พุทธศาสนิกชนแห่ร่วมทำบุญตักบาตรครูบาอริยชาติหลังออกจากนิโรธกรรม

พุทธศาสนิกชนแห่ร่วมทำบุญตักบาตรครูบาอริยชาติหลังออกจากนิโรธกรรม เชื่อ หากอธิษฐานขอสิ่งใดก็จะประสบผลทุกประการ.

วันนี้ 12 ม.ค.ที่ชายป่าด้านหลังวัดแสงแก้วโพธิญาณ บ้านป่าตึง ต.เจดีย์หลวง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย พล.อ.พลางกูล กล้าหาญ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.อ.อารยะ งามประมวญ เสนาธิการกองทัพอากาศ นายภาสภณ เหตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการ ฝ่ายการตลาดบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนที่หลั่งไหลมาทั่วสารทิศทุกเพศทุกวัยจำนวนหลายพันคน ได้พากันนำเอาข้าวสารอาหารแห้ง จตุปัจจัยไทยทานมาเข้าแถวยาวกว่า 1 กิโลเมตรเพื่อรอใส่บาตรให้แก่ ครูบาอริชาติ อริยจิตโต เจ้าอาวาสวัดแสงแก้วโพธิญาณ ซึ่งได้เข้าพิธีนิโรธกรรม ครั้งที่ 9 และครบกำหนดการออกนิโรธกรรม ในวันนี้ เพราะในความเชื่อของชาวพุทธจะเชื่อกันว่าในยามใดที่มีพระสงฆ์กระทำนิโรธกรรมนั้น จะมีผลบุญอันยิ่งใหญ่ หากอธิษฐานขอสิ่งใดก็จะประสบผลทุกประการ ซึ่งตลอดทางที่ครูบาอริยชาติ พร้มด้วยพระสงฆ์อีกจำนวนหนึ่ง ออกรับบิณทบาตรนั้นต่างก็มีประชาชนที่มาเฝ้ารอได้เข้าไปทำบุญใส่บาตรกันอย่างล้นหลามพร้อมๆกันนี้ทางครูบาอริยชาติก็ได้ให้พรแก่พุทธศาสนิกชนโดยถ้วนหน้า หลังจากนั้นจึงได้เข้ามายังศาลาภายในวัดแสงแก้วโพธิญาณ ทำพิธีสืบชะตาหลวง พิธีบวงสรวงเทพเทวดาฟ้าดิน พิธีเททองหล่อพระ พิธีปล่อยชีวิตโค-กระบือ ซึ่งตลอดทั้งวันนี้มีลูกศิษย์ได้ทำโรงทานนำอาหารมาบริการให้กับผู้มาร่วมทำบุญให้ทานฟรีตลอดทั้งวันอีกด้วย

สำหรับการเข้านิโรธกรรมของครูบาอริชาติ อริยจิตโต เจ้าอาวาสวัดแสงแก้วโพธิญาณ นั้นครูบาได้ปฏิบัติตามแบบโบราณจารย์ในสายครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาในสมัย ครูบาชุ่ม โพธิโก อดีตเจ้าอาวาสวัดวังมุย ยังมีชีวิตอยู่นั้น สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ครูบาชุ่ม จะปฏิบัติคือ การเข้านิโรธสมาบัติ ซึ่งได้กระทำตามแบบอย่างของนักบุญแห่งล้านนา ครูบาศรีวิชัย ซึ่งในเวลาต่อมาครูบาได้พบ ตำราปั๊บสา ซึ่งเป็นบันทึกการเข้านิโรธกรรมของครูบาชุ่มที่คัดลอกมาจากครูบาศรีวิชัย อันมีใจความสำคัญในบันทึกการปฏิบัติ โดยเน้น ธุดงควัตร 13 และการเข้านิโรธกรรมที่ไม่เหมือนผู้ใด คือเป็นการทำแบบลำบาก ซึ่งครูบาได้ตั้งสัจจะอธิษฐานเอาไว้ว่า ในชาตินี้จะขอกระทำนิโรธกรรมเพียง 9 ครั้งซึ่งในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 9 ครั้งสุดท้าย และได้กระทำโดยไม่ซ้ำที่ และไม่กำหนดว่าจะทำติดต่อกันหรือไม่ บางครั้งอาจเว้นปีหรือติดต่อกันก็ได้ แต่ครูบาจะไม่ป่าวร้องบอกผู้ใด

ซึ่งการกระทำนิโรธกรรมตาบแบบฉบับของครูบาชุ่ม โพธิโก นี้ ท่านให้ขุดหลุมลึกศอก กว้าง 2 ศอก พอดีเข่า แล้วสร้างซุ้มฟางครอบ ให้มีความสูงแค่เลยหัว 1 ศอก โดยจะยืนไม่ได้ ไม่ฉัน ไม่ถ่ายหนักเบา ฉันแต่น้ำ โดยมีผ้าขาวปู 4 ผืนรองนั่ง แทนความหมายคือ อริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มีเสาซุ้ม 8 ต้น แทนความหมาย มรรค 8 ยอดซุ้มปักธงฉับพรรณรังษี อันมีความหมายถึงปัญญา ราชวัตรล้อมซุ้มมี 9 ชั้น แทนความหมายของ โลกุตรธรรม 9 คือ มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 รวมเป็น 9 ซึ่งการกระทำนิโรธกรรมของครูบา บางครั้งจะเข้าอยู่ 7 วัน หรือ 9 วัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าตามสถานที่ห่างไกลคน สัปปายะ โดยมี ชาวบ้านจัดเวรยามรักษาในรัศมี 100 เมตร เพื่อป้องกันคนรบกวน ซึ่งก่อนที่จะทำการเข้านิโรธกรรมนั้น จะต้องมีพระสงฆ์จำนวน 5 รูป เป็นผู้รับรองความบริสุทธิ์ ซึ่งกระทำตามแบบครูบารุ่นเก่า เช่น ครูบาชุ่ม โพธิโก อีกประการหนึ่ง ครูบาต้องการความสงบเป็นการทำด้วยจิต มิใช่การแสวงหาลาภผลใดๆ.

http://www.dailynews.co.th/Content.do?contentId=91273

. . . . . . .