หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ตอน ปัจฉิมสมัย

วัยชรานับแต่ พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นมาท่านมาอยู่จังหวัดสกลนคร ณ เสนาสนะป่าบ้านนามน อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร และที่ใกล้ๆแถวนั้นบ้าง ครั้น พ.ศ. ๒๔๘๗ จึงย้ายไปอยู่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีที่ท่านมีอายุย่างขึ้น ๘๐ ปี ท่านเริ่มอาพาธเป็นไข้ คณะศิษย์ผู้อยู่ใกล้ชิดก็ได้เป็นธุระรักษาพยาบาลไปตามกำลังความสามารถอาการอาพาธก็สงบไปบ้างเป็นครั้งคราว

จนจวนจะออกพรรษาอาการอาพาธก็กำเริบมากขึ้น ข่าวนี้ได้กระจายไปอย่างรวดเร็วพอออกพรรษา คณะศิษยานุศิษย์ผู้อยู่ไกลต่างก็ทยอยกันเข้ามาปรนนิบัติพยาบาลแล้วนำท่านมาที่วัดป่าบ้านภู่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่ฉลวย สุธัมโม ลูกศิษย์ของท่านมาสร้างไว้ อาการอาพาธของท่านมีแต่ทรงกับทรุดลงโดยลำดับ

poomun3

ครั้นเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๒ คณะศิษย์ได้นำท่านมาพักที่วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร โดยพาหนะรถยนต์มาถึงวัดป่าสุทธาวาสเวลาเที่ยงเศษ ครั้นถึงเวลา ๐๒.๒๓ น. ของวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๒ ท่านก็ได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ ท่ามกลางคณะศิษยานุศิษย์ทั้งหลายสิริรวมอายุของท่านได้ ๘๐ ปี ตรงตามที่ท่านพยากรณ์ไว้แต่เดิม

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ตอน กำลังใจ

ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๗ เป็นปีที่คณะเสรีไทยกำลังโด่งดังมาก บ้านหนองผือก็เป็นอีกแห่งที่คณะเสรีไทยเข้าไปตั้งค่าย เพื่อฝึกอบรมคณะครูและประชาชนชายหนุ่ม ให้ไปเป็นกองกำลังทหารต่อสู้ขับไล่ทหารญี่ปุ่น คุณครูหนูไทย สุพลวานิช เป็นผู้หนึ่งที่ถูกเกณฑ์ให้ไปฝึกอบรมในค่ายนี้ ท่านเกิดที่บ้านหนองผือนี่เอง เป็นธรรมดาสัญชาตญาณของคนเรา

เมื่อตกอยู่ในภาวะเหตุการณ์เช่นนี้ จึงทำให้แสวงหาสิ่งพึ่งพิงทางใจยามคับขัน ช่วงเวลาว่างจากการฝึกก็นั่งพักผ่อนพูดคุยสรวลเสเฮฮากับหมู่เพื่อน จนกระทั่งมาถึงเรื่องของดีของขลังของศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะมาถึงตัว มีเพื่อนคนหนึ่งในจำนวนนั้นได้พูดขึ้นว่า “ ท่านพระอาจารย์ใหญ่ ในวัดป่าบ้านหนองผือ ทราบข่าวว่าท่านเป็นพระดีองค์หนึ่ง พวกเราจะไม่ลองไปขอของดีกับท่านดูบ้างหรือ ”

ด้วยคำพูดของเพื่อนทำให้คุณครูหนูไทยนำไปคิดเป็นการบ้าน วันต่อมาคุณครูหนูไทยหาแผ่นทองมาได้แผ่นหนึ่ง มาตัดเป็นสี่แผ่นเล็กๆวางใส่จานขันธ์ห้า แล้วให้โยมผู้เฒ่าทายกวัดที่เป็นญาติซึ่งไปจังหันตอนเช้านำแผ่นทองไปถวายหลวงปู่มั่น เพื่อให้ท่านทำหลอดยันต์ให้แต่โยมผู้ที่นำแผ่นทองไปนั้นไม่กล้าเข้าไปหาพระอาจารย์มั่นโดยตรง จึงให้พระอุปัฏฐากเข้าไปลองถามท่านดูก่อนท่านพระอาจารย์มั่นได้ตอบว่า “เขาอยากได้กะเฮ็ดให้เขา” รออยู่ประมาณสามวันพระอุปัฏฐากก็นำหลอดยันต์นั้นมาให้

วันหนึ่ง คุณครูหนูไทยเห็นเพื่อนสามถึงสี่คนกำลังทำอะไรกันอยู่ข้างสนามจึงเดินไปดู เห็นพวกเขากำลังทดลองจะยิงเขี้ยวหมูตันด้วยอาวุธปืน เมื่อเขาทดลองยิงแล้วปรากฏว่าเขี้ยวหมูตันซึ่งถือว่าเป็นของขลังและศักสิทธิ์นั้นแตกกระจายไปคนละทิศละทางเพื่อนคนที่เป็นเจ้าของเขี้ยวหมูตันนั้นหน้าถอดสีไปห มดเพื่อนๆจึงหันมาถามคุณครูหนูไทยว่า “ มีของดีอะไร มาลองบ้างเพื่อน ” คุณครูหนูไทยจึงตอบไปว่า “ มีอยู่ ”

เพื่อนจึงเอามือลวงไปที่กระเป๋าเสื้อของคุณครูหนูไทยวัตถุสิ่งนั้นจึงติดมือเพื่อนคนนั้นไป เขาก็นำตะกรุดยันต์นั้นไปวางไว้ระยะห่างประมาณ ๓-๔ วา แล้วยกปืนเล็งไปที่ตะกรุดนั้นเพื่อนทุกคนที่อยู่ที่นั่นเงียบกริบ ต่างคนก็ต่างเอาใจไปจดจ่อที่จุดเดียวกัน สักครู่คนยิงจึงเหนี่ยวไกปืนเสียงดัง “ แชะ แชะ ” แต่ไม่ระเบิด ทั้งหมดที่อยู่ที่นั่นต่างตกตะลึง ครั้งที่สามเขาลองหันปลายกระบอกปืนขึ้นฟ้าแล้วลองเหนี่ยวไกอีกครั้งปรากฎว่าเสียงปืนกระบอกนั้นดังสนั่นหวั่นไหวไปทั่วบริเวณ

ภายหลังต่อมามีคนทราบข่าวจึงไปขอกับพระอาจารย์มั่นที่วัดต่อมาไม่นานพระอาจารย์มั่นคงเห็นว่ามากจนเกินไปท่านจึงบอกว่า สงครามเขาจะสงบแล้วไม่ต้องเอาก็ได้ ของเหล่านี้เป็นของภายนอกสู้เอาคาถาบทนี้ไปบริกรรมไม่ได้ให้บริกรรมทุกเช้าค่ำจนขึ้นใจ แล้วจะปลอดภัย อันตรายต่างๆจะไม่มากล้ำกรายตัวเราได้เลยคาถาบทนั้นมีดังนี้ “ นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา ”

และเป็นจริงตามที่พระอาจารย์มั่นพูด ยังไม่ถึงเจ็ดวันก็ได้ทราบข่าวว่าเครื่องบินทหารอเมริกันบินไปทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิม่า และเมืองนางาซากิประเทศญี่ปุ่นย่อยยับจนต้องประกาศยอมแพ้สงคราม และสงครามก็จบสิ้นลง

ขอขอบคุณ http://tamroiphrabuddhabat.com

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ตอน อานุภาพพระพุทธมนต์

คราวหนึ่งท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พักอยู่บนดอยปะหร่อง ได้มีเทพพวกหนึ่งจากเขาจิตรกฎ มาเรียนถามท่านว่า “ เสียง สาธุ สาธุ อะไร สะเทือนสะท้านทุกวัน พวกเทพทั้งหลายได้ฟังแล้วมีความสุขไปตามๆกัน ” ท่านจึงนำมาพิจารณาก็ระลึกได้ว่า ตอนเช้าหลังจากที่ชาวเขาตักบาตรท่านแล้ว ท่านก็ให้พรพวกเขาและสอนให้เขากล่าวคำว่า “ สาธุ ” พอรับทราบแล้ว พวกเทพก็ว่าเขาก็พากันสาธุการด้วย

ท่านพระอาจารย์มั่น จึงพิจารณาต่อว่า การสาธยายพระพุทธมนต์ ใครสวดก็ตาม เพียงแต่ระลึกในใจ มีอานุภาพแผ่ไปได้หมื่นจักรวาล พูดออกเสียงพอฟังได้มีอานุภาพแผ่ไปได้ถึงแสนจักรวาล สวดเต็มเสียงสุดกู่มีอานุภาพแผ่ไปได้เป็นอนันตจักรวาล แม้สัตว์ที่อาศัยอยู่ในมหานรกอเวจี ยังได้รับความสุขเมื่อแว่วเสียงพระพุทธมนต์

ขอขอบคุณ http://tamroiphrabuddhabat.com

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ตอน กายทิพย์มาขอฟังธรรม

สถานที่บางแห่งจะมีพวกเทวดา หรือ พญานาคมาฟังธรรมกับหลวงปู่มั่น ส่วนมากจะมาตอนกลางคืนดึกสงัด พอมาถึงก็พากันทำประทักษิณ ๓ รอบ แล้วนั่งเป็นระเบียบเรียบร้อย จากนั้นท่านก็แสดงธรรมให้ฟัง เมื่อจบแล้วเหล่าเทพก็พากันสาธุการ ๓ ครั้ง เสียงบันลือโลกธาตุ ผู้มีหูทิพย์จะได้ยินทั่วกัน แล้วพร้อมกันทำประทักษิณ ๓ รอบ พอออกไปพ้นเขตวัดหรือที่หลวงปู่พักแล้ว เหล่าเทวดาก็พากันเหาะขึ้นสู่อากาศ เหมือนปุยนุ่นลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าฉะนั้น

มีพระกราบเรียนถามท่านว่า เวลาพญานาคมาหาท่านเขามาในร่างแห่งงูหรือร่างอะไร ท่านบอกว่าพวกนี้เอาแน่เอานอนไม่ได้ ถ้าเป็นพญานาคก็มาในร่างแห่งกษัตริย์ มีบริวารห้อมล้อม การสนทนาก็เหมือนพระสนทนากับกษัตริย์ ใช้ราชาศัพท์กันเป็นพื้น เขามีความเคารพกันมากกว่าพวกมนุษย์ ขณะนั่งฟังธรรมไม่มีใครแสดงอาการกระดุกกระดิกเลย จนเป็นที่เข้าใจหมดความสงสัยแล้วก็พากันลากลับ

ขอขอบคุณ http://tamroiphrabuddhabat.com/

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ตอน รู้วาระจิต

เป็นที่ทราบกันว่า ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านสามารถทราบวาระจิตความนึกคิดของผู้อื่นได้ อย่างน่าอัศจรรย์ แม้เรื่องแสดงฤทธิ์ต่างๆท่านก็สามารถทำได้ แต่ท่านก็ไม่ได้นำไปแสดงโอ้อวดใคร ท่านมีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือปราบลูกศิษย์หัวดื้อ และผู้ที่คิดไปลองดีท่านเท่านั้น ขอยกตัวอย่างเรื่องรู้วาระจิตของท่านสักสองสามเรื่อง

เรื่องแรก เกี่ยวกับท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล แห่งวัดป่าแสนสำราญ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ท่านเป็นพระน้องชายของพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม วันหนึ่งท่านพระมหาปิ่น ปัญญาพโลเกิดความรู้สึกดูหมิ่นดูแคลนหลวงปู่มั่นว่า “ ท่านพระอาจารย์มั่น มิได้ร่ำเรียนปริยัติธรรมมามากเหมือนเรา ท่านจะมีความรู้กว้างขวางได้อย่างไร เราได้ร่ำเรียนมาถึงเปรียญธรรม ๕ ประโยค จะต้องมีความรู้กว้างขวางมากกว่าท่าน และที่ท่านสอนเราอยู่เดี๋ยวนี้ จะถูกหรือมิถูกประการใดหนอ ”

ขณะนั้นหลวงปู่มั่นอยู่ที่กุฏิของท่าน คนละมุมวัด ได้ทราบวาระจิตของท่านพระมหาปิ่น ว่ากำลังคิดดูถูกท่าน อันเป็นภัยแก่การบำเพ็ญธรรมอย่างยิ่ง ท่านจึงลงจากกุฏิ เดินไปเอาไม้เท้าเคาะฝากุฏิของท่านพระมหาปิ่น แล้วพูดเตือนสติว่า “ ท่านมหาปิ่นเธอจะมานั่งดูถูกเราด้วยเหตุอันใด การคิดเช่นนี้เป็นภัยต่อการบำเพ็ญสมณธรรมจริงหนา..ท่านมหา ”

ท่านพระมหาปิ่นตกใจเพราะคาดไม่ถึง รีบลงจากกุฏิมากราบขอขมาท่านว่า “ กระผมกำลังนึกถึงท่านอาจารย์ในด้านอกุศลจิต กระผมขอกราบเท้าโปรดอโหสิให้กระผมเถิด ตั้งแต่นี้ต่อไป กระผมจะบังคับจิตมิให้นึกถึงสิ่งที่เป็นอกุศลจิตอย่างนี้ต่อไป ”

เรื่องที่สองนี้เกิดขึ้นกับพระอาจารย์มหาอินทร์ ถิรเสวี แห่งวัดศรีจันทร์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ท่านเล่าว่าท่านเคยไปอยู่ศึกษาธรรมกับหลวงปู่มั่น ที่วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ วันหนึ่งหลวงปู่มหาอินทร์คิดในใจว่า “ นรกสวรรค์น่ะ มีจริงไหมหนอ ทำยังไงจะได้รู้จะได้เข้าใจบ้าง เราน่าจะไปกราบเรียนถามท่านพระอาจารย์มั่นนะ ”

ขณะนั้น หลวงปู่มหาอินทร์ นั่งสมาธิอยู่ทางด้านตะวันออกของเจดีย์ ส่วนหลวงปู่มั่นนั่งอยู่ทางด้านตะวันตก พอคิดว่าจะไปเรียนถามท่านพระอาจารย์มั่นดีกว่า ก็ลุกขึ้นเดินไปได้ครึ่งเจดีย์เท่านั้น ท่านก็รู้ด้วยอำนาจจิตของท่าน ท่านพูดขึ้นดังๆว่า

“ถ้าหากมีคนละก็ ต้องมีแน่นอน เรื่องนรกเรื่องสวรรค์น่ะ ถ้าไม่มีคน นรกสวรรค์ก็ไม่มี ไม่ต้องถามถึงหรอก นรกสวรรค์น่ะเป็นเรื่องของคน ถ้าเป็นพระอริยบุคคลหมดโลก นรกก็ดี สวรรค์ก็ดี หมดไม่มีเหลือ ”

พอได้ยินเสียงท่านพูดจบรู้สึกเหมือนกับว่ามีใครเอาน้ำเย็นรดซู่จากศรีษะลงมาถึงปลายเท้า ความสงสัยเป็นอันว่าหมดไป

เหตุการณ์นี้เกิดกับท่านพระอาจารย์ดี ฉันโน แห่งวัดป่าสุนทราราม อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ หลวงปู่ดีได้เดินทางขึ้นไปจังหวัดสกลนครและนครพนม โดยให้นายมี วงศ์เสนา ผู้เป็นน้องชายติดตามและถือเงินไปด้วย ๒ ชั่ง จุดประสงค์ก็เพื่อจะไปเรียนวิชาอาคมเพิ่มเติม และหาเหล็กไหล ขณะนั้นได้เข้าไปพักที่วัดป่าบ้านสามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ทำให้ได้พบหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตที่วัดนี้

พอตกเย็นหลวงปู่ดีได้เข้าไปกราบนมัสการหลวงปู่มั่น ท่านพระอาจารย์มั่น ได้ทักขึ้นก่อนว่า “ เดี๋ยวนี้ผมรู้ในญาณแล้วว่าท่านได้ให้น้องชายถือเงิน ๒ ชั่งมาด้วย เพื่อที่จะมาหาวิชาอาคม หาของดีเหล็กไหลใช่ไหม ” และหลวงปู่มั่นได้พูดต่อไปว่า “ ท่านอยู่ที่วัดบ้านกุดแห่นั้น ก็ได้ฆ่าหนังทำอานม้า ทำเข็มขัด กระเป๋าขายด้วย ของเหล่านี้ไม่ใช่กิจของสงฆ์ที่จะประพฤติปฏิบัติ มันเป็นบาป ขอให้ท่านมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเสียเถิด จะแนะแนวทางให้ เห็นว่ากุศลหนหลังของท่านเคยเกิดเป็นศิษย์พระมหากัสสปะเถระมาแต่ชาติปางก่อนอยู่นะ ”

หลวงปู่ดี ฉันโน เกิดอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง คิดว่าท่านพระอาจารย์มั่นคงมีหูทิพย์ตาทิพย์เป็นแน่จึงรู้ได้ ทั้งๆที่ไม่เคยพบเห็นหรือรู้จักกันกับท่านมาก่อน จึงเกิดศรัทธาตัดสินใจฝากตัวเป็นศิษย์ทันที

ขอขอบคุณ http://tamroiphrabuddhabat.com

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ตอน เดินทางกลับอีสาน

หลังจากที่ท่านจาริกแสวงธรรม อยู่ทางภาคเหนือนานถึง ๑๒ ปี ท่านจึงได้เดินทางกลับมายังภาคอีสานตามคำอาราธนานิมนต์ของลูกศิษย์ลูกหา พอกลับมาถึงภาคอีสานท่านได้เข้าพักที่วัดป่าสาลวัน เมืองโคราช จากนั้นท่านได้โดยสารรถไฟต่อไปยัง จ.อุดรธานี

ที่ จ.อุดรธานีนี้ท่านได้เข้าพักที่วัดโพธิสมภรณ์ และวัดป่าโนนนิเวศน์ จนกระทั่งมีคณะศรัทธาจาก จ.สกลนคร มานิมนต์ให้ท่านไปโปรดพวกเขา ท่านจึงรับคำนิมนต์ โดยได้ไปพักอยู่ที่วัดป่าบ้านโคก (วัดป่าวิสุทธิธรรม ) อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร ที่สำนักป่าบ้านโคกแห่งนี้นี่เองที่ ท่านหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ได้เดินทางไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์และรับข้อวัตรจากท่านมาปฏิบัติ

หน้าแล้งในพรรษาหนึ่งก็ได้มีคณะศรัทธาจากบ้านหนองผือนาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เดินทางมานิมนต์ท่านไปสั่งสอนธรรม ท่านจึงรับนิมนต์และย้ายจาก อ.โคกศรีสุพรรณ ไปยังบ้านหนองผือนาใน และที่วัดป่าบ้านหนองผือแห่งนี้นี่เองเป็นสถานที่ที่ท่านพระอาจารย์มั่น จำพรรษาอยู่นานถึง ๕ พรรษา จนถึงวาระสุดท้ายปลายแดนแห่งปฏิปทาของท่าน

ขอขอบคุณ http://tamroiphrabuddhabat.com

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ตอน สอนชาวเขาตามหา “พุทโธ”

ครั้งหนึ่งหลวงปู่มั่น ไปพักอยู่ที่ชายเขาห่างจากหมู่บ้านชาวเขาประมาณ ๒ กิโลเมตร ตอนเช้ามาบิณฑบาตในหมู่บ้าน ชาวเขาถามท่านว่า “ ตุ๊เจ้ามาทำอะไร ” ท่านบอกว่ามาบิณฑบาตข้าว เขาถามว่าเอาข้าวสุกหรือข้าวสาร ท่านบอกว่าข้าวสุก แล้วเขาก็บอกกันให้หาข้าวสุกมาใส่บาตรให้ท่าน
แม้ว่าชาวบ้านจะใส่บาตรกันบ้างแต่ก็ไม่ไว้วางใจท่าน โดยสงสัยว่าท่านเป็นเสือเย็นที่ปลอมตัวมาคอยหาโอกาสทำร้ายชาวบ้าน พวกเขาจึงเตือนกันให้คอยระมัดระวังและส่งคนไปแอบสังเกตดูท่านแล้วกลับมารายงาน พวกชาวบ้านที่คอยไปสังเกตดูท่านนานเป็นเดือนก็กลับมารายงานว่า ท่านไม่น่ามีพิษภัยอันใด เวลาที่ไปเฝ้ามองสังเกตดูก็เห็นแต่ท่านนั่งหลับตานิ่ง บางทีก็เดินมาเดินไป ไม่รู้ว่าท่านเดินหาสิ่งใด ทางที่ดีพวกเราควรเข้าไปถามท่านให้ได้ความเสียจะดีกว่า

จึงได้ส่งคนไปถามท่านว่า ท่านนั่งหลับตาและเดินไปมานั้น “ ตุ๊เจ้านั่งและเดินหาอะไร ” ท่านบอกว่า “ พุทโธของเราหาย ” ชาวบ้านถามท่านต่อว่าพุทโธหน้าตาเป็นยังไง ? กันผีได้ไหม ? พวกเราช่วยหาได้ไหม ? และอื่นๆ อีกหลายคำถาม ท่านก็ตอบคำถามเขาไปและบอกกับเขาว่าถ้าจะช่วยหาพุทโธก็ให้พากันนั่งนิ่งๆ หรือ เดินไปเดินมา นึกในใจว่า พุทโธ พุทโธ อย่าส่งจิตออกไปนอกกาย ให้รู้อยู่กับคำว่าพุทโธ เท่านั้น ถ้าทำอย่างนี้ไม่แน่ว่าเขาอาจหา “พุทโธ” เจอก่อนท่านก็ได้

พอพวกชาวบ้านได้ความแล้วก็นำไปเล่าสู่กันฟัง ต่างคนต่างนึก “พุทโธ” ตามคำที่ท่านบอก ตั้งแต่หัวหน้าหมู่บ้านไปจนถึงลูกบ้านไม่เว้นแม้แต่เด็กและผู้ใหญ่ ในเวลาไม่นานนักก็มีชายผู้หนึ่งรู้ธรรมเห็นธรรมตามท่านเขาถึงได้ทราบว่าที่แท้ก็เป็นอุบายธรรมอันฉลาดของท่านนั่นเอง เขามีความรู้ในธรรมและยังสามารถรู้จิตของผู้อื่นได้อีกด้วย

ท่านอยู่สั่งสอนชาวเขาหมู่บ้านนั้นอยู่นานถึง ๑ ปี กับอีก ๒ เดือน ท่านจึงได้อำลาจากพวกเขาไป วันที่ท่านจะจากไปพวกเขาออกมาส่งท่านกันหมดทั้งหมู่บ้านด้วยความอาลัยอาวรณ์ไม่อยากให้ท่านจากพวกเขาไป พอท่านเดินไปได้เพียงสองสามก้าวเท่านั้น พวกเขาก็พากันวิ่งมาฉุดชายสบงจีวรของท่านไว้ไม่ยอมให้ท่านไปเสียงร้องไห้ดังระงมไปทั่วทั้งผืนป่า

ท่านต้องชี้แจงเหตุผลให้ฟังจนพวกเขาเข้าใจ แต่พอท่านเดินออกมาเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นอีก พวกเขาวิ่งมาแย่งเอาอัฐบริขารของท่านไว้จะไม่ยอมให้ท่านไป ทำให้ท่านต้องแสดงธรรมและทำความเข้าใจกับพวกเขาอยู่นาน กว่าจะจากหมู่บ้านแห่งนั้นมาได้

ขอขอบคุณ http://tamroiphrabuddhabat.com

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ตอน ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

ท่านกำเนิดในสกุล แก่นแก้ว บิดาชื่อ คำด้วง มารดาชิ่อ จันทร์ ปู่ของท่านชื่อ “เพี้ยแก่นท้าว” นับถือพุทธศาสนา เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๐ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓ ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๗ คน

ท่านเป็นบุตรคนหัวปี ท่านเป็นคนร่างเล็ก ผิวดำแดง แข็งแรงว่องไว สติปัญญาดีมาแต่กำเนิด ฉลาดเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ได้เรียนอักษรสมัยในสำนักของอา คือ เรียนอักษรไทยน้อย อักษรไทย อักษรธรรม และอักษรขอมอ่านออกเขียนได้ นับว่าท่านเรียนได้รวดเร็ว เพราะ มีความทรงจำดีและขยันหมั่นเพียร ชอบการเล่าเรียน ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรมและปฏิปทา

เมื่อท่านอายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักบ้านคำบง ใครเป็นบรรพชาจารย์ไม่ปรากฏ ครั้นบวชแล้วได้ศึกษาหาความรู้ทางพระศาสนา มีสวดมนต์และสูตรต่างๆ ในสำนักบรรพชาจารย์ จดจำได้รวดเร็ว อาจารย์เมตตาปราณีมาก เพราะเอาใจใส่ในการเรียนดี ประพฤติปฏิบัติเรียบร้อย เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ เมื่อท่านอายุได้ ๑๗ บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยการงานทางบ้าน ท่านได้ลาสิกขาออกไปช่วยงานบิดามารดาเต็มความสามารถ

ท่านเล่าว่า เมื่อลาสิกขาไปแล้วยังคิดที่จะบวชอีกอยู่เสมอไม่เคยลืมเลย คงเป็นเพราะอุปนิสัยในทางบวชมาแต่ก่อนหนหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง เพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า “เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก” คำสั่งของยายนี้คอยสกิดใจอยู่เสมอ

ครั้นอายุท่านได้ ๒๒ ปี ท่านเล่าว่า มีความยากบวชเป็นกำลัง จึงอำลาบิดามารดาบวช ท่านทั้งสองก็อนุมัติตามประสงค์ ท่านได้ศึกษา ในสำนักท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ วัดเลียบ เมืองอุบล จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับอุปสมบทกรรมเป็นภิกษุภาวะในพระพุทธศาสนา ณ วัดศรีทอง(วัดศรีอุบลรัตนาราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌายะ มี พระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาย์ และพระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ พระอุปัชฌายะขนานนามมคธ ให้ว่า ภูทตฺโต เสร็จอุปสมบทกรรมแล้ว ได้กลับมาสำนักศึกษาวิปัสสนาธุระ กับ พระอาจารย์เสาร์ กันตศีลเถระ ณ วัดเลียบต่อไป

เมื่อแรกอุปสมบท ท่านพำนักอยู่วัดเลียบ เมืองอุบลเป็นปกติ ออกไปอาศัยอยู่วัดบูรพาราม เมืองอุบลบ้าง เป็นครั้งคราว ในระหว่างนั้น ได้ศึกษาข้อปฏิบัติเบื้องต้น อันเป็นส่วนแห่งพระวินัย คือ อาจาระ ความประพฤติมารยาท อาจริยวัตร แล้อุปัชฌายวัตร ปฏิบัติได้เรีบยร้อยดี จนเป็นที่ไว้วางใจของพระอุปัชฌาจารย์ และได้ศึกษาข้อปฏิบัติอบรมจิตใจ คือ เดินจงกลม นั่งสมาธิ สมาทานธุดงควัตร ต่างๆ

ในสมัยต่อมา ได้แสวงหาวิเวก บำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่างๆ ตามราวป่า ป่าช้า ป่าชัฎ ที่แจ้ง หุบเขาซอกห้วย ธารเขา เงื้อมเขา ท้องถ้ำ เรือนว่าง ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้าง ฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง แล้วลงไปศึกษากับนักปราชญ์ในกรุงเทพฯ จำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนาราม หมั่นไปสดับธรรมเทศนา กับ เจ้าพระคุณพระอุบาลี (สิริจันทเถระ จันทร์) ๓ พรรษา

แล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง คือ ถ้ำสาริกา เขาใหญ่ นครนายก ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงาม แล ถ้ำสิงห์โต ลพบุรี จนได้รับความรู้แจ่มแจ้ง ในพระธรรมวินัย สิ้นความสงสัย ในสัตถุศาสนา จึงกลับมาภาคอีสาน ทำการอบรมสั่งสอน สมถวิปัสสน าแก้สหธรรมิก และอุบาสกอุบาสิกาต่อไป มีผู้เลื่อมใสพอใจปฏิบัติมากขึ้น โดยลำดับ มีศิษยานุศิษย์แพร่หลาย กระจายทั่วภาคอีสาน

ในกาลต่อมา ได้ลงไปพักจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ อีก ๑ พรรษา แล้วไปเชียงใหม่กับ เจ้าพระคุณอุบาลีฯ (สิริจันทรเถระ จันทร์) จำพรรษาวัดเจดีย์หลวง ๑ พรรษา แล้วออกไปพักตามที่วิเวกต่างๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้นๆ นานถึง ๑๑ ปี จึงได้กลับมา จังหวัดอุบลราชธานี พักจำพรรษาอยู่ที่ วัดโนนนิเวศน์ เพื่ออนุเคราะห์สาธุชนในที่นั้น ๒ พรรษา

แล้วมาอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร จำพรรษาที่ วัดป่าบ้านนามน ตำบลตองขอบ อำเภอเมืองสกลนคร (ปัจจุบันคือ อำเภอโคกศรีสุพรรณ) ๓ พรรษา จำพรรษาที่ วัดหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอเมืองพรรณานิคม ๕ พรรษา เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในถิ่นนั้น มีผู้สนใจในธรรมปฏิบัติ ได้ติดตามศึกษาอบรมจิตใจมากมาย ศิษยานุศิษย์ของท่าน ได้แพร่กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ยังเกียรติคุณของท่าน ให้ฟุ้งเฟื่องเลื่องลือไป

ขอขอบคุณ http://tamroiphrabuddhabat.com/

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ตอน การปฏิบัติธรรมในขั้นสุดท้าย

หลวงปู่มั่นได้หาที่ที่น่าหวาดเสียวที่สุด เห็นว่าริมปากเหวเหมาะที่สุดที่จะนั่งบำเพ็ญเพียร ท่านตั้งใจแน่วแน่ว่า “หากจะตายขอตายตรงนี้ ขอให้ร่างกายหล่นลงไปในเหวนี้ จะได้ไม่ต้องเป็นที่วุ่นวายเดือดร้อนแก่ใครๆ ” ตั้งแต่บัดนั้น หลวงปู่มั่น ได้ตั้งปณิธานแน่วแน่ว่า “ถ้าไม่รู้แจ้งเห็นจริงในธรรม ก็จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เป็นอันขาด”

หลวงปู่ได้นั่งสมาธิอยู่ ณ จุดนั้นติดต่อกันเป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืนโดยไม่ขยับเขยื้อนและไม่ลืมตาเลย หลวงปู่เริ่มกำหนดจิตต่อจากที่เคยดำเนินการครั้งหลังสุด ได้เกิดการสว่างไสวดุจกลางวัน ความผ่องใสของจิตสามารถเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามต้องการ แม้จะกำหนดดูเม็ดทรายก็เห็นได้อย่างชัดเจนทุกเม็ด แม้จะพิจารณาดูทุกอย่างที่ผ่านมา ก็แจ้งประจักษ์ขึ้นในปัจจุบันหมด

ในขณะที่จิตของท่านดำเนินไปอย่างได้ผล ก็ปรากฏเห็นเป็นลูกสุนัขกำลังกินนมแม่ ท่านพิจารณาใคร่ครวญดู ว่าทำไมจึงเกิดมีนิมิตมาปน ทั้งๆ ที่จิตของท่านเลยขั้นที่จะนิมิตแล้ว เมื่อกำหนดจิตพิจารณาก็เกิดญาณรู้ขึ้นว่า “ลูกสุนัขนั้นก็คือตัวเราเอง เราเคยเกิดเป็นสุนัขอยู่ตรงนี้มานับอัตภาพไม่ถ้วน เวียนเกิดเวียนตายเป็นสุนัขอยู่หลายชาติ ”

เมื่อพิจารณาโดยละเอียดได้ความว่า “ภพ” คือความยินดีในอัตภาพของตน สุนัขก็ยินดีในอัตภาพของมัน จึงต้องเวียนอยู่ในภพของมันตลอดไป เมื่อหลวงปู่มั่น ทราบความเป็นไปในอดีตชาติของท่านก็ได้ถึงความสลดจิตเป็นอย่างมาก

ความสว่างไสวในจิตของท่านยังคงเจิดจ้าอยู่ แต่ทำไมยังมีการห่วงหน้าพะวงหลังอยู่ ไม่สามารถพิจารณาธรรมให้ยิ่งขึ้นไปได้ เมื่อตรวจสอบดูก็พบความจริงที่ท่านไม่เคยทราบมาก่อน นั่นคือ “การปรารถนาพระสัมมาสัมโพธิญาณ” ของท่าน โอ ! แล้วจะต้องเวียนตายเวียนเกิดไปอีกกี่หมื่นกี่แสนชาติ จึงจะถึง คิว ได้เป็นพระพุทธเจ้าสมความปรารถนา

หลวงปู่มั่น ได้ย้อนพิจารณาถึงภพชาติในอดีตปรากฏว่า ท่านเคยมีตำแหน่งเป็นเสนาบดีเมืองกุรุรัฐ (กรุงเดลฮี ในปัจจุบัน) พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดชาวกุรุรัฐ พระองค์ทรงแสดงมหาสติปัฏฐานสูตร หลวงปู่ในชาตินั้นก็ได้เจริญสติปัฏฐาน แล้วยกจิตขึ้นอธิษฐานว่า “ขอให้ข้าพเจ้าได้เป็นพระพุทธเจ้าเช่นพระองค์เถิด”

ได้ความว่า หลวงปู่มั่นได้ปรารภโพธิญาณมาตั้งแต่บัดนั้น ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านต้องชะงักในการพิจารณาอริยสัจเพื่อทำจิตให้หลุดพ้นได้ ต้องสร้างบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ไปอีกชั่วกัปชั่วกัลป์ ถ้าไม่ปล่อยวางความปรารถนานั้น

หลวงปู่มั่น ยังเห็นต่อไปอีกว่า หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เคยเป็นหลานชายของท่านในชาติที่เป็นเสนาบดีเมืองกุรุรัฐ นั้น ภายหลังเมื่อหลวงปู่เทสก์ตามท่านไปอยู่ที่เชียงใหม่ หลวงปู่เคยบอกหลวงปู่เทสก์ว่า “เธอเคยเกิดเป็นหลานเราที่กรุงกุรุรัฐ ฉะนั้น เธอจึงดื้อดึงไม่ค่อยจะฟังเรา และสนิทสนมกับเรายิ่งกว่าใคร”

ต่อจากนั้น หลวงปู่มั่น ได้ระลึกถึง หลวงปู่ใหญ่เสาร์ พระอาจารย์ของท่าน ก็ปรากฏว่า หลวงปู่ใหญ่ก็ได้เคยปรารถนาเป็นพระปัจเจกโพธิญาณ (พระปัจเจกพุทธเจ้า) จึงไม่สามารถที่จะกระตือรือร้น ที่จะทำจิตให้ถึงที่วิมุตติได้

หลวงปู่มั่นตั้งใจไว้ว่าจะต้องหาโอกาสไปกราบอาราธนาให้หลวงปู่ใหญ่เสาร์ได้ละวางความปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในชาตินี้ให้ได้ นี่คือความกตัญญูส่วนหนึ่งของท่าน

หลังจากที่ได้ใคร่ครวญสิ่งต่างๆ แล้ว หลวงปู่มั่น รู้สึกสลดใจที่เคยเกิดเป็นสุนัขนับอัตภาพไม่ถ้วน และยังจะต้องเวียนวายตายเกิดเพื่อสร้างบารมีต่อไปอีกนานแสนนาน ท่านจึงได้อธิษฐานจิตหยุดการปรารถนาพระโพธิญาณ ตั้งใจแน่วแน่ที่จะขอบรรลุธรรมในชาติปัจจุบัน

ต่อจากนั้น หลวงปู่มั่น ได้พิจารณาธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ จึงระลึกได้ว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ที่ทรงแสดงในปฐมเทศนาเป็นทางบรรลุที่แท้จริง พระองค์ทรงแสดงจากความเป็นจริงที่พระองค์ได้ทรงรู้ แล้วนำออกแสดงโปรดพระปัญจวัคคีย์ ทรงแสดงถึง อริยสัจ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค และทรงย้ำว่า

ปริเญยฺยนฺ เม ภิกฺขเว ทุกข์พึงกำหนดรู้ ปริญาตนฺ เม ภิกฺขเว เราได้กำหนดรู้แล้ว ปหาตพฺพนฺติ เม ภิกฺขเว สมุทัยควรละ ปหีนนฺติ เม ภิกฺขเว เราได้ละแล้ว สทฺฉกาตพฺพนฺติ เม ภิกฺขเว นิโรธควรทำให้แจ้ง เราทำให้แจ้งแล้ว ภาเวตพฺพนฺติ เม ภิกฺขเว มรรคควรเจริญให้มาก ภาวิตนฺติ เม ภิกฺขเว เราก็เจริญให้มากแล้ว

เมื่อได้ระลึกถึงธรรมะอันเป็นหัวใจของพระธัมมจักกัปปวัตนสูตรคือ อริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ ควรกำหนดรู้ สมุทัย ควรละ นิโรธควรทำให้แจ้ง และ มรรค ควรเจริญให้มาก ดังนี้แล้ว หลวงปู่มั่นก็ได้พิจารณาอริยสัจไปตามลำดับ

หลวงปู่ได้พิจารณากายคตาสติ โดยยกเอาการระลึกชาติที่เกิดเป็นสุนัขมาเป็นตัวทุกข์ จนกระทั่งเกิดความแจ่มแจ้งขึ้นในจิต กลายเป็นญาณ คือ การหยั่งรู้ที่เกิดจากการดำเนินทางจิตจนพอเพียงแก่ความต้องการ (อิ่มตัว) ไม่ใช่เกิดจากการนึกเอาคิดเอา หรือน้อมเอาเพื่อให้เป็นไป แต่เกิดจากการพิจารณาโดยความเป็นจริงแห่งกำลังของจิตที่ได้รับการฝึกอบรมมาพอแล้ว

(ตัวอย่างเช่น ผลไม้ มันจะต้องพอแก่ความต้องการของมันจึงจะสุกได้ ไม่ใช่นึกเอาคิดเอา หรือ ข้าว จะสุกได้ก็ต้องได้รับความร้อนที่พอแก่ความต้องการของมัน)

ในการพิจารณากาย ที่เป็นตัวทุกข์ก็เช่นกัน กว่าจะกลับกลายเป็นญาณ ขึ้นมาได้ ก็ต้องอาศัยการพิจารณาทางจิต จนเพียงพอแก่ความต้องการ คือ อิ่มตัวในแต่ละครั้ง จะเกิดเป็นนิพพิทาญาณ คือความเบื่อหน่าย จะตั้งอยู่ในใจได้ ก็เมื่อการพิจารณากายได้เห็นชัดด้วยความสามารถแห่งพลังจิต…
“การพิจารณาทุกข์เป็นเหตุให้เกิด นิพพิทาญาณ ถ้าเกิดความเพียงพอแห่งกำลังเข้าเมื่อใด ญาณนั้นจึงจะเป็นกำลังตัดกิเลสได้”

โดยย่นย่อ หลวงปู่มั่นได้พิจารณาอริยสัจ ๔ จนเกิดญาณรู้แจ้งขึ้นในจิตโดยลำดับ ในวาระสุดท้าย หลวงปู่ได้กำหนดทบทวนกระแสจิตกลับมาหา ฐีติภูตํ คือ ที่ตั้งของจิต จนปรากฏตัว “ผู้รู้ – ผู้เห็น” และ “ผู้ไม่ตาย” ท่านพิจารณาทบทวนกลับไปกลับมา จนหมดความสงสัยทุกอย่างโดยสิ้นเชิง อ่านเพิ่มเติม

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ตอน หลวงปู่มั่นได้พบกับครูบาศรีวิชัย

หลวงปู่มั่น_ภูริทัตโต

ในสมัยที่หลวงปู่มั่นท่านจาริกไปอยู่เชียงใหม่ ท่านทราบว่ามีสุปฏิบันโนสงฆ์อยู่คือครูบาศรีวิชัย ในขณะเดียวกันท่านครูบาศรีวิชัยท่านก็ได้ชื่อเสียงของหลวงปูมั่นเช่นกัน ต่างมีความนับถือกันมากแม้ไม่ได้พบหน้า

มีคราวหนึ่งที่ท่านทั้งสองได้พบกัน (ไม่ทราบว่าด้วยวาระอะไร) หลวงปู่มั่นท่านกล่าวชวนครูบาศรีวิชัยว่า “มาปฏิบัติกับผมไหม” ครูบาศรีวิชัยตอบว่า “ผมไปไม่ได้ ผมได้รับพุทธทำนายแล้ว”นั่นหมายความว่าท่านปราถนาพุทธภูมิ และความปราถนานั้นจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว เพราะได้รับการทำนายจากพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง แล้วในอดีตที่ผ่านมา ดังนั้นท่านมีแต่จะต้องบำเพ็ญบารมีต่อไปจนเต็มภูมิ ซึ่งการบำเพ็ญของท่านก็มักจะมีภูมิลึกลับคอยช่วยเสมอ ๆ

ส่วนหลวงปู่มั่นเองตามประวัติที่เขียนโดย หลวงตามหาบัว ท่านกล่าวว่าหลวงปู่มั่นในช่วงปฏิบัติช่วงหนึ่งเกิดติดขัด ไปต่อไม่ได้ จิตอาลัยอาวร กล่าวคือท่านก็ปราถนาพุทธภูมิเช่นกัน แต่ท่านอธิฐานละพุทธภูมินั้นเสียและขอรวมบารมีที่ได้สั่งสมไว้ดีแล้วนั้นถ้าเต็มบารมีสาวกภูมิก็ขอให้บรรลุมรรคผลนิพพานในชาตินี้ (เพราะท่านเจริญสมาธิจนรู้ได้ ว่าท่านเคยเกิดเป็นสุนัขอยู่ 500 ชาติ เกิดสลดสังเวช ไม่อยากเกิดอีกแล้ว)

หลังจากอธิษฐานละแล้วการปฏิบัติก็ก้าวหน้าเป็นลำดับ ท่านหลวงตามหาบัวได้แสดงความเห็นแทรกไว้ว่าการที่ท่านละได้นั้นเพราะความปราถนาท่านยังไม่ถึงขั้นพุทธทำนาย จึงยังมีโอกาสละและประมวลบารมีทั้งหมดให้มามีผลในปัจจุบันได้ เมื่อสำเร็จสาวกภูมิในชาตินี้แล้วความรู้อันเป็นของพุทธภูมิหรืออุปนิสัยความสามารถในทางพุทธภูมิ คือการถ่ายทอดสอนคนอื่นต่อจึงมีความสามารถมาก รู้แยกแยะสอนสั่งผู้อื่นได้ชำนาญ

ขอขอบคุณ http://tamroiphrabuddhabat.com/

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ตอน แสงธรรมสว่างไสว ทั่วโลกธาตุ

“ภพเบื้องหน้าเราไม่มีแล้ว พรหมจรรย์เราได้จบแล้ว” หลวงปู่มั่น ภูริฑัตโต ณ. กาลเวลานี้ เมื่อได้สละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง หลวงปู่มั่นอธิบายว่า “ทุกอย่างในโลกนี้มีสภาพเป็นอันเดียวดุจหน้ากลองชัย โลกนี้ราบลงหมด คือสว่างเตียนโล่ง ร่างกายของเราประมวลเข้าดังเดิม”

ยักษ์สูงทะมึนมองเห็นเหตุการณ์พลิกผัน ได้กลายร่างเป็นมนุษย์แล้วเข้ามากราบขอขมาลาโทษ แล้วหายไปในที่สุด …ขณะนั้นเสียงไก่ขัน… ดังเป็นระยะๆ บอกเวลาว่าใกล้รุ่ง คะเนว่าน่าจะราวตี 3-4 ความเงียบสงบของราตรีกลับมาบรรเลงอีกครั้ง ราวกับเตรียมเฉลิมฉลองในวาระพิเศษของการกำเนิดสัตตบุรุษในรอบพันปี

หลวงปู่มั่นเจริญสมาธิก้าวลงสู่ทุติยฌาน ตติยฌานและจตุตถฌาน พอล่วงดึกจิตก็พักเอากำลังในฌาน ส่วนปฐมฌานคือการพิจารณาวิปัสสนาญาณ เมื่อจิตใช้กำลังพิจารณาข้อธรรมแล้วย่อมพักในฌานเพื่อให้เกิดกำลังต่อไป
พอจิตพักในจตุตถฌานจนมีกำลัง จิตได้ถอยออกมาสู่ปฐมฌาน เกิดวิปัสสนาญาณรู้เห็นความเป็นไปของชาติภพของสัตว์โลก จากนั้นได้พิจารณาต้องต้นสายปลายเหตุของชาติภพในหมู่สัตว์ทั้งปวง หลวงปู่มั่นค้นลงได้ความตามปฏิจสมุทรบาทว่า

หลวงปู่มั่นแทงตลอดลูกโซ่ของภพชาติได้อริยมรรค อันเป็นเครื่องตัดกิเลส จึงพิจารณาในดวงจิตพบว่า
“เมื่ออวิชชาไม่เกาะเกี่ยวได้แล้ว อวิชชาดับ สังขารก็ดับ สังขารดับวิญญาณก็ดับ ตลอดจน ฯลฯ ตัณหา อุปทาน ภพ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกปริเทวะ ทุกข์โทมนัส อุปายสะก็ดับหมด”

คราวนี้จิตรวมใหญ่แต่จิตไม่พักเหมือนที่ผ่านมา เกิดมีญาณขึ้นมาว่า
“ภพเบื้องหน้าเราไม่มีแล้ว พรหมจรรย์เราได้จบแล้ว กิจอันเราควรทำ เราได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่ควรไม่มีอีกแล้ว ญาณชนิดนี้เรียกว่า “อาสวักขยญาณ” คือความรู้ว่าความสิ้นไปแห่งอาสวะพร้อมกับอวิชชาก็หายไป ไม่ก่อนไม่หลังตะวันขึ้นมาและเดือนก็ตกไป รวมความว่า ญาณเกิดขึ้น อวิชชาหายไป พระอาทิตย์ขึ้นมา พระจันทร์ตกไป อปุพพํ อจิรมํ ไม่ก่อนไม่หลัง

เมื่อญาณเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ได้ขับไล่ไสส่งอวิชชา เจ้าผู้มีอวิชชาเอ๋ย เจ้าเป็นผู้ไม่รู้ไม่เห็น เจ้าจงหนีไปอยู่กับเราไม่ได้แล้ว อวิชชาก็ไม่ได้บอกกล่าวอำลาว่า ญาณผู้แจ้งผู้เห็นจริง เจ้าเป็นผู้รู้ผู้เห็นเอ๋ย ข้าอยู่กับเจ้าไม่ได้แล้ว ข้าขอลาเจ้าไปก่อน ต่างไม่ได้ขับไล่ แต่ท่านว่าความมืดและพระอาทิตย์ก็เหมือนกัน พระอาทิตย์ขึ้นมาความมืดก็หายไป

พระอาทิตย์ก็ไม่ได้ขับไล่ไสส่งความมืดหรือพระจันทร์จะว่า เจ้าผู้มืดผู้ดำเอ๋ย เจ้าอยู่กับข้าไม่ได้แล้ว เจ้าจงหนีไป ความมืดก็ไม่ได้บอกกล่าวอำลา หรือไม่ได้ว่าพระอาทิตย์ผู้แจ้งสว่าง ผู้มีเดชอันกล้าเอ๋ย ข้าอยู่กับเจ้าไม่ได้แล้ว ข้าขอลาเจ้าไปก่อน หาใช่อย่างนั้นไม่ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นมาความมืดก็หายไปฉันใดก็ฉันนั้น”

ขอขอบคุณ http://tamroiphrabuddhabat.com

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ตอน สู้รบกับยักษ์… หวิดตาย

คืนจันทร์สว่างฟ้า พระจันทร์เต็มดวงมีธรรมชาติจะทรงกลดยามเที่ยงคืน ..เป็นภาพที่งดงาม สงบสงัด มีแต่สรรพเสียงของป่าเป็นเพื่อน ขณะที่หลวงปู่มั่นเดินจิตภาวนาใหม่ ปรากฏแสงสว่างเมื่อจิตรวมแล้ว..

เกิดเรื่องอันน่าสะพรึงกลัว.. ภูเขาทั้งลูกสั่นสะเทือนราวกับมีใครเอามือมาเขย่า เสียงลมพัดโหมกระหน่ำผ่านราวป่า เสียงไม้หักโค่นเกรียวกราว..แต่หลวงปู่มั่นดำรงในสมาธิไม่หวั่นไหวกับเสียงอึกทึกรอบค้าง ท่านบอกว่า

“แรงสั่นสะเทือน ราวกับภูเขาจะพลิกค่ำ” บรรยากาศอันน่ากลัวรอบข้างทำเอาท่านเกือบลืมตา ..แต่ระลึกได้ถึงคำอธิษฐานจิตถึงธรรมะ หลวงปู่มั่นจึงพิจารณาภาวะธรรมะที่เกิดขึ้น

ยิ่งพิจารณาธรรมเท่าไร ความโหดร้ายของสภาพรอบตัวยิ่งทวีความรุนแรงไม่มีท่าทีว่าจะหยุด แต่สติของท่านมั่นคงกว่าขุนเขาที่นั่งไม่อาจโยกคลอนได้ ขณะที่เฝ้าดูอาการของ “สติ-สมาธิ” ที่มั่นคงไม่หวั่นไหวกับสิ่งรอบข้างอยู่นั้น ..

จู่ๆ มียักษ์สูงร่างสูงใหญ่ทะมึนสูงเท่าต้นไม้ ถือตะบองเหล็กส่องรัศมีเหมือนเปลวไฟ เดินย่างสามขุมตรงมายังหลวงปู่มั่น พร้อมตวาดลั่นสะท้านป่าว่า

“จงลุกจากที่นี้เดี๋ยวนี้ มิฉะนั้นจะต้องตาย” พูดจบยักษ์เงื้อตะบองขึ้นสุดแขน เพื่อหวดฟาดหลวงปู่มั่นเต็มกำลัง

หลวงปู่มั่นเกือบเผลอลืมตาขึ้นมอง แต่อำนาจสติได้ตามรู้ทันจึงระงับไว้ได้ ตลอดเวลาเกือบ 3 เดือนที่เจริญสติจนกลายเป็นมหาสติไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ให้ปรุงแต่งเคลื่อนจิตให้สะท้านกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแม้แต่น้อย ท่านตอบยักษ์ไปว่า “เราไม่ลุก”

ทันใดนั้นเอง… ยักษ์ฟาดตะบองลงมายังร่างของท่านเต็มพละกำลังอันมหาศาล จนร่างหลวงปู่มั่นจมลึกลงในดินราว 10 วา แต่ร่างของท่านลอยขึ้นมาเหนือพื้นดิน เจ้ายักษ์ทมิฬหันลีหันขวาง เห็นต้นตะเคียนขนาด 10 คนโอบ ตรงเข้าไปถอนขึ้นมาทั้งต้น รากของต้นไม้ขาดจากดิน เศษดินยังกระเด็นมาโดนร่างหลวงปู่มั่นที่นั่งสมาธิด้วย

ยักษ์ใหญ่แค้นมองร่างหลวงปู่มั่นตัวจิ๋วด้วยความโกรธ ตาแดงเป็นไฟ เงื้อต้นตะเคียนฟาดมาที่ร่างหลวงปู่มั่นจนแบนไปกับก้อนหิน จนก้อนหินไม่สามารถต้านทานได้แหลกละเอียดไปในพริบตา ในวินาทีนี้หลวงปู่มั่นเกือบจะลืมตาขึ้นดูสภาพรอบข้าง แต่กำลังของมหาสติดำรงมั่น เป็นตัวกำกับพิจารณาอารมณ์อันละเอียดอ่อนที่ปรากฏเกิดขึ้นในใจ

ค้นพบว่าแท้จริงแล้วใจของท่านมีอาการพะว้าพะวังของการปรารถนาพระโพธิญาณ ซึ่งเรื่องนี้ซึ่งนี้เป็นธรรมชาติของหน่อเนื้อพุทธะ ทันทีที่ว่านเมล็ดพันธุ์โพธิจิตลงในเนื้อนาใจ ต้นไม้แห่งโพธิจะแทงหน่อเติบโต ต้นไม้นี้ย่อมเป็นที่พึ่งพาอาศัยของสัตว์ทั้งปวง คุณธรรมแลความรอบรู้ในขอบข่ายของพุทธะอันประมาณมิได้นี้ จะหลั่งไหลเข้าสู่จิต

ตลอดเส้นทางพระโพธิญาณ หลวงปั่มั่นได้สร้างสมทศบารมี เพื่อให้บริบูรณ์พร้อมที่จะสั่งสอนอบรมสรรพชีวิตให้เหมาะสมตามนิสัย แลตลอดแตกฉานในอุบายเพื่อสอนให้ผู้อื่นให้เข้าถึงธรรมได้ง่าย และรวดเร็วตามกำลังบุญของแต่ละคน เมื่อมหาสติทราบชัดถึงเครื่องกางกั้นชั้นสุดท้าย สิ่งที่ติดค้างในใจของท่านก็หมดลง

ขอขอบคุณ http://tamroiphrabuddhabat.com/

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ตอน การระลึกชาติของ.. เกิดสมัยพุทธกาล

ตามประวัติได้เล่าว่า หลวงปู่มั่น ท่านได้เที่ยวปลีกวิเวกธุดงค์ไปป่าตามจังหวัดต่างๆ ผ่านอุบลราชธานี ดงพญาเย็น ภูเขาหลายลูก ในวันหนึ่งเกิดนิมิตถึง ถ้ำสิงห์โต หรือ ถ้ำไผ่ขวาง อยู่บนเขาพระงาม จ.ลพบุรี

ถ้ำไผ่ขวางอยู่ข้างน้ำตก มีลักษณะเป็นป่าทึบ อากาศเย็นสบาย อุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์ป่านานาชนิดอาทิ ช้าง เสือ งูเห่า สถานที่แทบจะไร้ผู้คนอาศัย ระหว่างทางเดินขึ้นเขา ชาวบ้านเห็นมีพระภิกษุต่างถิ่นรูปหนึ่งสะพายบาตรกลดกิริยามารยาทเคร่งครัดในพระธรรมวินัย จึงตรงเข้ามาสอบถามด้วยความเป็นห่วงว่า

“หลวงพ่อจะไปไหน”
หลวงปู่มั่นตอบว่า “จะไปบำเพ็ญสมณธรรมในเขาลูกนั้น”

ชาวบ้านฟังแล้วตกใจ รีบยกมือไหว้ท่านแล้วกราบนิมนต์ว่า “อย่าเข้าไปเลยหลวงพ่อ เพราะพระที่เข้าไปในถ้ำนี้ตายไปแล้ว 6 องค์ ขอให้อยู่กับพวกฉันที่บ้านไร่นี้เถิด อย่าเข้าไปเลย”

หลวงปู่มั่นรับความปรารถนาดีของชาวบ้านเอาไว้ในใจแล้วตอบว่า “เออ.. โยม ขอให้อาตมาเป็นองค์ที่ 7 ก็แล้วกัน”

จากคำพูดของชาวบ้าน ก็พอทำให้หลวงปู่มั่นเข้าใจสภาพของถ้ำบนภูเขาในป่าได้ดี จิตใจไม่มีหวาดกลัวกลับเต็มไปด้วยความเด็ดเดี่ยวยอมสละชีวิตเพื่อธรรมะ พอถึงถ้ำไผ่ขวางจัดแจงวางสัมภาระ เก็บปัดทำความสะอาดบริเวณที่พัก พอตกค่ำบำเพ็ญภาวนาตามวิสัย

รุ่งเช้าเดินลงเขาบิณฑบาตอย่างนี้ผ่านเดือนอ้าย เดือนยี่จนล่วงใกล้เข้าคืนเพ็ญเดือน 3 อันเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ทำให้หลวงปู่มั่นระลึกถึงสมัยพุทธกาล ช่วงที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญภาวนาต่อสู้กับกิเลสมารจนบรรลุธรรม ท่านได้ปรารภว่า

“เราบำเพ็ญสมณธรรมมาถึงบัดนี้ก็เป็นเวลา 12 ปี ทุกอย่างพร้อมแล้ว ที่จะทำสุดแห่งทุกข์ในวัฏสงสารในคืนเพ็ญนี้” การตัดสินใจเช่นนี้แบบทิ้งทวนแลกชีวิตกับธรรมะ

ยามเช้า… เช่นเดียวกับทุกๆ วัน หลวงปู่มั่นหลังจากฉันเช้าเรียบร้อยเพียงพอแก่สังขารให้บำเพ็ญธรรมะได้ จากนั้นจึงบำเพ็ญสมาธิภาวนา พอนั่งได้ไม่นานเกิดไม่สบายกาย อาหารที่ฉันเข้าไปไม่ย่อย ทำให้อาหารเป็นพิษ ส่งผลให้ท้องร่วง อาเจียนอย่างหนัก ท่านจึงหวนนึกถึงคำพูดของชาวบ้าน พรางรำพึงกับตนเองว่า

“ตัวเราเองก็เห็นจะตายแน่เหมือนพระเหล่านั้น” แต่คำปรารภนี้ล้วนไม่ใช่วิสัยนักรบแห่งกองทัพธรรม หลวงปู่มั่นจึงออกเดินสำรวจมองหาสถานที่นั่งสมาธิ และแล้ว..

ที่หน้าผาเหวลึก.. มีก้อนหินใหญ่อยู่บนปากเหว พอให้คนไปนั่งได้ หลวงปู่มั่นไปขึ้นไปยืนบนก้อนหินใหญ่ แล้วหยิบก้อนหินอันเล็กๆ โยนลงไปในเหว ใช้เวลานานพอควรจึงจะได้ยินเสียงกระทบของก้อนหิน หลังจากดูทำเลเป็นที่เรียบร้อยหลวงปู่มั่นกล่าวปณิธานว่า

“เอาล่ะ.. ถ้าเราไม่รู้แจ้งเห็นจริง ก็จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เป็นอันขาด ถ้าเราจะต้องตายขอให้ตายตรงนี้ ขอให้หล่นลงไปในเหวนี้ จะได้ไม่เป็นที่วุ่นวายแก่ใครๆ ซึ่งจะต้องกังวลทำศพให้เรา”

คืนนั้น ท่ามกลางขุนเขาแสงจันทร์กระจ่างเป็นสักขีพยานเฝ้าดูการบำเพ็ญภาวนาของหลวงปู่มั่น จิตของท่านสว่างไสวดุจกลางวัน เห็นกระจ่างชัดแม้เม็ดทรายเล็กๆ

จิตโอภาสประภัสสรเห็นชัดในนิมิตที่เข้ามา รวมถึงการพิจารณากายคตาตอลดจนธรรมะต่างๆ นาน 3 วัน 3 คืน โดยไม่ลงไปบิณฑบาต ไม่ฉันอาหาร เกิดนิมิตปรากฏเห็นบุตรสาวของโยมที่อุปัฎฐาก มายืนร้องเรียกความรักจากท่าน จิตของหลวงปู่มั่นไม่ได้หวั่นไหวไปตาม จิตไม่ได้ยินดียินร้ายกับสาวงามนั้น ท่านพิจารณาว่า

“อันเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เราก็พิจารณามาอย่างช่ำชองแล้ว จะมาหลงอีกหรือ”

ฉับพลันภาพหญิงสาวนั้นก็แก่เฒ่าและล้มตายลงเหลือแต่กองกระดูกหายไปในแผ่นดิน จิตจึงถอนออกมา

ขณะนั้นจิตมีปีติซาบซ่านเข้าถึงเอกัคคตาญาณ กายเบาจิตใจมีความสงบระงับ จิตเดินเข้าสู่ปฐมฌาน ทุติยฌาน และจตุตถฌานโดยลำดับ พักอยู่ในจตุตถฌานนานพอควรแล้วถอยออกมาจนถึงปฐมฌานจึงหยุด ในลำดับนี้หลวงปู่มั่นท่านว่าเกิดปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือรู้อดีตชาติ เกิดนิมิตภาพลูกสุนัขกินนมแม่

หลวงปู่มั่นรู้ด้วยใจว่า ลูกสุนัขก็คือตัวท่านเองในอดีตชาติที่เกิดเป็นสุนัขนับชาติไม่ถ้วน สาเหตุมาจากลูกสุนัขมีความพอใจในอัตภาพของมัน จงส่งผลให้เกิดเป็นสุนัขจึงติดอยู่ในภพนี้หลายชาติ สร้างความสลดสังเวชให้กับท่านเป็นอย่างมาก จากนั้นหลวงปู่มั่นได้ค้นลงหาถึงต้นสายปลายเหตุพบว่า อ่านเพิ่มเติม

คติธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ธรรมะมีทั้งกลางวันและกลางคืน

คติธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ธรรมะมีทั้งกลางวันและกลางคืน

ผู้ปฏิบัติพึงใช้อุบายปัญญาฟังธรรมเทศนาทุกเมื่อ ถึงจะอยู่คนเดียวก็ตาม คืออาศัยการสำเหนียก กำหนดพิจารณาธรรมอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นรูปธรรมที่มีอยู่ปรากฏอยู่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สัมผัส) ก็มีอยู่ปรากฏอยู่ได้เห็นอยู่ได้ยินอยู่ได้สูดดมลิ้มเลีย และ สัมผัสอยู่ จิตใจเล่า ก็มีอยู่ ความคิด นึกรู้สึกในอารมณ์ต่างๆทั้งดีและร้ายก็มีอันมีอยู่โดยธรรมดาเขาแสดงความจริง คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ให้ปรากฏอยู่ทุกเมื่อ เช่น ใบไม้เหลืองหล่นร่วงจากต้น ก็แสดงความไม่เที่ยงให้เห็นได้ดังนี้ เป็นต้น เมื่อผู้ปฏิบัติมาพินิจพิจารณาด้วยสติปัญญา โดยอุบายนี้อยู่เสมอแล้วชื่อว่าได้ฟังธรรมอยู่ทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน

ธรรมโอวาทของหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://dubtook.kvc.ac.th

คติธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ธาตุเน่าไม่ควรยึด

คติธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ธาตุเน่าไม่ควรยึด

ท่านเทศน์ให้สงเคราะห์เข้าตนทั้งนั้น
สุกะ เป็นธาตุบูดเน่าเป็นธรรมชาติของเขา
ร้ายแต่มนุษย์ จิตติดสุภะ ดื่มสุรา
ท่านยกพระโพธิสัตว์ยกเป็นกษัตริย์ มีเมีย ๖ หมื่น บุตรราหุล
ท่านก็ไม่เมา ไหนเรามีเมียตาเปียกคนเดียวติดกันจนตาย
ธาตุเมาอันนี้เป็นธรรมชาติไม่ให้คนสิ้นสุดทุกข์ไปได้

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
วัดป่าภูริทัตตถิราวาส จังหวัดสกลนคร

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://dubtook.kvc.ac.th

คติธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต คุณค่าของชีวิต

คติธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

คุณค่าของชีวิต

สิ่งมีชีวิตเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอยู่ในตัวของมันเอง
จึงไม่ควรเบียดเบียนและทำลายคุณค่า
แห่งความเป็นอยู่ของเขาให้ตกไป
อันเป็นการทำลายคุณค่าของกันและกัน
เป็นบาปกรรมแก่ผู้ทำ

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
วัดป่าภูริทัตตถิราวาส จังหวัดสกลนคร

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://dubtook.kvc.ac.th

คติธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วิ่งตะครุบเงา

คติธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

วิ่งตะครุบเงา

คนหิว อยู่เป็นปกติสุขไม่ได้
จึงวิ่งหาโน่นหานี่
เจออะไรก็คว้าติดมือมาโดยไม่สำนึกว่าผิดหรือถูก
ครั้นแล้วสิ่งที่คว้ามาก็เผาตัวเองให้ร้อนยิ่งกว่าไฟ
คนที่หลงจึงต้องแสวงหา
ถ้าไม่หลงก็ไม่ต้องหา
จะหาไปให้ลำบากทำไม
อะไรๆ ก็มีอยู่กับตัวเองอย่างสมบูรณ์อยู่แล้ว
จะตื่นเงา ตะครุบเงาไปทำไม
เพราะรู้แล้วว่า เงาไม่ใช่ตัวจริง
ตัวจริง คือ สัจจะทั้งสี่ที่มีอยู่ในกายในใจอย่างสมบูรณ์แล้ว

คติธรรม โดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://dubtook.kvc.ac.th

คติธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เราควรรักษาศีล 5

คติธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

เราควรรักษาศีล 5

๑. สิ่งที่มีชีวิต เป็นสิ่งที่มีคุณค่า จึงไม่ควรเบียดเบียน ข่มเหง และทำลายคุณค่าแห่งความเป็นอยู่ของเขาให้ตกไป
๒. สิ่งของของใคร ใครก็รักและสงวน ไม่ควรทำลาย ฉกลัก ปล้น จี้ เป็นต้น อันเป็นการทำลายสมบัติและทำลายจิตใจกัน
๓. ลูกหลาน สามี ภรรยา ใครๆ ก็รักสงวนอย่างยิ่ง ไม่ปรารถนาให้ใครมาอาจเอื้อม ล่วงเกิน เป็นการทำลายจิตใจของผู้อื่นอย่างหนัก และเป็นบาปไม่มีประมาณ
๔. มุสา การโกหกพกลม เป็นสิ่งทำลายความเชื่อถือของผู้อื่นให้ขาดสะบั้นลงอย่างไม่มีดี แม้เดรัจฉานก็ไม่พอใจคำหลอกลวง จึงไม่ควรโกหกหลอกลวงให้ผู้อื่นเสียหาย
๕. สุรา ยาเสพติด เป็นของมึนเมาและให้โทษ ดื่มเข้าไปย่อมทำให้คนดีๆ กลายเป็นคนบ้าได้ ลดคุณค่าลงโดยลำดับ ผู้ต้องการเป็นคนดีมีสติปกครองตัว จึงไม่ควรดื่มสุรา เครื่องทำลายสุขภาพทางร่างกายและใจอย่างยิ่ง เป็นการทำลายตัวเอง และผู้อื่นไปด้วยในขณะเดียวกัน

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
วัดป่าภูริทัตตถิราวาส จังหวัดสกลนคร

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://dubtook.kvc.ac.th

คติธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ผู้ทรงคุณค่าด้วยธรรม

คติธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ผู้ทรงคุณค่าด้วยธรรม

ผู้เห็นคุณค่าของตัว จึงเห็นคุณค่าของผู้อื่น

ว่ามีความรู้สึกเช่นเดียวกัน ไม่เบียดเบียนทำลายกัน

ผู้มีศีลสัตย์เมื่อทำลายขันธ์ไปในสุคติในโลกสวรรค์

ไม่ตกต่ำเพราะอำนาจศีลคุ้มครองรักษาและสนับสนุน

จึงควรอย่างยิ่งที่จะพากันรักษาให้บริบูรณ์

ธรรมก็สั่งสอนแล้วควรจดจำให้ดี

ปฏิบัติให้มั่นคง จะเป็นผู้ทรงคุณสมบัติทุกอย่างแน่นอน

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://dubtook.kvc.ac.th

คติธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ทำตนอย่ารู้มาก

คติธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ทำตนอย่ารู้มาก

อย่าสำคัญว่าตนเอง เก่งกาจสามารถฉลาดรู้กว่าเขาเลย

ถึงกับสร้างความมืดมิดปิดตาทับถมตัวเอง

จนไม่มีวันสร่างซา เมื่อถึงเวลาจนตรอกอาจจนยิ่งกว่าสัตว์

ยังไม่เตรียมทราบไว้เสียแต่บัดนี้ ซึ่งอยู่ในฐานะอันควร

เมื่อมีผู้เตือนสติ

ควรยึดมาเป็นธรรมคำสอน

จะเป็นคนมีขอบเขตมีเหตุผล ไม่ทำตามความอยาก

เมื่อพยายามฝ่าฝืนให้เป็นไปตามทางของนักปราชญ์ได้

จะประสบผลคือความสุขในปัจจุบันทันตา

แม้จะมิได้เป็นเจ้าของเงินล้าน แต่มีทางได้รับความสุข

จากสมบัติและความประพฤติดีของตน

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://dubtook.kvc.ac.th

. . . . . . .