อุปนิสัย ๓ ›››››สมเด็จพระญาณสังวร

อุปนิสัย ๓

›››››สมเด็จพระญาณสังวร

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ผู้ปฏิบัติธรรมทุกท่าน กล่าวได้ว่าเป็นผู้ได้สร้างอุปนิสัยแห่งการปฏิบัติ และทุกๆ ท่านก็น่าจะได้มีอุปนิสัยแห่ง

การปฏิบัติธรรมที่ได้สร้างมาแล้ว น้อยหรือมาก ท่านแสดงถึง

อุปนิสัย ๓ คือ ทานูปนิสัย อุปนิสัยแห่งทาน สีลูปนิสัย อุปนิสัยแห่งศีล ภาวนูปนิสัย อุปนิสัยแห่งภาวนา คือ

การปฏิบัติอบรมจิตใจในสมถะวิปัสสนา บางคนมีอุปนิสัยข้อใดข้อหนึ่งที่ได้สร้างมามาก และบางข้อก็ได้สร้างมา

น้อย แม้ว่าจะได้สร้างมาน้อยในข้อใดข้อหนึ่งก็ยังเป็นอุปนิสัยที่จะนำให้ได้สร้างยิ่งๆ ขึ้นไป

และโดยเฉพาะข้อภาวนานั้นบางท่านได้สร้างมามาก แต่ว่าหย่อนในข้อทานข้อศีล แม้เช่นนั้นก็อาจจะนำเข้ามา

สู่ทางที่ถูกได้ ถึงแม้ข้อทานข้อศีลก็เหมือนกัน ได้สร้างมามากกว่าข้อภาวนา ก็นำให้เข้ามาสู่ทางที่ถูก ตลอด

จนถึงให้ปฏิบัติในภาวนาอบรมสมถะวิปัสสนาให้บังเกิดขึ้นได้

ฉะนั้น ทุกคนจึงไม่ควรที่จะหมิ่นตนเองว่าเป็นผู้อ่อนเป็นผู้ไม่สามารถ แต่ให้เริ่มตั้งต้นปฏิบัติในทานในศีลใน

ภาวนา แม้ว่าจะเล็กน้อยก็ยังดี เมื่อได้ทำบ่อย ๆ เข้าก็ย่อมจะมากขึ้นได้

ไม่ควรประมาทในบุญกิริยา

จึงได้มีพระพุทธภาษิตที่ตรัสเปรียบไว้ในธรรมบทว่า ควรทำฉันทะคือความพอใจในการกระทำบุญ แม้ทีละน้อย

ฝนตกลงมาทีละหยาด ๆ ก็ย่อมทำภาชนะที่รองน้ำให้เต็มได้ การทำบุญแม้ทีละน้อย ๆ ก็ย่อมทำให้บุญเต็มขึ้น

มาได้ มากขึ้นมาได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรประมาทเลินเล่อเผลอเพลินในบุญกริยา คือการกระ

ทำบุญทั้งหลาย

ได้มีเล่าถึงพระเถระรูปหนึ่ง ก่อนแต่ท่านจะบวชได้เป็นพรานป่าฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอยู่เป็นประจำ ก็ดูเหมือนเป็นคน

ใจบาปกระทำบาปอยู่เป็นอาชีพเป็นประจำ ในวันหนึ่งเมื่อไปล่าสัตว์ดักสัตว์ในป่า ได้มีความกระหายน้ำ ก็ได้

เข้าไปในที่อาศัยของพระเถระรูปหนึ่งซึ่งอยู่ในป่า ประสงค์ที่จะได้น้ำดื่ม ก็ได้เห็นตุ่มน้ำตั้งอยู่ จึงได้เข้าไป เมื่อ

เข้าไปถึงก็เห็นตุ่มน้ำเปล่า ไม่มีน้ำ

ในขณะนั้นพระเถระท่านได้เดินอยู่ในที่นั้น นายพรานจึงได้ร้องไปที่ท่านว่าท่านเป็นผู้ที่เกียจคร้าน ไม่ตักน้ำมา

ใส่ตุ่มเอาไว้แม้เพียงตุ่มเดียว สำหรับที่จะได้ดื่มอาศัยใช้สอย พระเถระจึงได้เดินเข้ามาที่ตุ่มน้ำ ซึ่งท่านได้ตักน้ำ

ใส่ไว้เต็มตุ่มแล้ว จึงได้เอาภาชนะน้ำตักน้ำในตุ่มนั้นส่งให้นายพราน นายพรานก็ได้ดื่มน้ำ และไม่พอท่านก็ตัก

ให้เป็นครั้งที่สอง ก็ดื่มเป็นครั้งที่สอง ครั้นดื่มน้ำแล้วก็มีความสลดใจในตนเอง ว่าได้ประกอบกรรมที่เป็น

ปาณาติบาต มาตลอดเวลาช้านาน

และได้มาประสบเหตุการณ์ อันแสดงถึงความเป็นผู้ที่ได้ประกอบปาณาติบาตกรรมมามาก น้ำเต็มตุ่มก็มองไม่

เห็นน้ำ ได้สติขึ้นมาจึงได้เข้าไปกราบพระเถระ วางอาวุธทั้งสิ้น และขอบวช

พระเถระก็บวชให้เป็นสามเณรก่อน และเมื่อสามเณรนั้นบวชแล้ว ก็ได้ตั้งใจประกอบจิตตภาวนา อบรมจิตในสมถะวิปัสสนา แต่ก็ไม่ได้ความสงบแห่งจิต เมื่อนั่งทำความสงบทีไรก็นึกไปถึงปานาติบาตที่ตนได้กระทำ ปรากฏเป็นภาพแห่งสัตว์ทั้งหลายที่ได้ถูกฆ่ามาหลอกหลอนอยู่ในจิตเป็นประจำ จนรู้สึกตนว่าจะไม่สามารถบำเพ็ญสมณะธรรมต่อไปได้ จึงได้ขอลาสึก

ฝ่ายพระเถระก็สั่งให้สามเณรนั้นไปนำไม้สดมา และก็ให้จุดไฟเผาไม้สดนั้น สามเณรก็ไม่สามารถจะจุดไฟให้ติด

ที่ไม้สดนั้นได้ ฝ่ายพระเถระท่านก็ได้อบรมโดยปุคลาธิษฐาน แสดงให้เห็นว่าไฟนรก อันเป็นที่ตกหมกไหม้ของ

ผู้ประกอบอกุศลกรรมต่างๆ นั้น แม้เพียงนิดเดียวก็เผาไหม้ไม้สดได้ ให้สามเณรได้เห็นชัดว่า

การที่จะต้องไปตกนรกหมกไหม้นั้น จะต้องประสบกับความร้อนของไฟนรกเป็นอย่างยิ่ง ก็เป็นเหตุให้สามเณรได้ความสลดใจไม่สึก ประกอบตนปฏิบัติในศีลสมาธิยิ่งๆ ขึ้นไป และเมื่อได้อุปสมบทเป็นภิกษุขึ้น ในภายหลังก็ได้รับความสงบแห่งจิตใจไปโดยลำดับ

ซึ่งท่านได้แสดงว่าภิกษุรูปนั้นซึ่งเดิมเป็นพรานป่า ได้เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยในทานและศีลอ่อน แต่ว่ามีอุปนิสัยในภาวนาซึ่งได้บำเพ็ญมาแล้วมีกำลัง เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะได้ประกอบอกุศลกรรมมาเมื่อก่อนบวช

โดยเป็นพรานป่ามีอาชีพในทางฆ่าสัตว์มาจำหน่ายเลี้ยงชีวิตอยู่เป็นประจำ แต่ว่าบาปกรรมนั้นมิได้ถึงอานันตริยกรรม จึงไม่เป็นเหตุห้ามมรรคผล ถ้าหากว่ามิได้พบทางที่ถูก มาปฏิบัติสมณะธรรมให้บรรลุถึงมรรคผล จะต้องไปถือภพชาติต่อไป ก็ย่อมจะไม่พ้นจากนิรยาบาย

แต่อาศัยที่ได้มีอุปนิสัยแห่งภาวนามา แม้ว่าจะหย่อนในทานในศีลก็ตาม ก็ยังชักนำให้เข้ามาพบพุทธศาสนา การที่ต้องการจะดื่มน้ำ แต่ไม่พบน้ำในตุ่มทั้งที่มีน้ำเต็มอยู่ แต่เห็นว่าเป็นตุ่มเปล่า

ก็อาจจะเป็นสิ่งชักนำให้กลับตัวได้ ก็เป็นได้ เพราะเหตุว่า ถ้าได้เห็นน้ำเต็มตุ่มอยู่โดยปรกติ และได้ดื่มน้ำ ก็อาจจะไม่ได้สติ และเข้ามาบวชปฏิบัติเพิ่มเติมภาวนาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

เพราะฉะนั้นจึงเป็นกุศลชักนำให้มาประสบกับเหตุ อันเป็นเครื่องชักนำให้กลับตัวได้ นำมาปฏิบัติในศีลสมาธิปัญญาอันเป็นทางแห่งมรรคผล ได้อาศัยพระเถระเป็นกัลยาณมิตร ซึ่งได้นำทางในทางที่ถูกส่งเสริมให้มีการปฏิบัติเพิ่มเติม จนได้ความสงบแห่งจิตยิ่งๆ ขึ้น อันสมควรที่จะบรรลุมรรคผลได้

ฉะนั้น ในวันหนึ่งเมื่อได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงได้ตรัสเป็นพระพุทธอุทานขึ้น ซึ่งแปลความว่า ภิกษุ เมื่อน้อมใจพิจารณาว่า ถ้าเราไม่พึงมี ของเราก็ไม่พึงมี ถ้าจักไม่มี ของเราก็จักไม่มี เมื่อน้อมใจพิจารณาอยู่ดั่งนี้ ก็จะตัดสังโยชน์ คือกิเลสเป็นเครื่องผูกใจ ๕ ประการ เบื้องต่ำได้ ดั่งนี้

ภิกษุนั้นเมื่อได้ฟังพระพุทธอุทานนี้จึงได้กราบทูลถาม ..(จบ ๕/๒) ( ข้อความขาดนิดหน่อย ) (เริ่ม ๖/๑)

ไม่ได้เห็นสัตตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตตบุรุษ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของสัตตบุรุษ ย่อมเห็นรูป เวทนา

สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนว่ามีรูป มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ ย่อมเห็น

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในตน ย่อมเห็นตนในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ ย่อมไม่รู้จัก ย่อมไม่รู้ทั่วถึงซึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นสังขตะคือเป็นสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง

หรือเป็นสังขาร เป็นสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง ตามเป็นจริงว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง ย่อมไม่รู้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จักมี

ส่วนว่าพระอริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ได้เห็นพระอริยะ ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับแนะนำในธรรมแห่งพระอริยะ ได้เห็นสัตตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตตบุรุษ ได้รับแนะนำในธรรมของสัตตบุรุษ ย่อมไม่ตามเห็นซึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยเป็นตน

ย่อมไม่เห็นว่าตนมีรูป มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ ย่อมไม่เห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ในตน ย่อมไม่เห็นตนในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ ย่อมรู้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร

วิญญาณ ซึ่งเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตามิใช่ตัวตน เป็นสังขตะคือเป็นสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งตามเป็นจริง

ว่าเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา

เป็นสังขตะคือเป็นสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง ย่อมรู้ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จักมี และอริยสาวกนั้นก็ย่อมรู้ตลอดไปถึงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่มีต่อไปด้วย

คือเพราะไม่มีรูปไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา ไม่มีสังขาร ไม่มีวิญญาณ ต่อไป อริยสาวกนั้นก็ย่อมรู้ ดั่งนี้ ภิกษุน้อมใจไปว่าถ้าเราไม่พึงมี ของเราก็ไม่พึงมี จักไม่มี ของเราก็จักไม่มี ดั่งนี้ ย่อมตัดสังโยชน์ ๕ เบื้องต่ำได้ ดั่งนี้

สังโยชน์

นี้เป็นพระพุทธาธิบายในพระพุทธอุทานที่เปล่งขึ้นนั้น พิจารณาดูก็ย่อมจะได้ความเข้าใจตามสมควรว่า อัน

บุคคลสามัญทั่วไปนั้น ย่อมมีตัวเรา มีของเรา เพราะยังตัดสังโยชน์ กิเลสที่เป็นเครื่องผูกใจมิได้

ซึ่งสังโยชน์นั้นท่านแสดงไว้ว่ามี ๑๐ ประการ และก็มีแสดงไว้ว่าโสดาปัตติมรรคตัดสังโยชน์ได้ ๓

สกทาคามีมรรคก็ตัดได้ ๓ แต่ว่าทำราคะโทสะโมหะให้เบาบางยิ่งขึ้น

อนาคามีมรรคตัดสังโยชน์ได้ ๕ อรหัตมรรคตัดได้หมด

และในพระพุทธอุทานนี้ที่ว่าตัดสังโยชน์ได้ ๕ นั้นจึงหมายถึงอนาคามีมรรค ซึ่งท่านผู้ตัดได้ บรรลุอนาคามีมรรคอนาคามีผล ก็เป็นพระอนาคามี ก็โดยที่น้อมจิตพิจารณาให้เห็นว่า

ถ้าเราพึงมี ของเราก็มี ก็คือเมื่อมีตัวเรา ก็ย่อมมีของเรา และเมื่อมีตัวเราของเราอยู่อย่างเต็มที่ ก็เป็นบุถุชนหรือ

สามัญชนทั่วไป ถ้ามีเราก็มีของเรา มีตัวเราก็มีของเรา บุถุชนทั่วไปหรือสามัญชนทั่วไปก็ย่อมเป็นดั่งนี้ มีตัวเรามี

ของเรา และตัวเราของเรานี้ก็คือขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการนั้นเอง อุปาทานขันธ์

อุปาทานขันธ์

อันอุปาทานขันธ์ก็คือรูป อันได้แก่รูปกายอันนี้ เวทนาก็เป็นความรู้เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข สัญญาก็คือความจำได้หมายรู้ สังขารก็คือความคิดปรุง หรือความปรุงคิดต่าง ๆ

วิญญาณก็คือความรู้เห็น รู้ได้ยิน ที่เรียกว่าการเห็นการได้ยินเป็นต้น ทางอายตนะ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็รวมเรียกว่านาม ย่อเข้าจึงเป็นรูปเป็นนาม

รูปก็คือรูป นามก็คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นวิบากขันธ์ได้มาตั้งแต่ปฏิสนธิ คือ

การสืบต่อชาติภพปัจจุบัน อันเนื่องมาจากกรรมที่ได้ประกอบกระทำ

การประกอบกระทำกรรม ทางกาย ทางวาจา ทางใจ เรียกว่ากรรมสังขาร หรือกรรมาภิสังขาร ความปรุงแต่งกรรม ปรุงกรรม เพราะเหตุที่ยังมีกิเลสอันมีอวิชชา ความไม่รู้ในสัจจะธรรมเป็นหัวหน้า จึงมีตัณหามีอุปาทานเป็นต้น เป็นตัวกิเลส ก็ก่อกรรมขึ้น

กรรมนี้เองก็เป็นชนกกรรม ก่อให้เกิดขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ย่อก็เป็นนามรูปที่ทุกๆ คนมีอยู่ในปัจจุบัน

และก็เพราะกิเลสนี้เอง จึงมีความยึดถือในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ ก็เป็นตัวเราของเรา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นตัวเราของเรา ตัวเราของเราก็คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพราะฉะนั้นขันธ์ ๕ นี้จึงเป็นอุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเรา

ก็เพราะว่ามีตัวเราจึงมีของเรา ก็เป็นอันว่ามีตัวเราของเราอยู่อย่างเต็มที่ ดั่งนี้ ก็เป็นสามัญชน หรือบุถุชนทั่วไป

เมื่อยังมิได้สดับตรับฟังธรรมะของพระอริยะ ของสัตตบุรุษ ยังไม่เห็นพระอริยะ ไม่เห็นสัตตบุรุษ ไม่ฉลาดใน

ธรรมะของพระอริยะ ของสัตตบุรุษ ก็ย่อมจะมีความยึดถืออยู่ดั่งนี้

เพราะฉะนั้นเมื่อมีความยึดถืออยู่ดั่งนี้ จึงยังมีกิเลสเพิ่มขึ้น อวิชชาก็เพิ่มขึ้น ตัณหาอุปาทานก็เพิ่มขึ้น ก็ประกอบกรรมกันต่อไป เมื่อประกอบกรรมกันต่อไป ก็จะต้องมีชาติภพกันอีกต่อไป

เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าเมื่อกรรมสังขารความปรุงแต่งกรรม ประกอบกรรมก่อกรรม มี ก็จักมีปฏิสนธิสืบต่อชาติภพกันต่อไป แต่ถ้าหากว่าไม่มีกรรมสังขารปรุงแต่งกรรม ก่อกรรม ปฏิสนธิก็จักไม่มีต่อไป หรือกล่าวสั้นว่าถ้าจักไม่มีตัวเรา ก็จักไม่มีของเราต่อไป

อัสมิมานะ

อันตัวเรานั้นเมื่อดูซึ้งเข้ามาแล้ว ก็เป็นตัวอัสมิมานะ ความสำคัญหมายว่าเรามีเราเป็น ตัวอัสมิมานะนี้เองเป็นตัวเราอย่างละเอียด และเมื่อมีอัสมิมานะความสำคัญหมายว่าตัวเรา เรามีเราเป็น เป็นอย่างละเอียดอยู่ดั่งนี้ อัสมิมานะนี้เองก็ยึดถือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือรูปนาม หรือว่านามรูปนี้เป็นตัวเรา นี่เป็นชั้นหยาบ

แต่ว่าเมื่อดูลึกเข้ามาว่าเรานั้นอยู่ที่อัสมิมานะ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือว่านามรูปก็เป็นของเรา เมื่อดูอย่างละเอียดย่อมเป็นดั่งนี้ แต่เมื่อดูอย่างหยาบ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือนามรูปก็เป็นตัวเรา และสิ่งที่เนื่องกันเช่นเป็นทรัพย์สิ่งของสมบัติต่างๆ ก็เป็นของเรา

ฉะนั้น เมื่อได้สดับฟังธรรมะของพระอริยะ ของสัตตบุรุษ ได้ฉลาดในธรรมะของพระอริยะของสัตตบุรุษ คือพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นยอดของพระอริยะของสัตตบุรุษทั้งหลาย

ให้หัดปฏิบัติน้อมใจพิจารณาดูเข้ามาให้รู้จัก ว่าอันที่จริงนั้นอยู่ที่ว่า ถ้าตัวเราพึงมี ก็มีของเรา ถ้าจักไม่มี ของเราก็จักไม่มี อยู่ที่ตรงนี้ คืออยู่ที่ความยึดถือ และความยึดถือนั้นก็เพราะเหตุที่ยังไม่มีปัญญาที่จะรู้แจ้งเห็นจริง

ฉะนั้น การภาวนานั้นก็มุ่งให้จิตสงบ เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิ ก็น้อมจิตที่สงบนี้ดู ดูให้รู้จักเข้ามาว่า เมื่อพึงมีเราก็มี

ของเรา ถ้าจักไม่มีเราก็ไม่มีของเรา ไม่มีกรรมสังขารความปรุงแต่งกรรม ก็ไม่มีปฏิสนธิของเรา ไม่มีกิเลสคือไม่มี

อวิชชาไม่มีตัณหาไม่มีอุปาทาน ก็ไม่มีกรรมของเรา พิจารณาให้ได้ปัญญาขึ้นมาดั่งนี้

โดยที่หัดพิจารณาจับเอารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขึ้นมาพิจารณา

ว่าอันที่จริงนั้นก็ไม่มีตัวเราของเราอยู่ที่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพราะว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

เป็นสังขตะคือเป็นสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อไม่รู้ดั่งนี้ ก็จะต้องมีปฏิสนธิก่อรูป เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณ กันต่อไป แต่หากว่าถ้าไม่มีความยึดถือเพราะรู้ตามเป็นจริง ปล่อยความยึดถือได้

ตัวเราของเราก็ดับไป เมื่อตัวเราของเราดับไปก็จะไม่มีรูป เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณ ก่อปฏิสนธิสืบภพชาติกันต่อไป ก็เป็นอันถึงที่สุดทุกข์ พิจารณาให้รู้จักดั่งนี้

เพราะฉะนั้น ความที่หัดน้อมจิตไปตามพระพุทธอุทานนี้ ว่าตัวเราพึงมี ก็มี ..ก็จะพึงมีของเรา ถ้าว่าจักไม่มีก็จัก

ไม่มีของเรา ดั่งนี้ จึงเป็นข้อปฏิบัติที่ตัดกิเลส แม้ยังตัดไม่ได้ก็ทำให้กิเลสเบาบาง เพิ่มปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง

ขึ้นไปโดยลำดับ และการปฏิบัติแม้ดั่งนี้แล ก็เรียกว่าเป็น อนิจจสัญญา ทุกขสัญญา อนัตตสัญญา

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความขาดนิดหน่อยระหว่างหน้าเทป ครึ่งหลังดีเยี่ยม

อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

http://www.watpanonvivek.com/index.php/section-table/2012-07-14-12-23-28/2957-2011-02-25-08-48-30

. . . . . . .