พระอาจารย์เที่ยง โชติธมฺโมปรารภถึงคำสอนของหลวงพ่อว่า “จุด ใหญ่ใจความที่หลวงพ่อเน้นหนักคือ เรื่องพระวินัยและการปฏิบัติ ข้อวัตรปฏิบัตินี่ทิ้งไม่ได้เลย หยุดไม่ได้ กิจสวดมนต์ ไหว้พระ ไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ให้หยุด..” เรื่องการเน้นหนักพระวินัยและข้อวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อนี้ พระครูบรรพตวรกิตศิษย์คนหนึ่งของหลวงพ่อ ได้ถ่ายทอดบรรยากาศอันเข้มขันในสมัยแรกๆ ไว้ว่า
กิจวัตรประจำวันก็ ตีสามตื่น มาประชุมทำวัตรเช้า โดยมากท่านจะมาก่อนลูกศิษย์ พอมาถึงศาลา ท่านก็นั่งสมาธิ ทำวัตรสวดมนต์ ทุกคนก็มาพร้อมหน้าพร้อมตากันและบางครั้งมีการเรียกชื่อ ถ้าพระเณรมีความย่อหย่อนในข้อวัตรปฏิบัติ หลบหน้าหลบหลัง ท่านก็เรียกชื่อถามหา ให้เวลา ๑๕ นาทีในการเดินมาถึงศาลา และเมื่อได้เวลา ๑๕ นาทีแล้ว ท่านก็เรียกชื่อ เสร็จแล้วจึงเริ่มทำวัตร นั่งสมาธิ ท่านก็อธิบายความหมายและสอนวิธีกำจัดนิวรณ์เบื้องต้น ทุกคนตั้งอกตั้งใจในการปฏิบัติ และท่านก็คอยมองอยู่เรื่อย ถ้านิวรณ์ครอบงำพระเณรองค์ไหน ท่านเห็นท่านก็ตะโกนไปเตือนให้รู้สึกตัวขึ้นมา
เมื่อถึงเวลาเลิก ท่านก็ย้ำเตือนอีกเรื่องทางกาย ทางกิริยาและจิต ท่านให้รู้ประจำอยู่เสมอ ทุกคนเงียบหมดถ้าท่านพูดขึ้นมา มีความเกรงกลัว ไม่กล้ากระดุกระดิก ไม่พูด หากจะพูดกันก็พูดค่อยที่สุด แล้วก็พากันจัดแต่งบริขารออกบิณฑบาต สายไกลก็ออกไปก่อน สายใกล้อยู่รอก่อน ส่วนท่านไปสายใกล้ ท่านไม่ไปบิณฑบาตที่บ้านก่อ ท่านบอกว่า ยังมีเชื้ออยู่ คือมีเชื้อยินดีกับสถานที่กับบุคคล ไปแล้วเห็นบ้านเรือนเห็นสถานที่เก่าๆ ที่เคยอาศัย เห็นพี่สาวน้องสาว เห็นลูกเห็นหลาน จิตจะวกไปติดอยู่ที่นั้น ถ้าไม่จำเป็นท่านไม่ไปบ้านก่อ ท่านไปบิณฑบาตบ้านกลาง
ช่วงที่สายไกลออกไปบิณฑบาตแล้ว ท่านก็จับไม้กวาด กวาดวัดก่อนออกบิณฑบาต กวาดแล้วก็เก็บไปด้วย บางวันไม่กวาดท่านก็เอาบุ้งกี๋มาเก็บใบไม้ตามทางเดินรอบๆ ศาลาเล็ก ลูกศิษย์ก็ทำด้วย เมื่อถึงเวลาก็ออกไปบิณฑบาต เราก็ทำกันอยู่อย่างนี้
ถึงเวลาบ่ายสามโมง ก็ปิดประตูหน้าต่างกุฏิ ถ้าตากจีวรตากผ้าไว้ก็ต้องเก็บเสียก่อน เพราะถ้ามีเหตุคือลมฝน จะได้ไม่ต้องวิ่งกลับไปเก็บ
การกราบก็มีอยู่ทุกครั้ง ก่อนลงจากกุฏิก็กราบ ถ้าไม่กราบลงเดินมาถึงกลางทางพอนึกขึ้นได้ ก็ต้องกลับไปกราบก่อน แล้วถือไม้กวาดและกาน้ำมาด้วย ผ้าสรงน้ำเอาหนีบรักแร้มาหรือไม่ก็พับแล้ววางไว้บนศีรษะ มาถึงศาลาก็เอาของวางลงแล้วเข้าไปกราบพระในศาลาใหญ่เสียก่อน กาน้ำวางไว้ที่อาสนะสงฆ์ ส่วนผ้าอาบน้ำนำออกมาด้วย ถ้ามีแดดก็เอาปิดศีรษะ แต่ไม่ใช่เอาคลุม เอาวางเป็นระเบียบเรียบร้อย แล้วช่วยกันกวาดใบไม้ หลวงพ่อก็กวาด พระเณรกวาดเป็นแถว และไม่ได้ยินเสียงพูดคุยกัน ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ จะไม่พูดคุยกัน ได้ยินแต่เสียงทำงาน
เมื่อปัดกวาดเสร็จก็มาเตรียมน้ำใช้น้ำฉัน เมื่อก่อนก็ต้องตักและหามเอา หลวงพ่อเป็นคนจับเชือกและช่วยดึงถังน้ำขึ้นมา พระคอยรับถังน้ำ ตอนนั้นพระเณรก็มีไม่มากเท่าไร เริ่มตั้งแต่ ๖ องค์ ๘ องค์ ๑๐ องค์ เพิ่มขั้นเรื่อยๆ ตักน้ำขึ้นมาแล้วก็ช่วยกันหามไปทั้งคนแก่และหนุ่ม ได้ยินแต่เสียงทำงาน ไม่มีเสียงพูดคุยกัน ท่านคอยสังเกตตลอดเวลา พระเณรจึงมีความระมัดระวัง มีความยำเกรง และมีศรัทธากันจริงๆ
พอตักน้ำใช้น้ำฉันเสร็จ ก็เข้าไปในศาลาปัดกวาดปูอาสนะ คือกวาดข้างนอกก่อน กวาดไปตามลำดับ เพื่อไม่ให้ฝุ่นฟุ้งเข้าไปในศาลา กวาดข้างนอกศาลาเสร็จก็ถูศาลาและจัดอาสนะต่อจากนั้นก็สรงน้ำ เมื่อสรงน้ำแล้วก็แยกกันเข้าสู่ทางจรงกรม เดินจนถึงหกโมงเย็นพอได้ยินเสียงระฆัง จัดเก็บบริขารและปิดเสนาสนะ แล้วรีบมารวมกันที่ศาลา อ่านเพิ่มเติม →