มาร ๕?(๒) ›››››สมเด็จพระญาณสังวร

มาร ๕?(๒)
›››››สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
การปฏิบัติพระพุทธศาสนา กล่าวโดยย่อก็เพื่อประโยชน์ ๓ ประการ คือประโยชน์ปัจจุบันอันเรียกว่า?ทิฏฐธัมมิกัตถะ?ประโยชน์ที่บังเกิดขึ้นในธรรมะคือข้อที่เห็นได้ อันหมายถึงว่าเห็นได้ในปัจจุบัน?สัมปรายิกัตถะ?ประโยชน์ภายหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง อันเรียกว่า?ปรมัตถะ?อันหมายถึงมรรคผลนิพพาน คือธรรมะที่ตัดกิเลสและกองทุกข์ ได้บางส่วนจนถึงสิ้นเชิง

ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ภายหน้า

พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนคฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือน อันเรียกว่าฆราวาส ให้ปฏิบัติในประโยชน์ปัจจุบัน และประโยชน์ภายหน้า ทรงสั่งสอนบรรพชิตคือผู้บวชในพุทธศาสนา ตลอดจนถึงฆราวาส คฤหัสถ์
ผู้มุ่งประโยชน์ที่สูงขึ้นไป ให้ปฏิบัติในธรรมะอันเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง คือมรรคผลนิพพาน อันเรียกว่า?ปรมัตถประโยชน์?นั้น

ปรมัตถประโยชน์

สำหรับในการปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน หรือกล่าวอย่างง่ายๆ ว่าเพื่อละกิเลสและกองทุกข์นั้น กล่าวโดยย่อก็คือปฏิบัติในไตรสิกขา อันได้แก่ศีลสมาธิปัญญา เมื่อกล่าวโดยจำแนกออกไปอีกก็ได้แก่มรรคมีองค์ ๘ มรรคมีองค์ ๘ นี้ สรุปเข้าก็เป็นศีลสมาธิปัญญานั้นเอง เพราะฉะนั้น บรรพชิตคือผู้บวชในพระพุทธศาสนา ตามความมุ่งหมายตั้งแต่ต้นมา ก็มุ่งบวชเพื่อปฏิบัติละกิเลสและกองทุกข์ อันเป็นปรมัตถประโยชน์ดังกล่าวมานั้น
อนึ่ง แม้ว่าในเวลาต่อมาถึงปัจจุบัน จะมีการบวชชั่วระยะเวลาอันสั้น เพื่อเข้ามาศึกษาปฏิบัติพระธรรมวินัยที่ภิกษุจะพึงศึกษาปฏิบัติ อันเป็นข้อปฏิบัติเพื่อละกิเลสและกองทุกข์ ก็คงปฏิบัติอยู่ในหลักแห่งศีลสมาธิปัญญานั้นเอง ถึงว่าคฤหัสถ์ฆราวาสผู้ที่ต้องการประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ภายหน้า เมื่อรวมเข้ามาแล้วก็คงปฏิบัติอยู่ในหลักแห่งศีลสมาธิปัญญาด้วย เป็นแต่เพียงว่าผ่อนลงมาในรายละเอียดทั้งหลาย ที่แบ่งแยกออกเป็นข้อๆ ให้น้อยเข้า พอเหมาะพอควรแก่ความเป็นคฤหัสถ์ฆราวาส เช่นว่า ศีลของภิกษุมีจำนวนที่กำหนดกันไว้สำหรับแสดงที่มาในพระปาติโมกข์ ๒๒๗ ข้อ คือจำแนกออกเป็นข้อๆ เป็นรายละเอียด ก็เป็น ๒๒๗ ข้อ แต่สำหรับคฤหัสฆราวาสก็เป็นศีล ๕ ศีล ๘ จำแนกออกเป็น ๕ ข้อ ๘ ข้อ ดั่งนี้เป็นต้น ซึ่งก็รวมเข้าในคำว่าศีลนั้นเอง
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์ ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต ก็คงปฏิบัติอยู่ในศีล แม้สมาธิและปัญญาก็เช่นเดียวกัน ก็คงปฏิบัติอยู่ในสมาธิและในปัญญา เพื่อให้บรรลุถึงสันติคือความสงบกาย สงบวาจา สงบใจ และโดยตรงก็คือสงบใจ อันเป็นหลักสำคัญ จึงมาปฏิบัติทำจิตตภาวนา ทั้งในขั้นสมาธิ และในขั้นปัญญาอยู่ด้วยกัน
สันติของใจเรียกว่านิพพาน

ดั่งที่มาปฏิบัติกันอยู่นี้ ก็มุ่งที่จะทำให้จิตใจบรรลุถึงความสงบ ก็คือสงบจากกิเลสอันเป็นส่วนเหตุ สงบจากความทุกข์อันเป็นส่วนผล ที่เกิดจากเหตุ คือสงบกิเลส สันติคือความสงบดังกล่าวนี้ เป็นข้อมุ่งหมายแห่งการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา และก็มีความหมายที่รวมได้ถึงคำที่ว่ามรรคผลนิพพาน หรือว่าพ้นกิเลส พ้นทุกข์ ละกิเลส ละทุกข์ คำเหล่านี้ก็รวมอยู่ได้ในคำว่าสันติ
เพราะฉะนั้นจึงได้มีพุทธศาสนสุภาษิต ที่แสดงไว้ว่า ความบริสุทธิ์จากกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจทั้งหลาย เป็นความดับจากทุกข์ทั้งปวง นั้นคือสันติของใจ ซึ่งเรียกว่านิพพาน เพราะฉะนั้น ตามพุทธศาสนสุภาษิตที่แปลมานี้ ที่เรียกว่านิพพานนั้นก็คือสันติของใจ หรือความสงบของใจ ความสงบของใจนั้นก็ได้แก่ ความดับจากทุกข์ทั้งสิ้น และความดับจากทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ก็เพราะวิสุทธิ คือบริสุทธิ์จากกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจทั้งหมด การปฏิบัติเพื่อวิสุทธิคือความบริสุทธิ์ จากเครื่องเศร้าหมองใจทั้งหมด จึงเป็นไปเพื่อความดับจากทุกข์ทั้งสิ้น นี้แหละคือสันติของใจ ความสงบของใจ ที่เรียกว่านิพพาน
ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมะในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์ ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต เช่นมาปฏิบัติทำจิตตภาวนากันอยู่นี้ ? ??จึงเป็นการปฏิบัติเพื่อสันติของใจที่เรียกว่านิพพานนั้นเอง อันจะพึงถึงได้ด้วยการปฏิบัติให้จิตนี้บริสุทธิ์จากกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจทั้งหลาย อันส่งผลให้เป็นความดับจากทุกข์ทั้งหลาย การปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญา ก็เพื่อสันติของใจดังที่กล่าวมานี้
สันทิฏฐิกนิพพาน

และได้มีพระพุทธภาษิตที่แสดงไว้ถึง?สันทิฏฐิกนิพพาน?คือนิพพานที่เห็นได้ในปัจจุบัน หรือ?ทิฏฐธรรมนิพพาน?นิพพานที่เห็นได้ในปัจจุบัน อันหมายถึงสันติของใจ แม้ที่ทุกคนผู้ปฏิบัติธรรมะได้บรรลุถึงกันอยู่ แม้ว่าจะเพียงชั่วครั้งชั่วคราว เช่นได้บรรลุถึงอยู่ในขณะที่ปฏิบัติธรรมะ

เช่นในขณะที่ปฏิบัติทำจิตตภาวนา ใจบริสุทธิ์จากกิเลสกองโลภโกรธหลงทั้งหลาย ไม่มีทุกข์อยู่ในใจ ในขณะที่จิตบริสุทธิ์นี้ใจจึงสงบ แม้เพียงเท่านี้ก็เป็นทิฏฐธรรมิกะนิพพาน หรือสันทิฏฐิกะนิพพาน นิพพานที่เห็นได้ในปัจจุบัน ของผู้ปฏิบัติทั่วไปได้ ซึ่งบังเกิดขึ้นชั่วขณะ หรือชั่วครั้งชั่วคราวก็ตาม และอาศัยการปฏิบัติแม้ชั่วครั้งชั่วคราวนี้ ได้ความสงบของใจ เมื่อปฏิบัติบ่อยๆ เข้าก็ย่อมจะได้มากขึ้น นานขึ้น จนถึงสามารถบริสุทธิ์จากกิเลสได้จริงๆ อย่างเด็ดขาด ก็จะทำให้ได้ความดับทุกข์อย่างเด็ดขาด ได้สันติของใจอย่างเด็ดขาด จนถึงเด็ดขาดในที่สุด
ก็เป็นปัจจุบันอีกเหมือนกัน คือเป็นสันทิฏฐิกะ เป็นทิฏฐธรรมอีกเหมือนกัน คือเห็นได้ในปัจจุบัน อันหมายความว่าไม่ต้องไปรอในภายหน้า เช่นไปรอว่าต้องพรุ่งนี้ ต้องมะรืนนี้ ต้องปีหน้า ต้องชาติหน้า
แต่หมายความว่าเห็นกันได้เดี๋ยวนี้ วันนี้ เวลานี้ อันหมายถึงว่าเวลาที่สามารถปฏิบัติทำจิตให้เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาขึ้นมาได้ บริสุทธิ์จากกิเลสทั้งหลายได้ ทุกข์ทั้งหลายดับไปได้ สันติของใจก็มีได้ มีได้ให้เห็นได้ ให้รู้ได้ ในเดี๋ยวนี้ ในวันนี้ ไม่ต้องรอไปว่าต่อจากเดี๋ยวนี้ หรือพรุ่งนี้เป็นต้นดังที่กล่าวมาแล้ว ดั่งนี้แหละธรรมะจึงเป็น?สันทิฏฐิโก?ที่เห็นได้เองในพุทธศาสนา เห็นได้ในปัจจุบัน และแม้ว่าจะเป็นชั่วครั้งชั่วคราวก็ไม่เป็นอะไร เพราะทีแรกก็ต้องชั่วครั้งชั่วคราวไปก่อน และเมื่อทำบ่อยๆ ทำมากๆ เข้า ได้บ่อยๆ ได้มากๆ เข้า ก็จะยืดยาวยิ่งขึ้น จะมากยิ่งขึ้น จนถึงบริสุทธิ์บริบูรณ์ เต็มรอบในที่สุดดังที่กล่าวมาแล้ว

มาร

อนึ่ง ในการปฏิบัติธรรมะในพุทธศาสนา เพื่อบรรลุถึงสันติของใจ ที่เรียกว่านิพพาน แม้ที่เป็นชั่วครั้งชั่วคราว ที่เป็นปัจจุบันดังกล่าวมานั้น ก็จะต้องมีประสบมารทั้งหลาย มีขันธมารเป็นต้น เป็นเครื่องขัดขวางต่อการปฏิบัติ ทำให้การปฏิบัติเพื่อชำระกิเลส เพื่อให้บริสุทธิ์จากกิเลสนี้เป็นไปไม่ได้สะดวก ทำให้ดับทุกข์เป็นไปไม่ได้สะดวก ทำให้สันติของใจเกิดขึ้นมาได้ยาก ไม่ค่อยจะได้
ความหมายของขันธมาร

ข้อแรกก็คือขันธมาร มารคือขันธ์ ได้แก่ขันธ์ ๕ ย่อเข้ามาก็เป็นนามรูป คือกายใจนี้เอง ซึ่งในการปฏิบัติธรรมะดังที่กล่าวโดยย่อ คือศีลสมาธิปัญญานั้น ก็ต้องใช้กายใจนี้เองปฏิบัติ แต่ว่ากายใจนี้ก็คร้าน คือเกียจคร้านที่จะปฏิบัติ หรือว่าท้อแท้ทางกายท้อแท้ทางใจ ไม่ต้องการที่จะปฏิบัติ อดทนต่อหนาวร้อนหิวระหาย และเครื่องที่มาทำให้เกิดความไม่สบายกาย ไม่สบายใจต่างๆ ไม่ได้ เมื่อต้องประสบกับทุกขเวทนาก็ไม่สามารถที่จะทนได้ ทั้งต้องการจะให้กายใจนี้ได้พบกับสุขเวทนา เช่นที่เป็นกามสุขทั้งหลาย ก็ทำไม่ได้
เหล่านี้เป็นต้น จึงทำให้ไม่สามารถปฏิบัติได้ หรือว่าปฏิบัติได้ก็ไม่เต็มที่ ต้องขาดตกบกพร่อง ก็เพราะกายและใจอันนี้นี่เอง เมื่อเป็นดั่งนี้ ขันธ์คือกายใจอันนี้ก็เป็นมารต่อการที่จะปฏิบัติศีลสมาธิปัญญา หรือจะเรียกว่าพระธรรมวินัยก็ได้ ทำให้บรรลุถึงความบริสุทธิ์จากกิเลสทั้งหลายไม่ได้ ดับทุกข์ไม่ได้ บรรลุถึงสันติของใจไม่ได้
เหตุที่ทำให้ไม่ได้ศรัทธาปัญญา

ทั้งนี้ก็เพราะว่าสามัญชนทั้งปวงนั้น ยังมีความยึดถือ ขันธ์หรือกายใจอันนี้ ว่าเป็นตัวเราของเรา ฉะนั้นจึงเรียกว่าอุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเรา เมื่อมีความยึดถือดั่งนี้ นอกจากไม่สามารถจะปฏิบัติธรรมวินัย หรือศีลสมาธิปัญญาได้ ดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังไม่สามารถที่จะได้ศรัทธาความเชื่อ ได้ปัญญาความรู้ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า ขันธ์ทั้งหลายคือกายใจนี้เป็นอนิจจะไม่เที่ยง เป็นทุกขะเป็นทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน ไม่สามารถที่จะเชื่อ ไม่สามารถที่จะรู้ รับในสัจจะธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนได้ เพราะว่าขัดต่อความยึดถือของตน ที่ยึดว่าเป็นตัวเราของเรา ครั้นมาสดับว่าไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา ก็ทำให้ไม่เกิดความเชื่อ ไม่เกิดปัญญาที่รับรู้ เพราะฉะนั้นขันธ์เป็นที่ยึดถือนี้เองจึงเป็นมารขัดขวางต่อการที่จะละกิเลสและกองทุกข์ได้
กิเลสมาร

ทั้งนี้ก็เพราะว่าอุปาทานความยึดถือ อันทำให้ขันธ์เป็นอุปาทานขันธ์ดังกล่าวมานั้น ก็เป็นตัวกิเลสนั้นเอง อุปาทานก็เป็นตัวกิเลส และอุปาทานนี้ก็เกิดสืบมาจากตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยาก อันสืบเนื่องมาจากอวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง
เพราะฉะนั้นเมื่อชี้เข้ามาโดยตรงแล้ว ก็คือตัวกิเลสนี้เองที่เป็นตัวมาร จึงแสดงกิเลสมารเป็นข้อที่ ๒
กิเลสเครื่องเศร้าหมองของใจนี้ ก็ตั้งต้นแต่อวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง แล้วก็สืบมาเป็นตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก เป็นอุปาทานความยึดถือ และเมื่อแสดงออกไปโดยอาการต่างๆ เป็นราคะความติดใจยินดี หรือโลภะความโลภอยากได้ โทสะความโกรธแค้นขัดเคือง โมหะความหลงเป็นต้น ก็เป็นกิเลสทั้งนั้น กิเลสเหล่านี้เองเป็นตัวมารที่เป็นเครื่องขัดขวางมิให้การปฏิบัติพระธรรมวินัย หรือศีลสมาธิปัญญา เพื่อความบริสุทธิ์จากกิเลส เพื่อความสิ้นทุกข์นั้นเป็นไปได้
อภิสังขารมาร

และกิเลสนี้เองที่มารังควานอยู่ในจิตใจของบุคคลได้ ก็เพราะจิตใจของบุคคลนี้เองรับกิเลสเข้ามาปรุงแต่งจิตใจ ให้คิดไป เจตนาจงใจไปในทางดีบ้าง ในทางไม่ดีบ้าง ในทางที่เป็นกลางๆ บ้าง อันเรียกว่า?อภิสังขาร?คือความปรุงแต่งใจ เพราะใจหรือจิตนี้เองยังมีราคะคือความติด มีความยินดี อยู่ในกิเลส ยังติดกิเลส เพราะฉะนั้นจึงรับกิเลสเข้ามาเป็นเครื่องปรุงจิตใจ ในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลสทั้งหลาย คือรูปที่เห็นทางตา เสียงที่ได้ยินทางหู กลิ่นที่ทราบทางจมูก รสที่ทราบทางลิ้น โผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องที่ทราบทางกาย และธรรมะคือเรื่องราวทั้งหลายที่รู้ทางใจ กิเลสก็ปรุงสิ่งเหล่านี้ ความปรุงแต่งดังที่กล่าวมานี้เรียกว่าอภิสังขาร เป็นไปดังที่กล่าวมาแล้ว คือดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เป็นกลางๆ บ้าง

เพราะฉะนั้น ความปรุงแต่งนี้เองจึงเป็นตัวมารที่สืบเนื่องมาจากกิเลส คนเราไม่สามารถจะปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ในปัญญา หรือในพระธรรมวินัยได้
ก็เพราะว่ากิเลสเหล่านี้คอยปรุงใจอยู่ โดยอาศัยอารมณ์คือเรื่องทั้งหลายดังที่กล่าวมานั้น ก่อให้บังเกิดกิเลสทับถมเข้ามาอีก และเมื่อใจปรุงอยู่ดั่งนี้ ก็ปรากฏเป็นความฟุ้งซ่านไปต่างๆ จะปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์ก็ปฏิบัติไม่ได้ จะทำสมาธิก็ทำไม่ได้ จะปฏิบัติทางปัญญา ปัญญาก็ไม่เกิด
เพราะฉะนั้น จึงต้องสงบเครื่องปรุงใจให้ได้ คือสงบกิเลสและอารมณ์ในใจได้ นั่นแหละจึงจะเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญาได้ เพราะฉะนั้น ความสำคัญจึงมาอยู่ที่ว่าใจนี้เองรับเอากิเลสเข้ามาปรุง รับเอาอารมณ์เข้ามาปรุง เพราะฉะนั้น นี่แหละเรียกว่า?อภิสังขารมาร?ที่บังเกิดขึ้นอยู่ในจิตใจของบุคคล

มัจจุมาร

และในการที่เป็นไปดังนี้จึงทำให้บุคคลต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารไม่สิ้นสุด ไม่สามารถจะพ้นจากความเวียนว่ายตายเกิดได้ และแม้ในปัจจุบันนี้ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ แต่ทุกคนนั้นก็มักจะไม่นึกถึงเกิด แต่ว่ามักจะนึกถึงก็คือตายและเมื่อนึกถึงขึ้นมาแล้วก็กลัวตาย เพราะฉะนั้นความตายจึงเป็นมรณะภัย ภัยคือความกลัวแต่ความตาย ซึ่งแสดงว่าเป็นความรู้สึกประจำจิตใจของคนทั้งหลายอยู่ทั่วกัน
และความตายนี้อันที่จริงก็เป็นธรรมดาของสังขาร แต่ว่าบุคคลเมื่อมีความยึดถืออยู่ในชีวิต เป็นตัวเราเป็นของเรา หรือในขันธ์ว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา ก็ไม่ต้องการที่จะแก่จะตาย เพราะฉะนั้น จึงต้องกลัวตาย เพราะไม่อยากจะตาย เห็นความตายว่าเป็นเครื่องทำลาย และความตายนั้นอันที่จริงก็เป็นเครื่องทำลายชีวิตจริงๆ เป็นเครื่องทำลายที่มองเห็นกันอยู่ บุคคลที่ควรจะบรรลุประโยชน์อะไรได้ต่อไปอีก แต่ต้องตายเสียก่อน ก็เป็นอันว่าขาดประโยชน์ที่จะบรรลุได้
ดังเช่นที่พระพุทธเจ้าจะตรัสสอนปฐมเทศนาแก่ท่านอาจารย์ทั้งสอง คือท่านอาฬารดาบส และท่านอุททกดาบส ว่าเป็นผู้ที่สมควรจะรับปฐมเทศนาได้ ถ้าเสด็จไปโปรดท่านก็จะได้ดวงตาเห็นธรรม แต่ว่าก็ทรงทราบว่าท่านทั้งสองนั้นได้ถึงมรณภาพไปเสียก่อนแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านจึงหมดโอกาศที่จะได้ดวงตาเห็นธรรม นี้ความตายเป็นเครื่องทำลายชีวิต อันเรียกว่าเป็นมารอย่างทั่วไป
แต่อันที่จริงนั้นก็เป็นธรรมดาของชีวิตของสังขารทั้งหลาย เพราะเกิดก็ต้องตาย พระพุทธเข้าได้ทรงพ้นจากความตาย ดังที่เรียกว่าบรรลุอมตธรรม เป็นพุทโธคือเป็นพระผู้รู้ ก็โดยที่ได้ตรัสรู้เห็นในคติธรรมดาของสังขารทั้งหลาย ว่าต้องเกิดต้องดับ หรือต้องเกิดต้องตาย เพราะฉะนั้นจึงทรงวางตัณหาวางอุปาทานในขันธ์ได้ในชีวิตได้ ฉะนั้นจึงทรงพ้นมัจจุมาร แม้ว่าพระสรีระสังขารของพระองค์จะต้องดับขันธ์ ดังที่เรียกตามสามัญว่าตาย แต่พระองค์ก็เป็นผู้ที่ไม่ตาย เพราะเป็นผู้รู้ เป็นผู้ที่ปล่อย เป็นผู้ที่วางแล้ว ขันธ์หรือชีวิตที่ต้องตายนั้นไม่ใช่เป็นของพระองค์
เพราะฉะนั้น พระองค์จึงไม่ต้องตาย เพราะว่าสิ่งที่ตายนั้นไม่ใช่เป็นของพระองค์ แต่เป็นของโลก เกิดขึ้นมาในโลก ปรุงแต่งขึ้นในโลก แล้วก็แตกสลายไปในโลก พระองค์เป็นผู้ที่พ้นจากโลกแล้ว เป็นพ้นที่พ้นจากความยึดถือแล้ว พระองค์จึงไม่ใช่เป็นผู้ตาย สิ่งที่ตายนั้นเป็นขันธ์ ไม่ใช่เป็นพระพุทธะ เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นมารของพระองค์ แต่ว่ายังเป็นมารของบุคคลทั่วไปที่ยังมีความยึดถืออยู่
เทวบุตรมาร

และนอกจากมีความยึดถืออยู่ และยังมีความกลัวตายดังที่กล่าวมาแล้ว คนสามัญทั่วไปยังต้องการยังปรารถนาที่จะไม่ตาย โดยที่ไม่ตายในภาวะเป็นมนุษย์นี้ก็ตาม หรือว่าไม่ตายโดยไปเกิดเป็นเทพ
ที่เข้าใจหรือยึดถือกันว่าเมื่อไปเกิดเป็นเทพแล้วก็เป็น?อมร?หรือ?อมระ?คือเป็นผู้ที่ไม่ตาย ก็คงอยู่เป็นนิรันดร เพราะฉะนั้น จึงมุ่งที่จะไปเกิดเป็นเทพที่เป็น?อมโร?คือเป็นผู้ที่ไม่ตาย ดังที่กล่าวมานี้กันอยู่เป็นอันมาก

เพราะฉะนั้น ความที่มุ่งไปเกิดเป็นเทพแม้ที่กล่าวมานี้ ก็เป็นมารอีกเหมือนกัน คือเป็นเครื่องขัดขวางต่อการปฏิบัติพระธรรมวินัย เพื่อความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ เพราะเหตุว่า ความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ในพุทธศาสนานั้น ต้องการที่จะต้องดับชาติคือความเกิด เมื่อดับชาติได้ ก็ดับชรา มรณะ และทุกข์ต่างๆ ได้ เมื่อยังดับชาติคือความเกิดไม่ได้ ก็ดับทุกข์คือชรามรณะ และทุกข์ต่างๆ ไม่ได้
ฉะนั้น เมื่อยังต้องการไปเกิดเป็นเทพอยู่ นั่นก็เป็นชาติคือความเกิด เพราะฉะนั้น เทพชนิดที่เป็น?อมร?คือไม่ตายนั้นจึงไม่มี ตามหลักแห่งพุทธศาสนา เทวดาเมื่อมีอุปบัติ ก็ต้องมีจุติ คือมีเคลื่อนจากความเป็นเทพ แล้วก็ไปเกิดตามกรรม สูงบ้าง ต่ำบ้าง ที่จะดำรงอยู่เป็นนิรันดรไม่มี พระพุทธเจ้าตรัสรู้ดั่งนี้ เพราะฉะนั้นจึงไม่ประสงค์ความเป็นเทพ แม้ท่านดาบสทั้งสองนั้นท่านก็ปฏิบัติในสมาบัติของท่านเพื่อไปเกิดเป็นพรหม ก็เพื่อเป็นเทพนั่นเอง เพราะฉะนั้นท่านพอใจเท่านั้น ไม่ต้องการธรรมะที่สูงขึ้นไป เพื่อพ้นชาติคือความเกิดทั้งหมด เพราะฉะนั้นจึงพ้นทุกข์ไม่ได้ แม้ในกาลต่อจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน คนเป็นอันมากก็ยังมีความยึดถืออยู่เช่นเดียวกัน ว่าต้องการจะไปเกิดเป็นเทพ หรือไปอยู่กับเทพที่เป็นอมร คือเป็นผู้ที่ไม่ตาย เพราะฉะนั้นก็เป็นเครื่องตัดทางสำหรับที่จะปฏิบัติ เพื่อบรรลุความสิ้นทุกข์ทั้งปวง ตามหลักพระพุทธศาสนา

ฉะนั้น จึงได้ตรัสมารข้อที่ ๕ คือเทวบุตรมาร มารคือเทพบุตรขึ้นอีก โดยความก็คือความที่ยังมีความมุ่งหมายที่จะได้สวรรค์สมบัติ
หรือหากจะกล่าวรวม ก็มุ่งหมายที่จะได้มนุษย์สมบัติด้วย หรือว่าสูงขึ้นไปก็สวรรค์สมบัติ แต่ยังไม่ต้องการนิพพานสมบัติ เป็นที่ดับชาติภพทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ความต้องการเพียงเท่านี้จึงกลายเป็นมาร ทำให้บรรลุนิพพานสมบัติไม่ได้
เครื่องขัดขวางต่อการปฏิบัติ

ฉะนั้น มารตามที่กล่าวมานี้จึงเป็นเครื่องทำให้เกิดเป็น?เจโตขีละ?คือตะปูใจ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนเอาไว้ก็คือ ข้อ ๑ ยังมีความเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระศาสดา ๒ ในพระธรรม ๓ ในพระสงฆ์ ๔ ในสิกขาปฏิบัติ เช่นสิกขาปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ในปัญญา และมีความโกรธ มีใจที่ไม่แช่มชื่น มีใจที่กระทบกระทั่งในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย รวมเป็น ๕ ข้อ นี่เป็นตะปูใจ

และอีก ๕ ข้อเป็น?เจโตวินิพันธะ?คือเครื่องผูกพันใจ ได้แก่การที่ยังมากอยู่ด้วยราคะความติดใจยินดี ฉันทะ ข้อ ๑ ข้อ ๒ ในกายของตน ข้อ ๓ ในรูปที่เป็นภายนอกทั้งหลาย และข้อ ๔ พอใจในการที่เอาแต่บริโภค และติดอยู่ในการนอน ในการเอนพัก ในการงีบหลับ พูดง่ายๆ ก็คือว่าเอาแต่กินแต่นอน อันเป็นข้อที่ ๔ กับอีกข้อหนึ่งเป็นข้อที่ ๕ ก็คือว่าประพฤติพรหมจรรย์อันได้แก่ปฏิบัติในไตรสิกขา หรือพระธรรมวินัยนี้ ด้วยปรารถนาเป็นเทพ คือตั้งความปรารถนาว่าขอให้เราไปเกิดเป็นเทพชั้นนั้นๆ หรือว่าเทพชั้นใดชั้นหนึ่ง ด้วยอำนาจของศีล ของวัตร ของตบะคือความเพียร ของพรหมจรรย์ที่ปฏิบัตินี้ ดั่งนี้เป็นข้อที่ ๕

ตะปูใจ ๕ ข้อ และเครื่องผูกพันใจ ๕ ข้อนี้ เป็นเครื่องขัดขวางต่อการที่จะปฏิบัติทำจิตให้บริสุทธิ์จากกิเลสทั้งหลาย
ดับจากทุกข์ทั้งปวง ให้บรรลุถึงสันติของใจที่เรียกว่านิพพานดังกล่าวนั้น เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติก็ต้องละเสีย และก็ต้องปฏิบัติอิทธิบาท คือธรรมะที่ให้ประสบความสำเร็จ ในการปฏิบัติประกอบความเพียร โดยต้องอาศัยสมาธิความตั้งใจมั่นจริงๆ โดยมีฉันทะความพอใจ มีวิริยะความเพียร มีจิตตะเอาใจใส่ มีวิมังสาความใคร่ครวญพิจารณา ในข้อวัตรปฏิบัตินั้นๆ โดยที่มีความพยายามอุตสาหะกันอย่างจริงจัง ในการที่จะละตะปูใจ ถอนตะปูใจออกเสียให้ได้ทั้ง ๕ ข้อ ที่จะเปลื้องเครื่องผูกพันใจให้ได้ทั้ง ๕ ข้อ เจริญอิทธิบาทให้เต็มที่ และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงจะสามารถละมารทั้ง ๕ นั้นได้ สามารถที่จะชำระจิตให้บริสุทธิ์จากกิเลสทั้งหลายได้ ดับทุกข์ทั้งปวงได้ บรรลุถึงสันติของใจได้ อันเรียกว่านิพพาน
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต?ข้อความสมบูรณ์

อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

http://www.watpanonvivek.com/index.php/section-table/2012-07-14-12-23-28/2454-2010-06-21-07-12-36

. . . . . . .