบในชาตินี้ ถ้ากรรมเก่าซึ่งเป็นอกุศลกรรมยังส่งผลหรือมีกำลังแรงกว่า ก็ต้านทานอกุศลกรรมได้ยาก ไม่ต้องมองดูให้ไกลออกไป แต่มองดูกุศล อกุศลกรรมในจิตใจในบัดนี้

เช่น บุคคลหนึ่งมีเจตนาแน่วแน่ในการประกอบกุศลกรรมเพื่อประโยชน์สุขสำหรับส่วนรวม ขณะเดียวกันก็มีบุคคลอีกคนหนึ่งหรือหลายคน มีจิตริษยาเสียแล้ว ทั้งที่ก็มีจิตอยากจะทำดีเหมือนกัน แต่อยากจะทำดีเพื่อให้ดีแต่ผู้เดียว

ตัวอย่าง นี้เห็นได้ว่าความอิจฉาริษยายังมีอำนาจแรงอยู่ แสดงว่าอกุศลกรรมฝ่ายความริษยายังมีอำนาจแรงกว่า ทั้งๆ ที่วัตถุประสงค์ในด้านกุศลกรรมก็มีอยู่ตรงกัน ไม่ต้องกล่าวถึงบุคคลที่ปราศจากเหตุผล จิตคิดจะทำดีมีแต่อิจฉาริษยาเท่านั้น เป็นผู้ทำลายโลกโดยแท้

O ฉะนั้น จึงมีความจำเป็นต้องฝึกฝนตนเองให้มีกุศลกรรมให้มากขึ้น เช่น ถ้าเป็นคนมักริษยาคนอื่น ก็ต้องหัดทำมุทิตาจิต คือ ตั้งใจหัดใจทำความยินดีในกุศลกรรม ในความสุขความเจริญของผู้อื่นอยู่เสมอ

เมื่อ กุศลกรรมฝ่ายมุทิตานี้เจริญมากขึ้น อกุศลกรรมฝ่ายริษยาก็จะลดลงจนหายไปได้ จะทำให้เกิดความคิดส่งเสริมทุกคนผู้ประกอบกุศลกรรม เพื่อให้สำเร็จผลเร็วยิ่งขึ้น

O เราทุกคนมีกรรมดีกรรมชั่วติดตัวมาตั้งแต่อดีตชาติ ผลของกรรมเหล่านั้น ก็ทำให้เราเกิดในครอบครัวต่างๆ จน มี ดี ชั่ว ฉลาด โง่ สวย ไม่สวย

ความ พิการทางร่างกายและจิตใจของมนุษย์ จะเป็นผลของกรรมเช่นกัน เพราะไม่มีใครเกิดมาอยากพิการ หูหนวก ตาบอด แขนด้วน ง่อยเปลี้ย จิตใจไม่ปกติ ไม่สมประกอบ หรือปัญญาอ่อน เป็นต้น

เมื่อเราเข้าใจและ เชื่อในท่านผู้รู้ (พระพุทธเจ้า) ว่าที่เราเป็นอย่างนี้ ดีบ้างไม่ดีบ้าง ก็เพราะกรรมที่เราได้ทำมา ก็ควรพยายามทำกรรมดีเพื่อความสุขความเจริญของเราในภายหน้า

ผู้ที่ประกอบกรรมดีอย่างหนักและบ่อยๆ กรรมดีนี้อาจชนะกรรมชั่วที่เบาที่ได้ทำไว้ในอดีต

O กรรมที่สำคัญที่ ๑ คือ ทางใจ ควรฝึกใจให้มีความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไม่ให้มีอิจฉาริษยา ไม่เบียดเบียน ไม่นินทา ไม่พยาบาท เป็นต้น การกระทำที่ไม่ดีทางกาย และทางวาจา ก็จะลดน้อยลงจนหมด มีจิตใจการปฏิบัติสะอาด นั่นแหละคือความสุขที่แท้จริง

อักโกสกสูตร

O ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน อยู่ในเขตพระนครราชคฤห์ มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ อักโกสก ได้ทราบว่าพราหมณ์ภารทวาชโคตรได้ไปบวชเป็นบรรพชิตในสำนักของพระพุทธเจ้า ก็โกรธขัดใจ

เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วด่าบริภาษพระพุทธเจ้าด้วยวาจาอันหยาบคายมิใช่ของสุภาพชน

O เมื่ออักโกสกพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามว่า พราหมณ์ ท่านมีญาติมิตรมาเยี่ยมบ้างไหม พราหมณ์ได้ทูลตอบว่ามีมาเป็นครั้งคราว

พระ พุทธเจ้าก็ได้ตรัสถามต่อไปว่า พราหมณ์เมื่อมีญาติมิตรมาหา ท่านเคยจัดของบริโภคหรือของดื่มต้อนรับแขกของท่านบ้างหรือไม่ พราหมณ์ก็ทูลตอบว่า ข้าพระองค์ได้จัดของบริโภคและของดื่มต้อนรับญาติมิตรในบางคราว

O พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามว่า พราหมณ์ ถ้าญาติมิตรผู้เป็นแขกเหล่านั้นไม่รับ ของบริโภคและของดื่มเหล่านั้นจะเป็นของใคร พราหมณ์ได้ทูลตอบว่า ของต่างๆ เหล่านั้นเป็นของข้าพระองค์

O พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า พราหมณ์ ข้อนี้ก็เป็นอย่างเดียวกัน เราไม่รับการด่าว่าของท่าน ฉะนั้นการด่าว่าก็กลับไปเป็นของท่านผู้เดียว ผู้ใดด่าโกรธตอบบุคคลผู้ด่าผู้นั้นเราว่าบริโภคร่วมกัน เรานั้นไม่บริโภคร่วม

O พระพุทธเจ้าได้ตรัสต่อไปว่า…
ผู้ไม่โกรธ ฝึกฝนตนแล้วมีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ
บุคคลที่ไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธ
ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้โดยยาก
ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้วมีสติสงบเสียได้
ผู้นั้นชื่อว่าปฏิบัติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย
คือ แก่ตนและผู้อื่น

O เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสอย่างนี้แล้ว อักโกสกพราหมณ์คิดได้และเข้าใจ ได้กราบทูลว่าภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งมาก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลง หรือส่องประทีปในที่มืด คนมีจักษุย่อมเห็นรูปได้ ข้าพระองค์มีความศรัทธา ขอพระองค์พึงอุปสมบทข้าพระองค์อยู่ในสำนักของพระองค์ต่อไป

O เมื่ออักโกสกได้รับการอุปสมบทแล้ว ก็ได้ปฏิบัติอย่างไม่ประมาท มีความเพียร ใช้ปัญญาพิจารณาในธรรมต่างๆ จนถึงความรู้ที่แท้จริงอย่างแจ่มแจ้ง ก็ได้สำเร็จพระอรหันต์

O เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสอย่างนี้แล้ว อักโกสกพราหมณ์คิดได้และเข้าใจ ได้กราบทูลว่าภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งมาก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลง หรือส่องประทีปในที่มืด คนมีจักษุย่อมเห็นรูปได้ ข้าพระองค์มีความศรัทธา ขอพระองค์พึงอุปสมบทข้าพระองค์อยู่ในสำนักของพระองค์ต่อไป

O เมื่ออักโกสกได้รับการอุปสมบทแล้ว ก็ได้ปฏิบัติอย่างไม่ประมาท มีความเพียร ใช้ปัญญาพิจารณาในธรรมต่างๆ จนถึงความรู้ที่แท้จริงอย่างแจ่มแจ้ง ก็ได้สำเร็จพระอรหันต์

อวิชชา
ความไม่รู้ในสัจจะ (ความจริง หรือ สภาพที่จริง)

อวิชชา

O บัดนี้ความรู้วิชาการต่างๆ ในโลกเจริญขึ้นมาก มนุษย์เราสามารถสร้างพาหนะนำตนไปถึงดวงจันทร์ได้ (เมื่อศกที่แล้ว พ.ศ.๒๕๑๒) วิชาเหล่านี้เป็นวิชาทางโลก หรือวิชาภายนอก

ส่วนวิชาภายใน หรือวิชชาคือความรู้สัจจะ (ความจริง) ภายในตนเอง จะยังบกพร่องอยู่ทั่วๆ ไป จึงปรากฏว่าคนโดยมาก แม้มีความรู้ทางศิลปวิทยาต่างๆ มาก แต่ก็ยังขาดความรู้ในตนเอง ดังจะเรียกว่ายังมีอวิชชา ที่แปลตามศัพท์ว่า ?ความไม่รู้?

O ?อวิชชา? ที่แปลว่าไม่รู้นี้ มิได้หมายความว่า ไม่รู้อะไรเลยเหมือนอย่างก้อนดินก้อนหิน แต่หมายถึงรู้อะไรๆ เหมือนกัน แต่รู้ผิดจากความจริง หรือรู้ไม่จริงก็เท่ากับไม่รู้ เพราะที่เรียกว่า ?รู้ๆ? นั้น ควรเป็นรู้จริง (รู้+จริง) จึงจะชื่อว่ารู้ และเพื่อให้ชัดขึ้น จึงแปลแบบอธิบายว่า ความไม่รู้ในสัจจะ คือความจริง หรือสภาพที่จริง กล่าวสั้นว่าความไม่รู้จริง

O และเมื่อกล่าวโดยทั่วไป ความรู้ที่ทุกๆ คนมีอยู่ ย่อมมีปริมาณจำกัด ส่วนที่ยังไม่รู้มีมากกว่านัก เช่น วิชาทางโลกมีอยู่มากมาย ทั้งเพิ่มขึ้น และแก้ไข เปลี่ยนแปลงใหม่ขึ้นอยู่เสมอ แต่คนหนึ่งๆ อาจเรียนให้รู้ได้เพียงส่วนหนึ่งๆ เท่านั้น

บางคนแสดงว่ายิ่งเรียน มากก็ยิ่งรู้สึกว่าตนเองยิ่งโง่ ฉะนั้นแม้ในเรื่องภายนอกทางโลก อวิชชาคือความไม่รู้ก็ยังมากกว่า วิชชาคือความรู้มากมายนัก แต่อวิชชาที่มีลักษณะดังนี้ ไม่ใช่ข้อที่ประสงค์ในที่นี้ อวิชชาที่ประสงค์จะแสดงคือความไม่รู้สัจจะในตนเอง ดังเช่น

O ความไม่รู้จักตนเอง คือความไม่รู้จักตนเองโดยฐานะต่างๆ เกี่ยวแก่ความรู้ความสามารถ และตำแหน่งหน้าที่อันควรแก่ตน เป็นต้น เป็นเหตุให้ขวนขวายจะได้ฐานะที่สูงกว่าที่ตนควรจะได้ หรือน้อยใจในเมื่อไม่ได้ฐานะที่คิดเอาเองว่าตนควรจะได้ หรือนินทาว่าร้ายผู้ใหญ่ว่ากดตนเป็นต้น

ข้อนี้นับว่าเป็นอวิชชาอย่าง หนึ่งเป็นเครื่องปิดกั้นความเจริญของตนเอง เพราะเมื่อไม่รู้จักตนตามเป็นจริง ก็ไม่อาจจะแก้ไขตนเองให้ดีขึ้นโดยทางที่ถูกได้

O ความต้องการสมภาพในทางที่ผิด สมภาพ คือความเสมอกัน ต้องการให้ทุกๆ คนเสมอกันไปหมด ไม่มีผู้ใหญ่ผู้น้อยในฐานะต่างๆ ข้อนี้เป็นอวิชชาอย่างหนึ่งเป็นเครื่องทำลายตนเอง เพราะทุกๆ คนทำกรรมมาแล้ว และกำลังทำกรรมอยู่ต่างๆ กัน จะให้เสมอกันได้อย่างไร

O เรื่องนี้มีนิทานเรื่องเปรตจัดระเบียบ ที่เล่ากันมาแต่ก่อนว่า มีเปรตตนหนึ่งสิงอาศัยอยู่ที่ศาลาพักแรมของคนเดินทางไกลแห่งหนึ่ง เป็นเปรตที่ชอบสมภาพ เมื่อมีคนมานอนพักในศาลาที่เรียงกันมากคน ขณะที่กำลังหลับสนิทในเวลาดึกสงัด

เปรตได้มาตรวจทางด้านเท้า เห็นเท้าไม่เสมอกัน ก็ฉุดเท้าของทุกๆ คนให้ลงไปเท่ากัน ไปตรวจทางด้านศีรษะ เห็นไม่เท่ากันอีก ก็ฉุดศีรษะของทุกๆ คนให้ขึ้นมาเท่ากัน แล้วก็ลงไปตรวจทางเท้าอีก เห็นไม่เท่ากัน ก็ดึงเท้าลงอีก ขึ้นไปทางศีรษะก็ดึงศีรษะขึ้นไปอีก

O ตกว่าเปรตจัดให้เท่ากันทั้งสองด้านไม่ได้สักครั้ง และคนทั้งปวงที่นอนพักบนศาลานั้น ก็ไม่เป็นอันได้หลับนอนโดยผาสุก

นอก จากนี้ความวางตน คล้ายกับเสมอกัน ขาดคารวะในผู้ใหญ่ เช่น บุตรีขาดคารวะและความเชื่อฟังในมารดาบิดา ถือว่าสมัยนี้ต้องเป็นอิสระในการทำตามความคิดเห็นของตนเอง มารดาบิดามีความคิดเห็นของตนได้ บุตรธิดาก็มีได้เหมือนกัน

บางทีกลับ เห็นว่ามารดาบิดามีความคิดเห็นไม่ทันสมัย บุตรธิดาจะถูกบ้างก็ได้ แต่อาจจะผิดก็มาก เพราะวัยคะนองอาจจูงใจให้คิดเห็นไปอย่างคะนอง ต่างจากมารดาบิดาส่วนมากที่มีความเห็นเป็นผู้ใหญ่แล้ว จึงเป็นอวิชชาอย่างหนึ่งที่พึงระมัดระวังให้มาก

O ความแสดงออกในทางที่ผิดต่างๆ เช่น การทำอะไรให้เป็นข่าวขึ้นในทางที่ผิดต่างๆ บางทีก็ทำเฉพาะตนผู้เดียว บางทีก็ชักชวนกันทำเป็นหมู่เป็นคณะ เช่น ชักชวนกันยกพวกไปตีกันทำร้ายกัน ทั้งที่รู้ว่าเป็นการกระทำที่ผิด แต่ก็ทำด้วยต้องการจะแสดงว่าเก่งกล้าสามารถ จัดว่าเป็นอวิชชาอย่างหนึ่ง

เพราะ เป็นความเห็นและการกระทำที่ผิด แม้ว่าใครที่ทำอย่างนั้นจะแย้ง แต่เมื่อความสำนึกผิดชอบแม้ที่เรียกว่าสามัญสำนึกเกิดขึ้นเมื่อใด จะมีความสำนึกผิดขึ้นได้เอง การกระทำที่ครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายว่าผิดและทั้งที่ผิดพระบรมราโชวาท ย่อมเป็นความผิดที่ไม่อาจแย้งได้

O ความริษยาในความทำดีและในผลดีของผู้อื่น เมื่อเห็นผู้อื่นทำความดี หรือเห็นเขาได้รับผลดีที่เกิดจากความดี ก็เกิดความริษยา พูดติเตียน หรือทำการขัดขวางตัดรอนเป็นอวิชชาอย่างหนึ่ง

ซึ่งเป็นเครื่องทำลายโลกคือประชุมชน เพราะทำให้จิตใจมืดมิดมองไม่เห็นสัจจะในความชั่ว คือความริษยาของตนและในความดีของผู้ทำความดี

แม้ จะริษยาในความดีของเขาทั้งที่รู้ว่าเป็นความดีก็เป็นอวิชชาอยู่นั่นเอง เหมือนอย่างถ่มน้ำลายรดฟ้า ทั้งที่รู้ว่าน้ำลายนั้นจะต้องตกมาเปื้อนตัวเอง ทำดั่งนั้นไม่ชื่อว่าทำอย่างรู้แต่ชื่อว่าทำทั้งรู้ คือทำทั้งรู้ว่าไม่ควรทำ การไม่ทำอย่างรู้แต่ทำทั้งรู้เช่นนี้เป็นอวิชชาที่มีแต่ในคนพาล ไม่มีในบัณฑิต

O ผู้ที่ริษยาในความทำดีของคนอื่นนั้น บางทีกลับไปยินดีในความทำชั่ว ตลอดถึงในผลของความชั่วไม่ดีของคนอื่น ก็ยิ่งเป็นอวิชชาหนักเข้าไปอีก เพราะเห็นความชั่วเป็นความดีไป นี้ก็เป็นอวิชชาที่มีแต่ในคนพาล ไม่มีในบัณฑิตเช่นกัน

O ความเมาต่างๆ อันความเมาทั้งที่เป็นความเมาเหล้าและเมาเพราะเหตุต่างๆ มีความยกย่อง เป็นต้น เป็นอวิชชาทุกชนิด

เพราะ เมื่อเมาแล้ว ก็ทำให้ขาดปัญญาที่จะรู้สัจจะในสิ่งทั้งหลาย เมาเหล้าเรียกว่าเป็นเมาทางกาย สร่างเมาอาจจะเร็วกว่าเมาใจ คือเมาในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กายถูกต้อง และเรื่องที่ใจคิดที่ชวนใจให้เมา

เมา ในเสียงที่พูดยกย่อง เรียกว่าเมาในเสียงอย่างหนึ่ง ใครก็ตามเมื่อเกิดเมาขึ้นแล้ว ก็จะไม่รู้เหตุผลตามที่เป็นจริง ไม่มีใครจะพูดตักเตือนในขณะที่เมาได้ จะพูดกันให้เกิดความเข้าใจได้ก็ต่อเมื่อสร่างเมาแล้ว

O ความหลง คือ ความขาดปัญญาในลักษณะต่างๆ จนถึงความถือเอาทางผิดด้วยความเข้าใจผิด และความงุนงง ไม่พบทางออกเหมือนอย่างคนหลงทาง คนเราเผลอสติปัญญาเสียเมื่อใด ความหลงก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น

คนที่ถูก เขาหลอกลวงได้เพราะไปเชื่อในคำหลอกลวงของผู้หลอกลวง เรียกว่าเป็นคนหลงอย่างหนึ่งคือ หลงเชื่อสิ่งที่หลอกลวงมิใช่มีแต่คนภายนอก แต่เป็นความคิดเห็นหรือใจของตนเองก็มี จึงไม่ควรด่วนเชื่อใคร หรือแม้ใจตนเองทันที ควรใช้สติปัญญาให้เพียงพอ ถ้าสติปัญญาของตนไม่พอ ก็อาศัยผู้มีสติปัญญาผู้มีความปรารถนาดี

ความปล่อยจิตใจให้ซึมเหงา ง่วง อ่อนแอ เกียจคร้าน เก็บความสงสัยต่างๆ ไว้ ไม่คลี่คลายด้วยความพินิจพิจารณาโดยแยบคาย ก็เป็นความหลง ความหลงนี้เป็นอวิชชาอีกอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องปิดบังปัญญามิให้รู้เห็นในสัจจะแม้ที่น่าจะรู้เหมือนอย่างเส้นผม บังภูเขา

O คนเห็นผิด หรือที่เรียกเป็นคำศัพท์ว่า มิจฉาทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นผิดจากคลองธรรมอย่างแรง เช่น เห็นว่าการทำบาปทำบุญอะไรก็ไม่เป็นอันทำ คือไม่มีบาปไม่มีบุญ สักว่าเป็นกิริยาที่ทำเท่านั้น ทำแล้วก็แล้วไป ไม่เป็นบาปเป็นบุญอะไรที่สนองผลต่อไป เห็นว่าผลต่างๆ เช่น ความสุขทุกข์ที่ได้รับ ไม่มีเหตุคือมิใช่เกิดจากเหตุคือกรรม หรือเหตุอะไรอย่างอื่น แต่เกิดมีขึ้นตามคราว

หรือตามแต่จะประจวบ เหมาะเห็นว่าไม่มีอะไร เช่น มารดาบิดาไม่มี…บุคคลเกิดสืบกันมาตามพืชพันธุ์ สมณพราหมณ์ไม่มี ผลของทานไม่มี โลกนี้โลกหน้าไม่มี เป็นต้น เป็นอวิชชา เป็นโมหะอย่างแรง ความเห็นผิดอย่างนี้เมื่อดิ่งลงแล้วแก้ยาก

ความเห็นผิดชนิดที่ถือเอา สุดโต่ง เช่น โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด เป็นต้น ซึ่งไม่เป็นสัจจะและไม่เป็นประโยชน์ เป็นอวิชชาอีกอย่างหนึ่ง และความเห็นผิดจากอริยสัจจะ คือสัจจะของพระอริยะ เป็นอวิชชาอย่างละเอียดที่มีเป็นพื้นอยู่ในสามัญชนทั่วไป

O อวิชชาตามตัวอย่างที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงบางประการ ยังมีประการต่างๆ ของการกระทำที่แสดงออกมาจากอวิชชา อันจะพึงเรียกได้ว่าเป็นอวิชชาอีกมากมาย ประมวลกล่าวรวมเข้าได้ในอวิชชา ๘ คือ

๑. ความไม่รู้ในทุกข์
๒. ความไม่รู้ในเหตุเกิดทุกข์
๓. ความไม่รู้ในความดับทุกข์
๔. ความไม่รู้ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกสั้นว่า มรรค
๕. ความไม่รู้ในเงื่อนต้นหรือในอดีต
๖. ความไม่รู้ในเงื่อนปลายหรือในอนาคต
๗. ความไม่รู้ในทั้งเงื่อนต้นและเงื่อนปลายหรือทั้งอดีตและอนาคต
๘. ความไม่รู้ในธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น

O ข้อ ๑ ความไม่รู้ในทุกข์ คำว่าทุกข์มีความหมายดังนี้

(๑) ความทุกข์คือความไม่สบายกายไม่สบายใจที่ตรงกันข้ามกับสุข คือความสบายกายสบายใจ และหมายถึงวัตถุ คือสิ่งต่างๆ ที่เป็นที่ตั้ง คือเป็นที่ให้เกิดทุกข์ด้วย

(๒) ความไม่คงทนต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป และหมายถึงสิ่งที่ไม่คงทนทุกอย่างด้วย แม้ทุกข์สุขในข้อ (๑) ก็นับว่าเป็นทุกข์ในข้อนี้ ความไม่รู้ในทุกข์ก็คือความเห็นในทุกข์ว่าเป็นสุข หรือว่าไม่เป็นทุกข์

นึก ดูว่าทุกคนย่อมต้องการความสุข ไม่ต้องการความทุกข์ แต่ไฉนทุกคนจึงต้องพบกับความทุกข์ น้อยหรือมากอยู่ด้วยกัน บางคนดูน่าจะมีความสุขมากเพราะมีอำนาจมีทรัพย์มีบริวารมาก แต่กลับมีความทุกข์มาก บางคนดูน่าจะมีความทุกข์มาก เพราะไม่ค่อยจะมีอะไรเท่าไร แต่กลับมีสุขมาก

ต้องกล่าวว่าเพราะมี อวิชชาข้อนี้เป็นประการแรก คือไม่รู้ในทุกข์จึงไม่ยึดถือเอาทุกข์ไว้มากมาย เหมือนอย่างไปกำเอาไฟเข้าไว้ ไฟก็ไหม้มือให้ร้อน

O อันที่จริงอำนาจทรัพย์บริวาร เป็นต้น เป็นของกลางๆ ถ้าได้มาและใช้ไปในทางที่ถูกต้อง ก็จะเป็นคุณเกื้อกูลให้เกิดสุข แต่ถ้าได้มาและไม่ใช้หรือใช้ไปในทางที่ผิด ก็จะเป็นโทษก่อให้เกิดทุกข์เดือดร้อน

จึงสรุปได้ว่า ใครก็ตามที่แสวงหาให้ได้มาและเก็บไว้หรือใช้ไปในที่ผิด นั้นแหละเรียกว่าไม่รู้ในทุกข์ เพราะเท่ากับแสวงหาทุกข์ ก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ตน แต่เพราะไม่รู้ในทุกข์ก็อาจจะหลงคิดว่าเป็นสุข เท่ากับรู้สึกว่าเป็นสุขอยู่ในกองทุกข์ เหมือนอย่างแมลงเม่าที่โผเข้าหากองไฟ

O ข้อ ๒ ความไม่รู้ในเหตุเกิดทุกข์ คือ ไม่รู้ว่าข้อนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ ตลอดถึงไม่รู้ว่าข้อนี้เป็นเหตุแห่งสุขที่ตรงกันข้าม จึงไปดำเนินในทางที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ ถึงจะปรารถนาสุขแต่ไปดำเนินในทางแห่งทุกข์ก็จะไม่พบสุข

จึงเป็น อวิชชาอีกข้อหนึ่งคู่กับข้อที่ ๑ คือข้อที่ ๑ ไม่รู้ในผล ข้อที่ ๒ ไม่รู้ในเหตุ ทั้งสองข้อนี้รวมเป็นความไม่รู้ในสายทุกข์ อะไรเป็นเหตุแห่งทุกข์ อะไรเป็นเหตุแห่งสุข ทุกๆ คนย่อมจะคิดหาและย่อมจะพยายามกันอยู่แล้วที่จะปฏิบัติในเหตุแห่งสุขตามที่ แต่ละคนเห็น

เช่น ผู้ที่เห็นว่าทรัพย์เป็นเหตุแห่งสุข ก็ขวนขวายที่จะให้ได้ทรัพย์มา ผู้ที่เห็นว่าสิ่งใดอื่นเป็นเหตุแห่งสุข ก็ขวนขวายเพื่อจะได้สิ่งนั้น นอกจากนี้ เมื่อเห็นว่าการกระทำอันใดหรือทางใดเป็นเหตุแห่งสุขก็ทำหรือดำเนินในทางนั้น

O นี้ก็เป็นเรื่องสามัญทั่วไป แต่ก็น่าจะนึกเข้ามาถึงเหตุภายในที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ คือตรัสชี้ระบุว่าตัณหา คือ ความทะยานอยากเป็นเหตุแห่งทุกข์ ทุจริตคือความประพฤติชั่วทางกาย วาจา ใจ ต่างๆ สืบเนื่องมาจากตัณหาทั้งนั้น

ความ ประพฤติเบียดเบียนกันและกันตั้งแต่ส่วนน้อยจนถึงส่วนใหญ่ จึงเกิดจากตัณหาของคนนี้แหละ ฉะนั้นเมื่อยังมีความทะยานอยากอยู่ตามธรรมดาของสามัญชน ก็ควรให้อยากไปในทางดี ห้ามความอยากในทางที่ผิด ก็จะลดความทุกข์ลงได้มาก เพราะจะไม่ต้องไปประพฤติทุจริตต่างๆ ด้วยอำนาจของความทะยานอยาก

O ส่วนผู้ที่ห้ามความทะยานอยากในทางที่ผิดไม่ได้ ดังที่เรียกว่าเป็นทาสของตัณหา ต้องประพฤติทุจริตต่างๆ ก็ต้องประสบทุกข์เป็นผล สิ่งที่ได้มานั้นจะเป็นทรัพย์หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งน้อยหรือมากเพียงไรก็ตาม ย่อมเป็นเหมือนเชื้อที่นำมาสุมไฟคือตัณหา ส่งเสริมไฟคือตัณหาให้กองโตขึ้น กินเชื้อมากขึ้น

คิดดูให้ดีแล้วจะเห็นว่าเท่ากับป้อนเชื้อให้แก่ไฟ ไม่มีประโยชน์อะไรที่แท้จริงแก่ชีวิต มีแต่ทุกข์โทษเดือดร้อน แต่ก็ยากที่จะมองเห็นตัณหาว่าเป็นเหตุแห่งทุกข์เพราะอวิชชามากำบังไว้

O ข้อ ๓ ความไม่รู้ในความดับทุกข์ เมื่อยังดับไฟคือตัณหาไม่ได้ ยังป้อนเชื้อให้อยู่เสมอ คือยังทำอะไรไปตามความปรารถนาต้องการ ไม่เลือกว่าผิดหรือถูก ต้องการแต่จะให้ได้มาเท่านั้น ก็ยังไม่รู้จักความดับทุกข์ แม้จะเข้าใจว่ามีความสุข เช่น เมื่อได้อะไรมาก็เกิดความสุขโสมนัสเพราะสมปรารถนา และได้ใช้บำรุงความสุขต่างๆ

แต่พิจารณาดูให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่า ความสุขโสมนัสนั้นมีขึ้นประเดี๋ยวหนึ่ง เช่นเดียวกับเมื่อนำเชื้อใส่ให้ไฟๆ ก็กินเชื้อ สว่างโพลงขึ้นครู่หนึ่งแล้วก็ลดความสว่างลงไปตามส่วนแห่งเชื้อที่หมดไป ต้องหาเชื้อใหม่มาให้อีกจึงจะสว่างขึ้นอีก

O ความสุขโสมนัสก็เช่นกัน เกิดขึ้นแล้วก็หายไปในเวลาไม่ช้านัก สิ่งที่มีอยู่ก็เหมือนกองเถ้าถ่านไม่เป็นที่ต้องการของไฟตัณหา เพราะตัณหาต้องการของใหม่ๆ อีก

ส่วนประโยชน์การใช้สอยจริงของแต่ละคน มีไม่เท่าไร เช่น ข้าวที่บริโภคก็มีปริมาณจำกัด เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย เป็นต้น ก็เช่นเดียวกัน การแสวงหาเท่าที่ร่างกายต้องการบริโภค ดูก็ไม่เป็นภาระมากมายอะไรนัก แต่ที่เป็นภาระมากก็คือเพื่อให้เป็นที่พอใจหรือเพื่อเสนอสนองตัณหาซึ่งไม่มี เวลาที่จะพอได้ จึงไม่มีโอกาสที่จะได้พบความสุขที่ถาวร ที่เป็นความดับทุกข์ได้แท้จริง

O อะไรเป็นความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสชี้ระบุไว้ว่า คือความดับตัณหาเสีย เพราะตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์ เมื่อดับเสียได้ก็เป็นความดับทุกข์

คิด ดูง่ายๆ อย่างสามัญว่าเพียงดับตัณหาชนิดหยาบ ที่เป็นเหตุให้ทำทุจริตได้อย่างเดียว ก็ดับทุกข์ได้มากมาย สามัญชนดับตัณหาได้เพียงเท่านี้ก็พอสมควร แต่เพราะอวิชชามากำบังจึงไม่รู้ในความดับทุกข์ว่าคือความดับตัณหาเสีย

O ข้อ ๔ ไม่รู้ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกสั้นว่ามรรค ไม่รู้ในข้อนี้ย่อมเป็นเหตุให้ปฏิบัติไปในทางที่ผิดคือในทางก่อทุกข์ แทนที่จะเป็นทางดับทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงชี้ระบุไว้ชัดเจนว่า ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นั้นคือมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ

สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ (สองข้อนี้ย่อในปัญญาสิกขา)

สัมมาวาจา เจรจาชอบ

สัมมากัมมันตะ การงานชอบ

สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ (สามข้อนี้ย่อลงในศีลสิกขา)

สัมมาวายามะ เพียรพยายามชอบ

สัมมาสติ ระลึกชอบ

สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ (สามข้อนี้ย่อลงในจิตตสิกขา)

เมื่อปฏิบัติในทางแห่งตัณหา ซึ่งเป็นทางแห่งทุกข์ แม้จะปรารถนาความสิ้นทุกข์หรือความดับทุกข์ก็ไม่อาจถึงได้

คน ที่ต้องเป็นทุกข์เดือดร้อนต้องประพฤติทุจริตต่างๆ แม้จะมีอำนาจทรัพย์บริวาร เป็นต้น มากมาย และแทนที่จะมีในทางที่เป็นประโยชน์กลับมีในทางที่เป็นโทษ เพราะปฏิบัติไปในทางแห่งตัณหา

http://www.watpanonvivek.com/index.php/section-table/2012-07-14-12-23-28/621–m—m-s

. . . . . . .