หลวงปู่บุดดา ถาวโร อริยสงฆ์ แห่งบางระจัน

หลวงปู่บุดดา ถาวโร อริยสงฆ์ แห่งบางระจัน

“อย่าเห็นว่า ผ้าเหลืองๆ จะเป็นพระทั้งหมด พระอยู่ที่ความบริสุทธิ์”

วาทะข้างต้นคือสิ่งที่ “หลวงปู่บุดดา ถาวโร” แห่งวัดกลางชูศรีเจริญสุข
อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี พระกรรมฐานรุ่นอาวุโสแห่งยุคสมัย
ซึ่งมีวัยพัน ๑๐๐ ปี บริบูรณ์ไปเมื่อเดือน มกราคม ๒๕๓๗ และ
เพิ่งละสังขารไปหมาด ๆ มักกล่าวเตือนสติสาธุชนที่เข้านมัสการ
สนธนาธรรมไว้ตอนหนึ่งเสมอ
เป็นที่ทราบกันดีในหมู่พระกรรมฐานและศาสนิกชนนักปฏิบัติ
ทั่วไปว่า สำหรับหลวงปู่นั้น นอกเหนือจากท่านจะเป็นพระที่มี
อาวุโสรูปหนึ่งของประเทศแล้ว ปฏิปทาวัตรปฏิบัติของท่านยังงาม
พร้อมสรรพ โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมนั้นว่าท่านได้บำเพ็ญเพียร
ก้าวล่วงสู่ความเป็น “อริยะ” ได้อย่างเต็มภาคภูมิชนิดญาติโยม
สามารถกราบไหว้ ได้อย่างสนิทมือสนิทใจทีเดียว
ในช่วงระยะที่ผ่านมา สหายทางธรรมรูปสำคัญยิ่งของหลวงปู่บุดดา
ที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างกว้างขวางจากมหาชนก็คือ “หลวงปู่สงฆ์ พรหมสโร”
แห่งวัดอาวุธวิกสิตาราม กรุงเทพมหานคร ซึ่งมรณภาพไปก่อนหน้าแล้ว
เมื่อปี ๒๕๑๙ และหลวงปู่สงฆ์รูปนี้นี่เอง ที่เคยกล่ายกย่องหลวงปู่บุดดาไว้เสมอ
ยามมีชีวิตอยู่ว่า “ท่านเป็นพระสุปฏิปันโนที่สูงส่งด้วยธรรมเป็นอย่างยิ่ง”
กล่าวสำหรับหลวงปู่สงฆ์นั้นท่านเป็นชาวศรีษะเกษ เกิดในปี พ.ศ. ๒๔๒๗
ออกบวชที่จังหวัดปราจีน ปี พ.ศ.๒๔๖๔ และก่อนหน้าที่จะไปพำนักอยู่ที่
วัดอาวุธวิกสิตาราม กระทั่งมรณภาพ ท่านได้จาริกแสวงหาโมกขธรรม
ไปตามป่าเขาลำเนาไพร แทบจะทั่วทั้งภาคอิสานและภาคเหนือ
ส่วนหลวงปู่บุดดานั้นท่านเป็นชาวลพบุรี เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๓๗
อันตรงกับขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย ที่บ้านหนองเต่า ตำบลพุคา อำเภอโคกสำโรง
ท่านเป็นบุตรของนายน้อยและนางอึ่ง มงคลทอง ซึ่งประกอบอาชีพทำนา
โดยท่านมีพี่น้องร่วมท้อง ๗ คน แยกเป็นชาย ๔ คน หญิง ๓ คน
มีเรื่องเล่าในวัยเด็ก หลวงปู่บุดดา สามารถระลึกชาติได้ตั้งแต่อายุเพียง ๑๐ ขวบ
ทว่าระยะนั้นหามีใครใส่ใจต่อสิ่งที่หลวงปู่พร่ำพรรณนาให้แม่ฟังไม่
เพราต่างพากันเข้าใจว่าเป็นความซุกซนตามประสาเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษา
เนื่องจากสมัยนั้นในบริเวณละแวกบ้านเกิดของท่านยังไม่มีโรงเรียนที่จะให้การศึกษา
อย่างไรก็ตาม ปี พ.ศ.๒๔๕๘ พออาย่ครบ ๒๑ ปี หลวงปู่ได้เข้าเป็นทหารเกณฑ์
ในสังกัดทหารบก ปืน ๓ จังหวัดลพบุรี ของกองทัพบก ซึ่งสมัยนั้นตรงกับรัชสมัย
ของรัชกาลที่ ๖ โดยท่านรับราชการทหารอยู่นาน ๒ ปีเต็ม และระหว่างการเป็นทหารนี่เอง
ท่านได้มีโอกาสฝึกการเรียนเขียนอ่านควบคู่ไปด้วย จนสามารถใช้การได้ดีพอควร
ว่ากันว่าชีวิตในช่วงระยะแห่งการสวมเครื่องแบบ สีขี้ม้านี้ จะเป็นด้วยศักดิ์ศรี
ของความเป็นรั้วของชาติหรือบุคลิกหน้าตาของท่านหรืออย่างไร ไม่ชัดเจน
ปรากฏว่าได้มีสาวๆ ละแวกค่ายทหารไปติดพันท่านอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย
แต่สิ่งที่หลวงปู่มักยกขึ้นกล่าว อ้างกับบรรดาสาวละอ่อนเหล่านั้น
จนไม่มีใคร กล้ากระแซะเข้าใกล้อีกก็คือ

“กลับไปเถอะ ฉันเป็นทหารตัวเมีย ไม่ชอบผู้หญิง ถ้า

ไปเจอทหารตัวผู้คนอื่นเข้าจะลำบาก”

หลวงปู่บุดดาเล่าว่า หลังปลดจากการเป็นทหาร ท่านได้กลับไปใช้ชีวิตร่วมกับ
ครอบครัวอยู่อีก ๔ ปี โดยระหว่างนั้นนอกเหนือจากการทำนาท่านยังหมกมุ่น
ครุ่นคิดถึงแต่เรื่องการบวชอยู่ตลอด เนื่องเพราะเหตุแห่งการรำลึกถึงอดีต
อันเวียนว่ายข้ามภพข้ามสมัย ได้ส่งผลให้ท่านเกิดความเบื่อหน่ายต่อทางโลก
อย่างรุนแรง รุนแรง, จนที่สุดเมื่ออดรนทนไม่ไหว ท่านจึงขออนุญาตพ่อแม่
เพื่อออกบวช ซึ่งท่านก็ได้รับการสนับสนุนดียิ่ง ดังนั้นในวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๕
ท่านจึงอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดเนินยาว ตำบลโพนทอง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
มีพระครูธรรมขันธ์สุนทรเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูเรืองเป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ
ได้รับฉายาว่า “ถาวโร ภิกขุ” นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ในพรรษาแรก แห่งการบวชกล่าวไปแล้ว หลวงปู่มีข้อแตกต่าง
จากพระหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกันอยู่ไม่น้อย เนื่องจากพอเริ่มบวช
ท่านก็เริ่มฝึกปฏิบัติกรรมฐานกับพระอุปัชฌาย์อย่างเอาจริงเอาจัง
ชนิดไม่รั้งรอทีเดียว แถมยังเคร่งครัดต่อข้อวัตรอย่างยิ่ง พร้อมทั้ง
ยังถือธุดงควัตรในบางข้อ อาทิ ครองผ้าสามผืน, บิณฑบาตเป็นประจำ
รวมทั้งฉันมื้อเดียว เป็นต้น
“เรียนธรรมะนั้นไม่เสียค่าเทอม ไม่เสียอะไรเลย มีแต่ได้

ฉะนั้นเราอยากฉลาดหรือโง่เล่า ? เรียนต้องเรียนข้างในคือทำความรู้กับปัจจุบัน

จิตขณะนี้เป็นอย่างไร เป็นสมาธิ เป็นศีล เป็นปัญญา เรียนธรรมะต้องเรียนเอง

สอนตัวเองอยากรู้ก็ถามตัวเอง เรียนเองเอาสิ ศาสนธรรมอยู่ที่ตาธรรม

หูธรรม จมูกธรรมลิ้นธรรมวาจาธรรม ใจธรรม ศาสนาอยู่ที่ กายยาววา หนาคืบ

กว้างศอกนี้เอง เห็นเป็นกลางทั่วไปทั้งภายในและภายนอก ผู้ปฏิบัติต้องเห็น
อย่างนี้

จึงเรียกว่าเห็นธรรม” ท่านว่า

หลังออกพรรษาปีถัดมา หลวงปู่ได้ออกธุดงค์เป็นครั้งแรกในชีวิต
โดยท่านธุดงค์ไปถึงจังหวัดหนองคายและจากนั้นได้เดินทาง
ย้อนกลับเข้าจำพรรษาอยู่ที่วัดผดุงธรรม จังหวัดลพบุรี แต่ระหว่างพรรษานี้เอง
“ความอยากแห่งราคะ” ได้โหมกระพือกระหน่ำเข้าสู่จิตใจท่านอย่างหนัก
แม้ท่านจะพยายามหาอุบายต่าง ๆ นานาเข้าระงับ แต่ก็ดูจะไม่ค่อยเป็นผลเท่าใด
ที่สุด, เมื่อเห็นจวนเจียนจะพ่ายแพ้อย่างยับเยินพอออกพรรษา หลวงปู่จึงงัดไม้ตาย
ขั้นสุดท้ายออกต่อกร โดยท่านได้แบกกลดเดินลิ่วออกจากวัดมุ่งหน้าสู่ป่าลึก
แถบจังหวัดเพชรบูรณ์ทันที และระหว่างใกล้ค่ำของวันหนึ่ง ณ กลางป่ากว้าง
ท่านปรารภกับตนเองว่า

“ราคะเอ๋ย เราอยู่วัดก็ห้ามเจ้าไม่ฟัง ห้ามหัวค่ำมา

เช้ามืด

ห้ามเช้ามืดมาหัวค่ำ เอ้า…บัดนี้เจ้าอยู่ที่ไหน รีบมาซะ

ประเดี๋ยวเสือจะมากินเราแล้ว

อยู่วัดห้ามเจ้าไม่ฟังขนาดอยู่ในมุ้งยังรอดไปหาเรา”

ปรารภเสร็จ หลวงปู่ก็จัดแจงปักกลดและเข้าไปนั่งหลับตาภาวนาอย่างสงบ
แต่แล้วระหว่านั้นเอง ได้มีเสียงคำรามของเสือดังขึ้นสนั่นป่า และจากนั้น
ยังมีเสียงดังขึ้นเป็นระยะ ๆ เคลื่อนตัวใกล้เข้ามาทุกขณะ ๆ กระทั่งมาหยุด ณ เบื้องหน้า

“ตอนนั้นอาตมานึกแต่ว่า ราคะเอ๋ย เจ้าตายวันนี้

แหละ แต่แปลก

ราคะมันไม่ยอมโผล่มาให้เห็นอีกเลย จิตมันนิ่งสงบมีแต่ความรู้สึก

ที่เบาสบายเหมือนตัวจะลอยอย่างงั้นแหละ กระทั่งรุ่งเช้าคลายออก

จากสมาธิ จึงรู้ว่า อ้าว…เรานั่งอยู่นี่ไม่ได้ลอยไปไหน อ้าว…เสือก็หาย

ราคะก็หาย โอ้…โอ้ราคะนี่มันกลัวเสือ มันเปิดหายไปเลยนับแต่นั้น”

ปีเดียวกันหลวงปู่บุดดาว่า หลังธุดงค์ออกจากจังหวัดเพชรบูรณ์
ท่านได้มุ่งหน้าไปยังจังหวัดหนองคาย แล้วข้ามแม่น้ำโขงไปยังเมือง
เวียงจันทร์ ประเทศลาว แต่ปรากฏอยู่ที่นั่นได้ไม่ถึงเดือน ท่าก็ย้อนกลับ
ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านทุ่ง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
กระทั่งออกพรรษาจึงธุดงค์ตัดเข้าสู่เทือกเขาภพานแต่เพียงลำพัง

“การไปคนเดียวนี่มันสบายดี ไม่วุ่นวายดีหากธรรมะ

ไม่ลงกัน

อย่าไปด้วยกันเลย องค์หนึ่งจะไป อีกองค์หนึ่งจะอยู่ ไม่ถูกกันหรอก

ไปองค์เดียวถึงไม่มีใครใส่บาตรก็ไม่กลัวอด กลัวตาย เกิดแก่เจ็บตาย

เป็นเรื่องของโลกเขา ไม่ใช่เรื่องของเราเราเอาธรรมะอย่างเดียว

ยึดธรรมอย่างเดียว อยู่กับธรรมะ ให้ธรรมรักษา”

สำหรับธุดงค์เข้าสู่เทือกเขาภูพานครั้งนี้กล่าวไปแล้วแม้ด้านหนึ่ง
หลวงปู่บุดดา จะประสบความยากลำบากอย่างแสนสาหัสแต่เมื่อพิจารณา
ถึงผลที่ท่านได้รับแล้วกลับมากมายมหาศาลสุดพรรณนาทีเดียว
โดยเฉพาะการเจริญกรรมฐานนั้นมีบันทึกไว้ว่า บางครั้งท่านโหม กระหน่ำ
ถึงขนาดยอมอดอาหารเป็นสัปดาห์ ๆ ทำให้การปฏิบัติของท่านก้าวรุดหน้าไปมากมาย
นอกจากนั้น ในระหว่างนี้เองที่ท่านได้มีโอกาสพบกับ “หลวงปู่สงฆ์ พรหมสโล”
ซึ่งออกธุดงค์เช่นกันในกลางป่าและได้เกิดถูกอัธยาศัยกัน
ดังนั้นนับจากนั้น ทั้งคู่จึงธุดงค์ปฏิบัติธรรมร่วมกันเรื่อยมา
จากอิสานถึงภาคกลาง ละเรื่อยไปกระทั่งถึงจังหวัดนครสวรรค์
หลวงปู่บุดดาและหลวงปู่สงฆ์ ได้เข้าปักหลักปฏิบัติธรรมอยู่ที่ถ้ำภูคา
อำเภอตาคลี ร่วมกันอีกช่วงหนึ่ง โดยการปฏิบัติ ณ สถานที่แห่นี้
เล่ากันว่าถือเป็นระยะปฏิบัติที่สำคัญยิ่งของทั้งสองรูป เนื่องจากข้ออรรถข้อธรรม
ที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อน ทั้งคู่ก็สามารถทำความเข้าใจได้ที่นี่ สิ่งต่างๆที่ไม่เคยกระจ่างมาก่อน
ทั้งคู่ก็สามรถทำความกระจ่างได้ที่นี่ สิ่งที่ไม่เคยเชื่อมาก่อน ทั้งคู่ก็ได้ประสบข้อยืนยัน
อันเกิดจากการปฏิบัติได้ที่นี่

“มันรู้สึกสว่างแจ้งไปหมด รู้สึกว่าไม่มีตัวตน เห็นชัด

ทุกอย่างทุกอย่าง

รอบตัวเป็นปรมัตถธรรม สิ่งสมมติขึ้นมา ทุกอย่างเป็นธรรมหมด

ไม่ใช่ของใครสัพพัญญูพุทธะ สาวกพุทธะ มันไม่มีตัวมีตน

ธรรมต่างหากที่ทรงไว้ คงอยู่ในจิตของตนเอง พูดกันแต่เรื่อง ปริยัติ ปฏิบัติ

ไม่มีใครชนะใครหรอกมันติดอยู่ในสมมติบัญญัติต่างหาก”

“รู้อดีต ปัจจุบัน อนาคตของตัวเอง ไม่ใช่ไปเรียน

พระพุทธเจ้าเป็นใคร

ไปนิพพานอย่างไร นั่นเขาเรียกนิพพานในอนาคต รู้ตัวเองดีกว่า

ให้รู้ว่ากายกับจิต มันเนื่องกันอย่างไร คนขับรถต้องนำรถไป

ไม่ใช่ให้รถมันพาไป ถ้าไม่รู้ทางก็เข้าป่าเข้ารก”

ในปี พ. ๒๔๗๐ หลวงปู่บุดดา ได้แยกกับหลวงปู่สงฆ์ โดยก่อนจาก
ท่านได้ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ไว้ที่ถ้ำภูคา ๑ องค์เพื่อเป็นอนุสรณ์
หลังจากนั้นหลวงปู่ได้จาริกสั่งสอนญาติโยม ตลอดจนแสวงหาความวิเวกไปเรื่อย ๆ
ตามจังหวัดต่าง ๆ กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ท่านได้ไปพำนักอยู่ที่วัดราชาธิวาส กรุงเทพ ฯ
อยู่ระยะหนึ่ง และช่วงนี้เองท่านได้มีโอกาสพบกับพระยานนรรัตนราชมานิต
หรือท่านธัมมวิตักโก ภิกขุ หรืที่ชาวบ้านรู้จักกันในนาม “เจ้าคุณนรฯ” ที่วัดเทพศิรินทร์
โดยท่านแลกเปลี่ยนความรู้ทางธรรมซึ่งกันและกันถึง ๘ วันเต็ม ๆ
จากนั้นท่านได้เข้าจำพรรษาอยู่ที่วัดสัมพันธวงศ์ ตามคำนิมนต์ของญาติโยม
แล้วเดินทางไปพำนักต่อที่วัดเนรัญชรา ซึ่งเป็นวัดฝ่ายธรรมยุต และวัดบุญทวี (ถ้ำแกลบ)
จังหวัดเพชรบุรี เป็นลำดับและ ณ จังหวัดเพชรบุรีแห่งนี้ ท่านได้มีโอกาสพบกับ
ท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม ซึ่งเป็นพระอ่อนอาวุโสกว่า
แต่ก็ได้คบหากันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ หลวงปู่บุดดา ได้ย้อนกลับไปพำนักที่วัดราชาธิวาส กรุงเทพ ฯ
อีกครั้ง แต่ปีเดียวกันนี้ท่านได้ทราบว่า “ครูบาศรีวิชัย” นักบุญแห่งล้านนาได้ต้องอธิกรธ์
ถูกพาตัวไปสอบสวนที่วัดเบญจมบพิตร ท่านจึงรุดไปกราบเยี่ยม ทว่าระหว่าเข้าพบและ
สนธนาธรรมอยู่ด้วยกันนั้นครูบาศรีวิชัยสังเกตเห็นว่าหลวงปู่ไม่พาด สังฆาฏิ
ท่านจึงทักท้วงด้วยเอ็นดูว่า

“เฮาเป็นนายฮ็อยก็ต้องให้เข้าฮู้ว่าเป็นนายฮ็อยไม่

ใช่นายสิบ”

จากการทักท้วงดังกล่าว หลวงปู่เล่าว่า นับแต่นั้นมาท่านจะพาด สังฆาฏิ ติดตัวอยู่เสมอมามิได้ขาด
อย่างไรก็ตาม สำหรับวิถีชีวิตของหลวงปู่บุดดาในช่วงระยะถัดจากนั้น
ท่านมักจาริกไปตามจังหวัดต่าง ๆ และมักจะเข้าแรกเปลี่ยนสนธนาธรรมกับพระผู้ใหญ่
ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากอีกหลายรูป อาทิ หลวงพ่อสด จันทสโล แห่งวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) แห่งวัดบรมนิวาส,พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถร
และพระครูวิหารกิจจานุการ หรือหลวงพ่อปานแห่งวัดบางนมโค อยุธยา เป็นต้น
กระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เนื่องจากสังขารชราภาพลงเป็นลำดับ
หลวงปู่จึงเข้าปักหลักพำนักอยู่ที่วัดกลางชูศรีเจริญสุข อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี
ตามคำนิมนต์ของหลวงปู่เย็น ทานรโต เจ้าอาวาสวัดรูปแรกเรื่อยมา
โดยมีพระมหาทอง กาญจโน ลูกศิษย์ของหลวงปู่สงฆ์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง
เป็นเจ้าอาวาสวัด คอยให้การอุปัฎฐากมาอย่างเสมอต้นเสมอปลายจนถึงวาระสุดท้ายแห่งสังขาร

“ถึงมาอยู่วัด วัดก็ไม่ใช่ของเรา ของเรามีเพียงหนัง

ห่อร่างอยู่เท่านั้น”

คัดจากหนังสือ: ทัพธรรมกรรมฐาน

http://board.palungjit.org

. . . . . . .